read
business
05 ต.ค. 2562 | 14:11 น.
สุพจน์ ธีระวัฒนชัย เมื่อความจนหมักบ่มเกิดเป็นโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
Play
Loading...
“ผมไม่อยากยากจนอีกต่อไป” ประโยคแรกในหนังสือ ‘เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม’ ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตและการทำธุรกิจของ สุพจน์ ธีระวัฒนชัย จากชีวิตที่ยากลำบากในวัยเด็ก ถูกความจนและความล้มเหลวเฆี่ยนตีซ้ำแล้วซ้ำเล่า หมักบ่มบาดแผลจากความพ่ายแพ้ สะสมจนกลายเป็นหัวหอกผู้บุกเบิกวงการเบียร์ไมโครบริวเวอรี่ สร้างอาณาจักรโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก และยืนหยัดฝ่าฟันยาวนานได้ถึง 20 ปี
ด้วยความที่สุพจน์ชื่นชอบนิยายกำลังภายใน โดยเฉพาะสำนวนการประพันธ์ของมังกรโบราณโกวเล้ง ไม่แปลกที่เขาร่ายกวีเปรียบเทียบชีวิตของเขาว่า
“ความจนเหมือนแส้บาง ๆ ที่คอยเฆี่ยนตีเรา”
โดยแส้แรกที่เฆี่ยนตีเขา หวดลงมาตั้งแต่เขาเพิ่งจำความได้
“วันนี้หวนกลับไปคิด สังคมตอนนั้นเป็นสังคมที่พ่อแม่เราไม่มีการศึกษา พ่อผมจบ ป.4 ส่วนแม่ ป.2 ยังไม่จบเลย ญาติพี่น้องฝั่งพ่อแม่ไม่ได้รับการศึกษาเหมือนอย่างทุกวันนี้ ครอบครัวในยุคนั้นจะมีลูกเยอะ ครอบครัวผมมีลูกห้าคน สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือความยากลำบาก พวกเราไม่ได้กอดเงินถุงเงินถังเกิดมา มันก็ต้องต่อสู้ภายใต้สภาพที่พ่อแม่ไม่มีการศึกษา ต้องอาศัยครูพักลักจำ อย่างพ่อผมทำงานปั๊มโลหะ แม่ทำขนมขาย มีงานสุจริตอะไรได้เงินก็ทำหมดทุกอย่าง”
ชีวิตเด็กผู้ชายในครอบครัวเชื้อสายจีนที่เติบโตมาในย่านวรจักร ที่ถูกปลูกฝังการสืบทอดขนบขงจื้อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ภาระผูกพันของสุพจน์ในฐานะลูกชายคนโต คือการหาเงินเพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้านตั้งแต่อายุไม่ถึงสองหลัก
“ผมเป็นลูกชายคนโต ความเป็นขงจื้อมันติดตัวมาตั้งแต่เด็ก มันรู้สึกว่าทนไม่ได้ต้องทำอะไรสักหน่อย เริ่มจากการยืมเงินแม่มาสิบบาท มาตั้งแผงขายขนมหน้าบ้าน ไปหาน้ำอัดแก๊สตราสิงห์เกาะลูกโลก ไปซื้อขนมปังแผงมาแบ่งขายก้อนละสลึง แล้วก็ขยายไปเรื่อย ๆ”
ปี 2518 มีเหตุการณ์ที่ทำให้ครอบครัวของสุพจน์ต้องโยกย้ายไปอยู่ที่ตลาดโบ๊เบ๊ โดยแม่ของเขาได้หาทุนเพื่อซื้อจักรเย็บผ้ามือสอง หาไม้มาทำโต๊ะทำงานเล็ก ๆ และเจียดเงินเกือบพันบาทซื้อกรรไกรตราตุ๊กตาคู่ เพื่อเริ่มต้นธุรกิจรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากตึกที่เซ้งมีขนาดเล็กแค่พอวางจักรเย็บผ้า ผ้าส่วนใหญ่ที่สั่งเตรียมมาเลยต้องกองไว้หน้าบ้านในตอนกลางวัน พอจะเปิดร้านค่อยขนเข้ามาเก็บไว้เต็มชั้นหนึ่งของบ้าน ซึ่งกองผ้านี่เองที่เป็นเตียงนุ่ม ๆ สำหรับสุพจน์ที่เพิ่งเข้าเรียนที่สวนกุหลาบ
ด้วยความที่เขาเป็นคนหัวดี ใส่ใจรายละเอียด มีความจำที่แม่นยำ เขาเลยจดจำห้วงเวลานั้นได้ดี ตั้งแต่ยี่ห้อจักรเย็บผ้า ราคากรรไกรสุดคม ความสนุกในการขนกองผ้าหนักอึ้งเข้าบ้านในตอนดึกก่อนขนออกในตอนเช้าตรู่ รวมไปถึงรสชาติของก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาชามหนึ่ง
“ผมจำได้ไม่ลืมตอนที่ซื้อก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาตลาดน้อย ชามละห้าบาท เกาเหลาหนึ่ง บะหมี่น้ำหนึ่ง แล้วพี่น้องมานั่งล้อมวงกัน ในมือมีข้าวเปล่าคนละถ้วย น้องชายคนสุดท้องจะได้กินลูกชิ้นปลา ผมกินถั่วงอกกับน้ำซุป พอผมย้อนคิดถึงความรู้สึกตอนนั้น เลยไม่ยอมให้มันเป็นแบบนี้อีก อย่างน้อยพวกเราต้องมีเงินกินกันคนละชามให้ได้ ขอแค่คนละชามได้ไหม ยังไม่คิดเรื่องจะกินอีกชามเลย ตอนนี้ผมพอจะมีเงินแล้วเลยสั่งก๋วยเตี๋ยวพิเศษตลอด”
ไม่น่าเชื่อว่า
ปมในใจอันหนึ่งในชีวิตของเจ้าของโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง คือสิ่งนี้ ที่เขาหัวเราะก่อนจะตอบเรียบง่ายว่า
“ผมแค่อยากกินลูกชิ้นปลาบ้าง”
ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาเลยกลายเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสุขของเขา เพราะเมื่อครอบครัวเริ่มลืมตาอ้าปากได้ กิจกรรมแห่งความสุขของเขาและน้องชายหลังจากทำงานหนักมาทั้งวันคือการออกไปกินก๋วยเตี๋ยวหลังเที่ยงคืนกันคนละชาม ก่อนจะกลับมายกผ้ากองโตเข้าเก็บในบ้าน
การตั้งหน้าตั้งตาทำงานหนัก เป็นคนสุดท้ายในครอบครัวที่ได้เข้านอน และเป็นคนแรกที่ตื่นตอนเช้าตรู่เพื่อเปิดประตูบ้าน นอกจากไม่ทำให้การเรียนของสุพจน์ตกต่ำแล้ว ยังช่วยให้ครอบครัวเขาเริ่มมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนนี้ เลยพอแบ่งเวลาให้กับการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยได้บ้าง จนได้เป็นประธานชุมนุมศิลปะการแสดง ทำหน้าที่หาทุนและบริหารจัดการผู้คน แต่เมื่อทุกอย่างกำลังไปได้สวย แส้บาง ๆ ก็ได้หวนกลับมาหวดทดสอบความมุ่งมั่นของเขาอีกครั้งหนึ่ง
ช่วงนั้นกิจการรับจ้างเย็บผ้าของครอบครัวเขาใช้ระบบซื้อผ้ามาตัดด้วยเงินสด แล้วขายเสื้อด้วยเงินเชื่อ เพื่อจะได้ส่วนลดนิดหน่อย ระบบนี้มีข้อเสียคือทำให้ธุรกิจไม่มีเงินสดหมุนเวียน แต่ที่แย่กว่าคือความเสี่ยงที่จะถูกลูกหนี้โกง ซึ่งในที่สุดมันก็เกิดขึ้นจนได้
“คืนวันนั้นเขาโทรมาสั่งให้เอาผ้าไปส่งคืนนี้เลย ผมเลยรีบบรรจุผ้าใส่กระสอบแล้วนั่งสามล้อไปส่ง ตื่นเช้ามาข้างร้านโทรมาบอกแม่ว่า พอตกดึกร้านที่สั่งผ้านั้นเขารีบขนของขึ้นรถสิบล้อแล้วปิดร้านหนีไปเลย”
บทเรียนราคาแพงนี้ได้สอนเขาว่าธุรกิจที่ดีคือต้องไม่แบกรับความเสี่ยงจากเงินเชื่อ หลังจบการศึกษาเขาพยายามหาบทเรียนใหม่ ด้วยการลองไปสมัครงานเป็นลูกจ้างคนอื่น แต่เพราะหารองเท้าหนังคู่เก่งไม่เจอเลยไม่มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์งาน แต่นั่นอาจเป็นโชคดี เพราะหนุ่มนักสู้คนนี้ได้กลับมาลองทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง คือ
'แยมแอนด์ยิม'
เสื้อยืดแยมแอนด์ยิม ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว กลายเป็นแบรนด์ดังในยุคนั้น สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับนักธุรกิจหนุ่ม แต่เหมือนทุกครั้งที่พอทุกอย่างกำลังไปได้ดี แส้เส้นเดิมก็หวดลงมาอย่างจัง จากเถ้าแก่โรงงานเสื้อผ้าที่กำลังไปได้สวย พอดำเนินกิจการผิดพลาด เร่งขยายกิจการอย่างรวดเร็วเกินไป บวกกันการไม่มีพื้นฐานทางด้านบัญชีที่ดีพอ ทำให้เขากลายเป็นหนี้ทันที 29.8 ล้านบาท !!!
“ตอนเป็นหนี้ธนาคาร 29 ล้านบาท ผมคิดเลยว่าทุกวินาทีเราต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยเท่าไหร่ ทำให้ผมกลายเป็นคนกลัวดอกเบี้ยมาก โคตรกลัวเลย เหมือนเราเคยถูกงูกัดแล้วขยาด”
บาดแผลจากแส้ครั้งนี้ได้สอนเขาเรื่องหนึ่งคือ ความสำคัญของเวลา เวลาอาจเยียวยาบาดแผลทางด้านจิตใจได้ แต่สำหรับดอกเบี้ยแล้ว เวลายิ่งเร่งให้บาดแผลนั้นเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ทุกวินาที วิธีการรักษาที่ตรงจุดที่สุดคือ เร่งจัดการหนี้สินให้หมดโดยเร็วเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
แม้ชีวิตของสุพจน์จะเต็มไปด้วยรอยแส้กรีดลึก แต่พอบาดแผลเริ่มหายเขาก็ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง เพื่อไม่ให้แส้ความจนเฆี่ยนตีได้อีก ครั้งนี้ประสบการณ์ที่เขาได้สะสมมาทั้งชีวิตได้หมักบ่มชายหนุ่มคนหนึ่งให้แกร่งกล้าพร้อมจะเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ นั่นคือการทำโรงเบียร์
สุพจน์เกิดความคิดจะทำโรงเบียร์ ตอนได้ไปงานฉลองรับปริญญาของรุ่นน้องที่ร้านเบียร์เยอรมันแห่งหนึ่ง ซึ่งคนที่ไม่ใช่คอเบียร์อย่างเขายังรู้สึกว่าอร่อยมาก แถมมาพร้อมกับไส้กรอกเยอรมันที่รสชาติดีสุด ๆ แต่พอคิดเงินแล้วราคาก็แพงไม่แพ้กัน เขาเลยมีความคิดที่จะทำร้านเบียร์สดเยอรมัน อาหารอีสาน ราคาคนไทย
ครั้งนี้เขาได้
เสถียร เศรษฐสิทธิ์
เพื่อนรุ่นพี่ที่เคยจับมือกันทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก่อน มาเป็นผู้ร่วมอุดมการณ์ ซึ่งทั้งคู่ตัดสินใจทำโรงเบียร์เยอรมันขนาด 1,000 ที่นั่ง แม้จะดูใหญ่โต แต่สเกลนี้ถือว่าเล็กมากเมื่อเทียบกับโครงการบ้านจัดสรรขนาดเกือบ 2,000 ยูนิต ที่ทั้งคู่เคยฝ่าฟันมาด้วยกัน ที่สำคัญธุรกิจโรงเบียร์ยังเป็นธุรกิจที่รับเงินสดอยู่ทุกวัน เลยมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำกว่ามาก
จุดเปลี่ยนสำคัญคือการที่ตอนนั้นมีที่ดินแปลงงามบนหัวมุมถนนพระรามสามตัดนราธิวาส แต่ปัญหาคือตัวเขาเองเพิ่งจะปลดหนี้เกือบสามสิบล้านได้หมด ทำให้แทบไม่เหลือเงินสดอยู่ในมือเลย แถมสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ยังทำให้หลายคนไม่กล้าลงทุนสักเท่าไหร่ หนทางระดมเงินมาลงทุนเลยแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับคนอย่าง สุพจน์ ธีระวัฒนชัย
“ศิลปะการยืมเงิน คือเราต้องมองว่าคนที่จะให้เรายืมเงินเขาประเมินว่าเรามีเครดิตเท่าไหร่ แล้วไปหาคนที่เป็นไปได้ แต่กว่าครึ่งที่ผมเขียนรายชื่อไว้ไม่ให้ผมยืมเงิน ไม่ใช่ไม่เชื่อในเครดิตผม แต่เขาไม่เชื่อในภาวะเศรษฐกิจว่าเพิ่งรอดจากวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ยังจะคิดทำอะไรในเวลาแบบนี้อีก”
คาถาที่สุพจน์ใช้ร่ายมนต์กับมิตรรักที่เขาเดินเข้าไปขอความช่วยเหลือ คือ
“ถ้าเชื่อผมก็เอาเงินมาให้ผม”
หนึ่งในสหายที่โดนคาถานี้เข้าเต็ม ๆ คือคนที่ชื่อว่า วันชัย ใช่แล้ว
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
คนเดียวกับนักเขียนรางวัลศรีบูรพา 2554 และเป็นคนเดียวกับผู้เขียนหนังสือ ‘เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม’ ความไว้ใจในตัวสุพจน์ทำให้เขาไม่ตั้งคำถาม ยอมหอบเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดที่มีอยู่ มาให้เพื่อนรักของเขายืม โดยไม่ยอมบอกถึงที่มาของเงินก้อนโต เพราะเกรงว่าเพื่อนของเขาจะคิดมาก
“สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคนไม่ใช่เงิน แต่เป็นกัลยาณมิตร การที่มีกัลยาณมิตร มีเพื่อนที่ดี ชีวิตอับจนอย่างไรคุณจะไม่ตาย”
สุพจน์ ได้กล่าวสิ่งที่ไม่เคยบอกในงานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้
หลังจาก สุพจน์ ธีระวัฒนชัย รวบรวมเงินทุนไปเปิดโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ได้เป็นที่สำเร็จ ที่เหลือคือประวัติศาสตร์ที่หลายคนพอจะทราบกันแล้ว ใครที่อยากรู้เรื่องราวต่อไป ติดตามอ่านต่อได้ในหนังสือ ‘เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม’ (สำนักพิมพ์มติชน) หนังสือที่ถ่ายทอดประสบการณ์ของตำนาน 20 ปี โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ของ สุพจน์ ธีระวัฒนชัย ผ่านปลายปากกาของ วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ หนังสือดีที่ถ้าพลิกอ่านอย่างช้า ๆ ขณะจิบเบียร์สดเย็น ๆ สักแก้ว เคี้ยวขาหมูเยอรมันทอดกรอบควันฉุย เคล้าโชว์ดนตรีสดจากวงฟองน้ำของอาจารย์ บรูซ แกสตัน จะช่วยเพิ่มอรรถรสขึ้นอีกหลายดีกรี
ภาพ : หนังสือ “เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม"
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Business
สุพจน์ธีระวัฒนชัย
วันชัยตันติวิทยาพิทักษ์
เมื่อความจนเฆี่ยนตีผม
สำนักพิมพ์มติชน
โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง
TawandangGermanBrewery