07 ต.ค. 2562 | 18:33 น.
แม้ที่ผ่านมาผู้กำกับชาวฮ่องกงอย่างหว่องการ์ไวจะกำกับหนังยาวทั้งหมดเพียง 10 เรื่อง และเว้นว่างจากการกำกับหนังไปนานถึง 6 ปี (หนังยาวเรื่องสุดท้ายของเขาคือ The Grandmaster (2013)) และไม่มีทีท่าว่าจะมีหนังใหม่เร็ว ๆ นี้ แต่ชื่อของเขาก็ยังถูกกล่าวถึงบ่อย ๆ โดยไม่ถูกลืมเลือนเหมือนผู้กำกับร่วมรุ่นคนอื่น ๆ
ทำไมหนังของเขาถึงเป็นที่จดจำ? – เหตุผลคือหนังของเขาทุกเรื่องมีองค์ประกอบที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาพ ฉากและเครื่องแต่งกาย เพลงและดนตรีประกอบ การตัดต่อ นักแสดง ฯลฯ จนหลายคนแค่ได้ดูหนังบางส่วนก็บอกได้เลยว่าเป็นหนังของเขาโดยที่ไม่ต้องดูชื่อผู้กำกับ ซึ่งผลงานของเขาได้ส่งอิทธิพลต่อหนังในยุคหลังทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกอย่างมาก รวมถึงส่งอิทธิพลต่อสื่ออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น มิวสิควิดีโอ โฆษณา ภาพถ่าย วรรณกรรม แฟชั่น งานศิลปะ ฯลฯ
นอกจากสไตล์ที่โดดเด่น เนื้อหากับตัวละครก็มีความน่าสนใจเช่นกัน ตัวละครในหนังของเขามักเป็นคนเหงา เป็นคนนอกที่รู้สึกแปลกแยกกับสังคม มีความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวัง ยึดติดกับความหลังที่ผ่านไปแล้ว ฯลฯ ด้วยจุดเด่นดังกล่าวทำให้ชื่อของหว่องการ์ไวถูกใช้เป็นคำศัพท์ที่สื่อถึงความเหงาซึ่งมีความเท่ผสมอยู่ เช่น 'กระทำความหว่อง' มันได้กลายเป็นคำฮิตในระดับที่คนไม่เคยดูหนังของเขาก็ยังรู้จักคำนี้ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติเด่นที่ผู้กำกับคนอื่นสู้ไม่ได้ (เพราะยังไม่มีใครนิยามศัพท์ 'กระทำความโนแลน' หรือ 'กระทำความทารันติโน' มาสู้)
บทความนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจว่าทำไมหนังของหว่องการ์ไว จึงได้รับความนิยมจนถึงตอนนี้ และยังคงให้ความรู้สึกร่วมสมัยอยู่ โดยวิเคราะห์ได้เป็น 4 หัวข้อ ดังนี้
1.สไตล์หนังที่ร่วมสมัยกับยุคนี้
หนังของหว่องการ์ไวมักเน้นไปที่บรรยากาศรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครมากกว่าพลอตเรื่องเข้มข้นซับซ้อน หนังของเขามักมีพล็อตที่เบาบาง เล่าผ่านมุมมองตัวละครหลายคน เล่าเรื่องไม่ต่อเนื่อง ไม่เรียงลำดับเวลาหรือสถานที่ มีการทิ้งช่องว่างให้คนดูคิดต่อ มีการทำลายแบบแผนการเล่าเรื่องแบบเดิม ๆ เช่น Chungking Express ที่เป็นการนำเรื่องราวสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาต่อกัน เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการทำงานของเขาที่เน้นการด้นสด มีเพียงโครงเรื่องคร่าว ๆ ตอนเปิดกล้อง แล้วค่อยทำการเขียนบทและเพิ่มเติมองค์ประกอบต่าง ๆ ตอนเริ่มถ่ายทำ
Chungking Express
หนังของเขาเปรียบเหมือนจิ๊กซอว์ที่วางกระจัดกระจาย ซึ่งผู้ชมต้องจินตนาการถึงภาพรวมเอง เขาเคยกล่าวว่า “หนังของผมเป็นเหมือนโปสต์การ์ดมากกว่าจะเป็นหนังสือเล่มหนา” ซึ่งสไตล์ดังกล่าวอาจดูแปลกใหม่ล้ำสมัยในช่วงที่หนังออกฉายใหม่ ๆ แต่ในยุคนี้การเล่าเรื่องแบบกระจัดกระจายไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่อีกต่อไป เพราะผู้ชมคุ้นชินกับสื่อต่าง ๆ ที่มีลักษณะแบบนี้
หนังของเขายังเข้ากับสังคมปัจจุบันที่มีความเป็น instagram culture ซึ่งภาพจากหนังเรื่องไหนที่สวยงามดูดีก็จะได้รับการเผยแพร่ต่อไปเรื่อย ๆ ทั้งใน instagram รวมถึงในโซเชียลเน็ตเวิร์คและสื่อต่าง ๆ ภาพในหนังของเขามีความโดดเด่นในเรื่องการวางองค์ประกอบภาพและการใช้สีแสงเงา เช่น ภาพแฮนด์เฮลด์พร่าเลือนท่ามกลางแสงไฟนีออนใน Chungking Express ภาพโทนสีเขียวใน Days of Being Wild ภาพโทนสีแดงใน In the Mood for Love (ส่วนใหญ่เป็นผลงานการกำกับภาพของคริสโตเฟอร์ ดอยล์ และออกแบบงานสร้างโดยวิลเลียม จาง) ภาพเหล่านี้ให้ความรู้สึกโรแมนติกปนเศร้า และเห็นได้ถึงเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ในนั้น แม้จะเป็นเพียงคลิปสั้น ๆ หรือภาพนิ่ง
สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างในหนังของหว่องการ์ไวคือบทพูดและเสียงวอยซ์โอเวอร์บรรยายความรู้สึกตัวละครซึ่งคมคายและติดหู เช่น "ผมวิ่งเพื่อให้เหงื่อไหลออกมา เพื่อไม่ให้น้ำในร่างกายเหลือเป็นน้ำตา" ใน Chungking Express ซึ่งเข้ากับยุคนี้ที่ ‘คำคมจากหนัง’ ได้รับความนิยม คำคมดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ซ้ำเรื่อย ๆ ในแฟนเพจเกี่ยวกับหนังและสื่ออื่น ๆ เช่นเดียวกับคำคมจากหนังอย่าง Before Sunrise, The Shawshank Redemption, About Time, (500) Days of Summer เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้หนังของเขายังคงได้รับการจดจำและพูดถึงจนทุกวันนี้
In the Mood For Love
2.คนเหงาและความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวัง
‘ตราบใดที่โลกนี้ยังมีคนเหงากับคนอกหัก เพลงเศร้าก็ยังคงขายได้อยู่’ ประโยคดังกล่าวสามารถดัดแปลงใช้กับหนังของหว่องการ์ไวได้เช่นกัน ด้วยความที่ตัวละครในหนังของเขามักเป็นคนเหงาที่โหยหาความรัก และพยายามเชื่อมความสัมพันธ์กับคนอื่น แต่ก็มักจบลงด้วยการโดนทอดทิ้ง หรือไม่ก็เป็นฝ่ายทอดทิ้งคนอื่น ซึ่งความเหงาดังกล่าวให้ความรู้สึกขัดแย้งกับฉากหลังส่วนใหญ่ในหนังซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่แสนวุ่นวายและผู้คนแออัด
ตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงแง่มุมนี้อย่างชัดเจนอยู่ในหนังของเขาซึ่งมีฉากหลังอยู่ในฮ่องกงยุค 1960 ทั้งคู่ นั่นคือ Days of Being Wild และ In the Mood For Love
ตัวเอกในเรื่องแรกได้แก่ ยกไจ๋ (รับบทโดยเลสลี จาง) เพลย์บอยหนุ่มที่มักใช้เสน่ห์ทำให้ผู้หญิงหลงรักก่อนจะทิ้งเธอไปอย่างไม่มีเยื่อใย เขามักเปรียบตัวเองเป็นนกไร้ขาที่ไม่สามารถเกาะกิ่งไม้เพื่อพักอยู่กับที่ได้นาน ต้องรอจนวันตายถึงได้หยุดบิน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากบาดแผลในใจจากการถูกแม่ทอดทิ้งในวัยเยาว์ มันส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับผู้หญิงหลายคนไม่เว้นแม้แต่คนที่เขารักต้องจบลงด้วยความเศร้า
ตัวเอกใน In the Mood For Love ได้แก่โจวมู่หวันและโซวไหล่เจิน (รับบทโดยเหลียงเฉาเหว่ยและจางม่านอวี้ตามลำดับ) ทั้งคู่ย้ายมาอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ห้องติดกันในเวลาเดียวกัน เมื่อทั้งคู่ได้รู้ว่าคนรักของพวกเขาลักลอบมีความสัมพันธ์กัน พวกเขาจึงสานสัมพันธ์กันบ้างจนพัฒนาสู่ความรัก แต่ด้วยความรู้สึกผิดและความยับยั้งชั่งใจทำให้พวกเขาเก็บงำความรู้สึกไว้ ซึ่งโจวมู่หวันทำได้แค่ระบายความในใจด้วยการกระซิบที่กำแพงหินในนครวัด
แม้แต่หนังของเขาที่ดัดแปลงจากนิยายคนอื่นก็มีตัวละครแบบนี้เช่นกัน เห็นได้จาก Ashes of Time ซึ่งดัดแปลงจากนิยาย 'มังกรหยก' ของกิมย้ง ตัวนิยายต้นฉบับเป็นแนวกำลังภายในผสมผจญภัยที่อ่านสนุกให้ความรู้สึกฮึกเหิม แต่ตัวละครในหนังกลับออกมาอีกแบบ เพราะพวกเขาเปลี่ยวเหงา แปลกแยก มีบาดแผลในใจ หมกมุ่นอยู่กับความรักและความแค้นในอดีต ซึ่งการดัดแปลงดังกล่าวทำให้กิมย้งไม่ขายลิขสิทธิ์นิยายให้เขาอีกเลย
Ashes of Time
ใช่ว่าหนังทุกเรื่องของเขาจะจบลงด้วยความเศร้า เพราะก็ยังมีเรื่องที่จบลงด้วยความหวัง ได้แก่ Chungking Express เรื่องราวของตำรวจสองคนที่ผิดหวังเรื่องความรัก ตำรวจ 223 (ทาเคชิ คาเนชิโร่) ถูกแฟนสาวทิ้งจนไล่กินสับปะรดกระป๋องที่มีวันหมดอายุตรงกับวันเกิดเธอด้วยหวังว่าเธอจะกลับมา ส่วนตำรวจ 663 (เหลียงเฉาเหว่ย) จมทุกข์จนต้องแก้เหงาด้วยการคุยกับสิ่งของในห้อง ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็เลือกที่จะทิ้งความหลังอันเจ็บปวดแล้วก้าวต่อไปยังหนทางใหม่ที่ทำให้พวกเขามีความสุข
3.ไม่มีที่มา ไม่รู้ที่ไป
ความรู้สึกที่ผู้ชมมักเชื่อมโยงกับตัวละครในหนังของเขาคือ การที่พวกเขามีลักษณะ 'ไม่มีที่มา ไม่รู้ที่ไป' ซึ่งสิ่งนี้สามารถเทียบเคียงได้กับคนฮ่องกงในช่วงที่อังกฤษคืนฮ่องกงสู่จีนในยุค 1990 พวกเขารู้สึกสับสนกับอัตลักษณ์ตัวตนของตัวเอง และไม่รู้ว่าอนาคตในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ตัวละครในหนังของเขาตัดขาดจากอดีตและลังเลในอนาคต เช่น ตัวเอกใน In the Mood for Love และตัวละครยิปมันใน The Grandmaster ที่ต้องอำลาชีวิตหรูหราในเซี่ยงไฮ้มาใช้ชีวิตในอะพาร์ตเมนต์แคบ ๆ ในฮ่องกง เช่นเดียวกับตัวละครนำใน My Blueberry Nights ซึ่งเรื่องราวเกิดขึ้นในอเมริกาที่อยู่คนละซีกโลกกับฮ่องกง ที่พยายามตัดขาดอดีตหลังจากได้รู้ว่าถูกแฟนนอกใจ แล้วออกเดินทางไปทั่วอเมริกาอย่างไร้จุดหมาย
ตัวอย่างอีกเรื่องที่เห็นได้ชัดเจนคือ Happy Together เรื่องราวของเหอเป่าหวังและไหลเยิ่วฟา (รับบทโดยเลสลี จาง และเหลียงเฉาเหว่ยตามลำดับ) คู่รักเกย์ที่เดินทางมาเที่ยวที่อาร์เจนตินาเพราะหวังว่าจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์กลับมาดีดังเดิม แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายลง พวกเขาเงินหมดจนต้องหางานทำ อีกทั้งยังทะเลาะกันจนต้องแยกทางกันเดิน แม้ตัวละครจะเฝ้าบอกว่า 'เรามากันใหม่อีกครั้งเถอะ' แต่ก็จบด้วยการแยกทางทุกครั้ง ในที่สุดไหลเยิ่วฟาก็ได้เดินทางไปถึงน้ำตกอีกัวซูตามที่เขาฝันไว้ และเลือกที่จะเดินทางต่อไปไต้หวันโดยไม่ยอมเดินทางกลับบ้านที่ฮ่องกง
แม้เหตุการณ์ในหนังทั้งเรื่องจะเกิดที่อาร์เจนตินาซึ่งอยู่ไกลจากฮ่องกงคนละซีกโลก แต่หนังก็สื่อฮ่องกงในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ทั้งความสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับและไปต่อไม่ได้ (สื่อถึงความสัมพันธ์ฮ่องกง - อังกฤษ) รวมถึงการพยายามกลับมาเริ่มความสัมพันธ์ใหม่ (สื่อถึงความสัมพันธ์ฮ่องกง - จีน) หนังได้แสดงให้เห็นภาพน้ำตกในหลายฉาก ซึ่งน้ำตกสื่อถึง 'การรวมตัวกัน' ในภาษาจีน โดยสุดท้ายฮ่องกงแบบที่เคยเป็นก็ไม่มีอีกต่อไปแล้ว ซึ่งสิ่งที่ควรทำก็คือการเดินหน้าต่อไป ด้วยเหตุนี้ชื่อหนังที่ว่า Happy Together จึงไม่ได้หมายความถึงแค่ความรักระหว่างสองคน แต่ยังสื่อถึงการที่คนเราสามารถอยู่ร่วมกับความทรงจำในอดีตและบาดแผลในใจได้อีกด้วย
4.ฮ่องกงในความทรงจำ
หนังของเขาเป็นการบันทึกถึงสภาพสังคมและผู้คนฮ่องกงทั้งในยุค 1960 และ 1990 ซึ่งในสภาวะปัจจุบันที่ฮ่องกงถูกปกครองโดยจีนและเกิดความขัดแย้งในเรื่องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ จนชาวฮ่องกงต้องออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องการปกครองตัวเอง ทำให้มีหลายคนกังวลว่าอัตลักษณ์ของฮ่องกงจะหายไป ซึ่งการรับชมหนังของเขาถือเป็นการย้อนกลับไปมองฮ่องกงในยุคที่ผ่านมา
Chungking Express และ Fallen Angels แสดงให้เห็นถึงบ้านเมืองและผู้คนในปี 1994 - 1995 ซึ่งเป็นช่วงที่หนังสร้างและเข้าฉาย หนังแสดงให้เห็นถึงความคึกคักวุ่นวายของผู้คนที่อัดแน่นในสถานที่แคบ ๆ ท้องถนนที่เต็มไปด้วยร้านค้าและแสงไฟนีออน การรวบรวมผู้คนหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรมภาษาเอาไว้ด้วยกัน หนังยังแสดงให้เห็นถึงแลนด์มาร์คต่าง ๆ ในฮ่องกง เช่น ตึกจุงกิงแมนชั่น บันไดเลื่อนยาวที่สุดในโลกกลางชุมชนในย่านเซ็นทรัล ฯลฯ อีกทั้งหนังยังแสดงให้เห็นถึงผู้คนที่เปลี่ยวเหงาและไม่แน่ใจอนาคต ซึ่งแทนความรู้สึกของคนฮ่องกงในช่วงเวลาก่อนที่อังกฤษจะส่งคืนฮ่องกงให้จีนในปี 1997 ได้เป็นอย่างดี
Fallen Angels
นอกจากนั้น ยังมีหนังที่แสดงให้เห็นถึงฮ่องกงในยุค 1960 อย่าง Days of Being Wild ตัวละครในหนังเป็นคนหนุ่มสาวซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวในประเทศอื่น ๆ ช่วงยุค 1960 นั่นคือพวกเขาปฏิเสธค่านิยมของคนรุ่นเก่าและออกแสวงหาตัวตนซึ่งหลายครั้งก็จบลงด้วยด้วยการหลงทาง
ส่วนหนังอย่าง In the Mood For Love, 2046, The Grandmaster ก็มีฉากหลังอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เช่นกัน โดยตัวละครหลักได้ตัดสินใจหนีจากเซี่ยงไฮ้มาใช้ชีวิตใหม่ที่ฮ่องกง (จากการที่จีนปิดประเทศในตอนนั้น ทำให้พวกเขาไม่สามารถกลับไปยังเซี่ยงไฮ้ได้อีกแล้ว)
ตามประวัติส่วนตัวแล้ว หว่องการ์ไวเติบโตขึ้นมาในฮ่องกงยุค 1960 ครอบครัวของเขาได้พาเขาย้ายออกจากเซี่ยงไฮ้เนื่องจากต้องการหนีชีวิตที่ยากลำบากภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและกระแสปฏิวัติวัฒนธรรมในช่วงนั้น ทำให้วัยเด็กเขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่ไม่คุ้นชิน ทั้งภาษา ผู้คน วัฒนธรรม (ซึ่งนั่นทำให้หนังของเขามักเกี่ยวข้องกับความโดดเดี่ยวและความไร้ราก) ด้วยความที่เป็นยุคสมัยในความทรงจำของเขา จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังแฝงไว้ด้วยความรู้สึกแบบ nostalgia และอีกทั้งยังถูกถ่ายทอดให้ออกมาสวยงามเหมือนภาพความฝัน
หว่องการ์ไวยังใส่สัญลักษณ์ลงไปในหนังผ่านตัวเลข 2046 ซึ่งเป็นเลขห้องของพระเอกที่ปรากฏใน In the Mood for Love และ 2046 โดยมันเป็นปีสุดท้ายที่จีนให้การรับรองว่าจะยึดหลัก 'หนึ่งประเทศสองระบบ' และให้ฮ่องกงปกครองตัวเอง (หลังจากที่อังกฤษส่งคืนฮ่องกงในปี 1997 จีนรับรองว่าจะยึดหลักนี้เป็นเวลา 50 ปีตั้งแต่ปี 1997 - 2046)
สถานที่ซึ่งเหล่าตัวละครในหนัง 2046 ที่ล้วนยึดติดกับความหลังเฝ้าฝันอยากไป เป็นสถานที่สมมติอันห่างไกลที่ต้องเดินทางด้วยรถไฟสายพิเศษ มันเป็นสถานที่ที่ทุกสิ่งในความทรงจำยังเป็นเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยน ไม่มีการสูญเสียหรือจากลา แต่สุดท้ายหนังก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่คงอยู่ชั่วนิรันดร์ เช่นเดียวกับฮ่องกงก็ต้องเปลี่ยนไปโดยที่ไม่อาจเรียกร้องอดีตให้กลับคืนมาได้
...
อ้างอิงข้อมูล - หนังสือ WKW: The Cinema of Wong Kar Wai (จอห์น พาวเวอร์ส, สำนักพิมพ์ Rizzoli) และหนังสือเดียวดายอย่างโรแมนติก (หลายคนเขียน, สำนักพิมพ์ Bioscope)
ผลงานหนังของหว่องการ์ไวทั้งหมดมีดังนี้
As Tears Go By Days (1988), Days of Being Wild (1990), Chungking Express (1994), Ashes of Time (1994), Fallen Angels (1995), Happy Together (1997), In the Mood for Love (2000), 2046 (2004), My Blueberry Nights (2007), The Grandmaster (2013)