06 ธ.ค. 2561 | 15:28 น.
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นอีกหนึ่งผู้นำโลกที่ต้องเจอกับสถานการณ์เครียด ๆ หลายครั้งในรอบปีนี้ เริ่มไปที่ชาวฝรั่งเศสต่างออกมาลุกฮือประท้วงมาครงให้ลาออกจากตำแหน่งหลังรัฐบาลภายใต้การดูแลของเขาแอบขึ้นราคานํ้ามันจนราคาพุ่งสูงสุดครั้งประวัติศาสตร์ นอกจากนี้มาครง ยังต้องเจอเรื่องเครียดอีกหลังไม่นานมานี้ วิหารนอเทรอดาม ก็เกิดไฟไหม้จนต้องได้รับการบูรณะใหม่เป็นมูลค่าสูงกว่าพันล้านยูโร และวันนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติฝรั่งเศส ชายที่อดีตเคยเป็นทั้งนักเปียโน, วาณิชธนากร, นักฟุตบอล และที่สำคัญตอนนี้เขาคือคนที่ต้องแก้ไขสถานการณ์มากที่สุดคนหนึ่งในประเทศ
ย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้วในเมืองอาเมียง แคว้นโอดฟร็องส์ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส วันที่ 21 ธันวาคม โลกรับรู้ถึงการเกิดมาของเด็กน้อยคนหนึ่ง ที่ปัจุบันเขาถูกยกให้กลายเป็นความหวังใหม่ของโลก “เอ็มมานูเอล มาครง” มาครง เกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลาง มีแม่เป็นแพทย์ และพ่อเป็นนักประสาทวิทยา มาครง ได้ชื่อว่าเป็นเด็กฉลาด มั่นใจในตัวเอง และชอบที่จะคลุกตัวอยู่กับผู้ใหญ่ มากกว่าเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน มาแนต ย่าของเขาเองคือหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลต่อเขามากที่สุด เธอสอนมาครงในหลายๆ เรื่อง และชอบหาหนังสือหลาย ๆ เล่ม ให้เขาอ่าน มาแนต ถือเป็นคนที่เปิดโลกให้แก่มาครง เขายกให้เธอเป็นครูคนสำคัญในชีวิต ตอนสมัยวัยรุ่น มาครงเลือกที่จะไปทานข้าวกับบรรดาคุณครูของเขา มากกว่าที่จะไปเที่ยวกิน ดื่ม กับเพื่อนในรุ่น "เขาไม่เหมือนเด็กคนอื่น เขาชอบที่จะอยู่กับบรรดาเหล่าครู และสนทนาในหลายๆเรื่อง เรามักจะเห็นเขาไปไหนมาไหนพร้อมกับหนังสือในมือหลายๆเล่ม เขาดูไม่เหมือนเด็กวัยรุ่นทั่วไป เขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเหล่าคณะครู หรือแม้กระทั่งผู้อำนวยการโรงเรียน"บริฌิตต์ โทรเญอซ์ ภรรยาของมาครงเคยให้สัมภาษณ์ไว้ แต่ใครจะรู้ล่ะว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ กลายเป็นตัวหล่อหลอมให้เขาก้าวขึ้นไปสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 25 ของฝรั่งเศส มาครง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านสาขาปรัชญาจากมหาวิทยาลัยปารีส นองแตร์ และสำเร็จจากวิทยาลัยการปกครองชั้นสูงของฝรั่งเศส (Ecole Nationaled' Administration) ซึ่งขึ้นชื่อว่า เป็นสถาบันที่ผลิตประธานาธิบดีและข้าราชการระดับสูงของประเทศมากมาย มีอดีตประธานาธิปดีที่เคยศึกษาที่สถาบันแห่งนี้อย่าง ฌัก ชีรัก วาเลรี ฌิสการ์ แด็สแต็ง และ ฟร็องซัวส์ ออลล็องด์
หลังจบการศึกษา งานแรกของมาครงคือเข้าไปเป็นผู้ตรวจสอบการเงินที่กระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งต่อมาเขาก็เข้าทำงานในตำแหน่งวาณิชธนากรที่บริษัท Rothschild & Cie Banque โดยมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและวางแผนการเงินแก่บรรดามหาเศรษฐี การเข้าใกล้เส้นทางการเมืองของมาครงเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อเขาเปลี่ยนงานมาเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับประธานาธิปดี ฟร็องซัวส์ ออลล็องด์ ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมาในปี 2555 มาครงจะได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกิจการดิจิทัลฝรั่งเศส ด้วยวัยเพียง 37 ปี ซึ่งถือเป็นรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ต่อมา มาครงลาออกจากพรรคสังคมนิยมของออลลองด์ และประกาศตนเป็นผู้สมัครอิสระ เพื่อเตรียมลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนต่อไป แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ผ่านสนามการเลือกตั้งมาก่อน แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ชนะการเลือกตั้งอย่างเป็นเอกฉันท์ จากการที่พรรคร่วมรัฐบาลของเขากวาดที่นั่งในสภาถึง 350 ที่นั่งจาก 577 ที่นั่ง ทำให้ขบวนการสายกลางอย่างอองมาร์ช ที่ร่วมกับพรรคขวากลางอย่างพรรคขบวนการประชาธิปไตยหรือโมเดม ได้เสียงข้างมากในสภา ทำให้เขามีการสนับสนุนในเรื่องนโยบายได้อย่างเต็มที่ มาครงขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2560 ถือเป็นประธานาธิบดีคนที่ 25 ของฝรั่งเศส และกลายเป็นประธานาธิบดีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองของฝรั่งเศสด้วยวัยเพียง 39 ปี นับตั้งแต่นโปเลียน โบนาปาร์ต
ด้านความรัก มาครง แต่งงานกับนางบริฌิตต์ โทรเญอซ์ ซึ่งเป็นอดีตครูครูสอนวรรณคดีโรงเรียนมัธยมที่เขาเคยศึกษาอยู่ ในตอนที่เขาอายุเพียง 15 ปี มาครงตกหลุมรักโทรเญอซ์ เข้าอย่างจัง ถึงแม้ในตอนนั้นบริฌิตต์จะแต่งงานแล้ว และมีลูก 3 คน ซึ่ง 1 ในนั้นคือเพื่อนของมาครงด้วย เมื่อถึงอายุ 17 ปี มาครงต้องย้ายไปเรียนที่ปารีส ซึ่งเขาได้ตั้งใจกับตัวเองว่า ชาตินี้ถ้ามีโอกาสเขาจะขอเธอแต่งงานให้ได้ “ในวัย 17 ปี เอ็มมานูเอลบอกกับฉันว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นผมจะแต่งงานกับคุณ” บริฌิตต์ โทรเญอซ์ แต่ใครจะไปเชื่อล่ะว่าอีก 14 ปีต่อมา ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ของมาครงจะกลายเป็นจริง สุดท้ายเขาก็ได้แต่งงานกับโทรนเญอซ์สมใจอยาก “เขากางแขนออก ให้เหมือนเป็นหุ่นไล่กา ฉันจำทุกรายละเอียดในวันนั้นได้ดี ใบหน้าของเขากับเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง และแสงจากสปอตไลท์ที่สาดส่องไปที่หน้าของเขา และเขาทำมันออกมาได้อย่างน่าเหลือเชื่อ” บริฌิตต์ โทรเญอซ์ อดีตคุณครูของมาครงที่สุดท้ายได้กลายมาเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของฝรั่งเศส เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เธอจดจำมาครงได้ [caption id="attachment_1281" align="aligncenter" width="440"] มาครง และสตรีหมายเลขหนึ่ง บริฌิตต์ โทรเญอซ์[/caption]
หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้ว่า ประธานาธิบดีของฝรั่งเศสผู้นี้เคยเป็นนักฟุตบอลมาก่อน เขาได้ไลเซนส์นักฟุตบอลอาชีพจากสมาคมฟุตบอลฝรั่งเศสและลงสนามในตำแหน่งแบ็คซ้ายให้กับทีม l'ENA ในฤดูกาล 2006-07 ถ้าวันไหนทีมชาติฝรั่งเศสขาดแคลนแบ็คซ้ายเมื่อไหร่ ดิดิเยร์ เดส์ชองส์ อาจเรียกใช้ประธานาธิบดีของเขาได้ทุกเมื่อ มาครงนั้นเป็นแฟนคลับของทีมฟุตบอลโอลิมปิก มาร์กเซย ซึ่งหลายครั้งก็จะมีภาพเขานั่งชมการแข่งขันที่สตาดเวลอดรอม สนามเหย้าของทีมอยู่บ่อยครั้ง นอกจากงานทางด้านการเมืองและกีฬาฟุตบอลแล้ว มาครงยังความสนใจในหลายด้าน งานอดิเรกที่เขาชื่นชอบไม่ว่าจะเป็นการตีเทนนิส หรือการปั่นจักรยาน เรามักจะเห็นเวลาว่างของเขาที่สนามโรลังด์ การ์รอสเสมอยามมีการแข่งขันเฟรนซ์ โอเพ่น
เป็นที่รู้กันดีว่าความสามารถทางด้านดนตรีของมาครงไม่เป็นสองรองใคร เขาหลงใหลในดนตรีคลาสสิค สมัยวัยเยาว์มาครงศึกษาการเล่นเปียโนเป็นเวลากว่า 10 ปีที่วิทยาลัยดนตรีในอาเมียง บ้านเกิดของเขา และได้รางวัลที่สามในการประกวดเปียโนระดับท้องถิ่น “ผมอยากจะเล่นมันอีก เร็วที่สุดเท่าที่ผมจะหาเวลาเล่นมันได้“ มาครงกล่าวถึงความคิดถึงในการเล่นเปียโน เพราะการขึ้นไปเป็นผู้นำประเทศทำให้เขา หาเวลาาที่จะบรรเลงมันยากขึ้น มาครงชื่นชอบในผลงานการประพันธ์ของฟรานซ์ ลิซท์ และโรแบร์ท ชูมันน์ อย่างมากจนมีคนตั้งฉายาให้เขาเป็น “โมสาร์ท แห่งเอลีเซ” จิอะซิโน รอสชินี อัจฉริยะนักประพันธ์ชาวอิตาเลียน คือหนึ่งในแรงบันดาลใจของเขา มาครงกล่าวว่า”ความอิสระของเขา ชีวิตและความอัจฉริยะของรอสซินี เป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันต่อผม” มาครง มีนโยบายสนับสนุน งานด้านศิลปะ ตั้งแต่สมัยหาเสียงอยู่แล้ว เขาเป็นคนรุ่นใหม่แต่มีหัวอนุรักษ์สิ่งเก่า นโยบาย “Pass Culture” หรือการจ่ายเงินจำนวน 500 ยูโร ต่อเดือนสำหรับนักเรียนนักศึกษา เพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศิลปะวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อ การเข้าชมละครโอเปร่า หรือการแสดงดนตรี “ประเพณี วัฒนธรรม คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ในเวลาเดียวกัน เราสร้างสรรค์ปัจจุบัน ซึ่งมันจะตกทอดไปเป็นมรดกในอนาคต”
หลังเข้ารับตำแหน่งในปี 2017 มาครง ไม่รอช้า ‘เดินหน้าทำตามสัญญา’ เขาเดินหน้าทำตามนโยบายที่ได้เคยหาเสียงไว้ ทั้งเรื่องการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับคนอพยพหรือแก้ไขปัญหาโลกร้อน ฝรั่งเศส ถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ทั้งคริสต์ อิสลาม แอฟริกัน อาหรับ ละติน หรือ เอเชีย ซึ่งในช่วงสองทศวรรษหลัง ปัญหาการใช้ความรุนแรงกับคนผิวสี กลายเป็นคดีใหญ่ และปัญหาใหญ่ของประเทศ ย้อนไปเมื่อปี 2005 เกิดเหตุจลาจลรอบกรุงปารีสที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี อันเนื่องมาจากวัยรุ่นชาย 2 คน เสียชีวิตจากการถูกช็อตไฟฟ้าหลังพวกเขาวิ่งหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปัญหาการใช้ความรุนแรงของตำรวจ กับคนผิวสีในสังคมฝรั่งเศส ถูกยกเป็นปัญหาใหญ่ที่ถูกนำไปพูดในการประชุมชุดยอดผู้นำ G7 และโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในยุคประธานาธิบดี บารัค โอบามา ก็พยายามกดดันให้รัฐบาลฝรั่งเศส จัดการเรื่องนี้ให้ดี เพราะนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 หรือเหตุก่อการร้ายในปารีสเดือนพฤศจิกายน 2015 สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งด้านชนชั้นของฝรั่งเศส มาครง ดึงปัญหาคาราคาซังเหล่านี้ มาเป็นจุดขายของตัวเอง เราจะเห็นได้จากวันแรกหลังที่เขาขึ้นรับตำแหน่ง มาครงออกคลิปวิดีโอเชิญชวนชาวมุสลิมที่มีฝีมือความสามารถให้มาอยู่ด้วยกันที่ฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นตอกหน้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯเข้าอย่างจัง แต่ก็ยังมีคนฝรั่งเศสแท้ ๆ (ฝรั่งเศสยูโรเปียน) ส่วนหนึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายนี้ เพราะกลัวว่าคนอพยพเหล่านี้จะเข้ามาแย่งงานคนฝรั่งเศสซะหมด เป็นที่ทราบกันดีว่า เขาประกาศเป็นหัวเรือใหญ่ในการรณรงค์ป้องกันโลกร้อนของโลกภายใต้ความตกลงปารีส ที่มีประเทศลงนามกว่าร้อยประเทศ และออกแคมเปญกัดจิกนโยบายของนายทรัมป์อย่าง Make our planet great again (Make America great again หนึ่งในวาทะหาเสียงของนายทรัมป์) ในทุก ๆ นโยบายเรื่องพลังงานของมาครงจะมีการสอดแทรกนโยบายแก้ไขปัญหาโลกร้อนเสมอ แต่ความหวังดีต่อโลกของเขาในครั้งนี้ ก็กลายเป็นปัญหา และสร้างความลำบากให้แก่ประชาชนของตัวเอง หนึ่งในนั้นคือนโยบายขึ้นขึ้นราคาน้ำมันให้พุ่งสูงขึ้นตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา จนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.51 ยูโรต่อลิตร หรือประมาณ 56.65 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2000 เหตุการณ์ดั่งกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อชาวฝรั่งเศสอย่างมาก จึงเกิดเหตุการประท้วงไปทั่วประเทศและมีผู้ร่วมชุมนุมมากกว่า 300,000 คน เหตุการณ์ดั่งกล่าวถูกเรียกว่า “วิกฤตการณ์การเมืองในระดับชาติของฝรั่งเศส” และถือเป็นบททดสอบที่สำคัญต่อมาครง ล่าสุดแม้เขาจะยอมกลับคำสั่งระงับการขึ้นภาษีน้ำมันไว้ก่อน แต่ นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของประเทศดีขึ้น ฝรั่งเศสถือเป็นประเทศใหญ่และเป็นหนึ่งในหมากสำคัญของโลก คงต้องดูกันยาวๆ ว่า ชายที่ชื่อว่า “เอ็มมานูเอล มาครง” จะพลิกวิกฤติในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสได้หรือไม่
“ผมมีวิสัยทัศน์ และผมจะไม่นั่งเฉย ๆ และดูทุกสิ่งผ่านไปเปล่า ๆ โดยไม่ทำอะไรสักอย่าง”
เอ็มมานูเอล มาครง