ฐนสรณ์ ใจดี ทรู ดิจิทัล พาร์ค ตอบโจทย์ธุรกิจและไลฟ์สไตล์ดิจิทัล
เมื่อกลางปี 2562 ทรู ดิจิทัล พาร์ค (True Digital Park) ได้ปักหมุดสถานที่ตอบโจทย์ชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ในปัจจุบันต้องการพื้นที่
ที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม มีสถานที่กิน ชอปปิง และที่ทำงาน หรือ Work Space อยู่ภายในบริเวณเดียวกัน บนทำเลกลางเมือง ติดสถานีรถไฟฟ้าปุณณวิถี ปากซอยสุขุมวิท 101 เป็นดิจิทัล พาร์ค แห่งแรกของไทย
แนวคิดตั้งต้นของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค มาจากไอเดียที่ต้องการมีสถานที่ เทคโนโลยี และบริการ เป็นระบบนิเวศแบบเปิดและสมบูรณ์แบบ เพื่อให้ Tech Entrepreneurs หรือคนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) หรือบริษัทต่าง ๆ มีสถานที่ในการผลิตผลงาน และหวังให้ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมของภูมิภาคนี้
“มันคือการผสมผสานกายภาพกับระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ที่เหมาะสม โมเดลแบบนี้เราต้องลองทำ เพราะผมเชื่อว่า สถานที่แบบนี้กับระบบนิเวศที่เหมาะสม ทุกคนสามารถเดินไปด้วยกัน” ฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวถึงจุดแข็งของที่นี่
คำว่าทุกคน หมายถึง ทุกระดับ ตั้งแต่คนหนึ่งคน บุคลากร กลุ่ม องค์กรหรือบริษัท และประเทศ เป็นเป้าหมายหลักของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่ต้องการสร้างโอกาส โดยเฉพาะการเห็นถึงความสำคัญของการสร้างคนที่มีทักษะดิจิทัล
“หมายความว่าคนมีโอกาสที่จะมาเรียนรู้ เข้าถึงเทคโนโลยี เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนการใช้ชีวิต ถ้าบังเอิญชีวิตเขาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีโดยตรง แต่เทคโนโลยีมีผลต่อการใช้ชีวิต ต่อการทำงานของเขา” ฐนสรณ์ อธิบายถึงโอกาสที่ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมได้ เช่น โอกาสของคนมาเรียนเพื่อเพิ่มทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล จนยกระดับตัวเองเป็นโปรแกรมเมอร์ เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์หรือธุรกิจต่าง ๆ โอกาสของบริษัทขนาดเล็กที่มีโอกาสสร้างเครือข่ายได้เพิ่มขึ้น โอกาสของคนหรือกลุ่มที่ต้องการหาทุน จะได้เข้าถึงบริษัทใหญ่ ๆ และโอกาสของประเทศไทยที่จะได้ผลผลิตจากตรงนี้
โดย ฐนสรณ์ ให้มุมมองว่า ประเทศไทยยังมีนักพัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ ไม่มากนัก การเปิดพื้นที่สร้างคนที่มีทักษะดิจิทัลจึงสำคัญ
“อันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่เราต้องสร้างคนให้ได้ ไม่ใช่เอาเขาไปเรียน แล้วจบออกมาทำโปรแกรมได้ แต่ต้องให้เขาเชื่อด้วยว่า มันเป็นประโยชน์จริง ๆ มันคืออนาคต มันคือโอกาส การเป็นโปรแกรมเมอร์ในวันนี้ หนึ่งคือรายได้ดี สองอนาคตข้างหน้าถ้าเทคโนโลยี 5G มา ทุกอย่างจะเป็นดิจิทัลหมด เพราะฉะนั้น การเป็น digital resources การมีทักษะด้านดิจิทัล มันคือโอกาสในอนาคต ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในขั้นของการพัฒนา”
ดิจิทัล พาร์ค ที่มีลักษณะของพื้นที่มุ่งเปิดและเชื่อมต่อ (open and connect) วิถีชีวิตคนยุคดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน ในพื้นที่ที่รวมกันเป็นระบบนิเวศ ทำให้ที่นี่เป็นมากกว่าแค่ co-working space โดยเฟสแรกของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค บนพื้นที่ 45,000 ตารางเมตร เน้นตอบโจทย์การทำงานของคนทุกระดับ กิจการทุกขนาด ตั้งแต่คนทำงานคนเดียว ไปจนถึงกลุ่มคนทำงานที่มีเป็นร้อยคน
“ถ้าคุณมีบริษัททำคนเดียว คุณสามารถมาใช้บริการที่นี่เป็นเซ็นเตอร์ได้ มีโต๊ะทำงาน (Hot Desk) และได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน เข้าระบบนิเวศเดียวกัน เมื่อบริษัทคุณโตขึ้น อยากได้ออฟฟิศเล็ก ๆ คุณก็สามารถจะทำงานกับพาร์ทเนอร์เราได้ คุณโตขึ้นอยากได้ออฟฟิศที่เป็นส่วนตัวมาก ๆ คุณก็ย้ายมาอยู่ Work Space ด้านบน เป็นโซนออฟฟิศ มีพื้นที่ออฟฟิศแบบ 100-200 ตร.ม. จนถึง 1,000 ตร.ม. ก็สามารถอยู่ได้ สิ่งสำคัญคือคนทั้งหมดนี้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน คุณเป็นสมาชิกแบบไหนก็มาใช้ได้ ใช้ห้องประชุมได้ ใช้พื้นที่ต่าง ๆ ได้หมด มีความสะดวกให้ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็น full service office ตอบโจทย์ทุก demand (ของคนออฟฟิศ) ใช้ฟรี WIFI ได้ ในทุกที่นั่งมีปลั๊กไฟ มีมุมที่บริการกาแฟฟรี น้ำฟรี มีเครื่องดื่ม มีไมโครเวฟ ฯลฯ เหล่านี้คือประโยชน์ที่ทุกคนใช้สอยได้เท่ากันหมด”
นอกจากโซนนั่งทำงาน ยังมีโซนที่เป็นพื้นที่นวัตกรรม Innovation Space ซึ่งผู้บริหาร ทรู ดิจิทัล พาร์ค บอกว่าเป็นพื้นที่เปิดให้คนทั่วไป และดึงพาร์ทเนอร์มาพัฒนาระบบนิเวศ โดยเน้นนวัตกรรมที่คนใช้ได้จริง ไม่ได้เน้นล้ำสมัยอย่างเดียว
"ในส่วนของ Innovation อย่างที่เห็นพื้นที่ตรงด้านหน้าในโซนออฟฟิศ มี Google Academy ซึ่งมี Google Ignite, Google Guru พวกองค์กรเขาจะส่งคนมาเรียน มีสถาบันการศึกษาอย่าง สถาบันพระจอมเกล้าฯ KMITL มาร่วมมือกับเรา เปิด exhibition center และ creator space ผลิตอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็น prototype ธนาคาร UOB ก็มาเปิด อินโนทาวน์ เอาสตาร์ทอัพ และ SMEs มาเจอกัน และสร้างเป็นแผนงานธุรกิจ หรืออย่าง TEC ก็มาทำเรื่องเทรดดิ้ง เอาผู้บริหารไทยมาพบกับผู้บริหารต่างประเทศ ทางซี.พี. ก็เข้ามาทำ มีเรื่องเทรนนิ่ง มีการโชว์อดีต ปัจจุบัน อนาคต การเข้าถึงองค์กรซี.พี. การให้องค์ความรู้ต่าง ๆ มี ทรู อคาเดมี เข้ามา มีส่วนของราชการที่จะให้บริการ สมาร์ท วีซ่า อะไรแบบนี้เป็นต้น"
ในอีกโซนคือโซนรับจัดอีเวนต์ ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่สร้างเครือข่ายธุรกิจ กิจกรรมความรู้และบันเทิง กับคำถามว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค พื้นที่หลักเป็นออฟฟิศไม่ใช่ห้าง ทำไมต้องทำอีเวนต์ ฐนสรณ์อธิบายว่า การบริหารพื้นที่แบบนี้ จะทำให้เกิดระบบนิเวศที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์จริง
“เหตุผลคือการทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ มีจัดมินิคอนเสิร์ต เปิดแบบ Open คือดูฟรี เพราะมาอยู่ที่นี่ ไม่ใช่แค่มาอยู่กับเรา ไม่ใช่แค่ห้องประชุม แต่เราต้องมีกิจกรรมหลากหลายที่คนมาร่วมกับเราได้ มีทั้งแบบมาดูฟรี หรือจะเป็นอีเวนต์คอนเสิร์ตจ่ายเงินก็ว่ากันไป”
“วันนี้คนมานั่งทำงาน (ตรงโซน work space) อยากไปดูมือถือใหม่จาก Huawei หรืออยากไปเรียน Google Adwords ก็ไปดูซิว่า Google Academy มีคลาสสอนอะไรไหม หรือมีงานอีเวนต์มาจัด เขาเปิดให้คนนอกลงทะเบียนเข้าไปได้ คุณก็สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของเราในการจัดให้มีกิจกรรมมากกว่านั้น บางทีทุก 1-2 สัปดาห์ เราจะมีดีเจมาเปิดแผ่นด้วย ถือว่าเป็นพื้นที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบครบวงจร”
ขณะที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ชูธงการเป็น Hub ของธุรกิจสตาร์ทอัพ คำถามคือทำไมสตาร์ทอัพต้องมาที่นี่
“ผมว่าเงินไม่ใช่ประเด็นหลักของสตาร์ทอัพไทยวันนี้ เพราะมันพอมีเงินในตลาด ผมว่าเขาต้องการการสนับสนุนจากองค์กรธุรกิจ จากภาครัฐ การผลักดันและให้โอกาสมากขึ้น (เหตุผลที่) สตาร์ทอัพมาที่นี่ เพราะเขาได้โอกาสหลายอย่าง เขาจะได้โอกาสเข้าถึงเงิน โอกาสในการทำธุรกิจ ได้เข้าถึงความรู้ ที่นี่เราให้สตาร์ทอัพเป็นแกนก็จริง แต่รอบ ๆ ในนี้ เรามีองค์กร บริษัทด้านเทคโนโลยีใหญ่ ๆ ที่มาร่วมมือกับเรา เรามี academy มีทั้ง Google Academy เรามีหน่วยงานราชการมาร่วม”
ฐนสรณ์ มั่นใจว่า แม้ ทรู ดิจิทัล พาร์ค จะเป็นเพียงฟันเฟืองตัวเล็กในเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ความตั้งใจในการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม จะสร้างผลกระทบเชิงบวกกับสังคมในที่สุด ช่วยหนุนสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตขึ้น ก็ช่วยเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น
“ยกตัวอย่าง สตาร์ทอัพ QueQ จากที่ทำคิวร้านอาหาร ตอนนี้เขาไปทำระบบคิวคนไข้ในโรงพยาบาล ก็ช่วยให้คนไข้มีชีวิตที่ดีขึ้น แค่นี้ก็มี impact แล้ว เขาเป็นสตาร์ทอัพที่อยู่กับเรา ถ้าเรามีแบบนี้มาเรื่อย ๆ มันก็จะช่วยสร้าง impact ให้สังคมได้ ถ้าเราทำให้ธุรกิจด้านนี้เติบโต เม็ดเงินก็ไหลเข้ามา”
สำหรับ ฐนสรณ์ ความท้าทายคือการบริหารพื้นที่ขนาดใหญ่ (รวมสองเฟสเกือบแสนตารางเมตร) ให้ active ตลอดเวลาและมีผลลัพธ์น่าพึงพอใจ ซึ่งไม่ใช่งานง่ายแน่นอน เพราะไม่ใช่แค่เรียกพาร์ทเนอร์มาทำ หาพื้นที่ให้สตาร์ทอัพ ตั้งธุรกิจ หรือแค่ขายพื้นที่แล้วจบไป แต่นี่คืองานสร้างสรรค์ที่ไม่รู้จบ
“เราต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบให้เหมาะสมกับคนที่จะมาใช้จริง ๆ เหมาะสมกับสังคมไทย เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เหมาะสมกับอนาคต”
จากประสบการณ์การทำงานสาย Data & IT กับทรู มานานกว่า 3 ปี ฐนสรณ์ มีพื้นความเข้าใจคนในวงการเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างดี แต่เขายอมรับว่า งานบริหารดิจิทัล พาร์ค เป็นงานยาก เพราะเป็นเรื่องใหม่ โดยเฉพาะเมื่อเป็นกิจการของเอกชน ไม่มีรัฐบาลเกี่ยวข้อง การวางเป้าหมายต้องไม่ทำให้เป็น “การค้า” มากเกินไป
“มันยาก เพราะไม่เคยมีใครทำ เพราะว่าดิจิทัล พาร์ค ที่มี ส่วนใหญ่เป็นงานของภาครัฐ ไม่เฉพาะในไทย ที่อื่นก็เป็นภาครัฐ ลงทุนสร้างตึกและมีการให้ incentive กับส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามา แต่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เป็นภาคเอกชน โจทย์คือเราจะทำอย่างไรให้มันผสมกลมกลืน เป็นกลาง และ open (เปิดกว้าง) มากที่สุด นั่นคือความยากและท้าทายจริง ๆ”
ความยากที่เจาะจงไปถึงการบริหารสถานที่ให้มีความ active และมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้ เช่น บริษัทที่เข้ามาได้ทุนมากขึ้น เป้าหมายที่จะได้เห็นทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น หรือบริษัทที่เข้ามาร่วมในทรู ดิจิทัล พาร์ค จะเติบโตได้จริง
“ผมคิดถึงจุดที่เราจะมีป้ายบนผนัง (เป็น wall of fame) แสดงความสำเร็จของบริษัทที่ graduate เป็นซีรีส์ต่าง ๆ (ระดับความสำเร็จ) จากที่เข้ามาอยู่กับเราก็น่าจะดีนะ” ผู้บริหาร ทรู ดิจิทัล พาร์ค เอ่ยถึงการเชื่อมโยงและผลลัพธ์ของการเปิดพื้นที่แห่งนี้ และย้ำหัวใจสำคัญว่า
“Key ของที่นี่คือความเปิดกว้าง ผมชอบคำนี้ ‘Open’ ผมเชื่อว่าการเปิดให้คนเข้ามาใช้องค์ประกอบที่ครบครันของเราจะทำให้คนมีโอกาส ตรงนี้สำคัญ อยากทำอะไรก็มาเลย ตราบใดที่มันเกี่ยวข้องกับ Technology Innovation อยากให้ลองมาคุยกันครับ”