“ในระหว่างเดือนสิงหาคม - กันยายน พ.ศ.๒๔๗๖, มีคนไปมาที่หัวหินมากขึ้นจนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร.
“วันหนึ่งเราไปเดินเล่นเวลาเย็น ๆ ทางถนนหลังบ้าน, เห็น...ขึ้นรถยนต์ผ่านไปทางพระราชวัง ...เห็นเราก็ก้มหน้า, เราเองก็เมินหน้าเมื่อเห็นว่าเป็นใคร, เพราะ...มีความผิดใหญ่อยู่เพียง ๒ เรื่อง
“๑. ในเวลานั้นเห็นกันว่าท่านเป็นผู้ที่สนับสนุนให้ทหารกำเริบโลภจนเป็นขบถ
“๒. ท่านเอา...เป็นเมียในพวกเจ้าจึงไม่มีใครพูดด้วย, จนเพื่อนทหารของท่านคนหนึ่งมาเล่าให้เราฟังว่า-...พูดว่า- ‘อย่างไร ๆ ก็จะต้องแก้มืออ้ายพวกขบถนี้ให้จงได้. แม้แต่พี่น้องก็ไม่มีใครเขาดูหน้าฉันหมดแล้ว!’ ครั้น...นำทหารทางเหนือลงมา, ทางรัฐบาลใหม่ก็หาว่า พวกเจ้ารู้เห็นด้วยตั้งแต่พระองค์ในหลวงเอง”
ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น, มติชน พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2559)
คณะกบฏบวรเดชถือเป็นคณะที่มีความหลากหลายทางความคิดไม่น้อย มิใช่ว่า สมาชิกทุกคนในคณะจะเห็นเป็นอย่างเดียวกัน และคิดเหมือนกันว่า จะต้องเอาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมา เหมือนที่ใครหลายคนเข้าใจ เพราะหลายคนในคณะเห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นหมดสมัยไปแล้ว ขณะเดียวกันก็เห็นว่าอำนาจไม่ควรอยู่ในมือของคณะปฏิวัติ หากควรอยู่ในมือของกลุ่มอำนาจเดิม (เห็นได้จากข้อเรียกร้องให้อำนาจการแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่ 2 ตามบทเฉพาะกาลต้องให้กษัตริย์เป็นผู้คัดเลือก)
แต่การที่หัวหน้าคณะรวมถึงสมาชิกอีกหลายคนเป็นชนชั้นสูงจึงถูกคิดตีความไปทางนั้นได้ง่าย แม้แต่พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) หนึ่งในแกนนำคณะกู้บ้านกู้เมือง (ที่ถูกเรียกว่าเป็นกบฏบวรเดช) ก็ยังเคยให้ความเห็นติงไว้ก่อนเชิญพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นหัวหน้าคณะว่า ทหารในเมืองหลวงไม่เอาด้วยเพราะกลัวว่าเมื่อสำเร็จแล้วจะกลายเป็นการย้อนกลับสู่ระบอบเดิม
อย่างไรก็ดี คณะสมาชิกทหารหัวเมืองที่มีความเคารพรักและภักดีในพระองค์เจ้าบวรเดชอดีตเสนาบดีกลาโหมมีเสียงดังกว่าเพราะถือเป็นกำลังหลัก จึงทำให้กบฏคณะนี้ได้พระองค์มาเป็นผู้นำราวหนึ่งเดือนก่อนมีการลงมือปฏิบัติการจริง
ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยกำลังของคณะกู้บ้านกู้เมือง เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เป็นที่ทราบดีว่า จบลงด้วยความล้มเหลว “ในขณะนั้น” แต่การต่อสู้ของผู้สานต่ออุดมการณ์ของคณะกู้บ้านกู้เมืองไม่ได้จบลงแค่นั้น พวกเขาสู้ต่อด้วยทั้งปากกา และอาวุธ (อาศัยกองทัพที่ย้ายฟากมาอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยม) ก่อนกลายมาเป็นผู้ชนะในท้ายที่สุด และเปลี่ยนให้คณะราษฎร กลายเป็น “ผู้ร้าย” เต็มตัว
ณัฐพล ใจจริง (ขอฝันใฝ่ ในฝัน อันเหลือเชื่อ, ฟ้าเดียวกัน พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2556) แบ่งงานเขียนของฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ต่อต้านคณะราษฎรออกเป็น 2 ช่วงคือ หลังการปฏิวัติระหว่างปี 2475 ถึง 2483 ซึ่งเป็นช่วงที่ขบวนการต่อต้านก่อตัวจนถึงวันพ่ายแพ้ และช่วงที่สองคือหลังนักโทษการเมืองในยุคคณะราษฎรได้รับการปล่อยตัวแล้ว
สำหรับช่วงแรกนั้น งานของกลุ่มกษัตริย์นิยมมีลักษณะร่วมกันอยู่ 3 ลักษณะเด่นคือ ประการแรกวิจารณ์ว่าการปกครองของคณะราษฎรเป็นระบอบเผด็จการของชนชั้นต่ำเหนือมวลชนที่ไร้สมอง เช่นที่ปรากฏในปทานานุกรมของ สอ เสถบุตร (เศรษฐบุตร) หนึ่งในนักโทษคดีกบฏบวรเดช ที่ยกตัวอย่างการใช้คำศัพท์พร้อมกับวิจารณ์คณะราษฎรไปในตัว เช่นคำว่า absolute และ mob ปรากฏข้อความว่า “The Government of Siam was previously an absolute monarchy - แต่ก่อนรัฐบาลสยามเป็นสมบูรณาญาสิทธิราช” “A mob has many heads, but no brains - หลังการปฏิวัติ ฝูงชนนั้นมีศีรษะมากแต่ไม่มีสมอง” หรือ “He blasphemes his religion King and the country - เขาดูหมิ่นชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ของเขา”
ประการที่สองคือ การส่งเสริมความเชื่อว่าหน้าที่ของประชาชนคือการทำตามพระราชประสงค์ เช่นในงานเรื่อง ฝันจริงของข้าพเจ้า โดย พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) หนึ่งในนักโทษการเมืองแห่งเกาะตะรุเตา ซึ่งเป็นหนังสือสารคดีท่องเที่ยวที่ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญเมจิของญี่ปุ่นที่ยกอำนาจอธิปไตยให้กับจักรพรรดิ และจักรพรรดิมีอำนาจในการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี และประชาชนมีหน้าที่ทำตามพระประสงค์ของพระองค์
และประการที่สามคือ เรียกร้องให้มีการตั้งพรรคการเมืองกษัตริย์นิยม เช่น กฤดากรบนที่ราบสูง หนังสือรณรงค์ทางการเมืองของพรรค “คณะชาติ” ที่มุ่งให้การสนับสนุนกองทัพสีน้ำเงิน
ส่วนงานในช่วงที่สอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักโทษการเมืองได้รับอิสรภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเสรีภาพบนหน้าสื่อเปิดกว้างมากขึ้น ณัฐพลกล่าวว่า
“ด้วยหน้ากระดาษอันเปิดกว้าง งานเขียนของพวกเขาที่ปฏิเสธว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกบฏในอดีต ตลอดจนโจมตีคณะราษฎรว่าไม่มีความเป็นธรรมในการจับกุมผู้บริสุทธ์นั้น จึงแพร่หลายเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งเปิดประเด็นการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์และแนวคิดกษัตริย์นิยม งานเขียนของพวกเขาโจมตีและเปลี่ยนความหมายของการปฏิวัติของคณะราษฎรให้ตกต่ำว่าเป็น ‘การชิงสุกก่อนห่าม’ ในขณะที่ฝ่ายกษัตริย์นิยมเป็น ‘นักประชาธิปไตย’ ผู้สูงส่ง”
ตัวอย่างงานในช่วงที่สองเช่น พระปกเกล้ากับชาติไทย, หลักของประชาธิปไตย และ เจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ซึ่งเป็นงานที่ช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 และยกย่องพระองค์ให้เป็นบิดาประชาธิปไตยไทย อ้างว่าพระองค์ทรงวางแผนพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม (แต่หากไปดูร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้วจะเห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นเพื่อยืนยันว่าอำนาจสูงสุดของรัฐเป็นของกษัตริย์เท่านั้น)
กับงานอีกลักษณะที่เน้นความโหดร้ายของคณะราษฎร เชิดชูเกียรติยศของ กองทัพสีน้ำเงิน (ฝ่ายนิยมกษัตริย์) และแก้ต่างให้ขบวนการต่อต้านการปฏิวัติว่าเป็นนักประชาธิปไตยที่ต่อสู้กับเผด็จการ เช่น โศกนาฏกรรมสาหัสแห่งเกาะเต่า, แดนหก, ยุคทมิฬ, ฝันร้ายของข้าพเจ้า และแม่ทัพบวรเดช เป็นต้น
นอกจากนี้ นวนิยายดังอย่าง สี่แผ่นดิน (ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช), ฝากไว้ในแผ่นดิน (สุวัฒน์ วรดิลก), ราตรีประดับดาว (ว.วินิจฉัยกุล), ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน และ น้ำเงินแท้ (วินทร์ เลียววาริณ) ก็ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ "กบฏบวรเดช" และตอกย้ำความล้มเหลวของคณะราษฎร
สาลินี มานะกิจ (กบฏบวรเดชในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์, ดำรงวิชาการ ฉบับ มิถุนายน พ.ศ. 2559) กล่าวว่า งานเขียนข้างต้นนี้ ได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากงานเขียนของอดีตนักโทษการเมืองที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้จากเหตุการณ์กบฏบวรเดช เช่น ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน, ราตรีประดับดาว และน้ำเงินแท้ ที่ระบุแหล่งข้อมูลไว้ว่ามาจากงานอย่างเช่น ฝันร้ายของข้าพเจ้า โดย เลื่อน ศราภัยวานิช, รวมชีวิตและผลงานของ ม.ร.ว.นิมิตรมงคง นวรัตน์ โดย ม.ร.ว.นิมิตรมงคง นวรัตน์ และ ประชาธิปไตย 17 ปี โดย หลุย คีรีวัต
ซึ่งแหล่งอ้างอิงเหล่านี้ ณัฐพลตั้งข้อสังเกตว่า "งานเหล่านี้ส่วนมากเป็นการบันทึกเหตุการณ์ว่าใครทำอะไรที่ไหนเมื่อไรในการปฏิวัติ และหากจะมีการกล่าวถึงกบฏบวรเดชก็เป็นการเล่าเหตุการณ์มากกว่าการประเมินหรือวิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเขียนถึงการปฏิวัติ 2475 ของชาวน้ำเงินแท้"
ภูมิหลังของผู้แต่งก็มีผลต่อการเล่าเรื่องไม่น้อย สี่แผ่นดิน โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นั้น ผู้แต่งเป็นหัวหน้าพรรคก้าวหน้าที่มีนโยบายต่อต้านคณะราษฎร ซึ่งได้อดีตนักโทษการเมืองหลายคนมาทำงานด้วย เช่น สอ เสถบุตร, ม.ร.ว. นิมิตรมงคล นวรัตน์ และ ร.ท. จงกล ไกรฤกษ์
ซึ่งมาลินีกล่าวว่า "ด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวนี้น่าจะมีส่วนให้ผู้แต่งได้รับข้อมูลช่วงถูกคุมขังจองจำจากกลุ่มอดีตนักโทษการเมือง และส่งผลต่อการนำเสนอภาพตัวละครที่เข้าร่วมกับฝ่ายกบฏบวรเดชให้น่าสงสาร น่าเห็นใจ ดังปรากฏชัดในชะตากรรมของ 'อ้น'" (อ้น คือ ลูกชายนอกสมรสของคุณเปรมที่อยู่ข้างกบฏ)
หรือในเรื่อง ฝากไว้ในแผ่นดิน โดย สุวัฒน์ วรดิลก นั้น บิดาของผู้เขียนคือ อำมาตย์โทพระทวีปธุระประศาสตร์ เจ้าเมืองชลบุรีที่ถูกเพ่งเล็งว่าสนับสนุนฝ่ายกบฏ จึงถูกปลดออกจากราชการในปี พ.ศ. 2477 ซึ่งความเจ็บปวดนั้นถูกสะท้อนในบทพูดตอนหนึ่งว่า
"แต่ผมคิดว่า นโยบายของคณะราษฎรบางครั้งอยู่เหนือเหตุผลและศีลธรรม...เจ้าเมืองบางคน ถูกปลดออกจากราชการเพียงให้ความสะดวกแก่พวกกบฏด้วยภาวะจำยอม หรือไม่ก็ถูกบังคับ...เจ้าเมืองบางคน เพียงแต่ไม่อยู่ต้อนรับรัฐมนตรีมหาดไทยที่ออกตรวจราชการ ก็ถูกปลดด้วยข้อหาว่าฝักใฝ่กับฝ่ายกบฏ นี่มันนโยบายอยู่เหนือเหตุผลและศีลธรรมนะเฮีย"
ด้วยเบื้องหลังเช่นนี้ การเล่าเรื่องเกี่ยวเนื่องกับกรณีกบฏบวรเดชจึงอาจเกิดความลำเอียงในการนำเสนอได้ อย่างเช่นใน ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน ตอนที่อธิบดีกรมตํารวจเล่าถึงความเป็นมาของหลวงกฤษฎาวินิจให้ ร.ต.ต. ตุ้ย ฟังว่า
“เขาถือว่าตระกูลของเขาจงรักภักดีต่อกษัตริย์อย่างสูงมาหลายชั่วอายุคน พอเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อสองสามปีที่แล้ว เขายังไม่พยายามต่อต้านอะไรแม้จะไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าไหนๆ มันก็เกิดขึ้นแล้ว แต่พอพระยาพหลฯ กับหลวงพิบูลสงครามยึดอํานาจจากพระยามโนฯ เมื่อวันที่ 20 มิถุนาฯ 76 ซึ่งเป็นการปฏิวัติครั้งที่ 2 ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี เขาก็แค้นที่เห็นอํานาจจากกษัตริย์ตกอยู่ในมือของทหารไม่กี่คน...เขาถึงไปเข้ากับฝ่ายกบฏโดยไม่ลังเล”
ซึ่งเป็นการเล่าแบบตัดทอนว่า พระยาพหลฯ กับหลวงพิบูลใช้อำนาจตามอำเภอใจ แต่ในความเป็นจริง พระยามโนฯ นายกฯ คนแรก เป็นผู้ใช้อำนาจตามอำเภอใจก่อนด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาสั่งปิดสภา ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และงดใช้รัฐธรรมนูญ อันเป็นการยึดอำนาจของสภา รวบอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมาไว้กับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เนื่องจากกลุ่มของพระยามโนฯ ไม่พอใจในแผนเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถูกโจมตีว่าเป็น “คอมมิวนิสต์”
และออกกฎหมายริดลอนสิทธิเสรีภาพอย่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ทำให้ปรีดีต้องเดินทางออกนอกประเทศ
หากในความเป็นจริงนั้น เค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดีมีลักษณะเป็นแบบสหกรณ์เต็มรูปแบบซึ่งไม่ทำลายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของเอกชน และยังมีหลักประกันสังคมให้แก่ประชาชนนับตั้งแต่เกิดจนถึงตาย หากประชาชนเจ็บป่วยหรือชราภาพจนทำงานไม่ได้รัฐก็จะต้องช่วยดูแล อันเป็นหลักการของรัฐสวัสดิการก้าวหน้า มิใช่ระบอบคอมมิวนิสต์อย่างที่ถูกกล่าวหา
("โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯ จะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่าโครงการทั้ง ๒ นี้เหมือนกันหมด" - ตอนหนึ่งในบันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม)
และถึงปัจจุบันแม้คณะราษฎรจะหมดฤทธิ์สิ้นเดชไปกว่า 7 ทศวรรษแล้ว (นับจากหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ซึ่งมีการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์กลับมา คณะราษฎรสายปรีดีถูกกวาดล้าง และแม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะมีโอกาสกลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่ก็มิได้มีอำนาจเช่นเดิม) แต่คณะราษฎรก็ยังถูกโจมตีว่าเป็นต้นเหตุของความฉิบหายของบ้านเมืองเสมอมา ในฐานะเป็นผู้สร้างบาปกำเนิด (original sin) ด้วยการ “ชิงสุกก่อนห่าม” ซึ่งถูกตอกย้ำซ้ำ ๆ ในงานวรรณกรรมหลากชนิดจนไม่เหลือความดีงาม ขณะเดียวกันคู่ตรงข้ามของคณะราษฎรก็ถูกเชิดชูวีรกรรมจนเกินสัดส่วน และกลายเป็นภาพจำฝังแน่นอยู่ในความรับรู้ของคนไทยจำนวนมาก