มาร์ทิล แลงส์ดอร์ฟ คนสร้าง นาฬิกานับถอยหลังสู่วันสิ้นโลก

มาร์ทิล แลงส์ดอร์ฟ คนสร้าง นาฬิกานับถอยหลังสู่วันสิ้นโลก
“เมื่อท่านได้ยินถึงสงครามหรือการจลาจล จงอย่าได้ตื่นกลัว เพราะนั่นคือสิ่งที่จักเกิดขึ้นก่อน โดยจุดจบจะยังมิได้ตามมาโดยพลัน จากนั้นพระองค์ (พระเยซู) จึงตรัสต่อสาวก ว่า 'ประชาชาติต่างห้ำหั่นกัน อาณาจักรต่ออาณาจักร จะเกิดแผ่นดินไหว ความอดอยากหิวโหยและโรคระบาดแพร่กระจายไปหลายท้องที่ จากนั้นสัญญาณแห่งภัยพิบัติ และสัญญะจากสวรรค์ก็จักปรากฏ'” ลูกา 21:9-11 ตามความเชื่อของชาวคริสต์ "doomsday" หรือวันแห่งหายนะ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการกลับมาอีกครั้งของพระเยซู ตามมาด้วยการพิพากษาครั้งสุดท้ายของมนุษย์ทั้งปวง ว่าใครจะอยู่หรือใครจะไป ซึ่งชาวคริสต์ในอดีตล้วนเฝ้ารอวันแห่งหายนะและวันแห่งการพิพากษาครั้งสุดท้ายอย่างใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะชาวคริสต์ในศตวรรษแรกที่ใช้ชีวิตอย่างยากเข็ญและถูกกดขี่เช่นในคำพยากรณ์ จึงเชื่อว่า วันแห่งหายนะจะเกิดขึ้นในชั่วชีวิตของตนเป็นแน่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนับพันปี วันแห่งหายนะก็มิได้มาถึงโดยง่าย ชีวิตของชาวคริสต์มิได้ยากลำบาก ถูกตามล้างผลาญเหมือนศตวรรษแรก ความคาดหมายที่จะให้พระเยซูลงมาโปรดโลกมนุษย์เร็ว ๆ จึงเปลี่ยนไป และต้องการเห็นโลกมนุษย์อยู่อย่างปกติสุขมากกว่าที่จะถูกทำลายล้างเหมือนในคำพยากรณ์ การพูดถึง doomsday จึงเป็นวันแห่งความน่าสะพรึงกลัวที่คนไม่ต้องการให้มันมาถึงโดยเร็ว เหมือนนาฬิกาวันสิ้นโลก หรือ Doomsday Clock ที่ไม่มีใครอยากเห็นมันเดินหน้าสู่เวลา "เที่ยงคืน" ซึ่งถือเป็นเวลาแห่งหายนะ นาฬิกาเรือนนี้สร้างความตื่นตระหนกให้กับใครหลายคนเมื่อได้ยินชื่อมันเป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดี Doomsday Clock มิใช่นาฬิกาที่มีกลไกปกติที่เดินตามหน่วยเวลาเป็นชั่วโมง นาที วินาที อย่างเป็นเส้นตรง หากแต่เป็นงานศิลปะที่สะท้อนถึงความกังวลต่อกิจกรรมของมนุษย์ที่จะส่งผลกระทบต่อโลกจนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นหายนะ เช่นการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งอาจนำไปสู่การทำสงครามล้างโลกที่จะสร้างความเสียหายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หรือภัยจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจทำให้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดสูญพันธุ์ และอาจคุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษย์ มาร์ทิล แลงส์ดอร์ฟ (Martyl Langsdorf) คือผู้ที่ออกแบบนาฬิกาเรือนนี้ จากรายงานของ Washington Post เธอเกิดที่เซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม ค.ศ. 1917 เดิมชื่อ มาร์ทิล ซูซานน์ ชวาก (Martyl Suzanne Schweig) เกิดในครอบครัวศิลปิน เธอเองก็สนใจงานศิลปะมาตั้งแต่เล็ก เรียนจบจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ก่อนออกมาเป็นช่างเขียนภาพ และแต่งงานกับ อเล็กซานเดอร์ แลงส์ดอร์ฟส์ เจอาร์. (Alexander Langsdorf Jr.) นักนิวเคลียร์ฟิสิกส์ เมื่อปี 1941 สามีของเธอเป็นหนึ่งในคณะนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกที่ร่วมพัฒนาโครงการแมนฮัตตัน โครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งมีผลิตผลสำคัญคือ ระเบิดปรมาณูสองลูกที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ในการถล่มฮิโรชิม่าและนางาซากิ  เคนเนตต์ เบเนดิกต์ (Kennette Benedict) อาจารย์ด้านนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยชิคาโก กล่าวใน Bulletin of the Atomic Scientists สื่อด้านวิทยาศาสตร์ที่เน้นเนื้อหากระตุ้นให้คนลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำลายล้างโลกว่า ในขณะที่คณะนักวิจัยในทีมแมนฮัตตันใกล้จะทำงานเป็นผลสำเร็จ พวกเขาก็รู้สึกได้ถึงความน่ากลัวของมัน และถกเถียงกันถึงประโยชน์และอันตรายของเทคโนโลยีนี้ มีการจัดเวทีอภิปรายถึงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของนักวิทยาศาสตร์ในฐานะผู้สร้างเทคโนโลยีที่อันตรายที่สุดในโลกขึ้นมา ยิ่งพวกเขารู้ว่ามันจะถูกนำไปใช้งานจริงก็ยิ่งทำให้หลายคนเป็นกังวลอย่างรุนแรง ภายหลังเมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโกคิดจะเปลี่ยน Bulletin of the Atomic Scientists จากสื่อในรูปแบบของจดหมายข่าวมาเป็นนิตยสาร พวกเขาก็ชวนให้ มาร์ทิล แลงส์ดอร์ฟ ศิลปินที่พวกเขารู้จักให้มาช่วยออกแบบหน้าปกนิตยสารให้ ตอนแรกแลงส์ดอร์ฟ ตั้งใจใช้อักษรตัว U มาเป็นหลักในการออกแบบสื่อถึงแร่ยูเรเนียมที่ใช้ในการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่เมื่อได้ยินได้ฟังเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์พูดคุยถกเถียงกัน เธอก็ระลึกได้ว่า สิ่งที่พวกเขาเป็นกังวลมากที่สุดก็คือ ภัยคุกคามอันน่ากลัวจากเทคโนโลยีซึ่งพวกเขารู้สึกได้ว่ามันเป็นภัยที่ใกล้ตัวมาก ๆ เธอจึงเปลี่ยนมาใช้เสี้ยวหนึ่งของนาฬิกาที่เดินหน้าสู่ "เที่ยงคืน" เหมือนการนับถอยหลังก่อนที่ระเบิดนิวเคลียร์จะปะทุขึ้นหากไม่มีใครลงมือทำอะไร และนาฬิกาที่เข็มชี้เวลาที่ 23 นาฬิกา 52 นาที จึงกลายเป็นภาพขึ้นหน้าปก Bulletin of the Atomic Scientists ฉบับเดือนมิถุนายน 1947   ภาพของแลงส์ดอร์ฟทรงพลังและเป็นที่โด่งดังมาก แม้ว่าเธอจะเป็นช่างเขียนภาพที่เป็นที่รู้จักในแวดวงอยู่ก่อน แต่ก็ไม่เท่ากับการที่เธอได้เป็นที่รู้จักในฐานะ "ผู้หญิงที่สร้างนาฬิกาเรือนนั้น" ไมเคิล เบรุต (Michael Bierut) ดีไซเนอร์ผู้อัพเดตงานนาฬิกาของแลงส์ดอร์ฟในปี 2007 บอกว่า "มันช่างเป็นภาพที่สร้างความบีบคั้นที่มาจากข้างในจริง ๆ ความสามารถในการลดรูปจากสิ่งที่ซับซ้อนมาก ๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่เรียบง่ายและจดจำได้ง่าย ๆ อย่างนี้มันช่างเหมือนกับเวทมนตร์" (Washington Post) หลังการเผยแพร่ในคราวนั้น Doomsday Clock ถูกนำมาใช้งานซ้ำอีกหลายครั้งบนหน้าปกของ Bulletin of the Atomic Scientists เพื่อเป็นสัญลักษณ์สะท้อนว่าภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของมนุษย์อยู่ที่ระดับใดในปีนั้น ๆ หากปีใดที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดหายนะสูง การตั้งเข็มนาฬิกาก็จะยิ่งใกล้เวลาเที่ยงคืนยิ่งขึ้น เช่นในปี 1953 เมื่อสหรัฐฯ ทดลองระเบิดไฮโดรเจน นาฬิกาถูกตั้งเวลาไว้ที่ 23.58 นาฬิกา ขณะที่ในปี 1991 เมื่อสงครามเย็นยุติลง นาฬิกาถูกตั้งไว้ 23.43 นาฬิกา ซึ่งถือว่าไกลจากความหายนะที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่ในปี 2018 และ 2019 ทีมคณะกรรมการของ Bulletin of the Atomic Scientists เห็นว่า โลกเราเข้าสู่วิกฤตอีกครั้ง กับความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงทั้งด้านการทหาร และภัยจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Doomsday Clock จึงถูกตั้งเวลาไว้ที่ 23.58 นาฬิกา 2 ปีติดต่อกัน ก่อนที่ในเดือนมกราคม ปี 2020 จะมีการปรับเวลาเป็น 100 วินาทีก่อนเที่ยงคืน เพราะโลกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งอาวุธนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และความท้าทายในโลกไซเบอร์ ซึ่งถือว่าเข้าใกล้หายนะมากที่สุดนับตั้งแต่มีนาฬิกาวันสิ้นโลก  "สถานการณ์นี้-ที่เราเรียกว่า ความผิดปกติใหม่ (new abnormal ล้อกับคำว่า new normal สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีแต่จะเป็นสิ่งปกติต่อไป) เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ในภาวะที่ต้องเผชิญอันตรายอย่างคาดไม่ถึงจากทั้งสงครามนิวเคลียร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่างเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อมนุษยชาติ แต่มันกลับไม่ได้ถูกจัดการแก้ไข ในขณะเดียวกัน การทำสงครามข้อมูลทางไซเบอร์ของแต่ละประเทศ ของผู้นำแต่ละคน ลงไปจนถึงกลุ่มย่อยจากหลากหลายเฉดสีการเมืองรอบโลกก็ยิ่งทำให้ภัยคุกคามนี้เลวร้ายยิ่งไปอีก และเป็นอันตรายต่อระบบข้อมูลซึ่งเป็นหลักยึดของระบอบประชาธิปไตยและอารยธรรมอย่างที่เราเคยรู้จัก ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนและทำให้สถานการณ์ความมั่นคงของโลกมืดมนลงไปอีก" ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ของคณะกรรมการฯ ประจำปี 2019 ระบุ ทั้งนี้ มาร์ทิล แลงส์ดอร์ฟ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2013 ส่วน อเล็กซานเดอร์ แลงส์ดอร์ฟ สามีของเธอ หลังมีส่วนร่วมกับโครงการแมนฮัตตันแล้วก็รู้สึกได้ว่าเขามีส่วนที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายจากระเบิดนิวเคลียร์ จึงเข้าไปเคลื่อนไหวในสื่ออย่าง Bulletin of the Atomic Scientists เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ลงนามเรียกร้อง ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ให้สหรัฐฯ รับภาระควบคุมการใช้งานอาวุธนิวเคลียร์ และมาร์ทิลเคยเล่าหลังจากสามีจากไปว่า ครั้งที่ทั้งคู่เดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1970s และผ่านอนุสรณ์ในฮิโรชิม่า สามีของเธอไม่ยอมลงจากรถไฟ เธอเห็นเขาร้องไห้และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น    อัพเดทข้อมูลเมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2563