สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล ปั้นตำนาน “ฟู้ดแลนด์” แดนอาหาร 24 ชั่วโมง
ฟู้ดแลนด์ผู้มาก่อนกาล! ไม่น่าเชื่อว่าซูเปอร์มาร์เก็ตเก่าแก่แห่งนี้คือซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของไทยที่ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง ฟู้ดแลนด์เป็นที่พึ่งในยามที่ห้างอื่นหลับใหลมานานถึง 47 ปี โดยมีผู้นำการก่อตั้งคือ สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล นักธุรกิจที่จับโอกาสดีมานด์ของคนกลางคืนสำเร็จ
สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล หรือ "แฟรงค์ ลิม" มีอายุเข้า 84 ปีแล้วในปี 2562 เขาเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เติบโตและจบการศึกษาชั้นมัธยมที่ฮ่องกง ก่อนจะย้ายมาตั้งถิ่นฐานในไทย โดยเริ่มทำงานกับบริษัทห้างร้านต่าง ๆ หนักเอาเบาสู้ผ่านงานมาหลากหลาย ตั้งแต่กุลีขนของ คนขับรถบรรทุก พนักงานเขียนบิล จนถึงเซลส์ขายเวชภัณฑ์
การทำงานกับบริษัทข้ามชาติ ทำให้สมศักดิ์มีโอกาสได้ไปต่างประเทศและเห็นรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างจากไทย โดยธุรกิจที่เขาเห็นว่ามีอย่างแพร่หลายเหมือนกัน ไม่ว่าจะในประเทศแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง คือ "ซูเปอร์มาร์เก็ต" แต่ในประเทศไทยเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว มีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่แห่งเดียวชื่อ "เดลี่ เลน" ในย่านชิดลม
ขณะนั้นเขาทำงานกับบริษัทต่าง ๆ มา 15 ปี ทำให้มีองค์ความรู้พอสมควร เมื่อพิจารณาช่องว่างในตลาด สมศักดิ์จึงหาหุ้นส่วนมาร่วมกันตั้ง "เพลินจิต ซูเปอร์มาร์เก็ต" ขึ้นบริเวณโครงการอาเขต เพลินจิต เมื่อปี 2515 (ปัจจุบันปิดสาขาไปแล้วพร้อม ๆ กับตัวโครงการอาเขต)
ซูเปอร์มาร์เก็ตใหม่นี้เลือกเปิดบริการ 24 ชั่วโมง เพราะเห็นว่ามีพนักงานมากมายที่เลิกงานช่วงค่ำถึงดึก ทำให้ไม่มีแหล่งจับจ่ายซื้อของก่อนกลับบ้าน ซึ่งสมศักดิ์ประเมินว่าคนกลุ่มนี้น่าจะมีสัดส่วนราว 10-15% ของคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด
อย่างไรก็ดี ช่วงแรก ๆ ของการเปิดดำเนินการ สมศักดิ์ต้องเจอปัญหาคือลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน อาจเพราะบรรยากาศของซูเปอร์มาร์เก็ตที่ติดเครื่องปรับอากาศและมีประตูเปิดปิด แตกต่างจากร้านขายของชำที่ลูกค้ารู้สึกว่าเข้าถึงได้ง่ายกว่า แต่เมื่อลูกค้าได้ลองเข้าไปซื้อของแล้วก็พบว่าสถานที่ไม่ได้หรูหราจนเข้าถึงไม่ได้ และยังมีสินค้าให้ซื้อหาตามความต้องการ ยอดขายจึงค่อย ๆ วิ่งจนเป็นที่น่าพอใจ อีก 6 เดือนถัดมา สมศักดิ์และหุ้นส่วนจึงเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งที่สองคือ "พัฒนพงษ์ ซูเปอร์มาร์เก็ต" เน้นการเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมงอีกเช่นกัน หลังจากนั้นอีก 2-3 ปี เขาและหุ้นส่วนคิดขยายสาขาอีกครั้ง นำสู่การตัดสินใจเข้าเทกโอเวอร์ เดลี่ เลน สาขาเอกมัย เพราะเป็นทำเลที่ต้องการพอดี
หลังจากมีซูเปอร์มาร์เก็ตครบ 3 แห่ง สมศักดิ์ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อทุกสาขาให้เหมือนกันคือ "ฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต" และตั้งเป็นบริษัทเดียวขึ้นมาบริหาร เพื่อให้การต่อรองซื้อสินค้าง่ายขึ้น โดยใช้ชื่อว่า "ฟู้ดแลนด์" (Foodland) หรือ แดนอาหาร เพราะว่าบริษัทมีจุดแข็งด้านการเป็นศูนย์รวมวัตถุดิบปรุงอาหาร สะท้อนสู่การจัดสัดส่วนสินค้าขายของ ซึ่งที่นี่มีสินค้ากลุ่มอาหารราว 85% มีกลุ่มที่โดดเด่นเป็นที่ถูกใจลูกค้า เช่น แผนกเนื้อสัตว์ cold cut
เมื่อฟู้ดแลนด์ต้องเติบโตไปมากกว่านี้ สมศักดิ์เริ่มยอมรับว่าตัวเองไม่มีองค์ความรู้มากพอที่จะบริหารเองได้ จึงว่าจ้างผู้บริหารจากฮ่องกงที่เชี่ยวชาญมาเป็นซีอีโอ ขณะที่ตัวเขาเป็นผู้คุมภาพกว้างในฐานะประธานบริษัท
ด้วยวิสัยทัศน์แรกเริ่มที่ชัดเจนของเขาว่าต้องการเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต 24 ชั่วโมง ทำให้ในฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต มีร้านอื่นที่จำเป็นด้วย อย่าง ร้านขายยาที่มีเภสัชกร 24 ชั่วโมง ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมง ต่อจากนั้นจึงมีร้าน "ถูกและดี" ซึ่งเป็นร้านอาหารแบบ open kitchen เปิด 24 ชั่วโมง เพิ่มเข้ามาด้วย ซึ่งไอเดียของร้านนี้เกิดจากการหาอะไรให้คุณพ่อบ้านทำระหว่างรอแม่บ้านช้อปปิ้ง
ปัจจุบัน โมเดลธุรกิจแบบฟู้ดแลนด์ขยายไปแล้ว 23 สาขา แบ่งเป็น 20 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอีก 3 สาขาในต่างจังหวัด คือ เมืองพัทยา และ จ.นครราชสีมา มีทั้งโมเดลแบบสแตนด์ อะโลน และที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะ สตรีท, เทอร์มินัล 21, ไอที สแควร์ ทั้งนี้ ฟู้ดแลนด์สามารถทำรายได้เมื่อปี 2561 ถึงหลักพันล้าน แบ่งเป็นฟู้ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต 5,800 ล้านบาท และร้านถูกและดี 600 ล้านบาท
สำหรับธุรกิจที่ก่อตั้งมาแล้วเกือบครึ่งศตวรรษ จำนวนสาขาที่มี 20 กว่าสาขา อาจทำให้หลายคนมองว่าบริษัทนี้โตช้า ทว่านั่นเป็นเพราะในอดีตสมศักดิ์ไม่ได้เร่งสปีดการเปิดสาขาใหม่มากนัก แต่ในยุคหลังเมื่อ อธิพล ตีระสงกรานต์ ผู้เป็นลูกชายเข้ามาร่วมบริหาร พร้อม ๆ กับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากบรรดาร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และหันมาใช้โมเดล 24 ชั่วโมงกันมากขึ้น ทำให้ตำนานอย่างฟู้ดแลนด์ก็ต้องขยับเช่นกัน หากย้อนดูในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ฟู้ดแลนด์เปิดเพิ่มไป 7 สาขา เฉลี่ยปีละเกือบ ๆ 1 สาขา เทียบกับที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้ว 2-3 ปีจึงจะเปิดสักสาขาหนึ่ง
“ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทั่วประเทศไทยมีซูเปอร์มาร์เก็ตไม่เกิน 30 แห่ง แต่ปัจจุบันมีรวมหลายร้อยแห่งและหลายพันแห่ง หากเอามารวมกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 8,000 สาขา [ณ ปี 2562 มีกว่า 10,000 สาขาแล้ว] เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้นเราก็ต้องปรับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นในด้านของสินค้าหรือบริการ...” สมศักดิ์กล่าวในการสัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
อธิพล ลูกชายผู้เข้ามาช่วยนำทัพยังเปิดวิสัยทัศน์ด้วยว่า บริษัทต้องการจะขยายให้ได้ปีละ 3-4 สาขา แต่ในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้อาจจะต้องลดเป้าเหลือปีละ 2-3 สาขาเท่านั้น และเริ่มมองโมเดลอื่น ๆ เช่น ปรับเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ขนาด 200 ตารางเมตร แทนที่โมเดลเดิมที่ต้องใช้พื้นที่มากถึง 1,200-1,500 ตารางเมตร หรือการแตกแบรนด์ร้านถูกและดีออกมาตั้งต่างหาก ไม่ต้องเป็นส่วนเสริมกับซูเปอร์มาร์เก็ต
แนวคิดการแยกร้านถูกและดีออกมานั้นค่อนข้างน่าสนใจ วัดได้จากเทรนด์การเติบโตรายได้ที่ฝั่งซูเปอร์มาร์เก็ตโตปีละ 3-4% แต่ร้านถูกและดีกลับโตปีละ 10% เป็นไปตามเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ชอบทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และร้านถูกและดีก็มีจุดแข็งเป็นที่จดจำ ด้วยราคาอาหารเฉลี่ยจานละ 100 บาท (ซึ่งอาจไม่ถูกนักสำหรับยุคนี้) แต่ยังคงความ "ดี" ที่คุณภาพสะอาด อร่อย และที่สำคัญคือยังคงเสิร์ฟน้ำเปล่าฟรี ในขณะที่บรรดาร้านอาหารต่างพากันฟันกำไรจากการขายเครื่องดื่ม
นอกจากนี้ ธุรกิจในเครือของฟู้ดแลนด์ยังมีการนำเข้าแบรนด์ร้านอาหารขึ้นห้างจากแพสชันของสมศักดิ์เอง โดยอธิพลเล่าถึงคุณพ่อว่า เขารักการทำธุรกิจอาหารมาก เคยเปิดร้านมาแล้วมากมาย แต่ไม่ใช่ทุกร้านที่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่คุณพ่อไม่เคยเข็ดกับความล้มเหลว ทำให้วันนี้ครอบครัวเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ที่เราคุ้นเคยอย่าง Tim Ho Wan, Hawker Chan, Mr.Pizza เป็นต้น
ที่มา
https://www.posttoday.com/politic/report/393871
https://www.prachachat.net/marketing/news-337794
https://www.gqthailand.com/people/article/interview-foodland
เรื่อง: Synthia Wong