เอกนิษฐ์ ปัญญา สตาร์ดวงใหม่ผู้แจ้งเกิดจากการปฏิวัติวงการฟุตบอลไทย
เอกนิษฐ์ ปัญญา หรือเจ้าบุ๊ค คือชื่อของเด็กหนุ่มผู้กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันอย่างกว้างขวางในขณะนี้ หลังจากโชว์ฟอร์มเกินวัย ยิง 1 จ่าย 1 พาทีมชาติไทยชนะคู่แข่งสำคัญอย่าง UAE ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ชีวิตของเขาในวันนี้ดูจะมีแต่เรื่องราวของความมหัศจรรย์ พรสวรรค์ ฝีเท้าที่โดดเด่นที่ถูกกล่าวถึงราวกับเป็นสิ่งพิเศษที่ฟ้าประทานมาให้ หากแต่แท้จริงแล้ว ทั้งหมดที่กลายเป็นเอกนิษฐ์ในวันนี้ ไม่ได้มาจากฟ้าประทานเพียงอย่างเดียวแต่อย่างใด แต่เกี่ยวข้องอย่างเหนียวแน่นกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย โดยเฉพาะการปฏิวัติวงการฟุตบอลไทยในปี พ.ศ. 2552 ที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการเกิดพื้นที่ใหม่ให้กับคนกลุ่มใหม่มาจนถึงปัจจุบัน
บุ๊คเกิดที่จังหวัดเชียงราย ในครอบครัวที่คุณพ่อทำงานเป็นลูกจ้างในโรงพยาบาล (ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่บ้าน) และคุณแม่ที่ขายอาหารตามสั่งอยู่ที่บ้าน พ่อของบุ๊คคือผู้ที่มีฟุตบอลอยู่ในสายเลือด ไม่เฉพาะการเสพ แต่ยังเป็นนักฟุตบอลฝีเท้าดีคนหนึ่งของอำเภอพญาเม็งราย ไม่น่าแปลกใจที่สายเลือดนั้นจะถ่ายทอดมาสู่ลูกอย่างเข้มข้น พ่อกระเตงบุ๊คไปตามแมตช์การแข่งขันต่าง ๆ ด้วยเสมอ
จากการเป็นผู้ชมและเตะบอลข้างสนาม จนโตพอที่จะเตะฟุตบอลไหว บุ๊คเริ่มฝึกฟุตบอลอย่างจริงจัง เขาฉายแววการเป็นนักเตะที่ดี หลังจากเข้าประกวดในรายการต่าง ๆ แล้วได้รับรางวัล บุ๊คเดินสายเล่นฟุตบอลตั้งแต่ 9 ขวบ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเล่นฟุตบอลข้ามรุ่นเป็นครั้งแรก ก่อนที่การเล่นข้ามรุ่นจะกลายมาเป็นเส้นทางประจำในชีวิตของเขาไปเสียแล้วในปัจจุบัน
เส้นทางการเติบโตของบุ๊ค เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของวงการฟุตบอลไทยในปี 2552 เมื่อสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ออกระเบียบว่าด้วยความเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพอย่างสมบูรณ์แบบ และนำมากำกับใช้กับการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพในประเทศสมาชิก ส่งผลให้มีการลงทุน มีความตื่นตัวในเชิงธุรกิจสื่อกีฬา ทำให้วงการฟุตบอลไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมอาชีพที่เริ่มประสบความสำเร็จ เกิดกระแสความนิยมที่แพร่หลายออกไปยังส่วนภูมิภาคทั่วประเทศมากขึ้น สโมสรฟุตบอลไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกต่อไป หากแต่กระจายตัวไปในแทบทุกจังหวัดของประเทศไทย สโมสรเชียงราย ยูไนเต็ด เริ่มเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว และกลายเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจแห่งใหม่ของชาวเชียงรายในเวลาอันรวดเร็ว
พ่อของบุ๊คคือหนึ่งในนั้น เมื่อตัดสินใจฝากตัวเป็นแฟนตัวยงของเชียงราย ยูไนเต็ด นับแต่นั้นเป็นต้นมา บุ๊คเองได้รับอิทธิพลจากพ่ออย่างไม่ต้องสงสัย และเมื่อสโมสรเริ่มเปิดโรงเรียนฝึกสอนฟุตบอล (อะคาเดมี) ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการผลิตนักฟุตบอลที่มีคุณภาพเข้าสู่ทีมชุดใหญ่ พ่อและบุ๊คจึงไม่ลังเลที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ บุ๊คในวัย 14 ปี โชว์ทักษะฟุตบอลผ่านด่านต่าง ๆ จนเข้าตาโค้ชของอะคาเดมี สามารถฝ่าด่านเพื่อน ๆ ที่มาคัดตัวอีกราว 500 คนไปได้
ชีวิตของเด็กอะคาเดมี
“โรงเรียนฝึกสอนฟุตบอล” กลายมาเป็นช่องทางใหม่ในการจะก้าวไปสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ การเกิดขึ้นของโรงเรียนฝึกสอนฟุตบอลเริ่มจากการที่สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ออกข้อบังคับให้สโมสรที่ต้องการเป็นสมาชิกของ AFC จะต้องจัดให้มีโรงเรียนฝึกสอนฟุตบอลประจำสโมสรของตนเองอย่างน้อย 1 แห่ง จากนั้นสโมสรต่าง ๆ ก็เริ่มเห็นช่องทางในการใช้โรงเรียนฝึกสอนฟุตบอลเพื่อสร้างนักเตะที่มีคุณภาพขึ้นมา โรงเรียนฝึกสอนฟุตบอล จึงกลายเป็นธุรกิจกีฬาของสโมสรฟุตบอล ที่มีหน้าที่โดยตรงคือการสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับนักเตะ
ชีวิตในอะคาเดมีเชียงรายของบุ๊ค แม้ว่าจะได้สิทธิพิเศษ นั่นคือ เรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี รวมถึงเป็นที่ภาคภูมิใจของครอบครัวแล้ว แต่การจะเอาตัวรอดให้ได้คือการอยู่ให้ครบสัญญา นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะชีวิตในอะคาเดมีมีการฝึกซ้อมฟุตบอลที่เข้มข้นมาก ทั้งด้านร่างกายและระเบียบวินัย
ชีวิตในช่วงแรกของการเข้ามาอยู่ในอะคาเดมีของบุ๊คจึงต้องปรับตัวอย่างหนัก โดยเฉพาะเรื่องระเบียบวินัย เน้นเรื่องความตรงต่อเวลาเป็นพิเศษ ตารางชีวิตก็ต้องปรับใหม่หมดตามที่โค้ชวางไว้ให้ ทั้งการยึดโทรศัพท์มือถือก่อนเข้านอน ห้ามเหยาะแหยะในเวลาฝึกซ้อม การอยู่หอพักที่ต้องรักษาระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ต้องช่วยกันดูแลหอพักให้สะอาดเป็นระเบียบ ไม่แอบทำสิ่งที่โค้ชห้าม (กินเหล้า สูบบุหรี่ ทะเลาะวิวาท ฯลฯ) หากใครแหกกฏเหล่านี้จะมีผลอย่างยิ่งในการพิจารณาการต่อสัญญา
การฝึกฝนร่างกายคือภารกิจหลักของอะคาเดมีที่ทุกคนต้องเจอ ตารางการฝึกซ้อมของแต่ละวันจะเริ่มต้นตั้งแต่ราว 6 โมงเช้าของทุก ๆ วัน เด็ก ๆ ต้องตื่นนอนเพื่อเตรียมตัวที่จะฝึกซ้อมในเวลา 07.00-08.00 น. เมื่อฝึกซ้อมในช่วงเช้าเสร็จแล้ว แต่ละคนจะต้องกลับไปที่หอพักเพื่ออาบน้ำแต่งตัวเตรียมไปโรงเรียน จากนั้นหลังจากเรียนเสร็จ (ประมาณสามโมงครึ่ง) ทุกคนก็จะกลับไปที่หอพักเพื่อเปลี่ยนชุดเตรียมตัวมาฝึกซ้อมช่วงเย็นในช่วง 16.00-18.00 น. หลังจากฝึกซ้อมช่วงเย็นเสร็จแล้ว เด็ก ๆ ทุกคนจะต้องรีบไปอาบน้ำ เพื่อมารอทานข้าวในเวลาประมาณ 18.45 น. หลังจากทานข้าวเสร็จ ทุกคนจะมีเวลาพักผ่อนและทำธุระส่วนตัวประมาณ 2 ชั่วโมง โดยโค้ชจะเรียกประชุมทีมอีกครั้งในช่วง 21.00-22.00 น. เพื่อพูดคุยกันถึงการฝึกซ้อมในแต่ละวันว่ามีข้อดีหรือข้อควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง รวมทั้งการพูดคุยถึงแทคติคและแผนการเล่นต่าง ๆ หากจะต้องมีการแข่งขันในวันถัดไป เมื่อประชุมทีมเสร็จแล้วก็ถึงเวลาที่ทุกคนจะต้องแยกย้ายกันไปนอน
ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าที่สะสมมาทั้งวัน ช่วงเวลาหลังประชุมเสร็จจึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็ก ๆ อย่างแท้จริง กิจวัตรเช่นนี้ดำเนินไปทุกวัน ยกเว้นแต่ว่าบางสัปดาห์ที่มีแมตซ์แข่งขันก็อาจจะได้หยุดพักบ้างประมาณ 1 วัน
วันเดอร์คิดเชียงราย
แม้จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในกฏระเบียบมากมาย แต่บุ๊คก็ผ่านมาได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ด้วยบุคลิกที่เป็นคนอ่อนน้อม เชื่อฟังผู้ใหญ่ รวมถึงเป็นที่รักของเพื่อน ๆ และในสนามเองก็โชว์ความสามารถโดดเด่นเกินวัยมาโดยตลอด จนสามารถพิชิตรางวัลมาแทบทุกรางวัลที่จะมีให้พิชิต โดยเฉพาะช่วงที่เรียนอยู่ชั้น ม.4 ที่ถือเป็นช่วงขาขึ้นอย่างแท้จริง เริ่มจากการถูกเรียกให้ไปติดทีมชุดใหญ่ของเชียงราย ยูไนเต็ด มันหมายถึงการที่เขาจะได้ร่วมซ้อมกับนักฟุตบอลชุดใหญ่ของเชียงราย ยูไนเต็ด ทุกวัน การได้มีชื่ออยู่ในทีมชุดใหญ่นำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่สองคือ การได้เป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูได้ในลีกสูงสุดของประเทศด้วยวัย 15 ปี 11 เดือน (ก่อนจะถูกทำลายสถิติในเวลาต่อมา) ประตูดังกล่าวแม้จะเป็นเพียงประตูปลอบใจในความพ่ายแพ้ 1 ประตูต่อ 4 ในการแข่งขันกับเมืองทองฯ แต่สำหรับบุ๊คแล้วมันคือเวทีเปิดตัวที่นำพาเขาไปสู่การมีชื่อเสียงระดับประเทศจนเริ่มได้ฉายาจากสื่อว่า “วันเดอร์คิด (wonderkid) เชียงราย”
หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับโอกาสไปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิต ในรายการแข่งขัน “เอฟซี บาเยิร์น ยูธ คัพ ไทยแลนด์ 2016” ที่ทำการคัดเลือกเด็กจากทั่วประเทศให้เหลือ 16 คน เพื่อไปฝึกซ้อมและแข่งขันกับเยาวชนประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ 6 ประเทศที่ประเทศเยอรมนี เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ การได้เข้าร่วมรายการในครั้งนั้น นอกจากได้ซึมซับบรรยากาศของสโมสรระดับโลกแล้ว การได้ไปฝึกฟุตบอลที่นั่นก็ทำให้เขาได้อะไรติดตัวกลับมาอีกหลายอย่าง ทั้งวิธีการเล่นและเรื่องความคิดของการเล่นแบบมืออาชีพ และนอกจากประสบการณ์ด้านฟุตบอลแล้ว รายการดังกล่าวยังทำให้เขาได้ “ชื่อเสียง” กลับมาด้วย เพราะในรายการดังกล่าวมีการถ่ายทำรายการชื่อ “เด็ก เตะ ฝัน” ออกอากาศทางช่อง PPTV ติดตามชีวิตของเด็กทั้ง 16 คน ตั้งแต่ก่อนการคัดเลือกไปจนถึงช่วงเสร็จสิ้นการแข่งขัน
หลังจากกลับมาจากบาเยิร์น บุ๊คยังคงลงเล่นในรายการต่าง ๆ ตามปกติ จนเมื่อขึ้นชั้น ม.5 เขาก็ได้ไปต่างประเทศอีกครั้ง แต่ครั้งนี้พิเศษกว่าครั้งแรกเพราะไปในนามทีมชาติ ซึ่งถือเป็นเกียรติยศสูงสุดของเขา การแข่งขันครั้งนั้นเป็นรายการแข่งขัน Jockey Club International Youth Invitational Football Tournament 2017 โดยประเทศไทยส่งตัวแทนทีมชาติรุ่นอายุ 19 ปี เข้าแข่งขัน ซึ่งบุ๊คสามารถโชว์ฟอร์มได้ดีจนพาทีมชาติคว้าแชมป์ได้สำเร็จ นอกจากได้แชมป์แล้ว บุ๊คยังสามารถคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์ติดตัวกลับมาอีกด้วย นับจากก้าวแรกในวันนั้น บุ๊คก็กลายเป็นตัวหลักของทีมชาติไทยชุดเยาวชนมาโดยตลอด และถูกเรียกไปติดข้ามรุ่นอยู่เสมอจนมาถึงปัจจุบัน
ชีวิตหลังจากจบจากอะคาเดมี (จบ ม.6) บุ๊คเริ่มลงเล่นในลีกอาชีพอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกให้กับทีมเชียงรายซิตี้ ในระดับ T4 ด้วยสัญญายืมตัว ในเวทีอาชีพครั้งแรกสำหรับเด็กวัยย่าง 18 ปี ยังคงเป็นคำถามว่าเขาจะสามารถทำได้ดีเพียงใด เขาจะแปรเปลี่ยนความเป็นเทพเจ้าของบอลเยาวชนมาสู่บอลอาชีพจริง ๆ ได้ดีแค่ไหน
จุดนี้เองที่บุ๊คเริ่มโชว์ความมหัศจรรย์ ด้วยลีลาการเล่นที่นิ่งเกินวัยและร่างกายที่แข็งแกร่งจนสามารถปะทะกับรุ่นใหญ่ได้ ทำให้บุ๊คกลายเป็นตัวหลักของทีมอย่างรวดเร็ว และสามารถพาทีมเลื่อนชั้นได้สำเร็จ ฟอร์มที่โดดเด่นของบุ๊คทำให้เขาได้รับโอกาสที่ท้าทายความสามารถของเขาอีกครั้ง เมื่อถูกยืมตัวมาเล่นให้กับทีมเชียงใหม่ เอฟซี ที่อยู่ในระดับ T2 เป็นการก้าวกระโดดขึ้นมาถึง 2 ระดับ แต่บุ๊คก็ยังเอาชนะตัวเองได้ต่อไป เขากลายเป็นตัวหลักของทีม และสามารถพาทีมเลื่อนชั้นสู่ลีกสูงสุดได้เป็นครั้งแรกของสโมสร และแน่นอนว่าบุ๊คได้กลายเป็นเดอะวันเดอร์คิดอย่างสมบูรณ์แบบ ก่อนที่ในฤดูกาลปัจจุบัน บุ๊คจะกลับไปรับใช้ต้นสังกัดที่แท้จริงของเขา และเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ทีมมีลุ้นแชมป์อยู่ในขณะนี้ จนมาถึงการถูกเรียกมาติดทีมชาติชุดใหญ่เป็นครั้งแรกที่เป็นการท้าทายตัวเองครั้งสำคัญ และเป็นอีกครั้งที่เขาเอาชนะมันได้สำเร็จอย่างสวยงาม
แจ้งเกิดเพราะการปฏิวัติวงการฟุตบอลไทย
หากจะไล่เรียงให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น อาจกล่าวได้ว่า บุ๊คคือผลผลิตของวงการฟุตบอลไทยในยุคที่ 3 คือยุคของฟุตบอลอะคาเดมี เช่นเดียวกับ ศุภโชค สารชาติ และ ศุภนัฏฐ์ เหมือนตา ดาวดังจากบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด โดยก่อนหน้านี้เส้นทางฟุตบอลในยุคที่ 1 คือยุคหน่วยงานราชการและส่วนกลาง ที่เส้นทางฟุตบอลยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในยุคของ วิทยา เลาหกุล และ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน และยุคที่ 2 คือยุคฟุตบอลกึ่งอาชีพและโรงเรียนกีฬา ที่เส้นทางฟุตบอลเริ่มกระจายตัวออกไปในต่างจังหวัด โดยมีโรงเรียนกีฬาทั้งในต่างจังหวัดและ 4 โรงเรียนจตุรมิตรในกรุงเทพฯ (สวนกุหลาบ เทพศิรินทร์ อัสสัมชัญ และ กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย) เป็นตัวป้อนที่สำคัญให้กับสโมสรที่เกือบทั้งหมดเป็นของหน่วยงานรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ เช่นเส้นทางชีวิตของ โชคทวี พรหมรัตน์ มงคล ทศไกร รวมถึง ธีรศิลป์ แดงดา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของประวัติศาสตร์เส้นทางชีวิตของนักฟุตบอลไทยได้ในวิทยานิพนธ์ของพงศกร สงวนศักดิ์ เรื่อง “เส้นทางสู่นักฟุตบอลอาชีพของเยาวชนต่างจังหวัด” หรือบทความชื่อเดียวกันในหนังสือ “ร่าง แรง อารมณ์ ความรู้สึกในสังคมร่วมสมัย”)
เส้นทางชีวิตของบุ๊ค จึงเกิดขึ้นจากการปฏิวัติวงการฟุตบอลไทย ที่ทำให้ฟุตบอลกลายเป็นอุตสาหกรรม เกิดมีอาชีพนักฟุตบอลที่สามารถเลี้ยงชีวิตได้จริง ๆ ทั้งยังทำให้เกิดสโมสรของท้องถิ่น และเกิดอะคาเดมีของสโมสรท้องถิ่น โอกาสเหล่านี้เมื่อเปิดขึ้นแล้ว ครอบครัวของบุ๊คไม่รอช้าที่จะรีบคว้าไว้ และตัวบุ๊คเองก็ใช้ความสามารถทุกอย่างที่เขามีเอาชนะมันมาได้โดยตลอด แต่ใช่ว่าทุกอย่างคือพรสวรรค์ล้วน ๆ กระบวนการสร้างความเป็นมืออาชีพที่เกิดขึ้นในอะคาเดมีคือกระบวนการสำคัญที่ทำให้บุ๊คกลายเป็นบุ๊คที่ทั้งแข็งแกร่งด้านร่างกาย รวมถึงเป็นเด็กที่มีทัศนคติที่ดีในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ดังนั้น การเปิดโอกาสและการขยายโอกาสเหล่านี้จะยิ่งเป็นผลดีกับทั้งชีวิตของผู้คน รวมไปถึงทีมชาติในอนาคต เพราะเพชรเช่นบุ๊คนั้น คงไม่มีทางได้ฉายแสง หากไม่มีอะคาเดมีและลีกอาชีพที่แท้จริงเช่นในปัจจุบัน
เรื่อง: พงศกร สงวนศักดิ์
ภาพ: Chiang Rai United FC