รัฐบาลนอร์เวย์ ผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ยุค 90s จนเป็นเบอร์ 1 ของโลก
ในปี พ.ศ. 2557 รายงานของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า สมุทรปราการถือเป็นจังหวัดที่มีมลพิษสูงสุดของประเทศไทย ด้วยมีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เกินมาตรฐานถึง 132 วันในหนึ่งปี รองลงมาคือสระบุรี 114 วัน พระนครศรีอยุธยา 97 วัน ส่วนกรุงเทพฯ 48 วัน และต้นตอปัญหามลพิษอากาศกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ก็มาจากการใช้พลังงานในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมการผลิต
หลังจากนั้นอีก 3 ปี และต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ประเทศไทยประสบกับปัญหาฝุ่นควันอย่างรุนแรง ทางกรมควบคุมมลพิษจึงได้เสนอแนวทางแก้ไข ดังปรากฏในรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561 มีแผนแก้ไขทั้งระยะสั้น (2562-2564) เช่น ควบคุมการนำเข้ารถยนต์เก่า ส่งเสริมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันต่ำ ควบคุมการเผาในที่โล่ง/ภาคการเกษตร ควบคุมและลดมลพิษจากการก่อสร้างและผังเมือง
ส่วนแผนระยะยาว (พ.ศ. 2565-2567) ก็จะมีการบังคับใช้น้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ภายในปี พ.ศ. 2566 บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่แบบ Euro 6 ทั้งรถเล็กและรถใหญ่ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วทุกประเภท ควบคุมและลดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง เน้นการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตร รวมไปถึงการควบคุมและลดมลพิษในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน
จะเห็นได้ว่า หน่วยงานราชการของไทยมิได้นิ่งนอนใจที่จะแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และเน้นการปรับตัวอย่าง "ค่อยเป็นค่อยไป" ไม่เร่งรีบ (แม้ว่ามันควรจะรีบสักหน่อย) คล้ายกับนอร์เวย์ที่ใช้เวลาเป็นสิบ ๆ ปี เพื่อรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นพาหนะหลัก
เพียงแต่นอร์เวย์ผลักดันเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) หรือสามสิบปีที่แล้ว จนทำให้ปัจจุบันนอร์เวย์กลายเป็นประเทศที่มีรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวใช้มากที่สุดในโลก เมื่อเทียบจำนวนต่อหัว
ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศที่คุณภาพอากาศค่อนข้างดีอยู่แล้วอย่างนอร์เวย์ ยังตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลยภายในปี 2030 และจะยุติการใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในปี 2025 หรืออีกเพียง 6 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นการตั้งเป้าที่ทะเยอทะยานอย่างมาก แม้ว่านอร์เวย์จะไม่ได้เผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้น "เฉพาะหน้า" แต่ก็เห็นว่ามันเป็นปัญหาจำเป็นที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และภาครัฐก็พยายามผลักดันอย่างเต็มที่
รัฐบาลนอร์เวย์ออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันตั้งแต่ปี 1990 เริ่มจากการยกเว้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว ปี 1996 จึงให้ยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นการถาวร บวกกับลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน ปีต่อมาก็ยกเว้นค่าทางด่วน ตามมาด้วยการให้จอดฟรีในที่จอดสาธารณะ ลดภาษีบริษัทรถยนต์ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มรถยนต์ไฟฟ้า (ซึ่งที่นู่นคิดสูงถึง 25 เปอร์เซ็นต์!) อนุญาตให้ใช้ช่องทางรถประจำทางได้ และให้บริการขนเรือข้ามฟากฟรี เป็นต้น (Elbil)
ด้วยนโยบายลดแลกแจกแถมแบบเต็มพิกัด ประชาชนชาวนอร์เวย์จึงยกโขยงกันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า จากที่มีรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นทะเบียนไว้ 10,000 คัน ในปี 2012 ก็เพิ่มเป็น 230,000 คัน ในเดือนพฤษภาคม 2018 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี เท่านั้น ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ถึงตอนนี้นโยบายลดแลกแจกแถมเพื่ออุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มลดลง โดยตั้งแต่ปี 2017 ทางรัฐบาลกลางให้สิทธิกับรัฐบาลท้องถิ่นในการกำหนดเรื่องแรงจูงใจเอาเอง แปลว่า ทางเทศบาลจะเก็บค่าจอดรถจากผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ได้ แต่ห้ามเก็บเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจอดรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และจะให้ใช้เส้นทางพิเศษสำหรับรถประจำทางหรือไม่ก็ได้ ส่วนนโยบายอุุดหนุนอื่น ๆ ทางรัฐบาลจะยังคงไว้อย่างน้อยถึงปี 2021 หลังจากนั้นก็จะมีการพิจารณากันใหม่อีกครั้ง
แม้สิทธิประโยชน์จะลดลง ถึงตอนนี้คนนอร์เวย์ถ้าจะซื้อรถยนต์คันใหม่ก็มองหาระบบไฟฟ้ามากกว่า รายงานของ Forbes กล่าวว่า ในเดือนมีนาคม 2019 ตัวเลขยอดขายรถยนต์ใหม่กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจริง ๆ ตัวเลขอาจจะสูงยิ่งกว่านี้เสียอีก แต่นั่นคือตัวเลขสูงสุดที่ตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นจะนำเข้ามาได้ ตัวเลขเลยจำกัดอยู่แค่นั้น โดยยังมียอดจองรอคิวอีกจำนวนมาก
แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายนี้ก็มีเสียงวิจารณ์ในแง่ลบ ประการหนึ่งก็คือ มันถูกมองว่าเป็นนโยบายที่ช่วยคนมีเงิน เพราะราคารถยนต์ไฟฟ้าค่อนข้างแพง แม้รัฐบาลจะยกเว้นทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สำหรับคนรายได้น้อยมันก็ยังแพงอยู่ดี คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้ประโยชน์จากนโยบายอุดหนุนของรัฐบาลสักเท่าไรนัก
และอีกข้อวิจารณ์หนึ่งก็คือ นโยบายของนอร์เวย์จะเรียกว่ามือถือสากปากถือศีลหรือไม่? เพราะในขณะที่นอร์เวย์ทุ่มเทอย่างหนักที่จะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ก่อนหน้าประเทศไหน ๆ แต่นอร์เวย์คือผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่จีดีพีเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์มาจากการขายน้ำมัน และเงินที่ได้จากการขายน้ำมันนั่นเองที่ถูกนำมาใช้อุดหนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ มันจึงเหมือนการส่งออกมลพิษไปให้ประเทศอื่น ในขณะที่ตัวเองใช้พลังงานสะอาด จึงมีคนตั้งคำถามว่า ประโยชน์โดยรวมเมื่อหักล้างกันแล้วมันคุ้มกันหรือไม่?
แต่การเรียกร้องให้นอร์เวย์เลิกส่งออกน้ำมันโดยทันทีก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมันคือรายได้หลักของประเทศ เหมือนที่ โทมัส นีลเซน (Thomas Nilsen) สื่อท้องถิ่นนอร์เวย์ให้ความเห็นกับ The New York Times ว่า "เราเป็นประเทศที่มีอาการเสพติดปิโตรเลียม เราเข้าใจดีว่าการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลคือสาเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในขณะเดียวกันเราก็พึ่งพารายได้จากน้ำมันเป็นอย่างมาก เหมือนกับคนติดเหล้า เราอยากจะเลิกนะ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเลิกอย่างไร"
แม้จะมีเสียงวิจารณ์ แต่นี่คือความพยายามหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาปัญหา เพราะนอร์เวย์ประเทศเดียวไม่สามารถจะกำหนดอนาคตและนโยบายของประเทศอื่น ๆ ได้ และแม้ว่านอร์เวย์จะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญ แต่ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ของส่วนแบ่งการตลาดการส่งออกน้ำมัน ดังนั้น ถึงนอร์เวย์ไม่ขายก็มีผู้ขายรายอื่นพร้อมจะขายอยู่แล้ว ปัญหาจึงอาจไม่ใช่ว่า นอร์เวย์รักสิ่งแวดล้อมแล้วทำไมนอร์เวย์จึงยังขายน้ำมัน? แต่อยู่ที่ ทำไมประเทศอื่น ๆ จึงไม่เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เราจำเป็นต้องจำกัดและลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งถ้าทุกประเทศเห็นตรงกัน ประเทศผู้ขายก็บังคับให้ซื้อไม่ได้อยู่แล้ว