18 ต.ค. 2562 | 20:03 น.
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าความปรารถนาในเรือนร่างสตรีไม่เคยปราณีใคร...
หลายคนอาจจะเคยได้อ่าน หรือได้ชมเรื่องราวของ กาซีโมโด คนค่อมแห่งนอเทรอดาม นวนิยายเรื่องดังจากปลายปากกาของ วิคตอร์ อูโก (Victor Hugo) นักเขียนชื่อดังชาวฝรั่งเศส ที่เขียนขึ้นใน ค.ศ. 1831 เรื่องราวของชายหลังค่อมตีระฆังแห่งมหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส ผู้มีความพิการทางร่างกายและเกิดตกหลุมรักสาวยิปซีที่มีชื่อว่า แอสเมอรัลดา
ในงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ปี 2019 นี้ คณะเครมลิน บัลเลต์ รัสเซีย ได้เนรมิตหอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมฯ ให้กลายเป็นมหาวิหารใจกลางกรุงปารีส และพาเราย้อนกลับไปสัมผัสเรื่องราวความรัก ความปรารถนา ที่นำไปสู่จุดจบอันแสนเศร้า ผ่านผู้หญิงที่ชื่อว่า “แอสเมอรัลดา”
“Notre-Dame de Paris” คือผลงานการประพันธ์ระดับมาสเตอร์พีช ชิ้นสุดท้ายของยุคคลาสสิกโรแมนติก บัลเลต์ชุดนี้จัดแสดงครั้งแรกในปี 1844 บนเวทีของรอยัล เธียเตอร์ ในกรุงลอนดอน (ผลงานของจูลส์ เปอร์โรต์) และในช่วง 160 ปีต่อมา คณะบัลเลต์ต่าง ๆ ก็ได้นำการแสดงชุดนี้ไปจัดแสดงทั่วยุโรป รวมทั้งคณะเครมลิน บัลเลต์ ที่นำเรื่องราวของยิปซีสาวสวยมาชุบชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้งและเริ่มจัดแสดงใน 2006
ในครั้งนี้ เครมลิน บัลเลต์ นำเสนอบัลเลต์แบบสององก์ ผลงานการประพันธ์ของ เชซาเร ปุงงิ (Cesare Pugni) และ ริคาร์โด ดริโก (Ricardo Drigo) และได้วาทยกรเจ้าของรางวัล Golden Mask อย่าง เยฟเกนี โวลินสกี (Evgeny Volynsky) เป็นผู้ควบคุมวงโดยมีวง RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) รับหน้าที่บรรเลง
โดยวันนี้บัลเลต์สององก์เรื่องนี้จะให้คำตอบกับเราได้ว่า เหตุใดศิลปะการแสดงที่ริเริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ที่ทั้งดูโบราณไม่น่าสนใจ แต่ทำไมถึงถูกยกให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่ไม่มีวัน “สูญพันธุ์”
องก์ที่หนึ่งฉากหน้าเวที: การแสดงเปิดด้วยฉากที่ เฟลอเดอลีส์ เจ้าสาวของหัวหน้ากองทหาร เฟบุส เดอ ชาโปแตร์ มอบผ้าพันคอผืนงามให้กับว่าที่เจ้าบ่าวของเธอในค่ำคืนก่อนวันวิวาห์ ก่อนที่การแสดงจะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในฉากที่หนึ่งที่จำลองจัตุรัสบริเวณหน้ามหาวิหารนอเทรอดามแห่งปารีส
ในฉากนี้จะเล่าเรื่องราวของฝูงชนที่ต่างพากันมารวมตัวอยู่ที่จัตุรัสหน้ามหาวิหาร และกำลังต้องมนต์อยู่กับการร่ายรำของสาวยิปซีคนงามที่มีนามว่า แอสเมอรัลดา ซึ่งในขณะเดียวกัน โกลด ฟรอลโล นักบวชแห่งมหานอเทรอดามแห่งนี้ก็เกิดอารมณ์หลงใหลในมนต์เสน่ห์ของแอสเมอรัลดาเข้าอย่างจังเช่นกัน
ตัวฉากด้านหลังของการแสดง เป็นผ้าใบสกรีนรูปโครงสร้างสถาปัตยกรรมโกธิคแบบสามมิติที่สวยงามทีเดียว แต่เสียดายที่ท้องฟ้าด้านหลังเป็นการใช้แสงสีฟ้าส่องขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งถ้าเป็นภาพเสมือนหรือมีมิติมากกว่านี้ น่าจะชวนให้หลุดเข้าไปในกรุงปารีสปี 1482 มากขึ้น
แม้บัลเลต์อาจจะเป็นการแสดงที่ใช้ภาษากายแทนคำพูด แต่ท่วงท่าของมันก็งดงามและตีความตามได้ไม่ยากนัก ณ ฉากนี้นักเต้นที่แสดงเป็นฟรอลโล สามารถแสดงถึงความปรารถนาที่มีต่ออิสตรีได้ชัดเจนมาก มันสะท้อนให้เราได้เห็นถึงนักบวชคนหนึ่งที่โหยหาตัณหาราคะซึ่งเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่ว่าเขาจะภาวนาต่อพระเจ้าก็ไม่อาจช่วยให้เขาเอาชนะความรู้สึกนั้นได้ ซึ่งนี่เป็นเนื้อหาที่สอดคล้องกับบัลเลต์ยุคโรแมนติกที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องจินตนาการและความเพ้อฝันได้ดีทีเดียว
ด้วยความอยากได้อยากโดนของฟรอลโล สุดท้ายมันก็นำพาเขาไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญนั่นก็คือ การให้ กาซีโมโด ย่องเข้าไป “ฉุด” แอสเมอรัลดา เพื่อหวังจะให้เธอกลายมาเป็นเครื่องสนองตัณหาของเขา ในฉากนี้ เครมลิน บัลเลต์ เล่าเรื่องผ่านท่วงท่าได้ได้สนุกทีเดียว จะเห็นได้ว่าในฉากที่กาซีโมโดถูกกองกำลังทหารภายใต้การบัญชาของเฟบุส เดอ ชาโตแปร์ จับตัวได้ แอสเมอรัลดา ในฐานะตัวต้นเหตุ (เพราะความสวย) ก็ได้ขอให้เฟบุสไว้ชีวิตและปล่อยกาซีโมโดไป
ฉากนี้ตัวนางเอกโชว์ให้เห็นถึงเสน่ห์ของผู้หญิงที่บุรุษทั้งหลายต้องสยบ ไม่ต้องมีเอื้อนเอ่ยมากก็สื่อความหมายลึกซึ้งได้ชัดเจน เรียกได้ว่าฉากนี้มีความ three in one เพราะนอกจากกาซีโมโดจะได้รับรู้ถึงความเมตตาของแอสเมอรัลดาแล้ว นี่ยังเป็นจังหวะที่ฟรอลโลพยายามโปรยเสน่ห์ใส่แอสเมอรัลดาเต็ม ๆ และยังเป็นฉากหลังจากที่ฟรอลโลกำลังคิดแก้แค้นแอสเมอรัลดาหลังจากที่โดนปฏิเสธรักมา
ขอยกฉากที่ห้าของการแสดงอย่าง “งานแต่งงานที่ล้มเหลว” มาพูดสักหน่อย ในท้องพระโรงของปราสาทของมาดามกงเดอโลรีเยร์ ที่กำลังจะมีพิธีการแต่งงานของเฟลอเดอลีส์เและเฟบุส หลายคนกำลังเตรียมงานอย่างขะมักเขม้นเพื่อพร้อมสำหรับการต้อนรับแขกสำคัญ แอสเมอรัลดาที่ถูกเชิญให้ไปเต้นในงานดังกล่าว ซึ่งพอรู้ว่าเป็นงานแต่งของชายที่เธอหลงรัก มันทำให้เธอต้องพยายามเอาชนะความรู้สึกนั้นให้ได้
ตัวนางเอกอย่าง อิรินา อาบลิโซวา (Irina Ablitsova) นักเต้นผู้แสดงเป็นแอสเมอรัลดา โดดเด่นอย่างมากในช่วงนี้ เธอแสดงถึงบัลเลต์ท่าพื้นฐานต่าง ๆ ให้เราได้ดูกันแบบเต็มอิ่ม การเคลื่อนไหวที่ดูเบาลอยและท้าทายกับหลักฟิสิกส์หรือแรงโน้มถ่วงของโลก คือเสน่ห์ที่งดงามของบัลเลต์ยุคโรแมนติก อีกทั้งฉากนี้เหล่านักเต้นประกอบมาในชุดสีทองอร่ามตา ดูแล้วสวยงามมาก
ก่อนจะจบช่วงแรก ฉากสำคัญอย่างตอนที่เฟบุส “โป๊ะแตก” เพราะเดอ ลีส์ ดันไปเห็นผ้าพันคอเจ้าปัญหาที่เธอมอบให้กับเขาอยู่กับสาวอื่น สะท้อนให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วคนเราก็มักจะยึดความปรารถนาที่แท้จริงของตัวเองเป็นเครื่องนำทางเสมอ เพราะในตอนท้ายเฟบุสก็ตัดสินใจทิ้งเดอ ลีส์ และวิ่งตามแอสเมอรัลดาไปมุ้งมิ้งกันในเมืองนั่นเอง...
แม้ช่วงนี้จะดูยืดเยื้อไปหน่อย แต่ก็เป็นการจบองก์ที่หนึ่งแบบชวนให้ลุ้นต่อได้ไม่น้อย
องก์ที่สอง ฉากที่หนึ่ง เปิดด้วย “เทศกาลจำอวด” ที่เหล่าประชาชนแห่งกรุงปารีสกำลังมอบรางวัล ”ราชาแห่งคนเขลา" (Pope of Fools) ให้กับกาซีโมโดที่กำลังสับสนกับสิ่งที่เกิดขึ้น ในหัวเขามีแต่ภาพสิ่งดี ๆ ที่แอสเมอรัลดาเคยทำให้กับเขา แต่ในเวลาเดียวกันเขาก็รู้ว่ามันเป็นความรักที่เป็นไปไม่ได้
ฉากที่สองในโรงเตี๊ยม ถือเป็นจุดพีคของเรื่อง เพราะเป็นฉากที่ฟรอลโลกำลังตามแอสเมอรัลดาและเฟบุสไปที่โรงเตี๊ยมแห่งหนึ่ง และใช้มีดสั้นแทงไปที่หลังของเฟบุส ก่อนจะโยนความผิดให้กับแอสเมอรัลดา ฉากนี้เราจะได้เห็นเหล่านักเต้นแสดงท่าทางของคนกระวนกระวายและตื่นตัวตลอดเวลา แถมมีท่ายาก ๆ เพียบ
ภายหลังวันแต่งงานหายนะของเฟอ ลีส์ จะเป็นฉากการแสดงบัลเลต์เต็มรูปแบบของโชว์นี้ โดยจะมีนักเต้นชายหญิงออกมาเต้นโชว์เทคนิคบัลเลต์ท่ายากต่าง ๆ ทั้งการเต้นทรงตัวด้วยขาเดียวนานเกือบนาที หรือท่ากางขาหมุน 180 องศา (แบบสิบรอบได้) ถือเป็นช่วงที่สนุกและน่าตื่นเต้นมาก ๆ
ฉากที่กาซีโมโดกระโดดเข้ามาช่วยแอสเมอรัลดาจากการโดนประหารชีวิต ถือเป็นอีกหนึ่งฉากสำคัญของเรื่อง ที่ถึงแม้มันจะนำไปสู่ฉากการประหารแอสเมอรัลดา แต่การร้อยเรื่องผ่านท่วงท่าของบัลเลต์ก็แสดงให้เห็นถึงชั้นเชิงและความสวยงามของศิลปะแขนงนี้
เรื่องราวถูกเล่ามาถึงตอนกาซีโมโดพาร่างไร้วิญญาณของแอสเมอรัลดาเข้าสู่ห้องใต้ดินลึกของวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ฝังศพผู้ถูกประหารชีวิต ต่อมา กาซีโมโดก็สิ้นใจตามแอสเมอรัลดาพร้อมกับโอบกอดร่างของเธอไว้ข้างกาย และทันใดนั้นเองผ้าขาวผืนเดียวกับที่เฟบุสเคยมอบให้กับแอสเมอรัลดาก็ตกลงมา ซึ่งนอกจากฉากนี้จะซึ้งมาก ๆ แล้ว ผ้าขาวที่ร่วงลงมายังเป็นการสะท้อนถึงความรัก ความปรารถ ที่เป็นจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของเรื่องราวทั้งหมดอีกด้วย
ผ้าขาวนั้นคือการสะท้อนถึงตัวของแอสเมอรัลดา ที่เปรียบเป็นเครื่องมือสนองตัณหาของมนุษย์ทุกคน ซึ่งท้ายที่สุดมันสอนทุกคนให้เห็นว่าชายหลังค่อม ผู้ที่ใคร ๆ ก็มองเขาเป็นปีศาจ กับความรักที่เขามีให้กับแอสเมอรัลดา บริสุทธิ์ยิ่งกว่าสิ่งใดบนโลก เพราะมันเป็นความรักที่มาจากพื้นฐานของส่วนลึกในจิตใจ หาใช่ความหลงใหลจากสิ่งนอกกาย
ถ่ายภาพ : สุภชาติ เวชมาลีนนท์