พี่น้อง บาติสตา จ่ายใต้โต๊ะให้รัฐเอื้อประโยชน์ สู่ บ.ค้าเนื้อสัตว์อันดับ 1
"ทุนเอกชนมักจะสะสมอยู่ในมือของคนไม่กี่คน สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากการแข่งขันระหว่างทุนกันเอง อีกส่วนก็มาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี และการกระตุ้นขยายกำลังผลิต ในขณะเดียวกันก็แบ่งย่อยภาคแรงงานให้เล็กลง ผลของพัฒนาการเช่นนี้ก่อให้เกิดคณาธิปไตย (oligarchy) ของพวกทุนเอกชนซึ่งทรงพลังมากเสียจนภาคการเมืองที่มีการจัดตั้งองค์กรแบบประชาธิปไตยไม่อาจตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"นี่คือความจริง ในเมื่อภาคนิติบัญญัติถูกเลือกมาจากพรรคการเมืองซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการอุดหนุนหรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของทุนเอกชน ในเชิงปฏิบัติมันย่อมทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถูกกีดกันออกจากภาคนิติบัญญัติ บทสรุปก็คือผู้แทนของปวงชนไม่อาจปกป้องผลประโยชน์ของประชากรผู้ด้อยโอกาสได้อย่างแท้จริง"
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Why Socialism?)
บราซิลเป็นประเทศที่มีภาคการเกษตรและอาหารขนาดใหญ่โดยเป็นผู้ส่งออกสินค้าจำพวกกาแฟ โกโก้ และน้ำตาล เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รวมไปถึงเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อไก่ และบริษัทผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกหากวัดจากยอดขายก็อยู่ที่บราซิลนี่เอง นั่นก็คือ JBS (หากจะเทียบกับ CPF ยักษ์ใหญ่ของไทย JBS ใหญ่กว่าเกือบ 3 เท่า ด้วยยอดขาย 49,700 ล้านดอลลาร์ - Forbes ขณะที่ CPF ยอดขายอยู่ที่ราว 17,000 ล้านดอลลาร์ - SET)
โชเซ บาติสตา โซบรินโย (José Batista Sobrinho) เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์จากอนาโปลิส ก่อตั้ง JBS ขึ้นในปี 1953 โดยใช้พยัญชนะต้นของชื่อสกุลตนเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัท แรกเริ่มเขาฆ่าชำแหละวัวขายแค่วันละตัวสองตัว จนในปี 1956 เป็นช่วงที่บราซิลกำลังจะย้ายเมืองหลวงไปบราซิเลีย ธุรกิจของเขาจึงได้ขยายตัวมากขึ้น เขาซื้อโรงชำแหละเพิ่มและเพิ่มกำลังการชำแหละขึ้นเป็นวันละ 100 ตัวต่อวัน และอีกสองปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 500 ตัวต่อวัน (Forbes)
โซบรินโย มีลูกอยู่ 6 คน ประกอบด้วย โชเซ ลูกชายคนโตชื่อเดียวกับพ่อ (José) เวสลีย์ (Wesley) ลูกชายคนรอง และ โจสลีย์ (Joesley) ลูกชายคนเล็ก กับลูกสาวอีก 3 คน คือ วาเนสซา (Vanessa) วิเวียน (Vivianne) และ วาเลรี (Valere)
พี่น้องฝ่ายชายถูกฝึกให้เจรจาซื้อขายมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่ออายุได้ 17 ปี ก็พากันออกจากโรงเรียนแล้วมาทำงานที่บ้าน โชเซ ได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารใหญ่ตามหลังพ่อที่ถอยมาเป็นที่ปรึกษา ถึงปี 2005 โชเซก็มุ่งหน้าสู่เวทีการเมือง แต่ไปไม่รอดกลับมานั่งเป็นบอร์ดบริหารดูแลกิจการร่วมกับน้อง ๆ (น้องสาวทั้งสามก็นั่งเป็นบอร์ดอยู่ด้วยเหมือนกัน)
เวสลีย์ที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหารใหญ่แทนพี่ชายคนโตบอกกับทาง Forbes ว่า ความสำเร็จของ JBS มาจากคติประจำครอบครัวที่เน้นทำอะไรก็ตามให้ขั้นตอนมันสั้นกระชับเป็นที่สุด เขาจึงไม่ชอบระบบราชการ และส่งเสริมให้ทำงานอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ แน่วแน่ไม่ลังเลเป็นสำคัญ
JBS ขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยการไล่ซื้อกิจการของคู่แข่งรายอื่น ๆ ในช่วงทศวรรษ 1990s จนสามารถผูกขาดตลาดในประเทศได้ ก่อนแผ่ขยายไปต่างประเทศเมื่อขึ้นศตวรรษใหม่ จนกลายมาเป็นบริษัทผู้ค้าเนื้อสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแน่นอนว่า ลำพังทุนของพวกเขาเองย่อมไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ง่าย ๆ แต่หากได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอะไร ๆ มันก็ง่ายขึ้น โดยทาง BNDES ธนาคารเพื่อส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลบราซิลมีส่วนสำคัญในการให้เงินทุนกับ JBS ทำให้บริษัทท้องถิ่นกลายเป็นบริษัทข้ามชาติมีกิจการเกี่ยวกับการค้าเนื้อสัตว์แบบครบวงจรไปหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงสหรัฐฯ ซึ่งกลายเป็นตลาดที่ทำเงินให้ JBS เสียยิ่งกว่าบ้านเกิด
การเป็นบริษัทข้ามชาติทำให้ JBS ได้เปรียบผู้ค้ารายเล็ก ๆ มากมาย เช่นในปี 2008 เมื่อทางสหภาพยุโรปเพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าเนื้อสัตว์จากบราซิล เนื่องจากผู้ค้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขว่าด้วยการติดตามที่มาของแหล่งผลิต JBS ก็สามารถหาช่องทางในการส่งเนื้อสัตว์เข้าสหภาพยุโรปได้อยู่ดี โดยอาศัยบริษัทลูกในออสเตรเลียเป็นผู้ส่งสินค้าเข้ายุโรป
หลังประสบความสำเร็จในการขยายตลาดในสหรัฐฯ ด้วยการซื้อกิจการของ Swift & Company และ Pilgrim's ผู้ค้าเนื้อวัวและเนื้อไก่รายใหญ่ของสหรัฐฯ ตามลำดับ ซึ่งกำลังจมหนี้กองใหญ่อยู่ แต่จะเป็นช่องทางให้ JBS ได้เจาะตลาดทั้งสหรัฐฯ และออสเตรเลีย จากนั้นเวสลีย์ก็เดินทางกลับบราซิลและรับหน้าที่เป็นผู้บริหารใหญ่ของบริษัทในระดับนานาชาติ ส่วน โจสลีย์ได้ขึ้นมานั่งตำแหน่งประธานบริษัทแทน
ภายหลังพี่น้องบาติสตายังขยายกิจการไปยังภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากธุรกิจอาหาร เช่นกิจการกระดาษ หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดยได้ตั้งบริษัทโฮลดิง (ตั้งขึ้นมาเพื่อถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลักไม่มีกิจการอะไรเป็นของตัวเอง) ขึ้นมาในปี 2012 ใช้ชื่อว่า J&F ซึ่งนับถึงปี 2017 พวกเขามีลูกจ้างอยู่กว่า 260,000 รายในกว่า 30 ประเทศ (The Globe and Mail)
หลังกิจการเจริญก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดในเพียงชั่วระยะเวลาสั้น ๆ JBS ก็ต้องเจอกับมรสุมเข้าบ้าง เมื่อมีการเริ่มต้นสอบสวน "ปฏิบัติการอู่ล้างรถ" (Operation Car Wash - ชื่อแผนปฏิบัติการของสำนักงานตำรวจกลางแห่งบราซิล ในการสอบสวนคดีคอร์รัปชันและการฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกับ Petrobras รัฐวิสาหกิจด้านปิโตรเลียมของบราซิล โดยชื่อปฏิบัติการได้มาจากแหล่งซึ่งถือเป็นเบาะแสเบื้องต้นของการฟอกเงิน) ในปี 2014 ตามมาด้วยการขุดคุ้ยเรื่องราวคอร์รัปชันของนักการเมืองที่พัวพันกับการรับเงินใต้โต๊ะจากกลุ่มทุนต่าง ๆ
และในปี 2017 JBS ก็กลายเป็นเป้าการสอบสวนของทางสำนักงานตำรวจกลางในแผน "ปฏิบัติการวัวขวิด" (Operation Bullish น่าจะเป็นเพราะ JBS เป็นผู้ค้าเนื้อวัวรายใหญ่ที่สุดของโลก และคำว่า bullish ยังเป็นภาษานักลงทุนที่หมายถึงหุ้นขาขึ้น เหมือน JBS ที่มูลค่าพุ่งขึ้นอย่างมหาศาลในระยะสั้น ๆ) หลังพบความไม่ชอบมาพากลของการปล่อยกู้แบบง่าย ๆ ของธนาคารเพื่อการลงทุนของรัฐให้กับ JBS
รายงานของ The Wall Street Journal เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 กล่าวว่า สำนักงานตำรวจกลางของบราซิลตั้งข้อสงสัยว่า JBS น่าจะได้รับประโยชน์เป็นเงินกู้โดยวิธีการอันมิชอบ เนื่องจากพวกเขาได้รับสิทธิพิเศษลัดขั้นตอนปกติทั้งการออกขายพันธบัตรโดยไม่ต้องวางการันตี การวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินก็รวดเร็วผิดวิสัย และได้รับการยกเว้นการพิจารณาตรวจสอบหลายขั้นหลายตอน ซึ่งส่งผลให้กองทุนของรัฐเสียหายกว่า 385 ล้านดอลลาร์
ด้านรายงานของ The Guardian กล่าวว่า หลังจากการบุกค้นหลักฐานในคราวนั้น ทางสำนักอัยการได้ทำการฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐหลายราย ทั้งอดีตประธานธนาคาร BNDES อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ส่วนพี่น้องบาติสตาทำข้อตกลงรับสารภาพจึงไม่ถูกฟ้องพร้อมกับเจ้าหน้าที่รัฐไปด้วย พนักงานของ JBS ให้การว่า พวกเขาให้เงินใต้โต๊ะกับนักการเมืองกว่า 1,829 คน ในทุกฟากทุกเฉดสี (ทางการเมือง)
หนึ่งในหลักฐานสำคัญที่โจสลีย์มอบให้กับทางอัยการบราซิลตามข้อตกลงรับสารภาพคือ เทปบันทึกเสียงยืนยันการจ่ายและรับสินบนระหว่างเขากับ มิเชล เทเมอร์ (Michel Temer) ประธานาธิบดีบราซิลในขณะนั้น (ผู้ต้องหาในปัจจุบัน - 2019) แต่พี่น้องบาติสตาก็ไม่รอดคุกไปทุกคดี ฝ่ายโจสลีย์กับผู้บริหารอีกรายติดคุกไปคนละ 6 เดือน จากกรณีละเมิดข้อตกลงรับสารภาพ จากนั้นเขาและเวสลีย์ก็มาโดนคดีซื้อขายหุ้นโดยอาศัยข้อมูลภายในอีก เนื่องจากเขาไปขายหุ้นก่อนที่จะทำข้อตกลงรับสารภาพ ซึ่งหากข่าวออกไปหุ้นจะต้องร่วงแน่ ๆ จึงเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบอีกคดี
หลังจากนั้นทั้งคู่ก็หาย ๆ ไปจากหน้าสื่อ แต่คดีหลัก ๆ ก็ยังคงดำเนินไป ส่วนบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง JBS ซึ่งมีลูกจ้างฝากปากท้องเอาไว้นับแสนก็อยู่รอดมาได้ แถมยังไปได้ดีมากเมื่อราคาหุ้นในบ้านเกิดพุ่งจาก 6 เรอัลกว่า ๆ ในช่วงกรกฎาคม 2017 (ที่กำลังเจอมรสุมหนัก ๆ) สองปีผ่านไปก็ขึ้นมายืนอยู่เหนือ 30 เรอัลได้สำเร็จ หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 500 เปอร์เซ็นต์