ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ แห่ง depa ทิ้งชีวิตสตาร์ทอัพเพื่อดิสรัปต์ราชการไทย

ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ แห่ง depa ทิ้งชีวิตสตาร์ทอัพเพื่อดิสรัปต์ราชการไทย
ด้วยดีกรีเกียรตินิยม ด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยคาเนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา ปริญญาโทและเอก ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ทำให้ ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ เป็นหนุ่มอนาคตไกลในวงการสตาร์ทอัพ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ก่อตั้ง บริษัท แคทชาดอทคอม จำกัด ให้บริการค้นหาแข่งกับ Google !! รวมทั้งก่อตั้ง สยามเพจดอทคอม ให้บริการส่งเพจเจอร์ เรียกได้ว่าเขาเป็นสตาร์ทอัพรุ่นแรก ๆ ของประเทศไทย ในช่วงดอทคอมเบ่งบาน แต่อะไรทำให้เขาตัดสินใจหันหลังให้กับวงการสตาร์ทอัพ แล้วเข้ารับราชการที่ระบบการทำงานแตกต่างจากสายไอทีแทบจะหน้ามือเป็นหลังมือ ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ แห่ง depa ทิ้งชีวิตสตาร์ทอัพเพื่อดิสรัปต์ราชการไทย The People : บทบาทของคุณที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และภารกิจที่รับผิดชอบคืออะไร ฉัตรชัย : ผมฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการใหญ่ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมี พรบ. เป็นของตัวเอง เรามีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนหน่วยงานเราจะเรียกสั้น ๆ ว่าเป็นโปรโมเตอร์ มีแนวนโยบาย วิสัยทัศน์ต่าง ๆ หน่วยงานเรามีหน้าที่สนับสนุน และส่งเสริมให้วิสัยทัศน์ตรงนั้นกลายเป็นภาพที่มีความจริงขึ้นมา งานของเราแบ่งออกเป็นสามด้านหลัก ๆ ด้านแรกเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล คือการเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ลดลง รายได้ที่เพิ่มขึ้น และทำให้เกิดความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคน หน่วยงาน หรือผู้ประกอบการในประเทศ ด้านสองเป็นด้านสังคม จะประกอบด้วยคนและชุมชน เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนสามารถเอาเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ชุมชนเองสามารถใช้เทคโนโลยีตรงนี้เป็นการต่อยอดให้กับธุรกิจและการท่องเที่ยวในชุมชนของเขาได้ มีบทบาทและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้านที่สามเป็นการทำกิจกรรมพิเศษ ตอนนี้เราจะเห็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทซิตี้เยอะแยะไปหมด สมาร์ทซิตี้มีทีมงานเฉพาะที่เข้าไปช่วยงานในแต่ละจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัด ทำให้แต่ละจังหวัดสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ ช่วยให้จังหวัดบริการประชาชนได้มากยิ่งขึ้น The People : ทำไมถึงเลือกมาทำงานที่ depa ฉัตรชัย : ขอเล่าย้อนกลับไปนานเลยนะครับ 20 กว่าปี ตอนแรกผมมีบริษัทสตาร์ทอัพของตัวเอง แล้วก็มีคนมาซื้อกิจการไปด้วยเงื่อนไขที่ว่าจะต้องกลับมาทำสตาร์ทอัพในประเทศไทย ผมเลยกลับมาด้วยวิชันอันหนึ่งคือมาตั้งสตาร์ทอัพในประเทศไทย ก็ได้ตั้งบริษัทขึ้นมา ตอนนั้นคือ บริษัท แคทชาดอทคอม จำกัด เป็นบริษัท search engine ร่วมกับพันธมิตรในภูมิภาค ทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นห้าประเทศหลัก เราหวังว่าภายในสามสี่เดือนที่เราตั้งบริษัทในเมืองไทยแล้วก็จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่พอดีช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2000 เกิดฟองสบู่ดอทคอมแตกที่อเมริกา ระหว่างนั้นเรากำลังไป roadshow กันที่ฮ่องกง จริง ๆ หนังสือเชิญชวนออกแล้ว บริษัทที่มาทำ underwriter ก็เซ็นเรียบร้อยแล้ว จำนวนหุ้นอะไรก็พร้อมที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว ตอนที่ไปเชิญชวนนักลงทุน ปรากฏว่าคืนก่อนหน้านั้นเกิดฟองสบู่แตกพอดี เลยกลับมาทบทวนตัวเองว่าจะทำอะไรต่อไป จะปิดกิจการ จะเปลี่ยนประเภทกิจการ ก็ปรากฏว่าตอนนั้นผู้บริหารทั้งหมดยอมตัดเงินเดือนตัวเองแทนการไม่ต้องปลดพนักงาน หลังจากผ่านวิกฤตมาได้ ปัจจุบันนี้บริษัทของ แคทชาดอทคอม เองก็เข้าตลาดไปแล้วสามบริษัท แล้วยังเป็นกลุ่มทุนที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปเรื่อยได้ ถึงตอนนี้ระดับผู้ก่อตั้งก็ยังเป็นเพื่อนกัน แล้วได้ทำธุรกิจด้วยกันต่อมา จุดเปลี่ยนของผมเริ่มจาก 3-4 ปีต่อจากนั้น เกิดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ขึ้นมา เลยแจ้งทางทีมผู้บริหารว่า จะขอพักบทบาทเอกชนไว้ก่อน แล้วขอเข้ามาช่วยงานราชการ ก็มีการขายบริษัทในส่วนประเทศไทยไปให้กับ MWEB ที่ตอนนี้เป็น sanook.com หลังงานนั้นได้ทำงานราชการมาตลอดตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา จนกระทั่งช่วงหนึ่งอยากลองอะไรที่ไวกว่างานราชการบ้าง ได้ไปลองงานด้าน promotion มีสำนักงานที่เรียกว่า สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) เปิดตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ก็เลยลองยื่นใบสมัครดู แล้วพออยู่ที่ SIPA ก็ได้ทำหน้าที่หลาย ๆ อย่าง ตอนสุดท้ายก็ได้เป็นรักษาการผู้อำนวยการ แล้วก็มีภารกิจที่บอร์ดฝากฝังเอาไว้คือพาน้อง ๆ ที่ SIPA ถ่ายโอนมา depa ให้ราบรื่นที่สุด จากนั้นก็อยู่ที่ depa ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันนี้ ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ แห่ง depa ทิ้งชีวิตสตาร์ทอัพเพื่อดิสรัปต์ราชการไทย The People : การเปลี่ยนจากภาคเอกชนมาเป็นข้าราชการเป็นอย่างไรบ้าง ฉัตรชัย : ตอนทำงานที่เอกชนเราเห็นแล้วว่า mindset ของเด็กไทยกับเด็กสิงคโปร์หรือเด็กมาเลเซียแตกต่างกันแล้ว เด็กอายุ 24-25 สามารถคุยกับบอร์ดบริหาร เจรจาต่อรองดึงเงินจากนักลงทุนได้ ตอนนั้นเมืองไทยยังไม่มีคนที่เป็นนักลงทุนหรือกลุ่มทุนที่ใหญ่พอ จริง ๆ มีกลุ่มทุนที่มาตั้ง MWEB ในประเทศไทย ที่มาควบรวมกิจการกับ sanook ในตอนนั้น เรามี Loxley ที่ทำ i-Kool สมัยนั้นเลย ตั้งแต่ปี 2001-2002 เราเห็นว่า จริง ๆ สตาร์ทอัพน่าจะเป็นเทรนด์ที่มาในอนาคต เราก็คิดว่ามันยังมีกฎระเบียบ mindset หลายอย่างที่ต้องปรับเปลี่ยน มีความพร้อมอีกหลาย ๆ อย่างที่ต้องทำ ถ้าไปอยู่ในภาคเอกชนมันไม่สามารถทำได้ จะคุยกับทางราชการได้หรือเปล่าอุปสรรคก็มากมายเหลือเกิน ถ้าอย่างนั้นเข้ามาอยู่ในภาคราชการเลยดีกว่า มันอาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงหรือว่าสร้างความเข้าใจในบริบทของเอกชนได้ ก็เข้ามาตั้งแต่ตอนนั้น อย่างเช่นควรมีกฎหมายหลาย ๆ อย่างที่อำนวยความสะดวก เหมือนสมัยก่อนที่บริษัทผม ออฟฟิศสิงคโปร์มีปัญหา เขาก็บอกว่า สิงคโปร์นี้มี small claims courts นะ ก็คือ มีข้อพิพาทที่เงินทุนน้อยกว่าจำนวนหนึ่ง สมมติว่าเงินน้อยกว่า 3 ล้านบาท ศาลของเขาสามารถรับประกันได้ว่าคดีจะจบภายใน 14 วันแล้วบังคับคดีให้ด้วย ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการรายเล็กอย่างเราตอนนั้นบอกว่า เป็นไอเดียที่ค่อนข้างล้ำหน้าแล้วก็ดีมาก เพราะว่าผู้ประกอบการรายเล็กของเราจะเสียเปรียบในแง่ cash flow หรือเงินทุนหมุนเวียน เพราะว่าบางทีมีลูกหนี้รายใหญ่ ๆ จ่ายเช็คช้าออกไป 15-30 วัน บางทีธุรกิจมีปัญหา ส่งผลกระเทือนเหมือนกัน อย่างบทบาทของ small claims courts ก็ช่วยเราในตอนที่เราต้องรันแล้วก็นับ cash flow กันวันต่อวันเลยตอนนั้น ก็อยากจะทำให้ประเทศไทยมีอะไรคล้าย ๆ กันบ้างแบบนี้ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยรายเล็ก หรือรายย่อยมีโอกาสขยายกิจการของตัวเองต่อไป การเปลี่ยนแปลงตัวเราเองมันเป็นผลพวงจากสังคม เราเห็นคนที่ทำหน้าที่อย่างเราในต่างประเทศสิงคโปร์ ที่มาเลเซียมีแบบนี้ ที่อินโดนีเซียก็มี เราก็บอกว่าในเมืองไทยก็น่าจะต้องมีบ้าง อีกบทบาทหนึ่งคือผมไปเรียนต่างประเทศด้วยทุนรัฐบาล ลึก ๆ ในใจเรารู้สึกเป็นหนี้โอกาสของประเทศอยู่หรือเปล่า ก็ตอบว่ายังเป็นหนี้โอกาสอยู่ ตอนนี้เลยต้องกลับมาทำงานในภาคราชการ และภาคที่ส่งเสริมงานราชการต่อไป เราคิดว่าเราก็ยังอยู่ตรงนี้ต่อไปสักระยะหนึ่งจนไม่มีอะไรที่เรียนรู้ต่อไปอีกแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็สามารถเรียนรู้ต่อได้ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ The People : เข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้แค่ไหน ฉัตรชัย : ไม่ได้ถึงจุดตรงนั้น เพราะเป้าหมายมันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตอนปี 2000 เรามองว่าคนเราจะอ่านหนังสือน้อยลง คือมันเป็นสิ่งที่ผมไป pitch กับวงการโฆษณาทั้งหมดเลยว่าโทรทัศน์คนจะดูน้อยลงนะ คนจะอ่านหนังสือน้อยลงนะ คนจะไม่อ่านหนังสือพิมพ์แล้ว ตอนนี้ภาพตรงนั้นมันเกิดขึ้นหมดแล้ว แต่ตอนนั้นถามว่าจะทำอย่างไรกันต่อ การอยู่ในภาคราชการ ประชาชนเองก็มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของเรา เราก็มีหน้าที่ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรืออีกอันหนึ่งก็คือ อาจจะต้องพยายามให้สังคมเองตั้งคำถามที่ยาก ๆ กับเรา เพื่อที่เราจะได้ตอบคำถามนั้นโดยมีข้อมูลที่ชัดเจนด้วย คำถามยาก ๆ เราเก็บเอาไว้ถามกันเองข้างในตลอดเวลา ทุกครั้งที่มีโครงการออกมาเราก็มีการถามกันเองว่า ประชาชนได้ประโยชน์อะไรบ้างที่วัดเป็นรูปธรรมได้ แล้วประชาชนจะได้ประโยชน์ที่สามารถเอาไปดูแลและพัฒนาต่อยอดจากตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง เรามีหลายโครงการ เช่น การลงทุนในสตาร์ทอัพ เราคุยกันในทีมว่า บทบาทการลงเงินไปแล้ว สตาร์ทอัพถือว่าเป็นเงินฟรี ตรงนี้ตกลงมันช่วยกับสตาร์ทอัพหรือกับประเทศมากกว่า สุดท้ายเราเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการลงทุน มีการแลกหุ้นกัน มีการคืนเงินกัน เพื่อทำให้ธุรกิจของเขาต้องทดสอบกับความเป็นไปได้ของธุรกิจจริง ๆ มากกว่าจะได้เงินฟรีไปทำการขยายตลาดอย่างเดียว ในอดีตบางกิจกรรมเรื่องการทำการเกษตร เราต้องมาถามกันเองว่าข้อมูลที่มีเป็นข้อมูลแบบ happy data ที่ทุกคนส่งเข้ามาแล้วก็มีการบวกลบเลขเพื่อให้ข้อมูลมันสอดคล้องกันหรือเปล่า หรือว่าถ้าเราเปิดข้อมูลจริง ๆ เราสามารถแก้ไขข้อมูลตรงนั้นได้หรือเปล่า เราก็มีการริเริ่มหลาย ๆ โครงการที่เกี่ยวข้องกันว่า อย่างน้อยเราต้องได้ข้อมูลจริง ๆ มาก่อน หลังจากนั้นเราจะสามารถวางแผนได้ บางอย่างเราก็มาในมุมเพ้อฝันไปด้วย อย่างเช่นเราเห็น Airbnb หรือ Uber เขาบอกว่าเจ้าของกิจการสามารถเอารถคันหนึ่งไปทำบริการได้หลาย ๆ อย่าง ถ้าเป็นเครื่องจักรกลทางการเกษตรล่ะ ผมสามารถซื้อแทร็กเตอร์แพง ๆ แล้วมาให้บริการทุกคนได้ เพราะฉะนั้นเกษตรกรหรือชุมชนเกษตรเองไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อบริการอย่างเดียวมันก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ แห่ง depa ทิ้งชีวิตสตาร์ทอัพเพื่อดิสรัปต์ราชการไทย เราเห็นเทคโนโลยีโดรนเข้ามา ก็กลับมาถามว่ามันจะทำอย่างไรต่อได้ เพราะการที่เกษตรกรใช้ปุ๋ยที่มีความแรงสูง คนในกรุงเทพฯ คนในเมืองเองก็บอกว่าทำไมไปใช้แบบนี้ ออร์แกนิกขายได้ดีกว่า แต่ว่ามันไม่มีคนทำงานในภาคการเกษตรแล้ว เรากำลังมองว่า 20 ปี ภาคการเกษตรถ้ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคนจะทำงานน้อยลง ในขณะที่คนที่เป็นผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้น ตรงนั้นจะไม่สามารถรับภาระการเลี้ยงดูห้องครัวทั้งประเทศได้ ต้องใช้เทคโนโลยีกลับเข้าไป พอกลับไปตรงที่ภาคการเกษตรที่ขาดคน คนที่ไปเดินหว่านปุ๋ย ไม่ว่าเคมีหรือชีวภาพเอง ค่าแรงของเขาสูงมาก พอสูงมากเกษตรกรเองก็ไม่มีทางเลือก เลยจ้างคนครั้งเดียวแทนการให้ยาอยู่ตลอด พอเราใช้โดรนเข้าไปช่วย เกษตรเขาบอกว่าสามารถทดลองใช้แบบชีวภาพได้ เพราะต้นทุนในการหว่านทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หว่านหมด 30-40 ไร่ ดังนั้นเขาสามารถทดลองได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ความแรงของปุ๋ยก็จะลดน้อยลง แล้วก็สามารถติดตามข้อมูลออกมาได้มากขึ้น The People : เทคโนโลยีดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก จัดการอย่างไรให้เข้ากับระบบราชการที่ค่อนข้างเชื่องช้า ฉัตรชัย : ผมชอบพูดตัวอย่างอันหนึ่งเพราะว่าเรามาจากปัจจุบัน เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นแบบไหน ตอนนี้เรายังเถียงกันเรื่อง Libra ของ Facebook ใช่ไหมครับ เพราะว่าไพ่มันยังไม่เปิดออกมาว่า Libra จะประสบหรือไม่ประสบความสำเร็จ เรายังเถียงกันเรื่อง Bitcoin ว่าตกลงจะเอายังไงกันต่อ มันจะทำลายสกุลเงิน หรือว่ามันจะเป็นทางให้คนเราไปใช้ฟอกเงินหรือเปล่า ผมยกตัวอย่างคล้าย ๆ กัน เมื่อร้อยปีที่แล้ว อังกฤษออกกฎหมายเรื่อง Red flag traffic laws ออกมา ตอนนั้นถนนในอังกฤษจะมีรถม้ามีเกวียนอะไรเยอะแยะเต็มไปหมดเลย พอมีรถยนต์คันแรกออกมา รัฐสภาอังกฤษออกกฎหมายเรียกว่า Red flag เพื่อต้องการให้คนที่ขับเคลื่อนรถมี 3 คนด้วยกัน คือ คนหนึ่งเป็นคนขับ คนหนึ่งเป็นคนบอกทาง อีกคนจะถือธงแดงวิ่งหน้ารถประมาณ 50 เมตร วิ่งก่อนแล้วตะโกนบอกว่ารถยนต์กำลังมา อันนี้เป็นบทบาทหน้าที่ที่ทำให้นวัตกรรมของใหม่กับของเก่ามันสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดอันตราย อันนี้ผมเข้าใจบทบาทของทางภาครัฐด้วย มีอันหนึ่งคือเรื่องการทำ safety ให้กับสังคมด้วย เพราะฉะนั้นพออยู่ในภาคเอกชนที่ผมเคยอยู่ ก็จะบอกว่าทำไมภาครัฐทำงานช้าจัง แต่ว่าภาครัฐเองมีหน้าที่ในการ safeguard คือการป้องกันระแวดระวังภัย ตรงนี้ถ้าภาครัฐเองได้ความรู้ ได้อัพเดทอนาคตใหม่ ๆ หรือได้อัพเดทข้อมูลใหม่ ๆ จะช่วยให้การ safeguard มีประสิทธิภาพมากขึ้น The People : หัวใจของเศรษฐกิจดิจิทัลคืออะไร ฉัตรชัย : หัวใจของมันคือ ในมุมของผมคนสามารถรู้เท่าทันเทคโนโลยีได้ก่อน ผมยังเชื่อว่าคนไทยมีความไวในการปรับตัวสูงมาก ในแง่ของเอกชน ในแง่ของปัจเจก เพราะในแง่ขององค์กรมันมีพันธนาการอยู่ค่อนข้างเยอะในการที่จะปรับตัว เคลื่อนไหวหรือว่าเปลี่ยนทิศทางในการดำเนินการ แต่ว่าถ้าทุกคนที่เป็นปัจเจกสามารถรู้เท่าทันเทคโนโลยีตรงนี้ได้แล้ว เราสามารถขับเคลื่อนทั้งหมดไปได้แล้วองค์กรเองที่ขับเคลื่อนค่อนข้างช้า ไม่ว่าจะเป็นเอกชนหรือภาคราชการเองก็จะสามารถขับเคลื่อนด้วยความเข้าใจของปัจเจกที่ไปพอกพูนอยู่ในองค์กรเหล่านั้น The People : แนวคิดที่ว่า ต้องล้มเหลวก่อนถึงจะประสบความสำเร็จ? ฉัตรชัย : สมัยที่ทำธุรกิจ ผมภาวนาตลอดครับว่า ถ้าจะล้มเหลวขอให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ตอนที่เรายังสามารถมีแรงลุกขึ้นมา ถ้าดูในการทำธุรกิจ คนที่ล้มตอนอายุ 10-20 กว่า ส่วนใหญ่สามารถเรียนรู้ที่จะไม่ทำกิจกรรมหรือกิจการต่าง ๆ หรือรู้ข้อผิดพลาดมากขึ้น เป็นข้อสังเกตอันหนึ่งว่าคนเราเรียนรู้จากความรู้ ล้มเหลวมากกว่าเรียนรู้จากความสำเร็จ เพราะไปถามคนที่ทำสำเร็จเลยว่ามีสูตรในการทำให้สำเร็จยังไงได้บ้าง ทำสำเร็จอีกครั้งได้หรือเปล่า ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยทราบ แต่ว่าพอล้มเหลวมาแล้ว บทเรียนเยอะมากเลย บางทีเราทำธุรกิจหรือตัดสินใจอะไรพลาด ก่อนอาบน้ำอยู่ในฝักบัวมันจะออกมาเป็นฉาก ๆ เลยว่า รู้งี้ทำอย่างนี้ดีกว่า มันจะเป็นบทเรียนที่ออกมา เพราะฉะนั้นการล้มเหลวมีภาระมาคู่กับความสำเร็จเสมอ มีบางครั้งที่ผมไปเป็นวิทยากรจะถามว่า อยากประสบความสำเร็จ หรือ ไม่อยากล้มเหลว คนส่วนใหญ่จะสับสนกันระหว่างสองคำนี้ เพราะว่าคนที่อยากประสบความสำเร็จ คุณต้องลองทำอะไรใหม่ ๆ เยอะ ๆ ล้มเหลวได้ไม่เป็นไร แต่ว่าคุณต้องลุกขึ้นมาแล้วไปต่อเพื่อจะประสบความสำเร็จได้ แต่ว่าถ้าคุณไม่อยากล้มเหลว คุณก็อย่าทำอะไร วัน ๆ ตื่นขึ้นมาดูทีวี ช้อปปิ้ง แล้วกลับเข้าไปนอนต่อ อันนั้นคุณจะการันตีได้แน่นอนว่ายังไงก็ไม่ล้มเหลว สองอันนี้จะต่างกันชัดเจน The People : โครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทย? ฉัตรชัย : โครงสร้างพื้นฐานผมเชื่อว่าเราครอบคลุมเยอะมาก ถ้าได้ไปต่างประเทศจะเห็นว่าบางทีเดินตามถนนอยู่สัญญาณอินเทอร์เน็ตขาด ไม่สามารถดู streaming ได้ ไม่สามารถที่จะทำนู่นนี่ได้เลย ส่วนประเทศไทยลงไปรถไฟฟ้าใต้ดิน ขึ้นไป BTS เข้าไปในตึก ยังมีสัญญาณเข้ามาเต็ม สามารถดู streaming ดูวิดีโอ ดูถ่ายทอดสดหลาย ๆ ครั้งได้ สำหรับผมเองเหตุการณ์ที่เปิดมุมมองใหม่ ๆ มาจากเมื่อประมาณปี 2010 Google ได้ประกาศออกมาว่าคำค้นหายอดฮิตในแต่ละปีมีอะไรบ้าง ปีนั้นอันดับหนึ่งเป็น ‘ลูกเทวดา’ ผมก็สงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกเทวดา คนกรุงเทพฯ ถามคนที่รู้จักทั้งหมดไม่มีใครรู้จักลูกเทวดา สุดท้ายพอค้นหากลับไปก็เป็นมิวสิกวิดีโอเพลงหนึ่ง ตรงนี้ก็เลยบอกว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่ใช่กรุงเทพฯ อีกแล้ว คนชนบทคนต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต แล้วก็เป็นอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงด้วย เพราะเขาดูมิวสิกวิดีโอออนไลน์ ตรงนั้นก็เป็นมุมมองที่เปิดออกไป แล้วก็นำมาซึ่งหลาย ๆ กิจกรรมที่ว่าเราต้องลงต่างจังหวัดมากขึ้น ตอนนี้ depa เอง บทบาทของการส่งเสริมไม่ว่าจะเป็น สตาร์ทอัพ หรือการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เครื่องมือสมัยใหม่ หรือว่าจะเป็นการทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนผ่านได้ เราทำออนไลน์ก่อน คืองบประมาณที่ผมต้องไปชี้แจงกับทางผู้ใหญ่ในกระทรวงต่อไปว่าจะมาลงที่ออนไลน์ก่อน เพราะเราคิดว่าการทำข้อมูลเหล่านั้นพอขึ้นออนไลน์ เราไม่จำเป็นต้องเชิญคนมาที่โรงแรมมานั่งฟังการสัมมนา พอฟังสัมมนาไปสักพัก มีเบรก มีอาหารกลางวัน ถ้าค่าอบรม 100 บาท เราจ่ายวิทยากร 10 บาท ไปจ่ายค่าเช่าโรงแรม 50 บาท จ่ายค่าอาหารกลางวัน 40 บาท ซึ่งผมว่ามันเป็นต้นทุนที่ถ้าโครงสร้างพื้นฐานมันพร้อมเข้าถึงแล้ว เราสามารถจ่ายให้วิทยากรทำเนื้อหาสาระที่มีความเข้มข้นออกมาเลยได้ 100 เต็ม แล้วอีกอย่างหนึ่ง ตอนที่เราจัดงานหรือจัดสัมมนาในโรงแรม จะมีคนต่างจังหวัดที่ไม่สามารถเข้ามาได้ จะมีคนกรุงเทพฯ หรือคนในเมืองที่เราจัดงานติดธุระแล้วไม่สามารถเข้ามาได้ ถ้าเราสามารถทำเนื้อหาออนไลน์ไปได้ จะเข้าถึงคนได้มากขึ้น ตอนกลางวันทำงาน ตอนกลางคืนสามารถเข้ามาดูเนื้อหาต่าง ๆ ที่ให้ความรู้กับเขาได้ ตอนนี้เนื้อหาออนไลน์ของเราทำอยู่บน thaimooc.org เป็นแพลตฟอร์มของกระทรวงศึกษาฯ มีคนเข้ามาประมาณ 30,000 กว่าคน เราติดตามตัวเลขนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะว่า กิจกรรมที่มาเจอกัน มาสัมมนากัน เราก็ยังทำอยู่บ้าง แต่ว่าเราไม่ได้เน้นหนักเท่ากิจกรรมออนไลน์ The People : เมื่อไหร่คนไทยจะพัฒนาจาก user ไปเป็น developer ฉัตรชัย : ผมว่ามันเป็นปกตินะครับ จะต้องมี user ก่อน แล้ว developer จะเห็นตลาด ยกตัวอย่างว่า ถ้าคนไทยไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือทำกิจกรรมหลาย ๆ อย่าง ผมว่ามันก็จะไม่มีบริการอย่างการรับส่งอาหารเดลิเวอรี ที่ปัจจุบันคนไทยใช้เยอะมาก ไม่มีการเคลมประกันผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ไม่มีหลายอย่างเกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นปิรามิด ถ้ามีผู้ใช้สิบคนก็น่าจะมีผู้ประกอบการที่เห็นตลาด แล้วก็มองเห็นช่องทางในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าในทุกวงการ ในทุกอุตสาหกรรมเอง user จะเป็นคนที่มารองรับผู้ประกอบการต่อไปในอนาคต ลองมองว่าถ้าตอนที่ Google เริ่ม การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนทั้งโลกยังไม่ถึง 1,000 ล้านคน จะไปยังไงต่อ ตอนนี้จะเห็นว่าบริษัทใหญ่ ๆ ของโลกเริ่มที่ user ก่อนเลย บริษัทไอทียักษ์ใหญ่บอกว่าไปที่แอฟริกา ทำอย่างไรให้คนที่นั่นเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ไปที่เอเชียก็ทำให้คนในหมู่เกาะต่าง ๆ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มีโปรเจค Loon หรืออะไรต่าง ๆ บางทีก็เป็นโดรนที่ต่ออินเทอร์เน็ตได้ ผมว่าเป็นเรื่องปกติ แล้วเป็นขั้นของการพัฒนามากกว่า The People : งาน Digital Thailand Big Bang 2019 ที่ depa จัดขึ้น มีส่วนช่วยตรงนี้ไหม ฉัตรชัย : งานตรงนี้จะเป็นไอเดียว่าพอเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วจะไปไหนต่อ ยกตัวอย่างเช่น มีถนนลาดยางเข้าไปในหมู่บ้านแล้ว แต่คนอาจยังไม่รู้ว่าตกลงมีถนนแล้วมีใครทำอะไรได้บ้าง เราก็เลยเสนอว่าถ้ามีงาน Big Bang ขึ้นมา เราก็เอาคนที่เคยทำธุรกิจบนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้มาทำอะไรต่อได้ คนไทยเราเก่งที่ดูแบบแล้วประยุกต์ ผมค่อนข้างเชื่อมั่นว่าเราเห็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจได้แล้ว เราจะสามารถกลับมาสร้างธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในอนาคตได้ อันหนึ่งที่เราย้ำตลอดเป็นการภายในว่า งานกิจกรรมที่เราทำ ถ้าเราทำแค่เขามาดูแบบแล้วก็เอากลับไปทำ อันนั้นเราประสบความสำเร็จแค่ส่วนเดียว แต่ถ้าเราสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ ซึ่งมันวัดยากมาก แรงบันดาลใจจะก่อให้เกิดความอดทน เกิดไอเดียความคิดสร้างสรรค์อะไรต่อไปในอนาคต ซึ่งเราไม่สามารถประมาณการตรงนั้นได้ ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ แห่ง depa ทิ้งชีวิตสตาร์ทอัพเพื่อดิสรัปต์ราชการไทย The People : สิ่งที่น่าสนใจในงานคืออะไร ฉัตรชัย : เน้นที่วิทยากรก่อนแล้วกัน เฉพาะวิทยากรที่เราเชิญมาเป็นวิทยากรระดับโลกทั้งหมดเลย ถ้างานในประเทศไทยสามารถดึงวิทยากรระดับนี้มาสัก 1-3 คนมาได้ ผมคิดว่างานนั้นจะโปรโมทวิทยากรอย่างใหญ่มากอยู่แล้ว แต่ของเรามีประมาณ 20-30 คนจากทั่วโลก วิทยากรอย่างเช่น Mike Walsh (นักพูดด้านอนาคต) ที่ผมก็ตั้งตารอ วันนั้นก็จะเคลียร์งานไปนั่งฟังด้วย เขาบอกว่า จะมองตัวเลขหลาย ๆ อย่างในอนาคต แล้วบอกว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น เขายกตัวอย่างของ Netflix ขึ้นมาว่า ตอนที่ผู้อำนวยการหนังเรื่อง The Crown ติดต่อสตูดิโอหลายแห่งในฮอลลีวูด ไม่มีใครสนใจจะไปลงทุนในเรื่อง The Crown เพราะว่า หนึ่ง ต้องไปถ่ายทำที่อังกฤษ สอง ดารานักแสดงต้องเอาคนที่มีสำเนียงภาษาอังกฤษ ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงมาก เขาบอกว่าทุกสตูดิโอปฏิเสธหมดเลย แต่พอเจอกับ ซีอีโอ Netflix ประโยคแรกที่ขึ้นมาคือ Netflix ได้ดูข้อมูลมาประกอบการสนทนาในวันนี้ แล้วบอกว่า Netflix สนใจจะลงทุนอย่างน้อยหนึ่งซีซัน ไม่ต้องทำ pilot แต่ว่าก่อนที่จะทำต้องตกลงกันก่อนว่า หนึ่ง เขามีรายชื่อของดาราที่ข้อมูลเสนอว่าเหมาะสมให้ไปแคสติ้งด้วย สอง ให้ผู้เขียนบทนั่งกับ data scientist ของ Netflix เพื่อดูข้อมูลว่าจุดไหนจะต้องมีฉากอะไรเกิดขึ้น เพื่อที่จะดึงให้คนสามารถกลับมามี engagement กับโทรทัศน์ต่อได้ เพราะว่าบางคนเขานั่งดูทั้งซีซันยาว ๆ ข้อมูลต้องบอกมาว่าตรงไหนคนเริ่มเบื่อ แล้วต้องมีเหตุการณ์อะไรบางอย่างเกิดขึ้น หรือต้องมีการตัดต่ออะไรเกิดขึ้น อันนั้นเป็นตัวอย่างของคนที่จะออกมาบอกว่าข้อมูลจะเอามาใช้อะไรต่อในอนาคต เราสามารถเอามาทำแบบนี้ต่อไปในธุรกิจอีกหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้ วิทยากรอีกรายหนึ่งที่ทางทีมนำเสนอคือ Javier Sobrino ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์และนวัตกรรม ของทีมบาร์เซโลน่า เราคุยกันเรื่องข้อมูลในทุกวงการ แต่ว่าวงการหนึ่งที่มีข้อมูลเยอะที่สุดคือกีฬา แล้วกีฬาเป็น entertainment ที่น่าจะใหญ่ที่สุดในโลกในตอนนี้ คนไทยเองก็ชอบกีฬา ทางบาร์เซโลน่าเองก็มีแฟนคลับอยู่ในประเทศไทยเองไม่น้อย ตอนแรกก็มีหลาย ๆ ทีมที่เราสนใจอยากจะได้เข้ามา แต่ว่าบาร์เซโลน่าเป็นเบอร์ใหญ่ที่ใช้นวัตกรรมกีฬาในองค์กรของเขา บาร์เซโลน่าเองไม่ใช่มีเฉพาะฟุตบอล เขามีวอลเลย์บอล บาสเกตบอล มีหลาย ๆ ทีมอยู่ในคอมเพล็กซ์ที่คัมป์นู เขาจะมาเล่าให้ฟังว่าเขาเอาข้อมูลพวกนี้ไปช่วยในการคิดว่าจะซื้อหรือขายนักกีฬาคนไหนบ้าง เพื่อที่จะทำให้มีโอกาสชนะทีมคู่แข่งมากที่สุด เราคงอยู่ในช่วงจุดหนึ่งโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลของไทยที่บอกว่า แทคติกสำคัญ แต่ต่อไปข้อมูลก็มีความสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมคิดว่าวงการกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลในประเทศไทย สามารถเรียนรู้ได้จาก Javier ในอนาคต วิทยากรคนนี้จะบินมาถึงตอนเช้าแล้วบินกลับตอนเย็นเลย เพราะเวลาของเขาสำคัญมาก ดังนั้น เราก็อยากเชิญชวนว่าใครที่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา และเทคโนโลยีแห่งอนาคตนี้ ยังมีวิทยากรอีกหลายคนที่น่าสนใจ สามารถดูรายชื่อได้ในเว็บไซต์ หรือในแอปพลิเคชันของ Big Bang ได้เลย ส่วนนิทรรศการ เราได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการหลาย ๆ ราย ที่พยายามแง้มให้เราได้ดูว่าที่บูธจะมีหุ่นยนต์หลาย ๆ สายพันธุ์ มาแสดงความสามารถต่าง ๆ ให้เห็น หรือบูธที่มีโทรศัพท์พับได้ ที่เคยเปิดตัวระดับโลกมาแล้วตอนต้นปี หรือบูธที่มีตัวอย่างการเอาเทคโนโลยีไปใช้ในเมืองต่าง ๆ กัน ซึ่งตรงนี้ทุกคนสามารถเข้าไปรับแรงบันดาลใจได้ เรามีการพูดถึงดิสเพลย์ของส่วนกลางเอง เรามี Hyperloop ซึ่งอยากให้ทุกคนสัมผัสว่าความรู้สึกจะเป็นอย่างไรเวลาเดินทางด้วยความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เราก็จำลองมาให้ดูพร้อม simulator เรายังมีโดรนที่ต่อไปในอนาคตจะเอาไว้ขนส่งคน มี simulator แล้วก็มีโดรนที่คนเข้าไปนั่งควบคุมมันได้จริง มีเหตุการณ์หนึ่งที่เราค่อนข้างกังวลอย่างน้ำท่วม ไฟไหม้ ที่อุปกรณ์การช่วยชีวิตในปัจจุบันยังไม่สามารถเข้าไปช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น เกิดไฟไหม้ตึก 40 ชั้น ถามว่ารถเครนของเราขึ้นไปถึงตึก 40 ชั้นหรือเปล่า คำตอบคือยังไม่มี เรามีโดรนของจริงที่สามารถขึ้นไปถึงตึก 40 ชั้น แล้วก็โยนผงเคมีเข้าไปดับไฟได้ เรามีโดรนที่ช่วยคนซึ่งประสบวิกฤตภัยธรรมชาติ สมมติว่าจะจมน้ำ เราก็มีโดรนที่สามารถดึงคนหนักเป็น 100 กิโลกรัมขึ้นมาจากน้ำ ขึ้นมาจากอัคคีภัย ขึ้นมาจากหลาย ๆ อย่าง คิดว่าเรากำลังอยู่ในขอบเขตที่น่าสนใจว่าจะมีอุปกรณ์ทันสมัยอะไรมาช่วยให้มนุษย์ก้าวข้ามขีดจำกัดทางธรรมชาติต่อไปในอนาคตบ้าง ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ แห่ง depa ทิ้งชีวิตสตาร์ทอัพเพื่อดิสรัปต์ราชการไทย สำหรับเด็ก ๆ เราอยากสร้างงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เพราะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่คุ้มค่าที่สุด เพราะเขาสามารถเอาไอเดียของเขาไปผสมกับไอเดียที่เห็นแล้วต่อยอดต่อไป เรามี Coding Arena ลานกิจกรรมเสริมทักษะด้านดิจิทัล ให้เด็กหัดเขียนโปรแกรมบังคับหุ่นยนต์ที่สามารถเดินตามมนุษย์หรือเดินส่งของได้ เขาสามารถไปนั่งฟังวิทยากร เรามีแปลภาษาไทย เด็ก ๆ ก็สามารถเข้าไปนั่งฟังบางส่วนตรงนั้นได้ บางบูธจะเกี่ยวข้องกับดาวเทียม เราจะเห็นว่าตอนนี้เด็กนักเรียนมัธยมของไทยสามารถส่งดาวเทียมขึ้นไปตรง fix orbit ได้เรียบร้อยแล้ว ใครจะไปรู้ว่าอีก 5 ปี 10 ปี เด็กประถม เด็กมัธยมต้น จะสามารถส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศได้อีกเหมือนกัน ตรงนี้เป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจ สำหรับผู้ปกครองกับเด็กเอง เรามีเกมที่เป็น E-Sports Arena ผู้ปกครองสามารถให้เด็กเข้าไปสนุก ส่วนตัวผู้ปกครองก็ถอยออกมา 2-3 ก้าวเพื่อดูว่าเด็กเรียนรู้จากการแข่งขันตรงนั้นได้หรือเปล่า E-Sports ในปัจจุบันไม่ได้เป็นการเล่นเกมคนเดียว แต่เป็นการเล่นเกมเป็นทีม มีการแบ่งหน้าที่กัน มีการใช้ประสาทสัมผัส และใช้สมองในการสร้างความได้เปรียบของทีมให้มากที่สุด เราเห็นคนเล่นเกมเก่ง ๆ บางคนมีอาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกม เราเห็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มีอาชีพจากการเล่นเกม เพราะเขาสามารถเห็นสัญญาณบางอย่างจากจอเทรดดิ้งในตลาดหลักทรัพย์ แล้วใช้ความไวของสมองในการประมวลแล้วส่งคำสั่งซื้อขายได้ เพื่อสร้างผลกำไรและสร้างความมั่นคงในอาชีพของเขา เราอยากเห็นแบบนี้ที่เอาเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ The People : มีความแตกต่างจากปีก่อน ๆ อย่างไรบ้าง ฉัตรชัย : หนึ่ง เรื่องสถานที่เลยครับ เราไปจัดที่ BITEC บางนา เพื่อที่คนสามารถเข้าถึงงานได้เพิ่มขึ้น คนที่มากับครอบครัวสามารถขึ้นรถไฟฟ้า ใช้ขนส่งสาธารณะ หรือวิธีการเดินทางแบบอื่นได้ ถ้าเป็นบางที่ต้องขับรถไปอย่างเดียว ซึ่งมันอาจเป็นภาระ สอง เราจัดวันธรรมดาทั้งหมด ตรงนี้อาจเป็นข้อจำกัดที่ผู้ปกครองต้องดูนิดหนึ่ง เราต้องการให้ผู้ปกครองหรือคนที่โตขึ้นมาแล้ว ไปเจรจา B2B กันเยอะขึ้น แต่ว่างานก็เปิดถึงช่วงเย็น นักเรียนที่เลิกเรียนก็เข้ามาดูงานได้ ที่แตกต่างจากปีที่แล้วอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะมีการฟังสัมมนาหรืออภิปรายจากวิทยากรระดับโลกเพิ่มขึ้น ไม่ใช่จากสายเทคโนโลยีอย่างเดียว เรายังมีวิทยากรจาก เมอร์เซเดส-เบนซ์, L'Oréal ประเทศไทย เพื่อมาแบ่งปันว่าตอนนี้เทคโนโลยีไปไกลแล้ว ไม่ได้อยู่แค่เฉพาะคนทำงานด้านไอที The People : คาดว่ากลุ่มคนที่เข้าร่วมงานจะเป็นกลุ่มไหน ฉัตรชัย : เรามองกลุ่มคนที่เริ่มทำงานใหม่ คือคนกลุ่มนี้ยังมีพลังขับเคลื่อน มีพละกำลังค่อนข้างสูง เขาสามารถเข้ามาเรียนรู้และเพิ่มศักยภาพในตัวเขา ไม่ว่าจะเป็น reskill หรือ upskill แล้วก็เป็นการเพิ่มมุมมองใหม่ ๆ ในการทำงานของเขาได้ในอนาคต เรายังมองกลุ่มซีอีโอจากบริษัทต่าง ๆ ด้วย ซึ่งวิทยากรหลาย ๆ ท่านในงานนี้สามารถไปเป็น keynote ในงานสัมมนาใหญ่ ๆ ได้เลย ถ้าซีอีโอมานั่งฟัง ผมการันตีด้วยความมั่นใจเต็มที่เลยว่า กลับไปจะเปลี่ยนมุมมองของซีอีโอได้ การเปลี่ยนมุมมอง หรือเปลี่ยนวิสัยทัศน์ กระบวนทัศน์ตั้งแต่ top down ลงมา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์กรนั้นไม่มากก็น้อย คนอีกกลุ่มหนึ่งคือข้าราชการ หรือคนที่ทำงานการเมือง ไม่ว่าระดับชาติหรือท้องถิ่น ถ้าเข้าไปดูจะรู้ว่าเทคโนโลยีในการพัฒนาเมืองไม่จำกัดอยู่แค่เทคโนโลยีที่เราเห็นแล้ว มันเอาเทคโนโลยี 1 บวก 2 บวก 3 บวก 4 มาทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เรียกว่า superadditive ที่มากกว่าผลลัพธ์ทั้งหมดมารวมกันได้ เรามีตัวอย่างเมืองจากหลาย ๆ เมืองที่ผู้ประกอบการนำมาให้ดูด้วย The People : งานนี้ depa ผสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเยอะทีเดียว? ฉัตรชัย : รายชื่อพาร์ทเนอร์เรามีเยอะมาก ถ้าไปดูในเว็บไซต์จะขึ้นทั้งหน้าเลย เพราะทุกคนเมื่อได้คุยเรื่อง Big Bang จะมีการต่อยอดไปว่าช่วยทำตรงนี้ได้หรือเปล่า อย่างมีผู้ประกอบการรายหนึ่งขอพื้นที่ไปแสดงว่า ต่อไปในอนาคตรถจะสามารถบังคับได้จากพื้นที่ ๆ ไกล ถ้ามีตึกที่มีความไม่ปลอดภัย มีการตรวจสอบวัตถุระเบิด เราเอาเทคโนโลยีตรงนี้ไปบังคับแล้วก็ใช้ เพื่อที่จะทำให้ความเสี่ยงของชีวิตคนและความเสี่ยงของมูลค่าทรัพย์สินเหลือน้อยที่สุด เรื่องสมาร์ทซิตี้ ตลอดทั้งปีในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน มีการจัด ASEAN Smart Cities Network (ASCN) ขึ้นมา ซึ่งช่วงที่เราเป็นประธานก็มีการเชิญชวนเครือข่ายของสมาร์ทซิตี้ในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 20-30 เมือง มาดูโครงการที่เกี่ยวข้องกับสมาร์ทซิตี้ ถ้ามีไอเดียตรงไหนที่สามารถทำร่วมกันได้ หลาย ๆ เมือง ก็จับมือกันเดินไปคุยกับผู้ประกอบการได้เลย เพราะเราจัดให้มีการเจรจา B2B ในงาน อย่างข้าง ๆ เรา มีการกันพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับ Messe Frankfurt ในการจัดสมาร์ทซิตี้ของเขา เป็นเรื่องความปลอดภัยอัจฉริยะ ดังนั้นทุกคนสามารถเข้าไปดูโซลูชันได้หมด ไม่ว่าจะเป็นในส่วน Big Bang หลัก หรืองานที่อยู่ข้างเคียง หน่วยงานหลัก ๆ ในประเทศไทย ก็ได้มีการเชิญผู้ว่าราชการจังหวัด เชิญซีอีโอจากบริษัทดิจิทัล ผู้นำองค์กรที่มีความคิดและมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี รวมแล้วประมาณ 200-300 คน รวมทั้งเชิญหัวหน้าส่วนราชการท้องถิ่น อบจ. และเชิญสมาคมกีฬาต่าง ๆ เพราะทุกอย่างสามารถใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนแปลงได้หมด ภาคเอกชนจากต่างประเทศ เรามีความภูมิใจที่ Web Summit ซึ่งเป็นองค์กรจัดงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จะมีผู้บริหารระดับสูงเข้ามาเยี่ยมชมงาน และลงนามในสัญญาทำความเข้าใจร่วมกันในอนาคตต่อไป และเมื่อ Web Summit มา เราก็ได้รับการติดต่อจากสถานทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยว่าขอเข้ามาดูว่ากิจกรรมที่ depa ทำมีอะไรบ้าง เพราะโปรตุเกสให้ความสำคัญกับ Web Summit มาก และในยุโรปก็ให้ความสำคัญกับ Web Summit ค่อนข้างเยอะ การที่ผู้บริหารระดับสูงมาประเทศไทย เพื่อร่วมงานกับ depa เราเลยได้รับการร้องขอจากสถานทูตต่าง ๆ เพื่อเข้ามาดู สุดท้ายท่านทูตหรือผู้บริหารระดับสูงในสถานทูตก็จะเข้าไปดูงานที่ Big Bang ด้วย The People : ความคาดหวังที่มีต่องานนี้? ฉัตรชัย : ถ้าเอาแบบที่ยังวัดไม่ได้ก่อนคือ แรงบันดาลใจ เพราะเราคิดว่าแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการพลิกประเทศของเราในอนาคต ผมคิดว่าทุกคนสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ และทุกคนกำลังพยายามทำอย่างนั้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน ข้าราชการ บทบาทของเราที่เป็นโปรโมเตอร์ แม้กระทั่งองค์กรเอกชนต่าง ๆ เองก็เหมือนกัน แรงบันดาลใจน่าจะเป็นสิ่งแรกที่สำคัญสุด แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่วัดไม่ได้ แต่ว่าทุกคนที่ไปงานจะสามารถตอบเตัวเองได้ก่อนว่า งานนี้สามารถทำให้มุมมองความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีของแต่ละคนเปลี่ยนไปได้มากน้อยเท่าไหร่ สอง มันมีบทบาทการเจรจาธุรกิจเกิดขึ้น มีผู้ประกอบการประมาณ 300 รายที่มาออกงานกับเรา เรามีกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ เรามีมาตราการในการช่วยผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในสายเทคโนโลยีด้วย ถ้าคุณทำร้านอาหารแล้วเข้ามาคุยกับเราที่บูธ depa เรามีคูปองเตรียมเอาไว้ให้ประมาณ 7 ล้านกว่าบาท คูปองแต่ละคนจะได้ประมาณ 10,000 บาท อยากได้เทคโนโลยีของผู้ให้บริการเทคโนโลยีรายไหนก็ไปทดลองใช้ได้ ถ้าใช้ต่อแล้วดีสามารถจ่ายเงิน แล้วมันคุ้มค่ากับการลงทุนเพราะสามารถใช้ต่อไปได้ในอนาคต จุดประสงค์ต่อไป เราเน้นเรื่องสตาร์ทอัพ ที่เราพยายามจะต่อยอดให้สตาร์ทอัพของไทยควรมีบทบาทหรือมีโอกาสในการแสดงความสามารถในเวทีระดับโลก Web Summit ที่เข้ามาร่วมงานนี้ จะช่วยเราเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ เพื่อนำเสนอในงาน Web Summit ของเขาที่โปรตุเกส ตรงนี้เป็นการสร้างโอกาส สร้างแรงบันดาลใจ สร้างโอกาสทางธุรกิจ และสร้างโอกาสในการขยายศักยภาพของสตาร์ทอัพ สำหรับมุมผู้ปกครองและเด็ก เราคิดว่าการที่พาเด็ก ๆ หรือว่าผู้ปกครองเองเข้ามาเข้าใจมุมของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม การเรียนรู้การโค้ดดิ้ง การมีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ จะทำให้ผู้ปกครองเห็นศักยภาพต่าง ๆ ของเด็กได้ ผมว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่มาทดสอบและทดลองกันว่าเขาจะก้าวไปไกลด้านเทคโนโลยีได้เท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้หรือผู้พัฒนาต่อไป สำหรับคนทั่วไป เราเห็นว่าถ้าเข้ามาทดลองใช้เทคโนโลยีได้ คิดว่าอัตราการใช้เทคโนโลยีจะสูงขึ้นมากได้อย่างแน่นอน depa ตั้งใจจะจัดงานนี้ให้เป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจและสร้างจุดเปลี่ยน ไม่ใช่จัดงานเพื่อเอาคนมาเดินเยอะ ๆ แล้วไม่ได้อะไรกลับบ้าน การมาดูงานจริง ๆ มารับฟังจากวิทยากรระดับโลกจริง ๆ มาเห็นเทคโนโลยีระดับโลกจริง ๆ น่าจะสร้างจุดเปลี่ยนได้มากกว่า หวังว่าทุกท่านจะเข้ามาร่วมงานและเก็บเกี่ยวจากวิทยากรระดับโลกอย่างเต็มที่ การลงทะเบียนปีนี้ง่ายที่สุด ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเป็นงานที่จัดโดยภาครัฐ และต้องการกระจายให้มากที่สุด การลงทะเบียนทำได้สองวิธีคือ ผ่านทางเว็บ http://www.digitalthailandbigbang.com สอง ที่เราสนับสนุนมากที่สุดคือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน สามารถดาวน์โหลดได้จาก andriod และ iOS จากนั้นลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันได้เลย ในแอปจะมีรายชื่อผู้ที่มาออกงาน นิทรรศการต่าง ๆ และรายชื่อวิทยากร ซึ่งสามารถเข้าไปดูว่าวิทยากรมีว่างตรงไหนบ้าง สามารถกดได้ว่าสนใจฟังตรงนี้ แอปก็จะช่วยจัดตารางการเดินทางของเราให้เลย อีกอย่างคือถ้าสนใจคุยกับวิทยากรในแอปก็ส่งคำถามเข้าไปคุยได้ The People : ถ้าย้อนกลับไปได้จะมาทำราชการไหม ฉัตรชัย : จริง ๆ ผมถามตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เลยว่าตอนนั้นที่เข้ามารับราชการ ผมให้เวลาตัวเองอยู่ 5 ปี เพราะรู้ว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากเอกชนมาเป็นราชการ มันต้องมีคำถามกับตัวเองว่าเราตัดสินใจถูกหรือผิด เลยบอกตัวเองว่า 5 ปีห้ามตั้งคำถามกับตัวเอง พอผ่านไป 5 ปี ผมคิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด เพราะว่าจริง ๆ ในราชการสอนเรามากกว่าการทำงานเยอะมาก หนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในราชการ สอง เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน บางทีก็ค่อยเป็นค่อยไป สาม มันมีการต้องไปโน้มน้าวไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก หรือการไปโน้มน้าวประชาชนเองว่า เราอยู่ได้ด้วยเงินภาษีที่ประชาชนจ่ายมา ตรงนี้ทำให้เราฟังและทำมากขึ้น ตัดสินใจอะไรหลายอย่างด้วยความรอบคอบมากขึ้น ทุกอย่างจะมีกฎระเบียบอยู่เสมอ แต่ว่าเราไม่ได้เอาตรงนั้นมาเป็นข้ออ้างในการไม่ทำ หรือทำช้า เราสามารถที่จะเรียนรู้กับกฎแล้วทำงานในความเร็วที่เหมาะสมไปพร้อม ๆ กัน สุดท้ายมันเป็นตัวที่สอนและหล่อหลอมให้เราเป็นบุคคลที่มีมุมมองและวิสัยทัศน์แบบนี้ในปัจจุบัน ผมว่าทุกคนมีจุดมุ่งหมายแล้วก็มีแรงขับเคลื่อนต่าง ๆ กัน ทุกอาชีพเองตอนนี้ผมว่าเทคโนโลยีมีส่วนผสมไปด้วยไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพไหน ถ้ามีการเรียนรู้เทคโนโลยีจะช่วยให้ก้าวไปเร็วกว่าคนอื่นเสมอ มีคำพูดกันว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปลาเร็วกินปลาช้า หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเองคิดว่าถ้าทุกอย่างดำเนินได้ด้วยความเร็วที่เหมาะสม ด้วยขนาดที่เหมาะสม จะเป็นตัวที่ได้เปรียบอยู่เสมอ อย่างเร็ว ๆ นี้มีข่าว สตาร์ทอัพในต่างประเทศบางรายไปเร็วเกินแล้วล้ม ไปช้าเกินไปก็โดนเขากินหมด ผมว่าทุกอย่างมันอยู่ที่ความเหมาะสม แต่ว่าอันหนึ่งที่เราต้องย้อนกลับไปคิดในมุมของราชการเองว่า ความเร็วที่เราบริการภาคประชาชน เอกชนตรงนั้น มันเป็นความเร็วที่เข้ากับเขาได้หรือเปล่า เพราะถ้าเขาต้องการที่จะไปเร็วกว่านี้แต่ภาครัฐยังทำงานบางอย่างที่ยังช้าอยู่ ก็จะเป็นฟันเฟืองที่ไปถ่วงหรือไปเป็นพันธนาการของเขามากกว่า ตอนนี้เราพยายามปรับปรุงการทำงานข้างใน ปรับปรุงกระบวนการที่จะไปบริการภาคเอกชน ต้องขอกำลังใจจากทางประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยครับ