โรเบิร์ต เฟิร์ชกอตต์, หลุยส์ อิกนาร์โร และ เฟริด มูราด: ได้โนเบลจากการค้นพบที่นำไปสู่การรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
"เพศสัมพันธ์ที่ปราศจากรักมันก็กลวงโบ๋ไร้สาระพอ ๆ กับรักที่ปราศจากเพศสัมพันธ์" ฮันเตอร์ เอส. ทอมป์สัน (Hunter S. Thompson)
ปี 1998 เป็นปีแรกที่ "ไวอากรา" (หรือ ซิลเดนาฟิล ซิเทรต - sildenafil citrate) ยาเม็ดสีฟ้าที่มีฤทธิ์ช่วยรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย (ช่วยกระตุ้นให้ผู้มีอาการอวัยวะไม่แข็งตัวกลับมาแข็ง และใช้การได้อีกครั้ง) ได้รับการรับรองให้ออกจำหน่ายได้
ณ ตอนนั้นมันถือเป็นยาวิเศษที่ชายวัยทองรุ่นแล้วรุ่นเล่าแสวงหามานาน และลองผิดลองถูกกับอาหารเสริม ยาสมุนไพรหรือการบำบัดอื่น ๆ มาก่อนหลายขนาน (ไม่ว่าจะเป็น ม้ากระทืบโรง แมลงวันสเปน หรือนวดกษัย) แต่นี่คือยาที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วในห้องทดลองว่าได้ผลจริงทันตาเห็น
การค้นพบไวอากรากล่าวได้ว่าเป็นเรื่อง "บังเอิญ" เนื่องจากนักวิจัยของ Pfizer ตอนแรกตั้งใจจะหายารักษาอาการเกี่ยวกับการทำงานผิดปกติของหัวใจ แต่ปรากฏว่าระหว่างการทดลองทางคลินิกพยาบาลสาวสังเกตได้ว่า อาสาสมัครชายพากันเขินอายเมื่อเธอเดินผ่านเพราะอวัยวะเพศของพวกเขาพากันแข็งตัวพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย แต่กลับกลายเป็นนิมิตหมายที่ดีของบริษัทยายักษ์ใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมายาที่ใช้รักษาอาการนกเขาไม่ขันได้อย่างมีประสิทธิภาพยังไม่มี และมันก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงมาก
แต่ความบังเอิญนั้นก็มีที่มาที่ไป เพราะการวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับระบบหลอดเลือดต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในชั่วระยะเวลา 10 ปี ก่อนหน้านั้นก็เนื่องมาจากการค้นพบที่สำคัญมากของ 3 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน และปีเดียวกันกับที่ไวอากราวางขาย พวกเขาทั้ง 3 ก็ได้รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ไปครอง
นักวิจัยทั้งสามราย ประกอบด้วย โรเบิร์ต เฟิร์ชกอตต์ (Robert Furchgott) จาก Stat University of New York หลุยส์ อิกนาร์โร (Louis Ignarro) จาก University of California และ เฟริด มูราด (Ferid Murad) จาก University of Texas Medical School
สิ่งที่พวกเขาค้นพบก็คือการทำงานของ ไนตริกออกไซด์ในฐานะโมเลกุลส่งสัญญาณในระบบหัวใจหลอดเลือด
"ไนตริกออกไซด์ (NO) เป็นก๊าซส่งสัญญาณในสิ่งมีชีวิต การส่งสัญญาณด้วยก๊าซเจาะผ่านเยื่อหุ้มเซลล์จากเซลล์หนึ่งไปอีกเซลล์หนึ่ง ถือเป็นเรื่องใหม่อย่างสิ้นเชิงสำหรับหลักการว่าด้วยการส่งสัญญาณในระบบชีววิทยา ผู้ค้นพบ NO ในฐานะโมเลกุลส่งสัญญาณจึงได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้" แถลงการณ์ของคณะกรรมการรางวัลโนเบลปี 1998 ระบุ
จากเว็บไซต์ Nobel Prize ทั้ง 3 คนมิได้ทำงานร่วมกันในการค้นพบครั้งนี้เสียทีเดียว มูราดทำการศึกษาว่า ไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerin) และสารประกอบอื่น ๆ ที่มีส่วนทำให้เส้นเลือดขยายตัวมันทำงานอย่างไร และค้นพบในปี 1977 ว่า สารตัวนี้มันปล่อยก๊าซไนตริกออกไซด์ซึ่งทำให้เซลล์กล้ามเนื้อเรียบผ่อนคลาย เขารู้สึกทึ่งว่า เฮ้ย! ก๊าซสามารถควบคุมการทำงานของเซลล์ได้ด้วย และยังตั้งข้อสันนิษฐานด้วยว่าปัจจัยภายในอย่างฮอร์โมนก็อาจทำงานผ่านไนตริกออกไซด์ก็เป็นได้ แต่เขาไม่มีหลักฐานการทดลองมารองรับแนวคิดดังกล่าว
ต่อมาในปี 1980 การทดลองของเฟิร์ชกอตต์แสดงให้เห็นว่า อะซิทิลคอลีน (acetylcholine) จะทำให้เส้นเลือดพองตัวก็ต่อเมื่อเส้นเลือดนั้นยังมีเนื้อเยื่อบุโพรงผนังหลอดเลือดติดอยู่ และเขาก็ได้ข้อสรุปว่า เหตุที่เส้นเลือดพองตัวก็เนื่องมาจากเซลล์เยื่อบุโพรงสร้างโมเลกุลส่งสัญญาณบางอย่างออกมาเพื่อทำให้เซลล์กล้ามเนื้อเรียบของเส้นเลือดคลายตัว และเรียกโมเลกุลส่งสัญญาณที่ว่านี้ว่า EDRF (endothelium-derived relaxing factor) ซึ่งงานที่ตามมาของเขาก็คือต้องระบุให้ได้ว่า เจ้าโมเลกุลที่ว่านี้คืออะไร?
หลังการเผยแพร่งานข้างต้นของเฟิร์ชกอตต์ อิกนาร์โรก็พยายามไขปริศนา EDRF กับเขาด้วย หลังทำการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า อิกนาร์โรก็พบว่า EDRF มีคุณสมบัติเหมือนกับก๊าซไนตริกออกไซด์แบบเป๊ะ ๆ จึงเอาสิ่งที่เขาค้นพบไปประกาศในงานประชุมทางการแพทย์ว่าด้วยเรื่องหลอดเลือดที่จัดโดย Mayo Clinic ที่มินเนโซตาเมื่อปี 1986 แต่ปรากฏว่าในเวทีเดียวกันนั้นเอง เฟิร์ชกอตต์ก็ประกาศการค้นพบเดียวกัน และนับจากการประกาศการค้นพบดังกล่าว งานวิจัยเกี่ยวกับการขยายตัวของหลอดเลือดก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ความเชื่อมโยงและต่อเนื่องกันในการค้นพบข้างต้น จึงทำให้ มูราด เฟิร์ชกอตต์ และอิกนาร์โร รับรางวัลโนเบลร่วมกันไปในวาระเดียวกันนี้นี่เอง
เมื่อรู้แน่ว่าอะไรเป็นต้นตอที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว หมอหลายรายจึงคิดค้นวิธีรักษาอาการนกเขาไม่ขันขึ้นมา รายงานเมื่อปี 1992 ของ The New York Times กล่าวว่า เบื้องต้นมีใช้วิธีการ "ฉีด" เข้าไปที่เครื่องเพศโดยตรง เนื่องจากตอนนั้นเชื่อกันว่า ถ้าใช้วิธีการ "กิน" หลอดเลือดของผู้รับยาก็คงจะไปขยายทั้งตัวและทำให้หมดสติได้ ต่างจากการฉีดเพื่อให้มีผลเฉพาะจุด แต่การฉีดก็มีผลกระทบมากจึงไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก และมีความพยายามที่จะพัฒนาการให้ไนตริกออกไซด์ผ่านแผ่นแปะขึ้นมา ซึ่ง อิกนาร์โรบอกว่านั่นน่าจะเป็นวิธีรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพที่ "วิเศษ" มาก ๆ
แต่ 6 ปี ต่อมาเราก็ได้เห็นวิธีการรักษาที่วิเศษยิ่งกว่า และเป็นวิธีที่คนในปี 1992 ไม่คิดว่าจะทำได้ นั่นคือการรักษาด้วยการใช้ยากินที่มีชื่อทางการตลาดว่า “ไวอากรา” นั่นเอง
การที่ทั้ง 3 ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1998 ปีเดียวกับที่ไวอากราวางจำหน่ายจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่นั่นก็ทำให้การค้นพบของพวกเขามีภาพติดกับยารักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศมากเกินไป ทั้งที่มันมีประโยชน์ประการอื่นอีกมาก อย่างที่มูราด 1 ใน 3 ผู้รับรางวัลกล่าวว่า
"สื่อมักอยากจะถามแต่เรื่องไวอากรา ในขณะที่ผมอยากจะชักจูงให้พวกเขาได้มองถึงเรื่องอื่นที่มีความสำคัญทางการแพทย์ยิ่งกว่าอย่างเช่น ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูงในเด็กเกิดก่อนกำหนด การรักษาบาดแผล การทำงานของเซลล์บุผนังหลอดเลือดผิดไปจากปกติและหลอดเลือดแดงแข็งหรือตีบตัน ความดันโลหิตสูงหรือเบาหวาน ซึ่งไนตริกออกไซด์มีความสำคัญมากกว่าอย่างยิ่งในเชิงการแพทย์"