โลกหลังความตายหรือวิญญาณ ดูจะเป็นความเชื่อที่ฝังตัวอยู่แทบทุกที่ทั่วโลก อย่างประเทศเม็กซิโกที่มี ลา กาตรินา (La Catrina) โครงกระดูกหญิงสาวที่แต่งแต้มใบหน้าด้วยสีสันอันโดดเด่นและเครื่องแต่งกายสุดอลัง ดึงดูดให้เมื่อถึงเทศกาล เดีย เด มวยร์โตส (Día de Muertos) เมื่อไหร่ คนเรือนหมื่นเรือนแสนทั้งชาวเม็กซิกันและนักท่องเที่ยวทั่วโลก ก็จะหลั่งไหลมาร่วมเทศกาลนี้กันอย่างคึกคัก เพื่อมาดู ลา กาตรินา นางเอกของงานนั่นเอง
ขณะที่ปักษ์ใต้บ้านเรามีการฉลองทำบุญเดือนสิบ ต้อนรับขับสู้ดวงวิญญาณบรรพชนหรือปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับไปแล้วกลับคืนสู่โลกมนุษย์ ในวัดหลาย ๆ ที่ในภาคใต้ ทั้ง นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง หรือสงขลา ต่างก็นำเอาอาหาร ผลหมากรากไม้ รวมไปถึงขนมลา ขนมบ้า และขนมเบซำ มาวางในถาดเพื่อให้ดวงวิญญาณปู่ย่าตายายได้ดื่มกินกัน แล้วก็ปิดท้ายด้วยการปล่อยให้ลูกหลานกรูเข้าไปแย่งชิงอาหาร ผลหมากรากไม้ รวมถึงเศษเหรียญที่แอบซ่อนอยู่ในถาด หรือที่มีการโปรยให้แย่งกันในบริเวณลานวัด จนเป็นที่มาของพิธีที่เรียกว่า “ชิงเปรต”
ข้ามไปอีกทวีป ที่ประเทศเม็กซิโก ช่วงวันที่ 1-2 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นเวลาไล่ ๆ กันนั้น เราจะเห็นการตั้งแท่นพิธีเพื่อเฉลิมฉลองการกลับมาของดวงวิญญาณบรรพบุรุษและบุคคลอันเป็นที่รัก ที่พรากจากไปสู่ปรโลกกลับมาหาคนในครอบครัวเช่นกัน หรือที่เรียกกันในภาษาสเปนว่า เทศกาล เดีย เด มวยร์โตส โดยการจัดแท่นบูชาที่ว่าจะเต็มไปด้วยของเซ่นไหว้ ผลหมากรากไม้ เช่น กล้วย ส้ม อ้อย น้ำอัดลม และเมซกัล (เหล้าหมักแบบพื้นเมืองเม็กซิกัน) รวมไปถึงดอกไม้ประจำเทศกาลอย่าง ดาวเรือง (cempasuchil) สีเหลืองอร่าม, หงอนไก่ (cresta de gallo) และ บานไม่รู้โรย (siempreviva) ซึ่งเป็นดอกไม้ท้องถิ่นของที่นี่ ไม่ต่างจากการเซ่นไหว้ของบ้านเราสักเท่าไหร่
ทว่าสิ่งที่เป็นไฮไลต์สำคัญอีกอย่างที่ต่างออกไปจากการชิงเปรตของทางปักษ์ใต้ นั่นก็คือการที่มวลชนชาวเม็กซิกันซึ่งส่วนหนึ่งสืบเชื้อสายจากชนพื้นเมืองของเม็กซิโก จะร่วมกันละเลงหน้าและเนื้อตัวของตัวเองเป็นรูปหัวกะโหลกและโครงกระดูก คาแรคเตอร์ที่ฮิตและโดดเด่นมากที่สุดในการแต่งตัวเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลต้อนรับดวงวิญญาณของคนตายที่ว่านี้ก็คือ ตัวละครผู้หญิงที่ชื่อ ลา กาตรินา เป็นภาพของโครงกระดูกผู้หญิงที่เด่นด้วยหัวกะโหลก สวมใส่อาภรณ์หรูหราอลังการแลดูคล้ายชุดคาบาเรต์แบบมูแลงรูจในฝรั่งเศส คอมพลีทลุคด้วยหมวกปีกกว้างใบใหญ่ ประดับประดาด้วยขนนกและดอกไม้หลากสี
คำถามที่น่าสนใจคือว่า ทำไมภาพโครงกระดูกและหัวกะโหลกผู้หญิงตนนี้ ถึงกลายมาเป็นตัวละครหรือภาพบุคคลหลักและไอคอนสำคัญของช่วงเทศกาลวันสารทอันเลื่องชื่อของเม็กซิโก จนฮอลลีวูดก็ยังเคยนำเข้าไปเป็นตัวละครในฉากเปิดตัวภาพยนตร์แนวสายลับอย่าง James Bond ในภาค Spectre องค์กรลับดับพยัคฆ์ร้ายมาแล้ว และอีกคำถามสำคัญสำหรับคนที่คิดว่าจะเดินทางไปเที่ยวเม็กซิโกเพื่อสัมผัสความสนุกสนาน ความศักดิ์สิทธิ์ และบรรยากาศอันอบอุ่นซาบซึ้งใจของครอบครัวชาวเม็กซิกันระหว่างประกอบพิธีกรรมนี้ ดังที่หลายคนอาจจะสัมผัสมาแล้วผ่านภาพยนต์แอนิเมชันระดับรางวัลออสการ์อย่าง Coco (2017) นั่นก็คือ โครงกระดูกผู้หญิงแต่งตัวเป็นมาดามฝรั่งเศสที่ดูพิลึกพิลั่นคนนี้เป็นใครมาจากไหน
ผมจะชวนคุณมาทำความรู้จักกับ ลา กาตรินา ผ่านเรื่องราวของเธอกัน
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เม็กซิโกเป็นชาติที่มีการผสมผสานของวัฒนธรรมพื้นเมืองที่มีฐานเดิมมาจากอารยธรรมโบราณก่อนการเข้ามาล่าอาณานิคมของสเปน อย่างเช่น อารยธรรมอาซเทค (Aztec) และอารยธรรมมายา (Maya) อยู่ก่อนแล้ว ต่อจากนั้นจึงมาผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมของยุโรป โดยเฉพาะจากสเปนในยุคต่อมา โดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่อยู่ร่วมกับความเชื่อของชนพื้นเมืองเดิมได้อย่างลงตัว
ภาพของโครงกระดูกผู้หญิงที่ชื่อ ลา กาตรินา จึงถูกประกอบสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างสัญญะและความหมายของการเชื่อมโยงความเชื่อสองอารยธรรม ทั้งจากโลกเก่าอย่างยุโรป และโลกใหม่อย่างทวีปอเมริกา พร้อมกับการสร้างนัยยะการเสียดสีผ่านเรือนกระดูกของ ลา กาตรินา โดยการจับเธอมาแต่งตัวให้แลดูล้นและประดักประเดิด แบบที่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เข้ากับวัฒนธรรมลูกผสมของคนในเม็กซิโกเท่าไหร่นัก นี่เป็นการสร้างตัวบทของการประชด ผ่านเครื่องแต่งกายและเรือนกระดูกที่ โฆเซ กวาดาลูเป โปซาดา (José Guadalupe Posada) นักวาดภาพการ์ตูนล้อเลียนชาวเม็กซิกันผู้โด่งดังได้วาดไว้ในช่วงศตวรรษที่ 20
[caption id="attachment_13501" align="aligncenter" width="630"]
ลา กาตรินา ผลงานของ โฆเซ กวาดาลูเป โปซาดา (ภาพจาก
https://www.culturagenial.com/es/la-catrina-de-jose-guadalupe-posada/)[/caption]
เดิมทีเขาตั้งชื่อเจ้าหล่อนว่า ลา กาลาเบรา การ์บันเซรา (La Calavera Garbancera แปลได้ว่าผีโครงกระดูกแม่ค้าขายถั่ว) เพื่อล้อเลียนและเสียดสีบรรดาพ่อค้าแม่ขายที่ขายถั่วการ์บันโซ หรือที่บ้านเราในไทยเรียกกันว่าถั่วลูกไก่ ซึ่งร่ำรวยได้ดิบได้ดีขึ้นมาแล้วพยายามทำตัวเป็นผู้ดีแบบยุโรป โดยปฏิเสธรากเหง้าการเป็นชนพื้นเมืองของตน โปซาดาวาดภาพโครงกระดูกผู้หญิงแล้วแต่งเติมเครื่องแต่งกาย โดยเฉพาะเครื่องหัว ให้ตัวละครผู้หญิงตัวนี้ในภาพโดดออกมาด้วยหมวกปีกกว้างใบใหญ่ที่ฟูฟ่องด้วยขนนกกระจอกเทศและดอกไม้หลากสี แต่นัยยะและปรัชญาชีวิตที่โปซาดาแฝงไว้ในภาพโครงกระดูกของ ลา กาลาเบรา การ์บันเซรา อีกอย่างหนึ่งก็คือ คนเราไม่ว่าจะยากดีมีจน เกิดมาจากเชื้อชาติ ชนชาติใด มีอำนาจหรือไม่ ในที่สุดเราทุกคนก็ต้องตายเหลือไว้เพียงแค่โครงกระดูกเท่านั้น เพราะสังขารไม่จีรังยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงของการวิพากษ์เรื่องนี้ของโปซาดา ก็คือกลุ่มนักการเมืองในประเทศที่กำลังหลงระเริงกับอำนาจ และความหยิ่งทะนงของคนในสังคมในยุคที่เขามีชีวิตอยู่
[caption id="attachment_13502" align="aligncenter" width="850"]
ภาพ "Sueño de una tarde dominical en la Alameda Central" ฝีมือของ ดิเอโก ริเบรา (ชายใส่หมวกสีขาวยืนจับมือ ลา กาตรินา) ด้านหลังของริเบราคือ ฟรีดา คาห์โล ส่วนชายถือไม้เท้าข้าง ๆ ลา กาตรินา คือ โปซาดา (ภาพจาก
https://www.khanacademy.org/humanities/ap-art-history/later-europe-and-americas/modernity-ap/a/rivera-dream-of-a-sunday-afternoon-in-alameda-central-park)[/caption]
ราวสิบปีต่อมา ดิเอโก ริเบรา (Diego Rivera) จิตรกรผู้เชี่ยวชาญงานภาพวาดฝาผนังชื่อดังของเม็กซิโก อดีตสามีเสือผู้หญิงของจิตรกรหญิงชื่อก้องโลกของเม็กซิโกอย่าง ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo) ก็ได้เปลี่ยนชื่อภาพโครงกระดูกแม่ค้าขายถั่วเสียใหม่ให้เป็น ลา กาตรินา ซึ่งมาจากรากคำศัพท์เดิมว่า “catrín” ซึ่งหมายถึงบุรุษผู้แต่งกายงาม ริเบราได้นำภาพของเธอมายึดโยงกับแนวคิดเรื่องความตายได้อย่างยอดเยี่ยมผ่านงานจิตรกรรมชิ้นโบว์แดงของเขาที่ชื่อ "Sueño de una tarde dominical en la Alameda Central" (ความฝันยามสายัณห์สวัสดิ์ของวันอาทิตย์ ณ ถนนเส้นกลางเมือง) ซึ่งวาดเสร็จในปี 1947 ในภาพเราจะเห็น ลา กาตรินา ถูกกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งกลางภาพ รายล้อมไปด้วยบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติเม็กซิโกมากมาย และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่ภาพของ ลา กาตรินา ถูกวาดออกมาแบบเต็มตัว เผยให้เห็นการประดับประดาโครงกระดูกของเธอด้วยชุดแนววิกตอเรียนสุดอลังการ
ในขบวนของมวลชนระหว่างเทศกาล เดีย เด มวยร์โตส เราจะเห็นความหลากหลายของคนที่แต่งตัวเป็น ลา กาตรินา ออกมาร่วมเฉลิมฉลองกันอย่างครึกครื้น ผ่านความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการสุดบรรเจิดในการออกแบบเครื่องแต่งกายที่ผสมปนเประหว่างวัฒนธรรมการแต่งกายแบบชนพื้นเมืองกับชาวยุโรป ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้าที่มาจากชุดชนพื้นเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันของท้องถิ่นต่าง ๆ ในเม็กซิโก และความหรูหราของเครื่องแต่งกายแนววิกตอเรียน ประโคมเข้าไปบนเรือนกายที่หมายมั่นปั้นและวาดให้แลดูเป็นโครงกระดูกเดินได้ทั้งของคนเดินดินธรรมดาและผู้มีชื่อเสียง พร้อมกันนั้นก็มีการสร้างงานศิลปะล้อเลียน โดยนำเอาบุคคลที่มีชื่อเสียงทางการเมือง เช่น อดีตประธานาธิบดีรูปงามอย่าง เอ็นริเก เปนยา เนียโต (Enrique Peña Nieto) มาวาดเป็นรูปโครงกระดูกใส่สูท พร้อมเขียนข้อความวิพากษ์เกมการเมืองในสมัยที่เขานั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีของเม็กซิโกว่าแย่และไม่เละไม่เป็นท่าอย่างไร
นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ในหลาย ๆ พื้นที่ของโลก หนึ่งในนั้นคือเม็กซิโก (และอาจรวมถึงไทยด้วย) ไม่จำเป็นเสมอไปที่แนวคิดเรื่องความตายจะสร้างความรู้สึกน่าสะพรึงกลัวพลัดพรากจากคนอันเป็นที่รักได้เพียงอย่างเดียว แต่โลกแห่งความตายยังมีทวารเปิดให้คนตายและคนเป็นได้พอบรรเทาความคิดถึง ด้วยการกลับมาพบกันในเทศกาล เดีย เด มวยร์โตส หรือสารทเดือนสิบ ขณะเดียวกันซากสังขารที่เหลืออยู่หลังความตายก็มิใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือลี้ลับเสมอไป แต่สามารถนำกลับมาขบคิดสร้างปรัชญาแห่งชีวิต รวมถึงวิพากษ์ความเป็นไปของสังคมได้
จึงไม่แปลกใจที่เทศกาลวันสารทเม็กซิโกหรือ เดีย เด มวยร์โตส ที่มี ลา กาตรินา เป็นดาวเด่นของเทศกาล จะได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้โดยยูเนสโก