ฟรานซิส แกรี พาวเวอร์ส นักบินสอดแนมคนแรกและคนสุดท้ายที่พยายามบินข้ามโซเวียต
"คุณควรจะบอกพวกเขาไปทุกอย่าง เพราะไม่ว่าอย่างไรพวกเขาก็จะหาทางเค้นเอาความจริงทุกอย่างจากคุณได้อยู่ดี" ฟรานซิส แกรี พาวเวอร์ส (Francis Gary Powers) นักบินสอดแนมของสหรัฐฯ ผู้ปฏิบัติภารกิจควบคุมเครื่อง U2 เครื่องบินสอดแนมที่ล้ำสมัยที่สุดในยุค 1950s ข้ามประเทศสหภาพโซเวียต ย้อนนึกถึงคำแนะนำจากผู้บังคับบัญชาต่อคำถามที่ว่าเขาควรจะทำอย่างไรหากตกอยู่ในความควบคุมของโซเวียต และเขาก็ต้องตกอยู่ในสภาพนั้นจริง ๆ
เครื่องบินสอดแนม U2 ออกแบบโดยล็อกฮีด (Lockheed) เริ่มการปฏิบัติภารกิจเป็นครั้งแรกในปี 1956 มันเป็นเครื่องบินที่สามารถทำความสูงได้เกินกว่า 70,000 ฟุต หรือ 21,000 เมตร แต่ศักยภาพจริง ๆ ของมันถูกเก็บเป็นความลับ และถูกใช้ในการลาดตระเวน รวบรวมข้อมูลทางอากาศ และพวกเขาก็ลำพองว่า โซเวียตไม่น่าจะมีเทคโนโลยีตรวจจับที่ดีพอที่จะสามารถตรวจจับเครื่องบินสอดแนมรุ่นนี้ได้ จึงวางแผนที่จะส่งเครื่องบินรุ่นนี้บินข้ามพรมแดนโซเวียตจากปากีสถานไปถึงนอร์เวย์
แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดของ CIA เพราะโซเวียตสามารถตรวจจับเครื่องบินรุ่นนี้ได้มาแต่ต้น เพียงแต่อาจจะไม่มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพพอที่จะสอยมันให้ตกได้ จนกระทั่งปี 1960
พาวเวอร์ส เกิดเมื่อปี 1929 เป็นชาวเมืองเจนกินส์ ในเคนตักกี พ่อเป็นแรงงานเหมืองแร่ถ่านหิน เขาเป็นคนที่การเรียนไม่โดดเด่นแต่ก็ไม่แย่ ปี 1950 หลังจบปริญญาไม่นานเท่าไร ก็ไปสมัครเข้ากองทัพอากาศ และผ่านการคัดเลือกให้ฝึกเป็นนักบิน จบการฝึกฝนและได้บรรจุใน 2 ปีต่อมา ก่อนที่จะลาออกจากกองทัพในปี 1956 แล้วไปทำงานให้กับล็อกฮีด บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของสหรัฐฯ
แต่นั่นเป็นเพียงฉากหน้า เพราะแท้จริงแล้วพาวเวอร์สทำงานเป็นนักบินให้กับ CIA และ ล็อกฮีดก็คือบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสอดแนมแบบ U2 เพื่อใช้ในภารกิจของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ นั่นเอง (The New York Times)
หลังผ่านการฝึกฝนตระเตรียมในบ้านเกิดเป็นที่เรียบร้อย เขาก็ถูกส่งเข้าไปประจำการที่ฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิก (Incirlik) ในตุรกี และปฏิบัติภารกิจทั้งจากฐานทัพในอินเซอร์ลิก รวมไปถึงในลาฮอร์และเปชวาร์ในปากีสถาน
จากปากคำของพาวเวอร์ส (Francis Gary Powers Tells His Story) ภารกิจลับคราวนั้นถูกตั้งชื่อว่า Operation Overflight ในปี 1960 หลังภารกิจดำเนินมาได้เกือบ 4 ปี พวกเขาก็ตั้งเป้าว่าจะทำการทดสอบบินจากเปชวาร์ในปากีสถานข้ามพรมแดนของโซเวียต ไปลงที่โบโด (Bodo) ในนอร์เวย์ ใช้เวลาราว 9 ชั่วโมง เป็นระยะทางกว่า 3,800 ไมล์ (ราว 6,116 กิโลเมตร) ซึ่งเป็นการจงใจละเมิดน่านฟ้าของคู่สงคราม (เย็น) ด้วยทาง CIA ย่ามใจว่าคู่แข่งด้อยกว่าด้านเทคโนโลยีคงไม่อาจตรวจจับเครื่องบินสอดแนมสุดล้ำของพวกเขาได้
พาวเวอร์สซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่ดังกล่าว อ้างว่า ก่อนหน้านั้น สหรัฐฯ ไม่เคยทำการบินท้าทายโซเวียตเช่นนั้นมาก่อน มีแต่บินสอดแนมแล้วกลับฐานเดิมตลอด แต่การบินทะลุพรมแดนข้ามทวีปเช่นนี้ไม่เคยทำ ส่วนที่ไม่เคยก็ไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีไม่ถึง แต่เป็นเพราะการต้องเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ภาคพื้นสนามเป็นจำนวนมาก หากต้องจัดเตรียมเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมในฐานทัพอากาศสองแห่งก็กลัวกันว่าจะเกิดผิดสังเกตและถูกจับได้เสียก่อน
แต่ ณ เวลานั้นทาง CIA เห็นว่ามันคุ้มที่จะเสี่ยง
ภารกิจดังกล่าวถูกเลื่อนอยู่หลายครั้งและล่าช้าอยู่นาน เนื่องจากปัญหาสภาพอากาศ รวมถึงต้องรอการอนุมัติจากประธานาธิบดีดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ เสียก่อน จากเดิมที่วางแผนจะบินตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน เลื่อนไปเลื่อนมา กว่าจะได้บินจริงก็เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม วันสำคัญของรัฐบาลคอมมิวนิสต์และแรงงานทั่วโลก (ยกเว้นสหรัฐฯ)
ก่อนขึ้นบิน นอกจากจะได้รับคำแนะนำหากถูกจับตัวได้ว่าให้ตอบไปตามจริงเท่าที่รู้ ผู้บังคับบัญชาของเขายังถามว่า “คุณอยากจะได้เหรียญเงินดอลลาร์รึเปล่า?” เหรียญที่ว่านี้เป็นเหรียญที่ใช้ซ่อนเข็มบรรจุยาพิษซึ่งมีฤทธิ์ร้ายแรงที่จะทำให้ผู้ต้องพิษตายในทันที พาวเวอร์สบอกว่า ก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยคิดอยากจะมีมันไว้ติดตัว แต่คราวนี้เขาคิดว่าอาจจะต้องมีไว้เพราะเครื่องบินรุ่นนี้ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และแสดงให้เห็นปัญหาหลายอย่างตลอดการปฏิบัติภารกิจที่ผ่านมา และครั้งนี้ก็เป็นครั้งที่ยาวนานและเสี่ยงยิ่งกว่าครั้งไหน ๆ
ขณะเดียวกันเขาก็ถามกลับไปว่า ถ้าหากจำเป็น จะใช้มันเป็นอาวุธได้หรือไม่? คำตอบก็คือ “ได้” การฆ่าตัวตายจึงเป็น “ทางเลือก” ที่นักบินที่เสี่ยงภัยเช่นเขาจะต้องเลือกเองว่าจะใช้มันเป็นทางออก หรือจะรักษาชีวิตไว้ก็ได้ มิใช่ข้อบังคับเหมือนสายลับของรัฐบาลเผด็จการที่หากถูกจับได้พวกเขาก็ไม่มีที่จะให้กลับไปอีก
หลังบินได้ราวชั่วโมงกว่า พาวเวอร์สอยู่เหนือทะเลอารัล ทะเลปิดที่มีพื้นที่อยู่ในคาซัคสถานและอุซเบกิสถาน เขาเจอกับเครื่องบินเจ็ตความเร็วเสียงบินสวนทางในแนวขนานกับเส้นทางบินของเขาในระดับความสูงที่ต่ำกว่าระยะของเขามาก และอีกห้าถึงสิบนาทีต่อมาก็มีเครื่องบินเจ็ตบินแซงหน้าเขาไปอีกรอบ ซึ่งเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นเครื่องบินลำเดียวกัน และคิดว่าเครื่องของเขาคงถูกเรดาร์ของเครื่องบินลำดังกล่าวตรวจจับได้ แต่เครื่องลำดังกล่าวก็อยู่ต่ำกว่าเขามาก นักบินก็คงไม่เห็นเครื่องของเขา และไม่น่าจะทำอันตรายอะไรให้เขาได้ พาวเวอร์สจึงเดินหน้าต่อ
หลังจากบินได้ราว 3 ชั่วโมง เครื่องบินของเขาก็แสดงอาการไม่ดี เมื่อระบบนักบินอัตโนมัติทำงานผิดปกติพยายามจะเชิดหัวขึ้นอยู่ตลอดเวลา เขาบอกว่า อาการเช่นนี้โดยปกติแล้วควรที่จะล้มเลิกภารกิจ แต่เขาบินล้ำพรมแดนโซเวียตเข้ามาไกลมากแล้ว และต้องการทำหน้าที่ต่อแม้ว่าเขาจะต้องจับเครื่องบังคับเองตลอดระยะทางที่เหลือก็ตาม
แต่อีกหนึ่งชั่วโมงผ่านไป เครื่องบินที่เขาคิดว่าอาวุธของโซเวียตคงทำอะไรไม่ได้ก็ถูกยิง ปีกทั้งสองข้างเสียหายหลุดจากลำตัว ตัวเครื่องหมุนควงสว่านลงสู่พื้นดินแต่ส่วนหัวหันหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้า ตัวเขาถูกแรงจีดึงไปข้างหน้าซึ่งหากเขากดดีดที่นั่งออกจากตัวเครื่อง ด้วยพื้นที่ที่แคบและตำแหน่งที่ผิดธรรมชาติ แรงดีดจะทำให้เขาต้องเสียขาทั้งสองข้างไปแน่ เขาจึงตัดสินใจเปิดห้องบังคับแล้วปีนออกไปแทน
เขาพยายามกดปุ่มทำลายตัวเอง เพื่อมิให้หลักฐานการสอดแนมตกไปอยู่ในมือของฝ่ายตรงข้าม แต่เขาจะมีเวลาเพียง 70 วินาทีก่อนที่เครื่องจะระเบิด เขาจึงตัดสินใจปลดเข็มขัดนิรภัยออกก่อน นั่นทำให้แรงจีดึงเขาออกไปเกือบพ้นจากตัวเครื่อง แต่สายออกซิเจนยังพันธนาการเขาเอาไว้ ขณะเดียวกันการสัมผัสอากาศภายนอกในชั้นบรรยากาศที่สูงลิบ ทำให้หน้ากากของเขาถูกน้ำแข็งเกาะจนมองไม่เห็น เขาพยายามคลำหาปุ่มทำลายตัวเองเท่าไรก็หาไม่เจอ ทำให้เขายิ่งตระหนกว่าเขาเหลือเวลาอีกเท่าไรก่อนที่เครื่องจะถึงพื้น เขาจึงตัดสินใจรักษาชีวิตตัวเองเอาไว้ก่อนถีบตัวเองให้พ้นจากเครื่องบินออกมาได้
พาวเวอร์สเอาชีวิตรอดมาได้ด้วยร่มชูชีพ แต่ก็ไม่อาจหนีการจับกุมของฝ่ายโซเวียตไปได้ ฝ่ายสหรัฐฯ ที่ไม่รู้ชะตากรรมของพาวเวอร์สก็ออกข่าวกลบเกลื่อนมาว่า เครื่องบินตรวจสภาพอากาศของ NASA หายไปจากการติดต่อ คาดว่าระบบนำทางเสีย อาจไปตกอยู่ที่ใดที่หนึ่งในพรมแดนของโซเวียตและนักบินน่าจะเสียชีวิตแล้ว (The New York Times)
แต่ในวันที่ 5 พฤษภาคม ปีเดียวกัน นีกีตา ครุชชอฟ ผู้นำโซเวียตก็ออกมาประกาศว่า พวกเขายิงเครื่องบินสอดแนมของสหรัฐฯ ตกโดยอุบข้อมูลสำคัญเอาไว้ ทางสหรัฐฯ ก็ออกมายืนยันว่า ไม่ใช่ ๆ นั่นมันเครื่องบินตรวจสภาพอากาศของ NASA ต่างหาก ก่อนที่ 2 วันต่อมา ครุชชอฟจะหงายไพ่ว่า โซเวียตจับกุมตัวนักบิน U2 เอาไว้ได้ พร้อมกับแสดงหลักฐานเป็นภาพถ่ายซากเครื่อง พร้อมภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ที่ใช้ในแผนปฏิบัติการที่ถูกพบในซากเครื่อง
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สหรัฐฯ เสียหน้าเป็นอย่างมาก ไอเซนฮาวร์ต้องออกมายอมรับว่า CIA ได้ทำการสอดแนมโซเวียตมานานแล้วจริง แต่ไม่ขอโทษโดยย้ำว่าพวกเขาทำไปด้วยความจำเป็นด้านความมั่นคง เหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศยิ่งเสื่อมทรามลง การประชุมระหว่างโซเวียตกับมหาอำนาจตะวันตกที่กำลังจะมีขึ้นในกรุงปารีสจึงถูกยกเลิกไป
หลังเหตุการณ์นั้น สหรัฐฯ รับปากที่จะไม่กระทำการรุกรานน่านฟ้าโซเวียต พาวเวอร์สจึงเป็นนักบินคนแรกและคนสุดท้ายที่พยายามบินข้ามโซเวียต แม้ภายหลังสหรัฐฯ จะพัฒนาเครื่องบินสอดแนมที่มีศักยภาพสูงยิ่งกว่า U2 อย่าง SR71 Blackbird ที่สามารถบินได้สูงกว่า 80,000 ฟุต และทำความเร็วได้มากกว่าความเร็วเสียงกว่า 3 เท่า และได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินที่ไร้คู่ต่อกรอยู่หลายทศวรรษ แต่สหรัฐฯ ก็มิได้พยายามใช้มันบินข้ามโซเวียตอีก (อย่างน้อยก็ในบันทึกฉบับทางการ) เพราะไม่ต้องการเปลี่ยนให้สงครามเย็นกลายเป็นสงครามร้อน และตอนนั้นพวกเขาก็มีดาวเทียมทหารที่สามารถใช้สอดแนมความเคลื่อนไหวของโซเวียตได้อยู่แล้ว
ฝ่ายพาวเวอร์สถูกจับขึ้นพิจารณาคดีและถูกตัดสินในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันว่ามีความผิดฐานจารกรรม ให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี แต่หลังได้รับโทษราว 2 ปี เขาก็ได้รับอิสรภาพจากข้อตกลงแลกตัวกับสายลับโซเวียตที่ถูกจับกุมในสหรัฐฯ
พาวเวอร์สได้กลับบ้านเกิด แต่ไม่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษ” กลับถูกประณามจากเพื่อนร่วมชาติจำนวนหนึ่งว่าเป็น “ไอ้ขี้ขลาด” เมื่อเขาไม่ยอมฆ่าตัวตายเมื่อใกล้จนมุม ผิดจากภาพลักษณ์สายลับผู้กล้าหาญในภาพยนตร์ แถมยังทิ้งหลักฐานไว้ให้ศัตรูกลับมาเล่นงานประเทศตัวเอง
อย่างไรก็ดี จากที่เขาชี้แจงผ่านหนังสือของตัวเอง เขายืนยันว่า การ “ฆ่าตัวตาย” ไม่ใช่คำสั่ง และเขาก็ทำหน้าที่และทำตามแนวปฏิบัติขององค์กรทุกอย่าง จากการสอบสวนของ CIA และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องของวุฒิสภาก็เห็นตามคำชี้แจง และได้มอบเหรียญรางวัลยกย่องความกล้าหาญของเขา (Intelligence Star - เหรียญกล้าหาญของ CIA ที่มอบให้กับเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานภายใต้ความเสี่ยงสูง) แต่มันถูกเก็บเป็นความลับ ทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หลังกลับมาทำงานกับ CIA ได้ระยะหนึ่งเขาก็ลาออกเพราะต้องการกลับไปบินอีกครั้ง งานสุดท้ายที่เขาทำคือการขับเฮลิคอปเตอร์ให้กับสถานีข่าวในลอสแอนเจลิส
และระหว่างรับหน้าที่บินไปรายงานข่าวไฟป่าในวันที่ 1 สิงหาคม 1977 เครื่องของเขาก็ประสบอุบัติเหตุตกลงในแถบหุบเขาซานเฟอร์นันโด เขาเสียชีวิตพร้อมกับตากล้องที่เดินทางร่วมไปด้วย
ต่อมาในปี 2000 หลังจากที่เขาเสียชีวิตไปกว่า 3 ทศวรรษ การปฏิบัติหน้าที่ของเขามีผู้เห็นคุณค่ายิ่งขึ้น จึงได้มีการยกย่องเกียรติคุณย้อนหลัง พาวเวอร์สได้เหรียญประดับเพิ่มอีก 3 เหรียญ ประกอบด้วย Distinguished Flying Cross (กางเขนที่มอบให้กับนักบินที่สร้างวีรกรรมสำคัญ) , Department of Defense Prisoner of War Medal (เหรียญที่มอบให้กับเชลยศึกที่ถูกจับกุมขณะปฏิบัติหน้าที่) และ National Defense Service Medal (เหรียญที่มอบให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในภาวะฉุกเฉินของชาติ)