ถ้าจะเปรียบชีวิตของ จูดี การ์แลนด์ (Judy Garland) ก็คงไม่ต่างอะไรกับรถไฟเหาะ มันพุ่งขึ้นสูงและดิ่งลงต่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เต็มไปด้วยความตื่นเต้น ช่วงหักเลี้ยว จุดหวาดเสียวเสี่ยงตายหลายครั้งหลายครา ก่อนสุดท้ายจะวนครบจบรอบในเวลาอันรวดเร็ว เธอเริ่มต้นอาชีพเต้นกินรำกินตั้งแต่อายุสองขวบด้วยการรับเล่นจำอวดหน้าม่านคู่กับพี่สาวสองคนในโรงละครของพ่อเธอ จากนั้นก็กลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของบ้านหลังได้เซ็นสัญญากับเอ็มจีเอ็ม เนื่องจาก หลุยส์ บี. เมเยอร์ (Louis B. Mayer) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอรู้สึกประทับใจในเสียงร้องอันทรงพลัง เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์
การ์แลนด์โด่งดังเป็นพลุแตกขณะอายุเพียง 17 ปีจากการรับบท “โดโรธี” ใน The Wizard of Oz (1939) เธอกลายเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งยุค นำแสดงในหนังเพลงสุดฮิตอย่าง Meet Me in St. Louis (1944) และ Easter Parade (1948) ถึงแม้ว่ารูปร่างหน้าตา หรือบุคลิกของเธอจะไม่สอดคล้องกับพิมพ์นิยมในยุคนั้น โดยเมื่อเทียบกับ มาริลีน มอนโร (Marilyn Monroe) หรือ ลานา เทอร์เนอร์ (Lana Turner) จูดีออกจะขาดแคลนเสน่ห์ดึงดูดทางเพศ เธอเป็นที่รู้จักผ่านภาพลักษณ์ของเด็กสาวข้างบ้าน ถูกบังคับให้ต้องควบคุมน้ำหนัก มักจะโดนวิจารณ์ว่าไม่สวยพอบ้าง คิ้วผิดรูปร่างบ้าง ฟันไม่ได้มาตรฐานบ้าง เตี้ยเกินไปบ้าง ซึ่งคำบั่นทอนเหล่านี้สั่งสมจนกลายเป็นปมด้อยในใจที่เธอไม่อาจก้าวข้ามไปได้ตลอดชีวิต เช่นเดียวกับการเสพติดยานอนหลับและแอมเฟตามีน เนื่องจากสัญญาทาสของเอ็มจีเอ็มเรียกร้องให้เธอต้องทำงาน 18 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์
[caption id="attachment_13520" align="alignnone" width="1498"]
Judy (2019)[/caption]
ความรู้สึกว่าตัวเองเป็น “ลูกเป็ดขี้เหร่” ทำให้เธอโหยหาความรัก ความเห็นชอบ ความใส่ใจอย่างไม่หยุดหย่อน ทั้งจากสามีที่เธอเปลี่ยนไปเรื่อยเหมือนผลัดผ้า (ผู้ชายสองในห้าคนที่เธอแต่งงานด้วยปรากฏว่าเป็นเกย์/ไบเซ็กชวล) และบรรดาแฟนหนังแฟนเพลงทั้งหลาย เธอเสพติดคำชมคำหวาน พึ่งพาอะดรีนาลีนของการแสดงต่อหน้าฝูงชนท่ามกลางเสียงปรบมือดังสนั่นไม่แตกต่างจากยานอนหลับกับแอลกอฮอล์ คนกลุ่มแรกอาจทำให้เธอต้องเผชิญความผิดหวังทุกครั้งไป ตรงกันข้ามกับคนกลุ่มหลังซึ่งภักดีต่อเธอยิ่งกว่าสามีคนไหน ๆ
นับแต่โดนเอ็มจีเอ็มตัดหางปล่อยวัดในปี 1950 ภาพลักษณ์หญิงสาวข้างบ้านผู้เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนของการ์แลนด์ ซึ่งทางสตูดิโอทุ่มเทสุดกำลังที่จะปกปักรักษาก็พังทลายลง ข้อเท็จจริงอื้อฉาวต่าง ๆ เริ่มเปิดเผยสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความพยายามฆ่าตัวตาย อาการติดเหล้า นิสัยโผล่มากองถ่ายสาย หรือไม่มาเลย ปัญหาด้านการเงินจากการหลบเลี่ยงภาษี แต่เธอก็สามารถคัมแบ็คได้ครั้งแล้วครั้งเล่าดุจเดียวกับแมวเก้าชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจัดทัวร์คอนเสิร์ตซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง การเข้าชิงออสการ์จาก A Star is Born (1954) หรือการออกอัลบั้มคู่ Judy at Carnegie Hall ที่สร้างสถิติยอดขายสูงสุด แถมยังชนะรางวัลอัลบั้มยอดเยี่ยมบนเวทีแกรมมี ซึ่งเธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำสำเร็จ
เมื่อพิจารณาว่าเรื่องราวชีวิตของการ์แลนด์เต็มไปด้วยสีสันและจุดพลิกผันมากแค่ไหน จึงถือเป็นความชาญฉลาดของผู้กำกับ รูเพิร์ต กูลด์ (Rupert Goold) และคนเขียนบท ทอม เอดจ์ (Tom Edge) (ดัดแปลงจากบทละครเวทีเรื่อง End of the Rainbow) ที่เลือกโฟกัสไปยังชีวิตช่วงสุดท้ายของการ์แลนด์ ขณะเธอค้นพบสามีคนที่ห้า มิคกี ดีนส์ (Mickey Deans) และพยายามจะคัมแบ็ค/หาเงินมายาไส้ใช้หนี้ด้วยการรับแสดงโชว์ในไนท์คลับชื่อ ทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ที่กรุงลอนดอน เพราะคงเป็นเรื่องยาก หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะยัดทะนานเรื่องราวทั้งหมดของการ์แลนด์เอาไว้ในหนังความยาว 2 ชั่วโมงโดยไม่ให้เสียอรรถรสตามสูตรสำเร็จการทำหนังชีวประวัติคนดังทั้งหลาย
ปมดรามาหลักของภาพยนตร์เรื่อง Judy มุ่งเน้นไปยังการดิ้นรนของการ์แลนด์ (เรเน เซลเวเกอร์-Renée Zellweger) ในความพยายามจะเป็นแม่ที่ดีของลูก ๆ สองคนจากการแต่งงานครั้งที่สามกับโปรดิวเซอร์ ซิดนีย์ ลุฟท์ (รูฟัส ซีเวลล์-Rufus Sewell) หนังตอกย้ำให้เห็นว่าเธอรักพวกเขามากแค่ไหน แต่ขณะเดียวกันทั้งสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ ตลอดจนสภาพทางการเงินอันง่อนแง่นทำให้เธอไม่เหมาะสมจะเป็นผู้ปกครองพวกเขาด้วยประการทั้งปวง นี่ยังไม่รวมการลากลูก ๆ ไปตะลอนขึ้นเวทีร่วมแสดงโดยปราศจากที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เหมือนเธอกำลังขโมยวัยเด็กของลูก ๆ ไปจากพวกเขาแบบเดียวกับที่แม่และ เอ็มจีเอ็ม สตูดิโอ เคยทำกับเธอในอดีต นั่นเป็นข้อเท็จจริงที่กระทั่งตัวการ์แลนด์เองก็ไม่อาจปฏิเสธ ดังจะเห็นได้จากฉากช่วงท้ายเรื่องเมื่อเธอโทรศัพท์หาลูกสาวลอร์นา (เบลลา แรมซีย์–Bella Ramsey) แล้วตระหนักว่าชีวิตของลูก ๆ คงดีกว่านี้ หากไม่ต้องคอยแบกรับเธอเป็นภาระ แม้ว่าการตัดใจปล่อยพวกเขาไปจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดแสนสาหัสก็ตาม
[caption id="attachment_13519" align="alignnone" width="1500"]
Judy (2019)[/caption]
ปมขาดความอบอุ่นในวัยเด็กคงเป็นหนึ่งในแรงผลักดันให้การ์แลนด์อยากเป็นแม่ที่ดีของลูก ๆ ทั้งสอง หนังไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของการ์แลนด์ก่อนจะเซ็นสัญญาเข้าเอ็มจีเอ็ม นอกจากประโยคผ่าน ๆ ที่เธอกล่าวโทษแม่ตัวเองว่าเป็นแม่ที่ห่วยแตก ในชีวิตจริงการ์แลนด์เคยให้สัมภาษณ์ถึง เอเธล มาเรียน (Ethel Marion) ว่า “หล่อนคือแม่มดชั่วร้ายแห่งทิศตะวันตกตัวจริง” เพราะเอเธลใช้งานลูกดุจทาสในเรือนเบี้ย ห้ามป่วย ห้ามพัก ถ้าวันไหนการ์แลนด์รู้สึกไม่สบาย ก็จะโดนขู่ว่า “ออกไปร้องเพลงเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นฉันจะจับแกมัดกับเสาเตียง” เธอให้ยานอนหลับลูกกินตั้งแต่อายุ 10 ขวบเพื่อให้ลูกนอนหลับระหว่างเดินทางตระเวนทัวร์ อาจพูดได้ว่าการ์แลนด์ตกอยู่ในสภาวะบอบช้ำทางร่างกายและจิตใจพอสมควรแล้วก่อนเธอจะก้าวเข้าสู่แวดวงฮอลลีวูด ซึ่งดูเหมือนจะยิ่งซ้ำเติมเธอให้ดำดิ่งสู่หุบเหว
บทบาทวายร้ายเพียงหนึ่งเดียวในหนังตกเป็นของ หลุยส์ บี. เมเยอร์ (ริชาร์ด คอร์เดรี-Richard Cordery) ซึ่งเป็นทั้งตัวแทนของระบบสตูดิโอและสังคมชายเป็นใหญ่ มรดกที่การ์แลนด์ได้จากการร่วมงานกับเอ็มจีเอ็มนาน 15 ปีหาใช่แค่ชื่อเสียงเงินทอง อาการติดยา พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ แต่ยังรวมไปถึงบาดแผลทางจิตใจ ความไม่มั่นใจในตัวเอง หรืออาจถึงขั้นเกลียดชังตัวเอง ซึ่งอาจฟังดูเหลือเชื่อสำหรับนักแสดง/นักร้องสาวที่เปี่ยมศักยภาพและพรสวรรค์เยี่ยงเธอ แต่ยุคสมัยนั้นผู้หญิงมักถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอกเป็นหลัก และการ์แลนด์ก็เชื่อตามคำวิจารณ์รอบข้างว่าเธอไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาดีพอจะเป็นดาราแถวหน้า เสียงร้องดูจะเป็นทักษะเดียวที่ช่วยให้เธอถือไพ่เหนือกว่า ณ ช่วงเวลาที่หนังเพลงยังได้รับความนิยมอย่างสูง มีอยู่ฉากหนึ่ง หลุยส์ บี. เมเยอร์ กล่าวชื่นชมการ์แลนด์ว่าเธอร้องเพลงออกมาจากใจ ก่อนจะยกมือขึ้นสัมผัสหน้าอกข้างซ้ายของเด็กสาวเพื่อเน้นย้ำ และแน่นอนว่าเธอไม่สามารถขัดขืน หรือทำอะไรได้ (ต้องใช้เวลาอยู่หลายปีกว่าการ์แลนด์จะรวบรวมความกล้าแล้วหยุดยั้งพฤติกรรมล่วงละเมิดเหล่านี้เมื่อเธออายุ 20 และใช้เวลาอีกนานเกินครึ่งศตวรรษกว่าจะเกิดกระแส #MeToo ขึ้นในฮอลลีวูด) ภายหลังการ์แลนด์เคยให้สัมภาษณ์ว่า “หลายครั้งฉันคิดว่าตัวเองโชคดีที่ไม่ได้ร้องเพลงด้วยอวัยวะอีกส่วนของร่างกาย”
ถึงแม้การดิ้นรนโหยหาความรักจากผู้ชายของการ์แลนด์ เริ่มต้นตั้งแต่การแต่งงานครั้งแรกขณะอายุ 19 ปี (ในหนังเธอเล่าว่าเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหา มิคกี รูนีย์ ก่อน แต่โดนเขาปฏิเสธ) มักจบลงด้วยความล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ความรักที่แฟนหนังแฟนเพลงมีให้เธอดูเหมือนจะยั่งยืน แน่วแน่ยิ่งกว่า โดยเฉพาะในหมู่ผู้ชายเกย์ ซึ่งผลักดันเธอให้กลายสถานะเป็นเกย์ไอคอนระดับตัวแม่ของวงการ หนังสะท้อนแง่มุมดังกล่าวได้อย่างน่าประทับใจในฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งของหนัง เมื่อการ์แลนด์รับเชิญไปกินข้าวมื้อดึกหลังเลิกโชว์ที่บ้านสองแฟนเพลงซึ่งเป็นคู่รักเกย์ จากนั้นพวกเขาก็ได้เปิดเผยความจริงอันชวนสะเทือนใจว่าเหตุใดถึงพลาดชมการแสดงของเธอที่ลอนดอนในครั้งก่อน กลายเป็นสะพานเชื่อมโยงให้เห็นว่าบรรดาเกย์ทั้งหลายมีอารมณ์ร่วมกับการ์แลนด์ ไม่ใช่แค่จากบทบาทที่เธอแสดง หรือเนื้อเพลงที่เธอขับร้องเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชีวิตจริงของเธอซึ่งต้องทนทุกข์ขมขื่นเพียงเพราะความแตกต่าง ไม่เป็นที่ยอมรับจากมาตรฐานทางสังคม แต่ก็ไม่เคยยอมแพ้ ไม่ว่าจะต้องล้มลุกคลุกคลานสักกี่ครั้ง เธอก็สามารถยืนหยัดได้เสมอพร้อมรอยยิ้มและอารมณ์ขันอันร้ายกาจ
[caption id="attachment_13524" align="alignnone" width="1500"]
Judy (2019)[/caption]
ดังนั้นในฉากสุดท้ายของหนัง เมื่อการ์แลนด์ในสภาพนกปีกหักลุกขึ้นมาร้อง Over the Rainbow บทเพลงเกี่ยวกับดินแดนแห่งความฝันที่ทุกชีวิตสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียมโดยปราศจากอคติ เพื่อเป็นการทิ้งทวนอำลาเวที แต่เสียงของเธอไม่อาจพุ่งทะยานไปถึงสุดปลายรุ้งได้เฉกเช่นเคยจากปัญหาสุขภาพ ก็เป็นแนวร่วมเกย์กลุ่มแรกนี่แหละที่ยืนหยัดเป็นลมใต้ปีกเธอ “พวกคุณจะไม่ลืมฉันใช่มั้ย” การ์แลนด์พูดทั้งน้ำตา “สัญญานะว่าพวกคุณจะไม่ลืม”
ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโชคชะตาเล่นตลก หรือความบังเอิญจากเหตุปัจจัยที่กำลังสุกงอม พิธีศพของ จูดี การ์แลนด์ ซึ่งเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 47 ปีจากการกินยานอนหลับเกินขนาด จัดขึ้นสองวันในกรุงนิวยอร์กก่อนเกิดเหตุการณ์จลาจลหน้าบาร์สโตนวอลล์ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1969 ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเรียกร้องสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน บางคนอ้างว่าความเศร้าโศกเสียใจต่อการจากไปอย่างกะทันหันของการ์แลนด์ทำให้เกย์บางคนนึกโกรธแค้นการบุกจับลูกค้าในบาร์เกย์ของกลุ่มตำรวจ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในยุคปลายทศวรรษ 1960 แต่วันนั้นพวกเขากลับไม่ยอมถอยร่นเฉกเช่นเคย พวกเขาตัดสินใจยืนหยัดต่อสู้ จนนำไปสู่เหตุการณ์รุนแรงและปรากฏการณ์ “ปลดแอก” แบบปฏิกิริยาลูกโซ่ในอีกหลายประเทศของโลกตะวันตก
มองในแง่หนึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว รวมไปถึงการมีอยู่ของหนังอย่าง Judy ในปี 2019 ได้ช่วยตอบคำถามข้างต้นอยู่กลาย ๆ แล้วว่าพวกเราไม่เคยลืมและจะไม่มีวันลืม...
เรื่องโดย: วาริน