“ดิว ไปด้วยกันนะ” อีกหนึ่งภาพยนตร์คุณภาพประจำปี 2562 กับเรื่องราวความรักและความผูกพันของเด็กชายสองคน ในเมืองเล็ก ๆ ที่ชื่อปางน้อย ก่อนจะเกิดเรื่องราวมากมายที่ทำให้ทั้งสองต้องแยกจากกัน
23 ปีต่อมา ภพเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วกลับมาปางน้อยเพื่อบรรจุเป็นครู ระหว่างนั้นเขาต้องรับหน้าที่ดูแล “หลิว” เด็กสาววัยมัธยมฯ ที่ทำให้ภพนึกถึงความผิดพลาดในอดีตที่อยากกลับไปแก้ไข นำมาซึ่งเรื่องราวความรักที่เหนือความคาดหมาย
หนังนำแสดงโดย นนท์-ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์ รับบท “ภพ” และ โอม-ภวัต จิตต์สว่างดี รับบท “ดิว”
คนแรกเป็นนักแสดงหน้าใหม่แกะกล่องที่เพิ่งรับงานภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องแรก ส่วนอีกคนเป็นนักแสดงดังจากซีรีส์โทรทัศน์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ชาย-ชาย หรือวัฒนธรรมวายมาโดยตลอด ในฐานะนักแสดงหน้าใหม่และนักแสดงหน้าเก่า The People จึงชวนเขามาสำรวจความรักในโลกของวาย มุมมองของนักแสดง และมุมมองของมนุษย์คนหนึ่ง
[caption id="attachment_13547" align="alignnone" width="1200"]
โอม – ภวัต จิตต์สว่างดี และ นนท์ – ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์[/caption]
The People: โอมเริ่มต้นมาแสดงซีรีส์วายได้อย่างไร
ภวัต: เริ่มต้นจากซีรีส์เรื่อง “Make It Right the Series รักออกเดิน” ครับ ตอนแรกก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นซีรีส์วาย ตอนเวิร์กช็อปก็มีแต่เพื่อนผู้ชายมาเวิร์กช็อปกัน แล้วทีมผู้กำกับก็บอกว่าเป็นซีรีส์วายนะ ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้จักว่าซีรีส์วายคืออะไร ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย แต่ความที่เราเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ เราก็เล่นกับเพื่อนผู้ชายเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ก็เลยลองแสดงซีรีส์วายดู มันก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เหมือนเป็นภารกิจหนึ่งในชีวิต
The People: นนท์ล่ะ มาแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกก็เกี่ยวข้องกับเรื่องวายเลย รู้สึกอย่างไรบ้าง
ศดานนท์: สำหรับผมมีความรู้สึกกลัวขึ้นมา ตอนแรกที่แคสติงก็ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าเป็นหนังวายนะ บอกแค่ว่าต้องการคนบุคลิกประมาณนี้ ผมก็เลยไปลองแคสต์ แล้วไปรู้ทีหลังว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวาย ตอนนั้นก็กลัวครับ แต่ก็รู้สึกท้าทายดี นักแสดงฝรั่งหลายคนเขาก็แสดงกันได้ เราก็อยากจะลองดูบ้าง เพื่อข้ามผ่านความกลัวนี้ไปได้
The People: ที่ว่า “กลัว” คุณกลัวอะไร
ศดานนท์: ผมไม่มีความคิดทางวาย ไม่ได้มีความเป็นเกย์ ไอเดียนั้นไม่ได้มีในหัวเลย แล้วถ้าได้ลองแสดงความรักกับผู้ชายก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตอนแรกกลัวว่าจะเทิร์นด้วยซ้ำ (หัวเราะ)
ภวัต: บ้า! ใจเย็น คิดว่าเล่นด้วยกันแล้วจะมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นเหรอ?
ศดานนท์: ใช่... แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้น
ภวัต: (หัวเราะ)
The People: คุณก้าวผ่านความกลัวนั้นอย่างไร
ศดานนท์: สุดท้ายผมใช้คำว่า “ช่างแม่ง” เรามาถึงขนาดนี้ ถ้ายอมแพ้ เราจะมาตั้งแต่แรกทำไมวะ ทำให้รู้ไปเลยว่ามันเป็นยังไง เอาเลย ใส่เลย เต็มที่ แล้วเราก็ก้าวผ่านมาได้ ซึ่งผมรู้สึกว่าดีนะ ไม่ได้แย่เลย มันดีมากด้วยซ้ำ เป็นความรู้สึกที่ได้ก้าวผ่านความกลัวนั้นไป เป็นความรู้สึกที่ได้พัฒนาตัวเองขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
The People: แล้วโอมรู้สึกอย่างไรกับการแสดงซีรีส์หรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับวายมาโดยตลอด
ภวัต: ด้วยพื้นฐานที่โอมชอบเล่นถึงเนื้อถึงตัวกับเพื่อนผู้ชายอยู่แล้ว ยิ่งย้ายมาอยู่โรงเรียนชายล้วน เราค่อนข้างชินกับการเล่นกับผู้ชายมาก ๆ พอมาแสดงซีรีย์วายจึงไม่มีความกลัวมากขนาดนั้น แล้วความที่เราเป็นผู้ชายเหมือนกัน เราสามารถเล่นได้มากกว่าเล่นกับผู้หญิง จับแขนกันได้ จับขากันได้ มันก็เหมือนเพื่อนที่เล่นด้วยกันปกติธรรมดา
[caption id="attachment_13549" align="alignnone" width="1200"]
โอม – ภวัต จิตต์สว่างดี และ นนท์ – ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์[/caption]
The People: เคยได้ยินมาว่า “โลกของวาย เป็นโลกอีกใบที่สาววายสร้างขึ้น” คุณเห็นด้วยไหม
ภวัต: ผมไม่ได้มองว่าใครจะสร้างอะไร หรือเป็นโลกของใครก็ตาม ผมมองว่าแต่ละคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ทุกคนมีทัศนคติและความชอบเป็นของตัวเอง อยู่ที่ว่าใครชอบอะไรแบบไหน คนที่ถูกเรียกว่า “สาววาย” เขาอาจจะชอบแบบนี้แล้วมารวมกันเป็นกลุ่ม กลายเป็นอีกโลกหนึ่งที่เป็นความชอบของเขา
ศดานนท์: ผมไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง รู้แค่ว่ามีวัฒนธรรมนี้อยู่ ซึ่งถ้าเขาโอเคกับสิ่งนี้ มีความสุขกับสิ่งนี้ มันก็เป็นสิ่งที่ดี
The People: การแสดงบทวายซึ่งตรงกับรสนิยมส่วนตัว ต้องใช้ทักษะอะไรเป็นพิเศษบ้าง
ภวัต: ในฐานะนักแสดง ผมมองว่ามันคือการแสดง เป็นการได้ลองเล่นบทบาทใหม่ ๆ แต่ถ้ามองในฐานะคนดู ผมคิดว่าถ้าเราเล่นตามบทบาทแล้วคนดูเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เท่ากับว่าเราสามารถตีโจทย์แตกแล้ว และเราก็สามารถสร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ จากบทบาทนี้ให้คนกลุ่มนั้น ซึ่งผมมีความสุขในฐานะนักแสดงคนหนึ่ง
ศดานนท์: การต้องเป็นตัวละครคนหนึ่ง เราต้องเรียนรู้ที่จะรักตัวละครนั้น แล้วให้เขาหมดทุกส่วนของร่างกาย ตั้งแต่ปลายผมยันปลายนิ้วเท้า ให้ตัวละครไปหมดไม่ว่าเขาจะเป็นยังไงก็ตาม การมองว่าการแสดงเป็นแฟนตาซีของคนดู ผมไม่เกี่ยงอะไรเลย เพราะว่าทุกคนมีแฟนตาซีของตัวเอง แต่สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นในหนัง มันไม่ใช่ตัวผม มันเป็นตัวละครที่ผมให้เขาไปมากกว่า
The People: มีเทคนิคทลายความเคอะเขินเวลาเข้าฉากเลิฟซีนระหว่างชาย-ชายไหม
ภวัต: แรก ๆ ก็มีความเคอะเขินนะครับ อยู่ดี ๆ จะให้มามองหน้ากัน มาเข้าใกล้กัน มันไม่ใช่วิสัยที่จะทำทั่วไปในโรงเรียน แต่พอทำไปเรื่อย ๆ เราก็แยกแยะออกว่านี่คือการทำงาน นี่คือชีวิตจริง เรามองว่ามันคือการแสดง ก็เลยทำให้เราสามารถผ่านจุดนั้นมาได้ เทคนิคในการทลายความเขินของผมคือ การไปรู้จักกับคนคนนั้นให้มากขึ้นในระดับหนึ่ง แล้วเราจะกล้าทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่าทำไม่ได้ ตอนนี้ผมไม่เขินกับฉากเลิฟซีนแล้ว นอกจากบทนั้นต้องเขิน ผมก็จะแสดงให้เขินได้
ศดานนท์: ส่วนผมไม่เลยครับ ศูนย์เลย โดยเฉพาะเลิฟซีน ไม่เขินเลย
[caption id="attachment_13546" align="alignnone" width="1200"]
โอม – ภวัต จิตต์สว่างดี และ นนท์ – ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์[/caption]
The People: ส่วนตัวมองความรักชาย-ชายอย่างไรบ้าง
ศดานนท์: ผมมองว่ามันไม่ผิด และไม่แปลกที่จะเกิดความรู้สึกนี้กับใคร เพศอะไรก็ได้ มันเป็นเรื่องที่ปกติมาก ๆ ที่มนุษย์จะรักบางสิ่งบางอย่างด้วยความรู้สึกที่สะกิดหัวใจเขา ความรักเป็นคำที่ธรรมดามาก ส่วนตัวไม่ได้คิดว่าเป็นปัญหาอะไรเลย แค่เขามีความสุข และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็พอ
ภวัต: ทุกคนมีความคิดและความรู้สึกเป็นของตัวเอง ความรู้สึกรักเป็นสิ่งที่ห้ามกันไม่ได้ ใครจะชอบใคร ใครจะรักใคร หรือเพศไหน มันเป็นสิทธิส่วนตัว
The People: การที่สังคมสมัยก่อนยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ทำให้คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
ภวัต: ถ้าอิงจากตัวละคร “ดิว” เขาแอบมีความรู้สึกดีแต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ยิ่งสมัย 90’s ตามหนัง ทุกสายตา ทุกการมอง ทุกความคิดของคนอื่นยังไม่ยอมรับเท่าปัจจุบัน แล้วเขาอึดอัดมากที่ต้องเก็บความรู้สึกนี้ไว้ข้างในตลอด
ศดานนท์: ผมเข้าใจได้ว่าคนสมัยนั้นคงไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้ และไม่เข้าใจว่าเกิดจากอะไร มองว่ามันผิดประเพณี ผิดไปหมด กลัวว่าจะเกิดความร้ายแรงอย่างโรคเอดส์ สังคมก็เลยปิดกั้น ความกลัวไม่ใช่เรื่องแปลก มนุษย์เกิดความกลัวขึ้นได้ แล้วก็หาวิธีป้องกันความกลัวนั้นโดยการสั่งห้ามหรือไม่ยอมรับมัน
ภวัต: ตอนเด็ก ๆ สมัย 10 ขวบ ผมมีเพื่อนเป็นเพศที่สามแล้วโดนล้อ โดนแกล้งหนักมาก ไม่เหมือนสมัยนี้ที่พวกเขากลายเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน แต่สมัยนั้นคือโดนแบน โดนด่าว่าเป็นอีกะเทย อีตุ๊ด ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลย มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราไม่ชอบเขาได้ แต่ไม่ควรจะไปเหยียดหยามเขา และไม่ควรไปก้าวก่ายในสิทธิความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย
The People: คิดว่าอะไรเป็นตัวจุดประกายให้สังคมยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น
ภวัต: สมัยนี้เราอยู่ร่วมกันมากขึ้น พึ่งพากันมากขึ้น คนจึงปรับตัวและยอมรับซึ่งกันและกัน แถมเพศที่สามหลาย ๆ คนมีความสามารถ เก่ง มีความเป็นไอดอล และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนทั่วไปได้
ศดานนท์: ผมมองคล้าย ๆ กันเลย สุดท้ายแล้วทุกคนก็จะเข้าใจว่าพวกเขาไม่ได้ผิดอะไร เขาก็คนเหมือนกัน ไม่เห็นต้องมาเหยียดหยามอะไรกันเลย เรามีสิทธิเท่ากัน
The People: รู้สึกอย่างไรที่ซีรีส์วายกลายเป็น “สินค้า” ในสมัยนี้
ภวัต: ผมไม่ได้มองว่าเป็นสินค้า แต่เป็นบทบาทที่แต่ละโปรดิวเซอร์ หรือแต่ละบริษัทสร้างบทนี้ขึ้นมา เพียงแค่ตอนนี้มีซีรีส์รูปแบบนี้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ แล้วกลุ่มคนที่ชอบก็เยอะขึ้นเรื่อย ๆ มันก็สะท้อนให้เห็นว่า จริง ๆ แล้วโลกเปิดรับมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกัน ทั้งในฐานะคนสร้างและในฐานะคนดู ทุกคนเปิด ให้โอกาส และยอมรับความแตกต่างตรงนี้ครับ
The People: การแสดงบทบาทวาย มีผลกระทบต่อชีวิตจริงของคุณไหม
ภวัต: ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนเสพสื่อมากกว่าว่าชอบผมในฐานะตัวละครหรือชอบผมในชีวิตจริง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เขาแยกไม่ออก มันก็ทำให้ชีวิตการเป็นนักแสดงค่อนข้างโดนบีบในระดับหนึ่ง อยู่ในกรอบ ไม่ค่อยอิสระเท่าไหร่
ผมเคยเจอแฟนคลับข้ามเส้นบ้างครับ แต่ไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อนขนาดนั้น ไม่เป็นไร เราถือว่าตัวเองเป็นนักแสดงคนหนึ่ง เลยคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องแบกรับประเด็นนี้อยู่แล้ว และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะทำครับ
ทุกคนมีความคิด ความชอบ และมุมมองที่แตกต่างกัน ทุกคนสามารถมองผมเป็นตัวละคร หรือจินตนาการว่าชีวิตจริงผมเป็นแบบตัวละครก็ได้ เขาจึงอาจไม่ชอบผมเวลามีแฟนในชีวิตจริง ผมพูดในฐานะที่เคยโดนนะ แต่ก็ไม่เป็นไร
[caption id="attachment_13542" align="alignnone" width="960"]
โอม – ภวัต จิตต์สว่างดี และ นนท์ – ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์[/caption]
The People: ในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง คุณคิดว่าวัยรุ่นอย่างคุณต้องการความรักแบบไหน
ภวัต: สุดท้ายทุกคนต้องการความรักที่ยั่งยืนครับ ทุกคนต้องการความรักที่มั่นคง ที่เป็นความรักจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความรักอะไรก็แล้วแต่ รักผู้หญิง รักผู้ชายด้วยกันเอง หรือรักหมา-แมว แต่มันต้องเป็นความรักที่เขาสามารถยึดหลักมันได้ มีความสุขในชีวิต ในจิตใจ นั่นแหละคือสิ่งที่ทุกคนต้องการ
ศดานนท์: ที่จริงแล้วมันเป็นความอิสระของแต่ละคน ผมไม่ได้มองว่าความรักจำเป็นต้องผูกมัดกันขนาดนั้นว่า เรารักคนนี้ เราต้องอยู่ด้วยกับคนนี้เท่านั้น พาร์ตนั้นอาจจะเป็นตอนที่แต่งงานแล้ว เราต้องการคนที่ทำให้รู้สึกมีคุณค่า คนที่ทำให้เรามีความสุข แล้วเราจะได้สานสัมพันธ์กับเขาไปเรื่อย ๆ แค่เสมอต้นเสมอปลายก็ดีแค่ไหนแล้ว
The People: แต่หลายคนมักบอกว่าความรักวัยรุ่นเป็นรักที่ไม่ยั่งยืน?
ภวัต: เหมือนเป็นการเตรียมตัวกับความรักมากกว่า เป็น Pre-Love ก่อน Post-Love ก่อนจะมีชีวิตเป็นของตัวเองจริง ๆ ก่อนจะเจอรักจริง ๆ การที่เราได้ศึกษาและเรียนรู้ชีวิตช่วงวัยรุ่น ทำให้เราหาวิธีจัดการกับปัญหาในอนาคตได้ ทำให้ช่วงวัยรุ่นดูเป็นวัยที่มีปัญหาเยอะ ทะเลาะกัน ผิดหวัง หรือว่าเสียใจ แต่จริง ๆ มันคือบทเรียนหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนต้องเจอครับ
ศดานนท์: ใช่ เรียนรู้จากความผิดหวัง เพราะทุกคนมีความคาดหวังโดยเฉพาะเรื่องความรัก ยิ่งคาดหวังมากแล้วไม่เป็นไปตามคาดหวัง เราก็ยิ่งเสียใจ แต่เราก็เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เนอะ
ภวัต: จนมันปรับตัวได้ หาความพอดีกับมันได้ แล้วเราก็เจอจุดสมดุลของชีวิต
The People: แสดงว่าคุณมองความเจ็บปวดเป็นสิ่งสวยงาม เช่นเดียวกับภาพยนตร์ “ดิว ไปด้วยกันนะ” ?
ศดานนท์: ผมเปรียบจิตใจเป็นเหมือนบ่อน้ำ ความลึกของมันถูกขุดได้ด้วยความผิดหวัง ความเจ็บปวด ความทุกข์ แล้วน้ำที่มาเติมคือความสุขในชีวิต พอเราเจ็บปวดหรือผิดหวัง มันจะยิ่งขุดลึกลงไปเรื่อย ๆ ทำให้เรามีพื้นที่ในการเติมน้ำแห่งความสุขได้มากขึ้น เพราะว่ายิ่งลึก เราจะยิ่งรู้ว่าสุดท้ายแล้วความสุขมันมีมากขนาดไหน
ภวัต: ความเจ็บปวดคือการเรียนรู้ คือภูมิต้านทาน คือการปรับตัว มันทำให้เราเจอความสุข สมมติว่าเราผ่านความเจ็บปวดนี้มาได้ ครั้งหน้าเราจะรู้วิธีการรับมือกับมัน และทำให้เราสามารถหาสมดุล หรือทำให้ความเจ็บปวดที่เคยเกิดขึ้นกลายเป็นความสุขได้
[caption id="attachment_13544" align="alignnone" width="960"]
นนท์ – ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์ และ โอม – ภวัต จิตต์สว่างดี[/caption]