อดิสรณ์ พึ่งยา "นักข่าวสายกีฬา ฟุตบอล การรอคอย และความสำเร็จ"

อดิสรณ์ พึ่งยา "นักข่าวสายกีฬา ฟุตบอล การรอคอย และความสำเร็จ"

อดิสรณ์ พึ่งยา "นักข่าวสายกีฬา ฟุตบอล การรอคอย และความสำเร็จ"

อดิสรณ์ พึ่งยา เจ้าของนามปากกา “JACKIE” (แจ็คกี้) ถือเป็นนักข่าวกีฬาและคอลัมนิสต์ฟุตบอลชื่อดัง ที่หลงใหลในทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล มาทั้งชีวิต ใครที่ติดตามชมฟุตบอลคงจะรู้กันดีว่าจุดสูงสุดบนยอดเขาแห่งความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ คือ “การเป็นแชมป์” แม้ทีมหงส์แดงจะเป็นยอดทีมที่มีผู้ติดตามทั่วโลกและผ่านการคว้าแชมป์มากมาย แต่มีเพียงยอดเขาเดียวที่พวกเขายังไม่สามารถปีนขึ้นไปถึงได้ในช่วง 30 ปีมานี้ก็คือ “พรีเมียร์ลีก” ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของ The People เราได้ชวนอดิสรณ์มาถ่ายทอดประสบการณ์ในหัวข้อ "นักข่าวสายกีฬา ฟุตบอล การรอคอย และความสำเร็จ" ภายในเวลา 8 นาที เพราะอดิสรณ์เป็นหนึ่งในแฟนบอลที่รอคอยความสำเร็จของทีมรักมาร่วม 30 ปี ซึ่งแม้จะเป็นการรอคอยที่ยาวนาน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านการใช้ชีวิตในฐานะ “The Kop” ก็ทำให้เขาได้พบความหมายของชีวิตที่เรียกว่า “ความสุขจากการรอคอย”   ก่อนอื่นก็ขอแสดงความยินดีกับ The People ที่ครบรอบ 1 ปี ตอนที่น้อง ๆ ทีมงานติดต่อไปก็ถามว่าแน่ใจเหรอเพราะว่าเราเป็นคนที่อ่านข่าวกีฬา บรรยายเกมกีฬา แต่การพูดต่อหน้าชุมชน...ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตเลย ก่อนจะขึ้นทอล์ก คุณหนุ่ย-พงศ์สุข (พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ซึ่งมาขึ้นเวทีทอล์กของ The People ด้วยเช่นกัน) ถามว่ากดดันไหมพี่ ก็ต้องยอมรับว่ากดดันมาก ๆ เพราะว่าบรรยายกับอ่านข่าว เราเจอแต่กล้อง คนถ่ายก็อยู่ข้างหลัง ก็กล้องไม่มีความรู้สึกนี่ฮะ แต่ทุกท่านมีความรู้สึก ผมก็รู้สึกประหม่าและเกรงใจ เลยถามน้อง ๆ ทีมงาน เฮ้ย ไหวเหรอ น้อง ๆ ก็บอกได้พี่ เหมือนที่พี่เคยให้สัมภาษณ์ The People นั่นแหละ “คนที่ติดตามชมกีฬาคงจะคุ้น ๆ ผมอยู่ แต่ว่าหลาย ๆ ท่านที่อาจจะไม่ได้ชมกีฬา หรือว่าไม่ได้เป็นแฟนกีฬา ผมขออนุญาตแนะนำตัวนะครับ ผมชื่อ อดิสรณ์ พึ่งยา เป็นนักข่าวกีฬา เป็นคอลัมนิสต์ ในวงการผมตั้งชื่อตัวเองว่าแจ็คกี้ ซึ่งทุกวันนี้คนก็เรียกผมว่าแจ็คกี้กันติดปาก “พูดถึงตัวผมเองแล้ว ผมมีความรู้สึกว่าฟุตบอลอยู่กับเรามาตั้งแต่เด็ก ผมเชื่อว่าเด็กผู้ชายไม่ว่าจะเป็นเด็กในเมืองหรือว่าเด็กต่างจังหวัด อย่างผมเองเป็นเด็กสุพรรณฯ ความสนุกของพวกเขาอยู่ที่การเล่นฟุตบอล เพราะว่าเป็นความสุขที่ได้มาในราคาถูก มีลูกฟุตบอลอยู่ 1 ใบ เมื่อก่อนนี้เป็นลูกพลาสติกใบละ 25 สตางค์ ก็ไปซื้อมาเล่น เล่นกัน 20 คน กับอุปกรณ์กีฬา 1 ชนิด 1 ชิ้น ได้ความสุขเท่ากัน 20 คน รองเท้าไม่ต้องมี เพราะว่าไม่จำเป็นต้องมีรองเท้าสตั๊ด เล่นกันเท้าเปล่า ความสุขมันอยู่ตรงนั้น “จริง ๆ แล้ว ผมรู้สึกว่าเด็กในยุคนั้นซ้อมเตะบอล เขามีจินตนาการ เวลาเด็กผู้ชายไล่เตะลูกฟุตบอล เขาจะสามารถจินตนาการว่าเขาเป็นยอดนักฟุตบอล สามารถเตะลูกไซด์โค้ง ไซด์โป้ง ไซด์ก้อย เขาทำได้เพราะลูกพลาสติกมันเบา เพราะฉะนั้นตอนเด็ก ๆ ทุกคนก็จะลงไปเล่นอย่างมีความสุขเพราะได้จินตนาการ ผมก็มีครับ ถ้าเราเตะได้ไซด์โค้ง เตะแล้วลูกเราไปแล้วอ้อมกลับมา มันเหมือนทุกคนเก่ง กลายเป็นฮีโรของเพื่อน ๆ อดิสรณ์ พึ่งยา "นักข่าวสายกีฬา ฟุตบอล การรอคอย และความสำเร็จ" “สิ่งที่ผมอยากพูดถึงมากที่สุดสมัยเป็นเด็ก คือทุกพักเที่ยง ก๊วนเราที่มีกันอยู่ 7-8 คน จะรีบกินข้าวให้เสร็จแล้วไปเตะบอล มีเวลา 15-20 นาทีก็เตะ ความสุขมันอยู่ตรงนั้น จบแล้วก็มาเรียนหนังสือต่อ วันเสาร์ก็นัดดวลเล่นฟุตบอลกันอีก เป็นช่วงเวลาที่มีความรู้สึกว่าเราอยากจะเตะบอล แต่ไม่ใช่ว่าไม่อ่านหนังสือเลยนะ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว แต่ว่าเรื่องของการจะได้ไปเล่นฟุตบอลกับเพื่อน ๆ เรารอให้ถึงช่วงนั้นมาก ๆ ไม่ใช่รออย่างมีความหวังนะ แต่มันเป็นการรออย่างมีความสุข มีความสุขที่เดี๋ยวเราจะได้ไปเล่นบอลกับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นช่วงพักเที่ยงหรือช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ “คราวนี้ เด็กผู้ชายพอรู้จักฟุตบอล เตะฟุตบอล เรื่องต่อมาเป็นเรื่องที่เราจะต้องรู้ว่า เขาเล่นฟุตบอลกันยังไง กีฬาชนิดนี้เป็นยังไง กฎ กติกา ความรู้อะไรต่าง ๆ เราก็พยายามศึกษา ผมชอบอ่านหนังสือ ก็จะเข้าห้องสมุดไปอ่านหนังสือทุกอย่าง เมื่อก่อนถ้าอ่านหนังสือพิมพ์ก็จะอ่านไทยรัฐ ผมชอบอ่านหนังสือพิมพ์ตั้งแต่เด็กแล้ว เมื่อก่อนมี 16 หน้า ซึ่งหน้า 15 จะเป็นหน้ากีฬา ก็ไปอ่านทั้งกีฬาต่างประเทศและกีฬาไทย “เวลาอ่านไทยรัฐ เขาจะพาดหัวเป็นซับสั้น ๆ ‘หงส์แดงจ่าฝูง’ เราก็ เฮ้ย อะไรวะ หงส์แดงคืออะไร เราก็ไปหาอ่าน แล้ว ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล คืออะไร ทำไมต้องมีจ่าฝูง เราก็เลยเข้าไปห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งจะมีนิตยสารฟุตบอลสตาร์ซอคเก้อร์ เป็นนิตยสารเกี่ยวกับฟุตบอลต่างประเทศรายสัปดาห์ 7 วันพิมพ์ครั้งหนึ่ง ก็ไปไล่อ่านดู เพื่อจะดูว่า ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล คืออะไร “นี่คือเรื่องราวเมื่อ 40 ปีที่แล้ว มันเป็นยุคที่การเข้าถึงข้อมูลยังลำบากมาก เพราะฉะนั้นความรู้สึกที่ว่า เรารอคอยที่จะอ่านข้อมูลฟุตบอลมันก็เกิดขึ้น แล้วผมก็มีความสุข ผมจะอ่านหนังสือไม่จบในตอนเดียวหรือ 2 วัน ผมจะค่อย ๆ อ่านไปทีละ 3-4 หน้า อ่านไปเรื่อย ๆ จนครบรอบวันสัปดาห์หนึ่ง วันจันทร์ฉบับใหม่ก็มาแล้ว เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องบอกตัวเอง ทำไมเรารอที่จะอ่านหนังสือ รอที่จะเล่นฟุตบอลกับเพื่อน ๆ  ตอนเด็ก ๆ เราก็ไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไร รู้แค่ว่ามันมีความสุขแล้วก็มีความสนุก “พอโตมา เรารู้สึกว่าเราอยู่กับฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก ฟุตบอลให้อะไรกับเราเยอะแยะเลย ไม่ใช่แค่ว่าเราได้อ่านคอลัมนิสต์ที่เราชื่นชอบ ซึ่งเมื่อก่อนก็จะมีคุณ ย.โย่ง-เอกชัย นพจินดา ที่ล่วงลับไปแล้ว ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นคัมภีร์ลูกหนังของเมืองไทย เป็นผู้รู้เรื่องเกี่ยวกับกีฬา หรือว่าคุณพิศณุ นิลกลัด ที่ใช้นามปากกา ‘เตยหอม’ แต่ฟุตบอลยังให้อาชีพ ให้หน้าที่การงาน และให้อะไรอีกหลายอย่างทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว ประสบการณ์ชีวิตก็สำคัญด้วยเช่นกัน “อีกอย่างคือเรื่องการเรียนรู้ เชื่อไหมครับว่าเด็ก ๆ เราอ่านสตาร์ซอคเก้อร์ทุกวัน เราได้รู้จักชื่อนักเตะภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นจากอังกฤษเอง นักเตะของอิตาลี นักเตะเยอรมัน เราก็สังเกต เอ๊ะ มีชื่อไหนคล้าย ๆ กันบ้าง ทำไมออกเสียงไม่เหมือนกัน เราก็เลยรู้ชื่อของแต่ละคน แต่ละชาติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเขา เช่น ชื่ออังกฤษจะอย่างนี้ ชื่ออิตาลีเป็นอย่างนี้ ถ้าเอ่ยชื่อมาก็ อ๋อ ‘โรแบร์โต’ อิตาลีแน่นอน ต่อจากนั้นเราก็เสาะหาข้อมูลเพิ่ม รู้จักภูมิศาสตร์ประเทศนั้น ๆ เมืองนั้น ๆ ผมได้วิชาภูมิศาสตร์โลกโดยไม่รู้ตัวจากทีมฟุตบอล ทั้ง ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ แล้วก็ต่อยอดไปนิวคาสเซิล อย่างทำไมเมืองลิเวอร์พูลกับเมืองแมนเชสเตอร์คนไม่ค่อยถูกกัน เราก็อ่านหนังสือ ทำให้รู้ว่าแต่ก่อนลิเวอร์พูลเป็นเมืองท่าที่มั่งคั่งมาก สินค้าต้องลงลิเวอร์พูล แล้วค่อยส่งเข้าแผ่นดิน ต่อมาแมนเชสเตอร์ขุดคลอง เรียบร้อยเลยฮะ...เมืองท่าลิเวอร์พูลปิด ลิเวอร์พูลกลายเป็นที่เสื่อมโทรมเลย “นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ผมอยากจะบอกว่าเป็นสิ่งที่ผมได้จากการเป็นแฟนบอล แล้ววันหนึ่งผมก็ได้เป็นคนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับข่าวกีฬา อาจจะเป็นเรื่องฟุตบอลเป็นหลักก็จริง แต่บทสรุปที่ได้กับตัวเองคือว่า ทุกสิ่งทุกอย่างกับการรอคอยเพื่อจะได้ไปเล่นฟุตบอล การรอคอยเพื่อจะเสพข้อมูล อ่านข้อมูล มันเป็นความสุขอย่างหนึ่ง  เหมือนกับคุณหนุ่ย-พงศ์สุข ถามผมว่า พี่ ลิเวอร์พูลไม่ได้แชมป์มากี่ปีแล้ว ผมบอก 29 ปี 8 เดือน (เสียงหัวเราะ) คุณหนุ่ยบอก โอ๊ย ทำไมพี่มีศรัทธาอะไรขนาดนั้น ผมตอบคุณหนุ่ยไม่ได้ครับ ผมรู้อย่างเดียวว่ามันเป็นความสุขที่เราได้รอคอย มันมีคำกล่าวที่ว่า ‘รสชาติของการรอคอยนั้นหอมหวานมาก’ แต่สำหรับผม ผมมองว่า ‘รสชาติของการรอคอย ไม่สิ้นสุข’ ครับ ขอบคุณครับ”   *ทอล์กนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานครบรอบ 1 ปี The People: Do You Hear THE PEOPLE Talk? จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องคริสตัล บ็อกซ์, เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท