เฮอร์เบิร์ต ฟรูเดนเบอร์เกอร์ นักจิตวิทยาใจบุญผู้ริเริ่มใช้คำว่า “burn-out”
“ถ้าคุณเคยเห็นตึกที่ถูกเผาไหม้จนวอดวาย คุณย่อมรู้ว่ามันเป็นภาพที่น่าสังเวชเพียงใด แก่นกลางภายในของโครงสร้างที่เคยเปี่ยมด้วยชีวิตตอนนี้มันถูกทอดทิ้ง ที่ที่เคยใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ตอนนี้เหลือเพียงซากให้ระลึกถึงพลังงานและชีวิตที่เคยมี ก้อนอิฐและคอนกรีตอาจหลงเหลืออยู่เช่นเดียวกับกรอบหน้าต่าง หรือจริง ๆ แล้ว โครงภายนอกอาจยังเหลือให้เห็นเป็นชิ้นสมบูรณ์ มีเพียงการเข้าไปข้างในนั่นแหละที่จะทำให้คุณได้ตระหนักถึงพลังทำลายแห่งความอ้างว้าง
“ในฐานะนักวิเคราะห์จิต ผมเพิ่งได้รู้ว่า มนุษย์ก็เหมือนกับตึกที่อาจถูกเผาไหม้ (burn out) ได้เหมือนกัน ภายใต้ความตึงเครียดจากการมีชีวิตอยู่ในโลกอันสลับซับซ้อน แหล่งพลังงานภายในของพวกเขาก็ถูกกลืนกินราวกับไฟแผดเผา จนเหลือแต่ความว่างเปล่าอยู่ภายใน เป็นไปได้ว่า คุณเองก็คงนึกออกว่าผมสื่อถึงเรื่องอะไร คุณอาจจะหมดศรัทธากับชีวิตที่เป็นอยู่ แต่ไม่รู้แน่ว่ามันมีปัญหาจากอะไร ถ้าเช่นนั้น คุณไม่ได้เป็นอยู่คนเดียว”
เฮอร์เบิร์ต ฟรูเดนเบอร์เกอร์ (Herbert Freudenberger) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันบรรยายถึงภาวะ “burn-out” หรือ “หมด(เชื้อ)ไฟ” โดยเปรียบเทียบสภาพจิตใจของคนที่ถูกความเครียดจากการทำงานแผดเผา กับตึกที่ถูกไฟไหม้จากภายใน ซึ่งถือได้ว่า เป็นนักจิตวิทยาคนแรกที่นำเอาคำนี้ (burn-out) มาใช้บรรยายปรากฏการณ์ดังกล่าวเมื่อปี 1974
จากข้อมูลของ The New York Times ฟรูเดนเบอร์เกอร์เกิดเมื่อปี 1926 ที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่ออายุได้ 12 ปี ครอบครัวของเขาถูกนาซีประหัตประหาร เขาอาศัยหนังสือเดินทางของพ่อหลบหนีการไล่ล่าด้วยตัวคนเดียวจากซูริค อัมสเตอร์ดัม ปารีส จนเดินทางมาถึงนิวยอร์กได้สำเร็จ
ฟรูเดนเบอร์เกอร์มาอาศัยอยู่กับญาติผู้หญิงรายหนึ่งซึ่งได้รับคำสัญญาว่าจะได้เงินตอบแทนจากพ่อของเขา แต่เมื่อไม่ได้เงินตามสัญญาเนื่องจากโรงงานของครอบครัวถูกนาซียึด ญาติรายนี้จึงโกรธแค้นจับฟรูเดนเบอร์เกอร์ไปอยู่ในห้องใต้หลังคา และบังคับให้เขานอนบนเก้าอี้
อายุได้ 14 ปี เขาจึงหนีออกจากบ้านไปใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน จนลูกพี่ลูกน้องรายหนึ่งรับเขาไปอยู่ด้วย และได้ศึกษาเล่าเรียนด้านจิตวิทยาจนได้ดอกเตอร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
ลูกของเขาเล่าว่า นอกจากทำงานประจำในช่วงกลางวันแล้ว ฟรูเดนเบอร์เกอร์ยังช่วยเหลือผู้ยากไร้และผู้ติดยาเสพติดอย่างแข็งขันจนดึกดื่นถึงตีหนึ่งตีสองเกือบทุกวัน
ลิซา ฟรูเดนเบอร์เกอร์ ลูกสาวซึ่งได้มาเป็นนักจิตวิทยาเช่นกัน เล่าว่า การทำงานหนักทำให้เขาเหนื่อยล้า และเคร่งเครียด แล้วก็ไม่ใช่คนที่น่าอยู่ใกล้ด้วยเท่าไหร่นัก เนื่องจากเขามักจะตะเพิดลูก ๆ อยู่เสมอ แล้ววันหนึ่งขณะที่ครอบครัวกำลังจะเดินทางไปพักร้อน ฟรูเดนเบอร์เกอร์ผู้พ่อกลับหลับยาวไม่อาจลุกขึ้นจากเตียงได้เลย
ตอนนั้นเองที่ฟรูเดนเบอร์เกอร์รู้สึกได้ว่าตัวเองผิดปกติและพยายามใช้ความรู้ที่เขาเชี่ยวชาญวินิจฉัยความผิดปกติของตัวเอง ด้วยการบันทึกเสียงการสนทนากับตัวเองแล้วมานั่งวิเคราะห์ ซึ่งเขารู้ว่ามันไม่ใช่แค่ความอ่อนล้า และไม่ใช่อาการซึมเศร้า แต่เป็นอะไรที่ต่างออกไป และเขาเลือกที่จะเรียกอาการที่เขาเป็น “burn-out” (NPR)
“ครั้งแรกที่ผมได้ฟังเสียงของตัวเอง ผมตัวสั่นเทิ้ม มันแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ที่ซับซ้อนที่ผมไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน ทั้งความเหนื่อยล้า ความโกรธ ความเครียด ความทะนงตัว และความรู้สึกผิดเมื่อพูดถึงครอบครัว” ฟรูเดนเบอร์เกอร์เล่าถึงประสบการณ์ของตัวเอง
การค้นพบดังกล่าวทำให้ฟรูเดนเบอร์เกอร์ตัดสินใจพักงานยาวนับเดือนใช้เวลาอยู่กับครอบครัว ขณะเดียวกันก็พยายามวิเคราะห์อาการผิดปกติของตนเอง
“ผมไม่ได้เข้าคลินิกนานหนึ่งเดือนเต็ม ผมรู้สึกสูญเสีย ผมรู้ว่าผมจะกลับไปทำงานอีกไม่ได้จนกว่าผมจะสามารถวางลำดับความสำคัญของชีวิตใหม่ได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน งานที่คลินิกจะต้องอยู่ในลำดับที่ควรจะอยู่ ซึ่งก็คืออยู่หลังครอบครัว สุขภาพของตัวเอง ผู้ป่วย และหน้าที่ในการหาเงินเพื่อมีชีวิตรอด”
เขาพบว่าปัญหาของตัวเองมาจากที่ทำงาน และเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการได้เห็นเด็กจำนวนมากตกอยู่ในสภาพที่ยากลำบากมาก การที่ปัญหาที่เขาพยายามจะแก้ขาดซึ่งกำลังคนที่จะมาช่วยเหลือ และรู้สึกว่าสังคมให้ความสนใจน้อยเกินไป ขณะเดียวกันปมชีวิตในวัยเด็กก็มีส่วนเมื่อเขาไปเห็นว่าเด็ก ๆ เหล่านี้มีชีวิตเหมือนกับตัวเอง ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่ และมีส่วนที่ทำให้เขามองปัญหาคลาดเคลื่อนไปด้วย
และจากกรณีศึกษาของเขาพบว่า คนที่มีอาการ burn-out มักจะอยู่ในวิชาชีพที่ต้องคอยช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล ครู ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ หรือนักจิตวิทยาอย่างเขาเอง ซึ่งมักจะมีอุดมคติอะไรบางอย่างที่จะทำเพื่อผู้อื่นเพื่อสังคม และพยายามผลักดันตัวเองอย่างเต็มที่เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ยิ่งพยายามก็เหมือนกับการวิ่งชนกำแพง ความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่าทำให้คนเหล่านี้สร้างกำแพงขึ้นมาป้องกันตัวเอง ฉีดยาชาให้กับความรู้สึกอันเจ็บปวดนั้น แม้พวกเขาจะยังคงทำงานหนักเหมือนเคย แต่ภายในกลับรู้สึกว่างเปล่า และค่อย ๆ ขาดกำลังที่จะเดินหน้าต่อ
"ยิ่งศึกษาผมก็ยิ่งพบว่า เบิร์นเอาต์ได้ปล้นสิ่งที่สังคมไม่ควรสูญเสียอย่างยิ่ง นั่นคือ กลุ่มผู้ประสบความสำเร็จระดับสูง ชายหญิงผู้กระตือรือร้นและเต็มเปี่ยมด้วยเป้าหมาย ที่คนอื่น ๆ อย่างเรามองหาในฐานะผู้นำและผู้สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ใช่คนกลุ่มคนที่ล้มเหลวหรือมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง ในทางตรงกันข้าม พวกเขาคือกลุ่มที่น่าจะประสบความสำเร็จมากที่สุด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใน่จะเป็นแค่อะไรที่มาจากข้างในตัวพวกเขาเอง แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับยุคสมัยของเรา ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การตัดขาดจากสังคม โรงเรียน และสภาพการทำงาน" ฟรูเดนเบอร์เกอร์กล่าว
จากข้อมูลของ ศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวแห่งชาติของสหรัฐฯ (NCBI) ระบุว่า ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับว่าอาการ burn-out สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวิชาชีพ ไม่ได้จำกัดแต่กับวิชาชีพที่ทำเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น แต่คำจำกัดความของคำนี้แบบชัด ๆ แน่ ๆ ยังไม่มี การวินิจฉัยจึงยาก และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะกล่าวว่าปัญหานี้มันเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
สาเหตุก็อาจจะมีหลายอย่าง ทั้งการทำงานเกินพอดีเป็นประจำ อยู่ภายใต้แรงกดดันเรื่องเวลา งานขาดความท้าทาย มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน การอุทิศชีวิตให้กับงานเกินเหตุจนลืมชีวิตส่วนตัว ซึ่งบางครั้งการเปลี่ยนบรรยากาศการทำงาน หรือการให้การช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างบางคนนอกจากต้องทำงานประจำแล้ว ยังต้องดูแลญาติที่ป่วยเรื้อรังด้วยตัวคนเดียว หากได้รับการแบ่งเบาภาระ ก็ช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง
(ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก [WHO] ระบุว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ได้มีการบรรจุ burn-out ไว้ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศฉบับปรับปรุงลำดับที่ 11 [11th Revision of the International Classification of Disease] ในฐานะปรากฏการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ไม่ใช่อาการป่วยในทางการแพทย์)