read
thought
18 พ.ย. 2562 | 10:29 น.
ทดลองขับ Nissan Leaf ขึ้นยอดดอยอินทนนท์ ยานยนต์แห่งอนาคตที่ใช้งานได้จริง
Play
Loading...
ครั้งแรกที่มีคนชวนไปทดลองขับ
ยานยนต์ไฟฟ้า
(Electric Vehicle–EV) ขึ้นยอดดอยอินทนนท์ ด้วยการชาร์จเพียงครั้งเดียว นั่นทำให้ผมตอบรับคำเชิญอย่างไม่รีรอ แม้ว่าภารกิจในแต่ละวันจะมากเพียงใดก็ตาม
ผมเป็นคนหนึ่งที่ใฝ่ฝันอยากขับรถไฟฟ้ามานานแล้ว อยากสัมผัสถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่จะทำให้ชีวิตของมนุษย์ในอนาคตดีขึ้น และมีส่วนในการทำลายโลกน้อยลง ที่ผ่านมา ผมรู้สึกผิดเสมอกับการขับรถยนต์ที่ต้องใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมัน และเชื่อว่าน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่า
ผมฝันไปไกลถึงขั้นว่า ในโลกอนาคต ยานยนต์ทุกคันจะใช้ไฟฟ้าเป็นพลังงานบริสุทธิ์ ไร้ฝุ่น ไร้ควัน ไร้มลภาวะ เพราะทุกอย่างวางแผนจัดการให้ดีได้จากต้นทาง มิใช่ถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นควันอย่างทุกวันนี้ เมื่อถึงเวลานั้น เราคงสูดหายใจได้เต็มปอด และโลกคงน่าอยู่ไม่น้อย
การเดินทางของเราเริ่มต้นขึ้นจากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เส้นทางมุ่งหน้าไปทางอำเภอจอมทอง เพื่อขับขึ้นยอดดอยอินทนนท์ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,565 เมตร รวมระยะทางไปกลับกว่า 200 กิโลเมตร จัดเป็นเส้นทางที่มีความคดโค้ง ลาดชัน เลาะเลี้ยวไปตามไหล่เขาที่มีระดับความสูงต่ำนับไม่ถ้วน กว่าจะถึงยอดดอยที่ได้ชื่อว่าเป็น “ภูเขาที่สูงที่สุด” ในประเทศไทย
ยานยนต์ไฟฟ้าที่เราจะทำการทดสอบในวันนี้ คือ
นิสสัน ลีฟ ใหม่
(The All-New Nissan Leaf) เจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งเป็นยานยนต์ที่ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งานทั่วโลก จนติดอันดับยานยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีเป็นอันดับหนึ่งของโลก
หลังจากทีมงานของ
บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
บรีฟข้อมูลที่พึงรู้ ทั้งในเรื่องเชิงเทคนิคของตัวรถ เส้นทางการขับขี่ กฎกติกามารยาทต่าง ๆ ซึ่งมีความชัดเจน เรียบง่าย และไม่ซับซ้อน เราก็มีโอกาสได้สัมผัสกับรถนิสสัน ลีฟ ใหม่ และขับออกสู่เส้นทางไฮเวย์ในที่สุด
ข้อเด่นแรกสุดของ นิสสัน ลีฟ ใหม่ อยู่ตรงเป็นยานยนต์ที่ออกแบบมาเพื่อเป็นรถไฟฟ้า 100% ดังนั้น แนวคิดเริ่มต้นในการออกแบบจึงชัดเจน แม่นยำ และตอบสนองในเรื่องนี้โดยตรง ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูเฉี่ยว ล้ำสมัย สวยงาม บ่งบอกถึงนวัตกรรมในอนาคต ภายในห้องโดยสารเรียบหรู เบาะนั่งนุ่มสบาย แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือตำแหน่งเกียร์ของรถยนต์ปกติ ที่ถูกปรับใหม่ กลายเป็นปุ่มโยกสำหรับเปลี่ยนแปลงโหมดในการขับขี่ ซึ่งดูทันสมัยและสะดวกต่อการใช้งาน
ความลุ้นระทึกในใจเริ่มต้นจากตัวเลขบนแผงหน้าปัด ระบุว่าเรามีพลังงานจากแบตเตอรีชาร์จเต็ม 100% และนั่นน่าท้าทายไม่น้อยว่า เรามีพลังงานเพียงพอที่จะขับรถไฟฟ้าคันนี้ไปจนถึงยอดดอยอินทนนท์และขับกลับมายังโรงแรมที่พัก โดยไม่ต้องแวะชาร์จไฟเพิ่มเติมระหว่างเส้นทางได้หรือไม่
จากข้อมูลพื้นฐานของตัวรถ ทำให้ทราบว่าแบตเตอรีเหล่านี้ได้รับการพัฒนาและออกแบบให้มีความจุพลังงานที่ดีขึ้น แต่ยังมีขนาดเท่าเดิม โดยการปรับปรุงใหม่นี้เกิดขึ้นภายในโครงสร้างแต่ละเซลล์ของแบตเตอรีลิเธียม-ไอออนชนิดอัดซ้อน (laminated lithium-ion battery) ทำให้มีความหนาแน่นของพลังงานเพิ่มขึ้น 60% (เมื่อเทียบกับรุ่นปี 2010) นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพวัสดุขั้วไฟฟ้า และการปรับปรุงเคมีใหม่ ทำให้มีความหนาแน่นของพลังงานสูงขึ้น พร้อมกับเพิ่มความทนทานของแบตเตอรี่ ทั้งในขณะชาร์จและคลายประจุไฟ
นิสสัน ลีฟ ใหม่ ให้สัมผัสของการเดินทางที่รื่นรมย์จริง ๆ เริ่มตั้งแต่กดปุ่มสตาร์ท ด้วยความเงียบจากการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้า จากนั้น เมื่อเราเดินทางผ่านสภาพพื้นผิวถนนแบบต่าง ๆ ทำให้ตระหนักได้ถึงการออกแบบโครงสร้างและตัวถังที่ตอบสนองกับพื้นผิวการจราจรได้อย่างนุ่มนวล มีความเสถียร และให้ความรู้สึกนั่งสบาย
ระหว่างรถไต่ขึ้นไปบนเส้นทางที่ลาดชันและคดเคี้ยว กำลังของระบบขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (e-powertrain) ตอบสนองกับปลายเท้าได้อย่างทันใจ ด้วยกำลังส่งที่ 110 กิโลวัตต์ พร้อมด้วยแรงบิดที่ให้อัตราเร่งอย่างน่าทึ่ง (ข้อมูลระบุว่า อัตราเร่งจาก 0-100 กม/ชม ใช้เวลาเพียง 7.9 วินาทีเท่านั้น !) พร้อมด้วยระบบพวงมาลัยที่แม่นยำ ให้ความรู้สึกมั่นใจในการขับขี่
เราเดินทางถึงยอดดอย โดยเหลือพลังงานราว 27% เท่ากับใช้ไปราว 3/4 ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งนับว่าทำได้ดีทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางที่ไม่ปกติ และต้องใช้พลังงานมหาศาลในการไต่ขึ้นมาสู่ความสูงระดับนี้ อย่างไรก็ตาม อดลุ้นระทึกในใจไม่ได้ว่า แล้วการชาร์จพลังงานในช่วงขาลง เราจะทำได้ดีเพียงใด
หลักการพื้นฐานของการออกแบบรถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือการฟื้นฟูพลังงานไฟฟ้าขณะเบรกและชะลอความเร็ว (regenerative braking system) ซึ่งสำหรับ นิสสัน ลีฟ ใหม่ ที่มีแนวคิดในการออกแบบเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มแรก สามารถใช้ประโยชน์จากการขับขาลงจากดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีความลาดชันได้เป็นอย่างดี ด้วยการขับขี่ในโหมด “B” กล่าวคือเมื่อเราชะลอความเร็ว มอเตอร์ไฟฟ้าจะเปลี่ยนพลังงานที่สูญเสียจากการเบรก (ชาร์จกลับได้สูงสุดถึงกว่า 20%) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการขับขี่และความลาดชันของเส้นทาง ด้วยเหตุนี้เอง ทางผู้จัดงานจึงจัดให้มีการแข่งขันว่า ใครจะชาร์จพลังกลับคืนได้มากกว่ากัน !
เส้นทางขากลับ ผมยังทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ที่เป็นอุปกรณ์มาตรฐานที่มาพร้อมกับตัวรถ นั่นคือ e-pedal เป็นการขับขี่ที่ใช้เพียงแป้นคันเร่งอย่างเดียวในการออกตัว เร่งความเร็ว ชะลอความเร็ว หยุดและควบคุมตัวรถให้อยู่กับที่ ซึ่งอาจจะให้ความแปลกในช่วงแรกๆ ที่เราชินกับกับแป้นคันเร่งและแป้นเบรกในรถยนต์ทั่วไป แต่หลังจากทดลองใช้ไปสักพัก คุณจะพบว่านี่คือเทคโนโลยีที่ช่วยให้คุณขับขี่ได้สบายยิ่งขึ้น ลดความเมื่อยล้าจากการขยับเท้าบ่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ที่สภาพการจราจรไม่แตกต่างจากกรุงเทพฯ เท่าใดนัก
ในที่สุด เราก็เดินทางกลับมาถึงที่พักโดยสวัสดิภาพ โดยมีพลังงานแบตเตอรีเหลือราว 18% ซึ่งมากเพียงพอที่จะขับไปได้ไกลอีกหลายสิบกิโลเมตรด้วยซ้ำ
การได้มีโอกาสทดลองขับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า นิสสัน ลีฟ ใหม่ ไม่เพียงให้ประสบการณ์ที่มีต่อเทคโนโลยีล้ำหน้าที่สัมผัสได้จริงและใช้งานได้จริงเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งยังตอกย้ำความมั่นใจว่า ยานยนต์แห่งอนาคตที่มีความทันสมัย สะอาด ปลอดภัย ไร้มลภาวะ กำลังจะเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างไม่ต้องสงสัย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แอมเนสตี้-ภาคประชาชนร่วมฉลองวันเกิด 69 ปีอัญชัญที่ถูกขังยาว 43 ปี
22 พ.ย. 2567
เจาะเบื้องหลังความสำเร็จ: ยูนิลีเวอร์กับความเป็นเลิศด้านการผสานข้อมูลและ AI ตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล
22 พ.ย. 2567
A5 เติบโตครบ 11 ปี พัฒนาโครงการต่อเนื่องรวมมูลค่ากว่า 16,800 ล้านบาท ภายในปี 2569
22 พ.ย. 2567
แท็กที่เกี่ยวข้อง
The People
Thought
Nissan
Car
Nissan Leaf
นิสสัน ลีฟ ใหม่
Test Drive