สมชาย สุริยเสนีย์ “สุริยาหีบศพ” ธุรกิจความตาย วัน สต็อป เซอร์วิส

สมชาย สุริยเสนีย์ “สุริยาหีบศพ” ธุรกิจความตาย วัน สต็อป เซอร์วิส
คนจะจนจะรวยสุดท้ายก็เท่านี้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ปลายทางเดียวกันหมด” ขึ้นชื่อว่าโลกแห่งความตายคงไม่มีใครอยากเข้าไปยุ่ง แต่ สมชาย สุริยเสนีย์ ไม่คิดอย่างนั้น เมื่อเขามองเห็นโอกาสจากความตายตั้งแต่ยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ นำสู่การก่อตั้งธุรกิจขายโลงศพและบริการแบบวัน สต็อป เซอร์วิส ในชื่อ ‘สุริยาหีบศพ’ ที่ครองตลาดนี้เป็นเบอร์ต้น ๆ ของไทย ผลิตโลงศพให้ทุกคนแบบไม่แบ่งชนชั้น ทั้งคนยากไร้ไม่มีญาติ นักการเมืองและอดีตนายกรัฐมนตรีหลายราย มหาเศรษฐีพันล้าน ไปจนถึงบุคคลสำคัญระดับประเทศ สมชายเกิดในราว พ.ศ. 2480 ในครอบครัวคนจีน มีพี่น้อง 7 คน แต่เสียชีวิตไปคนหนึ่ง พ่อของเขาเป็นหมอรักษาโรคริดสีดวง หืด หอบ ที่สัญจรรักษาคนป่วยไปตามที่ต่าง ๆ แต่รายได้จากการรักษาแทบจะไม่เพียงพอต่อการนำมาเลี้ยงดูทุกคน สมชายซึ่งเป็นลูกคนที่ 3 จึงต้องรับผิดชอบช่วยที่บ้านหาเงินตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ซึ่งถ้าจะให้ทุกคนอิ่มท้องก็ต้องหาให้ได้อย่างน้อยวันละ 200 บาท ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่สูงมากในยุคนั้น เขาคิดหาวิธีแบ่งเบาภาระที่บ้านด้วยการรับจ้างเอาน้ำใส่ตุ่ม ซึ่งถ้าจะเดินหาบน้ำอย่างเดียวคงไม่รอด จึงเอาไม้ไปต่อกับรถให้ยาวออกมาแล้วติดล้อเพื่อให้รับน้ำหนักการบรรทุกน้ำได้เยอะขึ้น จนบรรทุกได้ครั้งละเป็นสิบหาบ เขาเริ่มตักน้ำคลองตั้งแต่ 4 ทุ่มจนถึงตี 4-5 แล้วไปใส่ตุ่มตามบ้าน คิดเงินตุ่มละ 2 บาท คืนหนึ่ง 100 ตุ่ม ก็ได้เงิน 200 บาท ตามที่ต้องการพอดี จากนั้นรุ่งเช้า เมื่อแม่ไปขายหวานเย็น เขาก็ไปช่วยหั่นช่วยแกะลูกบัว ข้าวโพด เม็ดขนุน สับปะรด ฯลฯ เท่านั้นไม่พอ ยังต้องไปช่วยแม่ซื้อผลไม้อย่าง ส้ม กล้วย หาบจากท่าเตียนมาที่ท่าช้าง แล้วข้ามฝั่งมาขายที่แผงหน้าโรงพยาบาลศิริราชซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เท่ากับว่าแต่ละวันเขามีเวลาพักผ่อนไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น และทำให้เขาไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสืออย่างเพื่อนรุ่นเดียวกัน “ตอนนั้นไม่มีเวลามาคิดว่าเราเด็กแล้วต้องรับผิดชอบขนาดนี้ คิดอย่างเดียวว่าไม่มีใคร ถึงตายก็ยอม แต่ก็มีโกรธบ้าง ทำไมใช้เราคนเดียว ไม่ใช้คนอื่นเลย เพื่อน ๆ ไปเที่ยวเสาร์อาทิตย์ ผมได้แต่ยืนดูเพราะไปไม่ได้ ต้องทำงาน แต่มาถึงตอนนี้ผมคิดได้ว่า โอ้โห...ถ้าไม่มีแม่ ผมก็ไม่มาอยู่ตรงนี้ ไม่รู้ว่าใจจะแกร่งเหมือนทุกวันนี้หรือเปล่า” สมชายเล่า พอโตมา สมชายก็เปลี่ยนไปขี่สามล้อถีบรับจ้าง ขับตุ๊กตุ๊ก รถบรรทุก รถเมล์ กระทั่งมาขับรถตู้ ที่ข้างในดัดแปลงให้เป็นเสมือนร้านขายของชำขนาดย่อม มีทั้งกะปิ น้ำตาล น้ำปลา ปลากระป๋อง ตระเวนขายไปตามถนนตรอกซอกซอยต่าง ๆ อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้ถึงเดือนละ 60,000-70,000 บาท แต่ทำได้เพียง 2 ปีก็เลิก เพราะมีข่าวว่ารถขายของถูกปล้นกันเยอะ แม้จะเป็นเวลาไม่นาน แต่ก็ทำให้เขาเก็บเงินเป็นทุนรอนได้ก้อนหนึ่ง แล้วโลกของคนเป็นก็เชื่อมโยงกับโลกของคนตายนับจากนั้น... เมื่อสมชายในวัยราว 20 ปี ไม่ได้ขับรถตู้ขายของชำ เขาจึงนำรถไปจอดไว้ด้านหลังโรงพยาบาลศิริราช แล้วเริ่มต้นอาชีพใหม่คือการ ‘วิ่งศพ’ หากมีผู้เสียชีวิตในโรงพยาบาล ครอบครัวหรือญาติพี่น้องของผู้จากไปก็มาว่าจ้างสมชายให้นำศพไปประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดหรือนำกลับไปประกอบพิธีที่บ้าน คิดราคา 150-200 บาทต่อเที่ยว ตกวันหนึ่ง 4-5 เที่ยว และเมื่อหมอที่เดินเข้าออกโรงพยาบาลศิริราชอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคุ้นหน้าสมชาย ก็เลยชักชวนให้เขาเข้าไปช่วยผ่าศพเสียเลย ซึ่งสมชายเป็นผู้ช่วยแพทย์ผ่าศพและใช้เวลาเรียนรู้ทุกทักษะการผ่าศพที่นั่นอยู่ประมาณ 6 ปี “ถ้าผ่าด้วยกันไม่กลัว แต่ถ้าหมอไม่อยู่ผมคิดเลย ตายห่า...เหลือเราคนเดียว เห็นไส้ เห็นพุง กลัวไปหมด แต่ก็เคยไปผ่าศพทหารอเมริกันที่รบกับลาว เอาศพมาไว้ที่สะพานปลาแถวเจริญกรุง เอากระดูกกับเนื้อแยกกัน เขาให้ค่าผ่าศพละ 1,500 บาท “ที่ผมหายกลัวผี เพราะวันหนึ่งผมเข้าเวรแทนเพื่อน ผมอยากฝึกใจตัวเอง ตี 4 มีเด็กคลอดแล้วเสียชีวิต ผมก็อุ้มศพที่ห่อผ้ามา เดินไปถึงห้องศพ เปิดประตูแล้วก็หยุดพักหนึ่ง ตั้งสติใหม่แล้วผลักประตูเข้าไป โอ้โห...ศพนอนอยู่ 7-8 ศพ พอถึงช่องเย็นใส่ศพ ผมก็วางศพทารกไว้ในนั้น แล้วเดินถอยหลัง มือพยายามจับประตู แต่พอจะปิดประตู ผมกลับหยุดแล้วถามตัวเองว่ากลัวอะไร เขานอนอยู่ไม่ทำอะไรเราสักหน่อย ตรงนั้นเลยทำให้ผมไม่กลัวอีก” ช่วงเดียวกับที่สมชายทำงานวิ่งศพ ก็มีญาติของผู้เสียชีวิตถามว่าทำไมถึงไม่ขายโลงศพด้วย เพราะจะได้ไม่ต้องไปหาซื้อที่อื่นให้เสียเวลา เขาจึงเช่าห้องแถวหน้าสถานีตำรวจบางกอกน้อย เดือนละ 500 บาท รับโลงศพจากเพื่อนมาขาย เช่น รับมาลูกละ 80 บาท แล้วขายลูกละ 180 บาท วันหนึ่งขายได้ 7-8 ลูก แต่ก็ไม่ได้สร้างรายได้ให้เขามากนัก เมื่อมองดูลู่ทางแล้ว สมชายเห็นว่าการขายโลงศพแบบต่อโลงขึ้นเองน่าจะประหยัดต้นทุนและทำกำไรได้มากกว่า จึงหันมาทำธุรกิจดังกล่าวแทนการซื้อมาขายไป สมชายเปิดร้านขายโลงศพแถวพรานนกซึ่งอยู่ไม่ไกลจากศิริราชอยู่หลายปี แต่แล้ววันหนึ่งเกิดความไม่ลงรอยกันในครอบครัว ท้ายสุดเขาจึงต้องย้ายออกจากพรานนก (ปัจจุบันที่นี่ใช้ชื่อว่า สุริยาหีบศพ พรานนก ศิริราช) ไปสร้างร้านใหม่ที่ย่านแคราย จ.นนทบุรี ด้วยเงินติดตัวเพียง 5,000 บาท ‘สุริยาหีบศพ’ ภายใต้ บริษัท สุริยา ฟิวเนอรัล จำกัด จึงเกิดขึ้นในปี 2521   “ที่ใช้ชื่อว่า ‘สุริยา’ มาจากตอนที่ผมขับรถบรรทุก ผมรับแม่ค้าตั้งแต่ 4 ทุ่มถึง 4 โมงเช้า (10.00 น.) เริ่มตั้งแต่ไปปลุกเขาเลย ผมไปกู่ให้เขาได้ยินว่าเรามาแล้ว ผมทำกลางคืนยันเช้าจนเห็นพระอาทิตย์ขึ้น ก็เลย ‘สุริยามาแล้ว’” เขาอธิบายถึงที่มาของชื่อ ถึงจะมีประสบการณ์การทำธุรกิจโลงศพมาก่อน แต่การปักหลักในทำเลใหม่ก็ไม่ง่าย เพราะเหมือนต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เขาต้องขอซื้อโลงศพจากเพื่อน ขายได้เมื่อไหร่ก็ค่อยทยอยส่งเงินให้ แถมยังลำบากถึงขั้นขายได้แค่เดือนละ 1 ลูกเท่านั้น สมชายจึงต้องหาทางรอดด้วยการขายขนมจีบ ซาลาเปา ข้าวต้ม หนังสือพิมพ์ เพื่อประทังทุกชีวิตที่ดูแลให้อยู่รอด เขาสู้ฝ่าฟันบททดสอบชีวิตอยู่พักใหญ่ กระทั่งลูกค้าเริ่มคุ้นชื่อสุริยาหีบศพ ทุกอย่างจึงดีขึ้น สมชายเคยให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจของเขาที่ทุกวันนี้ครอบคลุมโลกของความตายแบบครบวงจร ส่วนใหญ่จะเกิดจากคำถามของลูกค้า ตั้งแต่ขับรถตู้วิ่งศพที่ลูกค้าถามถึงโลงศพ เขาก็เริ่มขายโลงศพ พอขายโลงศพแล้ว ลูกค้าก็ถามว่าไม่ขายดอกไม้ด้วยหรือ มีรับฉีดยา อาบน้ำศพ แต่งตัวศพ ทำพิธีบรรจุ ขอขมาลาโทษ ฯลฯ ด้วยหรือเปล่า ทำให้สมชายต้องพัฒนาธุรกิจอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้รับกับความต้องการของลูกค้า อย่างการจัดดอกไม้งานศพ พอลูกค้าถามถึง เขาก็ไปปากคลองตลาดหาช่างมาสอนจัดดอกไม้ให้ลูกของเขาและลูกน้องในร้านให้สามารถจัดดอกไม้ได้ทุกรูปแบบ ทั้ง ดอกไม้หน้าศพ ดอกไม้กระเช้า ดอกไม้แจกัน พวงหรีด หรือพอมีคนถามถึงการดูหมอ ดูฤกษ์ ดูยาม เขาก็ช่วยดูให้ เพราะเคยได้รับความเมตตาจากพระผู้ใหญ่มอบตำราให้นำมาศึกษา โดยมีเงื่อนไขเดียวคือต้องไม่ใช้ตำรานั้นในทางที่ผิด [caption id="attachment_14332" align="aligncenter" width="1824"] สมชาย สุริยเสนีย์ “สุริยาหีบศพ” ธุรกิจความตาย วัน สต็อป เซอร์วิส โลงศพและการตกแต่งดอกไม้อย่างสวยงามของสุริยาหีบศพ (ภาพจาก https://www.facebook.com/suriyacoffin/photos/a.641777245837036/3110427805638622/?type=3&theater)[/caption] สุริยาหีบศพมีโลงศพให้เลือกหลากหลายแบบ เช่น โลงศพเทพพนม โลงศพสติ๊กเกอร์มุกทอง โลงศพผ้าตาดทองย่น โลงศพทรงธรรม โลงศพคริสต์ โลงศพจำปา โลงศพปรับอากาศ โลงศพกระจกมุก เป็นต้น ซึ่งทุกแบบจัดทำอย่างประณีตเพื่อให้เกียรติผู้วายชนม์ ข้างในสามารถเลือกได้ว่าจะบุผ้าแบบใด เช่น ผ้านวม ผ้าต่วน หรือผ้าต่วนลายจีน ส่วนไม้ที่นำมาประกอบโลงศพ เมื่อก่อนนิยมใช้ไม้เนื้อแข็ง อย่าง ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้หูควาย ไม้มะยมหิน แต่ปัจจุบันสุริยาหีบศพใช้ไม้เอ็มดีเอฟ ไม้ปาร์ติเกิล และไม้สัก สนนราคาของโลงศพที่นี่เริ่มตั้งแต่พันต้น ๆ ไปจนถึงหลายล้านบาท ร่างของบุคคลผู้มีชื่อเสียงในหลายวงการ ล้วนเคยผ่านการดูแลโดยสมชายและสุริยาหีบศพมาแล้ว เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร และนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร รองนายกรัฐมนตรี นายสนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มารดาของธงไชย แมคอินไตย ศิลปินชื่อดัง และบุคคลสำคัญระดับประเทศอีกไม่น้อย เมื่อลูก ๆ ทั้ง 8 คนของสมชายจบการศึกษา ก็เริ่มเข้ามาช่วยสานต่อสุริยาหีบศพให้ก้าวหน้า จากสาขาแรกที่แคราย สุริยาหีบศพก็ขยายออกไปหลายสาขา ให้ลูก ๆ แต่ละคนแบ่งกันดูแล พร้อมจัดแพ็คเกจและโปรโมชันเพื่อให้ลูกค้าเลือกใช้บริการได้สะดวกขึ้น ซึ่งแต่ละแพ็คเกจ หลัก ๆ ประกอบด้วย บริการรถรับส่ง ชุดดอกไม้รดน้ำศพ อุปกรณ์เชิญวิญญาณ ดอกไม้จันทน์ ดอกไม้หน้าศพ โลงศพ ฯลฯ เป็นต้น โดยราคาจะขยับไปตามความประณีตและปริมาณของผลิตภัณฑ์ในแพ็คเกจ ทั้งยังขยายธุรกิจไปสู่การรับส่งศพทั่วโลก ในชื่อ ‘สยาม ฟิวเนอรัล’ ภายใต้การดูแลของ วิโรจน์ สุริยเสนีย์ ลูกชายของสมชายซึ่งจบปริญญาโทจากนิด้า ที่นำความรู้ด้านการบริหารธุรกิจมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของครอบครัวในยุคที่การแข่งขันทุกอย่างมาแรง ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจความตาย ชูจุดเด่นที่ความรวดเร็วในการรับส่งศพทั่วโลก และดูแลทุกขั้นตอนอย่างให้เกียรติผู้ตายมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ลูกค้าทุกรายต้องการเป็นลำดับต้น ๆ  ผมเคยเล่นดนตรี เป็นนักดนตรีมาก่อน เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ได้เงินเดือน 12,000 ก็ถือว่าเยอะ เตี่ยบอกกูขายหีบใบเดียวได้เท่าเงินเดือนมึงเลย ผมเลยกลับมาช่วยเตี่ย เพราะธุรกิจนี้มั่นคงที่สุดแล้ว ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขึ้นหรือลง ธุรกิจงานศพได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะเป็นของที่ต้องใช้ เราไม่ได้ไปทำให้คนเขาตายมากขึ้น แต่การบริการที่ดีจะทำให้ลูกค้าประทับใจ และหากมีโอกาสเขาก็อาจกลับมาใช้บริการของเราอีก” วิโรจน์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ แม้ทุกวันนี้สมชายจะสร้างฐานะขึ้นมาจนมั่นคง แต่เขาก็ไม่ลืมที่จะให้คืนสู่สังคม บ่อยครั้งที่สมชายให้โลงศพแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ กับผู้ที่มาขอหากเป็นผู้ที่ยากไร้ขัดสนจริง ๆ และการช่วยเหลือในบางคราวยังรวมถึงการช่วยฉีดยารักษาศพ ช่วยงานสวดศพ อีกด้วย “หลักในการทำธุรกิจของผมคือต้องซื่อสัตย์ และอย่ามองคนอื่นว่าต่ำกว่าเรา ต้องมองเขาเป็นลูกค้า เป็นคนที่มาช่วยเรา ต้องนอบน้อมถ่อมตน คนจะจนจะรวยสุดท้ายก็เท่านี้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ปลายทางเดียวกันหมด” คือข้อคิดในการทำธุรกิจกับความตายของ สมชาย สุริยเสนีย์   ที่มา https://www.suriyafuneral.com/ นิตยสาร Forbes Thailand https://www.sarakadee.com/2010/10/11/suriyacoffin/