read
social
22 พ.ย. 2562 | 17:49 น.
กมลนันท์ เจียรวนนท์ เยาวชนผู้เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ เพื่อเด็กกำพร้า และคนไร้สัญชาติ
Play
Loading...
จำได้ไหมว่าพวกเราทำอะไรกันเมื่อตอนอายุ 13 ปี สำหรับเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ในช่วงวัยนั้น เธอได้มีโอกาสไปเลี้ยงเด็กด้อยโอกาส ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ด้วยตัวเธอเอง
“พลังที่ยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่ยิ่ง”
แม้ว่า
'ฟ่ง-กมลนันท์ เจียรวนนท์'
จะเป็นเพียงแค่ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่อาจไม่ได้มีพลังพิเศษเหมือนเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ผู้คอยช่วยโลก แต่การที่เธอได้นำเอาปัญหาหลายอย่างที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เด็กกำพร้า คนไร้สัญชาติ ขึ้นไปพูดบนเวทีระดับโลกอย่าง One Young World เพื่อปลุกพลังและส่งต่อความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ไปยังเยาวชนคนรุ่นใหม่ทั่วโลก ให้ได้รับรู้และเข้าใจร่วมกัน นั่นก็ไม่ต่างอะไรจากการกอบกู้โลกด้วยสองมือเล็ก ๆ ที่เธอมีอยู่
อาจเพราะเธอมีความเชื่ออยู่เสมอว่า โชคดีที่ตัวเองได้เกิดมาพร้อมโอกาสมากมายกว่าใครอีกหลายคน ซึ่งความรับผิดชอบที่เธอคิดว่าตัวเองต้องแบกรับคือ การแบ่งปันโอกาสเหล่านั้นไปยังคนอื่นต่อไป กระทั่งยอมเอาตัวเองเข้าเสี่ยงแม้อาจทำให้เธอต้องเข้าไปอยู่ในคุกก็ตาม !!
ชวนมารู้จัก
‘ฟ่ง-กมลนันท์’
เยาวชนที่ขึ้นพูดในเวทีระดับโลกอย่าง One Young World ที่ตอนนี้เป็นประธานมูลนิธิ ธนินท์ เทวี เจียรวนนท์ และผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Voices Foundation for Vulnerable Children กันให้มากยิ่งขึ้น ผ่านบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ ว่าอะไรคือจุดเริ่มต้นแทนที่เธอจะเลือกทำธุรกิจเหมือนอย่างคนอื่นในครอบครัว กลับเดินบนเส้นทางเพื่อช่วยเหลือสังคม เพื่อให้คนตระหนักถึงคุณค่าความเท่าเทียมกันของผู้คน
The People :
จุดเริ่มต้นที่ทำให้มาช่วยเหลือสังคมคืออะไร
กมลนันท์ :
จุดเริ่มต้นน่าจะมาจากวันเกิดฟ่ง แล้วคุณแม่พาไปทำบุญ ไปเลี้ยงเด็กพิการซ้ำซ้อนที่บ้านเฟื่องฟ้า (สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนและพิการทางสมองและปัญญา) ก่อนไปก็ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอไปเห็นจริง ๆ แล้วก็ตกใจว่าทำไมมีเด็กอ่อนพิการเยอะมาก จำได้เลยว่าที่นั่นเป็นอาคารใหญ่มาก แล้วมีมุมหนึ่งเป็นเด็กอ่อนตาบอด ตอนนั้นเหมือนมีคนดูแลไม่พอ หรืออะไรก็ตาม ทำให้มีเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่คลานอยู่บนพื้นแล้วร้องไห้ เราคิดว่าอาจเพราะว่าเขาได้ยินเสียงเด็กคนอื่น ๆ อยู่เยอะ แต่เขามองใครไม่เห็น แล้วไม่รู้เป็นเพราะสัญชาตญาณหรือเปล่าที่ทำให้ฟ่งอุ้มเขาขึ้นมา พออุ้มเขาก็เงียบไป ตอนนั้นไม่รู้ว่าเราอุ้มเด็กถูกท่าหรือเปล่า แต่ว่ามันเกิดขึ้นเร็วมาก เราเอาเขามาซบบนไหล่ ยังไม่ได้ป้อนนมหรือกล่อม แต่เขาก็หลับไปเลย เหมือนกับว่าเขาแค่ต้องการใครสักคน ไม่ให้รู้สึกเหมือนอยู่เพียงคนเดียว แล้วการที่เราไปอุ้มทำให้เขารู้สึกว่าเราสามารถดูแลเขาได้ เขาเลยหลับน้ำลายไหลลงไหล่เลย (หัวเราะ)
การที่เด็กหลับสนิทจนน้ำลายไหล ฟ่งว่ามันหมายถึงการที่เด็กสบายใจแล้วหลับลึกจริง ๆ ในจุดนั้นตัวเราเองซึ่งอาจไม่ได้เป็นคนเรียนเก่งมาก แต่สิ่งที่เราทำได้คือทำให้เด็กคนนี้รู้สึกดีขึ้นได้ รู้สึกปลอดภัยขึ้นมาได้ หลังจากวันนั้นเองฟ่งก็รู้สึกว่าอยากจะทำอย่างนั้นต่อไป ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งฟ่งและเพื่อนชื่อ สวรินทร์ ภุมริทร์ จะได้ก่อตั้งองค์กรของตัวเองขึ้นมาเพื่อทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ รู้แค่ว่าเราอยากจะเลี้ยงเด็กแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
ส่วนหนึ่งที่อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน แต่จริง ๆ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องคือ การที่ฟ่งได้เห็นมาตลอดว่า คุณปู่ คุณพ่อ คุณอา และน้า ๆ ในครอบครัว พวกเขาได้ช่วยเหลือสังคมมาตลอดอย่างไร สิ่งที่ทำอาจไม่ใช่งานหลักของพวกเขา เป็นสิ่งที่เขาทำช่วงที่ว่างเว้นจากการทำธุรกิจ หรือเวลาทำธุรกิจเอง ถ้ามีโอกาสก็จะแบ่งมาช่วยเหลือสังคมอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนตัวฟ่งเหมือนจะเชื่อมโยงกับทางฝั่งสังคมมากกว่าฝั่งธุรกิจ มันอาจเกิดจากการที่เราได้เห็นสิ่งที่พวกเขาได้ทำ แล้วได้เรียนรู้จนเลือกเองว่านี่คือทางที่เราคิดว่าเหมาะสมแล้วเรารักมากที่สุด
The People : เคยเลี้ยงเด็กไปแล้วกี่คน
กมลนันท์ :
ไม่รู้เลยค่ะ (หัวเราะ) น่าจะเยอะพอสมควร เพราะว่าช่วงหลัง ๆ ตั้งแต่ไปเรียนมหาวิทยาลัย ก็มีเด็กใหม่ ๆ เข้ามาตลอด มีเด็กอ่อนมาอยู่บ้านพักฉุกเฉินเรื่อย ๆ เราเห็นว่าปัญหาไม่ได้เล็กลง ยังมีเข้ามาใหม่ไม่หยุด เด็กที่เราเคยเลี้ยงดูคนที่หน้าเดิม ๆ ก็ยังอยู่ บางคนก็ได้ไปศูนย์ต่อไป เพราะเราเริ่มต้นที่เด็กอ่อน แล้วก็ทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว เด็กกลุ่มแรกที่เคยเลี้ยง ตอนนี้อายุก็แค่ 10 ขวบเอง ก็น่าจะอีกยาวไกลกว่าจะถึงจุดที่เราช่วยเด็กได้ทุกคน
The People :
จากเด็กอ่อนทำไมถึงได้มาสู่ประเด็นคนไร้สัญชาติ
กมลนันท์ :
ตอนนั้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มเด็กอายุ 14 ขวบ ได้รับรู้เรื่องผู้หญิงที่โดนทารุณกรรม โดนทำร้าย แต่ว่าที่แม่สอด (จ.ตาก) ไม่เหมือนที่กรุงเทพฯ เขาต้องการความช่วยเหลือมาก แล้วก็ไม่มีอคติมากกับเด็กอายุ 14 ขวบ เราก็เลยได้ไปแม่สอดเพื่อเยี่ยมเด็ก และผู้หญิงไร้สัญชาติที่อาจเคยโดนทำร้าย โดนการค้ามนุษย์
ตอนนั้นเป็นจุดเริ่มที่ได้เปิดหูเปิดตาเรียนรู้เรื่องคนไร้สัญชาติ จากตอนแรกที่เราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าคนไร้สัญชาติแตกต่างจากผู้อพยพอย่างไร ทำไมเขาถึงไร้สัญชาติ พอได้มีโอกาสนั่งคุยกับผู้หญิงไร้สัญชาติผ่านล่ามว่าเขามาอยู่เมืองไทยได้อย่างไรก็เข้าใจมากขึ้น หนึ่งในคนที่ได้คุยคือ Sunshine เป็นผู้หญิงที่ฟ่งเรียกชื่อนี้เพราะไม่อยากให้ใช้ชื่อจริงของเธอ จำได้ว่าก่อนไปถึงแม่สอด ฟ่งรู้สึกตื่นเต้นเพราะไม่รู้ว่าจะเจอคนแบบไหน เขาจะยิ้มแย้มไหม หรือจะหวาดระแวงเราไหม แต่พอได้เจอ Sunshine เดินขึ้นมาในห้อง ภาพแรกที่เห็นคือเธอยิ้มให้เราแบบรอยยิ้มสดใส เธอดูตื่นเต้นมีความสุขมาก เราเลยตั้งชื่อเธอว่า Sunshine เพราะภาพจำแรกในวันนั้น เธอเหมือนกับ sunshine (แสงอาทิตย์) จริง ๆ ทั้งที่ในชีวิตจริงของเธอกลับมืดมนมาก แต่พอได้เจอตัวจริงของเธอแล้วแทบดูไม่ออกเลย ฟ่งเลยรู้สึกว่ารอยยิ้มของเธอมีพลังมาก ๆ
เธอได้พูดคุยเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า เคยโดนพี่เขยทำร้ายทารุณกรรมมานาน 6-7 ปี กว่าจะหนีออกมาได้ พอหนีออกมาที่ชายแดนพม่ากับไทยก็ยังโดนทหารข่มขืนอีก กว่าจะมาเจอที่พักพิง เธอผ่านอะไรมามากมายเหลือเกิน เธอยังเล่าให้ฟังว่ามีแฟนคนหนึ่งที่ช่วยชีวิตเธอจากพี่เขย เพราะว่าตอนนั้นพี่เขยข่มขืนจนไม่รู้ว่าจะหนีออกจากตรงนั้นได้อย่างไร พอมีแฟนพี่เขยก็หยุดข่มขืนเธอ แต่กลับเป็นแฟนคนนี้ที่ทุบตี ทำร้ายเธอแทน แต่ Sunshine บอกว่าสำหรับเธอแล้ว อย่างไรก็ดีกว่าการโดนข่มขืน พอได้ฟังแบบนั้นก็รู้สึกสะเทือนใจมาก ๆ เพราะไม่เข้าใจว่านั่นหรือคือคำว่า ‘รัก’ สำหรับเธอ คำว่า ‘ช่วยชีวิต’ คือการแค่ทำให้พี่เขยหยุดข่มขืน แต่พอรักแล้วกลับทุบตีเธอได้ ตอนนั้นฟ่งเป็นเด็ก ๆ ยังอยากรู้อยากเห็นเลยถามต่อว่า แล้วตอนนั้นรักเขาไหม Sunshine ตอบว่ารัก ที่รักเพราะว่าถ้าไม่มีเขาแล้วไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร จะรอดมาได้อย่างไร
ตอนนั้นเราเป็นเด็กที่ยังดูการ์ตูน อ่านนิยาย ไม่รู้เลยว่าคำว่ารักมันจะเปรียบเทียบในแบบนั้นก็ได้ เราเลยรู้สึกว่าอยากให้วันหนึ่งเธอได้รู้ว่ารักแท้เป็นอย่างไร สิ่งที่เธอเชื่อว่ามันคือความรักในโลกใบนี้ ยังมีอยู่อีกมากมายยิ่งกว่านั้น วันเดียวกัน Sunshine ก็ได้พาฟ่งไปเจอลูกชายเธอที่ตอนนั้นน่าจะยังอายุไม่ถึงขวบ เป็นเด็กอ่อนซึ่งเกิดมาจากการข่มขืน แล้วเกิดมาโดยที่ปอดไม่เต็มร้อยเพราะว่า Sunshine เคยสูบบุหรี่เยอะช่วงที่ตั้งท้อง เพราะตอนนั้นเธอเองไม่รู้ว่ามันส่งผลกระทบต่อลูกในท้องแค่ไหน อีกทั้งตอนแรก ๆ เธอยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าท้อง ลูกเลยเกิดมาด้วยร่างกายที่ไม่แข็งแรง วันที่ไปลูกเธอร้องไห้ มีไข้ขึ้น แล้วหายใจไม่ค่อยออก ไอเยอะมาก ฟ่งก็ถามว่าทำไมยังไม่พาไปหาหมอ พี่ที่ดูแลบอกว่าคนไร้สัญชาติพาไปหาหมอไม่ได้ เพราะว่าไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีบัตรประชาชน ดีที่สุดที่ช่วยได้คือการพาไปคลินิกที่อยู่ใกล้ ๆ บ้านพัก พอไปถึงคลินิกก็เจอแค่ตู้ยาเล็ก ๆ ตู้เดียว ในนั้นมียาพื้นฐานแค่ยาแก้แพ้ แก้ปวด พลาสเตอร์ยา
พอเราเห็นแบบนั้นก็ยิ่งรู้สึกว่าคนไร้สัญชาติขาดแม้กระทั่งสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ขาดโอกาส ขาดเงิน ขาดการศึกษาที่ดี แต่ขาดทุกอย่างที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับ ทำให้ตอนแรกจากที่อยากดูแลแค่เรื่องเด็กกำพร้า ก็เลยอยากมาช่วยคนไร้สัญชาติด้วย พอตอนหลังเลยได้ไปเรียนต่อปริญญาตรีที่ New York University ด้าน social work และ social entrepreneurship แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ด้าน education development
The People :
ได้ช่วยเหลืออะไรบ้าง
กมลนันท์ :
ตอนเด็ก ๆ เวลาจะทำกิจกรรมช่วยเหลือ เราได้ถามองค์กรที่ดูแลเด็กไร้สัญชาติแต่ละองค์กรว่ามีความต้องการอะไรบ้าง เราก็จัดโครงการระดมทุนขึ้นที่โรงเรียน มีคอนเสิร์ตระดมทุน พอได้ทุนแล้วก็เอาไปซื้อสิ่งของที่แต่ละองค์กรต้องการ เพราะฟ่งเชื่อมาตลอดว่า แต่ละที่เขารู้ดีที่สุดว่าเด็ก ๆ ของเขาต้องการสิ่งของอะไร ถ้าเราคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าแล้วซื้อของไปบริจาคเอง เขาอาจไม่ต้องการสิ่งของพวกนั้นก็ได้ เราเลยคอยถามทุกปีว่าปีนี้ขาดแคลนอะไร เราช่วยสนับสนุนตรงไหนได้บ้าง ส่วนใหญ่เราช่วยในสิ่งของพื้นฐานอย่างเช่น ยารักษาโรค ยาสีฟัน แปรงสีฟัน สำหรับผู้หญิงก็พวกผ้าอนามัย ผ้าอ้อมสำหรับเด็กอ่อน นมผง อีกอย่างที่เราพยายามสนับสนุนคือ ทุนการศึกษา เพราะว่าโรงเรียนโดยทั่วไปไม่ค่อยมีทุนการศึกษาสำหรับเด็กไร้สัญชาติ เพราะเด็กไร้สัญชาติไม่มีบัตรประชาชน เหมือนกับว่าไม่มีอะไรเลยที่จะพิสูจน์ได้ว่าพวกเขามีตัวตนอยู่ ไม่มีตัวตนในทางกฎหมาย โรงเรียนหลาย ๆ แห่งเลยไม่มีโครงการ หรือไม่มีโอกาสที่จะเอาเด็กกลุ่มนี้ไปยื่นขอทุนการศึกษาเพิ่มกับรัฐบาล บางโรงเรียนบอกว่าอยากรับเด็กไร้สัญชาติกลุ่มนี้ แต่ค่าใช้จ่ายที่ได้มาตอนนี้มีน้อยมาก เฉพาะแค่เด็กไทยที่รับไว้ก็ไม่เพียงพอแล้ว ถ้าแบ่งไปให้เด็กไร้สัญชาติยิ่งจะน้อยลงไปอีก
The People :
สิ่งที่ได้พบเห็นทำให้ตัดสินใจไปพูดปัญหานี้ที่ One Young World?
กมลนันท์ :
ที่ตัดสินใจขึ้นพูดที่ One Young World เพราะว่าคนไร้สัญชาติไม่ได้มีกระบอกเสียงเหมือนกับชุมชนอื่น ๆ เพราะในแต่ละประเทศพวกเขาอาศัยอย่างผิดกฎหมาย ถ้าพวกเขาออกมาพูดกับสื่ออาจทำให้ถูกจับก็ได้ พวกเขาเลยเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีโอกาสแม้จะต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ฟ่งเองทำงานเพื่อช่วยคนไร้สัญชาติ รู้สึกว่าถ้ากฎหมายยังไม่ออกมารับรองให้พวกเขาพูดเพื่อตัวเองได้ ในฐานะที่เราสามารถพูดแทนพวกเขาได้ เราก็ควรพูดแทนพวกเขา
ตอนได้ไปร่วมงาน One Young World 2014 พวกผู้นำโลกต่างก็ตอบคำถามฟ่งไม่ได้ว่า เราจะมีวิธีช่วยคนไร้สัญชาติได้อย่างไร ฟ่งคิดว่าการที่พวกเขาตอบไม่ได้ อาจเพราะไม่มั่นใจเรื่องที่มาของคนไร้สัญชาติที่แตกต่างจากผู้อพยพทั่วไป แล้วจะมีวิธีการช่วยเหลือคนไร้สัญชาติอย่างไร ฟ่งเลยถือโอกาสตอน One Young World 2015 เปิดประเด็นพูดคุยเรื่องคนไร้สัญชาติ เพื่อให้คนหันมามองแล้วเข้าใจปัญหาของคนไร้สัญชาติมากยิ่งขึ้น
The People :
ทำไมถึงมาแก้ไขปัญหาที่แทบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของตัวเองเลย
กมลนันท์ :
ฟ่งเชื่อว่าการที่โชคดีเกิดมาแล้วได้รับการศึกษาที่ดี มีครอบครัวที่คอยสนับสนุนเราตลอดมาทั้งชีวิต ไม่ต้องเลือกทำงานที่ได้เงินเดือนดี ๆ เพื่อช่วยเหลือครอบครัว ช่วยให้เราไม่ต้องห่วงหลาย ๆ เรื่องเวลาตัดสินใจจะทำอะไรที่เสี่ยง ฟ่งเลยรู้สึกว่าถ้าเราเกิดมาสบายแบบนี้ เราไม่ควรมองข้ามคุณค่าของสิ่งที่เรามีอยู่ เพราะไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสทำงานที่เสี่ยงแบบนี้
ถ้าเป็นคนอื่น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การช่วยคนไร้สัญชาติที่อาจเสี่ยงติดคุกเพราะยังไม่ถูกกฎหมาย ถ้าคนที่ช่วยติดคุกเกิดเป็นเสาหลักของครอบครัว ใครจะดูแลครอบครัวเขาต่อ ส่วนฟ่งไม่ต้องห่วงเรื่องแบบนี้ ฟ่งควรเป็นคนที่เข้ามารับความเสี่ยงตรงนั้นแทน แล้วถ้าเราเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่ถูกต้อง การที่อาจต้องเข้าคุกสักครึ่งวัน หรือว่าวันหนึ่ง แต่ว่าช่วยทำให้ทุกคนหันมามองเรื่องคนไร้สัญชาติได้ว่าทำไมการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เหมือนกันต้องติดคุก ฟ่งคิดว่าฟ่งยอมเสี่ยง แล้วถ้าต้องติดคุกจริง ๆ ก็จ่ายค่าประกันตัวออกจากคุกได้ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสแบบนั้น ถ้าเรามีโอกาสก็ควรทำมันให้ดีที่สุด ส่วนมากที่ฟ่งเจอทั้งในเมืองไทยและในต่างประเทศ ยังไม่มีโอกาสมากขนาดนี้ เพราะยังมีครอบครัวที่ต้องดูแล ส่วนฟ่งครอบครัวสนับสนุนให้ทำเรื่องนี้ได้ มีครอบครัวที่คุณพ่อคอยสนับสนุนให้เราทำงานแบบนี้ได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้ชื่อเสียงของเขาดูไม่ดี ตัวคุณพ่อเองก็เชื่อว่า การที่เราช่วยคนไม่ควรจะผิดกฎหมาย แล้วถ้าหากเกิดผิดกฎหมาย บางทีอาจเป็นกฎหมายเองที่ควรปรับเปลี่ยน ถ้าวันนี้เราไม่ช่วยแล้วใครจะช่วย จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กไร้สัญชาติเหล่านี้ พวกเขาอาจจะเป็นคนไทยเหมือนกับเราก็ได้ใครจะไปรู้
The People :
ไม่ได้ถูกเลี้ยงมาแบบเป็นไข่ในหิน?
กมลนันท์ :
ไม่เลยค่ะ คุณแม่ตั้งใจเลี้ยงฟ่งกับพี่น้องให้เปิดหูเปิดตาเรื่องสังคมและโลกมาตลอด ไม่เคยปิดกั้นให้อยู่แค่ในโลกที่สบาย ๆ อยู่แค่ในบ้าน อย่างวันเกิดก็จะพาไปเลี้ยงเด็กด้อยโอกาส บางทีพอคุณแม่ดูข่าวเรื่องเด็กโดนทำร้าย เด็กกตัญญูที่สู้ชีวิตเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ก็มาเล่าให้เราฟังตลอดว่าโลกในความเป็นจริงเป็นอย่างไรบ้าง ฟ่งโชคดีด้วยที่ทางครอบครัวของคุณแม่เกือบทุกคนทำงานด้านการช่วยเหลือสังคม เพราะทางครอบครัวคุณแม่ต่างจากทางครอบครัวคุณพ่อนิดหนึ่งตรงที่ไม่ได้โตมาเป็นนักธุรกิจทุกคน พี่น้องคุณแม่เป็นเด็กทุนกันเกือบทุกคน ทุกคนพยายามจนได้ทุนไปเรียนต่างประเทศ บางคนเป็นครู เป็นที่ปรึกษาบ้าง พวกเขาเลยพยายามสอนให้เราติดดิน ให้เข้าใจคนหลายแบบ ตอนเด็ก ๆ คุณยายก็พาไปสวนลุม พาไปจ่ายตลาด ฟ่งเลยได้เจอคนมากหน้าหลายตา เพราะฟ่งมีทั้งฝั่งคุณพ่อและคุณแม่ที่ไม่เหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดแข็งของพวกเขา ทำให้ฟ่งเป็นฟ่งในทุกวันนี้ ฟ่งได้เรียนรู้การเป็นผู้นำ ความกตัญญู การทำงานหนักมาจากฝั่งคุณพ่อ ส่วนทางครอบครัวคุณแม่เป็นตัวอย่างให้เห็นเรื่องการช่วยเหลือสังคม เรื่องการที่ทุกคนทำงานหนักไม่ว่าจะเกิดมาสบายหรือไม่ ถ้าเราสู้ชีวิตได้ทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน
The People :
ถ้าเป็นไปได้อยากให้โลกในวันพรุ่งนี้ของเราเป็นอย่างไร
กมลนันท์ :
ฟ่งอยากให้โลกของพวกเราทุกคนบนโลกนี้ไม่ discriminate กัน (ไม่เหยียดหยามกีดกันผู้ที่ต่างจากเรา) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ เรื่องสีผิว เรื่องอะไรก็ตาม ฟ่งอยากให้คนมองกันเป็นคนมากกว่าจะมองแค่สัญชาติ หรือเป็นใครมาจากไหน ครอบครัวคือใคร จนรวย หรืออยู่กลาง ๆ ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน
ฟ่งได้เรียนรู้การที่จะลดช่องว่างนี้จากครั้งสุดท้ายที่ได้เจอกับ Sunshine จำได้ว่าช่วงนั้นฟ่งกำลังมีเรื่องสับสนในชีวิต ซึ่งเปรียบเทียบกับปัญหาที่ผ่านมาในชีวิตของ Sunshine ไม่ได้เลย เราไม่ได้พูดภาษาเดียวกัน ต้องพูดคุยกันผ่านล่ามตลอดเวลา แต่เหมือนกับ Sunshine มองตาฟ่งแล้วรู้สึกได้ว่าช่วงนี้ฟ่งไม่ค่อยสบายใจ จำได้เลยว่าก่อนกลับ Sunshine กอดฟ่งนานมาก ตอนนั้นฟ่งรู้สึกได้ว่าเราต่างรู้สึกถึงกันได้ แม้สิ่งที่เกิดกับเธอมันหนักกว่าของฟ่งเป็นร้อยเป็นพันเท่า แต่ว่าความรู้สึกของมนุษย์อย่างไรก็เหมือนกันทุกคน มีหัวใจเหมือนกัน มีความรู้สึกสุข ทุกข์ สับสน เจ็บปวด เหมือนกัน
หลังจากวันนั้นเอง เมื่อได้ไปเรียนต่อต่างประเทศฟ่งจะมองว่า ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะมาจากชาติไหน สีผิวอะไร พื้นเพครอบครัวจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราทุกคนมีความรู้สึกเหมือนกัน เรามีความรู้สึกเหมือนคนอื่น เราไม่ควรอยู่แต่ในโลกและสังคมเล็ก ๆ ที่คนอื่นอาจคิดว่าเราควรอยู่ เราควรเปิดตัวเองให้ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับคนหลากหลายแบบ อยากฝากให้ทุกคนพยายามลดช่องว่าง อย่าเอาความแตกต่างของเราไปตัดสินคนอื่น ความจริงสังคมไทยพัฒนาเร็วมากในเรื่องที่ดี โดยธรรมชาติคนไทยชอบช่วยเหลือคนอื่น ทุกคนอยากช่วยเหลืออยากแบ่งปันกัน ทุกวันนี้สังคมไทยยอมรับในเรื่องความแตกต่าง คนเพศเดียวกันรักกัน เริ่มยอมรับในการช่วยเหลือผู้อพยพ เปิดใจช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติ แต่กฎหมายยังตามไม่ทัน ยังคงมีข้อจำกัดอยู่
The People :
ความรู้สึกที่ได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดกับผู้นำเยาวชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกใน One Young World?
กมลนันท์ :
One Young World เป็นองค์กรที่มีคนจาก 196 ประเทศทั่วโลก มาจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ กลุ่มคนที่อยู่ในองค์กรเพื่อการศึกษา คนที่ดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน NGOs ซึ่งทุกคนต่างก็อยากใช้สิ่งที่ตัวเองมีอยู่มาช่วยเหลือโลก แล้วทุกคนก็มารวมตัวกันที่ One Young World ฟ่งเลยเชื่อว่างานประชุม One Young World จะให้แรงบันดาลใจกับทั้งคนทั่วไปและเยาวชนในรุ่นฟ่งที่อยากช่วยเหลือสังคมและประเทศที่ตัวเองอยู่ให้ไปถึงอีกระดับหนึ่ง ตอนแรก ๆ ที่ฟ่งได้เข้าร่วม One Young World ฟ่งมีแค่มูลนิธิ Voices (Voices Foundation for Vulnerable Children) เป็นองค์กรเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งกับเพื่อน ๆ แต่เราไม่รู้เลยว่าคนทั่วโลกเขากำลังลงมือทำอะไรกันอยู่ เวลาเดียวกันอาจมีบางคนที่ทำงานคล้าย ๆ กับเรา แล้วช่วยสอนให้เราไปไกลกว่านี้ได้
One Young World เลยทำให้เราได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา ได้เรียนรู้จาก best practice ของผู้คนจากทั่วโลกได้ เพื่อที่จะนำความรู้นั้นมาพัฒนาประเทศตัวเอง อย่างฟ่งตอนแรกก่อนไป One Young World เริ่มจะหมดแรงบันดาลใจ แล้วเมื่อได้ฟังคนอื่นพูดเรื่องที่เขาเคยทำอะไรมาบ้าง ก็เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาทันที เราได้รับรู้ว่าปัญหาโลกนี้มีอะไรบ้างที่เพิ่มเติมจากปีที่แล้ว ในปีนี้ หรือปีหน้า ปัญหาของโลกนี้พัฒนาไป มีปัญหาใหม่ ๆ ตลอด ปัญหาเก่าอาจจะเริ่มดีขึ้นให้เราได้มีกำลังใจสู้ต่อไป หรือมีปัญหาอะไรใหม่ที่พวกเราทุกคนต้องรวมตัวกันช่วยให้ดีขึ้น คือ One Young World มีโอกาสหลากหลายมาก แล้วถ้าคนที่มีใจอยากช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้ว อยากได้แรงบันดาลใจ อยากไปเจอเครือข่ายของคนที่มีแนวคิดคล้าย ๆ กัน ก็อยากเชิญชวนให้มาลองสมัคร One Young World
The People :
มองว่าคุณค่าและความหมายของชีวิตคืออะไร
กมลนันท์ :
เรารู้สึกว่าเรายิ่งมีมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องให้ เรายิ่งมีโอกาสมากเท่าไหร่ เราต้องให้โอกาสเท่าที่เราทำได้ให้กับคนอื่น ฟ่งรู้สึกว่าการที่มี privilage ไม่ควรเก็บไว้กับตัวเองหมด ถ้าวัน ๆ เราเอาแต่ใช้ privilage แค่กับตัวเองเท่านั้น ฟ่งรู้สึกว่ามันไม่ทำให้เรามีความสุข แล้วไม่ใช่แค่ไม่มีความสุขอย่างเดียว มันทำให้เราตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วเราจะมีทั้งหมดนี้เพื่ออะไร เพื่อที่จะซื้อสิ่งของมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะกินอาหารแพงขึ้น แต่ว่าการซื้อสิ่งของเป็นร้อยเป็นพันชิ้น กินข้าวอีกมื้อละเท่าไหร่ก็ตาม มันกลับไม่ได้ช่วยให้จิตใจและชีวิตของเรามีความหมายมากขึ้น
ฟ่งเลยรู้สึกว่าการที่จะทำให้ตัวเราเองมีความหมายมากที่สุด คือการได้ใช้โอกาสที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือคนอื่น เพราะพอเราได้ช่วยเหลือคนอื่น ได้ช่วยให้เขาประสบความสำเร็จ ได้รับการศึกษาได้ เขาก็จะไปช่วยคนอื่นต่อไปได้ ฟ่งเลยเชื่อว่า privilege มันไม่ควรเป็นสิ่งที่เราเก็บไว้คนเดียว สำหรับฟ่ง privilege ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มีอยู่คือ การที่เรามีโอกาสสามารถไปช่วยเหลือคนอื่นได้โดยที่ตัวเองไม่ต้องลำบาก ในขณะหลายคนที่มีจิตใจดีอยากช่วยเหลือคนอื่น แต่ว่าอาจไม่พร้อมในเรื่องครอบครัว การงาน เงินทุนอาจไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงเด็กหรือทำงานแบบนี้ ฟ่งเลยคิดอยู่ตลอดว่าถ้าเรามีความพร้อม เราควรใช้จุดนี้ของเราช่วยเหลือคนอื่น เพราะว่าวันหนึ่งเราไม่รู้หรอกว่าคนเหล่านี้อาจกลายเป็นคนมาช่วยประเทศเราก็ได้
ตอนเด็ก ๆ ฟ่งเคยคิดว่านามสกุลคือจุดอ่อนของเรา อาจจะเป็นคริปโตไนต์ของเรา เวลาที่ไประดมทุนก็ไม่เคยใช้นามสกุล ฟ่งกับเพื่อนดิ้นรนช่วยเหลือเด็กกันเองหมด แต่เริ่มโตขึ้นฟ่งก็ได้เรียนรู้คุณค่า แล้วก็เริ่มเข้าใจว่าความจริงถ้าเราจะคิดว่านามสกุลเป็นจุดอ่อนก็ยิ่งทำให้เราอ่อนแอลง แต่ถ้าเราจะใช้เป็นพลังพิเศษของเราก็จะสามารถช่วยคนได้มากขึ้น ช่วยเปิดประตูให้ได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับคนที่มีพลังพอที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้มากขึ้น
การที่เราเป็นตัวของตัวเอง รวมการที่เรายอมรับในนามสกุล ทุกวันนี้เลยทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น เพราะคนหันมาฟังและยอมรับในสิ่งที่ทำมากขึ้น แม้ในโลกแห่งความฝัน ฟ่งเองก็ไม่ได้อยากให้คนมาฟังเพราะแค่นามสกุล แต่ว่าในเมื่อโลกทุกวันนี้เป็นแบบนี้ ถ้าเรามีนามสกุลนี้แล้วคนมาฟังเกิดความรู้สึกอยากช่วยเด็ก คนไร้สัญชาติ เด็กกำพร้า เพิ่มขึ้นมา ฟ่งคิดว่าอย่างไรก็ดีกว่า เพราะมันคือส่วนหนึ่งของเรา ที่แม้จะปิดกั้นแอบซ่อนไว้ก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น ทุกวันนี้ฟ่งเลยคิดว่าถ้าเราจะทำงานในฐานะเป็นแค่ กมลนันท์ หรือ กมลนันท์ เจียรวนนท์ ก็ตาม เราต้องทำงานให้ดีที่สุด แล้วสร้างแรงกระเพื่อมให้มากที่สุด
ตอนนี้ฟ่งได้โอกาสจากคุณพ่อกับเพื่อนร่วมงานในการช่วยดูโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ขยายวงกว้างในเรื่องความยั่งยืนให้ประเทศเรามากยิ่งขึ้น การที่เรายอมรับทั้งใน privilege และนามสกุลของตัวเอง ทุกวันนี้ทำให้เราสบายใจมากที่ไม่ต้องกลัวว่าบางคนจะคิดว่า สิ่งที่เราทำเพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ครอบครัว หรือเป็นแค่การประชาสัมพันธ์เท่านั้น ฟ่งเชื่อว่าถ้ายังมีคนคิดแบบนั้น อยากให้เขาลองมาเรียนรู้แล้วเข้าใจการทำงานของฟ่งจริง ๆ ว่า กว่าจะมาอยู่ตรงนี้ก็ตอนอายุ 20 กว่าแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ฟ่งได้เริ่มต้นทำงานด้านนี้ด้วยตัวเองมาตลอดตั้งแต่อายุ 13-14 ปี เด็กวัยนั้นไม่มีผู้ใหญ่หรือบริษัทไหนที่จะมาบังคับให้มาทำงานได้ ถ้าเด็กไม่อยากทำเอง
The People :
สำหรับคนอายุ 23 เหนื่อยไหมกับความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสังคม
กมลนันท์ :
เหนื่อยและท้อบ่อย แต่ฟ่งเชื่อว่าเวลาที่เหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ ถ้าเรามีคนที่คอยสนับสนุนให้เราเข้มแข็ง เราจะสู้ต่อไปได้ เพราะความเหนื่อยและท้อเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะในสายงานนี้ เพราะเราเลือกเองที่จะทำงานที่มันค่อนข้างลำบากและมีขีดจำกัดเยอะมาก เราเลือกด้วยตัวเองแล้วรู้ตั้งแต่แรกว่ามันจะเหนื่อยและยากลำบาก การเลือกอาชีพที่ง่ายกว่านี้อาจจะเห็นความสำเร็จการพัฒนาการที่เร็วกว่า แต่ว่าโชคดีฟ่งมีครอบครัวและเพื่อน ๆ ทีม Voices เพื่อนสนิทของฟ่งก็คอยให้กำลังใจอยู่ตลอด บางคนอาจคิดว่าฟ่งหันมาทำงานแบบนี้คนเดียว แต่ในยามที่ท้อเรายังมีครอบครัว มีเพื่อน ๆ ที่คอยสนับสนุนเราอยู่ตลอด บางทีพอเหนื่อยท้อนิดหน่อยเอามาเล่าหรือใช้เวลาอยู่กับเพื่อน ๆ ก็ช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้น
แต่มีบางเวลาเหมือนกันที่เคยถามตัวเองว่า สิ่งที่เราทำไปทั้งหมดช่วยเหลือคนได้จริง ๆ หรือ เราทำไปทำไม ทำไมเรายังไม่รู้สึกว่าสิ่งที่เราลงมือทำได้ช่วยให้สังคมเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเลย ถึงตอนนั้นฟ่งก็จะกลับไปยังจุดเริ่มต้น กลับไปเป็นอาสาสมัครธรรมดาคนหนึ่ง ที่บ้านพักคอยเลี้ยงเด็กอ่อน เพราะบางครั้งเวลาทำงานใหญ่ ๆ เราอาจจะสัมผัสถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเล็กน้อยได้ยาก แต่ถ้าเรากลับไปยังจุดที่เราเริ่มต้น แค่ได้ดูแลเด็กเล็ก ๆ ให้เขารู้สึกปลอดภัย รู้สึกถึงความรักความอบอุ่นที่เราส่งให้ได้ ช่วยให้เราเตือนตัวเองได้ว่า ไม่ว่างานที่เราเลือกทำจะเป็นงานเล็กหรือว่าใหญ่แค่ไหน ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราตัดสินใจทำก็เกิดผลดีกับเด็ก ๆ เหมือนกันหมด
The People :
ถ้าย้อนไปวันนั้นไม่ได้อุ้มเด็กจนเด็กหลับไป คิดว่าวันนี้จะทำอะไรอยู่
กมลนันท์ :
สมัยก่อนตอนเด็ก ๆ ฟ่งเคยอยากเป็นศิลปินวาดรูป (หัวเราะ) แต่ไม่รู้ว่าทำไมสิ่งที่เราอยากเป็น จะไปเกี่ยวข้องกับเด็ก ๆ กับการช่วยเหลือคนอื่นตลอด ตอนเด็ก ๆ ที่อยากเป็นศิลปินวาดรูป ฟ่งก็ชอบระบายสีน้ำมัน วาดรูปไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องคิดอะไร โดยเฉพาะรูปนามธรรม เช่น ดวงตา ท้องฟ้ามืด ๆ ในเวลากลางคืน แล้วเราก็แต้มดวงจันทร์ลงไป ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ จนคุณพ่อสังเกตแล้วชี้ให้ดูว่าทุกอย่างที่ฟ่งวาด มันอาจจะดูมืด ๆ แต่ว่ามีส่วนที่เป็นแสงสว่างอยู่ในนั้นตลอด เราคิดว่าก็จริงด้วย ศิลปะอาจเป็นอะไรที่สะท้อนตัวตนเราได้ดีที่สุด หรือก่อนที่จะมาทำงานช่วยเหลือเด็ก ฟ่งก็เคยอยากเป็นหมอเด็ก คอยรักษาเด็กที่ป่วย (หัวเราะ) ไม่รู้ว่าทำไมทุกอย่างที่อยากจะเป็นมันขีดไว้ให้เดินมาเส้นทางนี้ตลอด นั่นคือสิ่งที่ครอบครัวเปิดให้เห็นว่า มันอยู่ในใจเรามาตั้งแต่เด็ก ๆ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
PartnerContent
OneYoungWorldSummit
OneYoungWorld2019
OYW2019
CPGYoungLeaders
IgniteTheFuture
KamolnanChearavanont
คนไร้สัญชาติ
Voicesorg