พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ จากหมอผิวหนังสู่หมอ HIV ที่สอน HIV 101 ให้คนทั่วไปอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อได้ตามปกติ
ตอนนี้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการรักษา HIV ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อ HIV มีทางรักษา ไม่ต้องนอนรอความตาย สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ สามารถมีลูกได้ น่ากลัวน้อยกว่าเบาหวานและโรคความดัน แถมยังอาจรักษาให้หายขาดได้ในไม่ช้า
แต่คนส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อเก่า ๆ เกี่ยวกับเชื้อ HIV เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วหลายเรื่อง จนทำให้ทัศนคติและการปฏิบัติต่อผู้ที่ติดเชื้อยังคงไม่พัฒนา เมื่อเทียบกับพัฒนาการทางด้านการรักษา
เป็นสาเหตุให้ พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยป้องกัน ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ได้หันมาเริ่มต้นใหม่ด้วยการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ HIV 101 เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
The People : ทำไมหมอด้านผิวหนังถึงได้มาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน HIV
พญ. นิตยา : เรียนมาทางหมอผิวหนัง แต่ว่าทำงานด้าน HIV มา 20 ปีแล้ว เริ่มจากดูแลผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ที่สมัยก่อนจะมีพวกโรคผิวหนังเยอะ หลังจากนั้นเรามาอยู่ในยุคที่ผู้ติดเชื้อ HIV เริ่มที่จะควบคุมได้ มีการรักษา การป้องกัน ตอนนี้การป้องกันเลยเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เราไม่อยากจะให้มีคนติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นอีกเพราะว่า เทคโนโลยีในตอนนี้ทำให้ทุกคนมีการป้องกันตัวเองได้แล้ว เลยมาหันทำเกี่ยวกับด้านการป้องกัน HIV เป็นหลัก สักเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา
อาจจะเป็นว่า ปกติที่เราเรียนด้านโรคผิวหนังมาจะมีการดูเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย แล้วก็ยุค 20 ปีก่อน เรายังไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นพอมีคนเป็นโรคผิวหนังเข้ามาในแผนก เรามองแล้วรู้เลยว่าเขามีเชื้อ HIV อยู่ เลยรู้สึกว่าถ้าหากจัดการที่สาเหตุต้นตอคือ การติดเชื้อ HIV ได้ จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของเขาดีขึ้นได้ โรคผิวหนังที่แสดงออกมาก็ไม่ต้องรักษาเลย เพราะมันจะหายไปได้เอง เลยทำให้มีความสนใจตรงนี้ขึ้นมา เริ่มมีการไปดูงานศึกษาตรงนี้มากขึ้น พอดีกับช่วงนั้นยาต้านไวรัสกำลังเข้ามาในเมืองไทย ทำให้เราเห็นว่าพอรักษา HIV ได้แล้วคุณภาพชีวิตเขาก็กลับมาดีเหมือนเดิมได้ เลยอาจจะเป็นสิ่งที่แตกต่างจากหมอผิวหนังทั่ว ๆ ไป
เราเคยเป็นหมอผิวหนังทำเกี่ยวกับเรื่องความสวยความงาม ยิงเลเซอร์ สามารถหาเงินได้ไม่ยาก มีงานมาอยู่เรื่อย ๆ ทำไมมาทำเกี่ยวกับตรงนี้ อาจเป็นความชอบที่แตกต่างกัน เราเจอคนไข้ HIV ทั้งวัน เรารู้สึกว่าเขามีความทุกข์เหลือเกินกับหูดข้าวสุกบนใบหน้าเพราะติดเชื้อ HIV เขายอมจ่ายเงินเท่าไหร่เท่ากันเพื่อเอาตรงนี้ออกไป แล้วสามารถกลับไปทำงานได้ แต่พอเปลี่ยนมาตอนเย็นเข้ามาทำงานที่คลินิก คนไข้มารักษาบอกว่าใบหน้าตรงนี้มีเงาเล็ก ๆ อยากให้เอาออก เราเองแทบมองไม่เห็น แต่ว่าคนไข้ก็ยังอยากจะให้ลบรอยนั้น มันเลยให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันชัดเจนมากว่า คนหนึ่งเป็นเรื่องชีวิตความเป็นความตายและความเป็นอยู่ของเขา ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นเรื่องความพึงพอใจในสิ่งที่เกินความจำเป็นในชีวิตเพิ่มขึ้นมา เลยทำให้เราเลือกได้ค่อนข้างชัดเจนว่าชอบการทำงานแบบไหนมากกว่ากัน เลยได้มาทำเรื่อง HIV
The People : ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเชื้อ HIV?
พญ. นิตยา : เหมือนกับโรคทุกโรค เราต้องรู้สาเหตุของโรคก่อน สำหรับ HIV เอง HIV เป็นชื่อของเชื้อโรค ที่เป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ย่อมาจาก Human Immunodeficiency Virus (HIV) แปลว่า ภูมิคุ้มกันหายไป เชื้อ HIV เมื่อเข้าไปในร่างกายเราแล้วจะโจมตีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้ จนในที่สุดเชื้อไวรัสจะโจมตีร่างกายทั้งหมด HIV เลยเป็นแค่ตัวเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น แล้วก็ทำให้เราเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ ที่เป็นโรคฉวยโอกาสเข้ามาได้ง่ายขึ้น พอติดเชื้อฉวยโอกาสที่รุนแรงขึ้น เราก็เรียกว่า เป็นกลุ่มอาการเอดส์ (AIDS) ขึ้นมา ทุกคนที่ติด HIV เลยไม่จำเป็นต้องเป็น AIDS แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ติดเชื้อ HIV แล้ว ไม่ได้รีบไปตรวจให้รู้ แล้วอยู่กับมันนานพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 5-8 ปี ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย แล้วก็ทำให้ติดเชื้อวัณโรค เชื้อราขึ้นสมอง จอประสาทตาอักเสบ พวกนี้รวมกันเรียกว่า กลุ่มอาการ AIDS แล้วก็ผู้ป่วย AIDS
The People : ความเชื่อผิด ๆ ที่เกี่ยวกับ HIV?
พญ. นิตยา : เรื่องการติดเชื้อแล้วต้องตายเพราะเชื้อแน่นอน อันนี้เป็นอะไรที่เราลบล้างออกจากความเชื่อความเข้าใจของผู้คนได้ค่อนข้างยาก เพราะเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ที่ยังไม่มียาต้านไวรัส เราก็คิดแบบนั้นว่าพอติดเชื้อ HIV จะรู้ไปทำไม เพราะมันไม่มีทางรักษา รู้ก็เหมือนรอเวลาเสียชีวิต แต่ปัจจุบันนี้อยากบอกว่าไม่มีคำว่าสายเกินไปที่พอรู้ว่าติด HIV ยิ่งรู้เร็วยิ่งจะรักษาได้ทันที แล้วทำให้มีอายุขัยยืนยาวไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่ติดเชื้อ HIV เลย ถึงแม้ว่ารู้ช้า ถ้ารีบรักษาและป้องกันไม่ให้ติดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้น โรคแทรกซ้อนส่วนใหญ่เราก็รักษาให้หายได้เช่นเดียวกัน
ตอนนี้เลยต้องบอกว่า ใครก็ตามที่สงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ HIV ต้องรีบไปตรวจโดยเร็วที่สุด ตรวจแล้วรู้ว่าเลือดเป็นบวก เรารักษาได้เลยในวันนั้น กินยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาได้เลยในวันที่ตรวจเลย กินยาต้านไวรัสต่อเนื่องสัก 3-6 เดือน เชื้อ HIV ส่วนใหญ่จะหมดไปจากร่างกาย ทำให้เรากลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ถ้าตรวจแล้วไม่เจอเราก็ป้องกันด้วยการกิน ยา PEP ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสฉุกเฉินที่จ่ายให้ทันทีที่คนไข้เพิ่งไปสัมผัสเชื้อ HIV กินยา PrEP ยาต้านไวรัสที่ให้ทานเป็นประจำวันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV และใช้ถุงยางอนามัยได้
HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ฉลาดมาก เวลามันเข้าไปในร่างกายเรา อาจจะเข้าทางเยื่อบุต่าง ๆ อย่างช่องคลอด อวัยวะเพศ ทวารหนัก พอเข้าไปแล้ว มันก็จะรีบพุ่งไปยังบริเวณที่เป็นแหล่งชุมนุมของเม็ดเลือดขาว เพื่อไปทำลายเม็ดเลือดขาว ทำให้เราอ่อนแอมากที่สุด ดังนั้นแหล่งชุมนุมของเม็ดเลือดขาวทั้งต่อมน้ำเหลือง ตลอดทางเดินอาหาร ที่มีเนื้อเยื่อต่อมน้ำเหลืองอยู่เต็มไปหมด ตรงนี้จะถูกทำลายอย่างรวดเร็ว แล้วเชื้อจะเข้าไปอยู่ทำเป็นโรงงานผลิตเชื้อออกมาใหม่ ๆ ขึ้นมา เวลาที่มันใช้หลังจากเข้าสู่ร่างกายเราแล้วเข้าไปสู่ทางเดินอาหารใช้เวลา 3-7 วัน ช่วงนี้เป็นเวลาทองที่เราเสี่ยงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องรีบเอายาต้านไวรัสไปในร่างกายให้เร็วที่สุด
หลักการทำงานของยาต้านไวรัสคือ พอเข้าไปในร่างกาย มันจะเข้าไปบล็อกไม่ให้ HIV มีการเพิ่มจำนวนขึ้น และเพื่อบล็อก HIV ไม่ให้ไปยังโรงงาน ถ้าบล็อกได้จะมีโอกาสที่เชื้อจะเหลือเพียงเล็กน้อย แล้วรักษาให้หายขาดมากกว่าการที่ปล่อยให้มันยึดร่างกายเราไปทั้งตัว ตอนนั้นเรากินยาต้านไวรัสเข้าไปก็ช่วยฆ่าได้แค่เชื้อ HIV ที่มันล่องลอยอยู่ในเลือดเท่านั้น แต่เชื้อยังซ่อนตัวอยู่ในโรงงาน เมื่อไหร่ที่เราหยุดยาต้านไวรัส เชื้อก็ยังออกมาทำงานได้อีก ปกติ HIV จะทำงานด้วยการเพิ่มจำนวนแล้วแตกตัวออกไปติดเซลล์อื่นเพิ่มขึ้น
พอมียาต้านไวรัส จำนวนเชื้อไวรัสที่สร้างออกมาเดิมจะหมดอายุแล้วตายไป ตัวใหม่ก็ถูกบล็อกไม่ให้มีการสร้างขึ้นมาใหม่ เวลาเราเอาเลือดไปตรวจ 1 ซีซี จะไม่เจอเลยว่ามี HIV อยู่ในนั้น ซึ่งเราเรียกว่า undetectable (ตรวจไม่พบเชื้อ) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการที่ใครก็ตามติด HIV แล้วรักษาตัวเอง เพราะดูเลยว่ากินยาไป 3 เดือนเชื้อ HIV เป็น undetectable แล้วหรือ 6 เดือน undetectable แล้วหรือยัง ผู้ที่กินยาจน undetectable แล้วใช้ชีวิตปกติได้เหมือนคนปกติทุกอย่าง ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ทั้งสิ้น
สมัยก่อนจะมีความเข้าใจผิดว่ามี HIV รักษาแล้วยังไม่เหมือนคนอื่นนะ ต้องคอยระวังว่าจะติดหวัดง่าย ติดโรคนู่นนี่นั่นง่าย เป็นมะเร็งง่าย ในยุคปัจจุบันถ้าเรารู้เร็วแล้วรักษาเลย พอเชื้อเรา undetectable เราไม่ต้องมีความกังวล ไม่มีโอกาสที่จะเป็นโรคแทรกซ้อนเท่า ๆ กับผู้ไม่มี HIV เลย ในขณะเดียวกันมีสุขภาพดีใช้ชีวิตได้เหมือนคนทั่วไปที่ไม่มีเชื้อ HIV แถมเรามั่นใจอีกด้วยซ้ำว่า เราจะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังคนอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นทางเพศสัมพันธ์ ถ้าเราไม่มีเชื้อสักอย่าง กินยาต้านไวรัสกดเชื้อไว้หมดแล้ว จะถ่ายทอดเชื้อให้ใครไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเพศสัมพันธ์ระหว่าง ชายกับหญิง หรือ ชายกับชาย ก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้ ถ้าเพศสัมพันธ์ยังไม่ติด HIV แล้ว การที่ใช้ชีวิตร่วมกัน กินข้าวด้วยกัน อาบน้ำใช้ของใช้ประจำวัน ทำงาน เรียนหนังสือด้วยกัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการติดต่อไปยังคนอื่นได้เลย
The People : ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากคนปกติ?
พญ. นิตยา : ไม่มีอะไรที่จะแตกต่างจากคนทั่วไปเลย หลายคนอาจจะยังรู้สึกว่าไม่จริงหรอก ถ้าเรามีแฟนที่ติดเชื้อเราสามารถมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ต้องใช้ถุงยางอนามัยได้จริงหรือ มันเหมือนกับคนทั่วไปอย่างนั้นไหม ต้องบอกว่าใช่ คุณไม่ต้องกลัวเลยว่าจะติดเชื้อจากแฟนที่ติด HIV ถ้าเขากินยาต้านไวรัสอยู่จน undetectable แล้วนะ อันที่สองแล้วมีลูกได้ไหม หลายคนบอกว่ามีเพศสัมพันธ์ได้ แต่อย่ามีลูกเลย เพราะกังวลว่าลูกจะติด อยากบอกว่าแม้แต่สมัยก่อนตอนที่ยังไม่มียาต้านไวรัส คุณแม่หนึ่งคนที่มีเชื้อตั้งครรภ์ โอกาสที่ลูกของเขาจะติดเชื้อไปด้วยอยู่แค่ประมาณ 30% หมายความว่าคุณแม่ที่ติด HIV 100 คน จะมีเด็กที่ติดเชื้อ 30 คน แต่ตอนนี้ถ้าคุณแม่ 100 คนกินยาต้านไวรัสทั้ง 100 คน จน undetectable โอกาสที่ลูกจะติด HIV น้อยกว่า 0.0005% ด้วยซ้ำ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีโอกาสติดเชื้อเลย
ดังนั้นถ้าเราเป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV อยากมีแฟนมีได้ไหม มีได้ อยากแต่งงานแล้วอยากมีลูก ก็มีได้ อยากเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก อยากได้เลื่อนตำแหน่ง ต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ มีอะไรที่เป็นข้อจำกัดไหม ไม่มีเลย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะหลายคนที่เพิ่งรู้ว่าติดเชื้อ HIV คือจะหยุดชีวิตไม่ไปต่อ ไม่มั่นใจในการก้าวหน้าต่อไป เพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะอยู่ได้นานสักแค่ไหน ต้องบอกว่าจริง ๆ แล้ว ทุกคนสามารถวางแผนชีวิตได้เหมือนปกติ เงินมีอย่าไปใช้หมดนะ บอกว่าเดียวสามปีก็ตายแล้ว (หัวเราะ) คือจริง ๆ คุณต้องวางแผนชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป
แค่ยังคงต้องกินยาต้านอยู่ตลอดเวลา เพราะยาต้านไวรัสยังคงเป็นวิธีเดียวที่รักษาโรค ซึ่งตอนนี้เราใช้คำว่า HIV เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ ตราบใดที่คุณกินยาต้านไวรัสทุกวัน ๆ วันละ 1 เม็ด ครั้งเดียวต่อวัน ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ เอาเวลาที่สบายใจ แค่วันละครั้งเดียว คุณก็จะสามารถมีชีวิตอยู่ไปได้ในระยะยาว โดยที่ไม่ต้องมาตรวจเช็คร่างกายเป็นพิเศษ แค่ตรวจปีละ 1-2 ครั้ง ตามปกติ มันง่ายยิ่งกว่าเป็นเบาหวาน ความดัน เพราะเบาหวาน ความดัน ยังน่ากลัวกว่าเพราะเกี่ยวข้องกับนิสัย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย แต่ HIV แค่กินยาต้านไวรัสวันละ 1 เม็ด อย่างเดียว ไม่ได้ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ ก็กดเชื้อไวรัสได้แล้ว
The People : มีโอกาสที่โรคเรื้อรังนี้จะรักษาให้หายขาดได้ไหม
พญ. นิตยา : เป็นสิ่งที่ทุกคนหวังว่าน่าจะไปจุดนั้นได้ แต่คิดว่าในที่สุดน่าจะไปจุดนั้นได้ แต่ยังไม่ใช่ช่วง 5-10 ปีนี้ ในโลกนี้ตอนนี้มีคนที่หายจากขาดจาก HIV แล้ว อย่างน้อย ๆ ก็ 1 คน ซึ่งเขาหายได้เพราะเขาใช้วิธีการที่ค่อนข้างลึกล้ำนิดหน่อย คือเขามี HIV แล้วก็มีมะเร็งเม็ดเลือดด้วย เลยไปปลูกถ่ายไขกระดูก แล้วเขาได้รับเซลล์ที่มีความสามารถป้องกัน HIV เข้ามาสู่ตัวเขาหลังไปถ่ายไขกระดูก พอมีการฉายแสง เขาก็สามารถหยุดยาต้านไวรัสได้ แล้วหายขาดจาก HIV ไปเลย ซึ่งกลไกตรงนี้สอนเราว่า ถ้าเราสามารถป้องกันไม่ให้ HIV ไปซ่อนในต่อมน้ำเหลือง หรือเซลล์ต่าง ๆ ให้เร็วที่สุดตั้งแต่แรก ๆ ที่ได้รับเชื้อ เราก็สามารถจะรักษาให้หายขาดจาก HIV ได้ เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยต่าง ๆ โดยความก้าวหน้ามีมาเรื่อย ๆ พอจะทราบแล้วว่า ถ้าเราติดเชื้อ HIV ไม่เกิน 2 สัปดาห์ แล้วกินยาต้านไวรัสทันที เราแทบจะหาเชื้อที่ไปซ่อนตัวอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้น้อยมาก เทียบกับคนส่วนใหญ่ที่พอเสี่ยงแล้วไม่ยอมไปตรวจเลือดรอให้ถึง 3-6 เดือน หรือ 1 ปีก่อน ค่อยไปตรวจ ตอนนั้นเชื้อ HIV ก็แพร่กระจายไปทั่วแล้ว กว่าจะหายขาดได้ก็จะน้อย ตอนนี้ในความเป็นจริงสำหรับคนหมู่มาก การรักษาให้หายขาดอาจจะยังไม่มี ดีที่สุดคือติดเชื้อ HIV แล้วควรรีบรักษาทันที เผื่อว่าอนาคตจะได้ทดลองที่อาจช่วยให้หายขาดได้จริง ๆ
The People : ข้อปฏิบัติเมื่อรู้ว่าเสี่ยงติดเชื้อ?
พญ. นิตยา : ก่อนอื่นเลยคนไทยยังรู้น้อย เพราะคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะต้องรู้ นาน ๆ ถึงมีความเสี่ยง จริง ๆ แล้ววิธีป้องกัน HIV ที่สำคัญที่สุดคือ การใช้ถุงยางอนามัย แต่ถ้าพลาดไปแล้วไม่ใช้ถุงยางอนามัยด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทั้งเมา หยิบไม่ทัน ใช้แล้วแตกหลุด เวลาทองที่ว่า 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง ต้องรีบไปตามคลินิกโรงพยาบาล เพื่อที่จะกินยาต้านไวรัส หรือ PEP ให้เร็วที่สุด ยา PEP ถ้ากินภายใน 72 ชั่วโมง จะไปบล็อกไม่ให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมา แล้วกินต่อเนื่องอีก 28 วัน ก่อนจะตรวจดูว่าเราติดหรือไม่ติด HIV ถ้า 3 เดือนผ่านไปตรวจแล้วไม่มีเชื้อ แสดงว่าเรารอดพ้นจากการติดเชื้อในครั้งนั้นไปได้ ซึ่งยา PEP เราสามารถเข้าถึงได้ที่ห้องฉุกเฉินตามโรงพยาบาล หรือตามคลินิกต่าง ๆ เวลา 72 ชั่วโมง คือช้าสุด ถ้าเสี่ยงมาตอน 5 ทุ่ม สามารถหาคลินิกที่เปิดอยู่แล้วหายา PEP ได้ ต้องกินทันที ถ้าหาไม่ได้ เช้ามาต้องรีบไปให้เร็วที่สุด อย่าไปรอทำใจให้เกือบถึง 72 ชั่วโมง ยิ่งนานไปโอกาสที่เชื้อที่แพร่เร็วกว่า 72 ชั่วโมงก็เป็นได้
ในโรงพยาบาลแทบจะทุกแห่งมีศักยภาพในการให้ยาต้านไวรัสได้อยู่แล้ว แต่บางคลินิกที่เขาไม่มีหมอที่เชี่ยวชาญในเรื่องโรคติดเชื้อ เขาอาจบอกปัดให้มาใหม่ตอนพรุ่งนี้เช้า แต่ที่เราสามารถไปได้แน่ ๆ คือคลินิกนิรนาม หรือคลินิกที่ให้บริการสุขภาพทางเพศอีกหลาย ๆ แห่ง โดยเฉพาะขององค์กรชุมชน ที่ส่วนใหญ่จะเปิดดึกเช่น มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) ที่พัฒน์พงศ์ ซอย 1 หรือ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ที่รามคำแหง หลายแห่งอยู่ในจุด hot spot ที่พอเกิดความเสี่ยงใกล้ ๆ แถวนั้น สามารถรีบเข้าไปยังคลินิกเหล่านี้ได้
แต่ยา PEP ยังไม่ครอบคลุมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง ประกันสังคม อันนี้ต้องจ่ายเงินเองไปก่อน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 900-1,200 บาท ต่อการกินยา 28 วัน อยู่ในราคาที่เข้าถึงได้ หลายแห่งไม่มีเงินจริง ๆ ก็มีวิธีการที่จะช่วยเหลือ เพราะตอนนี้การป้องกันดีกว่าการรักษาในระยะยาว ถึงแม้จะรักษาได้ก็ตาม แต่เราก็ไม่อยากให้มีโรคที่ต้องรักษาไปตลอดชีวิต
ตอนนี้หลายคนเริ่มเบาใจกับเรื่อง HIV แต่ขณะเดียวกันพอเรามีความสบายใจกับเรื่อง HIV เรากลับละเลยการป้องกัน หรือเลือกที่จะป้องกันเป็นครั้งคราว ซึ่งย้ำเลยว่าสำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าคุณไม่ได้ป้องกันทุกครั้ง ก็เท่ากับคุณไม่ได้ป้องกันเลย โอกาสที่จะติดเชื้อซิฟิลิส, หนองใน, หนองในเทียม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ก็เลยกำลังอยู่ในขาขึ้น เราจะค่อย ๆ เห็นการติดเชื้อพวกนี้เพิ่มขึ้น แม้โรคพวกนี้จะอันตรายไม่เท่ากับ HIV ที่ทำให้ร่างกายเราอ่อนแอ เพราะไม่ได้อันตรายแก่ร่างกายจนถึงแก่ชีวิตได้ แต่ว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความไม่สุขสบายแล้วถ่ายทอดไปยังคนอื่น ๆ ได้ ทั้งคู่นอนชายหญิง โดยผู้หญิงจะเกิดโรคค่อนข้างรุนแรงกว่า หรือเกิดการตั้งครรภ์แล้วถ่ายทอดไปยังบุตรได้ เราบอกเสมอว่าเวลามีเพศสัมพันธ์แล้วติดโรค มันเป็นยวงคือไม่ใช่แค่ติด HIV อย่างเดียว เลยเน้นอยู่เสมอว่า ทุกคนควรจะมีเพศสัมพันธ์อย่างมีความสุข แต่ว่าเพศสัมพันธ์นั้นต้องประกอบด้วยองค์ความรู้ว่าเราเองจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร สำหรับ HIV เราใช้ยา PEP, ยา PrEP แต่ว่าโรคอื่น ๆ ยังไงก็ต้องใช้ถุงยางอนามัย ถ้าอยากมีความสุขโดยไม่อยากใช้ถุงยางก็ต้องหมั่นไปตรวจโรคบ่อย ๆ
The People : จะมีการรณรงค์ให้คนเข้าใจเกี่ยวกับ HIV เพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง
พญ. นิตยา : ทุกปีในวันที่ 1 ธันวาคม ก็จะเป็นวันที่เราเรียกว่า วันเอดส์โลก หรือ World AIDS Day ในแต่ละปีจะมีธีมที่แตกต่างกันไป ประเทศไทยเองไม่ค่อยตามธีมของโลกเท่าไหร่ เพราะเรามองว่าอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้กับประเทศและสังคมเรา เราจะชูโรงเรื่องนั้น ทำให้ในปีนี้ธีมของเราเป็นเรื่องชุมชน เพราะว่าเราอยู่ในยุคที่เรียกได้ว่าใกล้จะยุติ AIDS ได้แล้ว เมื่อ 30 ปีที่แล้ว โรคนี้เป็นช่วงที่พีคมาก ในประเทศไทยมีผู้ที่ติดเชื้อปีละเป็นแสน แต่ว่าตอนนี้อยู่ในขาลงทั่วโลก ปีหนึ่งติดแค่ 6,000-7,000 คน แต่ยังไม่หมดไป แต่ว่าไม่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างรุนแรงแล้ว แต่ปัญหาก็คือ 6,000-7,000 คนนี้คือใคร ทำไมยังติดเพิ่ม ในเมื่อน่าจะทราบวิธีป้องกันอยู่แล้ว การเข้าถึงการตรวจ การกินยาจนไม่มีเชื้อแล้ว พอไม่มีเชื้อก็ไม่น่าจะถ่ายทอดเชื้อได้ ปรากฏว่า 6,000-7,000 คนนี้ จะไปอยู่ในกลุ่มคนที่ยังไม่ตระหนักหรือเข้าถึงการรักษายาก คำว่ายากหมายถึงสมมติเขาเป็นสาวประเภทสอง การไปตรวจ HIV ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้แต่สำหรับคนทั่วไป ส่วนใหญ่อายไม่อยากไปเอ่ยปากว่าติด HIV พอเป็นสาวประเภทสอง ยิ่งถูกตีตราไปอีกว่า ไปสำส่อน ไปที่เสี่ยงมาแน่ สาวประเภทสองเลยมักจะถูกโยงไปถึงเรื่องขายบริการอยู่ มันทำให้โอกาสที่พวกเขาไปตรวจน้อยลง พอไปถึงก็ถูกมองด้วยสายตาอีกแบบ
เป็นที่มาของการที่ชุมชนต้องลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง ยกตัวอย่างของการที่ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง เช่น ชุมชนสาวประเภทสองลุกขึ้นมาบอกว่า เราเป็นสาวประเภทสอง บริการที่เราต้องการคือ บริการที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องฮอร์โมน เรื่องกฎหมาย ไปถึง HIV ซึ่งกลายเป็นเรื่องประเด็นเล็กน้อยในชีวิตของเขาไปเลย วิธีการเข้าไปถึงคนกลุ่มนี้ได้ จะช่วยลดลงจำนวนผู้ติดเชื้อให้จาก 1,000 เหลือ 0 ในที่สุด จึงต้องอาศัยคนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดการ แล้วก็เรียกร้องสิทธิในการรับบริการที่เท่าเทียมกันทั่วประเทศจนถึงทั่วโลก
ปีนี้เราเลยมีการจัดงานวิ่ง HIV RUN โดยความสำคัญคือ ทำให้ได้กระตุ้นเตือนว่าสังคมเรามีกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังอยู่อีกเยอะ ถ้าเราไม่สามารถทำให้ทุกคนก้าวขึ้นมามีความเท่าเทียมกัน เราก็ไม่สามารถที่จะยุติสิ่งที่เป็นปัญหาสาธารณสุขได้ แล้วถ้าเมื่อไหร่ปัญหาในกลุ่มประชากรหนึ่งไม่ยุติ กลุ่มอื่น ๆ ก็ยังไม่ได้รับผลกระทบต่อจากนั้นอยู่แล้ว เราไม่สามารถลอยตัวอยู่เหนือปัญหาได้เลย
งานวิ่ง HIV RUN 2019 นี้จัดอยู่สามที่คือ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และ เชียงใหม่ ที่กรุงเทพฯ จัดอยู่ที่อนุสาวรีย์ 2 รัชกาล ในจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย วิ่งวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันเอดส์โลก ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีเสื้อที่สามารถซื้อเอาเงินไปเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก HIV ในขณะเดียวกันได้ออกกำลังกายไปด้วย มีเหรียญรางวัลสวยงาม ติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/hivrun.run/
The People : ฝากให้คนทั่วไปเข้าใจ HIV มากยิ่งขึ้น?
พญ. นิตยา : ปัจจุบันเราถือว่า HIV เป็นโรคเรื้อรังประเภทหนึ่งเท่านั้น ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้อยากให้ทุกคนเลิกตื่นเต้นเลิกกลัวโรคนี้ไปเลย แต่คำว่าเป็นโรคเรื้อรังหมายถึงเรายังต้องดูแลและป้องกันตัวเองไม่ให้มีโรคนั้น โดยเฉพาะในยุคที่มันควรจะป้องกันตัวเองได้ แล้วควรที่จะคัดกรองเป็นประจำได้ ทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันแม้แต่ครั้งเดียว ตกอยู่ในเกณฑ์ที่ควรตรวจ HIV ทั้งหมดเลย เพราะเราไม่สามารถมั่นใจว่าคนที่เรามีเพศสัมพันธ์ด้วย แม้ว่าเราเป็นคนแรกของเขา ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนแรกของเรา อาจจะมีเชื้อ HIV อย่างน้อยเราเลยควรจะตรวจหา HIV ปีละครั้ง ขณะเดียวกันในตอนนี้ที่รู้ว่ามี HIV สิ่งที่ทำได้คือรีบรักษาเลย แล้วก็พอรักษาแล้ว undetectable ก็จะเป็น untransmittable (ไม่แพร่เชื้อต่อ) การที่จะตีตราเลือกปฏิบัติผู้ที่ติดเชื้อควรจะหมดไป เพราะคนที่มีเชื้อเขาดูแลตัวเอง ยังไงก็ไม่ได้เป็นภาระที่จะเอาเชื้อมาติดต่อกับเรา การที่ตรวจแล้วไม่เจอ นอกจากการป้องกันด้วยถุงยางอนามัยก็ยังมียา PEP ที่ป้องกันเวลาฉุกเฉิน แล้วยา PrEP ไว้กินทุกวันเพื่อป้องกันเชื้อ HIV ได้ง่าย ๆ สบาย ๆ เกือบจะ 100% อันนี้เป็นทางเลือกที่ทุกคนน่าจะดูแลตัวเอง ป้องกันไม่ให้มี HIV แล้วตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอจนหมดความเสี่ยงในชีวิตนี้ไปก็หยุดตรวจโรคนี้ได้
คนทั่วไปพอมีความรู้จากการพูดคุยกันว่า เดี๋ยวนี้โรคนี้ไม่น่ากลัวแล้ว แต่ว่าความรู้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นความเชื่อ และความเชื่อจะปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้กลายเป็นการปฏิบัติที่เปลี่ยนไปได้อย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในยุคที่คนที่รู้จักวัดพระบาทน้ำพุมาแล้วก็ยังถูกเอามาใช้หาเงินอยู่ ก็ยังไม่เชื่อว่าเดี๋ยวนี้ติด HIV ไม่ต้องตายแล้ว เพราะยังติดภาพคนที่เสียชีวิตที่วัดอยู่ ก็เลยคิดว่าในแวดวงสื่อสารมวลชน ต้องไม่ผลิตภาพซ้ำ ต้องคอยให้ความรู้ซ้ำไปมาว่ามันไม่น่ากลัวแล้ว เมื่อไหร่ที่คนมีความรู้เพิ่มขึ้นแล้วมีความเชื่อใหม่ จากที่เห็นผู้ที่ติด HIV แล้วไม่เห็นว่าเขาเป็นอะไร ยังทำงานได้ดีกว่าเราอีก ทัศนคติจะเริ่มเปลี่ยนไป สามาถทำงานร่วมกันได้ อยู่บ้านเดียวกันได้ โดยไม่มีความตะขิดตะขวงใจ ทัศนคติโดยรวมก็จะดีขึ้น มีความรู้มากขึ้น แต่ทัศนคติที่จะเปลี่ยนเป็นการกระทำยังเบาบางอยู่ เนื่องจากเมืองไทยคนเปิดเผยตัวน้อยว่าติด HIV ไม่เหมือนในต่างประเทศที่คน HIV เปิดเผยตัวจำนวนเยอะกว่าเรา
ผู้ติดเชื้อ HIV ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน มีผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ 5 แสนคน แปลว่า 1 ใน 100 ของคนในสังคมจะมีผู้ติดเชื้อ HIV อยู่ เรามองไม่ออกหรอกว่าใครที่ติด HIV เราใช้ชีวิตร่วมกับเขาทุกวันอย่างปกติ คนที่ติดเชื้อเขารู้ตัวแล้วรักษา มีความน่ากลัวน้อยกว่าคนทั่วไปที่ไม่เคยตรวจหาเชื้อ HIV ด้วยซ้ำ พวกเราที่คิดว่าไม่ติดเชื้อยังเป็นอันตรายกับคนอื่น มากกว่าคนที่มีเชื้อ HIV แล้วตรวจหา HIV สม่ำเสมอ แล้วรักษาอย่างสม่ำเสมอเสียอีก