ลีรอย โรซีเนียร์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลที่โดนไล่ออกเร็วที่สุดภายใน 10 นาที
ในฤดูกาล 2019-2020 พรีเมียร์ลีกอังกฤษมีผู้จัดการทีมหรือหัวหน้าผู้ฝึกสอนเป็นคนผิวดำกี่คน?
คำตอบคือ 1 คน นั่นคือ นูนู อึชปีรีตู ซังตู (Nuno Espírito Santo) จากทีมวูฟแฮมตันวันเดอร์เรอร์ส ที่มีปู่เป็นผู้อพยพชาวแอฟริกัน (Wolvesblog)
การเป็นโค้ชผิวดำยังคงเป็นเรื่องยากแม้แต่ในยุคปัจจุบัน ถึงแม้จะมีการรณรงค์ต่อต้านการเลือกปฏิบัติด้วยสีผิวหรือชาติกำเนิดอย่างกว้างขวาง แต่โอกาสที่โค้ชผิวดำจะได้คุมทีมในลีกสูงสุดของอังกฤษก็ยังคงมีน้อย (แต่ก็เคยมี ไม่ใช่ไม่เคยเลย เช่น รุด กุลลิท ตำนานกองกลางชาวดัตช์ที่เคยคุมเชลซี หรือ คริส ฮิวจ์ตัน อดีตกองหลังริมเส้นของสเปอร์ส ที่เคยคุมทีมในพรีเมียร์ลีกหลายทีม เป็นต้น)
มันจึงยิ่งยากขึ้นไปอีกหากย้อนกลับไปอีกสิบปียี่สิบปี หากได้รับโอกาสก็อาจเป็นเพียงแค่การขัดตาทัพ เหมือนเช่น ลีรอย โรซีเนียร์ (Leroy Rosenior) อดีตกองหน้าเชื้อสายเซียร์ราลีโอนของเวสต์แฮม ที่เคยได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมเล็ก ๆ แต่ก็ถูกไล่ออกภายใน 10 นาที ระหว่างที่เขายังอยู่ระหว่างการแถลงข่าวแต่งตั้งนั่นเอง
ครอบครัวของโรซีเนียร์ย้ายมาอยู่อังกฤษในช่วงทศวรรษ 1950s โดยลงหลักปักฐานอยู่ในย่านบริกซ์ตัน ของลอนดอนใต้ เขาเกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1964 เริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพให้กับทีมดังในลอนดอนอย่าง ฟูแลม ควีนส์พาร์กเรนเจอร์ส และเวสต์แฮม แต่ก็ต้องแขวนเกือกตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ปี เนื่องจากปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่หัวเข่า จึงหันไปเอาดีด้านการเป็นโค้ช ตามด้วยการเป็นนักวิจารณ์ฟุตบอล
โรซีเนียร์เจอกับการเหยียดผิวตั้งแต่เป็นดาวรุ่ง ตอนที่เขาอายุได้ราว 17 ปี ขณะลงเล่นให้กับฟูแลม เมื่อเขาผ่านไปยังอัฒจันทร์ฝั่งแฟนบอลลีดส์ยูไนเต็ด แฟนบอลนับหมื่นของยูงทองก็กู่ร้องใส่เขาอย่างพร้อมเพรียงว่า "sieg-heil" พร้อมแสดงท่าสดุดีแบบนาซี ซึ่งโรซีเนียร์กล่าวถึงเหตุการณ์นั้นในภายหลังว่า
"มันเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่ผมเคยเจอ ความเกลียดชังปรากฏชัดในสายตาพวกเขา หลังจบเกมผมกลับมาคิดว่า ผมควรจะเล่นต่อหรือไม่ ผมคิดถึงการเลิกเล่นขึ้นมาจริง ๆ เลย ณ ตอนนั้น
"แต่สุดท้าย ผมคิดว่า ยังไงผมก็ยังอยากเป็นนักฟุตบอล แล้วนั่นก็เป็นราคาที่ผมจำต้องยอมจ่าย" (Mirror)
เมื่อย้ายไปอยู่กับเรนเจอร์สในปี 1985 เพียงลงเล่นนัดเปิดตัวนัดแรกให้กับทีมทหารเสือราชินี (ฉายาในประเทศไทยซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงกับฉายาในภาษาอังกฤษ เพราะคำว่า ควีนส์พาร์ก จริง ๆ เป็นชื่อย่านหนึ่งในลอนดอนซึ่งมาจากชื่อของสวนสาธารณะ ไม่ใช่ชื่อกองทหาร) ก็ทำให้ครอบครัวเห็นความโหดร้ายของการเหยียดผิวของแฟนบอลในสนาม จนพวกเขาไม่กล้าเดินทางไปให้กำลังใจเขาอีกเลย ซึ่งโรซีเนียร์เองก็เห็นด้วย เพราะมันดีกว่าที่เขาจะมากังวลเรื่องความปลอดภัยของครอบครัวจนไม่มีสมาธิในการเล่น
ไม่เพียงแต่แฟนบอลในสนาม คู่แข่งของทีมตรงข้ามก็เหยียดเขาไม่แพ้กัน บางคนก็ล้อเขาว่า "เฮ้ย ไม่เคยเห็นหน้าเอ็งมาก่อนเลย เพิ่งลงจากเรือกล้วยเหรอวะ?" (เรือกล้วยเป็นคำที่ใช้ล้อผู้อพยพจากหมู่เกาะอินเดียตะวันตก เพราะกล้วยเป็นสินค้าสำคัญของพื้นที่แถบนี้ และผู้อพยพจากหมู่เกาะอินเดียตะวันตกก็มักจะเป็นอดีตทาสที่ถูกจับจากแอฟริกาไปขายอีกที คนกลุ่มนี้จึงมักเป็นคนผิวดำ แต่ในข้อเท็จจริงครอบครัวของโรซีเนียร์อพยพมาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ซึ่งคนล้อก็ไม่แยกแยะอยู่แล้ว) หรือบ้างก็ส่งเสียงขู่เหมือนเสียงไล่สัตว์ไม่ให้เข้าใกล้ก็มี
หลังจบเกมนักเตะผิวขาวที่เหยียดผิวเขาก็จะทำทีมาขอจับมือ แล้วก็บอกว่า "ไม่เคืองกันนะ แค่ล้อเล่น" ซึ่งเป็นคำที่เขาได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลาการเป็นนักฟุตบอล จนเขาเลือกใช้มันเป็นชื่อหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง (Telegraph)
เมื่อต้องจบชีวิตการค้าแข้งก่อนระยะเวลาอันควร โรซีเนียร์หันไปจับงานเป็นผู้ฝึกสอน จนมีโอกาสได้แสดงฝีมือเต็มตัวในฐานะผู้จัดการทีมในปี 2002 ให้กับทอร์คีย์ยูไนเต็ด ทีมในลีกทู (อยู่ในลำดับที่ 4 ของระบบลีกอังกฤษรวมถึงพรีเมียร์ลีกด้วย) ซึ่งเขาพาทีมยกระดับขึ้นมาได้อย่างน่าชื่นชม เปลี่ยนจากทีมที่ลุ้นหนีตกชั้นให้ขึ้นมาอยู่ในครึ่งบนของตารางได้ในฤดูกาลแรก และพาทีมขึ้นสู่ลีกวันได้สำเร็จในฤดูกาลที่ 2 แต่อยู่ได้เพียงฤดูกาลเดียวก็ต้องตกลงไปอยู่ลีกทูเช่นเดิมในฤดูกาลที่ 3 และพอถึงครึ่งทางของฤดูกาลที่ 4 เขากับสโมสรก็ตกลงยกเลิกสัญญากันแต่โดยดี เมื่อผลงานของทีมยังเป็นที่น่าผิดหวัง
โรซีเนียร์เชื่อว่า การพาทอร์คีย์ขึ้นสู่ลีกวันได้สำเร็จน่าจะเป็นผลงานที่ทำให้ใบสมัครงานของเขาน่าสนใจสำหรับหลายสโมสร แต่ก็มีแค่ไบรตันทีมจากลีกสูงกว่าแค่ทีมเดียวที่สนใจในตัวเขา และติดต่อมาในเวลาที่เขาทำผลงานได้ดีที่สุด แต่สุดท้ายเขาก็ไม่ได้งานนั้น เมื่อตกงาน เขามีโอกาสได้แสดงฝีมืออีกครั้งกับเบรนต์ฟอร์ด ทีมจากลีกวัน ซึ่งช่วงแรกเขาทำหน้าที่ได้อย่างน่าพอใจเมื่อสามารถพาทีมไม่แพ้ใครได้ 7 นัดติดต่อกัน
แต่หลังจากนั้นโรซีเนียร์ก็ไม่สามารถคว้าชัยชนะได้อีก และแพ้ถึง 7 จาก 11 นัด ทำให้เขาถูกไล่ออกตั้งแต่ยังแข่งได้ไม่ถึงครึ่งทาง และนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่เขาได้แสดงฝีมือในฐานะผู้จัดการทีม
อย่างไรก็ดี เรื่องไม่ได้จบลงแค่นั้น (ถ้าจบแค่นั้นผู้เขียนคงโดนด่า) เพราะโรซีเนียร์ยังได้สร้างตำนานเป็นผู้จัดการทีมที่โดนไล่ออกเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลอังกฤษ ในระยะเวลาเพียง 10 นาที หลังได้รับการแต่งตั้ง
เรื่องมีอยู่ว่า ทอร์คีย์ยูไนเต็ดทีมเก่าของเขาในลีกทู เจอวิกฤตการเงินอย่างรุนแรงระหว่างฤดูกาล 2006-2007 ผลงานของทีมก็ย่ำแย่ มีการปลดผู้จัดการทีมมา 2 ครั้งก่อนที่เขาจะเข้ามารับตำแหน่งเป็นคนที่ 3 ของฤดูกาล
"ประธานโทรมาหาผมบอกว่า เขาอยากจะขายสโมสร แต่ตอนนี้ยังไม่มีผู้จัดการทีม จึงขอให้ผมไปออกงานแถลงข่าวให้หน่อย พอผมแถลงเสร็จ เขาก็โทรมาบอกผมว่า เขาขายสโมสรทิ้งไปแล้ว ระหว่างการแถลงข่าวxxลากนั่นแหละ" โรซีเนียร์กล่าว (อาจจะฟังดูแปลกแต่ก็ไม่แปลก เพราะในยามวิกฤตเช่นนั้น ประธานคนใหม่ก็อยากได้คนที่ตัวเองไว้ใจมากมาช่วยกู้สถานการณ์ ซึ่งประธานก็คงเห็นว่า โรซีเนียร์ยังไม่ใช่คนที่ใช่)
นับแต่นั้นมา โรซีเนียร์ก็ไม่ได้รับข้อเสนองานคุมทีมจากทีมระดับสโมสรอีกเลย (ไม่รวมคุมทีมชาติเซียร์ราลีโอนระยะสั้น ๆ) แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ชื่อของเขากลายเป็นที่สนใจของสื่อโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเขาก็ไม่ได้รังเกียจเพราะมันกลายเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เข้ามาทำงานสื่อรับหน้าที่เป็นนักวิเคราะห์ฟุตบอลแทน และมีโอกาสได้ผลักดันเรื่องการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและการเหยียดผิวในวงการฟุตบอล
"ในฟุตบอลลีกมีผู้จัดการผิวดำแค่สามคนในตอนนี้ (2017) ผมว่ามันต้องมีปัญหาอะไรสักอย่างแล้วแหละ" โรซีเนียร์กล่าว ก่อนเสริมว่า "จอห์น บาร์นส์ (อดีตปีกผิวดำของลิเวอร์พูล) พูดไว้ดีมากเลยตอนที่บอกว่า ผู้จัดการทีมผิวดำจะมีโอกาสให้ล้มเหลวได้สักกี่ครั้งกัน"
โรซีเนียร์ผลักดันเรื่องการขจัดปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติในวงการฟุตบอลมายาวนานนับสิบปี และได้รับตำแหน่งรองประธานกลุ่มที่เรียกว่า "Show Racism The Red Card" (แจกใบแดงให้การเหยียดเชื้อชาติ) ซึ่งการทำหน้าที่ในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของเขาก็ได้เข้าตาของรัฐบาลจนทำให้ได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติคุณชั้น MBE (Member of the Most Excellent Order of the British Empire-เป็นชั้นล่างสุดของลำดับอัศวิน จากทั้งหมด 5 ชั้น ซึ่งชั้นสูงสุดจะได้รับเกียรติเรียกว่า "เซอร์") เมื่อปลายปี 2018
"มันก็ดีนะที่ได้ MBE มาต่อท้ายชื่อ ว่าแต่ผมจะใช้มันทำอะไรได้ในการผลักดันเรื่องนี้ (ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ)?" โรซีเนียร์กล่าว (BBC)
"เราเพิ่งได้เห็นเหตุการณ์หมาด ๆ กับกรณีของราฮีม สเตอร์ลิง (ถูกแฟนเชลซีเหยียดในเกมที่แมนเชสเตอร์ซิตีแพ้ในบ้านเชลซี) มันก็ตลกนะ คนมักจะบอกว่า การเหยียดเชื้อชาติมันไม่มีแล้วตอนนี้ เพราะพวกเขาไม่เคยได้เห็นมันไง
"คุณจะไม่คิดว่ามันเกี่ยวกับคุณ จนกว่าคุณจะได้เห็นเอง ได้เจอกับตัวเอง สิ่งสำคัญในเรื่องเหยียดเชื้อชาติก็คือ มันจำเป็นต้องปรากฏบนหน้าสื่อเพื่อที่คุณจะได้รับการอุดหนุนในการทำหน้าที่และช่วยสร้างความสมัครสมานในสังคมต่อไป" อดีตกองหน้าขุนค้อนเวสต์แฮมกล่าวทิ้งท้าย
*แก้ไขข้อมูลคลาดเคลื่อนที่ระบุว่าไม่มีผู้จัดการทีมผิวดำเลยในพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2019-2020 วันที่ 26 พฤศจิกายน /2019 เวลา 15.30 น.