read
social
29 พ.ย. 2562 | 16:30 น.
ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา เด็กสาวอายุ 14 ปี ผู้ยื่นขอแก้กฎหมายเพื่อเพื่อนที่มีอาการซึมเศร้า
Play
Loading...
“เขาเริ่มจากกรีดข้อมือตัวเองเป็นแผลสั้น ๆ แล้วใส่เสื้อแจ็คเก็ตปิดไว้ เราเลยไม่เห็น จนกรีดยาวขึ้นเรื่อย ๆ เราก็สงสัยว่าทำไมหน้าร้อนต้องใส่แจ็คเก็ตตลอด พอวันกีฬาสีอากาศร้อนมาก ๆ เขาทนไม่ไหวเลยถอดเสื้อออก เราถึงได้เห็นแผลแล้วเข้าไปถามว่าเป็นอะไร ใช้เวลาคุยกับเพื่อนอยู่ 2 อาทิตย์ กว่าเขาจะยอมบอกว่ามีปัญหาที่บ้านกับเรื่องผลการเรียนไม่ดี”
จากจุดเริ่มต้นที่เพื่อนในโรงเรียนซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับเธอพยายามทำร้ายตัวเอง เนื่องจากความเครียดที่สะสมมาตลอดหลายปี ทำให้
ญา-ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา
ในวัยเพียง 12 ขวบ ค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เพื่อหาสาเหตุและวิธีการช่วยเหลือเพื่อนของเธอด้วยตัวเอง ซึ่งคำตอบที่ได้ในตอนนั้นคือ
‘อาการซึมเศร้า’
“ตอนนั้นหาจาก Google ว่าอาการแบบนี้เป็นยังไง การกรีดข้อมือมีสาเหตุจากอะไร ก็เจอคำตอบว่าเป็นอาการซึมเศร้า เราก็คิดต่อไปว่าถ้าเขาเป็นซึมเศร้าแล้วต้องพาไปรักษายังไง เลยได้ศึกษาไปเรื่อย ๆ ก็จะมีที่บอกวิธีถูกบ้างผิดบ้าง เราต้องเลือกวิธีที่เหมาะสมไปช่วยเพื่อนเรา”
วิธีการช่วยเหลือที่เด็กอายุ 12 ปี อย่างเธอคิดได้ในตอนนั้นคือ การพาเพื่อนของเธอไปพบกับจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และมีพูดคุยให้คำปรึกษา รวมถึงการทำจิตบำบัด แต่แทนที่จะตรวจอาการของเพื่อนเธอ ทางโรงพยาบาลกลับบอกให้พวกเธอกลับไปก่อน แล้วมาใหม่พร้อมกับนำผู้ปกครองของเพื่อนมายืนยันด้วย ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้เพื่อนของเธอต้องเป็นแบบนี้มาจากปัญหาที่บ้าน แล้วเธอเองเคยคุยเรื่องนี้กับพ่อแม่ของเพื่อนหลายครั้ง แต่ทุกครั้งก็ถูกต่อว่าไม่ให้มายุ่งกับลูกของพวกเขา !!
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ญาตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กถึงไม่มีสิทธิที่จะเข้ารับการรักษาอาการซึมเศร้าได้ เป็นที่มาให้เธอได้เรียกร้องให้เด็กอย่างพวกเธอ ถ้าหากมีปัญหาทางสุขภาพจิตสามารถที่จะเข้าไปหาจิตแพทย์ได้เองโดยไม่ต้องมีผู้ปกครองไปด้วย จนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เธอได้เป็นหนึ่งในแกนนำ เข้าพบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ พ.ศ. 2551 เพื่อให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับการรักษาบำบัดได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง
“เด็กบางคนเป็นซึมเศร้าตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นประถม แต่ไม่สามารถไปพบจิตแพทย์ได้ เพราะผู้ปกครองไม่ยินยอม คิดว่าคนที่ไปพบจิตแพทย์คือคนบ้า เลยต้องจมอยู่กับความทุกข์มาตลอด อาการป่วยก็หนักขึ้นเรื่อย ๆ มีการทำร้ายตัวเองและพยายามฆ่าตัวตาย นอกจากจะเครียดกับโรคที่เป็นอยู่แล้ว ยังต้องเครียดกับการที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาได้อีก ถ้ารอให้อายุถึง 18 ปี เพื่อเข้ารับการรักษาก็อาจจะสายเกินไป เราจึงจำเป็นต้องผลักดันเรื่องนี้ และปรับความเข้าใจและมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการซึมเศร้า”
ก่อนหน้านี้ ญาได้เคยพยายามยื่นให้แก้ไขครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งบรรยากาศในตอนนั้นไม่ได้ราบรื่นเหมือนการเข้ายื่นครั้งล่าสุด อาจเพราะในปีนั้นผู้ใหญ่หลายคนยังไม่เข้าใจสิ่งที่เธอพยายามขับเคลื่อน รวมไปถึงวันนั้นมีหนึ่งในคนที่มีส่วนเขียนพระราชบัญญัติสุขภาพจิตฉบับที่เธอต้องการแก้ไข ได้มานั่งอยู่ที่ตรงนั้นด้วย
“เขาบอกว่าที่เขียนมาแบบนี้ เพราะมองว่าเด็กยังไม่อยากที่จะรักษา เลยเขียนไว้แบบนี้เผื่อปกป้องเด็ก จริงอยู่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว อาจจะเป็นแบบนั้นอย่างน้อยก็ในความคิดของเขา ที่คิดว่าเด็กยังไม่พร้อมที่จะรักษา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับเด็ก แต่กลับไม่มีเด็กอยู่ในบอร์ดประชุมเลย นโยบายแต่ละอย่างที่ออกมาเด็กไม่ได้มีส่วนร่วม เขาคิดแทนเด็กว่าต้องการแบบนี้ ทำไมไม่ถามเสียงเด็กสักคำว่าต้องการแบบนี้จริง ๆ หรือเปล่า”
เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
ตอนนี้ ญา-ปราชญา ในวัย 14 ปี ได้เป็นแกนนำเยาวชนเลิฟแคร์คลับ และประธานสภาเด็กและเยาวชนเขตบางกะปิ ที่นอกจากจะขับเคลื่อนเรื่องประเด็นสุขภาพจิตเด็กแล้ว เธอยังสนใจอีกหลายประเด็น อย่างเช่น เรื่องการพัฒนาสุขภาวะเยาวชน เรื่องการท้องไม่พร้อม โดยมีโอกาสทำงานร่วมกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) และได้เข้าร่วมงาน
‘คนใต้ หยัดได้’
ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา ซึ่งสนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีภูมิคุ้มกันและทักษะชีวิตในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ญาได้ขึ้นเวทีแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับอาการซึมเศร้าในวัยรุ่นที่เธอได้ศึกษามา ร่วมกับวิทยากรหลายคน เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ว่าวัยรุ่นก็สามารถเกิดอาการซึมเศร้าได้จากสาเหตุความเครียดมากมาย ทั้งเรื่องพ่อแม่ ความรัก เพื่อน การเรียน รูปร่างหน้าตา รวมไปถึงสมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งเด็กบางคนได้รับความกดดันจากที่บ้าน ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่แบกรับไว้มันหนักหนายากจะสำเร็จ จนรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าเมื่อไม่สามารถทำได้อย่างที่พ่อแม่ต้องการได้
“เวลาเป็นซึมเศร้าอาจจะมีของแถม บางคนมีของแถมมาหลาย ๆ อาการไปพร้อมกัน ถ้าไม่อยากได้ของแถมเราต้องรู้ตัวไวว่า อาการซึมเศร้าเกิดจากความเครียด เวลามีความเครียดเราต้องจัดการมัน หรือพอมีปัญหาเราไม่จำเป็นต้องหนีมันก็ได้ แค่เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เพราะบางครั้งปัญหาเกิดจากครอบครัว เราหนีไปไม่ได้ ไม่ต้องคิดมาก ใส่ใจกับปัญหามากมาย คิดว่าเป็นปัญหาที่เราอยู่ร่วมกับมันได้ เป็นปัญหาที่แก้ไขง่าย สุดท้ายแล้วเราจะผ่านมันไป”
นอกจากพยายามขับเคลื่อนในการให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี สามารถเข้ารับการรักษาบำบัดได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองแล้ว เธอยังอยากให้มีช่องทางเพื่อให้เด็กเข้าไปรับการปรึกษาหรือรักษาได้มากขึ้น อาจจะเป็นสถานีอนามัย หรือไม่ก็ทำเป็นพื้นที่ให้ทำกิจกรรมทั่วไป ที่ไม่ต้องติดป้ายว่าเป็นที่รักษาแค่มีจิตแพทย์คอยให้ปรึกษาได้ ซึ่งเธอคิดว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาและงบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก กว่าที่จะพัฒนาบุคลากรที่เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านทางด้านสุขภาพจิตขึ้นมาได้เพียงพอกับความต้องการ
ห้องเรียนไร้กรอบ
แม้จะมีความคิดความอ่านโตกว่าเด็กวัย 14 ทั่วไป แต่ญาก็เหมือนกับเด็กหลายคนที่อ่านการ์ตูน อ่านหนังสือ National Geographic แล้วอยากเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ อยากเป็นหมอเด็ก แต่สิ่งที่ทำให้เธอแตกต่างจากเด็กวัยเดียวกันส่วนหนึ่งมาจากการที่ครอบครัวของเธอเลี้ยงดูแบบไม่ปิดกั้นความคิด มีการส่งเสริมให้ได้แสดงความคิดเห็น ที่สำคัญคือการให้เธอได้เลือกวิธีการเรียนที่เหมาะสมกับเธอนั่นคือ การเรียนที่บ้านด้วยตัวเอง หรือ Home School
“ที่โรงเรียนเราจะถูกจำกัดความคิดอยู่แค่ในแผนการสอนของครู ถ้าเราเกิดสงสัยเรื่องที่เกินกว่าเด็ก ป.3 คนหนึ่งอยากจะรู้ก็ไม่ได้ ตอนนั้นเราอยากรู้เรื่องอะตอม ครูก็บอกว่ารอให้ถึง ม.1 ก่อน เราก็รู้สึกว่าถ้าสมมติกลับไปบ้านมีเวลาศึกษาเองมันก็ยังโอเค แต่พอกลับไปเราต้องไปทำการบ้าน คัดลายมือ ท่องสูตรคูณ ทำในสิ่งที่ครูมอบมาซึ่งเราไม่ค่อยสนใจ ไม่ได้มีเวลาไปศึกษาในสิ่งที่เราอยากรู้เลย ก็คิดว่าถ้าเรียน Home School น่าจะมีเวลามากขึ้น”
ก่อนตัดสินใจเรียน Home School เธอได้ปรึกษากับพ่อแม่ พอดีเป็นช่วงกำลังเข้า ป.4 ซึ่งต้องย้ายไปเรียนอีกโรงเรียนหนึ่ง ทำให้การเลือกเรียนนอกระบบมีความเป็นไปได้มากขึ้น ข้อดีของการเรียนที่บ้านด้วยตัวเอง คือได้มีเวลาอยู่กับตัวเองเยอะ มีเวลาได้สงสัย ได้หาความรู้ โชคดีแม้จะเป็นลูกคนเดียว แต่พ่อแม่ก็ให้เวลากับเธอ แล้วไม่ได้ปิดกั้นความสงสัย พยายามหาคำตอบมาให้ ทำให้ญาได้พัฒนาในสิ่งที่เธอสนใจมาตลอดนั่นคือ เรื่องจิตวิทยาเด็ก จากการค้นคว้าหาข้อมูล เข้าร่วมงานสัมมนาต่าง ๆ ไปจนถึงการสังเกตตัวเอง จนเข้าใจวิธีการจัดการกับอารมณ์ที่เกิดนั้นได้อย่างไร
“อาจจะเป็นเพราะพ่อแม่ไม่ได้ปิดกั้น ชวนเราคุยหลาย ๆ เรื่อง มีโอกาสทำกิจกรรมพร้อมกับพ่อแม่บ่อย ๆ ได้พูดคุยถึงการทำงานของหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ เราเลยมีระบบการคิดรู้ว่าอะไรควรไม่ควร รู้จักการปรับตัวเข้ากับคนอื่นเพื่อให้เราทำงานได้”
เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย
โลกปัจจุบันที่เหมือนจะหมุนเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราเหนื่อยล้าจากการวิ่งไล่ความเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับวัยรุ่นยิ่งเหนื่อยกว่านั้น เพราะเป็นช่วงวัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านก้าวไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ไม่แปลกที่การเป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นคนที่เกิดในครอบครัวที่ดีพร้อม หรือครอบครัวที่ขาดแหว่งบางอย่าง ก็มีโอกาสที่จะเกิดความเครียดหมด ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้การเป็นวัยรุ่นไม่ต้องเหนื่อยมากขึ้นไปอีกคือ การสื่อสารกับผู้ใหญ่ให้เข้าใจ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ปรับจังหวะการหมุนของชีวิตให้เข้ากันในหลายเรื่อง ในกรณีของสาวน้อยวัย 14 คนนี้คือ การสื่อสารให้ผู้ใหญ่ได้เข้าใจการที่เธอลงมือขับเคลื่อนเรื่องอาการซึมเศร้า
“เราจะพูดให้ผู้ใหญ่เข้าใจได้ง่ายที่สุด เราเริ่มต้นจากการเปลี่ยนคนในครอบครัวเราก่อน ตอนแรกเขาก็ยังคิดว่าซึมเศร้าเท่ากับบ้าอยู่ เราก็ค่อย ๆ คุยกับเขาไปเรื่อย ใช้เวลาเดือนหนึ่งก็ปลดล็อกครอบครัวให้เข้าใจได้แล้ว ต่อไปเราก็อยากจะไปเปลี่ยนครอบครัวอื่นดูบ้าง แต่บางทีเพราะผู้ใหญ่ชอบคิดว่าเด็กสุดโต่ง เลยไม่ค่อยยอมฟังเวลาที่เด็กพูด เวลาทำอะไรก็จะดูผิดไปหมด เราเลยใช้วิธีการถอยก้าวหนึ่ง แล้วให้เขายอมถอยก้าวหนึ่ง แล้วมาเรียนรู้ร่วมกัน”
ขณะที่เด็กวัยใกล้กันอย่าง เกรตา ทุนเบิร์ก พยายามแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก ญาเองก็พยายามปรับให้ผู้คนที่อยู่แวดล้อมเธอ มีความเข้าใจในเรื่องอาการซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น สิ่งที่ต่างกันคือเธอเลือกใช้วิธีการถอยในเวลาที่สถานการณ์พูดคุยเริ่มตึงเครียดเกินไป ใช้คำพูดที่ผ่านการคิดกลั่นกรองมาอย่างดี และพยายามใช้การอธิบายสื่อสารให้เข้าใจ ไม่ให้รู้สึกว่าเป็นการเถียง เพื่อให้ผู้ใหญ่ไม่คิดว่าเธอเป็นเด็กที่สุดโต่ง
“อาจจะต่างจากเกรตา ตรงสเกลปัญหาเรายังแค่ในประเทศ ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อย่างโลกที่กำลังถูกทำลาย ถ้าเป็นแบบนั้นอาจจะไม่ยอมถอยเหมือนกัน ตอนนี้ถ้าเปลี่ยนแปลงได้ ก็อยากจะเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพราะไม่ได้ทำเรื่องสุขภาพจิตอย่างเดียว มีเรื่องตั้งครรภ์ไม่พร้อมด้วย จริง ๆ ประเด็นเรื่องเพศศึกษาเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ปิดกั้นเด็กมานานแล้ว จนกลายเป็นว่าเด็กท้อง ค่อยมาบอกว่า ทำไมไม่ใช้ถุงยาง แม้จะบอกว่าเข้าใจ แต่พอเด็กไปขอถุงยางก็ยังถามว่าเอาไปทำอะไร ทั้งที่ก็รู้ว่าเอาไปทำอะไร ถ้าสังคมเปิดกว้างแล้วเข้าใจ จะแก้ได้หลายเรื่อง ทั้งท้องไม่พร้อม เรื่องสุขภาพจิต แทนที่จะซ้ำเติมว่า ลูกคนนี้ท้อง เพราะสำส่อน ลูกบ้านนี้เป็นบ้า อยากให้ทุกคนเห็นเด็กมีปัญหาแล้วเข้าใจ ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แค่สอบถามว่ามีอะไรที่พอช่วยได้ไหม ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง”
ในงาน
‘คนใต้ หยัดได้’
ครั้งที่ 2 ที่สนับสนุนโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา ญาได้เป็น 1 ในผู้ร่วมงานกว่า 350 คน ที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเครือข่ายเยาวชนคนใต้หยัดได้ อีกกว่า 60 คน ที่เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนในการพัฒนาสุขภาวะเยาวชนหลาย ๆ ประเด็นกัน
เด็กสมัยนี้
คำว่าเด็กสมัยนี้ จะเป็นคำที่ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ใช้มองเด็ก ๆ ในแง่ลบ แต่สำหรับเด็กสมัยนี้อย่างญา เธอได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กสมัยนี้ ที่เพิ่งลืมตาดูโลกได้แค่ 14 ปี แต่ด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง และข้อมูลที่มากมายที่หาได้จากอินเทอร์เน็ต รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ใหญ่ที่เข้าใจอยู่เสมอ ช่วยให้เด็กก็มีความรู้ความเข้าใจโลกได้ไม่แพ้ผู้ใหญ่หลายคน กลับกันเป็นผู้ใหญ่บางคนเสียอีกที่ปิดกั้นตัวเองจากการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ยอมรับสิ่งที่ตัวเองเคยรู้จักคุ้นชิน
“ที่ผู้ใหญ่ชอบพูดว่าเด็กสมัยนี้ อาจเป็นเพราะว่าเขาผ่านการเลี้ยงดูแบบสมัยก่อนมา แล้วบางวิธีการใช้การได้กับเด็กสมัยก่อน แต่ใช้ไม่ได้กับเด็กสมัยนี้ พอใช้ไม่ได้ผู้ใหญ่บางคนเลยไม่ยอมเปิดรับวิธีการใหม่ ๆ กลับมองว่าเด็กมันหัวดื้อ เพราะใช้วิธีการที่เขาเคยได้แล้วไม่ได้ผล อย่างเราเองถ้าโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เราต้องพยายามเข้าใจคนที่เราทำงานด้วย ทำงานพร้อมกับเขาเยอะ ๆ เพื่อให้เข้าใจสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก บางทีเราคุยกับพี่ที่อายุ 24-25 เขายังมองเราในอีกรูปแบบหนึ่ง ดังนั้นเราต้องพยายามปรับตัว ไม่คิดว่าวิธีการที่เคยทำมาเป็นวิธีการเดียวที่ได้ผลกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น คือเราต้องยอมรับอะไรใหม่ ๆ หลาย ๆ อย่าง”
สิ่งหนึ่งที่พวกเด็กสมัยนี้อย่างพวกเธอคิดตรงกันคือ อยากให้มีคือการบรรจุหลักสูตรเรื่องอาการซึมเศร้าลงไปในการเรียนทั้งของเด็กแล้วก็ของครูผู้สอน เพราะว่าครูเป็นเหมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก เวลาเด็กไปปรึกษาครูเรื่องนี้ ครูบางคนอาจปล่อยผ่าน บางคนบอกว่าเป็นบ้า บางคนอยากให้คำแนะนำแต่ไม่รู้จะให้คำแนะนำอย่างไร หรือให้คำแนะนำที่ผิด เช่น การบอกว่าอย่าคิดมาก ซึ่งถ้าเด็กที่เป็นซึมเศร้าบางคนพอได้ยินว่าอย่าคิดมากกลับยิ่งคิดมาก ถ้าหากมีหลักสูตรเบื้องต้นว่าครูต้องให้คำปรึกษาอย่างไร ถ้าเด็กมีอาการหนักจะส่งต่อไปที่ไหน จะช่วยเด็กที่มีอาการซึมเศร้าได้มาก
ความสุขของปราชญา
คำถามถึงเรื่องอนาคต และคุณค่าในชีวิตอาจเป็นเรื่องที่ตอบยาก โดยเฉพาะกับคนที่เพิ่งผ่านโลกมาเพียงแค่ไม่กี่ปี แต่ไม่น่าเชื่อว่าเด็กคนนี้จะตอบแทบจะในทันทีว่าคุณค่าในสิ่งที่เธอทำคือ อยากจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ อยากช่วยทำให้ทุกคนมีความสุข แม้เธอจะยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ในการที่จะทำให้คนหนึ่งคนมีความสุขได้ แต่ถ้าหากทำให้เขามีความสุขได้จริง ๆ จะเป็นการช่วยลดการเกิดปัญหาได้หลายอย่าง เพราะถ้าคนมีความสุขในใจแล้วก็ไม่จำเป็นต้องไปหาความสุขจากสิ่งอื่น ๆ อีก
“เวลาไปทำเคสแล้วให้คำปรึกษากับคนที่ไม่ได้มีอาการซึมเศร้ารุนแรงแล้วช่วยให้เขาหายได้ มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุข แต่ว่าเราก็ต้องไม่สร้างความทุกข์ให้กับตัวเองด้วย เพราะว่ามีหลายคนเลยที่ตอนแรกให้คำปรึกษาดี ๆ แล้วกลายเป็นซึมเศร้าเอง จิตแพทย์ก็มีอาการหลายคน เราเลยป้องกันไว้เลยดีกว่า ด้วยการแบ่งชีวิตครึ่งหนึ่งเพื่อคนอื่น แล้วอีกครึ่งกันไว้สำหรับเราเอง"
สาวน้อยวัย 14 ได้เปรียบเทียบการป้องกันสุขภาพจิตตัวเองด้วยการสมมติว่า ในเหตุการณ์น้ำท่วม ให้เรามองหาท่อนซุงที่จะยึดเกาะ ก่อนที่จะเรียกหาคนอื่น ๆ ท่อนซุงก็เหมือนสิ่งที่จะมาปกป้องตัวเองให้แข็งแกร่งก่อนที่จะไปช่วยเหลือคนอื่น เพราะอาการซึมเศร้าบางทีเป็นเพราะว่าเราใส่ใจคนอื่นมากเกินไป ทำให้กลายเป็นว่าเรากลับมีอาการเอง เราต้องรู้จักรักตัวเองก่อนแล้วค่อยเผื่อแผ่ไปรักคนอื่นต่อไป ญายังบอกด้วยว่าวิธีการช่วยเหลือผู้ที่มีอาการซึมเศร้าที่ดีที่สุดของเธอคือ
‘การรับฟัง’
“ตอนนี้มีคนเป็นซึมเศร้าเยอะ แต่คนเป็นมักไม่พูด คนพูดมักจะไม่เป็น แต่ว่าคนที่พูดบางคนอาจจะเป็นก็ได้ ไม่อยากให้ตัดสิน แต่อนาคตหวังว่าสิ่งที่เราทำอยู่อย่างเช่นหลักสูตรที่มีอยู่ในโรงเรียน จะช่วยทำให้คนรู้ว่าอาการตัวเองเป็นอย่างไร แล้วไม่ควรพูดถึงอาการซึมเศร้าในแบบไหน อย่างการพูดกับคนที่มีอาการซึมเศร้าว่า สู้ ๆ นะ มันเหมือนเราไม่ได้ใส่ใจเขาเลย เขาจะคิดว่าเป็นคำที่ชุ่ยมาก จะให้ไปสู้กับอะไรอีก ทางที่ดีควรจะกอด ไม่ต้องไปกอดจริง ๆ ก็ได้ แต่เป็นการโอบกอดรับฟัง หรือถ้าเข้าไปกอดจริง ๆ ได้ยิ่งดี เพราะจะช่วยให้คนที่ถูกกอดรู้สึกอบอุ่นมีพลังแล้วดีขึ้นจริง ๆ เราไม่จำเป็นต้องไปกอดคนที่เราไม่รู้จัก แค่เราไปกอดคนใกล้ตัวแค่นี้ก็ดีแล้ว”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
Chevron
คนใต้หยัดได้
เชฟรอน
p2h
ซึมเศร้า
LoveCareStation
ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา
สุขภาพจิต
ผู้ใหญ่เปิดใจลูกหลานรักปลอดภัย