วิกโก มอร์เทนเซน “ผมไม่ได้เลือกแสดงหนังจากเงิน แต่เลือกบทตามที่ต้องการ”
หากพูดชื่อ วิกโก มอร์เทนเซน ในระยะหลังมานี้เราอาจไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่าเขาคือผู้รับบท อารากอร์น จากมหากาพย์ The Lord of The Rings คนดูหนังทุกคนจะร้อง “อ๋อ” ทันที
หลังความสำเร็จจากแฟรนไชส์อภินิหารแหวนครองพิภพ มอร์เทนเซนสามารถผันตัวเป็นนักแสดงเบอร์ใหญ่ในวงการฮอลลีวูดได้ง่าย ๆ ทว่าเขากลับปฏิเสธความสำเร็จตรงนั้น และเปลี่ยนเส้นทางไปแสดงภาพยนตร์อินดี้แทน ทั้งยังเคยบอกปัดภาพยนตร์ฮอลลีวูดขนาดยักษ์พร้อมเงินก้อนโตทิ้ง เพราะอยากแสดงในบทที่ตัวเองต้องการเท่านั้น โดยขอเป็นคนเลือกบทที่จะแสดงเอง
“ผมไม่ได้เลือกแสดงหนังจากเงินหรือภาษาที่ใช้แสดง ผมแค่อยากอยู่หนังที่ 10 ปีข้างหน้า จะไม่รังเกียจที่จะดู”
มอร์เทนเซนยังนำรายได้ส่วนหนึ่งจาก LOTR มาเปิดสำนักพิมพ์ Perceval Press เน้นงานเขียนทั่วไปที่สำนักพิมพ์อื่นไม่รับ เช่น กวี ภาพถ่าย หรืองานศิลปะ เป็นสำนักพิมพ์อินดี้ที่ไม่ต่างจากนิสัยส่วนตัวของเขา
“หนังสือของสำนักพิมพ์ Perceval คือหนังสือที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่จะอ่าน ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางอนุรักษนิยมเท่าไหร่ ฉะนั้นถ้าผมคิดว่านักเขียนเขียนมาดีแล้ว ผมจะไม่บอกว่าผมคิดอะไร ผมจะตั้งคำถามและให้โอกาสนักเขียนถามตัวเองว่า เชื่อมโยงกับหนังสือนั้นอย่างไร”
ก่อนเข้ามาสู่วงการฮอลลีวูด เดิมทีนักแสดงสัญชาติอเมริกัน-เดนมาร์กคนนี้ ประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งคนขับรถบรรทุก คนส่งดอกไม้ หรือพนักงานถ่ายตู้สินค้าตามท่าเรือในเดนมาร์ก เรียกได้ว่าเป็นมนุษย์หาเช้ากินค่ำทั่ว ๆ ไป งานอดิเรกของเขาคือการดูภาพยนตร์ กระทั่งวันหนึ่งเขาคิดว่าตัวเองก็เป็นนักแสดงได้ จึงตัดสินใจย้ายมายังลอสแอนเจลิสเพื่อหางานเป็นนักแสดง
ระหว่างรอรับบทภาพยนตร์ เขาทำงานพิเศษเป็นบาร์เทนเดอร์กับเด็กเสิร์ฟอยู่เป็นปี ก่อนจะได้รับบทเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามภาพยนตร์เล็ก ๆ มากมาย แม้แต่หนัง The Purple Rose of Cairo (1985) ของ วูดดี อัลเลน ซึ่งฉากที่เขาแสดงถูกตัดออกจนไม่มีเขาแม้แต่ฉากเดียว
“สำหรับผมการสร้างหนังมันไม่ใช่เรื่องการใช้จ่ายเงินอย่างเดียว แต่มันเป็นคอร์สการเรียนรู้ใหม่ ๆ เพราะการเรียนรู้ไม่มีขีดจำกัด”
ในที่สุดช่วงเวลาของ วิกโก มอร์เทนเซน ก็มาถึง เมื่อเขาส้มหล่นได้รับบท อารากอร์น ใน The Lord of The Rings หลัง สจ๊วต ทาวน์เซนด์ ถอนตัวออกไป สาเหตุหนึ่งที่เขามารับเล่นหนังเรื่องนี้ก็เพราะลูกชายวัย 11 เป็นแฟนคลับ LOTR ฉบับนิยาย
เพียงภาคแรกออกฉาย เขาก็ประสบความสำเร็จในฐานะนักแสดงเสียที
แต่ความสำเร็จไม่ใช่เป้าหมายสำคัญในชีวิต หลังเสร็จสิ้นโปรเจกต์ LOTR เขาเลือกเบนเข็มชีวิตไปสายภาพยนตร์อินดี้แทน โดยเลือกรับงานเพียงปีละไม่กี่เรื่องเท่านั้น อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์ของเขาก็ล้วนประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์ ทั้ง A History of Violence (2005), Eastern Promises (2007), The Road (2009) หรือไม่นานนี้ Captain Fantastic (2016) กับบทบาทคุณพ่อสุดเพี้ยนที่พยายามปกป้องลูกจากความโหดร้ายของสังคม จนได้รับการเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายในปี 2017 แต่เขาก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความพังพินาทของชีวิต เคซีย์ แอฟเฟล็ก ใน Manchester By the Sea (2016)
ล่าสุด วิกโก มอร์เทนเซน กลับมาเดินสนามรางวัลอีกครั้งกับภาพยนตร์ Green Book (2018) ที่เดินทางคว้ารางวัลมาแล้วหลายสถาบันรวมกันกว่า 20 รางวัล รวมไปถึงการเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 5 รางวัล อุ่นเครื่องก่อนประกาศผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ปีนี้
และแน่นอน เขาคือหนึ่งในตัวเต็งรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมปีนี้
Green Book สร้างจากเรื่องจริงของ “โทนี วัลเลลองกา” (วิกโก มอร์เทนเซน) ที่ต้องมาเป็นคนขับรถให้ “ดอน เชอร์ลี” (มาเฮอร์ชาลา อาลี) นักเปียโนคลาสสิคผิวสีระดับโลก ระหว่างที่เขาออกเดินสายขึ้นแสดงในยุค 60 สิ่งเดียวที่นำทางทั้งคู่คือ "สมุดปกเขียว" ที่บอกสถานที่ที่เป็นมิตรกับคนผิวสี พวกเขาต้องฝ่ากำแพงแห่งสีผิว และภัยอันตรายต่าง ๆ เพื่อพิสูจน์น้ำใจจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ทั้งนี้ชื่อภาพยนตร์ Green Book มาจากชื่อหนังสือ “The Negro Motorist Green Book” หรือคู่มือการเดินทางที่ตีพิมพ์รายปีระหว่างปี 1936 ถึง 1966 ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลร้านขายของ และที่พักที่เปิดให้บริการกับคนดำ มันถูกเรียกสั้น ๆ ว่า “สมุดปกเขียว” และกลายมาเป็นเครื่องมือเอาตัวรอดของคนแอฟริกันอเมริกันที่เดินทางด้วยรถ
“พีท (ปีเตอร์ ฟาร์เรลลี – ผู้กำกับ Green Book) ส่งบทมาให้ผมอ่าน เขาบอกผมว่าผมเป็นตัวเลือกเดียวของเขาสำหรับบทนี้ สองวันหลังจากที่เขาส่งมา ผมโทรหาพีท ผมบอกเขาว่า ‘ผมชอบตัวละครนี้นะ ผมยังชอบเรื่องราวของสองสุภาพบุรุษด้วย แต่ผมไม่แน่ใจว่าผมคือคนที่ใช่สำหรับบทนี้หรือเปล่า ผมไม่เคยเล่นอะไรแนวนี้มาก่อน’ แต่เขายืนกรานให้ผมเล่น”
มอร์เทนเซนกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่เข้ามารับบทนี้ต่อว่า “ผมอ่านซ้ำอีกรอบแล้วรอบเล่า ผมไม่สามารถเอาเรื่องนี้ออกจากความคิดได้ ผมเลยโทรหาพีทอีกทีแล้วเราคุยกันยาวเลย ลึก ๆ แล้วผมกลัวว่าจะถ่ายทอดตัวละครนี้ออกไม่มาไม่ตรงกับความตั้งใจของทีมงาน”
อย่างไรก็ตาม เขามองความกังวลว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานสร้างสรรค์ “จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ความกังวลเป็นสัญญาณที่ดี เพราะมันเหมือนกำลังบอกว่า บางทีคุณควรจะเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ดู”
หลายเดือนก่อนการแสดง มอร์เทนเซนลงทุนเดินทางจากบ้านที่สเปนมายังสหรัฐฯ เพื่อพบทายาทวัลเลลองกาตัวจริง แม้ว่าบ้านวัลเลลองกากับมอร์เทนเซนจะมาจากคนละประเทศ มีประวัติต่างกัน แต่พวกเขาก็เข้าใจกันและกัน “พวกเขาดีต่อผมตั้งแต่แรกเลยผมคิดว่าอาจจะใช้เวลาที่นี่ซักชั่วโมงสองชั่วโมง แต่กลายเป็นว่าเรานั่งกินอาหารอิตาเลียนกันยาวเกือบครึ่งวัน เราคุยกันออกรสมาก”
มอร์เทนเซนยังพูดถึงหนังเรื่องนี้ว่า “นี่เป็นหนังที่เกี่ยวกับมิตรภาพระหว่างชายผิวดำและผิวขาวก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิพลเมือง มีฉากหลังเป็นช่วงที่ความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์ตึงเครียดที่สุดยุคหนึ่ง ผมว่าผู้ชมจะได้มุมมองใหม่ ๆ ไปพร้อมกับความสนุก”
ในด้านชีวิตส่วนตัว วิกโก มอร์เทนเซน เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสาร Esquire ไว้ว่า “หมกมุ่น” กับความตายอยู่ตลอดเวลา
“ตอนยังเด็ก ความทรงจำแรก ๆ ของผมคือตื่นขึ้นมาแล้วคิดว่า ‘อืย เรากำลังจะตาย’ ผมเดาว่าน่าจะเป็นเพราะอยู่ต่างจังหวัดเลยเห็นเรื่องพวกนี้เร็ว นั่นคือไอเดียหลักของความไม่เที่ยงแท้ คุณรู้ไหม? ครั้งหนึ่งผมคิดได้ว่าสัตว์ต้องตาย แม้แต่ตัวผมก็ต้องตายเช่นกัน”
แม้จะฟังดูน่าหดหู่ แต่สำหรับเขาแล้วมันชวนหัวร้อนมากกว่า “แบบว่า ไร้สาระว่ะ หลักความตายอะไรเนี่ย ทุกวันนี้ผมยังตื่นขึ้นมาคิดถึงเรื่องความตายอยู่เลย นั่นเป็นเรื่องแรกที่เข้ามาหัวตอนตื่น แต่ก็ดีนะ เพราะมันทำให้ผมรู้สึกอยากทำทุกอย่างที่อยากทำ”
ทำทุกอย่าง ก่อนที่เขาจะไม่มีโอกาสได้ทำ
ลองมาลุ้นกันว่า บนเวทีออสการ์ครั้งที่ 91 นี้เขาจะมีโอกาส “ทำ” ชูถ้วยรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายหรือไม่?
ที่มา