เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน

เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน
“ไทยขาดแคลนนักโบราณคดีใต้น้ำหนัก ทั้งประเทศมีอยู่แค่ 4 คน!” พาดหัวรายงานจาก MGR Online เผยแพร่เมื่อ 17 กันยายน พ.ศ.2562 เห็นแล้ว คงทำให้ใครหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า โบราณคดีใต้น้ำของไทย ขาดแคลนบุคลากรจริงอย่างที่กล่าวอ้างหรือไม่? ทำไมถึงหาคนมาทำงานนี้ไม่ได้? หรือจริง ๆ แล้ว มีคนจำนวนมากพร้อมที่จะทำงานแต่หน่วยงานไม่ได้รับการอนุมัติให้เพิ่มอัตรามากไปกว่าที่มีอยู่? หรือจะมีคำถามที่พื้นฐานลงไปกว่านั้นว่า โบราณคดีใต้น้ำหมายถึงอะไร? ทำการศึกษาเกี่ยวกับอะไรบ้าง? The People ได้สอบถามกับ เอิบเปรม วัชรางกูร ประจักษ์พยานที่เห็นการกำเนิดของโบราณคดีใต้น้ำเมืองไทยตั้งแต่เริ่มต้น (หลังนักเล่นของเก่าไปเจอถ้วยสังคโลกถูกใช้เป็นถ้วยข้าวหมาของชาวประมงท้องถิ่นกลายเป็นข่าวใหญ่ ทางการไทยลงมือศึกษาเพื่อทำการอนุรักษ์ในปี พ.ศ. 2517) จนกระทั่งได้มาเป็นผู้อำนวยการกองโบราณคดีใต้น้ำคนแรกของไทย พัฒนาการของโบราณคดีใต้น้ำของไทยจึงอยู่ในสายตาของเขามาตลอด แม้วันนี้เอิบเปรมจะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม   The People: ในฐานะที่คุณเอิบเปรมคือผู้เชี่ยวชาญเรื่องโบราณคดีใต้น้ำ อยากจะให้คุณเอิบเปรมอธิบายว่า “โบราณคดีใต้น้ำ” คืออะไร เอิบเปรม: โบราณคดีใต้น้ำเป็นสาขาหนึ่งของวิชาโบราณคดี และโบราณคดีก็เป็นสาขาหนึ่งของมนุษยศาสตร์ที่ศึกษาทุกเรื่องของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี อาชีพ ความเป็นอยู่ เชื้อสาย ชาติพันธุ์ทั้งหลาย  โบราณคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยศาสตร์เราโฟกัสไปที่อดีตของมนุษย์นับตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงจุดเริ่มที่มีมนุษย์ อะไรที่เป็นเรื่องราวในอดีตของมนุษย์เราศึกษาทั้งหมด และโบราณคดีใต้น้ำก็เป็นสาขาย่อยของโบราณคดี โบราณคดีใต้น้ำก็ยึดแกนหลักของโบราณคดีในการศึกษาอดีตของมนุษย์เหมือนกัน แต่มีวิธีการได้มาของข้อมูลที่แตกต่างไปจากบนบก ในโบราณคดีใต้น้ำเราจัดข้อมูลเป็นแกนได้ 4 แกน แยกตามหลักฐานที่พบ  กลุ่มแรกก็คือเรื่องของเรือว่ามีเรืออะไรบ้างที่มนุษย์ใช้ มีขนาดรูปร่างอย่างไร กลุ่มที่สองคือเรื่องของสินค้าว่าเรือบรรทุกสินค้าอะไร สินค้าก็จะมีบุคลิกลักษณะของตัวเองอยู่ว่ามันผลิตที่ไหน ใครผลิต ผลิตเพื่ออะไร ผลิตเพื่อใช้ หรือเพื่อขาย ขายใคร ส่งไปที่ไหน  กลุ่มที่สามคือเส้นทางการค้า พอเรารู้ว่าสินค้าเกิดที่นี่ แล้วไปพบอีกที่หนึ่ง ก็แสดงว่ามันมีเส้นทางที่เชื่อมโยงกัน กลุ่มที่สี่ก็คือเมืองท่า คือไม่ใช่ว่าพอเราผลิตสินค้าขึ้นมาได้แล้วจะส่งไปขายที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น มันต้องมีตลาด เมืองท่าก็คือตลาดหลักของสินค้าที่จะนำไปขาย ไม่ใช่ว่าจะเอาสินค้าใส่เรือแล้วเร่ขายไปตามทาง นั่นไม่ใช่ลักษณะของการค้าทางทะเลซึ่งเป็นการขนย้ายสินค้าจากเมืองท่าเมืองหนึ่งไปอีกเมืองหนึ่ง มันก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเยอะแยะ อันนี้คือแกนหลักของโบราณคดีใต้น้ำ เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน The People: การศึกษาโบราณคดีใต้น้ำในเมืองไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่  เอิบเปรม: เริ่มแรกสุดปี 2517 ชาวประมงเขาเจอเครื่องสังคโลกในเรือสำเภาที่จมอยู่ที่เกาะคราม สัตหีบ จ.ชลบุรี จริง ๆ ชาวประมงลากอวน ลากอะไร ก็เจออยู่แล้ว เจอมาเป็นสิบ ๆ ปี แล้ว แต่คนบนบกไม่มีใครรู้หรอก ชาวประมงเองก็ไม่รู้ คือชาวประมงลากอวนหน้าดินทั้งหมดนะครับ ผิดกฎหมายก็ทำต่อเนื่องกันมา ติดอวนขึ้นมาก็เห็นเป็นเศษกระเบื้องที่ตกหล่นอยู่แถวนั้นไม่ได้สนใจอะไร  จนปี 2517 ถ้วยใบที่เขาลากอวนขึ้นมาเมื่อไหร่ไม่รู้ เขาเอาใส่อาหารหมาอยู่ใต้ถุนบ้านเป็นสังคโลกสุโขทัย มีพ่อค้าของเก่า ไม่ใช่เชียงกงนะ ขายโบราณวัตถุ ไปเห็นเข้าแล้วก็ถามหาว่ายังมีที่ไหนอีกมั้ย ตรงนี้แหละเป็นจุดเริ่มต้นของโบราณคดีใต้น้ำ พอชาวประมงเห็นว่ามีค่าขายได้ก็รู้ว่ามาจากที่ไหน เคยเจออยู่แล้วหลายที่ก็เอามาขายกัน จนเป็นข่าวไทยรัฐเดือนกันยายน 2517 เอาขึ้นหน้า 1 เลย จุดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่กรมศิลปากรเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้อง แรกสุดก็ไม่ได้มีการขุดค้นอะไรหรอก ก็เก็บเครื่องถ้วยชามมาวิเคราะห์แยกประเภท เพื่อศึกษาว่ามันมาจากไหน ไปที่ไหน และขายที่ไหนบ้าง แล้วกรมศิลปากรเองก็ไม่มีคนไม่มีอะไร ก็ขอใช้ทุกอย่างของกองทัพเรือ ทั้งเรือ มนุษย์กบที่เชี่ยวชาญการดำน้ำ กองทัพเรือก็ช่วยเหลือทุกอย่าง เปิดอาคารเวลาเอาของขึ้นก็เอามาเก็บอนุรักษ์ที่สัตหีบ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นปี 2517  แล้วก็พัฒนาการมาเรื่อย ๆ มีการฝึกอบรมนักศึกษาโบราณคดี ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของศิลปากร คือ กรมศิลปากร กับมหาวิทยาลัย เป็นคนละกลุ่มกัน กรมศิลปากรฝึกเจ้าหน้าที่ของตัวเองเพื่อให้เดินหน้างานโบราณคดีใต้น้ำได้ ขอโอนเจ้าหน้าที่กองทัพเรือที่กองทัพเรือสนับสนุนให้มาช่วย ขอโอนมาช่วยราชการกรมศิลป์เลย แล้วตั้งหน่วยงานขึ้นมา ทางมหาวิทยาลัย (ศิลปากร) ก็เปิดสอน เชิญอาจารย์ผู้รู้ต่าง ๆ เชิญมาจากต่างประเทศ เชิญมาจากกรมทรัพยากรธรณี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาสอนรุ่นนั้น ซึ่งผมได้เรียนเป็นรุ่นแรก  นับจากตรงนั้นมามีคนอยู่ 5 คน ถึงปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 25 คน มีนักโบราณคดีใต้น้ำตอนนี้ 4 คน จากเมื่อก่อนนี้ไม่มีสักคน เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน The People: ทำไมถึงสนใจโบราณคดีใต้น้ำ และตอนนั้นความสนใจเรื่องโบราณคดีในบ้านเรามีมากน้อยแค่ไหน เอิบเปรม: ไม่มีเลย ถ้ามีคนแย่งกันสอบเข้าเอนทรานซ์ผมคงสอบเข้าไม่ได้ คือไม่ค่อยมีใครเลือกคณะนี้ จริง ๆ แล้วผมเลือกอักษรศาสตร์ จุฬาฯ นะ แต่สอบไม่ติด มันเป็นคณะเกือบ ๆ อันดับ 1 ของประเทศไทย คือตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่ประถม มัธยม ผมชอบอ่านหนังสือพวกไม้เมืองเดิมอะไรอย่างนี้ พวกหนังสือที่เกี่ยวกับอดีต เหมือนบุพเพสันนิวาส พูดถึงที่นู่นที่นี่ที่มีอยู่จริง ก็อ่านไปจินตนาการไปสนุกสนาน  [caption id="attachment_15376" align="alignnone" width="321"] เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2520 (ภาพจากคุณเอิบเปรม)[/caption] แล้วก็ไม่รู้จักด้วยว่าคณะโบราณคดีอยู่ที่ไหน ก็เห็นว่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ มีภาควิชาประวัติศาสตร์ มีอาจารย์เก่ง ๆ อาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) ก็จบจากอักษรศาสตร์จุฬาฯ แล้วก็มีงานเขียนอะไรต่ออะไร แต่มันสอบไม่ติดไง มาติดคณะโบราณคดี พอมาเรียนโบราณคดีแล้วก็พบว่า ถ้าติดอักษรฯ ไป เสียดายแย่เลย    The People: ชอบโบราณคดีมากกว่า? เอิบเปรม: ชอบมากกว่าเพราะมันได้สัมผัสกับของจริงไง เรียนประวัติศาสตร์โอกาสแตะต้องที่จะได้เข้าถึงมนุษย์มีน้อยกว่า ถ้าเรียนประวัติศาสตร์ จุฬาฯ ก็สืบจากเอกสาร ชำระเอกสาร แล้วก็ไปชำระกับของจริงบ้าง แต่โบราณคดีสืบจากของจริงแล้วมาชำระกับเอกสารว่าตรงกันมั้ย? มันก็พลิก ๆ อยู่เหมือนกัน แล้วก็พบว่ามันใช่เลย โดนมาก ๆ  เรียนปี 1 ปีเดียว ไปต่างจังหวัดมานั่งนับกิโลฯ กับเพื่อน ปี 1 ปีเดียว หมื่นกิโลฯ จากวันนั้นถึงวันนี้ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว เข็มไมล์คงตีกลับ   The People: โบราณคดีทุกวันนี้ก็ยังมีอะไรให้ศึกษาอีกมาก? เอิบเปรม: มันไม่กรอบเลยนะว่ามันจะเสร็จเมื่อไหร่ ก็ศึกษามนุษย์ ใครจะบอกได้ว่าศึกษาเสร็จสิ้นเมื่อไหร่?   The People: ตอนนั้นที่คณะโบราณคดีเปิดโบราณคดีใต้น้ำเป็นวิชาเอกเลยหรือเปล่า เอิบเปรม: ไม่ใช่ครับ เป็นวิชาที่เปิดเป็นพิเศษ หลักสูตรปกติผมก็เรียนไปเหมือนคนอื่นเขา ทางคณะเขาเปิดหลักสูตรโบราณคดีใต้น้ำขึ้นมาเป็นวิชาพิเศษตั้งแต่อบรมรุ่นผมรุ่นที่ 1 แล้วก็มีรุ่นที่ 2 อีกรุ่นเดียว จากนั้นก็ไม่มีแล้วครับ    The People: ปัจจุบัน ถ้าอยากจะเป็นนักโบราณคดีใต้น้ำจะต้องทำอย่างไร เอิบเปรม: ก็มีรุ่นน้องที่สนใจ คือสนใจด้วยตัวเองอยู่แล้วก็มาฝึกงาน เรียนจบก็มาเป็นลูกจ้างชั่วคราวก่อน แล้วมีช่องทาง มีอัตรา ก็ค่อยบรรจุเป็นข้าราชการ มันก็พัฒนามาเป็นแบบนั้น จนกระทั่งเมื่อสักสิบกว่าปีหลัง มีกิจกรรมของนักศึกษาโบราณคดีที่ปิดเทอมแล้วเขาก็จะมีนักศึกษาโบราณคดีสมัครมา คล้าย ๆ กับการออกค่าย มาอยู่กับผมประมาณเดือนหนึ่ง หรือ 45 วัน เราก็จะมาเทรนเรื่องดำน้ำ เทรนเรื่องการทำงานใต้น้ำให้ทุกปี ถึงรุ่นล่าสุดน่าจะรุ่นที่ 14 หรือ 15 แล้วนะ ผมไม่แน่ใจ  พอเรียนจบ เวลาเราเปิดรับข้าราชการรุ่นใหม่ก็จะเขียนไปเลยว่าต้องมีความรู้ด้านการดำน้ำ คล้ายล็อกสเปกไว้เลยว่าต้องผ่านอะไรมาบ้าง แล้วพอมาเป็นข้าราชการกองนี้จะได้รับเงินเพิ่มค่าเสี่ยงอันตรายอีก 7,000 บาท จากอัตราธรรมดา ทีนี้ก็มีมาเรื่อย ๆ ปัญหาของคนไม่พออยู่ที่ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) ทาง ก.พ. ไม่ได้ให้อัตรากรมศิลป์มา คือคนตอนนี้น่ะขาดแต่ ก.พ. ไม่ให้ แล้วพูดถึงว่าจะเอาใครมาทำ ตอนนี้มีเพียบเลย ทั่วประเทศน่าจะมีเป็นร้อยได้ คนสนใจเยอะ [caption id="attachment_15379" align="alignnone" width="1321"] เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน การฝึกอบรมด้านโบราณคดีใต้น้ำและการอนุรักษ์โบราณวัตถุที่เดนมาร์ก พ.ศ. 2524 (ภาพจากคุณเอิบเปรม)[/caption] The People: แล้วการค้นหาแหล่งโบราณคดีใต้น้ำเบื้องต้นต้องเริ่มอย่างไร เอิบเปรม: เอาแบบทฤษฎีก่อน อย่างที่อธิบายว่าหลักมันมีอยู่ 4 กลุ่ม คือ เรื่องเรือ สินค้า เส้นทางการค้า และเมืองท่า ก็เหมือนกับตั้งสมมติฐานขึ้นมาบนกระดาษว่าง แล้วก็มีสังคโลก สังคโลกมันอยู่ที่ไหน ส่งไปขายที่ไหน ในต่างประเทศก็มีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาไทยอยู่เยอะแยะไปหมดเลยในเซาธ์อีสต์เอเชีย เมืองท่าทุกเมืองมีเครื่องปั้นดินเผาของไทยทั้งนั้น แล้วมันไปได้อย่างไร? อันนี้ก็เป็นการศึกษาค้นคว้าในทางทฤษฎี ใช้วิธีสแกนหามั่ง บ้างก็ใช้วิธีการดำน้ำตามจุดที่กำหนดไปหาดูว่ามันมีหรือไม่มี อันนั้นทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติหิ้วเหล้าไปสักขวดไปที่สะพานปลา คุยกับประมงสักคืนสองคืน คืนแรกไม่ได้เรื่องหรอก แต่พอชักคุ้นกันแล้วข้อมูลจะไหลเข้ามา มีตรงนี้ มีตรงนู้น เลือกช็อปเอาเหอะ    The People: ส่วนใหญ่ชาวประมงช่วยแจ้งเบาะแส? เอิบเปรม: เอาเหล้าไปขวดหนึ่ง กินของเขาอีกสี่ขวด (ยิ้ม)   The People: แหล่งโบราณคดีใต้น้ำที่สำคัญ ๆ ของไทย อยู่ตรงจุดไหนบ้าง เอิบเปรม: มันก็สำคัญหมด แต่มันพอจะจัดกลุ่มได้ จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เครื่องปั้นดินเผาของจีน เครื่องลายครามเนี่ยขาดตลาด คือจีนขายเครื่องลายครามที่เป็นลายน้ำเงินพื้นขาวมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถังจนถึงต้นรัตนโกสินทร์เลย แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่จีนปิดประเทศหรือปิดกั้นการส่งออกในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ราชวงศ์ชิง) ที่ราชวงศ์ให้ขายแต่ในประเทศเท่านั้น ไม่ให้ออกขายนอกประเทศ แต่ก็มีหลุดรอดมาตามปกติตลาดไหนปิดมันก็มีใต้ดิน ช่วงนั้น อยุธยาเป็นพ่อค้าคนกลางเครื่องปั้นดินเผาของสยาม เครื่องปั้นดินเผาจากสิงห์บุรี แม่น้ำน้อย จากศรีสัชนาลัยซึ่งเป็นของสุโขทัยออกตีตลาด แทรกไปแทนที่เครื่องปั้นดินเผาของจีน เครื่องปั้นดินเผาของไทยจึงออกไปทั่วเซาธ์อีสต์เอเชียเต็มไปหมด ซึ่งเรือที่บรรทุกเครื่องปั้นดินเผาที่ปนผสมกันไป...คือของอยุธยา เรารู้ว่าเตานี้มีกำเนิดในสมัยอยุธยา แต่มีเครื่องปั้นดินเผาของสุโขทัยรวมอยู่ด้วยมีหลายลำมาก อันนี้คือกลุ่มที่...มันอธิบายประวัติศาสตร์ได้จากของที่เราพบ มันสอดคล้องกับเอกสารของจีนที่ว่า จีนไม่ทำตลาดในช่วงนั้น แล้วเราก็ทำตลาด ของที่อยู่ในเรือของไทย เจอที่นู่นที่นี่ เจอทั้งที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียนี่เยอะ เป็นเครื่องปั้นดินเผาของอยุธยาทั้งนั้น คือมันไม่ใช่ลำใดลำหนึ่ง แต่มันเป็นกลุ่มของเรือสำเภอที่บรรทุกเครื่องปั้นดินเผาของไทยไปจมอยู่ทั่วเอเชียไปหมด ขึ้นไปทางเหนือถึงโอซาก้า    The People: แล้วจุดไหนในอ่าวไทยที่เจอมาก เอิบเปรม: เป็นกลุ่ม...คือ มันไม่ใช่เพราะว่าตรงนั้นมันเป็นที่สำคัญ แต่เพราะโบราณคดีใต้น้ำเริ่มตรงนั้นมั้ง ที่กลุ่มสัตหีบ ตั้งแต่พัทยาไปจนถึงสัตหีบแล้วก็ระยอง ตรงหัวมุมหัวเลี้ยวตรงนี้ที่เจอมากมายหลายลำ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นปัจจัยพื้นที่ว่าตรงนี้เป็นพื้นที่สำคัญนะครับ ผมว่ามันเป็นเพราะเราเริ่มต้นจากตรงนั้น แล้วเราก็สานการหา เหมือนเป็นการเติบโตของการศึกษาวิจัยมากกว่า ซึ่งกลุ่มนั้นเป็นกลุ่มใหญ่   The People: หนังสือเล่มใหม่ของคุณเอิบเปรม พูดถึง “เรือเครื่องผูก” มันคืออะไร มาจากไหน และมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับไทยอย่างไร เอิบเปรม: เรือเครื่องผูกเป็นชื่อที่ผมตั้งเอง เห็นว่ามันไปล้อกับ “เรือนเครื่องผูก” เรือนไม้ไผ่มุงจากของท้องถิ่น อาจารย์เสนอ นิลเดช แกเขียนหนังสืออยู่เล่มหนึ่งเรื่อง เรือนเครื่องผูก ก็พูดถึงการก่อสร้างอาคารชั่วคราวแบบพวกเถียงนาอะไรต่ออะไรที่ใช้ไม้ไผ่เป็นโครงหลักแล้วก็สับไม้ไผ่เป็นฟาก แล้วมุงหลังคาด้วยหญ้าคา หรือแฝก หรือใบจาก แล้วแกเรียกว่า เรือนเครื่องผูก เรือที่กรมศิลปากรเจอเมื่อปี 2556 ที่สมุทรสาคร เป็นเรือที่ใช้วิธีการผูกขึ้นมาทั้งลำ คือเขาไม่ได้ตั้งโครงขึ้นมาแล้วตอกเอาไม้เรือใส่เขาไป แต่เป็นการเย็บเจาะไม้แต่ละแผ่น เจาะรูแล้วเย็บเหมือนร้อยเชือกรองเท้าแต่แข็งเป๊กเลยนะ ทั้งลำใช้วิธีมัดผูกทั้งหมดทั้งลำ เราพบว่ามันเป็นเทคนิคที่เกิดขึ้นมาในตะวันออกกลางก่อน แต่หลักฐานที่เก่าที่สุดอยู่ที่อียิปต์ อยู่ในพีระมิดคูฟูที่ไคโร ที่เราเจอว่าเก่าที่สุดเท่าที่เจอ ณ วันนี้...คือเราเจอเรือที่ต่อด้วยวิธีนี้หลายลำ แต่สูญหาย ถูกทำลายไปบ้าง ที่ยังเหลือเป็นลำยังมีอยู่จริง ทำการศึกษาค้นคว้าต่อเนื่องได้มีอยู่ที่สมุทรสาครที่เดียว ณ เวลานี้ในโลกมีอยู่ลำเดียว รอการศึกษาวิจัยอยู่ เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน The People: เรือที่เจอที่ไทยมีอายุประมาณเท่าไร เอิบเปรม: เรากำหนดอายุจากไม้ที่ส่งเข้าแล็บหาอายุจากคาร์บอน-14 คือในทางโบราณคดีเรามีวิธีกำหนดอายุ 2 แบบ แบบหนึ่งก็คือการเปรียบเทียบกับวัตถุที่เรารู้อายุแล้ว กับอีกแบบแบบเป๊ะ ๆ เลย ส่งเข้าแล็บให้เครื่องอ่านมาว่าอายุเท่าไร เรือเครื่องผูกที่พนมสุรินทร์ ที่สมุทรสาคร อายุ 1,320 ปี คืออยู่ในยุคกลาง ๆ ของทวารวดี   The People: ไม่น่าจะเป็นเรือที่คนท้องถิ่นทำขึ้นเอง? เอิบเปรม: ไม่น่าเลย เราไม่เคยพบร่องรอยอะไรเลยที่เป็นลักษณะของเรือแบบนี้ เราพบร่องรอยของเรือลักษณะนี้อยู่หลายที่ในอินโดนีเซีย ที่สุมาตรา ที่ศรีลังกา ที่อินเดีย แล้วก็ที่ตะวันออกกลาง ณ วันนี้ก็มีที่โอมาน อิรัก ปากีสถาน คือ มีหลักฐานเป็นภาพเขียนมั่ง บันทึกมั่ง เป็นตัวหนังสือเล่า เป็นคล้าย ๆ บทความ แต่ที่เป็นเรือเป็นลำจริง ๆ มีอยู่ที่นี่ ที่สมุทรสาคร   The People: ขั้นตอนการขุดค้น รักษาหรือกู้ซากขึ้นมาตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว เอิบเปรม: พอพบปั๊บ เราก็ประเมินได้เลยว่า งานนี้ยาวแน่ เพราะว่า ไอ้เรื่องงานศึกษาวิจัยทางโบราณคดีมันไม่เท่าไร เราประเมินคร่าว ๆ แล้ว จากการเจาะสำรวจเป็นจุด ๆ คิดว่างานศึกษาวิจัยทางโบราณคดีที่จะได้ข้อมูลมาจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี จริง ๆ ถ้าเงินพอ คนพอ ไม่มีอุปสรรค ปีเดียวก็เสร็จ สามารถตีพิมพ์งานวิจัยออกมาเป็นเล่มได้เลย แต่ว่า พอขุดขึ้นมาแล้วมันโดนอากาศ โดนแสงสว่าง เราจะต้องกำจัดสิ่งแปลกปลอม ไม่ว่าจะเป็นน้ำเค็ม ขี้โคลนที่เป็นใบไม้เน่าที่ดองมา 1,300 ปี พอเราศึกษาวิจัยเสร็จแล้ว มันก็จะเข้าสู่กระบวนการที่จะทำให้มันคงอยู่ถาวร คือ ถ้าพอขุดเสร็จแล้ว ช่างมัน พอใจแล้วทิ้งเลยก็จบ ปีเดียวจบ เรือก็จบเหมือนกัน แบคทีเรียก็จะเติบโต เจอแสงสว่าง ความชื้น เหมือนตอม่อที่ผุพังก็จะสลายหายไป การอนุรักษ์ไม้แช่น้ำเป็นวิธีการที่ยากที่สุดในโลก เพราะมีไม้ชิ้นหนึ่งที่เจอบนบก เราสามารถที่จะใส่วัสดุเสริมให้มันแข็งแรงแล้วก็ใส่ตู้เซฟเก็บไว้ในที่จำกัดอากาศ จำกัดปัจจัยแวดล้อมได้ แต่ไม้แช่น้ำ การจะจำกัดปัจจัยให้อยู่ในสภาพคงที่ยากที่สุด อันที่หนึ่งต้องทำความสะอาดขี้โคลนที่เป็นเหมือนกรดกำมะถัน คือใบไม้เน่ามันจะมีลักษณะของกรดกำมะถันปนอยู่ พอเราล้างความเป็นกรดออกไปแล้ว อันดับต่อไปก็เป็นแบคทีเรียมันก็จะเจริญเติบโตมาก ไม้เน่านี่ของอร่อยเลย แบคทีเรียขึ้นแล้วก็กินไม้เปื่อยเป็นอาหาร ต่อไปก็ต้องเอาน้ำออก ถ้าจะแช่น้ำไว้ก็ต้องแช่ตลอดปีตลอดชาติแล้วควบคุมให้อยู่คงที่ ขั้นตอนที่เราจะทำคือเอาน้ำออก แล้วพอเอาน้ำออกเซลล์ที่มันอืดก็จะยุบ น้ำไม่ได้มีเซลล์เท่ากันแบบฟองน้ำ มีเซลล์เล็กเซลล์ใหญ่เซลล์เฉียงอะไรผสมกันอยู่ ถ้ามันแห้งไม่เท่ากัน ไอ้ที่แห้งมากกว่าก็จะดึงที่ไม่แห้งทำให้บิดไม้แอ่นอะไรทั่วไป วิธีแก้ไขก็คือ ต้องแทนที่ด้วยสารสังเคราะห์ให้ไม้ดูดสารสังเคราะห์เข้าไปในเซลล์ให้อิ่มตัว  ขั้นตอนกระบวนการตั้งแต่การกำจัดเกลือ กำจัดโคลน กำจัดแบคทีเรีย เอาสารสังเคราะห์ใส่เอาไปแทนที่น้ำแล้วปล่อยให้แห้ง ตอนนี้ที่ยุโรปทำกันอยู่ใช้เวลา 33 ปี ผมตั้งใจว่าจะยังไม่ตายก่อน   The People: เรือลำนี้คาดว่ามีที่มาอย่างไร เอิบเปรม: ตอนนี้ที่เราศึกษาวิจัย เราวิจัยอย่างสุ่มตัวอย่างนะครับ ยังไม่ได้ทำวิจัยจริง สุ่มหัว ท้าย ข้าง ความลึก เพื่อจะประเมินว่าโครงการนี้มันกี่ปี จะต้องใช้เงินเท่าไหร่ การสุ่มนี้ ผมว่าเราทำไปไม่ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของงานทั้งหมด คือเรารู้ว่าปัญหามันมีอะไรบ้าง ก็ทำเท่านี้ก่อนแล้วก็หยุดไว้  เท่าที่ทำไป 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ เราพบว่ามันเป็นเรือที่แกะไม้ส่งแล็บก็รู้แล้วว่าอายุ 1,320 ปี เทคนิคในการต่อก็คือเย็บและมันเป็นเรือที่ต่อขึ้นไม่ไกลไปถึงตะวันออกกลาง อาจจะอยู่แถวสุมาตรานี่เอง เพราะว่าไม้ที่ใช้ต่อเรือลำนี้จะพบในแถบเส้นศูนย์สูตร คือตั้งแต่ติมอร์ไปจนใต้อินเดียใต้ ต้นไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่แถวนี้ เราบอกได้ว่ามันขึ้นที่ไหน แต่ว่าเทคนิคการต่อ เสา ใบ โครง มันมีลักษณะส่วนตัวที่แสดงให้เห็นว่า เราไม่รู้ว่ามาจากไหนแน่ แต่ว่าครูของช่างเรือลำนี้มาจากตะวันออกกลาง เพราะเหมือนกับที่เขาต่อกันที่โอมาน เขาใช้วิธีการเย็บโครงเรือขึ้นมาก่อน จากไม้แบน ๆ เย็บขึ้นมาเป็นโครงก่อน แล้วใส่กงเป็นซี่โครงทีหลัง แปลกนะ เรารู้จักแต่เรือที่ทำกงขึ้นมาก่อน มีอย่างที่ไหนขึ้นเสาคานที่หลังฝา เทคนิคเรือใบแบบอาหรับขึ้นฝาก่อนแล้วเอาเสาเอาคานเอาอะไรต่ออะไรใส่ทีหลัง เทคนิคนี้มาจากตะวันออกกลาง   The People: เวลาเราพูดถึงโบราณคดีใต้น้ำ เรามักจะพูดถึงน้ำเค็ม แล้วตามแม่น้ำเราเจอมากน้อยแค่ไหน ต่างกันอย่างไร เอิบเปรม: โดยลักษณะธรรมชาติของข้อมูลแล้วเหมือนกัน ก็ขึ้นอยู่กับโครงหลัก 4 กลุ่มที่ว่า ข้อมูลจะเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ในทะเลเราสามารถทำเต็มกระบวนการได้เพราะน้ำมันใส ไอ้ที่ไม่ใสก็มี แต่มันก็ยังดีกว่าแม่น้ำ เราจะเห็นว่ามันขนาดกว้างยาวเท่าไร ของวางเรียงกันอย่างไร เทคนิคการต่อเราก็ดำลงไปถ่ายรูป สเก็ตช์ภาพออกมาแล้วก็วิเคราะห์ ตอนนี้สมัยใหม่ น้องที่กองใต้น้ำเอาเข้าคอมพิวเตอร์หมุนดูเป็นสามมิติ ซึ่งมันต้องใช้ตาทำไง ที่แพงมากไม่ต้องใช้ลูกตาทำก็คือใช้เครื่องสแกน แต่บ้านเรายังไม่เห็นใครทำ มีที่เขาทำกับพวกวัด พวกโบสถ์ วิหาร แต่กับเรือนี่...เครื่องนั้นมันเอาลงน้ำไม่ได้ ก็เลยยังไม่ได้ทำ ตอนนี้ที่เราทำกันอยู่ก็คือดำลงไป เอาตลับเมตรวัด แล้วก็เอาเข้าคอมพ์ทำเป็นสามมิติ  ทะเลทำได้ถึงจะขุ่น แต่ว่ามันก็ยังพอมองเห็น ว่าไอ้นี่ตั้งมาทางนี้ หันมาทางนี้นะ แต่ในแม่น้ำทำไม่ได้เลย แม่น้ำทัศนวิสัยบางทีหาระยะจะกระแทกหน้ากากแล้วก็ยังไม่เห็นเลย หัวโขกโป้ง! อ้าวถึงแล้วเหรอ? แล้วมีอยู่ที เคยไปทำที่แม่น้ำโขงที่หนองคาย เป็นเจดีย์กลางน้ำที่พังลงไปอยู่หน้าอำเภอเมืองหนองคาย คราวนั้นทำภาพสเก็ตช์ด้วยการเอาตลับเมตรดำลงไปแล้วก็ไม่ต้องมองนะครับ ใช้มือคลำแล้ว โอเคตรงนี้คือย่อมุม ขึ้นมาที่ผิวน้ำตะโกนว่า “25 เซนฯ” นั่นก็จด แล้วก็ดำลงไปใหม่จนเสร็จเจดีย์ทั้งองค์ ไม่ได้มองเลย บางทียังว่าน่ารับคนตาบอดมาทำ คงจะทำได้ดีกว่าเรา   The People: ใช้เวลานานไหม เอิบเปรม: เจดีย์บนบกทำวันเดียวก็เสร็จ อันนี้ทำสองอาทิตย์   The People: มีภัยคุกคามจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบอะไรต่อแหล่งโบราณคดีใต้บ้างหรือไม่ เอิบเปรม: เรื่องประมง ประมงไทยเขาทำลายกันมาเยอะแล้วเพราะเขาลากอวนหน้าดินกันทั้งที่กฎหมายเขาห้าม มันก็โดนครูดไปหมด แล้วก็พวกสำรวจขุดเจาะน้ำมันเป็นต้น แต่เราก็น้อย เพราะว่าเส้นทางของสายแร่ปิโตรเลียมมันคนละทางกับเส้นทางเดินเรือก็ไม่ค่อยมีผลกระทบเท่าไร จะมีก็ตอนสำรวจ เขาจะสุ่มไปเรื่อย คือนอกจากสายที่มีปิโตรเลียมแล้ว เขาก็จะสุ่มไปเรื่อยว่าตรงนู้นตรงนี้มีที่ไหนอีก ไอ้ตอนที่เขาขุดสำรวจ มันต้องขุดเจาะเอาน้ำโคลนขึ้นมาทิ้ง อันนี้เอฟแฟกต์มันจะแพร่ออกไปเป็น 5 กิโลฯ 10 กิโลฯ เราจะไปบอกว่าอย่าเอาขี้โคลนมาทิ้งตรงนี้ได้มั้ย? ก็ได้เหมือนกัน แต่ด้วยความที่เราไม่ได้ประสานงานกันใกล้ชิด เลยไม่ถึงขนาดที่จะควบคุมตรงนั้นได้ มีอีกอันก็คือ ที่พัทยาเขาถมชายหาด แล้วก็คงจะถมกันไปตลอดชาติ ธรรมชาติของชายฝั่งทะเล เวลาเอาของแข็งไปขวางเมื่อไหร่ ไม่ต้องทะเลหรอก แม่น้ำก็ด้วย พอน้ำไหลไปทางไหนก็ตาม พอชนกับของแข็งแล้วมันก็จะหาทางไป ตรงนี้มีแรงดันสูงพอพ้นไปก็มีแรงดันต่ำมันก็วน พอวนก็กัด มีของแข็งตรงไหน มันก็จะไปกัดที่อยู่ถัดไป หาดพัทยาถูกกัดเซาะด้วยวิธีนี้ วิธีแก้ปัญหาของเมืองพัทยาก็คือไปซื้อทรายมาใส่ แล้วใส่มันทุกปี จนวันนี้ไปถมอยู่ที่ซากเรือจมที่สีชัง ที่บางเสร่ ผมดำลงไปแล้วก็ เฮ้ย! นี่มันที่เก่ารึเปล่าเนี่ย ทรายพอกหนาเป็นเมตร มันมาจากไหน? เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน The People: มีมาตรการของภาครัฐที่จะป้องกันหรือเปล่า เอิบเปรม: มีเหมือนกัน ตอนนี้นักวิชาการชายฝั่งทะเลมีหลายคน มีอยู่คนหนึ่ง อาจารย์ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง แกเป็นคนที่ต่อสู้เรื่องนี้ แกเป็นสตาฟของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งก็เห็นด้วยว่าเป็นอย่างนี้จริง ๆ ใช่! ก็ขอรายงานสรุป ก็ไม่รู้ว่าให้ใครทำรายงานสรุป คือกว่าจะรู้ว่า ตรงนี้ผิด อย่าทำ! นี่ 5 ปีแล้วยังไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป นี่ได้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งคนใหม่ (จตุพร บุรุษพัฒน์) มาแล้วเพิ่งมาเมื่อ 1 ตุลาคมนี่ละมั้ง ก็หวังว่าจะเร็วขึ้น อันนี้คือวิธีแก้ไขของภาครัฐ   The People: ความยากง่ายในการประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ในการปฏิบัติภารกิจด้านนี้? เอิบเปรม: หน่วยงานราชการด้วยกันไม่มีปัญหานะครับ ปัญหาของหน่วยงานราชการที่บางทีทำงานเหมือนไม่สอดคล้องกัน เป็นปัญหาเรื่องการสื่อสารมากกว่า คือไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร คุณทำอะไร มันมีหน่วยงานอย่างนี้อยู่ในโลกนี้ด้วยเหรอ? อะไรอย่างนี้ ซึ่งถ้ามีการสื่อสารกันแล้ว การประสานงานมันก็ง่าย เพราะระบบราชการเขาสร้างมาเพื่อให้ประสานงานกัน แต่ความล้มเหลวก็คือ มันไม่ประสานงานกัน   The People: อุปสรรคใหญ่  ๆ ในการทำงานโบราณคดีใต้น้ำมีอะไรบ้าง เอิบเปรม: ทรัพยากรในการปฏิบัติงานทั่วไป ก็คือคน เวลา งบประมาณ อันนี้ถ้าเผื่อมีเยอะงานมันก็มีอุปสรรคน้อยลง คนน้อยคนเยอะก็เป็นอุปสรรค คนเยอะเงินน้อยก็เป็นอุปสรรค ความสมดุลคือปัจจัยหลัก ในความสมดุลก็ต้องมีการศึกษาก่อนว่าสมดุลมันควรอยู่ตรงไหน พัฒนาการต่อไปเป็นอย่างไร ถ้ามันมีแผนงานหรือแผนแม่บทเป็น master plan มันก็จะทำให้โครงการดำเนินไปอย่างสมดุล   The People: ย้อนกลับไปตรงที่บอกว่า นักโบราณคดีใต้น้ำได้ค่าเสี่ยงภัยเพิ่มเดือนละ 7,000 บาท ความเสี่ยงภัยของนักโบราณคดีใต้น้ำมีอะไรบ้าง เอิบเปรม: อันตรายจากการดำน้ำนั่นแหละครับ การดำน้ำเป็นสิ่งที่อันตราย ตอนที่ผมทำงานปีแรก ๆ ประกันชีวิตไม่รับเลย ตอนรับราชการอยู่ก็ไปทำประกันชีวิตไว้ ทำเสร็จหมดเรียบร้อย เห็นตัวแดงอยู่ข้างท้ายที่เขาเรียกอะไรนะ? สัญญาแนบท้าย บอกว่า สัญญานี้จะถือเป็นโมฆะถ้าผู้เอาประกันมีส่วนร่วมในการดำน้ำ คือประกันไม่เอา มีรุ่นหลัง ๆ น่าจะไม่เกิน 10 ปี ประกันเริ่มมีประกันนักดำน้ำแล้ว แต่มีข้อแม้ว่า คุณจะต้องดำภายใต้กฎเกณฑ์ของการดำน้ำ จะต้องดำไม่เกินกว่า 10 เมตร 20 เมตร อะไรนี่แหละ มีเกณฑ์อยู่ ถ้าคุณปฏิบัติตามนี้เรารับประกัน [caption id="attachment_15391" align="alignnone" width="1280"] เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน ทีมงานตรวจร่างกายนักดำน้ำประจำปี (ภาพจากคุณเอิบเปรม)[/caption] The People: แล้วความลึกที่เราลงไปสำรวจ? เอิบเปรม: เกินกว่าที่เขารับประกันทั้งนั้น คือถ้าเผื่อว่ามันตื้น นักดำน้ำสมัครเล่น นักดำน้ำสันทนาการดำได้ มันก็ไม่เหลือให้เราแล้ว   The People: คุณเอิบเปรมที่ดำน้ำมานาน 20-30 ปี เคยเจอภัยหรืออุบัติเหตุอะไรบ้างหรือไม่ เอิบเปรม: ก็มี การดำน้ำมันมีเอฟแฟกต์กับร่างกายอยู่ เคยดำน้ำในสระว่ายน้ำใช่มั้ย เวลาดำน้ำมันจะหูอื้อ นี่คือเพรสเชอร์ (แรงดัน) น้ำหนักของน้ำที่มันบีบตัวเราอยู่ เวลาเราหายใจใต้น้ำ หายใจจากอากาศจากแท็งก์ อากาศที่หายใจเข้าไปเป็นอากาศที่ถูกบีบ ไม่ใช่อากาศที่ความกดเท่ากับที่เราหายใจอยู่นี่ พอมันถูกบีบเข้าไป ไอ้ก๊าซสองตัวหลัก ๆ ที่เราหายใจเข้าไปออกซิเจนกับไนโตรเจน ออกซิเจนเข้าไปในเซลล์เราเท่าไรมันก็ออกมาเท่านั้น ถ้าอยู่บนบก ไนโตรเจนเข้าไปเท่าไร มันก็ออกมาเท่านั้นเหมือนกัน แต่พอมันโดนบีบปั๊บ ออกซิเจนเข้าไปเท่าไรออกมาเท่านั้น แต่ ไนโตรเจน เข้าไป 10 ออก 7 หายใจเข้าไปมันก็จะสะสม ๆ อยู่ในตัว เอฟเฟกต์แรกก็คือ ทำให้การถ่ายทอดสัญญาณของระบบประสาทช้าลงเหมือนเมาเหล้า...แต่ผมว่าเหมือนเมาไวน์มากกว่า คือ เมาเหล้า เมาเบียร์ เมาไวน์ไม่เหมือนกัน ผมว่าดำน้ำลึกมาก ๆ จนเอฟเฟกต์ตรงนี้ปรากฏ ผมว่า เหมือนเมาไวน์ คือ มันจะโง่ ๆ ง่วง ๆ มันจะไม่ห้าวหาญแบบเมาเหล้า ไม่เหมือนเมาวิสกี้ นั่นคือข้อที่ 1 มันทำให้นักดำน้ำคิดว่าตัวเองเป็นนกบินไปในอากาศ ถอดเรกูเลเตอร์ (diving regulator) ถอดเครื่องช่วยหายใจ [caption id="attachment_15394" align="alignnone" width="2304"] เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน การใช้เครื่องดำน้ำแบบวงจรปิดผสมแก็สอัตโนมัติสำหรับการดำน้ำลึกมาก ที่แหล่งเรือเกาะคราม พ.ศ. 2547 (ภาพจากคุณเอิบเปรม)[/caption] The People: คือหลงผิดไปเลย? เอิบเปรม: เป็นได้ แต่ผมไม่เคยเป็นถึงขนาดนั้น เคยเป็นแค่โง่อย่างเดียว อีกอันก็คือ พอมันสะสมเข้าไปเยอะพอสมควรแล้วถึงจะคอแข็ง ไม่มีเอฟเฟกต์ คนที่ดำน้ำมากขึ้นก็จะคอแข็งเหมือนคนกินเหล้ามานาน คือจะรู้ว่า ตอนนี้น่ะโง่อยู่ ก็โง่ต่อไปไม่เป็นไร หนัก ๆ เข้าพอเปลี่ยนระดับมันก็หาย เพราะเพรสเชอร์มันลดลงเวลาดำขึ้น ปัญหาอีกข้อหนึ่ง ที่เป็นอีกโรคหนึ่ง เวลาที่เราขึ้นเร็วเกินไป ไนโตรเจนที่เข้าไปอยู่ในระบบร่างกาย ถ้าเราขึ้นช้า ๆ เปลี่ยนระดับมาเรื่อย ๆ ตามเกณฑ์ที่มีอยู่ในตำราเดี๋ยวนี้มันก็จะมีคอมพ์บอกว่า “หยุดนะ” ถ้าเราฝืนไม่ทำตาม ไนโตรเจนที่ซึมอยู่ในเส้นเลือดมันจะปุดเหมือนโซดา เลือดฟู่ซ่าเลย  แล้วฟองอากาศพวกนี้ถ้ามันไปเจอช่องแคบหรือข้อพับ หรือเส้นเลือดที่มีขนาดเล็กกว่าตัวมัน คือ ฟองอากาศมันก็จะขยายตัวเรื่อย ๆ เหมือนฟองโซดาที่ค่อย ๆ โตขึ้นเมื่อถึงผิวน้ำ เลือดนักดำน้ำที่ดำนาน ๆ แล้วขึ้นโดยไม่มีสเต็ป เลือดจะเป็นฟองแบบโซดา แล้วถ้ามันไปบล็อกส่วนที่ควรจะมีเลือดไปเลี้ยงอย่างเช่นสมอง เซลล์ก็ขาดเลือด เอฟเฟกต์ก็เยอะแยะ หมดสติ ไม่ก็เป็นอัมพาต คือมันบล็อกจนสมองสั่งแขนขาไม่ได้  ...นี่จะเล็กเชอร์วิชาแพทย์วิทยาศาสตร์ใต้น้ำอยู่แล้ว...ถ้ามันบล็อกส่วนที่...คือมันมีส่วนของร่างกายที่ทำงานโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การสั่งงานของสมองอย่างหัวใจ พวกประสาทสัมผัส พวกนี้ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันไปบล็อกสมองส่วนที่บังคับกล้ามเนื้อแขนขา ปอดก็ไม่อยากหายใจ เป็นต้น หัวใจยังเต้นอยู่ แต่ปอดขี้เกียจหายใจแล้วเพราะมันอยู่ภายใต้การบังคับของสมอง    ตายไป 2 คน พิการตลอดชีวิต 2 คน พิการชั่วคราวทำกายภาพบำบัดหาย 1 คน   The People: ระดับความลึกขนาดไหนที่จะสร้างผลกระทบขนาดนี้ เอิบเปรม: เป็นระดับ ๆ เลยครับ เอฟแฟกต์อันนี้เริ่มตั้งแต่ระดับ 10 เมตร มันขึ้นอยู่กับเวลาด้วย มันมีสองแฟกเตอร์ผสมกัน เวลากับความลึก ยิ่งลึกเพรสเชอร์ก็สูง เวลานานขึ้นการสะสมก็สูง ยิ่งลึกยิ่งนานก็ยิ่งกู่ไม่กลับ ยิ่งอันตรายมากขึ้น  เรามีคาถาที่ใช้กันของนักดำน้ำทั่วโลกทุกระดับของนักดำน้ำ คือ Plan your dive and dive your plan. คือก่อนที่จะดำคุณต้องวางแผนก่อนว่าจะดำลึกเท่าไร นานเท่าไร ทำอะไร แล้วไม่ใช่ Plan your dive. แค่นั้นจบ คาถาอันดับต่อไปคือ Dive your plan. ดำตามที่ได้วางแผนไว้ เพราะมีคนที่วางแผนไว้สวยหรู ครบ ไม่มีปัญหาแน่ถ้าทำได้แบบนี้ แต่พอถึงเวลาดำจริงไม่ได้ทำแบบนั้น ถ้า Plan your dive and dive your plan. โอกาสที่จะเกิด (ปัญหา) น้อยมาก มันก็มีปัจจัยจรมาบ้าง ไม่อย่างนั้นผมก็คงไม่ได้มานั่งอยู่ตรงนี้   The People: ในมุมของคุณเอิบเปรม พัฒนาการด้านโบราณคดีใต้น้ำในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เอิบเปรม: ผมกล้าพูดได้ว่า โบราณคดีใต้น้ำบ้านเราเกิดเป็นประเทศแรกในเซาธ์อีสต์เอเชีย ที่ตามเรามาก็คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วน ลาว กัมพูชา พม่า ไม่ต้องพูดถึงเลย ณ วันนี้ยังไม่มี ที่ตามมาติด ๆ ตอนนี้ก็คือ เวียดนาม ณ ตอนนี้มีแค่นี้ คือ ไทยอันดับ 1 อันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ อันดับ 3 ตอนนี้เวียดนาม อันดับ 4 อินโดนีเซีย อันดับ 5 มาเลเซีย มาเลเซียตอนที่เขาตั้งโบราณคดีใต้น้ำขึ้นมา -มันก็ขึ้นกับรัฐบาลแต่ละสมัยของเขาด้วย- มีอยู่ปีหนึ่งเขาเชิญผมไปประชุมที่กัวลาลัมเปอร์ แล้วเขาก็โชว์แผนกของเขา เราก็ไปมองว่า “โอ้โห...แบบนี้อีกไม่เกิน 5 ปี แซงเราแน่เว้ย!” ปรากฏว่าปีถัดมา เขายุบ มาเลเซียยุบแผนกโบราณคดีใต้น้ำ เจ้าหน้าที่ที่เซ็ตเอาไว้ คนที่ผ่านการอบรมถูกย้ายไปแผนกนั้นแผนกนี้ ตอนนี้ไม่มีแล้วแผนกโบราณคดีใต้น้ำมาเลเซีย   The People: รัฐบาลไทยมีแผนส่งเสริมงานโบราณคดีใต้น้ำอย่างต่อเนื่อง?  เอิบเปรม: ครับ อันนี้เป็นอย่างมากเลย พัฒนาการบ้านเราคือมีมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่บางปีก็ช้า มันมี +1, +2, +3, +4, +5 บางทีก็ +1 มันก็มากบ้างน้อยบ้าง ตอนนี้บ้านเรา...จะพูดว่าเอเชียยังไม่ได้ จีนไปไกลกว่าเรามาก ถ้าพูดถึงศักยภาพ เห็นจะรองอยู่แต่จีนอย่างเดียว   The People: ในฐานะที่คุณเอิบเปรมเป็นผู้อำนวยการโบราณคดีใต้น้ำคนแรกและคร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเป็นเวลานาน พัฒนาการแต่ต้นจนปัจจุบันและบทบาทของคุณเอิบเปรมมีอะไรบ้าง เอิบเปรม: ไม่แน่ใจว่าจะอธิบายได้ครบหรือเปล่า คือเห็นงานโบราณคดีใต้น้ำตั้งแต่เกิด ก็เห็นความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ สร้างความเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นขั้นเป็นขั้น จากไม่มีอะไรเลย จนถึงทุกวันนี้เราก้าวหน้าจนถึงขั้นที่พอจะพูดได้ว่า เราเป็นศูนย์กลางของเอเชียแปซิฟิก  5 ปีก่อนที่ผมจะเกษียณ ยูเนสโกตั้งศูนย์ฝึกโบราณคดีใต้น้ำในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างในกลุ่มเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งที่ทำการของยูเนสโกอยู่ที่เวนิส อิตาลี เขาก็ตั้งศูนย์โบราณคดีใต้น้ำในเมดิเตอร์เรเนียนที่โครเอเชีย คือตั้งอยู่ที่นู่นที่นี่หลายที่ มีที่จาเมกา ส่วนของเอเชียแปซิฟิกเขาตั้งใจว่าจะตั้งที่บ้านเรา เขาเริ่มต้นเมื่อตอน 5 ปีก่อนที่ผมจะเกษียณ ก็มีแต่ชื่อไม่มีป้าย เวลาประสานงานอะไรกัน ผมเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฝึกเอเชียแปซิฟิกด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งยูเนสโกไปหาทุนมา แล้วก็ไปหาผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ มาตั้งศูนย์ฝึกที่จันทบุรี ยูเนสโกออกสตางค์ให้แต่ละประเทศส่งตัวแทนมาประเทศละ 2 คน ลาวก็ส่งมาด้วย เราทำโครงการฝึกอบรมอยู่ 5 รุ่นในช่วง 5 ปี คือ ปีละรุ่น สองรุ่น บางปีก็เว้นไปปีหนึ่ง เราก็มีสมาชิกที่มาจากประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก มีอินเดีย มีศรีลังกา มีฟิลิปปินส์ เวียดนาม มากินมานอนอยู่ที่จันทบุรี เรามีอาคารศูนย์ฝึกอยู่ที่ท่าแฉลบใกล้ ๆ พิพิธภัณฑ์พาณิชย์นาวี อันนั้นเป็นความก้าวหน้าสูงสุดในระดับนานาชาติ ในส่วนตัวของเราเอง ในเรื่องการพัฒนางานในประเทศเรามีอัตรากำลังเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเทียบว่าเราทำโบราณคดีใต้น้ำมา 40 ปีแล้ว มีนักโบราณคดีใต้น้ำอยู่ 4 คน มันก็น้อยนะ แต่ก็ดีกว่าเมื่อ 10 ปีก่อนที่มีคนเดียว ตั้งแต่ตั้งโบราณคดีใต้น้ำมาเมื่อปี 2517 จนถึงปี 2535 ที่ผมเข้าไปรับงานมีนักโบราณคดีใต้คนเดียว แล้วปี 2540 กรมก็ให้มาอีกอัตราหนึ่งเป็น 2 คน จนกระทั่งปัจจุบันนี้มี 4 คน แล้วก็มีโอนทหารเรือมาอีก 8 คน ตอนนี้ทีมก็เยอะที่สุดในเซาธ์อีสต์เอเชีย ก็ขนาดฟิลิปปินส์ที่มีศักยภาพสูงพอสมควร เขาก็มีอยู่ 4 คน แต่เขาใช้วิธีทำงานร่วมกับพวกบริษัทสำรวจปิโตรเลียม เรือก็ใช้ของพวกสำรวจปิโตรเลียม เรามีอาคารตั้งพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่ปี 2540 คือของที่ได้จากการวิจัยศึกษาค้นคว้าเอามาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ มีอาคาร มีเครื่องมืออุปกรณ์ ระบบความรู้เรื่องการดำน้ำของโบราณคดีใต้น้ำของเรา ผมไม่แน่ใจว่าของเราจะเท่ากันหรือดีกว่าของกองทัพเรือ อีกไม่กี่ปีกองทัพเรือจะนำหน้าเราไปเพราะมีเรือดำน้ำ (หัวเราะ) ตอนนี้ไม่รู้ว่ากองทัพเรือเท่ากันหรือด้อยกว่านะครับ มีสระที่สร้างขึ้นมาเพื่ออบรมดำน้ำโดยเฉพาะ คือ...สระสำหรับกีฬากระโดดน้ำจะลึกประมาณ 5 เมตร มีอยู่หลายสระอยู่ที่เกษตร ที่สนามกีฬาแห่งชาติ ที่ธรรมศาสตร์ อันนั้นลึก 6 เมตรมั้งที่ธรรมศาสตร์ที่ถ่ายหนังนรก 6 เมตร เขาทำเท่าที่จำเป็นสำหรับนักกระโดดน้ำ ส่วนนักดำน้ำจะใช้สระธรรมดาทั่วไปตามโรงแรมไม่ได้ไง สระโรงแรมบางแห่ง 2 เมตรเท่านั้นเอง ผมยืนก็เกือบจะพ้นน้ำแล้วมั้ง ก็ลำบาก เราเลยคิดกันแล้วก็ออกแบบสระของเราขึ้นมาเองว่าเราต้องการใช้สเปกไหน แล้วก็สร้างเสร็จเมื่อปี 2558 ใช้กันอยู่เป็นประจำ อันนี้ลึก 12 เมตร อยู่ที่จันทบุรี น่าจะเป็นสระที่ลึกที่สุดในประเทศไทย สระน้ำจืดนะครับ ที่เราต้องการสระลึก 12 เมตร เพราะเรามีเครื่องมือดำน้ำลึกหลายอย่างที่มันต้องเทสต์ที่ลึกกว่า 10 เมตร เราก็เลยทำ 12 เมตร ผมไม่แน่ใจอาจจะลึกที่สุดในเซาธ์อีสต์เอเชีย ในแง่ขององค์กรก็ก้าวหน้าพัฒนาไปเรื่อย แล้วเราก็ประสานงานกับประเทศต่าง ๆ ที่มีงานโบราณคดีใต้น้ำอย่างฟิลิปปินส์ ที่อินโดนีเซีย อันนี้ที่ชัด ๆ ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียก็มีแผนที่จะตั้งกองโบราณคดีใต้น้ำเหมือนกัน แต่ฟิลิปปินส์ยังอยู่ใต้ national museum (พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) คือเป็นแผนกหนึ่งที่พอจะออกไปดำน้ำทีก็ไปเอาคนจากตรงนู้นมาตรงนี้มา แล้วก็ไปด้วยกัน อินโดนีเซียเนื่องจากเขาเป็นเกาะเล็ก ๆ เต็มไปหมด เขาใช้วิธีตั้งศูนย์ฝึกที่มากัสซาร์ เกาะสุลาเวสี เขาเชิญผมไปเป็นวิทยากรก่อตั้งศูนย์ฝึกนี้ด้วยเหมือนกัน เขามีแนวคิดจะตั้งเป็นยูนิตเล็ก ๆ 2 คน 3 คน อยู่ตามเมืองหลัก อยู่ที่จาการ์ตา อยู่เมดาน อยู่จัมบี สุมาตรา อยู่ที่มากัสซาร์ แล้วก็อยู่ที่ชวา บาหลี แบบนี้ ตอนนี้เขามีคนที่ฝึกโบราณคดีใต้น้ำอยู่ 50 คน ฝึกที่มากัสซาร์แล้วก็กระจายออกไปตรงนู้นตรงนี้ไปเก็บข้อมูล ถ้าเจอโปรเจกต์อะไรที่ใหญ่พอก็จะเอา 50 คนนี้มาร่วมกันทำงาน อันนี้เป็นระบบที่อินโดนีเซียตั้งเป้าไว้   The People: หลังจากเกษียณแล้ว ตอนนี้คุณเอิบเปรมทำอะไรอยู่บ้าง เอิบเปรม: ตอนนี้เป็นที่ปรึกษาด้านโบราณคดีของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นวังของรัชกาลที่ 6 พอสิ้นรัชกาล รัชกาลที่ 7 ก็ไปสร้างวังไกลกังวลแล้วก็ไม่ได้ใช้วังพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเลย ตัวอาคารที่เป็นไม้ทั้งหมดก็ทรุดโทรม เขาก็ซ่อมแซมบูรณะมาเรื่อย ๆ เขาตั้งหน่วยงานที่จะดูแลเรื่องนี้เป็นมูลนิธิ มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวันในพระอุปถัมภ์เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ  ทำเรื่องอาคารอะไรเสร็จเรียบร้อย ปีที่ผมเกษียณเขาก็มีโปรเจกต์ที่จะขยายงาน นอกจากจะอนุรักษ์พระที่นั่งแล้ว เขาจะอนุรักษ์พวกสวน ถนน ที่เป็นแลนด์สเคป (landscape - ภูมิทัศน์) ของเดิมด้วย ที่นี่อะไรที่อยู่ใต้ดิน แผนที่แผนผังสูญหาย ก็เลยให้ผมไปช่วย เป็นการค้นหาทางโบราณคดี คือเราก็ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เพราะแผนผังมันไม่มี ทั้งหมดแผนผังมีพิมพ์เขียวอยู่แผ่น บางทีก็ใช่รึเปล่าก็ไม่รู้ เพราะบางทีแผนผังมี ขุดลงไปไม่มี แล้วขุดอีกที่หนึ่ง ในแผนผังไม่มี แต่ในของจริงมี อะไรอย่างนี้ ก็ไปทำรีเสิร์ชให้เขา ปะติดปะต่อจนเป็นภาพภูมิทัศน์สมัยรัชกาลที่ 6 ให้เขา ก็เป็นงานโบราณคดีส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ใหญ่ของมูลนิธิพระราชนิเวศน์ฯ ตอนนี้ข้อมูลเบื้องต้นได้หลักฐาน ได้ข้อมูล ได้แฟกต์ (fact - ข้อเท็จจริง) มาหมดแล้ว ตอนนี้กำลังวางแผนว่าจะบูรณะให้กลับมาเหมือนเดิมได้อย่างไร ตั้งเป้าไว้ว่า พระราชนิเวศน์มฤคทายวันจะมีอายุครบ 100 ปี ในปี 2567 ...คือก็คงจะปิดไม่ได้หรอกในเรื่องของการดูแลก็คงต้องมีต่อไป แต่ในขั้นปฏิบัติการต้องปิดละ เหลือแต่การ maintenance (บำรุงรักษา) เอิบเปรม วัชรางกูร ผู้อยู่กับ โบราณคดีใต้น้ำไทย ตั้งแต่กำเนิด ถึงปัจจุบัน The People: ท้ายสุด บ้านเรามีลายแทงเรือมหาสมบัติในตำนานที่ยังหาไม่เจอ และพยายามหากันให้เจออยู่บ้างหรือเปล่า  เอิบเปรม: ไม่มีนะครับ...ก็คือ...มีเหมือนกันคือเป็นบันทึกเรือจมของอังกฤษที่บอกว่ามีเรือแล่นจากสิงคโปร์จะไปย่างกุ้งหรือสิเรียมที่อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่มาจมอยู่ที่เกาะตาชัย อย่างนี้มี แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นเรือมหาสมบัติ อันนั้นที่อินโดนีเซียมี อินโดนีเซียมีอยู่ลำหนึ่งที่เป็นตำนานของวงการ แล้วก็เป็นกอสซิปเยอะแยะก็คือ ฟลอร์เดอลามาร์ (Flor de la Mar) เป็นเรือโปรตุเกส ฟลอร์เดอลามาร์ ปี ค.ศ.1511 อัลฟองโซ เดออัลบูเคิร์ก (Alfonso de Albuquerque) มาตีมะละกา คือจะมาเปิดสถานีการค้าที่มะละกา แต่เจ้าเมืองมะละกาไม่เอาด้วย ไม่เปิดกว้างน่ะ เขาก็ลงทุนไปแล้ว ก็เลยตียึดเมืองเสียเลยแล้วกวาดเอาสมบัติของพระคลังข้างที่ของมาเลเซียที่มะละกาใส่เรือชื่อฟลอร์เดอลามาร์ แล่นไปจมที่สุมาตรา ออกจากมะละกาไปวันเดียว (จม) ก่อนจะไปถึงอาเจะห์ นึกออกมั้ย? อาเจะห์นี่ปลายสุดของเกาะสุมาตรา จุดที่กำเนิดสึนามิแล้วมีผลกระทบกับบ้านเราน่ะ ฟลอร์เดอลามาร์ไปจมอยู่ที่นั่น มูลค่าเขาบอกว่า 2,000 ล้านยูเอสดอลลาร์ ปีก่อน ๆ ...เมื่อสัก 10 ปีก่อนอินโดนีเซียเขาเปิดสัมปทานนะ ถ้าคุณอยากจะงมเรือสมบัติลำไหน คุณจ่ายสัมปทานมา แล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่รัฐไปด้วย แล้วก็หารกัน 60-40 หรือ 50-50 อะไรก็แล้วแต่ มีคนยื่นขอสำรวจฟลอร์เดอลามาร์ 60 บริษัท จนเดี๋ยวนี้ยังไม่เจอเลย...มีคนเคยงมได้เทวรูปหยกเป็นเจ้าแม่กวนอิม ก็คงหลายล้านอยู่ ก็มีเรื่องทอล์ก เรื่องกอสซิปเยอะ ฟลอร์เดอลามาร์นี่เป็นเรื่องคุยกันในที่ประชุมยูเนสโกในการออกอนุสัญญาระหว่างประเทศเลยนะ ผมเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมยูเนสโกที่ปารีส ฟลอร์เดอลามาร์เป็นลำหนึ่งที่ถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยว่า มันเป็นโปรตุเกส ไปปล้นมาเลเซีย ไปจมที่อินโดนีเซีย    The People: แล้วฟลอร์เดอลามาร์ควรจะเป็นของใคร เอิบเปรม: คือเขาพูดถึง territory (อาณาเขต) ว่ารัฐชายฝั่งควรมีอำนาจแค่ไหนในตัว convention (อนุสัญญา) ก็มีการยกขึ้นมาพูดถึง ผมไปลิสบอน ไปเจอโปรเฟสเซอร์หัวหน้าแผนกโบราณคดีใต้น้ำของโปรตุเกส ดร.ฟรานซิสโก อัลเวส (Francisco Alves) แกบอก ในช่วงปี 1511 กองเรือโปรตุเกสนี่คอร์รัปชันกันแหลกลาญเลย แล้ว 1511 ถึง 1529 อาเจะห์มีการพัฒนาอย่าง...ถ้าเป็นกราฟก็พุ่งจู๊ดเลย ประมาณสมัยอยุธยาเราน่ะ มีการสร้างถนนพัฒนาเมืองท่าอะไรต่ออะไรมากมาย มันเป็นไปได้มั้ย? ดร.ฟรานซิสโกบอก มันอาจถูกแบ่งกัน...อันนี้เป็นเกร็ด ไม่มีใครกล้าประกาศอันนี้หรอก นี่แค่คุยกันในวงเบียร์