“ฟ้าใส” ปวีณสุดา ดรูอิ้น มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2019 "ฤทัยประชาชาวเน็ต"
เจนนิเฟอร์ ปวีณสุดา แซ่ตัน ดรูอิ้น หรือที่แฟน ๆ นางงามนับแสนคนทั้งไทยและเทศรู้จักเธอคนนี้ด้วยชื่อเล่นที่เรียกกันติดหูว่า “ฟ้าใส” ตัวแทนสาวไทยที่เข้าร่วมการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ปี 2019 หรือการประกวดนางงามจักรวาลครั้งที่ 68 ซึ่งจัดขึ้นที่ Tyler Perry Studio เมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่ใช้เป็นสถานที่จัดการดีเบตรอบสองของผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ผ่านมา
กว่าที่ฟ้าใสจะก้าวมาถึงวันที่ได้ใส่ total look ในชุดสูทสีขาวที่มีเครปด้านหลังของแบรนด์ SIRIVANNAVARI ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานให้เธอสวมใส่เป็นพิเศษ และให้แฟนนางงามนับพัน ๆ ชีวิตได้มีโอกาสมาร่วมส่งเธอสู่เวทีจักรวาลที่สนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปี 2562 ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลย สำหรับนางงามผู้ไม่เคยทิ้งฝันผู้นี้
จริง ๆ แล้ว ฟ้าใสเคยประกวดนางงามมาแล้วหลายเวทีด้วยกัน ไล่มาตั้งแต่เวทีเล็กอย่าง Miss Chinese Cosmo Thailand 2013 ที่เธอได้สิทธินี้ในการประกวด เพราะฟ้าใสมีสายเลือดคนจีนอยู่ไม่น้อยจากฝั่งแม่ที่เป็นหญิงจีนแซ่ตัน และไต่ระดับมาถึงเวทีระดับชาติอย่างนางสาวไทยปี 2556 และมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ ในปี 2017 รวมถึงการประกวดมิสเอิร์ธที่ประเทศฟิลิปปินส์ในปีเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะเข้ารอบลึก ๆ แต่ฟ้าใสก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในฐานะ “คนมง” ที่แฟนนางงามใช้เรียกผู้ชนะในแต่ละเวที
อย่างไรก็ดี การโลดแล่นอยู่ในเวทีการประกวดมาหลายปี ทำให้สาวลูกครึ่งไทย-แคนาดา ที่พ่วงวุฒิปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว (kinesiology) จากมหาวิทยาลัยแคลการี ประเทศแคนาดา โกยฐานแฟนคลับได้ไม่น้อย ด้วยเส้นทางการประกวดของฟ้าใสนั้นเติบโตมาพร้อม ๆ กับใครต่อใครหลายคน ทำให้แฟน ๆ ที่ร่วมเชียร์เธอกันมาโดยตลอดติดตามและไม่ทิ้งเธอไปไหนตลอดระยะเวลาเกินครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา
เสียงในใจของแฟน ๆ ของฟ้าใสสื่อออกมาไม่ต่างกันนัก อย่าง เอฟ-พงษ์ศักดิ์ เขื่อนเก้า หนึ่งในแฟนนางงามชาวเหนือที่ติดตามฟ้าใสมาตั้งแต่ครั้งแรกที่เธอได้รองอันดับ 1 นางสาวไทยปี 2556 บอกกับผมว่า “ตอนนั้นคิดว่าน้องคนนี้มาผิดเวที น่าจะไปมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ ส่วนตัวแล้วเป็นเพื่อนกับฟ้าใสในเฟซบุ๊กด้วยเลยได้มีโอกาสแชทคุยกันบ้าง พอรู้ว่าฟ้าใสก็อยากลงเวทีมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ จึงติดตามและเป็นแฟนคลับน้องมาจนถึงปี 2019 ที่ฟ้าใสกลับมาอีกครั้ง ด้วยพลังแห่งนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้และความตั้งใจที่จะคาดสายสะพายไทยแลนด์บนเวทีนางงามจักรวาล”
ส่วนแฟนคลับอีกคนที่ลงทุนทำธงชาติไทยผืนเล็กกว่าพันผืนไปแจกแฟนนางงาม เพื่อร่วมส่งตัวแทนสาวไทยอย่างฟ้าใสที่สนามบินสุวรรณภูมิ อย่าง ปอนด์-อธิวัฒน์ หงษ์อุปถัมภ์ไชย ก็บอกว่า “ผมชื่นชมน้องในเรื่องความพยายามและความเป็นนักสู้ เหมือนเป็นแรงบันดาลใจของเราในการทำตามเป้าหมายในชีวิตไปด้วย”
ภาพวันที่แฟน ๆ ตามไปส่งฟ้าใส จึงเต็มไปด้วยความครึกครื้นของเสียงเชียร์และการไลฟ์สดผ่านมือถือ นับตั้งแต่เครื่องบินที่พาฟ้าใสมุ่งสู่เมืองแอตแลนตาออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ แฟน ๆ ต่างก็พากันลุ้นติดขอบจอโทรศัพท์มือถือว่าฟ้าใสนั้นจะปรากฏโฉมในลุคไหนบ้างในช่วงเวลาเก็บตัวที่กินเวลาราว 10 วันต่อจากนี้
ที่พูดว่าติดขอบมือถือนั้นไม่ได้พูดผิดแต่อย่างใด เพราะนาทีนี้ การประกวดนางงามในสมัยนี้แตกต่างจากเมื่อทศวรรษก่อนอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อพูดถึงโชว์อย่างการประกวดนางงามจักรวาลนั้น ทุกวันนี้วัฒนธรรมมวลชน หรือบ้างก็เรียกกันว่าผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมบันเทิงแขนงนี้ได้พลิกโฉมไปอย่างมากมาย เมื่อแฟน ๆนางงามต่างมีมือถือกันแทบทุกคน ซึ่งนั่นก็หมายความว่าช่องว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือ digital gap ที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมสัญญาณเครือข่ายให้ทุกคนและทุกที่เชื่อมถึงกัน โดยเฉพาะในสังคมโซเชียลมีเดียนั้นแทบจะเป็นศูนย์เลยก็ว่าได้
การเฝ้าติดตามจ้องมองตัวแทนประกวดนางงามสามารถทำได้อย่างใกล้ชิดผ่านชุมชนเสมือนในโลกออนไลน์ ทั้งแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ก็ดี อัตราการกดไลค์กดแชร์ของแฟนนางงามที่มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นอย่างฟ้าใสที่ตอนนี้มียอดผู้ติดตามเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สเกือบร้อยคนในปีนี้ สะท้อนให้เห็นการเอาจริงเอาจังของกลุ่มกองเชียร์ชาวไทยที่ต่างก็อ้างว่ายอดไลค์และยอดติดตามทั้งหมดนั้น “ของจริง” (organic) ไม่ได้เกิดจากการซื้อยอดหรือปั่นไลค์แต่อย่างใด ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างกระแสความนิยมให้กับตัวฟ้าใสให้อยู่ในกระแสสื่อมากที่สุด แข่งกับนางงามเพื่อนบ้าน เช่น กาซินี่ กานาโดส ตัวแทนสาวงามจากฟิลิปปินส์ ที่เคยนำมาก่อนหน้านี้ หรือสาวงามจากแดน “แซมบา” บราซิล อย่าง จูเลีย ออร์ตา ที่ขับเคี่ยวกันมาตลอด
การที่แฟน ๆติดตามฟ้าใสทางโซเชียลมีเดียอย่างเข้มข้นนี้ เพราะแฟน ๆ ที่ติดตามการประกวดรวมทั้งกองประกวดเองต่างก็เชื่อมั่นในตัว ฟ้าใส ปวีณสุดา ว่ามีคุณสมบัติในตัวหลายข้อที่พ้องกับบทบาทของนางงามจักรวาลที่ต้นสังกัดอย่าง Miss Universe Organization ที่มาอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท IMG ที่ดูแลนางแบบและคนดังในสังกัดมากมายมองหา เพราะด้วยวัย 26 ปี ทำให้เธอมีวุฒิภาวะและประสบการณ์ที่เอื้อให้เธอทำงานกับองค์กรได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทักษะการสื่อสารในที่สาธารณะด้วยภาษาอังกฤษและไทยที่คล่องแคล่ว จากการเป็นดีเจรายการกีฬาและพิธีกร ความเป็นผู้หญิงเดินดินที่ใคร ๆ ก็สามารถสัมผัสได้ ซึ่งมีภาพที่แฟนนางงามต่างแชร์กันหลาย ๆ รูปที่เผยให้เห็นช่วงเวลาเดินทางในกรุงเทพมหานครด้วยขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารประจำทาง เรือด่วนคลองแสนแสบ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และมีหลายครั้งที่เธอทำให้แฟน ๆ เห็นว่าเธอก็ไม่ใช่ผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้แต่งหน้าหรือทำผมเป็นนางงามตลอดเวลา บางครั้งก็ไปไหนมาไหนด้วยลุค “สาวแว่น” สบาย ๆ ทว่าเมื่อต้องแต่งองค์ทรงเครื่องเธอก็สามารถสร้างลุคที่สง่างามและเฉิดฉายได้ไม่อายใคร
ทั้งยังมีโครงการการกุศลที่เธอทำอย่าง "We are One" ซึ่งเป็นโครงการศิลปะที่เธอทำร่วมกับศิลปินที่เชี่ยวชาญด้านศิลปะแขนงต่าง ๆ ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ เพื่อร่วมสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส จะเห็นได้ว่าฟ้าใสมีคุณสมบัติและการเตรียมตัวเป็นอย่างดี เพื่อให้สอดรับกับงานขององค์กรนางงามจักรวาลที่หนึ่งในหน้าที่หลักนั่นก็คือการเป็น spokesperson หรือกระบอกเสียงให้กับองค์กรในการรณรงค์เรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์สินค้าให้กับผู้สนับสนุนรายหลักของการประกวด ทั้งผลิตภัณฑ์ทำผม และเครื่องสำอางต่าง ๆ อย่างที่นางงามจักรวาลคนก่อน ไม่ว่าจะเป็น เปีย อาลองโซ วูร์ทซบาค และแคทริโอน่า เกรย์ ก็ทำมาแล้ว
หากถามว่าการแข่งขันยอดผู้ติดตามที่แฟนนางงามแข่งขันและลุ้นกันอย่างจริงจังนั้นสะท้อนอะไรหรือเป็นประโยชน์อันใดได้บ้าง อย่างหนึ่งหากคุณมองในมิติทางการเมือง ผมสามารถบอกได้เลยว่านี่คือตัววัดความเข้มข้นของชาตินิยมทางวัฒนธรรม (cultural nationalism) อย่างหนึ่ง ผ่านรูปแบบของวัฒนธรรมมวลชนที่เกิดขึ้นในรัฐชาติต่าง ๆ ที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประกวด ที่ต่างก็แข่งขันกันด้วยอัตลักษณ์ของชาติ ผ่านชุดประจำชาติ แฟชั่น และเรือนกายของผู้หญิงที่เป็นตัวแทนรัฐชาติ
แต่หากมองในมิติทางการค้าและธุรกิจ ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ในปัจจุบันโลกของคนดังหรือเซเลบริตี้ที่มีผู้ติดตามบัญชีการใช้งานในสื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์สินค้าและองค์กรได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกใจที่ไม่กี่วันมานี้ ภาพของฟ้าใสปรากฏอยู่บนโปสเตอร์ให้กับสายการบินที่สนับสนุนการเดินทางสู่จักรวาลในครั้งนี้ของเธอ ทั้งยังมีบทความแนะนำตัวฟ้าใสประกอบในฐานเว็บไซต์ของเครือข่ายโทรทัศน์ภาษาสเปนยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่าง Telemundo ซึ่งได้สิทธิเผยแพร่สัญญาณการถ่ายทอดให้กับผู้ชมนางงามจักรวาลที่ใช้ภาษาสเปนในสหรัฐฯ และภูมิภาคลาตินอเมริกาทั้งหมด ยังไม่นับสินค้าอื่น ๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนการประกวดและตัวนางงามเอง ทั้งสินค้าประเภทเสื้อผ้าหน้าผม ที่จ่อคิวนำเสนอสินค้าผ่านตัวนางงามที่มีฐานคะแนนนิยม นำมาซึ่งความคึกคักของการประชาสัมพันธ์ตัวผลิตภัณฑ์เองได้เป็นอย่างมาก และในระดับสากลที่มากขึ้นด้วยในกลุ่มผู้บริโภคชาวเน็ตทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทางกองประกวดของไทยถึงทุ่มเทกับการเรียกกระแสฟ้าใสในการประกวดนางงามจักรวาลครั้งนี้เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเรื่อง look book ซึ่งเป็นการกำหนดชุดเครื่องแต่งกายที่ใช้ในระหว่างการเก็บตัวหรือ pre-pageant activities รวมไปถึงการลงทุนไปเก็บภาพเคลื่อนไหวของเธอที่แอตแลนตาก่อนเข้ากองประกวด โดยการเตรียมทีมงานตากล้อง รวมถึงผู้ตัดต่อที่มีประสบการณ์การทำงานสายแฟชั่นในระดับนิวยอร์กแฟชั่นวีคมาแล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อเดินเกมส์สร้างกระแสนิยมให้กับตัวนางงาม เพื่อให้ก้าวขึ้นเป็นตัวเก็งในการประกวดชนิดที่เรียกว่า front runner เพื่อให้สมกับคำการันตีที่ว่า “มงสามมาแน่” ให้กับประเทศไทย ตามที่สร้างกระแสไว้ในโลกออนไลน์ของไทยมาแล้ว
ฟ้าใส ไม่ต่างอะไรจากนักกีฬาที่ต้องไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ในความคิดของผม แต่นี่เป็นเกมการแข่งขันในโลกความงามที่มีเรื่องของการเมืองธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในหลาย ๆ ครั้งที่มีคำพูดออกมาว่า การประกวดนางงามนั้นเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว แต่หากคุณพินิจให้ดี ตัวนางงามซึ่งเป็นผู้เล่นเกมนี้และทีม รวมถึงพื้นที่เวทีเหล่านี้ ต่างก็มีวิวัฒนาการและเปลี่ยนแปลงไปเพื่อความอยู่รอดในโลกทุนนิยมและเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ที่ใครยอดไลค์ ยอดฟอลโลว์น้อย ก็คงต้องแพ้ไป ไหนจะยังเรื่องประเด็นผู้หญิงในมิติสตรีนิยมที่น่าติดตามไม่น้อย
บางทีเราอาจจะเจอมิติใหม่ ๆ ที่นางงามไม่ใช่วัตถุแห่งการจดจ้องมองของผู้ชายอย่างเดียวแล้วก็เป็นได้
ภาพ: https://missuniverse.in.th/gallery/final