นอกเหนือจากภาพอัศวินเจไดผู้ทรงพลัง อีกหนึ่งภาพจำของ โยดา (Yoda) สำหรับคนดูหนังหรือแม้แต่คนทั่วไปคือ การเป็นเจได มาสเตอร์ ผู้อบรมสั่งสอน ประสิทธิ์ประสาทวิชา และให้คำแนะนำแก่ผู้ฝึกฝนวิชาเจได ซึ่งมีเคล็ดหลักวิชาอยู่ที่ “พลัง” The Force
แต่หากสืบค้นถึงที่มาของตัวละครสีเขียวสุดคลาสสิกจากหนังชุด Star Wars การเป็นอาจารย์เจไดของโยดา มีจุดเริ่มต้นจากการก้าวเข้ามาสอนแทนคนอื่นอย่างไม่ตั้งใจ
ย้อนกลับไปในช่วงที่กำลังสร้างหนัง Star Wars (1977) ซึ่งภายหลังมันถูกปะชื่อใหม่เป็น Star Wars: Episode IV-A New Hope ผู้กำกับ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ เมื่อลูคัสพบว่าตัวละคร โอบีวัน เคโนบี (Obi-Wan Kenobi) ผู้สั่งสอน ลุค สกายวอล์คเกอร์ (Luke Skywalker) ไม่ได้ทำหน้าที่ใด ๆ อีกเลย หลังจากต่อสู้กับ ดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader) จนโอบีวันมีสภาพเปล่าประโยชน์ต่อเรื่องราวที่เหลือของหนัง
“ผมคิดว่ามันน่าจะพึงพอใจ ทรงพลัง และน่าสนใจมากขึ้น ถ้าเกิดว่าดาร์ธ เวเดอร์จัดการฆ่าเขาเสีย” ลูคัสพูดถึงทางออกสำหรับโอบีวัน ก่อนจะจัดการแก้ไขบทหนัง กระทั่งคนดูได้ชมฉากสะเทือนอารมณ์ โอบีวันสูญสลายหายไประหว่างดวลไลท์เซเบอร์กับเวเดอร์ กลายเป็นจุดหักเหสำคัญสำหรับลุค
ทว่าฉากดังกล่าวนั้น ก็ทำให้เกิดปัญหากับหนังภาคต่อมาอย่าง The Empire Strikes Back (1980) เพราะในโครงเรื่องร่างแรกที่ลูคัสเขียนไว้ โอบีวันจะยังมีชีวิตอยู่ และกลับมาสอนลุคให้กลายเป็นอัศวินเจไดแบบเต็มตัว แต่ในเมื่อโอบีวันไม่อยู่แล้ว ลูคัสจึงจำเป็นจะต้องหาครูคนใหม่ และครูผู้สอนแทนคนนี้ก็ต้องไม่เหมือนกับโอบีวันด้วย
แล้วตัวช่วยสำคัญสำหรับลูคัสคือจินตนาการจากเทพนิยายและนิทานปรัมปรา ซึ่งช่วยให้ลูคัสวาดเค้าโครงตัวละครโยดาที่เหมือนหลุดออกมาจากเรื่องราวประเภทนั้น
“โดยปกติตัวละครพวกนี้มักจะเป็นกบหรือชายชราที่อยู่ข้างถนน” ลูคัสอธิบาย “ตัวละครที่เป็นฮีโรจะเดินอยู่บนถนน แล้วพบบุคคลผู้น่าสงสารและไม่มีความสลักสำคัญคนนี้ เป้าหมายและบทเรียนสำหรับผู้เป็นฮีโรคือการเรียนรู้ที่จะเคารพทุกคน และให้ความสนใจแก่ผู้ต่ำต้อย เพราะนั่นคือกุญแจสู่ความสำเร็จสำหรับฮีโร”
[caption id="attachment_16084" align="alignnone" width="620"]
Stuart Freeborn[/caption]
การสร้างหุ่นเชิดโยดา มี สจวร์ต ฟรีบอร์น (Stuart Freeborn) นักแต่งหน้าเอฟเฟกต์ฝีมือฉกาจจาก 2001: A Space Odyssey (1968) เป็นผู้ออกแบบสำหรับหุ่นจริงที่จะใช้ถ่ายทำ โดยฟรีบอร์นได้นำหน้าตาของตัวเขาเอง มาผสมรวมกับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์จอมอัจฉริยะ พร้อมกับสร้างริ้วรอยแห่งอายุและประสบการณ์เข้าไป ตามด้วยหูแหลมสองข้าง
“เขาควรจะดูเป็นสัตว์ ผมเลยใส่หูแบบสัตว์ลงบนหัว ผมคิด เอาแค่นี้แหละวะ ผมไม่มีเวลาปรับเปลี่ยนแล้ว” ฟรีบอร์นพูดถึงการปั้นโยดาแบบเร่งด่วน เพราะตารางงานอันกระชั้นชิด เลยทำให้ฟรีบอร์นรู้สึกกังวลว่าผลงานของเขาจะถูกลูคัสตอบปฏิเสธ ทว่าเมื่อผู้สร้างจักรวาลสตาร์ วอร์ส ได้เห็นใบหน้าบนหุ่นปั้นโยดาที่ดูเฉลียวฉลาด “นี่แหละ! สิ่งที่ผมต้องการ!”
ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง โยดาเป็นอัศวินเจไดที่ใช้ชีวิตอยู่บนดาวเดโกบาห์ อันมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าชวนหลอนและบึงขนาดใหญ่ ซึ่งทีมสร้างได้จัดการเนรมิตฉากหลังอย่างสมจริง จนทำให้ แฟรงค์ ออซ (Frank Oz) จาก ซีรีส์ The Muppet Show ผู้ทำหน้าที่ใช้มือเชิดหุ่นและให้เสียงพากย์แก่โยดา ต้องนั่งคุกเข่าหรือนอนไปกับพื้นดินอันชื้นแฉะ ในขณะที่นักเชิดหุ่นคนอื่นใช้อุปกรณ์บังคับให้ใบหน้ากับหูของโยดาขยับด้วยเทคนิคอนิเมทรอนิก
“ถ้าคุณนั่งดูหนังแบบตั้งใจนะ คุณจะสามารถบอกได้เลยว่าช็อตไหนถูกถ่ายทำเป็นช็อตแรก และช็อตไหนถ่ายทำเป็นช็อตสุดท้าย โดยสังเกตจากใบหน้าของโยดาว่ามีความสกปรกแค่ไหน” นิค เมลีย์ (Nick Maley) ศิลปินฝ่ายเมคอัพ เผยความลำบากในการสร้างให้โยดามีชีวิตบนหน้าจอ และก็เพราะลูคัสได้มอบโจทย์แก่ออซไว้ว่า “ทำให้เขาออกมามหัศจรรย์” เลยทำให้ออซบอกว่า “มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดเท่าที่ผมเคยทำมาในตลอด 20 ปีของชีวิตการแสดง”
ส่วนผู้กำกับ เออร์วิน เคิร์ชเนอร์ (Irvin Kershner) ที่เคยเกลียดโยดา เนื่องจากปัญหาการถ่ายทำอันน่าปวดหัว ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนมารักตัวละครนี้ เพราะ “เขาดูสมจริงอย่างสมบูรณ์”
The Empire Strikes Back ประสบความสำเร็จด้านรายได้อย่างมหาศาล ในขณะที่คำวิจารณ์ก็ถูกยกย่องมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา และหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนความคลาสสิกของหนังคือตัวละครโยดา จากฉากการสอนลุคให้กลายเป็นเจได ด้วยบทเรียนหลายบท ทั้งความอดทน, การสัมผัสแห่งพลังที่อยู่รอบตัว, การใช้พลังเพื่อปัญญาและการป้องกันตัว, ความเชื่อในสิ่งที่ทำ, การเผชิญหน้ากับจิตใจเบื้องลึก-ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่แฟนหนังจดจำ และถูกหนังสตาร์ วอร์ส เรื่องอื่น ๆ พยายามทำซ้ำหรือต่อยอดอีกหลายครั้ง
แต่บทเรียนจากโยดา ที่ทำให้ตัวละครสีเขียวตัวจ้อยมีความยิ่งใหญ่และสะท้อนถึงภาพรวมของหนังชุดได้ดีคือ การมองข้ามรูปลักษณ์ภายนอก
ในฉากที่ลุคพบเจอกับโยดาครั้งแรก ลุครู้สึกรำคาญใจกับเจ้าสิ่งมีชีวิตถือไม้เท้า เพราะโยดาแกล้งปกปิดตัวตนที่แท้จริงด้วยการแสร้งเป็นตาแก่แสนซุกซน ซึ่งอ้างว่ารู้จักกับโยดา และจะนำพาลุคไปพบ ทว่าตาแก่ก็ประวิงเวลาอยู่นานสองนาน จนลุคหมดความอดทน ในเวลานั้นเอง ตาแก่ก็เปิดเผยตัวว่าเป็นโยดา ทำให้ลุครู้สึกเหลือเชื่อกับสิ่งที่ตัวเองเห็น
นอกจากนี้ เมื่อลุคไม่สามารถยกยานเอ็กซ์-วิงขนาดมหึมาขึ้นมาจากบึงน้ำ และลุคยังมองว่านั่นคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ โยดาเลยสำแดงพลัง ยกยานมาวางไว้บนบกอย่างน่าอัศจรรย์ ก่อนจะเผยว่าขนาดไม่ใช่สิ่งสำคัญ
สตาร์ วอร์ส เป็นมหากาพย์ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์, หุ่นหลากหลายประเภท, หรือแม้แต่ยานและอาวุธก็เต็มไปด้วยความหลากหลาย ความแตกต่างทั้งหมด ต่างไหลเวียนอยู่ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ และหลายครั้ง เราก็มิอาจตัดสินสิ่งเหล่านั้นได้จากรูปลักษณ์ภายนอก
หุ่นเล็ก ๆ เพียงตัวเดียวก็มีบทบาทในการกอบกู้จักรวาลได้ เพราะสิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่รูปร่าง ไม่ใช่สีผิว ไม่ใช่ขนาด ไม่ใช่เผ่าพันธุ์ แต่คือสิ่งที่อยู่ภายใน ไม่ต่างจากโยดาตัวน้อยที่เคยทำให้ลุคคาดไม่ถึง
และเพราะแนวเพิกเฉยต่อสิ่งภายนอกนี้ เลยอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนสามารถสัมผัสถึงพลังแห่งโยดาผ่านสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ทั้งฟิกเกอร์, เสื้อยืด, เคสมือถือ และสินค้าอีกจำนวนมหาศาล รวมไปถึงเสียงตอบรับจากเครื่องชำระเงินด้วยตัวเองภายในร้านค้าปลีก ปอนด์แลนด์ ทั่วสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นเสียงโยดาคอยโต้ตอบกับลูกค้า
หรือแม้กระทั่งตัวละครสายพันธุ์เดียวกับโยดาที่ปรากฏตัวในซีรีส์ The Mandalorian ซึ่งถูกแฟน ๆ ตั้งชื่อเรียกให้ว่า เบบี้ โยดา ขนาดตัวที่เล็กราวกับเด็กทารกและดวงตาอันกลมโต ก็มิอาจขวางกั้นพลังจากตัวละครสู่คนดูได้
[caption id="attachment_16075" align="alignnone" width="1280"]
The Mandalorian[/caption]
“เหตุผลที่สิ่งเหล่านี้มีผลต่อผู้คนคือมันไม่ใช่แค่การถวิลหาอดีต แต่มันคือบางสิ่งที่มีความหมาย เป็นเรื่องราวที่ลงรากฝังลึก เป็นพลังและการสะท้อนกลับด้วยหัวใจของคนเรา เป็นหัวใจที่เต้นระรัว” เจ.เจ.อับรามส์ (J. J. Abrams) ผู้กำกับ The Force Awakens (2015) และ Rise of Skywalker (2019) พยายามมองให้ลึกผ่านความฮิตของเบบี้ โยดา “มันไม่ใช่แค่น่ารักนะ แต่มันยังสื่อถึงเรื่องราว มันจุดประกายจินตนาการ”
นั่นคือสิ่งที่ผู้สร้างหนังมองเห็นผ่านตัวละครลูกหลานของโยดา ซึ่งถูกสร้างในอีกเกือบ 40 ปี นับตั้งแต่ The Empire Strikes Back ออกฉาย ส่วนในช่วงเวลาที่โยดาปรากฏตัวเป็นครั้งแรก สิ่งที่แฟรงค์ ออซ มองเห็นผ่านตัวละครนี้คือ “ผมมองเห็นความอดทน ปัญญา ความรอบรู้ และความแข็งแรง ผมเป็นแค่คนที่รวบรวมทุกอย่างให้มีชีวิตชีวา ทำให้มันใช้การได้”
นับเป็นการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ จากครูสอนแทน กลายเป็นสัญลักษณ์การมองเห็นภายใน ซึ่งจะสถิตคู่กับสตาร์ วอร์ส และคนดู ไปอีกนานแสนนาน
เรื่องโดย: เอกราช มอญวัฒ
ที่มา
https://www.denofgeek.com/movies/yoda/37971/yoda-the-empire-strikes-backs-big-gamble
https://people.com/archive/cover-story-yoda-mania-vol-13-no-23/
https://www.tomsguide.com/news/baby-yoda-mandalorian-disney-plus
https://www.gamesradar.com/j-j-abrams-rise-of-skywalker-baby-yoda-mandalorian/
https://ballymenadaily.com/local-news/jedi-master-yoda-is-set-to-help-out-at-the-tills-at-ballymenas-poundland-he-must/