มาเรีย เรสซา บุคคลแห่งปี หนึ่งใน "ผู้พิทักษ์" ต่อสู้เพื่อความจริง
เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักข่าวได้ถามถึงความเห็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เคยขึ้นปกนิตยสาร "Time" ในฐานะบุคคลแห่งปีมาแล้วในปี 2016 ว่า ใครกันที่เหมาะกับตำแหน่งนี้ในปี 2018 ทรัมป์ตอบกลับมาว่า "ผมคิดว่าคงไม่มีใครเหมาะเกินไปกว่าทรัมป์ คุณเห็นใครเหมาะเกินกว่าทรัมป์มั้ยล่ะ?"
แต่ผลที่ออกมาคงตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาคาดหมายไว้เยอะเพราะไทม์ยกตำแหน่งนี้ให้กับบรรดานักข่าวหรือที่ไทม์เรียกว่าเป็น "ผู้พิทักษ์" ในสงครามกับความจริง ซึ่งถูกเล่นงานโดยรัฐบาลที่พยายามปิดปากหรือดิสเครดิตการทำงานของพวกเขา
"อิทธิพลในขั้นสูงสุด-ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความเป็นบุคคลแห่งปีของไทม์ที่ใช้มากว่าเก้าทศวรรษ-เป็นสิ่งที่ก่อเกิดขึ้นมาจากความกล้าหาญ เช่นเดียวกับพรสวรรค์อื่นๆ ของมนุษย์ ความกล้าหาญมาอยู่กับเราในหลายระดับและหลายจังหวะเวลา ในปีนี้เราขอระลึกถึงนักข่าวสี่คนกับอีกหนึ่งองค์กรที่ต้องสูญเสียอย่างใหญ่หลวงกับการเผชิญหน้ากับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้: จามาล คาช็อกจี (Jamal Khashoggi) มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) วา โล (Wa Lone) และจอ โซ อู (Kyaw Soe Oo) และ Capital Gazette จากแอนนาโพลิส แมริแลนด์" เอ็ดเวิร์ด เฟลเซนธอล (Edward Felsenthal) บรรณาธิการของ Time กล่าวถึงบุคคลและองค์กรที่ได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของปีนี้
มาเรีย เรสซา เป็นผู้หญิงหนึ่งเดียวที่อยู่ในรายชื่อของบุคคลแห่งปีของไทม์ (เหยื่อความรุนแรงจากการกราดยิงสำนักงาน Capital Gazette ก็มีผู้หญิงอยู่เช่นกัน แต่สำนักข่าวแห่งนี้ถูกยกขึ้นในฐานะองค์กร) เธอคือนักข่าวชาวฟิลิปปินส์ที่กำลังถูกดำเนินคดีในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษีซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า เพราะเธอคือผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ โรดรีโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์มากที่สุดคนหนึ่ง
ในวัยเด็กครอบครัวของเรสซาย้ายไปอยู่สหรัฐฯ หลังเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส ประธานาธิบดีในขณะนั้นประกาศใช้กฎอัยการศึกรวบอำนาจเบ็ดเสร็จในปี 1972 เธอไปได้ดีกับชีวิตในบ้านหลังใหม่ จบการศึกษาในชั้นปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์จากพรินส์ตัน ก่อนตัดสินใจเดินทางมาฟิลิปปินส์ในปี 1986 เพื่อตามหา "รากเหง้า" ของเธอ
เธอหันมาสนใจด้านงานข่าว เริ่มทำงานข่าวกับ CNN และได้เป็นหัวหน้าสำนักงานประจำมะนิลาระหว่างปี 1987-1995 ต่อด้วยจาการ์ตาระหว่าง 1995-2005 ก่อนย้ายมาอยู่กับ ABS-CBS ประจำแผนกข่าวและสถานการณ์ปัจจุบันเป็นเวลา 6 ปี เธอมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำข่าวเชิงสืบสวนด้านก่อการร้ายและยังเป็นอาจารย์สอนด้านการเมืองและสื่อสารมวลชนให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง
ปี 2011 เธอตัดสินใจหันหลังให้กับวงการโทรทัศน์ และหันมาพัฒนาสำนักข่าวออนไลน์ที่เน้นข่าวเชิงสืบสวนและบันเทิงของเธอเอง โดยได้เปิดตัวไปเมื่อปี 2012 ในนาม "Rappler" ซึ่งเธออธิบายว่ามันมาจากคำว่า "rap" และ "ripple" เพื่อสื่อถึงการถกเถียงเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม
สำนักข่าวของเธอกลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากับดูเตร์เตผู้นำอำนาจนิยมผู้มีนโยบายประชานิยมและการทำสงครามกับยาเสพติด (ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก) เป็นจุดขาย
Rappler ของเธอตามติดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ตามมาจากนโยบายของดูเตร์เตอย่างใกล้ชิด ในขณะที่กระแสสังคม และโซเชียลมีเดียยังคงหนุนหลังผู้นำอย่างเหนียวแน่น
"ดูเหมือนว่า ในเพียงชั่วข้ามคืน ชาวฟิลิปินโนได้เปลี่ยนจากผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนไปเป็นผู้ให้ความชอบธรรมและยอมรับการฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์รายวัน หรือการใช้อำนาจตามอำเภอใจไม่ว่าจะในภาครัฐหรือเอกชน การขาดไร้ซึ่งความเคารพในสิทธิทางกฎหมายของประชาชนและความรับผิดชอบ การทะลักท่วมล้นของคำโกหกที่ค่อยๆ พรากเอาคุณค่าส่วนตนของทุกคน รวมถึงประชาธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์แบบของเราไปด้วย
"ในฐานะหนึ่งในผู้ใช้และผู้รณรงค์กลุ่มแรกๆ สำหรับการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อความดีงามของสังคม ฉันรู้สึกสลดใจยิ่งนักกับการที่มันถูกใช้โดยรัฐบาลเผด็จการทั่วโลกเพื่อตีกลับประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อ เพื่อปิดปากเสียงวิจารณ์และส่งเสริมการเลือกปฎิบัติและการเหยียดเพศโดยมีเป้าเป็นผู้หญิงซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างน้อยกว่าสามเท่าตัว" บางส่วนจากคำวิจารณ์ชิ้นหนึ่งของเรสซาต่อปัญหาการใช้โซเชียลมีเดีย (Rappler)
เสียงวิจารณ์และการต่อสู้กับคำโกหกในโซเชียลมีเดียของสำนักข่าวของเธอสร้างความไม่พอใจให้กับดูเตร์เตและผู้สนับสนุนอย่างมาก ทำให้เธอและนักข่าวในสังกัดถูกคุกคามทั้งขู่ฆ่า หรือข่มขืน และครั้งหนึ่งดูเตร์เตยังเคยข่มขู่นักข่าวสายการเมืองของ Rappler ว่าอย่าได้ไปเหยียบเมืองดาเวาบ้านเกิดของเขาไม่เช่นนั้น "ระวังเรื่องร้ายๆ จะเกิดขึ้น" (The New York Times)
เรสซาและ Rappler ยังถูกรัฐบาลดำเนินคดีในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี จากกรณีการลงทุนของ Omidyar Network องค์กรสัญชาติอเมริกันของ ปิแอร์ โอมิดยาร์ (Pierre Omidyar) ผู้ก่อตั้ง eBay (ดีลเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015) และเมื่อช่วงต้นปีดีลดังกล่าวยังถูกคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สอบสวนเพื่อหาเหตุในการยับยั้งใบอนุญาตประกอบกิจการ และทาง Rappler ก็ถูกแบนไม่ให้ร่วมทำข่าวในทำเนียบประธานาธิบดีของดูเตร์เต
ทาง Rappler มองว่าการกระทำของภาครัฐคือการข่มขู่คุกคามการทำงานของพวกเขาเพื่อที่จะปิดปากเสียงวิจารณ์ เรสซากล่าวว่ารัฐบาลกำลังทำเหมือนกับว่าสำนักข่าวของเธอคือ "นายหน้าค้าหลักทรัพย์" ไม่ใช่สำนักข่าว พร้อมยืนยันว่าองค์กรของเธอชำระภาษีอย่างถูกต้องตามเกณฑ์ในฐานะองค์กรข่าวแล้ว
และในวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา เรสซาก็เลือกที่จะเดินทางเข้ามอบตัวเพื่อสู้คดีด้วยตนเอง หลังมีการอนุมัติหมายจับให้พอดีกับกำหนดเดินทางกลับฟิลิปปินส์ของเธอ เนื่องจากเธออยู่ระหว่างเดินทางไปต่างประเทศนานนับสัปดาห์โดยส่วนหนึ่งก็เพื่อเดินทางไปร่วมงานประกาศรางวัลสื่อดีเด่นในหลายสถาบัน (ซึ่งเธอเองก็ได้รับรางวัลด้วย) พร้อมประกาศว่าเธอจะทำให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบกับการกล่าวหาว่าเธอเป็น "อาชญากร"