พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เจ้านายตกอับ ไม่ใช่เพราะขอรัฐธรรมนูญ

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เจ้านายตกอับ ไม่ใช่เพราะขอรัฐธรรมนูญ
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต้องลี้ภัยจากเมืองไทยเพราะเป็นคนต้นคิดขอพระราชทานรัฐธรรมนูญจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จริงหรือ? พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงได้ทำคุณงามความดีไว้มาก จนได้รับการโปรดเกล้าฯ จากรัชกาลที่ 5 ให้เลื่อนจาก "หม่อมเจ้า" เป็น "พระองค์เจ้า" แต่แล้วพระองค์ก็ต้องเสด็จลี้ภัยจากเมืองไทยเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษ สาเหตุเป็นเพราะอะไรแน่นั้น ไม่มีใครได้ฟังจากปากของพระองค์เอง แม้ว่าพระองค์จะได้เกริ่นไว้ในอัตชีวประวัติของพระองค์เองว่า จะเผยในอัตชีวประวัติเล่มต่อไป แต่มันก็ไม่เคยได้ถูกตีพิมพ์  ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จึงได้แต่สันนิษฐานไปหลายข้อ ข้อหนึ่งที่กล่าวถึงมากก็คือ การที่พระองค์ซึ่งในขณะนั้นเป็นทูตประจำอยู่ที่ฝรั่งเศสเสนอให้รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองไปสู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ  หรือไม่ก็มาจากการที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเลือกที่จะเอาเรื่องนี้ไปปรึกษากับเจ้านายท่านอื่น ๆ (รวมถึงพระอนุชาที่ทรงอยู่ในยุโรปในขณะนั้น) ซึ่งผิดไปจากพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ดังคำอธิบายของ ดร. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ว่า  "เมื่อครั้งออกไปเป็นทูตนั้น ได้มีพระราชดํารัสไว้ต่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่าอยู่ใกล้ชิดกับฝรั่งมานาน จะต้องรู้นิสัยใจคอและรู้ว่าเขาคิดร้ายดีต่อสยามประเทศอย่างไร เพราะฉะนั้นให้ถวายข้อคิดเห็นเพื่อปรับปรุงบ้านเมืองเข้ามาเป็นการส่วนพระองค์ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงถือโอกาสคิดร่างรัฐธรรมนูญถวายโดยมอบให้พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ค้นคว้าร่างเอกสารขึ้นมา แล้วชักชวนให้เจ้านายและข้าราชการสถานทูตในอังกฤษและฝรั่งเศสร่วมกันลงพระนามลงชื่อเป็นหางว่าวกราบบังคมทูลถวายเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2428 “การครั้งนี้ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทําพลาด เพราะตามพระราชประสงค์เดิมนั้น ให้เป็นการถวายข้อคิดเห็นในส่วนพระองค์ ดังนั้นจึงปรากฏว่าไม่พอพระราชหฤทัย และที่ถูกเรียกกลับกรุงเทพฯ ก็คงมีสาเหตุประการนี้ด้วย" (Silpa Mag) อย่างไรก็ดี ทามารา ลูส์ (Tamara Loos) รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์เนล ผู้เขียน Bones Around My Neck: The Life and Exile of a Prince Provocateur หนังสือว่าด้วยประวัติของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ เสนอมุมมองที่ต่างออกไปว่า จริง ๆ แล้ว เรื่องของรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเป็นปัญหาที่แท้จริง หรือเป็นปัญหาเพียงข้อเดียว “ประวัติศาสตร์สยามที่กล่าวถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ส่องแสงไฟไปที่สองจุดใหญ่ คือ ในฐานะนักการทูต และผู้รณรงค์เพื่อระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญถึงขนาดที่ไม่มีการกล่าวถึงพระองค์ในเรื่องอื่นเลย นักวิชาการส่วนใหญ่ชี้ไปที่ข้อเสนอในปี (ค.ศ.) 1885 ว่าเป็นต้นเหตุของความอับจนของพระองค์ โดยกล่าวกันว่ามันเป็นเหตุให้องค์กษัตริย์พิโรธจากการเสนอระบบการปกครองอื่นนอกเหนือไปจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อย่างไรก็ดี พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ลี้ภัยในปี 1890 เป็นเวลากว่าห้าปีหลังจากทูลเกล้าถวายข้อเสนอดังกล่าวแด่ปิยกษัตริย์” พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2394 เป็นพระโอรสองค์เล็กในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีหวิกรม (พระองค์เจ้าชุมสาย) กับหม่อมน้อย อดีตหม่อมในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ มีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้าปฤษฎางค์”  กรมขุนราชสีหวิกรม พระบิดาของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นั้น เป็นพระราชโอรสลำดับที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาเอมใหญ่ (ประสูติครั้งพระราชบิดายังไม่ขึ้นครองราชย์) จึงมีศักดิ์เป็นพระภาดา (ลูกพี่ลูกน้อง) กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และยังเป็นนายช่างใหญ่ของราชสำนัก  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถวายตัวเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 5 และได้เดินทางไปศึกษาภาษาอังกฤษที่สิงคโปร์ใน พ.ศ. 2414 หลังจากที่พระองค์สมรสกับหม่อมสดับได้เพียงไม่ถึงหนึ่งเดือน จากนั้นพระองค์ก็ได้รับเลือกให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษโดยได้เดินทางไปในช่วงปลายปีเดียวกันนั้นเอง หลังจากนั้น 5 ปี พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ศึกษาจบปริญญาด้านวิศวกรรมประยุกต์ (ตามรอยวิชาชีพเดียวกันกับพระบิดา) จากคิงส์คอลเลจ กรุงลอนดอน ด้วยผลการเรียนเป็นเลิศ กวาดรางวัลผลการเรียนยอดเยี่ยมมาได้ในหลายสาขาวิชา จน วิลเลียม อี. แกลดส์ตัน (William E. Gladstone) อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งมาเป็นผู้มอบรางวัลยังอดแซวไม่ได้ว่า เขาต้องมอบรางวัลให้พระองค์คนเดียวจนเมื่อย เมื่อกลับจากอังกฤษ นอกเหนือจากการทำหน้าที่เป็นวิศวกรแล้ว ด้วยความที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนในสมัยนั้นที่แตกฉานในภาษาอังกฤษ จึงทำให้พระองค์รับบทสำคัญในการต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง และได้ถวายงานใกล้ชิดกับ สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังเป็นราชเลขานุการในรัชกาลที่ 5 ก่อนรับหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลกิจการต่างประเทศของสยามหลายทศวรรษ แล้วสถานการณ์ก็บังคับให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต้องมารับบทบาทนักการทูต เมื่อเกิดวิกฤตใหญ่เนื่องจากกงสุลน็อกซ์ (Thomas George Knox) กงสุลใหญ่ของรัฐบาลอังกฤษไม่พอใจที่ลูกเขย (พระปรีชากลการ) ถูกจับตัวดำเนินคดีฐานฉ้อราษฎร์บังหลวงและเชื่อว่าลูกเขยของตนจะไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม จึงขู่ที่จะเอาเรือปืนมาปิดปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยาจนกว่ารัฐบาลสยามจะปล่อยตัวลูกเขย  พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงได้เป็นหนึ่งในคณะตัวแทนเจรจากับรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งสามารถคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งได้สำเร็จ (น็อกซ์ถูกปลดจากตำแหน่งกงสุล ส่วนพระปรีชากลการถูกประหาร) จากนั้นการติดต่อเจรจากับต่างประเทศพระองค์ก็จะมีส่วนร่วมด้วยเสมอ และปี พ.ศ. 2425 พระองค์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตไทยคนแรกประจำอังกฤษ และประเทศพันธมิตรอื่นทั้งหมดในยุโรปและอเมริกา  นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสยามมีตัวแทนเป็นคนไทยที่จะช่วยดูแลผลประโยชน์ของประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านี้จะใช้งานชาวต่างชาติมาโดยตลอด นั่นจึงทำให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้รับการต่อต้านและดูหมิ่นไม่น้อยจากชาวต่างชาติที่เห็นว่าพระองค์ขาดความเหมาะสมที่จะรับหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งหลัก ๆ ก็มาจากการเหยียดเชื้อชาติ และเกรงว่าตัวเองจะเสียประโยชน์ (ตัวอย่างเช่น จดหมายของ วิลเลียม กิฟฟอร์ด เพลเกรฟ [William Gifford Palgrave] กงสุลอังกฤษที่เข้ามารับตำแหน่งแทนน็อกซ์ บรรยายพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่าเป็น “monkey who has seen the world”) พระองค์เจ้าปฤษฎางค์มีโอกาสเข้าเฝ้าประมุขหลายประเทศ หนึ่งในวิธีการที่ทำให้พระองค์ได้รับการยอมรับก็คือการเข้าสมาคมและให้เงินบริจาคจำนวนมากกับโรงพยาบาลต่าง ๆ หลายประเทศ มากเสียจนจักรพรรดินีแห่งเยอรมนีขอเชิญพระองค์ไปเข้าเฝ้าเพื่อขอบพระทัยที่ให้การสนับสนุนโรงพยาบาลในอุปถัมภ์ของพระนาง ขณะเดียวกันก็เป็นเหตุให้พระองค์สร้างหนี้สินจำนวนมาก แต่พระองค์ก็ทรงยืนยันว่า การนั้นเป็นไปเพื่อสยามมิใช่เพื่อตัวพระองค์เอง  ความสำเร็จในการสานสัมพันธ์กับต่างประเทศ การเจรจาสนธิสัญญาต่าง ๆ รวมถึงการเจรจาเพื่อขอให้ไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิกสหภาพไปรษณีย์และโทรเลขสากล ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสถาปนาให้พระองค์เป็น “พระองค์เจ้า”  แต่หลังการสถาปนา “พระองค์เจ้าปฤษฎางค์” ก็ต้องถูกย้ายไปประจำอยู่ที่ฝรั่งเศส โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ พระราชอนุชาต่างพระราชมารดาของรัชกาลที่ 5 ทรงขึ้นรับตำแหน่งทูตประจำอังกฤษและสหรัฐฯ แทน ลูส์กล่าวว่า มีเอกสารราชการลับหลายชิ้นชี้ว่า การที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์รับตำแหน่งทูตประจำกรุงลอนดอน ประเทศมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกในขณะนั้นถือว่า เป็นตำแหน่งที่สูงศักดิ์เกินกว่าผู้ที่มีชาติกำเนิดเป็น “หม่อมเจ้า” เพลเกรฟ กงสุลอังกฤษเองก็ยังมีหนังสือไปถึงเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) เสนาบดีดูแลการต่างประเทศของสยามเพื่อโต้แย้งว่า การเรียกพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ว่า “prince” ไม่ถูกต้อง เพราะพระองค์มีชาติกำเนิดเป็น “หม่อมเจ้า” เท่านั้น (ขณะที่ธรรมเนียมไทยถือว่าหม่อมเจ้า เป็นเจ้า) การที่รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้พระองค์เป็นพระองค์เจ้า จึงแสดงถึงการยอมรับในการปฏิบัติหน้าที่ของพระองค์ พร้อมกันนั้นก็เพื่อมิให้พระองค์รู้สึกน้อยพระทัยกับการรับหน้าที่ใหม่ในภาคพื้นทวีปยุโรป และในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ประจำกรุงปารีสนี่เองที่เกิดกรณี รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาเป็นการส่วนพระองค์ (เมื่อปี พ.ศ. 2427) ไปถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถึงกรณีสถานการณ์ในพม่าที่ถูกคุกคามโดยอังกฤษ พร้อมถามความเห็นถึงวิธีการหลีกเลี่ยงมิให้สยามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่ง ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เลือกที่จะขอความเห็นจากเจ้านายพระองค์อื่น ๆ ที่ประทับอยู่ในยุโรป ซึ่งพระองค์คิดว่าน่าจะมีความรู้ความสามารถมากกว่าพระองค์ โดยมิได้ขอพระบรมราชานุญาตเสียก่อน ก่อนร่างข้อเสนอในการปฏิรูปการปกครองเพื่อให้ชาติยุโรปหมดข้ออ้างได้ว่าสยามไม่เป็นอารยะโดยมีพระองค์กับเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง 3 พระองค์กับข้าราชการอีกจำนวนหนึ่งลงชื่อท้ายข้อเสนอดังกล่าว เนื้อหาสำคัญของข้อเสนอดังกล่าว คือการขอให้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้เป็นระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร แต่ยังไม่ถึงขั้นให้มีระบบรัฐสภา (เป็นการแบ่งอำนาจในหมู่ชนชั้นสูงเอง) ขอให้ยกเลิกธรรมเนียมเก่าที่ล้าหลัง ยกเลิกระบบไพร่ มีกฎหมายจัดการมรดก รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การใช้กฎหมายอย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ ระบบราชการที่ผู้ดำรงตำแหน่งมีเงินเดือนประจำ ระบบกองทัพสมัยใหม่เพื่อจัดการความวุ่นวายภายใน รวมถึงการแก้ไขปัญหาทุจริต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เวลาหลายเดือนก่อนมีพระราชหัตถเลขาตอบกลับ โดยทรงระบุว่าเห็นด้วยกับการปฏิรูปในหลายข้อซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ในส่วนการยกเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นทรงค้าน โดยมีพระราชวินิจฉัยว่า แต่ละประเทศมีประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน และมีปัญหาต่างกัน ปัญหาที่เจอในยุโรปจนต้องมีการถ่ายจำกัดถ่ายโอนอำนาจกษัตริย์ใช่ว่าจะเป็นสากล และสยามก็หาได้มีปัญหาอย่างเดียวกันไม่ ลูส์กล่าวว่า การร่างข้อเสนอดังกล่าวของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ “อาจ” สร้างความขุ่นเคืองให้กับรัชกาลที่ 5 ได้ เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวทำให้พระองค์ทรงต้องตอบอย่างเป็นทางการมิใช่การส่วนพระองค์ ทั้งข้อเสนอให้พระองค์สละพระราชอำนาจบางส่วนก็อาจจะเกินกว่าที่พระองค์คาดหมาย อีกทั้งในบรรดาผู้ลงนามในข้อเสนอดังกล่าวก็ยังเป็นพระราชอนุชาที่พระองค์ไว้วางพระทัยเป็นอย่างสูงด้วย จากนั้นรัชกาลที่ 5 จึงทรงเรียกบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ลงพระนามในข้อเสนอดังกล่าวรวมถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กลับสยาม ซึ่งฟังดู (และหลายคนตีความว่า) เหมือนเป็นการลงโทษ แต่ความจริงอีกด้านก็คือ รัชกาลที่ 5 ทรงต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะทำให้แผนการปฏิรูปนั้นสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งผู้ที่เสนอนั่นเองที่มีความเหมาะสมที่จะรับหน้าที่นั้น หลังเดินทางกลับสยาม พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ยังทรงได้รับหน้าที่สำคัญ ทั้งการกำกับดูแลกิจการไปรษณีย์โทรเลข เป็นหนึ่งในคณะองคมนตรี เป็นคณะกรรมการโรงพยาบาลศิริราช คณะกรรมการดูแลการบูรณะวัดวาอาราม และยังเป็นผู้ดูแลรับรองและล่ามในการติดต่อทางการทูต แต่ระหว่าง พ.ศ. 2430 ถึง 2433 ได้เกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นที่ทำให้สถานภาพของพระองค์เปลี่ยนไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ  คำอธิบายหนึ่งของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เองปรากฏในจดหมายที่พระองค์ทรงมีไปถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (พระราชอนุชาร่วมพระราชมารดาของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงอุปถัมภ์พระองค์เจ้าปฤษฎางค์โดยตลอดแม้ในยามตกยาก) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงรับหม่อมเจ้าปานมาเป็นข้าราชการในกรมโยธาธิการที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 5 ทรงพิโรธมาก เนื่องจากหม่อมเจ้าปานเป็นอนุชาของพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงเป็นหนี้อยู่ เข้าลักษณะให้ประโยชน์ต่างตอบแทนแทนการชำระหนี้ แต่หม่อมเจ้าปานทรงทำงานให้กับสมเด็จฯ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์อยู่ก่อนแล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า การรับหม่อมเจ้าองค์นี้เข้ารับราชการทำในลักษณะเหมือนเป็นพระราชบัญชาทำให้ไม่มีใครกล้าโต้แย้ง เป็นกลอุบายหลายชั้น ซึ่งพระองค์เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ และทำให้พระองค์ไม่อาจวางพระทัยในตัวพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้อีก  จากเหตุการณ์นั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถูกลงโทษตัดเงินพิเศษ และถูกเวนคืนวังที่เบื้องต้นจะพระราชทานให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์แต่อยู่ระหว่างการบูรณะ  นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุการณ์อื้อฉาวเชิงชู้สาวระหว่างพระองค์เจ้าปฤษฎางค์กับคุณหญิงศรี หญิงม่ายผู้เป็นพี่สะใภ้ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี สหายสนิทของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์  (ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่ควรจะเป็นปัญหาต่อให้ทั้งคู่มีความรู้สึกที่ดีต่อกันจริง ๆ เนื่องจาก “พี่ศรี” เป็นหญิงม่าย และแม้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะมีภรรยาอยู่แล้ว แต่สมัยนั้นการที่ผู้ชายชั้นสูงจะมีภรรยาหลายคนก็เป็นเรื่องปกติมาก) แต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงยืนยันว่าเห็นคุณหญิงศรีเป็น “พี่” เท่านั้น พระองค์ยังมีอนุภรรยาอีกสองคนอยู่แล้ว และเป็นที่รู้กันว่า พระองค์ชอบผู้หญิงอายุน้อยกว่า อีกทั้ง “พี่ศรี” ก็ไม่ใช่คนที่จะยอมให้สามีมี “เมียน้อย” ด้วย ปมความสัมพันธ์ของทั้งคู่ยิ่งซับซ้อนขึ้นไปอีกเมื่อพี่ศรีถูกเรียกตัวเข้าวัง แต่เธอปฏิเสธ แม้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะทรงเกลี้ยกล่อมอย่างไรก็ไม่ฟังถึงขั้นขู่ที่จะฆ่าตัวตาย  ฝ่ายเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีที่เพิ่งกลับจากราชการสงครามก็ตัดรอนความสัมพันธ์กับพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ และยังยึดสมบัติของพี่ศรีที่รับสืบทอดจากสามี (พี่ชายของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์เชื่อว่าที่สหายของพระองค์ทำเช่นนั้นก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า เขาตัดขาดจากพระองค์จะได้มิต้องรับผลกระทบตามไปด้วย  และพระองค์ก็เชื่อว่า เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี หรือเจ้านายองค์อื่น ๆ (ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกคณะสยามหนุ่มที่เป็นเพื่อนร่วมสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อรัชกาลที่ 5 และรัชทายาท) น่าจะนำจดหมายของพระองค์ที่ส่งถึงกันเพื่อปรึกษาหารือเป็นการส่วนตัวระหว่างที่ทุกคนยังต่างอยู่เมืองนอกด้วยกัน ไปทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 แม้ว่าเหล่ามิตรสหายของพระองค์ล้วนมีทัศนคติทางการเมืองคล้ายคลึงกันทั้งสิ้น และพระองค์ก็ส่งสัญญาณในจดหมายที่พระองค์เขียนขึ้นหลายฉบับระหว่างการลี้ภัยว่า น่าจะเป็นข้อวิจารณ์ราชประเพณีเรื่องการมีพระสนมนั่นเองที่ทำให้พระองค์หมดอนาคต (แม้ว่าพระองค์เองจะมีอนุภรรยา แต่พระองค์ทรงวิจารณ์ด้วยว่าพระสนมในราชสำนักมีอำนาจชี้นำการปกครองประเทศมากเกินไป) ณ ตอนนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์คิดถึงขั้นปลิดชีวิตตนเอง แต่พี่ศรีมาขัดขวางพร้อมขู่ว่าเธอจะฆ่าตัวตายเช่นกัน เพราะเธอก็ไม่เหลือใครแล้ว และอาจจะต้องติดคุก ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว หากทั้งคู่ต่างเสียชีวิตก็เท่ากับเป็นการรับความผิดทั้งปวงที่ถูกกล่าวหา พระองค์จึงต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ต่อมาพระองค์มีโอกาสได้สร้างผลงานเพื่อล้างข่าวฉาว เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตให้ร่วมเดินทางไปกับคณะของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ พ.ศ. 2433 เพื่อเจรจาทางการทูต ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จะได้ใช้ความรู้ความสามารถส่วนพระองค์ที่ยังหาคนเทียบได้ยากในสยาม ณ ขณะนั้น แต่ระหว่างที่พระองค์เดินทางอยู่ต่างประเทศ พระองค์ก็ทราบข่าวที่กล่าวกันว่า พี่ศรีปลอมตัวเป็นชายลอบหนีจากราชอาณาจักรโดยได้ขโมยเพชรนิลจินดาของตระกูลหนีมาด้วย เหตุการณ์นั้นทำให้พระองค์เกรงว่า หากเดินทางกลับประเทศอาจเป็นภัย เพราะข่าวลือเรื่องชู้สาวทุกคนก็พากันเชื่อคำกล่าวหากันหมดแล้ว เมื่อเกิดเหตุพี่ศรีหายตัวไป ทุกคนก็คงต้องโทษว่าพระองค์อยู่เบื้องหลังเป็นแน่ พระองค์พยายามส่งโทรเลขไปถึงสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ขอโอกาสเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยตัวพระองค์เอง แต่พระองค์ก็ไม่ได้รับโอกาสนั้น นั่นจึงเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ตัดสินใจลาออกจากราชการแล้วลี้ภัยอยู่ต่างแดน เมื่อคณะของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ เดินทางถึงสยาม ทรัพย์สินและข้ารับใช้ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ถูกเวนคืนทั้งหมด  คำอธิบายของทางฝ่ายราชการซึ่งเป็นที่รู้กันภายในนั้น ตามจดหมายฉบับหนึ่งที่มีไปถึงข้าราชการที่จำปาศักดิ์ระบุว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์เป็นชู้กับศรี ภรรยาพระยาสุนทรสงคราม เจ้าเมืองสุพรรณ มานานแล้ว เมื่อพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ไปราชการที่ญี่ปุ่น ศรีก็ขนสมบัติของพระยาสุนทรสงครามสามีผู้ล่วงลับหนีไปรอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ฮ่องกง จึงเชื่อว่าทั้งคู่วางแผนสมคบกันมาแต่แรก (ขัดกับข้ออ้างของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ยืนยันว่าพระองค์ไม่รู้เรื่อง และยังพยายามขอชี้แจงด้วยพระองค์เอง) และจากการสอบสวนยังพบว่า พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้ยักยอกเงินหลวงจากกิจการไปรษณีย์โทรเลขที่พระองค์ดูแลอยู่ไปใช้เป็นการส่วนตัวเป็นจำนวน 100 ชั่ง และยังเป็นหนี้ทั้งคนไทยและคนต่างชาติอีกมากมาย  จดหมายฉบับเดียวกันยังกล่าวหาว่า เหตุที่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ถูกเรียกตัวกลับจากยุโรปขณะปฏิบัติหน้าที่ทูตอยู่นั้น เป็นเหตุมาจากการที่พระองค์ไปติดพันนางละครฝรั่ง รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นกังวลว่าพฤติกรรมของพระองค์จะสร้างความอับอายให้กับบ้านเมืองจึงต้องเรียกตัวกลับ แต่ก็ยังให้รับหน้าที่สำคัญในกิจการบ้านเมือง ถึงอย่างนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็หาได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณไม่   ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อกงสุลฝรั่งเศสถามถึงความผิดของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (ตามคำร้องขอของพระองค์) ก็ได้รับการอธิบายจากทางการสยามว่า พระองค์ไม่ได้ทำผิดอะไรแต่ “gone mad and ran away with a widow” (เป็นบ้าแล้วหนีไปกับแม่ม่าย) ช่วง 5 ปีแรกของการลี้ภัย พระองค์เจ้าปฤษฎางค์พยายามหาทางใช้หนี้เพื่อจะได้ออกบวชล้างมลทินซึ่งเป็นความตั้งใจที่มีมานานแล้ว วิธีการที่พระองค์เลือกใช้คือการแต่งงานกับหญิงที่มีฐานะดี ซึ่งเป็นความคิดที่มีมาตั้งแต่ยังไม่ได้ลี้ภัย แต่ไม่สำเร็จเมื่อมาเกิดข่าวลือระหว่างพระองค์กับพี่ศรีขึ้นเสียก่อน  ครั้นลี้ภัยแล้ว พระองค์พยายามหาทางไปรับราชการในราชสำนักกัมพูชา แต่ได้รับการขัดขวางจากทางฝรั่งเศส ก่อนไปได้งานในหัวเมืองมลายู ซึ่งเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ ที่นี่เองที่พระองค์เริ่มชี้แจงสาเหตุของการที่พระองค์ต้องลี้ภัยเนื่องมาจากข้อเสนอให้ปฏิรูปการเมือง พระองค์อ้างว่าข้อเสนอดังกล่าวถูกมองว่า “สุดโต่ง” แม้จะมีผู้ร่วมลงนามสนับสนุนหลายคน แต่ทุกคนต่างกล่าวโทษพระองค์ สหายของพระองค์ยังเอาจดหมายที่ส่งถึงกันเป็นการส่วนตัวไปถวายในหลวง ซึ่งเป็นจดหมายที่ประณามธรรมเนียมดั้งเดิมของสยาม ทำให้พระองค์ถูกลงโทษต่าง ๆ นานา ซึ่งเป็นข้ออ้างที่เหมาะสมสำหรับการลี้ภัยทางการเมือง จากนั้น พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ได้แต่งงานกับหญิงม่ายคนหนึ่ง ซึ่งถูกระบุว่าเป็นพี่สาวของเจ้าเมืองภูเก็ตและเป็นอดีตภรรยาของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งน่าจะทำให้พระองค์หาเงินมาชำระหนี้ได้ และหาที่ทางช่วยเหลือพี่ศรีให้ตั้งหลักในหัวเมืองมลายูได้สำเร็จ แล้วจึงได้หนีไปบวชอยู่ที่ศรีลังกา  การบวชของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้รับการจับตามองจากชาวลังกาเป็นอย่างมากเนื่องจากสถาบันกษัตริย์ของลังกาได้สูญสิ้นไปนานแล้ว พระองค์ยังได้รับการเปรียบเทียบจากสื่อลังกาว่าเป็นเหมือนเจ้าชายสิทธัตถะที่สละฐานันดรเพื่อแสวงหาสัจธรรม การบวชมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2439 พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ได้รับฉายาทางธรรมว่า “พระชินวรวงศ์” แม้จะเข้าสู่วงการศาสนาแล้ว พระชินวรวงศ์ก็ยังไม่ลืมที่จะทำเพื่อสยาม พระองค์พยายามเคลื่อนไหวให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวพุทธระดับนานาชาติเพื่อให้สถาบันกษัตริย์สยามเป็นประมุขสูงสุดของชาวพุทธทั่วโลกคล้ายโป๊ปของชาวคาทอลิก  เนื่องจากกษัตริย์ชาวพุทธที่ยังเหลืออยู่มีที่สยามเพียงแห่งเดียว แต่ลำพังการทำให้คณะสงฆ์ในลังกาเป็นหนึ่งเดียวก็ยังเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก (คณะสงฆ์ลังกาแบ่งแยกเป็น 3 คณะใหญ่ คือ นิกายสยามวงศ์ นิกายอมรปุรนิกาย [พม่า] และนิกายรามัญ [มอญ])  เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก (พ.ศ. 2440) ซึ่งศรีลังกาอยู่ในเส้นทางเสด็จด้วย พระชินวรวงศ์ก็ได้ผลักดันจัดการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ แต่ก็มาเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้รัชกาลที่ 5 ไม่พอพระทัย ซึ่งสื่อศรีลังการายงานเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ชนชั้นนำของลังกาที่นำเสด็จชมพระเขี้ยวแก้วแห่งเมืองแคนดี (กัณฏิ) ปฏิเสธที่จะให้พระองค์สัมผัสพระเขี้ยวแก้วโดยอ้างว่า มีแต่พระเท่านั้นที่จะสัมผัสได้  แต่ แฮร์รี สตีล โอลคอตต์ (Henry Steel Olcott) ชาวอเมริกันที่หันมาเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวของชาวพุทธยุคนั้นอ้างว่า ธรรมเนียมที่ชนชั้นนำลังการายดังกล่าวอ้างนั้นไม่มีอยู่จริง สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังษีฯ ก็ทรงเคยสัมผัสพระเขี้ยวแก้ว เจ้าหน้าที่อังกฤษที่นับถือคริสต์ก็ยังเคยสัมผัส จึงไม่ถูกที่จะปฏิเสธมิให้กษัตริย์ชาวพุทธพระองค์เดียวที่ยังเหลืออยู่สัมผัสพระเขี้ยวแก้ว ขณะที่สื่ออังกฤษรายงานเหตุการณ์นั้นต่อรัชกาลที่ 5 ไปในเชิงลบ และยังมีการเผยแพร่ข่าวลือออกไปว่า รัชกาลที่ 5 ต้องการตรวจสอบว่า พระเขี้ยวแก้วดังกล่าวเป็นของจริงหรือไม่ จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสัมผัสพระเขี้ยวแก้ว  การเตรียมการรับเสด็จอย่างยิ่งใหญ่ของพระชินวรวงศ์ จึงมิได้ช่วยให้พระองค์ได้รับความดีความชอบอย่างที่พระองค์คาดหวัง แม้กระทั่งการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานที่ภูเขาทองที่ควรจะเป็นเครดิตของพระองค์โดยแท้ ก็กลับกลายเป็นเรื่องด่างพร้อยของพระองค์อีกประการหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อมีการค้นพบพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า (ทั้งนี้ตามคำยืนยันในจารึกที่ค้นพบในคราวเดียวกัน) ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2441 ที่หมู่บ้านปิปราห์วา ห่างจากลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าไม่ไกลมากนัก พระชินวรวงศ์ก็รีบเดินทางไปสำรวจทันที และเป็นผู้เจรจากับทั้งเจ้าของสถานที่ (ที่ที่ถูกขุดพบเป็นของเจ้าที่ดินชาวอังกฤษ) รวมถึงเจ้าหน้าที่บริติชราชเพื่อขอให้มอบพระบรมสารีริกธาตุที่ถูกค้นพบให้กับรัชกาลที่ 5 ซึ่งถือเป็นพระประมุขของชาวพุทธทั้งปวง ด้วยหวังว่าจะเป็นผู้ที่นำพระบรมสารีริกธาตุไปทูลเกล้าฯ ถวายด้วยพระองค์เอง ทางการอังกฤษเห็นควรที่จะมอบพระบรมสารีริกธาตุให้กับประเทศที่นับถือพุทธด้วยเหตุผลทางการทูต รวมถึงเพื่อกลบข่าวปัญหาการปลอมวัตถุโบราณที่กำลังเป็นปัญหาอื้อฉาวอยู่ในระยะไล่เลี่ยกัน  เนื่องจาก แอนทอน ฟูห์เรอ (Anton Führer) นักโบราณคดีเยอรมันที่ทำงานให้รัฐบาลอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ประกาศยืนยันสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า และยืนยันว่าพระบรมสารีริกธาตุที่เพิ่งถูกค้นพบเป็นของแท้ ถูกจับได้ว่าคัดลอกงานวิชาการ (plagiarism) และหลอกขายพระธาตุปลอมให้กับพระพม่ามาก่อน จนต้องลาออกจากตำแหน่งงานในรัฐบาลบริติชราช เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2411 ซึ่งเป็นข่าวรายงานอยู่ในสิงคโปร์ด้วย  การมอบพระบรมสารีริกธาตุที่เกิดขึ้นโดยเร็ว จึงเป็นเหมือนเป็นการโยนเผือกร้อนให้พ้นตัว (แต่ภายหลังก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จารึกและพระบรมสารีริกธาตุเป็นของที่ทำปลอมขึ้น) เมื่อมีการตกลงส่งมอบกัน พระชินวรวงศ์ถูกตัดออกจากเครดิตการเป็นคนกลาง ทั้งในประกาศของฝั่งอังกฤษและสยาม ภาพที่ออกมาจึงกลายเป็นความดีความชอบของอังกฤษที่แสดงถึงน้ำใจต่อชาวพุทธไปเสีย รัฐบาลสยามก็ส่งตัวแทนมารับพระบรมสารีริกธาตุด้วยตนเอง นั่นคือเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)  ฝ่ายพระชินวรวงศ์เมื่อทราบว่าตนมิได้เป็นตัวแทนในการส่งมอบก็ยอมรับชะตากรรมแต่โดยดี ขณะเดียวกันก็ได้ส่งจดหมายไปขอวัตถุโบราณบางส่วนจากเจ้าของสถานที่ที่ค้นพบ (หมู่บ้านปิปราห์วา) แลกกับแสตมป์สะสมที่พระองค์เก็บไว้ตั้งแต่สมัยเป็นผู้ดูแลกิจการไปรษณีย์ของสยาม ซึ่งก็ได้มาครอบครองสมปรารถนา และเตรียมที่จะเดินทางกลับสยามหลังได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก่อนได้รับข่าวร้ายตามมาว่า หากพระองค์ต้องการกลับสยามจะต้องลาสิกขาเสียก่อน ซึ่งนั่นอาจทำให้พระองค์ต้องราชทัณฑ์จากโทษในข้อหาเก่า ๆ ได้ ทำให้พระองค์ทำหนังสือประท้วง ก่อนตัดสินใจปักหลักอยู่ที่ศรีลังกาต่อไป ขณะที่ในเมืองไทย เจ้าพระยายมราชได้รายงานต่อสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ว่า ระหว่างที่เขาได้พบพระชินวรวงศ์ที่กัลกัตตา พระชินวรวงศ์ได้เผยกับตนว่า พระองค์แอบหยิบเอาพระบรมสารีริกธาตุมาสามชิ้นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดเข้าขั้นปาราชิกขาดจากความเป็นพระแล้ว  ลูส์ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ กับพระยาสุขุม ดูเหมือนจะร่วมกันวางแผนขัดขวางพระชินวรวงศ์มิให้เดินทางกลับสยาม แม้ความจริงจะเป็นเช่นใดนั้นคงได้แต่สันนิษฐาน แต่ที่ชัดเจนก็คือ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ เห็นว่า องค์ชายนักบวชสมัยที่ยังเป็นทูตในยุโรปนั้นแสดงความยะโสด้วยการใช้คำสรรพนามอย่างไม่เหมาะสม เมื่อเจรจาสื่อสารกับเจ้าที่มีสถานะเหนือกว่าอย่างกรมพระยาเทวะวงศ์ฯ พระองค์ (กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ) ยังทรงนำจดหมายสื่อสารส่วนพระองค์ของพระชินวรวงศ์ซึ่งวิจารณ์เรื่องการมีพระสนมไปถวายในหลวง” ลูส์ยังกล่าวอีกว่า “สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ทรงเห็นว่าการบวชที่ลังกา (ของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์) นั้นเป็นการฉ้อฉล (fraudulent) และกลอุบาย (gambit) เพื่อที่จะให้พระองค์ได้เดินทางกลับสยามมาโดยตลอด” จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้พระชินวรวงศ์ตั้งมั่นในการปฏิบัติธรรมอยู่ที่เกาะลังกา พระองค์เคยธุดงค์ไปอยู่ในเกาะร้างที่มีงูจำนวนมาก เนื่องจากชาวลังกาไม่ฆ่างู เมื่อเจองูจึงนำมาปล่อยรวมกัน และยังเป็นเกาะที่ชาวบ้านใช้เป็นที่ทิ้งศพผีตายโหง (ตายผิดธรรมชาติ) ภาพของพระองค์ขณะนั่งทำสมาธิท่ามกลางกองกระดูกถูกเผยแพร่ออกไป ยิ่งทำให้ทั้งชาวบ้านและชาวต่างประเทศสนใจเรื่องราวของพระองค์มากขึ้น (ขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า การทำสมาธิต่อหน้าศพของพระองค์ผิดไปจากธรรมเนียมปกติ ที่พระจะนั่งพิจารณาศพตั้งแต่ยังเป็นศพสดจนค่อย ๆ เน่าเปื่อยย่อยสลายทีละน้อย) ชื่อเสียงของพระชินวรวงศ์ทำให้มีญาติโยมทั้งในท้องถิ่นและต่างประเทศเข้ามานมัสการบ่อยครั้ง นำความเจริญและการพัฒนามาให้กับท้องถิ่นที่พระองค์ประทับอยู่ มีการสร้างโรงเรียนที่มีความก้าวหน้าเพื่อเด็ก ๆ ท้องถิ่น ทำให้พระชินวรวงศ์ได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูงในลังกา และไม่มีความจำเป็นใดที่พระองค์จะต้องกลับสยามอีก (หลังจากที่พระองค์ออกบวช เรื่องราวของ “พี่ศรี” ผู้ที่พระองค์ให้ความห่วงใยเป็นอย่างมากก็หายไป และไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระองค์มีลูกกับภรรยาคนไหนเลย)  จนกระทั่ง พ.ศ. 2453 เมื่อพระองค์ได้รับทราบข่าวการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทำให้พระองค์เศร้าโศกจนล้มป่วย และเกิดความตั้งใจที่จะเดินทางกลับสยามอีกครั้ง พระองค์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ให้เดินทางกลับสยามได้ โดยเสด็จมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2454  แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเฝ้าพระบรมศพ และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ต่าง ๆ ก็ปฏิเสธไม่ให้พระชินวรวงศ์เข้าเฝ้าจนกว่าพระองค์จะยอมสึก “ตามหลักพระพุทธศาสนาในสยาม ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะมีลำดับชั้นทางสังคมอย่างไรก็ต้องเคารพและก้มหัวให้กับพระสงฆ์ นี่ย่อมเป็นการประณามโทษอย่างหนึ่งสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีบัญชาให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ต้องสึก ทั้งยังเป็นการยืนยันสถานะที่เหนือกว่าของเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ และทำให้เป็นที่แน่ใจว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์นั่นเองที่เป็นฝ่ายจำต้องเชื่อฟัง” ลูส์ตั้งข้อสังเกต พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ยอมทำตามเงื่อนไขทุกประการ เพื่อที่จะได้มีโอกาสถวายความเคารพพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 ที่พระองค์ทรงรักและภักดีเป็นอย่างสูง  แต่หลังจากนั้นพระองค์ก็ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เนื่องจากพระองค์ทรงบวชเป็นเวลานานจึงไม่มีทรัพย์สินติดตัว และไม่ได้รับอนุญาตให้บวชในสยาม ทั้งยังถูกกีดกันไม่ให้กลับลังกา ที่ที่พระองค์ได้รับการยอมรับเทิดทูน ช่วงแรกพระองค์จึงต้องขออาศัยกับผู้ที่ยังมีน้ำใจกับพระองค์จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จนช่วงปลายปี 2454 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 จึงทรงอนุญาตให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ใช้ชีวิตในตึกหลังหนึ่งของพระองค์ในตรอกกัปตันบุชย่านบางรักได้ “ตลอดชีวิต” แต่เมื่อกรมหลวงราชบุรีฯ สิ้นพระชนม์ลง พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ก็ต้องหาที่อยู่ใหม่ (ราวปี พ.ศ. 2463) พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมีชีวิตที่ยืนยาว แม้จะมีปัญหาสุขภาพ และใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างยากไร้ เนื่องจากอยู่ในวัยที่หางานทำได้ยาก ทางราชการก็ไม่รับเข้าทำงาน เคยได้งานในกระทรวงการต่างประเทศเป็นระยะสั้น ๆ เท่านั้น (ระหว่างปี พ.ศ. 2466-2468 ด้วยความช่วยเหลือของสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ แต่เมื่อ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ สิ้นพระชนม์ลง พระองค์ก็ถูกเลิกจ้างเนื่องจากประชวรบ่อย มาทำงานได้น้อย) ในวัยชรา พระองค์จึงต้องตกงานเป็นส่วนใหญ่ ในปลายรัชกาลที่ 6 พระองค์พยายามขอเดินทางกลับไปลังกาอีกครั้งแต่ก็ไม่เป็นผลเช่นเคย ทั้งยังไม่ได้เงินบำเหน็จบำนาญจากการทำงาน แม้จะได้เบี้ยเลี้ยงในฐานะเชื้อพระวงศ์จากงบสภาองคมนตรีเดือนละ 80 บาท ในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ก็น้อยมากสำหรับพระองค์ ทำให้พระองค์ต้องเป็นหนี้มิตรสหายจำนวนมาก ก่อนได้รับเพิ่มเป็นเดือนละ 300 บาท ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในบันทึกของคุณหญิงมณี สิริวรสาร เพื่อนบ้านของพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ในย่านวัดมหาพฤฒาราม เล่าว่า วัยเด็กเธอได้มีโอกาสเห็นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ซึ่งขณะนั้นมีอายุกว่า 70 ปีแล้ว ทรงบรรยายว่าแม้พระองค์จะชราแต่ก็ยังดูกระฉับกระเฉง ชอบคุยเรื่องการเมือง มีท่าทีต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการ และเขียนวิจารณ์เจ้านายที่ครองตำแหน่งบริหารในรัฐบาลไว้หน้าบ้าน แต่ไม่มีใครถือสา เนื่องจากเห็นว่า พระองค์ชราจน “ฟั่นเฟือน” เสียแล้ว ข้อกล่าวหาดังกล่าวหาใช่เรื่องใหม่ เพราะคราวที่พระองค์ยังอยู่ในวัยหนุ่ม (ราว 30 กว่าพรรษา) ก็ต้องข้อหาเดียวกันมาก่อนแล้ว จากความพยายามของพระองค์ในการช่วยเหลือหญิงม่ายคนหนึ่งให้เป็นอิสระ (gone mad and ran away with a widow) แม้ว่านั่นจะทำให้พระองค์ต้องตกระกำลำบากสืบมาเกือบทั้งชีวิต ทั้งคำว่า “ฟั่นเฟือน” ยังนับเป็นข้อหาที่รุนแรง เนื่องจากทำให้ความคิดและการกระทำของพระองค์ถูกลดคุณค่าและความหมายลงไป โดยที่คนฟังไม่ต้องพิจารณาต่อว่า สิ่งที่พระองค์พยายามทำและนำเสนอผลักดันนั้นควรรับฟังหรือไม่ หรือข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?     *แก้ไขคำผิด จาก หม่อมเจ้าชุมสาย เป็น พระองค์เจ้าชุมสาย เวลา 13.30 น. วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2562