ริกิโดซัง มวยปล้ำเชื้อสายเกาหลี ฮีโรผู้ปลุกความเชื่อมั่นให้ญี่ปุ่น
“ญี่ปุ่นในยุค 1950s เป็นช่วงปลายของการลบล้างคราบแห่งสงคราม มันมีสัญญาณให้เห็นว่า อะไร ๆ มันจะดีขึ้น เราอยู่ในเส้นทางของการสร้างใหม่ กำเนิดใหม่ พร้อมกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประชาชนก็ร้องหาการฟื้นคืนจิตวิญญาณของชาติกลับมาด้วยเช่นกัน
“เวลานี้เอง โชริกิ มัตซึทาโร ผู้ก่อตั้ง Nihon Television Broadcasting Corporation ในฐานะผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ เพื่อที่ช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมของประเทศ และคืนความมั่นใจให้กับประชาชน ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก
“ในเวลาเดียวกันนั้น ริกิโดซัง (Rikidozan) นักซูโม่ปฏิวัติก็ได้ขึ้นสู่สังเวียนมวยปล้ำอาชีพ ความสำเร็จของเขาเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง ประธานโชริกิเชื่อว่าการออกอากาศตัวอย่างความกล้าหาญอย่างริกิโดซังไปทั่วประเทศจะช่วยให้กิจการของเขาไปถึงเป้าหมายที่จะทำเพื่อสังคมได้” โคมัตซึ โนบุยาสึ (Komatsu Nobuyasu) โปรดิวเซอร์รายการมวยปล้ำคนแรกของ NTV กล่าว (Lee Thompson, Professional Wrestling in Japan: Media and Message)
“จุดประสงค์ในการถ่ายทอดการแข่งขันมวยปล้ำของผมสอดคล้องกับนโยบายโดยรวมของคุณโชริกิ ผ่านภาพการแข่งขันมวยปล้ำอาชีพ ริกิโดซังคือรูปธรรมที่แสดงถึงการฟื้นฟูความเชื่อมั่นเชิงจิตวิญญาณให้กับชาวญี่ปุ่น” โคมัตสึกล่าวเสริม
จากคำกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ริกิโดซัง นักมวยปล้ำฝ่ายธรรมะมีส่วนอย่างสำคัญในการฟื้นฟูความมั่นใจให้กับชาวญี่ปุ่นหลังการพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฐานะนักมวยปล้ำ “ชาวญี่ปุ่น” ที่สามารถเอาชนะนักมวยปล้ำ “ฝรั่ง” (ซึ่งมีภาพซ้อนของชาวอเมริกันแฝงอยู่) ได้อย่างใสสะอาด ด้วยท่าไม้ตาย “คาราเต้ช็อป” แม่ไม้อันโดดเด่นในศิลปะป้องกันตัวญี่ปุ่น (แต่ว่ากันว่าน่าจะมาจากท่าหนึ่งในซูโม่ พื้นฐานเดิมของริกิโดซังเอง)
ความเข้าใจของคนญี่ปุ่นร่วมสมัยในวงกว้างเชื่อว่า ริกิโดซังเป็นชาวญี่ปุ่นแท้ ๆ จากนางาซากิ จนกระทั่งในปี 1978 เบื้องหลังชีวิตที่แท้จริงของริกิโดซังจึงได้ถูกเปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว ฮีโรของคนญี่ปุ่นทั้งประเทศนั้น พื้นเพเป็นคนเกาหลีที่เกิดบนคาบสมุทรเกาหลี ในยุคสมัยที่เกาหลียังคงเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น
ริกิโดซัง มีชื่อเดิมว่า คิม ชิน รัก (Kim Shin Rak) เกิดในเขตฮัมคยองใต้ (South Hamkyong) ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในเกาหลีเหนือ ส่วนวันเดือนปีเกิดหลายแหล่งข้อมูลกล่าวไม่ตรงกัน บ้างว่าปี 1923 (The Japan Times) บ้างว่าปี 1924 (Wikipedia อ้างว่าเป็นข้อมูลของทางฝั่งเกาหลีเหนือ) และที่บอกว่าปี 1925 ก็มี (Osaka University Knowledge Archive)
เขาย้ายมาหากินในญี่ปุ่นเมื่อเป็นวัยรุ่นหลังมีแมวมองมาชักชวนให้ไปเล่นซูโม่ที่เมืองโอมูระ ในจังหวัดนางาซากิ ราวทศวรรษ 1940s แต่ด้วยซูโม่เป็นกีฬาที่เคร่งจารีตการจดทะเบียนในฐานะชาวเกาหลีย่อมไม่ดีแน่ ทางค่ายจึงเป็นธุระจัดหาผู้อุปถัมภ์ให้ช่วยรับเขาเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อที่จะสามารถขึ้นทะเบียนแข่งในฐานะชาวญี่ปุ่นได้ และได้ชื่อใหม่ว่า มิตซึฮิโร โมโมตะ (Mitsuhiro Momota)
มวยปล้ำ เป็นกีฬา (หรือการละเล่น) แบบตะวันตกที่เข้าญี่ปุ่นมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงได้ราว 6 ปี การเคลื่อนไหวของวงการมวยปล้ำเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
ณ ตอนนั้น ริกิโดซังเล่นซูโม่จนอยู่ในชั้นเซกิวาเกะ (sekiwake) ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดเป็นลำดับที่ 3 ของสารบบวรรณะซูโม่ แต่เนื่องจากการที่เขาเป็นชาวเกาหลี (ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่คนที่รู้จักเขามาตั้งแต่เริ่มเข้าวงการจะต้องรู้พื้นเพของเขามาก่อน) ทำให้เขาถูกกีดกันไม่ให้ก้าวหน้าในวงการซูโม่ได้มากไปกว่านั้น เขาจึงหันหน้าเข้าสู่วงการมวยปล้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้อุปถัมภ์เดิมให้ไปฝึกฝนถึงสหรัฐฯ ในช่วงปี 1952 และกลับมาเปิดโรงฝึกมวยปล้ำของตัวเองในปีต่อมาที่นิฮงบาชิ กรุงโตเกียว ใช้ชื่อว่า “Rikidozan Dojo” และก่อตั้งสมาคมมวยปล้ำอาชีพญี่ปุ่นขึ้น
การที่ริกิโดซังได้ไปชุบตัวอยู่ที่เมืองนอกทำให้เขาได้เปรียบนักมวยปล้ำญี่ปุ่นรายอื่น ๆ ไม่น้อย สาเหตุไม่ใช่เพราะเขาได้วิชาการต่อสู้ที่เหนือกว่า หากแต่เป็นระบบเส้นสาย ความสัมพันธ์ที่ทำให้เขาสามารถดึงตัวนักมวยปล้ำต่างชาติเข้ามาปล้ำโชว์ในประเทศได้ง่าย และในสมัยนั้น การปล้ำกับนักมวยปล้ำฝรั่งคือสิ่งที่คนดูชาวญี่ปุ่นต้องการดูมากที่สุด
“หลังถูกหลอกล่อและทุบตีอย่างไร้ปราณีโดยนักมวยปล้ำต่างชาติหน้าตาดุร้าย นักมวยปล้ำญี่ปุ่นในกางเกงสีดำสุดท้ายก็หมดความอดทน เขายันขายืนขึ้นด้วยความเจ็บแค้นแล้วพุ่งเข้าหาด้วยท่าคาราเต้ช็อป ‘เอาเลยริกิ อย่างนั้นแหละ’ เสียงฝูงชนโห่ร้องข้างสนาม แฟน ๆ จอตู้หน้าห้างร้านก็พากันเฮลั่น...คืนนั้น ผมได้เห็นชายผู้ยิ่งใหญ่กับจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ภายใต้กางเกงมวยปล้ำสีดำตัวนั้น นั่นคือริกิโดซัง เขาสอนให้ผมรู้ว่า การเอาชนะนั้น เราจะต้องอดทนอย่างไม่ย่อท้อและเมื่อจังหวะมาถึง ก็ต้องสวนกลับอย่างลูกผู้ชาย ไร้ความเกรงกลัว สู้ให้สุดตัว เขาไม่ได้ดีแต่พูด แต่เขายังทำได้ด้วย” คำบรรยายและคำพูดของแฟนมวยปล้ำในรายการทีวีชิ้นหนึ่งเมื่อปี 1982 ระบุ (Watashi to television, Yomiura Television)
ความพ่ายแพ้ในสงครามเป็นปมใหญ่ในใจของชาวญี่ปุ่นร่วมสมัยที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นรองชาวตะวันตก โดยเฉพาะชาวอเมริกัน การมาถึงของมวยปล้ำอาชีพ กีฬาที่มีการเตี๊ยมและวางพล็อตล่วงหน้า กำหนดบทบาทของผู้อยู่บนเวทีไว้แน่นอนก่อนแล้วจึงกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่ากีฬาจริง ๆ ที่ไม่สามารถกำหนดผลการแข่งขันไว้ก่อนได้
และบทบาทของริกิโดซังกับคู่ต่อสู้ชาวต่างชาติก็เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า “ชาวญี่ปุ่น” แท้ ๆ หากสู้กันตัวต่อตัวแล้ว ต่อให้เป็นฝรั่งตัวใหญ่ ๆ ที่ชอบใช้วิธีการสกปรกนอกกติกา ก็สามารถสู้ได้หากใจไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ และยังสามารถเอาชนะได้อย่างใสสะอาด ริกิโดซังจึงเป็นฮีโรของชาวญี่ปุ่นในยุคนั้นอย่างแท้จริง
“แน่นอนว่าความรู้สึกต่อต้านอเมริกันในหมู่คนญี่ปุ่นมันก็มีอยู่นั่นแหละ เราอาจจะแพ้สงคราม แต่ลองดูในการแข่งมวยปล้ำอาชีพสิ นั่นคือสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด” อิริเอะ โทคุโร (Irie Tokuro) นักข่าวกล่าว
หลังการออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในช่วงต้นปี 1954 มวยปล้ำก็กลายเป็นที่นิยมทันที ผลสำรวจในช่วงปลายปี พบว่าผู้ชมต้องการดูมวยปล้ำมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 จากประเภทรายการทั้งหมด 44 ประเภท เป็นรองเพียงแค่รายการภาพยนตร์ (71.4% ต่อ 74.1%)
ในปีต่อมา เมื่อสอบถามถึงกลุ่มคนดูที่ยังไม่มีโทรทัศน์เป็นของตนเอง (ซึ่ง ณ ตอนนั้นยังมีสูงกว่าคนที่มีทีวีเป็นของตัวเอง) จำนวน 29.9% ระบุว่า พวกเขาออกไปดูทีวีนอกบ้านอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมา และ 80.2% ของคนดูกลุ่มนี้บอกว่า รายการที่พวกเขาตั้งใจออกไปดูก็คือรายการมวยปล้ำ
และแน่นอนที่สุดว่า นักมวยปล้ำที่พวกเขาอยากดูมากที่สุดก็คือ “ริกิโดซัง”
ความเป็นเกาหลีของเขาไม่เคยถูกพูดถึงผ่านสื่อ และสื่อก็รู้สึกได้ถึง “แรงกดดัน” ที่ทำให้เขาไม่อาจนำเสนอเบื้องหลังชีวิตของริกิโดซังได้ เมื่อข้อมูลเบื้องหลังของเขาไม่เคยเผยแพร่ผ่านสื่อก็เป็นเรื่องยากที่คนนอกวงการที่ไม่ได้รู้จักริกิโดซังมาตั้งแต่สมัยเล่นซูโม่จะรู้ได้ว่าชาติกำเนิดของเขาเป็นอย่างไร
ซึ่งหากมันเป็นที่รับรู้ ณ ตอนนั้น ก็อาจเป็นปัญหาได้ เพราะจากการสำรวจในปี 1951 ในคำถามว่า (ชาวญี่ปุ่น) ชอบชนชาติใดมากที่สุด เกาหลีอยู่ในลำดับที่ 15 จากทั้งหมด 16 ชาติ และ 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่า พวกเขาไม่ชอบชาวเกาหลี
ริกิโดซัง จึงต้องเป็นชาวญี่ปุ่น และมันก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด จนกระทั่งเขาเสียชีวิตลงด้วยวัย 39 ปี ในปี 1963 หรือเพียงราว ๆ 10 ปีเท่านั้นนับแต่วันที่เขาเข้าสู่วงการมวยปล้ำ หลังถูกแทงด้วยมีดอาบน้ำปัสสาวะในคืนวันที่ 8 ธันวาคม 1963 โดยฝีมือของสมาชิกแก๊งยากูซ่าที่มีปากเสียงกันในห้องน้ำของไนต์คลับแห่งหนึ่ง และเสียชีวิตลงอีกราวหนึ่งสัปดาห์ต่อมา เนื่องจากอาการแทรกซ้อนจากเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
การเสียชีวิตของริกิโดซังทำให้การศึกษาเบื้องหลังชีวิตของเขาเปิดกว้างมากขึ้น เมื่อริกิโดซังเอง รวมถึงกลุ่มผลประโยชน์เบื้องหลังไม่จำเป็นต้องหากินกับความเป็นญี่ปุ่นของเขาอีกต่อไป
(ของแถมปิดท้าย มีความพยายามเชื่อมโยงว่า การที่ริกิโดซังถูกฆ่าเป็นเพราะเขาเอาชนะแชมป์ยูโดชื่อดังอย่าง คิมูระ มาซาฮิโกะ [Kimura Masahiko] เนื่องจากเตี๊ยมกันไว้ก่อนว่าการแข่งขันจะต้องจบลงด้วยการเสมอ จนสร้างความไม่พอใจให้กับยากูซ่าที่ดูแลผลประโยชน์ให้กับคิมูระ นำไปสู่แผนฆ่าดังกล่าว แต่การแข่งขันของทั้งคู่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1954 ที่ริกิโดซังเพิ่งเข้าวงการใหม่ ๆ และหลังจากเอาชนะยามากูชิ โทชิโอะ [Yamaguchi Toshio] ได้ในช่วงต้นปีถัดมา ริกิโดซังก็ไม่รับคำท้าจากนักปล้ำชาวญี่ปุ่นอีก จึงเป็นเรื่องแปลกที่ยากูซ่าจะต้องวางแผนนานขนาดนั้นเพื่อกำจัดริกิโดซัง และความจริงริกิโดซังก็เป็นคนที่มีเส้นสายในหลายวงการมากกว่าคิมูระรวมถึงพวกยากูซ่า ริกิโดซังจึงประสบความสำเร็จมากกว่าคิมูระ ทำให้คิมูระแค้นริกิโดซังอย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่เขาสารภาพในอัตชีวประวัติ ซึ่งนำไปสู่ทฤษฎีสบคบคิดที่ว่านี้ด้วย)