“ภาพยนตร์เป็นสิ่งที่วิเศษเหลือเกิน แต่การจับแก่นของมันให้อยู่ในมือนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ผมก็ให้คำมั่นสัญญาว่า นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ผมจะอุทิศตัวเองให้กับการทำงานภาพยนตร์ให้หนักที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ และการยึดเอาแนวทางนี้เป็นหลักอาจทำให้ผมบรรลุถึงความเข้าใจที่แท้จริง แก่นที่แท้จริงของภาพยนตร์จนสมกับการได้รับรางวัลนี้ก็ได้”
นี่คือสุนทรพจน์ของ อากิระ คุโรซาว่า (Akira Kurosawa) ผู้กำกับญี่ปุ่นบนเวทีออสการ์ครั้งที่ 62 ในปี 1990 หลังได้รับรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ (Lifetime Achievement) ในฐานะผู้กำกับที่ทำงานภาพยนตร์มานานถึง 47 ปี และครบรอบวันเกิด 80 ปี ผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่คนนี้
บนเวทีเดียวกันนั้น คุโรซาว่าขึ้นเวทีพร้อมผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) และ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) ที่มอบรางวัลและแสดงความเคารพในฐานะคุโรซาว่าเป็นผู้กำกับชั้นครู ผู้สร้างแรงบันดาลใจแก่พวกเขา ซึ่งลูคัสกล่าวกับนักข่าวหลังเวทีว่า คุโรซาว่าคือผู้กำกับที่มีสำนึกอันเลิศล้ำในด้านภาพยนตร์
ไม่แปลกใจที่ในสายภาพยนตร์ หากเอ่ยชื่อผู้กำกับญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก คงต้องมีชื่อ อากิระ คุโรซาว่า ติดอยู่เป็นอันดับแรก เพราะเขาคือผู้กำกับหนังระดับขึ้นหิ้งหลายเรื่อง ซึ่งไม่เพียงมีอิทธิพลในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปถึงวงการฮอลลีวูดอีกด้วย
[caption id="attachment_16372" align="alignnone" width="1469"]
Akira Kurosawa[/caption]
เด็กชายผู้รักศิลปะและเกลียดวิชาทหาร
ย้อนกลับไป คุโรซาว่าไม่มีความคิดอยากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์มาก่อน เขาเกิดในครอบครัวที่สืบสายมาจากซามูไรโบราณโดยมีคุณพ่อเป็นทหาร และเขาเป็นลูกคนสุดท้องในพี่น้อง 7 คน ชีวิตวัยเด็กคือการจับพู่กันวาดรูปและจับดาบเคนโด้ เด็กชายคุโรซาว่าจึงวาดฝันอยากเป็นศิลปินวาดภาพแทน
“พ่อของผมเป็นนักการทหารเต็มตัว แต่ท่านก็สนับสนุนความสนใจศิลปะของผม” คุโรซาว่ากล่าวถึงคุณพ่อ “จำได้ว่าตอนเรียนมัธยมฯ สิ่งที่ผมเกลียดชังมากที่สุดคือการศึกษาวิชาทหาร ครูสอนวิชานี้เป็นนายทหารยศนายพันเก่า เขาจะบังคับเด็กผู้ชายให้แบกปืนยาว และเดินไปมาแล้วส่งเสียงดุ ตะโกนด่า แต่ผมมักหนีเสมอ ไม่เคยแบกปืนอะไรนั้น แน่ละ การฝึกยิงกระสุนจริงผมก็ไม่โผล่ไปเลยแม้เพียงแค่ครั้งเดียว ผมจึงได้คะแนนศูนย์ในวิชานี้”
หลังเรียนจบโรงเรียนมัธยมฯ เขาจึงตัดสินใจเป็นศิลปินเขียนรูป และเข้าเรียนโรงเรียนศิลปะและศึกษาวรรณคดีอยู่เป็นประจำ กระทั่งเรียกตัวเองว่าเป็น “นักอ่านตัวยง” โดยเฉพาะวรรณกรรมตะวันตก ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญต่อผลงานของเขาในเวลาต่อมา
คุโรซาว่าเริ่มต้นอาชีพเป็นจิตรกรตามใจฝัน มีทั้งงานภาพประกอบในนิตยสาร รวมไปถึงผลงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคม ซึ่งไม่ค่อยถูกอกถูกใจคนญี่ปุ่นหัวโบราณเท่าไหร่ ทำให้เขาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ “ผมทำงานจนเหนื่อยล้า แต่คุณจะไปยึดมันเป็นอาชีพไม่ได้หรอก”
คุโรซาว่าจึงต้องหาเส้นทางอย่างอื่นแทน และแล้วเขาก็ตัดสินใจสมัครเป็นผู้ช่วยผู้กำกับของสตูดิโอเปิดใหม่แห่งหนึ่งที่ชื่อ โตโฮ (Toho) ที่นั่น เขาได้ทำงานในฐานะผู้ช่วยผู้กำกับของ คาจิโร่ ยามาโมโตะ (Kajiro Yamamoto) ซึ่งเปรียบเสมือนครูคนแรก และเป็นปรมาจารย์ที่คอยปั้นคุโรซาว่าจนกลายเป็นอัจฉริยะแห่งวงการภาพยนตร์
“เขาเป็นคนประเภททำงานด้วยแรงบันดาลใจ มากยิ่งกว่าประเภทเตรียมการไว้ก่อนแล้วทำให้เสร็จ ๆ ไป” ยามาโมโตะกล่าถึงลูกศิษย์ของตัวเอง “บทที่ได้มาโดยวิธีนี้ย่อมดีอย่างไม่มีข้อสงสัย ทั้งในแง่เนื้อหาและการแสดง ผมจำได้ว่าตอนสอนการตัดต่อ เขาเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วเหมือนเขามีทักษะอยู่แล้วโดยธรรมชาติ”
ขณะเดียวกัน เขามักให้สัมภาษณ์ยกย่องถึงยามาโมโตะอยู่บ่อยครั้ง และบอกว่ามีความสัมพันธ์เป็นแบบ “พี่ชาย-น้องชาย” มากกว่า “ครู-ลูกศิษย์”
[caption id="attachment_16369" align="alignnone" width="1024"]
LOS ANGELES, CA - CIRCA 1990: Steven Spielberg, Akira Kurosawa and George Lucas attends the 62nd Academy Awards circa 1990 in Los Angeles, California. (Photo by Miguel Rajmil/IMAGES/Getty Images)[/caption]
สู่ผู้กำกับอัจฉริยะระดับโลก
ครั้นเมื่อเขาลับฝีมือจนคม ก็ถึงเวลาที่เขาจะลงมากำกับด้วยตัวเอง เพียงผลงานเรื่องแรก Sanshiro Sugata (1943) คุโรซาว่าก็โชว์เทพด้วยการเขียนบท กำกับ และอำนวยการสร้างภาพยนตร์ด้วยตัวเอง แต่แล้วเขาก็ต้องพบกับอุปสรรคด่านแรก เมื่อกองเซ็นเซอร์ไม่ปล่อยผ่านภาพยนตร์ เพราะมีความเป็น “ต่างชาติ” เกินไป แต่ท้ายที่สุด ภาพยนตร์ก็ได้ออกฉาย และเขาก็กลายเป็นที่จับตามองในฐานะผู้กำกับรุ่นใหม่ทันที
หลังจากภาพยนตร์เรื่องแรก คุโรซาว่ามีผลงานอย่างต่อเนื่องกว่าสิบเรื่องตลอดระยะเวลากว่าสิบปี แม้บางเรื่องจะถูกตั้งข้อกล่าวหาเดิม ๆ ว่าดูต่างชาติเกินไป แต่เขาก็ผ่านพ้นมันมาได้ทุกที หนำซ้ำยังได้เจอกับนักแสดงหนุ่ม โตชิโร่ มิฟุเน่ (Toshiro Mifune) ใน Drunken Angel (1948) จนกลายเป็นพระเอกคู่ใจ ซึ่งหนังเรื่องนี้ได้รับการยกย่องจากนักวิจารณ์ว่าเป็นภาพยนตร์สไตล์คุโรซาว่าแท้ ๆ ทั้งการเล่าเรื่อง การกำกับภาพ และบทที่ใช้ภาพยนตร์เป็นกระบอกเสียงชุดความคิดบางอย่างเสมอ
ปี 1950 อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของเขาก็มาถึง เมื่อเขาหยิบความหลงใหลในวรรณกรรมมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เรื่องนั้นก็คือ Rashomon และ In a Grove ของ ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (Ryunosuke Akutagawa) มาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ Rashomon (1950) ส่งให้เขามีชื่อเสียงข้ามทวีป จนกวาดรางวัลข้ามทวีป
จาง อี้โหมว (Zhang Yimou) ผู้กำกับจีนชื่อดังเคยเขียนถึงคุโรซาว่าในนิตยสาร Time Asia ปี 1999 ว่า “Rashomon เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำให้คุโรซาว่าเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เขาไม่พึงปรารถนากับชื่อเสียง คุโรซาว่ามีลักษณะคล้ายกับ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ที่เขามีพลังแห่งความเป็นศิลปินแบบไม่ประนีประนอม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือธุรกิจ แม้แต่ผู้ผลิตหนังเรื่อง Rashomon ก็ไม่เข้าใจในตัวหนัง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในญี่ปุ่นก็ต่อเมื่อเขาได้รับรางวัลระดับนานาชาติแล้ว”
ความพิเศษของหนังเรื่องนี้คือการได้ร่วมงานกับ ชิโนบุ ฮาชิโมโตะ (Shinobu Hashimoto) นักเขียนบทมือฉมัง ที่กลายเป็นนักเขียนบทคู่ใจสร้างผลงานคุณภาพกับคุโรซาว่ามากมาย ทั้ง Ikiru (1952) หนังของชายโรคมะเร็งที่พยายามค้นหาความหมายของชีวิต พร้อมเย้ยหยันระบบราชการอย่างเจ็บแสบ, Seven Samurai (1954) การรวมตัวของเจ็ดซามูไรเพื่อปกป้องหมู่บ้านจากวายร้าย นับเป็นหนังทรงอิทธิพลอีกเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนังอีกหลาย ๆ เรื่อง เช่น The Magnificent Seven (1960), A Bug's Life (1998), Django Unchained (2012), Mad Max: Fury Road (2015) แม้กระทั่งหนังรวมดาวซูเปอร์ฮีโร่ดีซี Justice League (2017) ที่ผู้กำกับแซ็ค ชไนเดอร์ เคยให้สัมภาษณ์เปรียบเทียบไว้อย่างน่าสนใจ https://www.comingsoon.net/movies/news/670035-zack-snyder-draws-a-seven-samurai-comparison-to-justice-league รวมไปถึง The Hidden Fortress (1958) ภาพยนตร์ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เกิดแฟรนไชส์ Star Wars
นอกเหนือจากวรรณกรรมญี่ปุ่นแล้ว คุโรซาว่ายังเคยหยิบวรรณกรรมตะวันตกมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง เขาเคยดัดแปลง King's Ransom ของ เอ็ด แม็คเบน (Ed McBain) เป็น High and Low (1963) ดัดแปลง The Idiot ของ ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoyevsky) เป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 1951 ทั้งยังดัดแปลงวรรณกรรมของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ถึง 2 ครั้งคือ Macbeth เป็น Throne of Blood (1957) และ King Lear เป็น Ran (1985) ซึ่งคุโรซาว่าเคยให้สัมภาษณ์ถึง Ran ไว้ว่า “Ran เป็นหนังที่ดีที่สุดของผม”
[caption id="attachment_16363" align="alignnone" width="1024"]
Le metteur en scène Akira Kurosawa lors du tournage de son film 'Ran' en mai 1985, Japon. (Photo by Kurita KAKU/Gamma-Rapho via Getty Images)[/caption]
อีกมุมของชีวิตที่คิดฆ่าตัวตาย
ถึงแม้เขาจะดูประสบความสำเร็จทางอาชีพการงาน แต่ในความจริงผลงานของเขาล้วนไม่ได้เป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นเท่าไหร่ เพราะนักวิจารณ์หลายคนมักบอกว่าหนังของเขามีความเป็น “ตะวันตก” มากกว่าเป็นญี่ปุ่น ทุกเสียงจึงบอกว่า หรือแท้ที่จริงแล้วเขามิได้ทำภาพยนตร์ให้คนญี่ปุ่นดู แต่ตั้งใจทำหนังให้คนทั่วโลกดูกันแน่
แน่นอนว่าเสียงเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบถึงความเข้าใจสำหรับคนญี่ปุ่น ภาพยนตร์ของเขาจึงมิค่อยทำเงินมากนัก สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้รู้สึกหดหู่ใจ ถึงขั้นเคยคิดทำอัตวินิบาตกรรมมาแล้ว
โดนัลด์ ริชชี (Donald Richie) นักเขียนอเมริกันผู้ศึกษาวัฒนธรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นอย่างเข้มข้น กล่าวถึงเรื่องราวการอัตวินิบาตกรรมของคุโรซาว่าในปี 1970 ว่า ความพยายามของคุโรซาว่าในการฆ่าตัวตายด้วยใบมีดโกน มีสาเหตุด้วยกัน 3 ประการคือ 1) ภาพยนตร์ Dodes'ka-den (1970) เขาลงทุนสร้างจนเงินหมดเกลี้ยง แต่หนังกลับล้มเหลวทางรายได้ 2) การประสบปัญหาในภาพยนตร์ Tora! Tora! Tora! (1970) ที่มาจากเรื่องส่วนตัวของเขาเอง และ 3) ความรู้สึกว่าตัวเองได้พูดสิ่งที่อยากพูดสิ่งสำคัญไปหมดแล้วใน Red Beard (1965)
“แต่ถ้าคุณใช้มีดโกนกรีดตัวเองหลายครั้ง แต่คุณยังรอดชีวิตมาได้ เราก็คงถือว่ามันเป็นอัตวินิบาตกรรมไม่ได้ มันอาจเป็นการครวญครางเพื่อให้ใครออกมาช่วยเหลือเสียมากกว่า” ริชชีกล่าว
ถึงกระนั้น คุโรซาว่าก็รอดพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายมาได้ และกลายมาเป็นอัจฉริยะแห่งวงการภาพยนตร์ สร้างผลงานคุณภาพมากมายประดับวงการ ซึ่งยังเป็นภาพยนตร์ที่มีความอมตะจนถึงทุกวันนี้
แน่นอน ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ย่อมได้รับคำถามว่า ในการสร้างหนังสักเรื่องหนึ่ง ขั้นตอนไหนที่สำคัญที่สุด สำหรับคำตอบของคุโรซาว่านั้นก็คือ “การตัดต่อกระมัง แต่ถ้าไม่มีบทที่ดี การตัดต่อดีเท่าไหร่ก็คงช่วยอะไรไม่ได้ และเมื่อผมตกลงใจถ่ายทำอะไรขึ้นมาสักอย่าง มันเป็นเพียงการหาอะไรมาเพื่อตัดต่อเท่านั้นเอง”
เรื่องโดย: สหธร เพชรวิโรจน์ชัย
ข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/HALfilm/photos/a.270219963087624/2429136873862578/?type=3&theater
https://www.plotter.in.th/?p=15293
https://www.youtube.com/watch?v=m4CMzYgceO0
https://blogazine.pub/blogs/atthasit-muangin/post/5900
https://blogazine.pub/blogs/atthasit-muangin/post/5608
https://www.khaosod.co.th/social-trend/news_1246489
https://mashable.com/2018/06/12/from-software-sekiro-shadows-die-twice-dark-souls-kurosawa/
หนังสือ อาคิระ คูโรซาวา จักรพรรดิแห่งภาพยนตร์ญี่ปุ่น โดย บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา