16 ธ.ค. 2562 | 15:48 น.
“การวิ่ง” กลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน บางคนอาจวิ่งเพื่อสุขภาพ วิ่งเพราะมีความสุข วิ่งไล่...เอ้ย! ไม่ใช่ละ หรือบางคนอาจวิ่งเพราะอะไรสักอย่าง แต่ก็มีบางคนที่อาจวิ่งเพื่อผู้อื่น ในบ้านเราหลายคนอาจจะคุ้นกับคำว่าวิ่งจากโครงการก้าวคนละก้าว ของ ตูน บอดี้สแลม แต่โลกใบนี้ไม่ได้มีแต่ “พี่ตูน” เท่านั้นที่ออกวิ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก ยังมีคนอีกมากมายที่พยายามเปลี่ยนแปลงสังคมของตนเองด้วยการวิ่งเช่นกัน
นี่คือตัวอย่างของคนเหล่านั้น...
ตูน บอดี้สแลม เป็นที่รู้จักในฐานะนักร้องวงร็อกเบอร์ต้น ๆ ของประเทศ แต่แล้ววันหนึ่งจิตใจที่อยากจะช่วยเหลือผู้อื่นก็ทำให้เขาจับงานอดิเรกที่ตนรัก อย่างการ “วิ่ง” มาปรับเป็นโปรเจกต์การกุศล เพื่อหาเงินสนับสนุนทางการแพทย์ให้ที่บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ และการวิ่งจากอำเภอเบตง-แม่สาย ระยะทางกว่า 2,191 กิโลเมตร เพื่อหาเงินช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐจำนวน 11 แห่ง ซึ่งท้ายสุด ตูนสามารถระดมทุนเพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลได้มากกว่า 1.6 พันล้านบาท โครงการนี้ทำให้เกิดความคิดเห็นแตกต่างไปหลายกระแส บ้างก็อยากร่วมทำบุญด้วยความยินดี บ้างก็ตั้งคำถามว่า งบประมาณของรัฐบาลที่ลงไปกับเรื่องสาธารณสุขมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตูนทำ อย่างน้อยก็ทำให้คนหันมาสนใจปัญหาของเครื่องมือทางการแพทย์ที่ขาดแคลนในสังคมไทยมากขึ้น
โรเบิร์ต โป๊ป ชาวอังกฤษ ลงทุนตัดผมแต่งตัวเหมือนตัวละคร “ฟอร์เรสต์ กัมพ์” ที่รับบทโดย ทอม แฮงก์ แล้วออกวิ่งตามเรื่องราวในภาพยนตร์ โรเบิร์ตวิ่งจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ มีระยะทางรวมกว่า 5,600 ไมล์ นอกจากการวิ่งเพื่อเลียนแบบตัวละครในหนังแล้ว ตลอดระยะทางเขายังวิ่งเพื่อระดมทุนให้กับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF อีกด้วย ซึ่งโรเบิร์ตสามารถระดมเงินได้ถึง 11,203.91 ดอลลาร์ หรือตีเป็นเงินไทยก็กว่า 3 แสนบาท
ที่ออสเตรเลีย อแมนด้า อัลเลน นักกีฬาสาวเจ้าของรางวัลแชมป์ ครอสฟิต เกมส์ 4 สมัย ออกวิ่งจากทูวูมบา ไปเมืองแมคเคย์ ระยะทางกว่า 1,200 กิโลเมตร เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนเลิกคิดถึงการฆ่าตัวตาย (สาเหตุจากอาการภาวะซึมเศร้า) ซึ่งเธอคาดหวังว่าการวิ่งของเธอในครั้งนี้ เปรียบเป็นแสงนำทางให้กับคนที่มีอาการเหล่านี้ออกมาจากมุมมืด และก้าวเดินต่อไปให้ได้ด้วยการออกมาวิ่ง อีกทั้งมันน่าจะช่วยให้สังคมหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งเธอเคยเปิดเผยว่า เธอเองก็เคยเป็นหนึ่งในเหยื่อของโรคนี้ และก็คิดจะฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง
ฝั่งดารานักแสดงฮอลลีวูดเองก็เคยวิ่งเพื่อสังคมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน นักแสดงชื่อดังชาวสหรัฐ เคยลงวิ่งในนิวยอร์ก ซิตี้ มาราธอน ปี 2009 เพื่อหารายได้ให้องค์กรการกุศล เพื่อช่วยชนเผ่ามาไซในแทนซาเนีย ด้าน ไรอัน เรย์โนลด์ส นักแสดงผู้รับบทเดดพูล ก็เคยลงวิ่งในนิวยอร์ก ซิตี้ มาราธอน เช่นกัน เพื่อระดมเงินเข้ามูลนิธิ พาร์กินสัน ส่วนเซเลบฯ คนอื่น ๆ ที่เคยมาวิ่งในงานนี้ก็อย่างเช่น อีธาน ฮอว์ก นักแสดงดัง, อลิเชีย คียส์ นักร้องสาวเจ้าของรางวัลแกรมมี่และ เจมส์ เบรค อดีตนักเทนนิสชาวสหรัฐฯ
เคนนิชิ ฮาโตริ วัยกว่า 70 ปี พร้อมลูกชาย อาคิฮิโตะ และเพื่อนบ้าน ทาเคโนบุ ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นชาวฟุกุชิมาที่ประสบภัยสึนามิ พวกเขาอาสาออกวิ่งเป็นระยะทาง 13,000 กิโลเมตร ผ่าน 14 ประเทศ เพื่อแสดงสปิริตขอบคุณชาวโลกที่ช่วยเหลือพวกเขาในเหตุการณ์ครั้งเลวร้าย ทั้งสามออกวิ่งวันละ 40 กิโลเมตร พักเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งการวิ่งในครั้งนี้เริ่มต้นจากเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 25 มิถุนายน 2011 และถึงโตเกียว เมื่อเดือนสิงหาคม 2012
มาถึงคิวนักวิ่งจริง ๆ อย่าง เอเลียด คิปโชเก้ ที่ล่าสุดเพิ่งจะทำลายกำแพงการวิ่งมาราธอนด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ได้สำเร็จ นี่คือปณิธานของนักวิ่งชาวเคนยาวัย 34 ปี ที่มีความท้าทายที่จะทำลายขีดจำกัดของมนุษย์ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนสามารถทำลายขีดจำกัดของตัวเองได้เสมอ ภายใต้แฮชแท็กที่ว่า #NoHumanIsLimited
แถม
ฟอร์เรสต์ กัมพ์
ถึงแม้เรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องจริง แต่ก็อิงเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์อยู่หลายช่วง และยังแฝงไปด้วยข้อคิดอะไรมากมาย “ฟอร์เรสต์ กัมพ์” คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์ ปี 1994 ในเรื่องมีตอนหนึ่งที่อยู่ดี ๆ ฟอร์เรสต์ ตัวละครในเรื่อง รู้สึกเบื่อ ๆ เหงา ๆ ก็เลยอยากวิ่งขึ้นมา จากนั้นเขาก็ออกจากบ้านแล้วก็ วิ่ง วิ่ง วิ่ง จากเมืองหนึ่งไปอีกเมือง จากรัฐหนึ่ง ไปอีกรัฐ เขาวิ่งเรื่อย ๆ จากวิ่งคนเดียว ก็เริ่มมีคนวิ่งตามเขาเพิ่มขึ้น จากหนึ่งคนสุดท้ายกลายเป็นร้อย ๆ จนเป็นที่ฮือฮาของคนทั้งประเทศ ถึงขนาดมีรายการทีวีมาตามติดชีวิตเขา แล้วถามว่า ทำไมเขาถึงวิ่ง วิ่งเพื่ออะไร ฟอร์เรสต์ตอบเพียงแค่ว่า “เขาแค่อยากวิ่งเท่านั้นเอง” ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้นั่นก็คือ ถ้าคุณอยากจะทำอะไรก็ทำซะ และถ้าวิ่งแล้วช่วยเหลือคนอื่นได้ ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าให้การสนับสนุน