21 ธ.ค. 2562 | 16:07 น.
หลายคนอาจจะรู้จักนักร้องหนุ่มอารมณ์ดีอย่าง ไมเคิล บูเบลย์ (Michael Bublé) ในฐานะเจ้าของเพลงฮิต ‘Home’ รวมถึงการเป็นยอดเอนเตอร์เทนบนเวทีที่เปี่ยมไปด้วยลีลาน่าตื่นตาตื่นใจ ภาพลักษณ์ที่ถูกยกให้เป็นนักร้องแบบ crooner (หรือแปลเป็นไทยว่า นักครวญเพลง) กลายเป็นจุดขายของ บูเบลย์ ที่ทำให้ผู้คนต่างจดจำเขาได้ แม้ชีวิตภายใต้ความอลังการของวงบิ๊กแบนด์ด้านหลังจะสร้างความหรูหราให้เขาอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่หากได้เรียนรู้เรื่องราวชีวิต ก่อนความสำเร็จของเขา คุณจะค้นพบถึงชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างแท้จริง
วันที่ 9 กันยายน ปี 1975 คือวันที่ ลูอิส และแอมเบอร์ บูเบลย์ ได้ให้กำเนิดลูกชายคนโตของครอบครัว เขาทั้งสองตั้งชื่อให้กับเด็กทารกคนนี้ว่า “ไมเคิล”
บูเบลย์ ไม่ได้เติบโตมาท่ามกลางเสียงดนตรี ช่วงชีวิตในวัยเด็กของเขาถูกล้อมรอบไปด้วยเสียงคลื่นจากทะเล เพราะด้วยการที่ ลูอิส เป็นชาวประมงจับปลาแซลมอน นั่นจึงทำให้เขาต้องหอบลูกมาเลี้ยงบนเรือหลายครั้ง ซึ่งสำหรับ บูเบลย์ มันกลายเป็นความทรงจำที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะตอนนั้นเขาเริ่มรู้ตัวเองว่าสิ่งที่เขาอยากจะทำจริง ๆ ไม่ใช่การออกทะเลหาปลา แต่เป็นการได้ร้องเพลงบนเวที เขาถึงขั้นนำคำภีร์ไบเบิลมาไว้ที่ใต้หมอนและภาวนาขอพระเป็นเจ้าทุกคืนก่อนนอนว่าให้ความฝันในการเป็นนักร้องของเขาเป็นจริงด้วยเถิด
“มันเป็นงานที่ใช้ร่างกายโหดที่สุดที่ผมเคยเจอในชีวิต เราต้องออกทะเลไป 2-3 เดือนครั้ง เราต้องออกมาจับปลาตอนเช้ามืด ท่ามกลางสายฝนและอากาศที่หนาว ผมทั้งป่วยทั้งเหนื่อยและห่อเหี่ยวในใจ ผมร้องไห้และพูดกับพ่อว่า ‘พ่อเป็นไอ้งี่เง่ารู้ตัวไหม พ่อพาลูกชายตัวเองมาเจออะไรแบบนี้เนี่ยนะ’ ตอนนั้นผมกลัวว่าตัวเองจะต้องลงเอยแบบพ่อ แต่เมื่อมองกลับไป การทำงานแบบผู้ใหญ่ในหมู่คนที่มีอายุมากกว่าคุณสองเท่าได้ มันคือประสบการณ์ชีวิต มันสอนผมมากเกี่ยวกับความรับผิดชอบและความหมายของการเป็นผู้ชายนะ” บูเบลย์ เล่าย้อนถึงประสบการณ์บนเรือหาปลาในวัยเด็ก
[caption id="attachment_17194" align="aligncenter" width="338"] บูเบลย์ ในช่วงวัยรุ่น[/caption]บูเบลย์ ไม่เหมือนกับเด็กทั่วไป ที่สามารถปั่นจักรยานวิ่งเล่นตามสวนได้ สิ่งเดียวที่ทำให้หัวใจของเด็กผู้ชายคนนี้พองโตได้ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ดนตรี”
“ผมยังจำได้อยู่เลยตอนที่ยังเป็นเด็ก ผมเคยไปที่หัวเรือและเริ่มร้องเพลง ทำเหมือนว่าตัวเองกำลังโด่งดัง” บูเบลย์หลงรักในการฟังเพลงมาตั้งแต่เด็กๆเรียกได้ว่าเพื่อนเขาชอบฟังอะไรเขาก็มักจะฟังตามทุกเพลงโดยไม่มีเหตุผลด้วยการที่พ่อของเขาต้องออกทะเลบ่อยๆทำให้บูเบลย์ได้ใช้เวลาอยู่กับมิทช์ซานตาก้าคุณตาของเขาบ่อยๆมิทช์มีบ้านอยู่ใกล้ๆกับบูเบลย์ห่างกันไปเพียงไม่กี่หลังเขาเป็นนักฟังเพลงแจ๊สตัวยงที่หลงรักในสุ้มเสียงแบบบิ๊กแบนด์และสวิง
“พ่อของไมเคิล (บูเบลย์) ไม่ค่อยได้อยู่บ้านนัก ทำให้พวกเด็ก ๆ ต้องมาที่บ้านเราบ่อย ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดใจก็คือทุกครั้ง ไมเคิล จะเดินเข้าไปหาคุณตาของเขาเสมอ เพื่อให้คุณตาสอนฟังเพลงเก่า ๆ มันเป็นสิ่งพวกเขาชอบเหมือนกัน และดูเหมือนแต่ละเพลงที่ ไมเคิล ได้ยินครั้งแรก เขาจะสามารถร้องตามได้เสมอ” โยรันดา คุณยายของ บูเบลย์ เล่าย้อนความหลัง
ทั้งคู่ใช้หมดเวลาไปกับการนั่งฟังแผ่นด้วยกันตลอดช่วงวันหยุดฤดูร้อน ลากยาวจนไปถึงวันคริสต์มาสปีหนึ่ง เมื่อเห็นหลานชายชอบร้องเพลง มิทช์ ก็ได้ซื้อกล่องคาราโอเกะให้กับ บูเบลย์ เป็นของขวัญวันคริสต์มาส และดูเหมือน บูเบลย์ จะชื่นชอบของขวัญชิ้นนี้มาก เขาไม่รอช้าที่จะหยิบไม้กวาดมาทำเป็นไมค์ และร้องตามไปในเพลง ‘New York, New York’ โดยเลียนเสียงทุ้มแบบทรงเสน่ห์ของ แฟรงก์ ซินาทรา พรสวรรค์ที่ บูเบลย์ แสดงออกมาในวันนั้นทำให้ มิทช์ รู้ว่าสิ่งนี้จะส่งให้หลานชายของเขากลายเป็นดาว
ถ้าถามว่าใครคือคนแรกที่ผลักดัน บูเบลย์ ให้เดินหน้าทำตามฝันของตัวเอง ตำแหน่งป๋าดันที่ว่านั้นคงต้องยกให้กับ มิทช์ เพราะเขาคือคนที่จ่ายเงินค่าเรียนร้องเพลงให้กับ บูเบลย์ แถมยังเป็นคนที่พา บูเบลย์ ไปร้องตามบาร์แจ๊สอีกด้วย แม้ว่าตอนนั้น บูเบลย์ จะมีอายุไม่ถึงที่จะเข้าไปในบาร์ แต่สุดท้าย มิทช์ ก็หาทางดันหลานชายตัวเองให้ได้ขึ้นไปร้องในนั้นจนได้ เขารู้ว่าสถานที่แบบนี้คือโอกาสสำคัญสำหรับนักร้องรุ่นใหม่
“คุณตาคือเพื่อนสนิทที่สุดของผมในวัยเด็ก เขาคือคนที่เปิดโลกดนตรีให้กับผม จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมตลอดมา แม้ตอนแรกผมจะชอบดนตรีร็อกแอนด์โรลล์ หรือดนตรีร่วมสมัยหน่อย แต่ครั้งแรกที่คุณตาเปิดเพลงของ The Mills Brothers ทุกอย่างมันเหมือนมีเวทมนตร์ขึ้นมาเลย เนื้อเพลงมันช่างโรแมนติก ทุกอย่างเหมือนจริงมาก มันเป็นเพลงที่เข้ากับตัวผม มันเหมือนกับการได้เห็นอนาคตตัวเองเลย มันทำให้ผมอยากจะเป็นนักร้อง และผมรู้ว่านี่คือเพลงที่ผมอยากจะร้อง"
[caption id="attachment_17190" align="aligncenter" width="640"] บูเบลย์กับคุณตาของเขา[/caption]หลังจากนั้น บูเบลย์ ก็เดินล่าหาความฝัน และผันตัวมาเป็นนักร้องสมัครเล่นตามงานต่าง ๆ จนได้มีโอกาสไปเจอกับผู้จัดการส่วนตัวคนแรกของเขาอย่าง เบฟเวอรี่ เดลิช โดย เดลิช เล่าต่อว่า ในวันที่ บูเบลย์ ไม่มีแม้แต่เงินหรืองาน แต่ตัวนักร้องหนุ่มก็เชื่อว่า วันหนึ่งเขาจะเป็นนักร้องที่ประสบความสำเร็จได้แน่นอน
“ไมเคิลขอให้ฉันไปเป็นผู้จัดการของเขา ฉันเลยถามว่า ‘ทำไมคุณถึงต้องมีผู้จัดการล่ะ’ เขาบอกว่า ‘ผมจะทำสิ่งนี้ได้ดีเยี่ยมเลยแหละ และผมจะให้คุณ 15% ของทุกอย่างที่ผมทำเงินได้’ ฉันเลยบอกว่า ไมเคิล จะได้15% ได้อย่างไร ในเมื่อตอนนี้มันเป็น 0 ล่ะ”
บูเบลย์ ในวัย 24 ปีเพียบพร้อมไปด้วยแพสชั่นและไฟในการจะเป็นนักร้องเขาเดินก้าวออกจากเบอร์นาบีเมืองบ้านเกิดมุ่งหน้าสู่โตรอนโต้เพื่อโอกาสในเส้นทางดนตรีที่มากขึ้นแต่จนแล้วจนรอดเขาก็ไม่เคยได้รับโอกาสนั้นสักที
ย้อนกลับไปในปี 2000 บูเบลย์ ได้มีโอกาสทำเพลงกับค่ายอินดี้แห่งหนึ่ง เขาถึงขั้นต้องยอมทุบกระปุกเงินเก็บของตัวเองเพื่อทำมัน แต่ผลงานชุดดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นที่แพร่หลายพอให้เขาเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการทุ่มเงินเก็บทั้งหมดของตัวเองทำให้ บูเบลย์ ถังแตกอย่างจัง สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มบีบบังคับให้เขาต้องมานั่งทบทวนตัวเองว่าตลอด 7 ปี ในฐานะนักร้อง เขาคงไม่สามารถเอาดนตรีมาทำเป็นอาชีพได้แล้ว
วันหนึ่ง บูเบลย์ ได้มีโอกาสไปร้องในงานปาร์ตี้สังสรรค์ของเหล่านักธุรกิจแห่งหนึ่ง หลังจบโชว์มีชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า ไมเคิล แมคสวีนนีย์ เดินตรงมาหาเขา พร้อมกับชื่นชมการร้องและการเอนเตอร์เทนของ บูเบลย์ เป็นอย่างมาก บูเบลย์ ที่ไม่ได้คิดอะไรมากตอนนั้นก็ได้ยื่นแผ่นซีดีอัลบั้มของเขาแผ่นสุดท้ายที่เหลืออยู่ให้กับ แมคสวีนนีย์ พร้อมกับบอกว่า “ถ้าคุณกับภรรยาชอบมันก็ดีเลย แต่ถ้าไม่ชอบมันก็คงกลายเป็นถาดรองแก้วที่เยี่ยมเลย” ซึ่งตอนนั้น บูเบลย์ ก็ยังไม่รู้ว่าชายคนนี้จะกลายเป็นคนที่มอบโอกาสครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตให้กับเขา
ในคืนเดียวกันนั้น แมคสวีนนีย์ ได้กลับมาบ้านและเปิดซีดีชุดดังกล่าวฟัง เขาทั้งทึ่งและรู้สึกประทับใจกับเสียงร้องของ บูเบลย์ อย่างบอกไม่ถูก จนอยากจะส่งต่อความประทับใจนั้นออกไป แต่ทันใดนั้นเองเขาก็ฉุกคิดได้ว่าเพื่อนของเขากำลังมองหานักร้องในงานแต่งงานของลูกสาวพอดี ไม่กี่วันต่อมา แมคสวีนนีย์ ก็ได้ยื่นแผ่นซีดีแผ่นนี้ให้กับเพื่อนของเขาที่ชื่อว่า ไบรอัน มัลโรนี ชายผู้เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีแคนาดา!!!
มัลโรนีและภรรยา ถูกใจใช่เลยกับเสียงร้องของ บูเบลย์ และได้ติดต่อให้นักร้องหนุ่มมาร้องในงานแต่งดังกล่าว “ภรรยาของผมบอกว่า ไม่อยากจะเชื่อกับสิ่งที่ได้ฟัง เธอรู้สึกว่าเสียงร้องของเขาเหมือนอยู่ตรงกลางระหว่าง บ๊อบบี้ ดาร์ริน กับแฟรงก์ ซินาทรา”
ตอนแรก บูเบลย์ ปฏิเสธที่จะร้องในงานนี้ เพราะเขาคิดว่าการร้องเพลงในงานแต่งจะทำให้เขาโชคร้าย แต่พอมารู้ทีหลังว่างานนี้จะมีคนในอุตสาหกรรมดนตรีเข้ามาร่วมงานด้วย บูเบลย์ จึงตัดสินใจที่รับหน้าที่นี้ โดยไม่รู้ว่ามันคือค่ำคืนจะที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
มันคืองานรวมตัวของเหล่าคนดังอย่างแท้จริง ทั้งเหล่านักการเมือง ดารา หรือบรรณาธิการจากสื่อหลายสำนักต่างก็ตบเท้าเข้าร่วมงานนี้ (เจ้าบ่าวเป็น บก.ของนิตยสาร Harper) โอกาสเป็นของคนที่พร้อมเสมอ! บูเบลย์ที่รู้สึกชีวิตไม่มีอะไรจะเสียกับงานนี้ก็ได้แสดงอย่างเต็มที่ในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งโชว์ดังกล่าวไปเข้าหูเข้าตาหนึ่งในแขกของงานอย่าง เดวิด ฟอสเตอร์ โปรดิวเซอร์ระดับตำนาน ที่ปั้นทั้ง ซีลีน ดีออน และ วิทนีย์ ฮูสตันเข้าอย่างจัง
“ไบรอัน (มัลโรนี) กอดและจับมือกับเดวิด (ฟอสเตอร์) ที่หน้างาน ผมเห็นเขาพยายามเชียร์ผมกับเดวิด เขาพูดทำนองว่า ‘นี่นี่คุณมาฟังเด็กหนุ่มคนนี้ร้องสิ เขาเยี่ยมไปเลยใช่ไหม คุณแค่ลองดูเขาร้อง’ ตอนนั้นเขาขายผมเก่งมากเลย” บูเบลย์ เล่าถึงวินาทีแรกที่เขาได้เจอกับฟอสเตอร์
ตอนแรก ฟอสเตอร์ ลังเลที่จะยื่นสัญญาการเป็นนักร้องในค่าย 143 Records ของเขา (ค่ายย่อยในเครือวอเนอร์) ให้กับ บูเบลย์ เขารับรู้ดีถึงความสามารถของนักร้องคนนี้แต่ก็มีความไม่แน่ใจว่าเด็กคนนี้จะสามารถเป็น “ป๊อปสตาร์” ได้ ตอนนั้นเขาแทบจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำว่าจะขาย บูเบลย์ ยังไงในตลาดดนตรีโลก
[caption id="attachment_17188" align="aligncenter" width="992"] บูเบลย์และเดวิด ฟอสเตอร์[/caption]ต่อมา ฟอสเตอร์ จึงได้ชวนให้ บูเบลย์ ไปที่สตูดิโอของเขาที่มาลิบู เพื่อลองใช้เวลาด้วยกันในห้องอัดโดยหวังว่าเขาจะได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของเด็กคนนี้ แต่แล้วผ่านไปสองวัน ในสตูดิโอของ ฟอสเตอร์ เขามอง บูเบลย์ ผ่านกระจกในห้องบันทึกเสียงด้วยความเคร่งเครียด ก่อนจะเอามือเกาหัวตัวเอง และมานั่งกอดอกที่เก้าอี้หลังโต๊ะมิกซ์ และพูดกับ บูเบลย์ ว่า “ไมเคิล นายเป็นยอดเอนเตอร์เทนเนอร์และมีเสียงร้องที่ดี แต่ไม่มีอะไรที่ฉันจะช่วยนายได้”
แม้จะถูกปฏิเสธแต่ บูเบลย์ ก็ไม่คิดจะยอมแพ้ เขารู้ว่าการจะก้าวขึ้นมาเป็นนักร้องไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ ท้ายที่สุด บูเบลย์ กับเดลิช ยอมย้ายมาที่ลอสแอนเจลิส เพื่อคอยตามตื้อ ฟอสเตอร์ “ผมถึงขั้นขับรถตามเขา (ฟอสเตอร์) ไปที่บ้านแล้วคอยถามว่า ‘เมื่อไหร่คุณจะเซ็นสัญญากับผมเนี่ย’” บูเบลย์ ให้สัมภาษณ์กับ Macleans
ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก! หลังจากถูกตื๊ออยู่นาน ฟอสเตอร์ ก็ยอมใจอ่อนลง แต่มันก็มาพร้อมข้อเสนอที่ยากสำหรับ บูเบลย์ ในตอนนั้น เขาบอกว่าหากจะให้เขาเข้ามาโปรดิวซ์อัลบั้มให้ บูเบลย์ ต้องหาเงินมาให้ได้ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตีเป็นเงินไทยประมาณ 16 ล้านบาทเพื่อให้ครอบคลุมกับค่าโปรดักชั่นทั้งหมดโดยไม่มีอะไรรับประกันจากค่ายหลักอย่างวอเนอร์อีกด้วย
ไป ๆ มา ๆ เรื่องนี้ไปเข้าหูมัลโรนีและภรรยาที่กลายเป็นแฟนคลับของ บูเบลย์ ไปแล้วในขณะนั้น ทั้งคู่พยายามช่วย บูเบลย์ สุดความสามารถโดยเฉพาะการโทรไปกดดัน ฟอสเตอร์ แทบทุกวัน ซึ่งนี่ไม่ใช่นักร้องแคนาเดียนคนแรกที่สองสามีภรรยาคู่นี้แนะนำให้กับ ฟอสเตอร์ ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ทั้งคู่เคยแนะนำนักร้องสาวแคนาเดียนลูกครึ่งฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า ซีลีน ดีออน ให้กับยอดโปรดิวเซอร์คนนี้มาแล้ว และในท้ายที่สุดความพยายามของทั้งคู่ก็สำเร็จผลเมื่อ ฟอสเตอร์ ยอมใจอ่อนหันมาเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับ บูเบลย์ ในสตูดิโอชุดแรกของนักร้องหนุ่ม โดยใช้ชื่อว่า “Michael Bublé”
“ใช่ ผมได้ยินเสียงของเขา ผมได้เห็นความมุ่งมั่นของเขา (บูเบลย์) แต่เราต้องดูธุรกิจดนตรีด้วย ว่าตอนนั้นมีสล็อตพอให้เสียบสำหรับนักร้องหนุ่มเทพบุตรเสียงทองอะไรแบบนี้ไหม ซึ่งจะว่าไปตอนนั้น แฮร์รี่ คอนนิก จูเนียร์ ก็เปิดประตูตรงนี้ไว้อ้าซ่า เพราะเขาหนีไปเล่นหนังแทน มันจึงทำให้การนำเสนอแบบนี้มันว่างในตลาดพอดี” ฟอสเตอร์ เล่าย้อนความหลัง
ในปี 2003 ชื่อของนักร้องดาวรุ่งอย่าง ไมเคิล บูเบลย์ กลายเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง หลังความสำเร็จจากอัลบั้มแรกที่สร้างเซอร์ไพรส์คนทั้งอุตสาหกรรมดนตรีด้วยยอดขายกว่าสามล้านก็อปปี้ทั่วโลก ด้วยเสียงร้องแบบเทเนอร์ทรงเสน่ห์บวกกับการเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ที่ดี ทำให้ บูเบลย์ ถูกนำไปเปรียบเทียบกับฮีโร่ของเขาอย่าง ซินาทรา
“เพลงแรกที่เราบันทึกเสียงกันคือ ‘I’ve Got You Under My Skin’ ตอนนั้นเดวิด ทำหน้าตาแบบว่า ‘ไอ้เด็กนี่มันรู้เรื่องอะไรบ้างเนี่ย’ เขารู้ว่าตัวเองต้องทำอย่างไรกับผม เขารู้ทิศทางที่มันควรจะเป็น มันเป็นเพลงที่ดีแต่ตอนนั้นผมไม่อยากจะร้องเพลงนี้เลย หน้าผมตอนอัดเสียงบ่งบอกได้เลยว่า ผมไม่อยากร้อง แต่ท้ายที่สุดมันออกมาเยี่ยมไปเลย สิ่งที่แย่ที่สุดของเพลงนี้คือเสียงของผมมันเหมือนกับ ซินาทรา มากไปหน่อย แต่ทุกวันนี้มันก็ยังเป็นเพลงที่เยี่ยมสำหรับผมอยู่เลย” บูเบลย์ พูดถึงวันแรกที่เข้าห้องบันทึกเสียงกับ ฟอสเตอร์
ทุกคนล้วนแต่ตั้งคำถามว่า อัลบั้มที่มีแต่เพลงสแตนดาร์ดและไม่มีเพลงที่ถูกแต่งใหม่เลย เหตุใดมันถึงได้รับความสนใจมากนัก? แต่ถ้าหากลองกลับไปฟังเสียงร้องของ บูเบลย์ ในเพลง ‘Come Fly With Me’ ทุกคนจะค้นพบคำตอบของคำถามนี้ ทั้งหมดมันคือการนำพาห้วงอารมณ์ที่ ซินาทรา เคยทำไว้นำกลับมาถ่ายทอดในโลกยุคใหม่ การนำส่วนผสมของดนตรีแจ๊สมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ และนำเสนอในแบบป๊อป คัลเจอร์ บวกกับลีลาและภาพลักษณ์ตามแบบฉบับของเหล่า “เอนเตอร์เทนเนอร์” ทำให้ บูเบลย์ กลายเป็นยอดเอนเตอร์เทนเนอร์คนใหม่ของวงการ
“เพลง ‘Come Fly With Me’ มีความน่าสนใจมากกว่าเพลงอื่น ๆ แม้จะมีบทวิจารณ์ในแง่ลบออกมาสองสามชิ้น แต่คนส่วนมากก็ชอบเพลงนี้” ฟอสเตอร์ พูดถึงความพิเศษของเพลงดังกล่าว
แม้ตอนนั้น บูเบลย์ ถูกเรียกในฐานะ “ร่างทรงของ ซินาทรา“ แต่แล้วสองปีให้หลังเขาได้ค้นพบลายเซ็นของตัวเองในฐานะนักร้องอย่างแท้จริงจากอัลบั้มชุดที่สอง It's Time ซึ่งมีเพลงฮิตที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเขาอย่าง ‘Home’ เพลงป๊อปซึ้ง ๆ ผลงานจากปลายปากกาของเอมีฟอสเตอร์ลูกสาวแท้ ๆ ของฟอสเตอร์
ปัจจุบัน บูเบลย์ มีผลงานเป็นสตูดิโออัลบั้มออกมาแล้ว 8 อัลบั้ม และกลายเป็นหนึ่งในนักร้องที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง มีเพลงฮิตมากมาย เช่น ‘Everything’, ‘Haven't Met You Yet’ หรือ ‘Lost’ ครั้งหนึ่ง บูเบลย์ เคยถูกถามว่าท่ามกลางผลงานยอดขายระดับแพลตตินัมเป็นโหล ๆ ที่ได้ เขามีเป้าหมายอื่นที่ตั้งไว้อีกหรือไม่? สิ่งที่ บูเบลย์ ตอบกลับไปในวันนั้นก็คือ “ย้อนกลับไปในวันที่อยู่บนเรือหาปลาของพ่อและฝันที่จะเป็นนักร้อง ทุกวันนี้มันคือความฝันเดียวที่ผมมี และตอนนี้ผมได้รับช่วงเวลาที่ผมต้องการนั้นแล้ว”