พันตรี รักษ ปันยารชุน นำเข้า “โค้ก” ให้ชาวไทยได้ลิ้มรสเป็นครั้งแรก และเปลี่ยนโลโก้เป็นสีเขียว
หลายคนรู้จัก พันตรี รักษ ปันยารชุน ในฐานะพี่ชายของ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีไทย คนที่ 18 ของไทย และสามีของ “จีรวัสส์ ปันยารชุน” บุตรีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม
แต่รู้หรือไม่ว่าชายผู้นี้ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยช่วงรอยต่อก่อนปี 2500 นี้ และยังเป็นนักธุรกิจไฟแรงที่มีส่วนเปิดประเทศไทยเข้าสู่โลกทุนนิยมอย่างเต็มขั้นด้วยการนำเข้าน้ำดำ “โคคา-โคลา” (Coca-Cola) อีกด้วย
“สมัยก่อน คนไทยเขายังไม่ดื่มน้ำอัดลมกันนะคะ อย่างมากก็โซดา” จีรวัสส์ ปันยารชุน หรือ ป้าจีร์ เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” ของสำนักพิมพ์มติชน ที่บันทึกเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตเธอ ซึ่งได้บอกเล่าชีวิตในหมวกนักธุรกิจของ รักษ ปันยารชุน ผู้บุกเบิกนำเข้าน้ำอัดลมมาสู่ประเทศไทย
พันตรี รักษ ปันยารชุน เป็นลูกคนที่แปดของพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) เกิดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2457 โดยหลังจากเลิกจากงานการเมืองเขาได้ร่วมกับ บิล เดวิส (Bill Davis) และ เรย์ เดอร์ริค (Ray Derrick) ศึกษาลู่ทางการตลาดอยู่เกือบสิบปี ก่อนขอเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องดื่มอัดลมยี่ห้อ โคคา-โคล่า หรือ โค้ก ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2491
.
มีการเปิดโรงงานบรรจุขวด “Rak Derrick & Davis Bottling” เพื่อผลิตและจำหน่าย
อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 เมษายน 2492 บริเวณถนนหลานหลวง เป็นอาคารสองชั้นหลังคาทรงจั่ว โดยนิมนต์พระมาเก้ารูปเพื่อทำพิธี แล้วให้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (ภริยาจอมพล ป.) เป็นผู้กดปุ่มเดินเครื่อง
ในพิธีเปิดงานมีการแจกโค้กขนาด 6.5 ออนซ์ ที่ผลิตและจำหน่ายในราคา 1.50 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาค่อนข้างสูง แต่กลับได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นสินค้าที่ทันสมัยและดูเป็นอเมริกันที่สุดในยุคนั้น กระทั่งปัจจุบันที่โค้กยังคงถือเป็นเสัญลักษณ์ของทุนนิยมที่สหรัฐใช้เผยแพร่ไปทั่วโลก
แต่ทำไมโลโก้โค้กที่ขายในประเทศไทยในระยะแรกกลับใช้สีเขียวแทนสีแดง?
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในสมัยนั้นเป็นกีฬาสีระดับโลก ของค่ายสังคมนิยม และประชาธิปไตย ทำให้สีแดงถูกแบนจากค่ายอเมริกัน เพราะถูกมองว่ามีความเป็นคอมมิวนิสต์มากเกินไป โดยเฉพาะการแขวนป้ายโฆษณาโค้กสีแดงไว้ตามรถรางที่วิ่งรอบกรุงเทพฯ
“ตอนตั้งบริษัท คุณพ่อเป็นนายกฯ แล้วหนิคะ และท่านก็มีความกังวลเกี่ยวกับการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลก เลยไม่อยากให้เอาสีแดงที่เป็นสัญลักษณ์ของพวกคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกมาใช้เป็นสัญลักษณ์สินค้า คุณพ่อท่านจึงบอกป้าให้ไปแนะนำคุณรักษ"
"จำได้ว่าตอนนั้นกำลังเล่นกอล์ฟสบายใจ พอดีได้สักพัก คุณพ่อพูดกับป้า ‘ฉันไม่ชอบนะโค้กสีแดง ให้โค้กเป็นสีเขียวนะ’ ไม่นาน คุณรักษเลยเปลี่ยนสีของโลโก้เป็นสีเขียว ซึ่งเป็นสีวันเกิดของคุณพ่อด้วย”
เนื้อหาจากคำสัมภาษณ์ป้าจีร์ ในหนังสือ “อยากลืมกลับจำ” ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประวัติน้ำดำในเมืองไทย ที่ตั้งเป้าจะผลิตให้ได้ถึง 300,000 ลังภายในปีแรก
นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังทำให้เราได้ทราบถึง “สงครามน้ำดำ” ครั้งแรกในเมืองไทย ที่ไม่เพียงแต่เป็นสงครามการค้าของสองค่ายน้ำอัดลม แต่ยังเป็นการปะทะกันของขั้วการเมืองสองขั้วคือ โค้ก เป็นธุรกิจของนักธุรกิจสายทหารที่เกี่ยวข้องกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่วน เป๊ปซี่-โคล่า นำเข้าโดยนักธุรกิจสายตำรวจ ของ เผ่า ศรียานนท์
ซึ่งนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ในปี 2502 รักษ ปันยารชุน ดำเนินธุรกิจท่ามกลางกระแสการเมืองต่อไปไม่ไหว เลยตัดสินใจขายหุ้นโค้กและลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้กับ พจน์ สารสิน ที่เป็นเพื่อนสนิท ที่ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ขึ้นมา
ปัจจุบัน บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มยอดนิยมมากมายทั้ง โคคา-โคลา, โค้ก ซีโร่, โค้ก ไลท์, แฟนต้า, สไปรท์, ชเวปส์, รูทเบียร์ เอ แอนด์ ดับบลิว, น้ำส้มมินิทเมด สแปลช, มินิทเมด พัลพิ และน้ำดื่มน้ำทิพย์ ที่สร้างความสดชื่นให้กับคนไทยต่อเนื่องจนมาถึงทุกวันนี้
ที่มา :
ภูริ ฟูวงศ์เจริญ, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ ณัฐพล ใจจริง ผู้เขียน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ บรรณาธิการ, อยากลืมกลับจำ, สำนักพิมพ์มติชน
http://www.thainamthip.co.th/company/history
http://www.cokethai.com/forum/viewtopic.php?f=70&t=2162
http://info.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=8952
https://bit.ly/2RZ8ZBj