คนเราหากเป็นแฟนในสิ่งไหนมาก ๆ พอโตขึ้นมาแล้วได้เข้าไปทำงานเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ มันคงเป็นความสุขและความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ของชีวิต
สำหรับ เจฟฟรีย์ เจค็อบ เอบรัมส์ (Jeffrey Jacob Abrams) ผู้เป็นแฟนตัวยงของหนังชุด Star Wars มาตั้งแต่เด็ก การก้าวขึ้นมากำกับหนังชุดนี้ ไม่แค่ 1 แต่ถึง 2 เรื่องอย่าง Star Wars: The Force Awakens (2015) และ Star Wars: The Rise of Skywalker (2019) ย่อมเป็นสิ่งที่เขาภาคภูมิใจ เพราะมันไม่ใช่แค่เป็นแฟนแล้วจะได้เข้ามาคลุกวงใน ได้ทำสิ่งที่ตัวเองรักแบบใกล้ชิดขนาดนี้
จุดเริ่มต้นความชอบ Star Wars ของเอบรัมส์เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเขาอายุ 11 ปี วันหนึ่งเขากำลังอ่านนิตยสารฉบับหนึ่งอยู่ แล้วบังเอิญเปิดไปเจอหน้าโปสเตอร์ที่มาพร้อมข้อความว่า “สงครามดาว” ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่ามันคืออะไร รู้เพียงแค่ว่ามันช่างเป็นคำที่ประหลาดเหลือเกิน มันอาจไม่มีความหมายลึกซึ้งสำหรับเขาเท่าไหร่ จนกระทั่งได้ชม Star Wars Episode IV - A New Hope (1977) ตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉายในโรง คำที่ดูแปลกพิกลนี้ก็กลายเป็นส่วนสำคัญของชีวิตเรื่อยมา
เจ.เจ. เอบรัมส์ เป็นลูกชายของ เจอรัลด์ ดับเบิลยู (Gerald W. Abrams) และ แครอล แอนน์ (Carol Ann Abrams) ทั้งคู่ล้วนเป็นโปรดิวเซอร์หนังทีวีและหนังฉายโรง การเติบโตมาในครอบครัวคนทำหนัง เป็นส่วนสำคัญที่ปลูกฝังให้เขาชื่นชอบสื่อบันเทิงและงานศิลปะ หล่อหลอมให้เขาอยากเป็นคนทำหนังบ้าง
เอบรัมส์มักจะพกเอากล้องฟิล์มซูเปอร์ 8 ไปถ่ายทำหนังบ้าน ๆ ขึ้นมาเองกับเพื่อนฝูง ซึ่งในเวลาต่อมา มันจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำหนังเรื่อง Super 8 (2011) นอกจากนั้นการโตมาพร้อม Star Wars ยังทำให้เขาหลงใหลเรื่องราวของเอเลี่ยน และการผจญภัยในอวกาศมากไม่แพ้กัน
[caption id="attachment_17226" align="aligncenter" width="650"]
Super 8[/caption]
เมื่อเอบรัมส์อายุเพียง 15 ปี เขาก็ได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังมืออาชีพเต็มตัว งานแรกของเขาเริ่มจากการทำดนตรีประกอบให้ Nightbeast (1982) หนังไซไฟทุนต่ำว่าด้วยสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวที่สังหารผู้คนในเมืองเล็ก ๆ จากพล็อตเรื่องก็เห็นได้ชัดว่ามีกลิ่นอายในสิ่งที่เขาชอบอยู่มากแค่ไหน ซึ่งในเวลาต่อมา มันจะกลายเป็นหนังคัลต์เกรดบีที่ได้รับความนิยมพอควร
ทุกคนมีเหตุผลที่รักในหนังมหากาพย์ Star Wars สำหรับ เจ.เจ. นอกเหนือจากความสนุกและความน่าตื่นตาตื่นใจ สิ่งที่เขาชอบคือเนื้อหาของหนัง แม้เรื่องราวจะเล่าถึงตัวละครที่ไม่มีตัวตนอยู่จริง มีฉากหลังอยู่ในกาแล็กซี่อันไกลโพ้น และเต็มไปด้วยความขัดแย้ง แต่หนังกลับทำให้เขารู้สึกว่าทุกอย่างมันดูใกล้ชิดและใกล้ตัวเขามาก ๆ จนเกิดเป็นความผูกพันได้โดยง่าย
Star Wars ทรงอิทธิพลต่อชีวิตของเขามากกว่าที่ใครคาดคิด “ทุกสิ่งที่เราทำออกมามันอาจได้รับอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากประสบการณ์การดูหนัง 3 เรื่องนั้นครับ” และเอบรัมส์มองว่าไม่ใช่แค่เขาคนเดียว แต่มันยังทรงอิทธิพลต่อคนรุ่นราวคราวเดียวกับเขามากสุดด้วย เนื่องจากการเล่าเรื่องราวของความดีและความชั่วให้เห็นเป็นรูปธรรม และใช้การเดินทางข้ามอวกาศเพื่อสร้างความสนุกตื่นเต้น หากพิจารณาดี ๆ แล้ว มันไม่ต่างอะไรจากหนังแนวตะวันตกแดนเถื่อน หรือหนังคาวบอยที่บูมมาก ๆ ในยุคของคนรุ่นพ่อแม่เลย
เมื่อหายใจเข้าและออกเป็นหนัง พอถึงช่วงเวลาที่ต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เขาจึงเลือกเรียนด้านนี้เต็มตัวที่มหาวิทยาลัยซาราห์ ลอว์เรนซ์ (Sarah Lawrence College) โดยพ่อของเขาเป็นคนแนะนำหลักการเรียนหนังที่สำคัญมาก ๆ ว่า “เรียนเพื่อรู้ว่าจะทำหนังเกี่ยวกับอะไร ประเด็นอะไร สำคัญกว่าเรียนเพื่อรู้ว่าจะทำหนังยังไง” ซึ่งเอบรัมส์ผู้ลูกถือว่านั่นก็คือคำแนะนำที่ดีที่สุดที่เขาเคยได้รับ และเมื่อได้เข้ามาเรียนแล้วเขาก็ยึดมั่นอย่างเต็มที่
การเป็นนักเรียนภาพยนตร์เปิดโลกให้กับเขามากกว่าแต่ก่อน เขาได้คลุกคลีกับเพื่อนที่ชอบอะไรเหมือนกัน ได้รู้จักคนเก่ง ๆ ได้เก็บเกี่ยวจากผู้มีประสบการณ์ และได้ฝึกฝีมือด้วยการลงมือทำหนังจริง หากมีเวลาว่าง กิจวัตรที่เขาจะทำเสมอคือนั่งเขียนบท ตลอดหลายปีในมหาวิทยาลัยเขาเขียนบทหนังไว้เยอะมาก แม้เขาจะชอบกัดตัวเองว่าบทเหล่านั้นมันจะห่วยแตกก็ตาม แต่เขาไม่เคยหยุดเขียน และถึงจะห่วย แต่บทเหล่านั้นช่วยขัดเกลาความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองให้แหลมคม ซึ่งจะสำคัญกับเขามากนอกรั้วมหาวิทยาลัย
หลังเรียนจบพร้อมความสามารถในการเขียนบทที่น่าสนใจ เอบรัมส์จึงได้งานเขียนบทหนังหลายเรื่อง แม้ในช่วงแรก ๆ เขาอาจยังไม่ได้จับหนังใหญ่ ๆ หรือถ้าได้ทำเรื่องใหญ่ ผลที่ออกมาก็อาจไม่ใช่หนังที่ดีนัก (เช่น Armageddon (1998) ของผู้กำกับ ไมเคิล เบย์ (Michael Bay) ที่ได้เข้าชิงรางวัลราซซี่สาขาบทหนังยอดแย่)
แต่ในเวลาเพียงไม่กี่ปี เขาก็ปั้นงานที่ได้รับคำชื่นชมจากทั่วทุกสารทิศจนได้กับ Felicity (1999-2002) ซีรีส์ดรามาในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งจับจ้องการใช้ชีวิตของตัวละครเอก “เฟลิซิตี พอร์เตอร์” นอกจากเขาได้รับการจับตามองในฐานะผู้สร้าง ผู้กำกับ และผู้เขียนบท มันยังเป็นผลงานแจ้งเกิดของนักแสดงสาว เคอรี รัสเซลล์ (Keri Russell) ผู้จะกลายมาเป็นนักแสดงคนโปรด และได้มาแจมในหนังของเอบรัมส์อยู่บ่อยครั้ง (ล่าสุดก็คือ Star Wars: The Rise of Skywalker)
[caption id="attachment_17218" align="aligncenter" width="739"]
Felicity[/caption]
ถัดจากนั้นไม่นาน เขายังตัดสินใจตั้งบริษัท Bad Robot ขึ้นในปี 2001 เพื่อรับงานสารพัดอย่าง โดยช่วงแรกจะเน้นสร้างซีรีส์สำหรับออกฉายทางโทรทัศน์เป็นหลัก และใต้ชายคาบริษัทนี้ เอบรัมส์ได้ปล่อยของสุดจัดจ้านหลายเรื่อง เขาปั้นซีรีส์สายลับหญิง Alias (2001-2006) ขึ้นมาแล้วได้รับคำชมอย่างสูง และแจ้งเกิด เจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ (Jennifer Garner) จนโด่งดังเช่นเดียวกับรัสเซลล์ เขายังอยู่เบื้องหลังซีรีส์คนติดเกาะสุดลึกลับอย่าง Lost (2004-2010) ที่สร้างปรากฏการณ์สุดพิศวงและชวนติดตามตลอด 6 ปีที่ออกอากาศ
ความสำเร็จจาก Alias และ Lost ทำให้เขาได้ขยับขยายกลายเป็นผู้กำกับหนังใหญ่อย่างเต็มตัวเสียที โดยได้รับมอบหมายให้คุมบังเหียนหนังแอ็คชันฟอร์มยักษ์ Mission: Impossible: III (2006) แม้หนังอาจไม่ประสบความสำเร็จระดับเปรี้ยงปร้าง แต่ก็มากพอจะต่ออายุให้แฟรนไชส์ดำรงมาจนถึงทุกวันนี้ โดยที่ในภาคต่อ ๆ มา เขาและ Bad Robot ก็ยังควบคุมงานสร้างอยู่ไม่ห่างไปไหน
[caption id="attachment_17224" align="aligncenter" width="1506"]
J.J. Abrams in Star Trek Into Darkness (2013)[/caption]
ถัดจากภารกิจอันเป็นไปไม่ได้ เขายังรับงานปลุกชีพแฟรนไชส์ Star Trek (1966-ปัจจุบัน) ที่ตอนนั้นแทบจะเรียกได้ว่าตายไปแล้วให้กลับมาโด่งดังได้ ในขณะที่ผู้คนมองไม่เห็นอนาคต เขากลับนำคนดูเดินทางไปยังที่ที่ไม่มีใครเคยสำรวจด้วย Star Trek (2009) เวอร์ชันรีบูต แล้วประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งเสียงวิจารณ์และการทำเงิน จุดประกายให้ Star Trek เรื่องใหม่ ๆ ได้ออกอากาศทั้งจอเงินและจอแก้วจนถึงตอนนี้
ประเด็นที่หลาย ๆ คนพิศวงมาก ๆ คือ เขาเป็นแฟน Star Wars ตัวยง แต่ทำไมถึงทำ Star Trek ได้ดีนัก? เอบรัมส์บอกว่า เขาไม่มีปัญหาในการทำหนังแฟรนไชส์คู่ปรับรายสำคัญของหนังในดวงใจเลย จริงอยู่ว่าเขาไม่ค่อยเข้าถึงการถกเถียงเรื่องปรัชญาในซีรีส์เท่าไหร่ พอได้มากำกับเอง เขาเลยลดการถกเถียงในสิ่งที่นามธรรมมาก ๆ แล้วใส่ความทันสมัย เติมความโฉบเฉี่ยว และความลุ้นระทึกตื่นเต้นเข้าไป จนผู้คนเข้าถึง Star Trek ได้ง่ายขึ้น
วิธีการดังกล่าวอาจสุ่มเสี่ยงว่าจะทำลายแฟรนไชส์นี้อย่างย่อยยับ อย่างไรก็ตาม การรีแบรนด์ของเขาได้รับคำชมในระดับดีมาก คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในแฟรนไชส์นี้มากขึ้น และตามกลับไปย้อนดู Star Trek ทั้งหนังและซีรีส์ที่ผ่าน ๆ มา แม้กระทั่งเหล่า “เทร็คกี้” (แฟนคลับ) เดนตายที่ชื่นชอบเสน่ห์แบบดั้งเดิมของซีรีส์ยังต้องซูฮก
ผลจากการปลุกชีพแฟรนไชส์ที่ควรจะตายไปแล้วหลายเรื่องให้กลับมาเปรี้ยงปร้างได้ ทำให้ เจ.เจ. เอบรัมส์ กลายเป็นคนเนื้อหอมที่สุดในฮอลลีวูด สตูดิโอหลายแห่งอยากได้เขามาร่วมงานด้วย เพราะมั่นใจว่า ฝีมือระดับเขาน่าจะทำให้ขุมทรัพย์ในคลังกลับมามีค่าและผลิดอกออกผลอีกครั้ง
[caption id="attachment_17222" align="aligncenter" width="1012"]
J.J. Abrams and Daisy Ridley in Star Wars Episode VII - The Force Awakens (2015)[/caption]
แต่ข้อเสนอที่เย้ายวนใจเขามากที่สุด กลับเป็นข้อเสนอที่ไม่คาดคิดที่สุด มันมาจากทางค่าย ดิสนีย์ เจ้าของสิทธิ์ใน Star Wars ต่อจากพระบิดาอย่าง จอร์จ ลูคัส (George Lucas) โดยดิสนีย์ตั้งใจจะปลุกมหากาพย์สงครามดาวขึ้นมาอีกครั้งเพื่อทำหนังไตรภาคใหม่ตอนที่ 7-9 ซึ่งลูคัสเคยวาดฝันว่าอยากทำ แต่ไม่มีโอกาสทำเสียที
แต่ถามว่าเอบรัมส์อยากกำกับหนังชุดนี้ไหม แน่นอนว่าไม่เลย เขาให้สัมภาษณ์อยู่บ่อย ๆ ว่าอยากเป็นผู้ชม Star Wars ภาคใหม่ ไม่ว่าจะทำออกมาเป็นหนังฉายโรง ซีรีส์ทีวี ละครวิทยุ อนิเมชัน เกม หรืออะไรก็ตาม มากกว่าการลงมือทำมันด้วยตัวเอง เขารู้ว่ามันจะเป็นภาระแสนหนักอึ้ง มาพร้อมความกดดันมหาศาล และกลัวว่าจะทำมันออกมาไม่ดีพอ
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั่งคิดนอนคิดมานาน สุดท้ายเขาก็รับงานกำกับหนังภาคที่ 7 ชื่อตอน The Force Awakens จนได้ โดย จอร์จ ลูคัส เองยังกล่าวว่า เอบรัมส์นี่แหละเหมาะสมกับการกำกับหนังภาคใหม่นี้ที่สุด เขาเชื่อว่าได้ฝากฝังผลงานทั้งชีวิตของเขาเอาไว้ในมือถูกคนแล้ว (ทว่าหลังจากหนังออกฉาย ลูคัสได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ไตรภาคใหม่อยู่พอสมควรว่า เอบรัมส์และดิสนีย์ไม่ได้ทำในสิ่งที่เขาปรารถนาไว้เลย)
The Force Awakens เปิดตัวฉายช่วงปลายปี 2015 ทุกคนคาดอยู่แล้วว่ามันจะต้องเป็นหนังฮิต และมันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ แถมไปไกลยิ่งกว่าด้วย เมื่อหนังทำลายสถิติทุกอย่างบนตารางหนังทำเงิน ขึ้นแท่นหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลในอเมริกาและทั่วโลก ไม่เพียงแค่นั้นยังกวาดเสียงวิจารณ์ชื่นชมมหาศาล
เอบรัมส์คงจิตวิญญาณของความเป็นต้นตำรับ และทำให้หนังมาพร้อมอารมณ์ถวิลหาอดีตที่แฟน ๆ รอคอยมานาน ผลลัพธ์ที่ออกมาถือเป็นการยกภูเขาลูกใหญ่ออกจากอก มันคือการปลดล็อคภารกิจครั้งสำคัญในชีวิต พร้อมประกาศส่งมอบหนังภาคที่ 8 และ 9 ให้กับ ไรอัน จอห์นสัน (Rian Johnson) และ โคลิน เทรวอร์โรว์ (Colin Trevorrow) ดูแลต่อ
แต่ด้วยปัญหาหลายประการ ทั้งการถอนตัวของเทรวอร์โรว์ และฟีดแบ็คจากแฟน ๆ ที่ดันไม่ชอบความหัวขบถของ Star Wars: The Last Jedi (2017) ทำให้สุดท้าย เอบรัมส์ที่อยู่ใกล้ชิดกับงานสร้างไตรภาคนี้มากกว่าใครต้องกลับมาปิดท้ายมหากาพย์สกายวอล์คเกอร์ด้วยตนเอง ภารกิจครั้งนี้ดูจะหนักหนาสาหัสกว่าการทำหนังภาค 7 เสียอีก เพราะมันคือการสมานแผลในใจแฟน ๆ ที่รู้สึกเหมือนถูกหักหลัง และถูกทำลายความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวมานาน ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามคลายปมทุกอย่าง เพื่อส่งท้ายตัวละครที่คนดูรักและผูกพันให้สวยงามที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ถึงจะไปได้สวยกับ The Force Awakens ที่ปลุกเอามนต์ขลังสุดคลาสสิคกลับมา แต่น่าเสียดาย The Rise of Skywalker ไม่ได้รับเสียงวิจารณ์ชื่นชมมากเท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่หนังเองมีองค์ประกอบทุกอย่างเกื้อหนุน และให้อารมณ์ถวิลหาอดีตไม่แพ้เรื่องก่อน โดยในสัปดาห์แรกของการเข้าฉาย คะแนนจากนักวิจารณ์ที่เว็บไซต์ Rotten Tomatoes ประเมินออกมาอยู่ที่ 57% เป็น Star Wars เวอร์ชันคนแสดงภาคที่ได้ฟีดแบ็คด้านลบมากสุด เป็นรองเพียง Episode I - The Phantom Manace (1999)
[caption id="attachment_17220" align="aligncenter" width="1280"]
J.J. Abrams and Daisy Ridley in Star Wars Episode IX - The Rise of Skywalker (2019)[/caption]
ผลลัพธ์ที่ออกมาน่าผิดหวัง เมื่อพิจารณาว่านี่คือภาคส่งท้ายเรื่องราวของตระกูลสกายวอล์คเกอร์ แถมการที่เอบรัมส์ได้มะเขือเน่าเป็นครั้งแรกในฐานะผู้กำกับ และได้จากแฟรนไชส์ที่เขารักมาตั้งแต่เด็ก มันย่อมไม่ใช่เป้าหมายที่เขาคาดหวังไว้ แม้ตอนนี้เขาจะไม่ได้ให้สัมภาษณ์บอกใครตรง ๆ ว่าเขาคิดอย่างไร แต่หากลึก ๆ ในใจเขาจะรู้สึกผิดหวังหรือชอกช้ำก็คงไม่เหนือความคาดหมาย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตลอดชีวิตที่ผ่านมา Star Wars มอบหลายสิ่งหลายอย่างที่ล้ำค่าแก่เขา ทั้งเพื่อนในชีวิตจริง เพื่อนร่วมงาน หน้าที่การงาน เงินทอง และอีกมากมายก่ายกอง ซึ่งมากเกินกว่าที่คนคนหนึ่งจะทำได้และได้ทำในชีวิตนี้แล้ว มันอาจเป็นความทรงจำอันขมขื่น แต่มันไม่มีทางทำลายความสุขที่เขาเคยได้รับมาตลอดตั้งแต่ยังเด็กลงได้
ไม่ว่าจะรักหรือเกลียด The Rise of Skywalker ไม่ว่ามันจะเป็นหนังที่แย่ที่สุดของแฟรนไชส์หรือไม่ และไม่ว่าหลังจากนี้ มหากาพย์สงครามจะเดินหน้าไปในทิศทางไหนต่อ ชื่อของ เจ.เจ. เอบรัมส์ ก็จะได้รับการจดจำเช่นเดียวกับ จอร์จ ลูคัส, เออร์วิน เคิร์ชเนอร์ (Irvin Kershner), ริชาร์ด มาควอนด์ (Richard Marquand) และ ไรอัน จอห์นสัน ในฐานะผู้กำกับหนังสงครามดาว ผู้ทุ่มเทที่จะเนรมิตจินตนาการสุดล้ำเพื่อสร้างความสุขให้กับผู้คนบนโลก
นักเขียนรับเชิญ: ปารณพัฒน์ แอนุ้ย
ที่มา:
https://www.starwars.com/news/director-j-j-abrams-and-his-lifelong-appreciation-of-star-wars
http://marquee.blogs.cnn.com/2013/01/26/its-official-abrams-to-direct-new-star-wars-film/?hpt=hp_c3
https://www.youtube.com/watch?v=bN-On2CusDM&t=5m48s&ab_channel=BAFTAGuru
https://www.starwars.com/news/director-j-j-abrams-and-his-lifelong-appreciation-of-star-wars
https://www.rottentomatoes.com/search/?search=Star%20wars
https://www.imdb.com/name/nm0009190/