27 ธ.ค. 2562 | 21:30 น.
ณ ห้องประชุมบอร์ดบริหารของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ออฟฟิศในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไม่ไกลนักจากพระราชวังบัคกิ้งแฮม มันเป็นสถานที่ที่ซีอีโอของทีมใช้ประชุมและตัดสินใจวาระต่าง ๆ ของสโมสร หากมองเข้าไปในห้องดังกล่าว คุณจะพบกระดานไม้โอ๊กแผ่นใหญ่ที่เต็มไปด้วยตัวอักษรสีทอง พร้อมกับข้อความที่แสดงจำนวนแชมป์และความยอดเยี่ยมของสโมสรแห่งนี้
หากย้อนกลับไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ห้องแห่งนี้คงอบอวลไปด้วยความสุขจากชัยชนะ แต่ปัจจุบันมันหลงเหลือเพียงความล้มเหลว มิหนำซ้ำบางวันมันก็มักจะเป็นสถานที่ให้แฟนบอลได้มาระบายความโกรธ (ประท้วง) กลิ่นอายเดิม ๆ ที่สาวกแมนคูเนี่ยนเคยสัมผัสได้เปลี่ยนไปนับตั้งแต่การก้าวเข้ามาของชายที่ชื่อ เอ็ด วูดเวิร์ด (Ed Woodward)
เอ็ด วูดเวิร์ด ชื่อนี้อาจจะไม่คุ้นหูคุ้นตาใครหลายคน แต่สำหรับแฟนฟุตบอล โดยเฉพาะยอดทีมจากพรีเมียร์ลีกอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชื่อนี้น่าจะสร้างความรู้สึกหงุดหงิดและตะขิดตะขวงในใจของพวกเขาอย่างมาก
แล้วเขาเป็นใคร? เอ็ด วูดเวิร์ด คือรองประธานฝ่ายบริหารและผู้อำนวยการของทีมปีศาจแดง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ซีอีโอ” อำนาจการตัดสินใจของชายคนนี้ มีไม่มากเท่าไหร่นัก แค่รองจากตระกูลเกลเซอร์เจ้าของทีมชาวอเมริกันเท่านั้นเอง... เรียกได้ว่าเขาคือคนที่ตระกูลเกลเซอร์ไว้วางใจให้เข้ามาดูแลทีมมูลค่ากว่าแสนล้านบาทของพวกเขา
วูดเวิร์ดไม่ใช่อดีตนักฟุตบอลหรือนักบริหารทีมฟุตบอล เส้นทางของเขาในรั้วโอลด์ แทรฟฟอร์ด ต่างกับเซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ยอดบรมกุนซือราวฟ้ากับเหว เซอร์อเล็กซ์อาจจะสร้างมรดกของตัวเองมาจากลูกฟุตบอล แต่สำหรับวูดเวิร์ด ทั้งหมดเริ่มมาจากตัวเลขและเงิน
วูดเวิร์ดเกิดและโตที่เชล์มสฟอร์ด เมืองทางตะวันออกของอังกฤษ ก่อนหน้านี้ครอบครัวของเขาเป็นคนเมืองเบลเปอร์ ในย่านดาร์บี้เชียร์ ก่อนที่ต่อมาพ่อของเขาจะพาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เชล์มสฟอร์ด หลังตัวเองได้งานที่โรงงานฟอร์ด วูดเวิร์ดโตมาพร้อมกับคติประจำใจที่คำนึงถึงการทำงานหนักเสมอ เขาได้รับทุนเรียนต่อที่เบรนท์วูดในช่วงไฮสคูล เพื่อนสนิทของวูดเวิร์ดที่นั่นให้สัมภาษณ์ถึงชีวิตในวัยเด็กของซีอีโอทีมปีศาจแดงคนนี้ว่า “เขา (วูดเวิร์ด) เป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่ยอดเยี่ยม เขาเป็นคนที่รักกีฬาแทบจะทุกชนิดทั้งรักบี้หรือฟุตบอล เขาเป็นคนมีไหวพริบเฉียบแหลม และมักจะทำงานหนักมากแต่มีความยืดหยุ่นสูง เขาเป็นหนึ่งในคนที่ชอบการแข่งขัน นั่นแหละคือตัวเขา”
ในปี 1993 หลังวูดเวิร์ดจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยบริสตอล ในสาขาฟิสิกส์ เขาได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านภาษีให้กับหนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส ก่อนจะมาได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีในปี 1996 ชีวิตของวูดเวิร์ดเข้ามาเกี่ยวกับตัวเลขมากขึ้น และสุดท้ายมาลงเอยกับบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง เจ.พี. มอร์แกน ซึ่งที่นั่น “ตัวเลข” ก็ได้พาเขาไปเจอกับ “ฟุตบอล”
หลังทำงานเป็นนักลงทุนรวมถึงที่ปรึกษาทางการเงินระดับซีเนียร์อยู่หลายปี ท้ายที่สุดโชคชะตาฟ้าลิขิตให้วูดเวิร์ดได้พบกับตระกูลเกลเซอร์ เจ้าของทีมเอ็นเอฟแอล อย่างเทมป้าเบย์ บัคคาเนียร์ส นำโดย มัลคอล์ม เกลเซอร์ นักธุรกิจชื่อดังผู้ล่วงลับ และลูกอีกสองคนคือ โจเอล และ อัฟราม ย้อนกลับไปตอนนั้นตระกูลเกลเซอร์ต้องการจะลงทุนซื้อทีมฟุตบอลในยุโรป ซึ่งวูดเวิร์ดในฐานะที่ปรึกษาด้านการลงทุนก็ได้ชี้โพรงให้กระรอกโดยให้คำแนะนำสามพ่อลูกเกลเซอร์ว่า “ทำไมคุณไม่ซื้อทีมอย่างยูไนเต็ดล่ะ”
จากเสียงลมเป่าหูของวูดเวิร์ด กลายเป็นแรงผลักดันให้เกลเซอร์ยอมแคะกระปุกเงินตัวเอง บวกกับไปกู้เงินธนาคาร รวมจำนวนเงินกว่า 790 ล้านปอนด์ เพื่อมาซื้อยูไนเด็ดในปี 2005 ก่อนที่ตระกูลเกลเซอร์จะเข้ามารวบกิจการทั้งหมดของทีม ภายใต้ทีมงานบริหารใหม่ของพวกเขา นำโดยวูดเวิร์ดนั่นเอง
วูดเวิร์ดเข้ามาสู่สโมสรอย่างเป็นทางการในปี 2005 ก่อนจะมีส่วนสำคัญในการแก้ไขและจัดการกับโครงสร้างด้านธุรกิจของสโมสร อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินอีกด้วย ต่อมาในปี 2007 วูดเวิร์ดได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ในฐานะ “ผู้หาตังค์” เข้าสโมสร เขาหันมาดูแลด้านการค้า และสื่อต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาแผนการตลาดของสโมสร โดยเฉพาะการหาสปอนเซอร์เข้าทีม
[caption id="attachment_17656" align="aligncenter" width="1242"] วูดเวิร์ดและอัฟราม เกลเซอร์[/caption]ในวัย 34 ปี วูดเวิร์ดนำพาเศรษฐกิจของทีมโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผู้สนับสนุนทั้งเบอร์เล็กเบอร์ใหญ่ต่างพากันตบเท้าเข้ามาเติมเงินให้กับยอดทีมแห่งเมืองแมนเชสเตอร์อย่างไม่ขาดสาย มีการบันทึกว่าในปี 2005 รายได้จากการตลาดของสโมสรมีมูลค่าเพียง 48.7 ล้านปอนด์ แต่ในปี 2012 หลังวูดเวิร์ดเข้ามาดูแลส่วนนี้ ทีมได้รับรายได้เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็น 117.6 ล้านปอนด์ แน่นอนนี่คือหนึ่งในทีมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ที่เคยครองแชมป์ทีมกีฬาที่มีมูลค่าสูงสุดหลายสมัย ไม่แปลกที่จะมีลูกค้าเข้ามาสนับสนุนมากมาย
แต่นอกจากแบรนดิ้งอันแข็งแกร่งที่ยูไนเต็ดมี ตัววูดเวิร์ดและมือขวาของเขาอย่าง ริชาร์ด อาร์โนลด์ (ผู้อำนวยการด้านการจัดการ) ก็สมควรได้รับเครดิตในเรื่องนี้เช่นกัน เพราะถ้าหากไร้กลยุทธ์ในการหาเงินของพวกเขา เราคงไม่ได้เห็นดีลสถิติโลกที่เชฟโรเล็ตหรืออาดิดาสบ้าเลือดยอมจ่ายเงินให้ยูไนเต็ดรวมกันคิดเป็นเงินไทยแล้วก็ตกปีละ 5 พันล้านบาทแน่นอน
จะเห็นได้ว่างานของวูดเวิร์ดในถิ่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด หาใช่เรื่องที่เกี่ยวกับฟุตบอลไม่ ปัญหาภายในทีมตอนนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เขาไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด เวย์น รูนีย์ จะงอแงใส่เซอร์อเล็กซ์ หรือ คริสเตียโน โรนัลโด้ อยากย้ายทีม เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่แคร์ริงตัน (สนามซ้อมของยูไนเต็ด) แทบจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเขาเลย แต่แล้วในปี 2012 เซอร์อเล็กซ์ตัดสินใจปลดเกษียณตัวเองจากวงการฟุตบอล หลังจากนั้นคุณภาพของทีมปีศาจแดงก็ตกต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่วูดเวิร์ดได้ขึ้นมาเป็นซีอีโอของทีมแทน เดวิด กิลล์ ที่ตัดสินใจลงจากตำแหน่งพร้อมกับเซอร์อเล็กซ์ ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทำให้วูดเวิร์ดต้องเข้ามาบริหารงานของสโมสรในภาพรวมมากขึ้น มันเป็นช่วงเวลาที่เขาไม่สามารถละเลยผลงานที่เกิดขึ้นในสนามเหมือนในอดีตได้อีกต่อไปแล้ว
ในฤดูกาล 2013-2014 ฝีเท้าของนักเตะหลายคนที่เคยเป็นดั่งสมบัติจากยุคเซอร์อเล็กซ์ เริ่มค่อย ๆ โรยราลง ทำให้ทีมต้องมองหานักเตะใหม่เข้ามาเสริมทัพในตลาดซื้อขายช่วงหน้าร้อน และเดือนมกราคม นั่นคือช่วงเวลาที่วูดเวิร์ดและทีมงานของเขาจะต้องแสดงฝีมือให้เห็นถึงทักษะในการไปตบตีแย่งชิงนักเตะกับทีมอื่น
ปีนั้น เดวิด มอยส์ ในฐานะผู้จัดการทีม ได้ทำการชี้นิ้วจิ้มชื่อของนักเตะที่เขาต้องการ รายชื่อดังกล่าวมีทั้งกองกลางอย่าง ธิอาโก้ อัลคันทารา, โทนี โครส, เชส ฟาเบรกาส, อันเดร์ เอร์เรรา รวมถึงยอดปีกอย่าง แกเร็ธ เบล ทั้งหมดคือชื่อที่วูดเวิร์ดต้องออกไปล่าลายเซ็นของพวกเขากลับมา แม้การเจรจาในตลาดนักเตะจะเป็นเรื่องยากเสมอ แต่สำหรับทีมอย่างยูไนเต็ด อย่างน้อยต้องมีสักคนที่คุณจะได้จากรายชื่อนี้ แต่เชื่อหรือไม่ว่าในหน้าร้อนนั้น วูดเวิร์ดไม่สามารถจับใครมาเซ็นสัญญาได้เลย นักเตะคนเดียวที่ยูไนเต็ดได้จากตลาดนั้นคืออดีตเด็กในคาถาของมอยส์ อย่าง มารูยาน เฟลไลนี ที่โดนเอฟเวอร์ตันโก่งค่าตัวขึ้นไปสูงกว่า 29 ล้านปอนด์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พวกเขามีอ็อปชั่นซื้อขาดที่ถูกกว่านั้นมาก
“ผมไม่รู้ว่าจริง ๆ คุณเป็นอัจฉริยะหรือเป็นพวกโง่เขลากันแน่” นี่คือสิ่งที่มอยส์พูดกับวูดเวิร์ด หลังไม่สบอารมณ์ที่ทีมพลาดนักเตะทุกคนที่เขาต้องการ แม้จะได้ ฆวน มาต้า แก้เขินมาจากเชลซีแบบสุดแพง (37 ล้านปอนด์) แต่ย้อนกลับไปตอนนั้นมีแฟนบอลจำนวนมากไม่พอใจการบริหารงานของวูดเวิร์ด หลายคนมองว่าเขามือไม่ถึงพอที่จะทำอะไรแบบนี้ บวกกับผลงานในสนามภายใต้การคุมทีมของมอยส์ที่ทำทีมหมดคราบแชมป์เก่า จนสุดท้ายกุนซือชาวสกอตต้องกระเด็นตกจากเก้าอี้ไป แน่นอนในสายตาแฟนบอล วูดเวิร์ดกลายเป็นแพะของสถานการณ์นี้ หลายคนถึงขั้นด่าเขาว่า “เอ็ดเข้”
แต่ในตลาดปีต่อมา วูดเวิร์ดลบคำครหาจากชายที่เคยโดนก่นด่าว่า “ไม่เป็นงาน” เปลี่ยนสภาพมาเป็น “ลอร์ดเอ็ด” ของแฟน ๆ ในทันทีหลังโชว์ความรวย เริ่มต้นด้วยการดึงหลุยส์ ฟาน กัล ที่เพิ่งจะพาฮอลแลนด์ได้ที่สามในฟุตบอลโลกที่บราซิล เข้ามาคุมทีม ก่อนจะอนุมัติรายชื่อที่กุนซือชาวดัตช์ต้องการ (เกือบทั้งหมด) เขาเซ็นนักเตะระดับบิ๊กเนมเข้าสู่ทีมหลายคน เช่น ราดาเมล ฟัลเกา (ยืมตัว), ลุค ชอว์, มาร์กอส โรโฆ, อังเคล ดิ มาเรีย ฯลฯ พร้อมกับความหวังที่จะพายูไนเต็ดกลับมาเป็นแชมป์อีกครั้ง เบ็ดเสร็จ วูดเวิร์ดถลุงเงินไปมหาศาลกว่า 170 ล้านปอนด์
แม้จะลงทุนซื้อนักเตะมาก แต่ผลงานของทีมก็ยังคงย่ำแย่ ภายใต้การคุมของฟาน กัล แม้จะได้แชมป์เอฟเอ คัพ มาปลอบใจ แต่นั่นก็ไม่พอให้ยื้อชีวิตในถิ่นปีศาจแดงของกุนซือฉายาจอมจด ท้ายที่สุดเขาก็ต้องถูกแทนที่โดยกุนซือ “The Special One” อย่าง โชเซ่ มูรินโญ่
[caption id="attachment_17652" align="aligncenter" width="1084"] วูดเวิร์ดกับมูรินโญ่[/caption]วูดเวิร์ดตัดสินใจลงทุนมูลค่าสูงอีกครั้งในยุคของมูรินโญ่ ตลอดสามฤดูกาล ห้าตลาดซื้อขายนักเตะ ซีอีโอหนุ่มหยอดเงินให้กับมูรินโญ่ตลาดละเกือบ 200 ล้านปอนด์ ทำให้ทีมได้นักเตะระดับท็อปอย่าง ปอล ป็อกบา, โรเมลู ลูกากู, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช รวมถึง อเล็กซิส ซานเชส เข้ามาสู่ทีมยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของมูรินโญ่ ทำผลงานได้ดีที่สุดคือการจบอันดับสองของลีก และได้แชมป์ยูโรป้าลีก พร้อมกับการออกสตาร์ทฤดูกาล 2018-2019 ด้วยฟอร์มที่ย่ำแย่ จนท้ายที่สุดกุนซือชาวโปรตุกีสก็ต้องโดนยกเลิกสัญญาไป
ท้ายที่สุด วูดเวิร์ดรับรู้ได้ว่าการใช้เงินแก้ปัญหาอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ใช่เสมอไป สุดท้ายเขาจึงไปดึง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา อดีตตำนานของทีมเข้ามาคุมทีม แม้ผลงานในช่วงแรกจะออกมาดูหรูหรา แต่ทีมปีศาจแดงภายใต้การคุมทีมของโซลชาก็โชว์ฟอร์มแบบสามวันดีสี่วันไข้ เก่งกับทีมใหญ่ กากกับทีมเล็ก พร้อมกับคำถามที่ว่า “โซลชาฝีมือไม่ถึงขั้น” ซึ่งหลายคนก็มองว่าเหตุผลที่โซลชายังได้คุมทีม เพราะเขาโดนจูงจมูกง่ายกว่ากุนซือคนอื่นที่ผ่านมา
จริงอยู่ที่วูดเวิร์ดเป็นผู้สนับสนุนที่ดีให้กับผู้จัดการทีม เราได้เห็นการแสดงถึงความป๋าของเขาหลายครั้งในการทุ่มซื้อนักเตะตามใบสั่งต่าง ๆ แม้ฟอร์มการเล่นในสนามจะมาจากการดูแลของผู้จัดการทีม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัววูดเวิร์ดไม่เกี่ยวข้องกับความล้มเหลวที่ผ่านมาของทีม
กลับมาที่เบื้องหลังการเจรจาซื้อนักเตะ หนึ่งในทีมงานคนสำคัญของวูดเวิร์ด คือ แมตต์ จัดด์ ชายผู้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเจรจา อดีตศิษย์เก่ามหา’ลัยบริสตอลที่เดียวกับวู้ดเวิร์ด แถมยังเคยเป็นนักการเงินเหมือนกันอีกด้วย จัดด์คือคนที่ต้องเข้าไปเจรจาซื้อนักเตะจากทุกความเป็นไปได้ ทั้งการสะกิดเอเยนต์ หรือเข้าไปคุยกับสโมสรต้นสังกัดของนักเตะ ซึ่งทุกครั้งเขาก็มักจะเสียเหลี่ยมหรือไม่ค่อยจะรู้ทันสโมสรอื่นเสมอ กลับกลายเป็นว่าเวลาที่เราได้เห็นยูไนเต็ดลงสู่ตลาดเมื่อไหร่ สุดท้ายพวกเขาก็มักจะโดน “โก่งค่าตัว” เกินจริงทุกครั้งไป
“ผมไม่ได้นักเตะที่ตัวเองต้องการตลอดเวลาหรอกนะ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับวูดเวิร์ดและจัดด์” นี่คือสิ่งที่ ฟาน กัล เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเบื้องหลังการซื้อขายนักเตะของทีม หลักฐานชิ้นสำคัญของเรื่องนี้คือในฤดูกาล 2018-2019 มูรินโญ่ต้องการเสริมแนวรับด้วยการซื้อ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ หรือ โทบี้ อัลเดอร์ไวเรล เข้ามาสู่ทีม ซึ่งสุดท้าย วูดเวิร์ดและจัดด์ก็ไม่ได้จัดการเรื่องนี้ให้เรียบร้อย เขาให้ความเห็นกับกุนซือชาวโปรตุกีสว่า “คนแรกแพงเกิน ส่วนอีกคนแพงไปสำหรับคนที่ใกล้หมดสัญญา”
[caption id="attachment_17654" align="aligncenter" width="810"] แมตต์ จัดด์ (ด้านซ้าย)[/caption]สุดท้ายในปีต่อมาพวกเขาต้องจ่ายค่าตัว แฮร์รี่ แม็คไกวร์ สูงถึง 80 ล้านปอนด์ ทั้ง ๆ ที่เลสเตอร์ได้มาแค่ 17 ล้านปอนด์ อีกทั้งการให้ค่าเหนื่อย อเล็กซิส ซานเชส เกินเบอร์ระดับสัปดาห์ละ 560,000 ปอนด์ เมื่อเทียบกับฟอร์มการเล่น ก็เป็นสิ่งที่แฟนบอลต่างรับไม่ได้ หรืออย่างกรณีการหยุดเจรจาซื้อตัว ทาคุมิ มินามิโนะ แนวรุกเลือดซามูไรตัวใหม่ของลิเวอร์พูล คือตัวอย่างความไม่ทันเกมทีมอื่นของวูดเวิร์ด ซึ่งกรณีนี้เขาและทีมงานมารู้ทีหลังว่านักเตะมีค่าฉีกสัญญาแค่ 7.25 ล้านปอนด์ หลังจากที่ดีลเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ทั้งหมดคือตัวอย่างที่แสดงถึงความไม่เข้าใจเหลี่ยมฟุตบอลของวูดเวิร์ดและจัดด์ โดยเจ้าตัวออกมาตอบกลับพวกที่วิจารณ์ว่า
“เล่ากันไปต่าง ๆ นานาว่าเรามีคนที่ไม่รู้เรื่องฟุตบอลให้เข้ามามีสิทธิ์ในการตัดสินใจ ผมว่ามันเป็นการกล่าวหาที่เกินเลยไปสำหรับผู้ที่อุทิศตนด้านฟุตบอลให้กับสโมสรนี้ หลายคนมีประสบการณ์ด้านฟุตบอลและทำงานให้กับทีมชุดใหญ่ของเรามากกว่า 10 ปีด้วยซ้ำ
“เรามีทีมงานด้านฟุตบอลที่ทำงานด้านซื้อขายนักเตะ ที่ทำงานกับสโมสรมามากกว่า 25 ปี และเราพัฒนาส่วนงานนี้มาตลอด และมีความเชื่อว่ามันต้องดีขึ้น หน่วยงานนี้ทำงานร่วมกันกับทีมสตาฟฟ์โค้ชและทีมงานในการแนะนำและเลือกนักเตะ ทั้งหมดมันไม่ใช่แค่การตัดสินใจของผู้จัดการอาวุโสเท่านั้น”
ทั้งหมดเหมือนเป็นตัวอย่างความไม่เข้าท่าของทีมปีศาจแดง ที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังสะสมมานานภายใต้ยุคสมัยของวูดเวิร์ด ก่อนหน้านี้มูรินโญ่เคยออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังถูกปลดจากตำแหน่งว่า “ปัญหาที่แท้จริงของสโมสรยังคงอยู่” ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการโจมตีวูดเวิร์ดกับการบริหารงานของเขาทางอ้อม แต่สำหรับกรณี ฟาน กัล เขาเลือกที่จะยุติความกำกวมในบทสัมภาษณ์ของมูรินโญ่ ด้วยการออกมาโจมตีวูดเวิร์ดว่าเป็นพวกไม่รู้เรื่องฟุตบอลเลยสักนิด และเป็นสาเหตุที่แท้จริงของความตกต่ำของทีม
“สมัยที่ผมคุมบาเยิร์น มิวนิค ที่นั่นจะมีคนที่ดูแลด้านกีฬาที่เขาโตมาพร้อมกับฟุตบอล แต่ที่ ยูไนเต็ด เอ็ด วูดเวิร์ด ในฐานะซีอีโอ เขาเป็นคนที่มีความรู้เรื่องฟุตบอลเป็นศูนย์ นั่นเพราะอะไรน่ะเหรอ เพราะเขาเคยเป็นนายธนาคารกับนักลงทุนมาก่อนไง นั่นทำให้ทีมถูกขับเคลื่อนด้วยด้านธุรกิจอย่างเดียว”
แม้ผลงานของทีมรวมถึงแผนการบริหารที่ล้มเหลว ถึงขั้นต้องสังเวยแพะรับบาปเป็นผู้จัดการทีมไปหลายคน แต่ตำแหน่งของวูดเวิร์ดก็ยังมั่นคงเสมอ เพราะอะไรกัน... ? คำตอบเดียวที่จะสามารถตอบคำถามนี้ได้ก็คือ เพราะเขาเป็น “คนของเกลเซอร์”
ตระกูลเกลเซอร์เข้ามาซื้อยูไนเต็ดเพราะเรื่องธุรกิจล้วน ๆ พวกเขาเป็นนักธุรกิจมากกว่าจะเป็นแฟนบอลของทีม และต่อให้เป็นตายร้ายดีอย่างไร พวกเขาก็ไม่มีทางปลดวูดเวิร์ดแน่นอน เพราะพวกเขามองว่าชายคนนี้หาเงินเก่ง! แถมตัววูดเวิร์ดก็ไม่เคยคิดลาออกอีกด้วย! แหม เหมือนใครแถวนี้คุ้น ๆ... ซึ่งตราบใดที่ทีมยังคงสภาพเช่นนี้นั่นหมายความว่า พวกเขายังคงสนใจธุรกิจมากกว่าเรื่องของฟุตบอลอยู่ดี
ก่อนหน้านี้ วูดเวิร์ดเคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตนพอใจกับผลประกอบการของทีมที่ได้กำไรอื้อซ่าจากค่าสปอนเซอร์ แม้ทีมจะมีฟอร์มที่ไม่ดีในสนาม แต่นอกสนามเขาและทีมงานก็ยังคงหาเงินเข้าสู่ทีมได้แบบไม่ขาดสาย วูดเวิร์ดมองว่า ทั้งหมดบ่งชี้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องพึ่งผลงานในสนามเพียงอย่างเดียว
“คุณภาพของทีมรวมถึงฟอร์มการเล่นในสนาม ไม่ได้มีผลกระทบสำคัญกับธุรกิจด้านการตลาดที่เราสามารถทำได้ในนอกสนาม”
ทุกวันนี้ วูดเวิร์ดคือตัวอย่างของคนที่ไม่เข้าใจฟุตบอล และต้องมาบริหารงานฟุตบอล แม้เขาจะปรับตัวเข้าหามัน แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าทั้งหมดมีแต่ “เจ๊งกับเจ๊ง” กลับกัน ตัววูดเวิร์ดก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นเช่นกันว่าเขา “เจ๋ง” ด้านการเงินขนาดไหน
ท้ายที่สุด มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่ยูไนเต็ดจะหาคนที่เข้าใจโลกของฟุตบอลมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอล แทนสิ่งที่วูดเวิร์ดแบกไว้ที่บ่า รวมถึงการหากุนซือที่ใช่สำหรับทีม เพราะไม่เช่นนั้นพวกเขาคงต้องจมปลักกับความล้มเหลวแบบนี้ตลอดไป ตัวอย่างก็มีให้เห็นกับทีมคู่ปรับเมืองข้าง ๆ ย่านเมอร์ซี่ไซด์ ที่ต้องรอแชมป์ลีกเกือบสามทศวรรษทีเดียว
"ผมคือคนที่ใช่สำหรับงานนี้ ผมเข้าใจคำวิจารณ์ต่าง ๆ มันเป็นส่วนหนึ่งของงานผม แม้ตัวผมจะเป็นเพื่อนกับบรรดานักเตะไม่ได้ เพราะอยู่ในจุดที่ต้องตัดสินใจ แต่พวกเราจะทำทุกอย่าง เพื่อที่จะได้กลับไปคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกครั้ง การที่เราได้อันดับที่สองแปลว่าเรายังทำไม่สำเร็จ เพราะความสำเร็จคือการที่เราต้องคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกให้ได้เท่านั้น"
ที่มา: https://www.bbc.com/sport/football/21532300
https://theathletic.co.uk/1282731/2019/10/11/1282731/
https://www.ns-businesshub.com/business/ed-woodward-the-businessman-manchester-united/