นกเพนกวินต้นฉบับ นกประหลาดถูกทุบด้วยหินตายเพราะคนเข้าใจว่าเป็นแม่มด
ในปี ค.ศ. 1844 "นกอ็อกใหญ่" (Great auk) ตัวสุดท้ายของโลกได้ถูกฆ่าตายที่ไอซ์แลนด์ แต่ก่อนหน้านั้นสี่ปี นกอ็อกใหญ่ที่พลัดหลงไปยังหมู่เกาะเซนต์คิลดาในสก็อตแลนด์ได้ถูกจับมาขังไว้ก่อนถูกทุบด้วยหินจนตาย เนื่องจากชาวบ้านเข้าใจว่ามันคือ "แม่มด" ที่นำภัยพิบัติมาให้กับพวกเขา ซึ่งนั่นก็เป็นครั้งสุดท้ายที่มีการพบนกชนิดนี้ในบริเวณหมู่เกาะอังกฤษ (British Isles)
ต้องบอกก่อนว่า "นกอ็อก" ที่ใช้ในที่นี้เป็นการออกเสียงตามชื่อในภาษาอังกฤษนับเป็นนกคนละชนิดกับ "นกออก" หรือนกอินทรีย์ทะเลปากขาวที่รู้จักกันในประเทศไทย กลับกันมันเป็นนกขนาดใหญ่ที่บินไม่ได้ (ขนาดประมาณ 75 เซนติเมตร) และมีลักษณะที่คล้ายกับนก "เพนกวิน" ที่เรารู้จักในปัจจุบัน ทั้งต้องบอกด้วยว่า เจ้านกอ็อกใหญ่นี่แหละคือนกเพนกวิน "ต้นฉบับ" แม้ว่ามันจะเป็นนกคนละสายคนละตระกูลกันเลยก็ตาม
ปัจจุบันนกอ็อกใหญ่กลายเป็นนกที่สุญพันธุ์ไปนานแล้ว แต่นกในตระกูลเดียวกัน (Alcidae) ยังคงมีอยู่ ลักษณะเด่นของนกในตระกูลนี้ก็คือการเป็นนกทะเลซึ่งมีความสามารถในการ "บิน" ทั้งบินดำลงใต้น้ำและบินขึ้นบนท้องฟ้า ยกเว้นแต่นกอ็อกใหญ่เท่านั้นที่มีความปราดเปรียวขณะอยู่ในท้องทะเล แต่ไม่สามารถบินได้ และยังเชื่องช้าบนบกทำให้พวกมันตกเหยื่ออันโอชะของนักล่าอย่างมนุษย์
ส่วนที่บอกว่านกอ็อกใหญ่คือ "นกเพนกวินต้นฉบับ" ก็เพราะว่านกอ็อกใหญ่มีแพร่หลายอยู่ตามเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งแอตแลนติกเหนือ เช่นแถวๆ ไอซ์แลนด์ หรือนิวฟันด์แลนด์ ไม่ไกลจากทวีปยุโรป ทำให้ชาวอังกฤษรู้จักพวกมันตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 ก่อนจะไปพบนกบินไม่ได้ลักษณะคล้ายๆ กันในซีกโลกใต้จึงเรียกพวกมันว่า "เพนกวิน" ด้วย และกลายเป็นชื่อเฉพาะของนกทะเลบินไม่ได้จากซีกโลกใต้ไป เพราะนกเพนกวินต้นฉบับได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว (ที่มาของคำว่า "เพนกวิน" ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่ามาจากภาษาเวลช์ที่แปลว่าสีดำและขาว บ้างก็ว่ามาจากภาษาละตินที่แปลว่าอ้วน หรือหนัก)
และเรื่องราวที่น่าเศร้าที่สุดเรื่องหนึ่งของพวกมัน (นอกจากการถูกล่าจนสูญพันธุ์แล้ว) ก็คือ ชะตากรรมของนกเพนกวินต้นฉบับตัวสุดท้ายที่มีการพบเจอในหมู่เกาะอังกฤษ
เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่เซนต์คิลดา (St Kilda, หรือ Hiort ในภาษาท้องถิ่นสก็อต) หมู่เกาะเล็กๆ ของสก็อตแลนด์ที่อยู่อย่างตัดขาดจากแผ่นดินหลัก ชาวบ้านที่นี่แม้จะอยู่ท่ามกลางท้องทะเลแต่พวกเขาไม่ใช่ชาวประมงหรือนักเดินเรือที่เก่งกาจเพราะคลื่นลมที่รุนแรงทำให้การเดินเรือเป็นเรื่องเสี่ยงตายมากๆ ชาวบ้านทั่วๆ ไปจึงหากินด้วยการล่าเนื้อหรือไข่ของนกทะเลเป็นหลัก
แล้ววันหนึ่งในปี 1840 ระหว่างที่ชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ กำลังออกล่านก พวกเขาก็ได้เจอกับนกยักษ์บินไม่ได้ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนบริเวณสแตก-อัน-อาร์มิน (Stac-an-Armin) แท่งหินสูงกลางทะเลนอกชายฝั่งของเซนต์คิลดา เออร์รอล ฟูลเลอร์ (Errol Fuller) นักประวัติศาสตร์ผู้เขียนเรื่อง Great Auk, The Extiction of the Original Penguin เล่าว่า ชาวบ้านกลุ่มนี้เก็บเจ้านกประหลาดมาพันธนาการเก็บไว้ก่อนตัดสินใจว่าจะทำอะไรกับมัน
แต่ระหว่างที่ชาวบ้านจับมันมาขังไว้ พายุก็ได้พัดถล่มเกาะเล็กๆ แห่งนี้อย่างหนักเป็นเวลาสามวันทำให้พวกเขาไม่อาจออกจากเกาะได้ การตกอยู่ภายใต้สภาวะกดดันเช่นนั้นทำให้ชาวบ้านตื่นกลัวและเริ่มคิดว่าพวกเขากำลังเจอกับเรื่องเหนือธรรมชาติ และเชื่อเอาเองว่านกยักษ์ตัวนี้แท้จริงคงเป็น "แม่มด" ว่าแล้วจึงเอาหินทุบตีมันจนตาย นับแต่นั้นมาก็ไม่มีรายงานการพบเจอนกอ็อกใหญ่หรือเพนกวินต้นฉบับในแถบหมู่เกาะอังกฤษอีกเลย (The Scotman)
ส่วนชาวบ้านกลุ่มนั้นหลังสังหารสิ่งที่พวกเขาเชื่อกันว่าเป็น "แม่มด" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พวกเขาก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้สำเร็จ (นั่นคงทำให้ความเชื่อของพวกเขาฝังหัวมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม)
ทั้งนี้ นอกเกาะเซนต์คิลดาในบรรดานักล่าที่รู้จักนกอ็อกใหญ่ดีพวกมันไม่ใช่แม่มดร้ายแต่เป็นเหยื่อที่สามารถล่าได้ง่ายๆ เพราะพวกมันต้วมเตี้ยมมากเมื่ออยู่บนบกจึงสามารถไล่ต้อนได้แบบไม่ยากเย็น ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 นกออกใหญ่ถูกล่าอย่างหนัก และมีการบันทึกไว้ว่าในเดือนมิถุนายน 1844 นกออกใหญ่ (ที่มนุษย์พบเจอ) ตัวสุดท้ายก็ถูกฆ่าตายบนเกาะเอลดี (Eldey) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประเทศไอซ์แลนด์ในปัจจุบัน ถึงตอนนี้นกอ็อกใหญ่คงเหลือเพียงตำนาน ซากสตัฟฟ์ และฟอสซิลไว้เป็นที่ระลึก (Britannica)
ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์บางส่วนก็มีความพยายามที่จะสร้างนกอ็อกใหญ่ขึ้นมาใหม่โดยหวังสกัดเอาดีเอ็นเอของนกอ็อกใหญ่จากซากฟอสซิลหรือจากชิ้นส่วนอวัยวะที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้แล้วนำมาร้อยเรียงเป็นลำดับพันธุกรรมทั้งหมด จากนั้นจึงตัดต่อพันธุกรรมที่แสดงลักษณะเด่นของนักอ็อกใหญ่ไปใส่ในนกเรเซอร์บิล (razorbill, แปลตรงๆ ได้ว่า นกปากใบมีด) ซึ่งเป็นญาติสายพันธุ์ใกล้ชิด แล้วก็เพาะตัวอ่อนขึ้นมาก่อนนำไปฝังใส่นกที่ใหญ่พอจะวางไข่นกอ็อกใหญ่ได้อย่างเช่นห่าน ซึ่งหากทำสำเร็จพวกเขาก็หวังว่าจะนำพวกมันกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง (Telegraph)