ซง โกคู (Son Gokū) แห่ง Dragon Ball เจ้าตำรับ “ไซอิ๋วผสมซูเปอร์แมน”

ซง โกคู (Son Gokū) แห่ง Dragon Ball เจ้าตำรับ “ไซอิ๋วผสมซูเปอร์แมน”

ซง โกคู (Son Gokū) แห่ง Dragon Ball เจ้าตำรับ “ไซอิ๋วผสมซูเปอร์แมน”

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้จักการ์ตูนเรื่อง Dragon Ball แน่นอน ไม่ว่าจะเคยอ่าน, เคยดู, เคยได้ยิน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะการ์ตูนเรื่องนี้จัดว่าเข้าขั้น “อมตะ” เลยทีเดียว ครองใจแฟน ๆ นักอ่านทั่วโลกเป็นเวลานานกว่า 30 ปี โดยเรื่อง Dragon Ball นี้ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Weekly Jump (週刊少年ジャンプ) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1984-1995 และมีการพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด 42 เล่มด้วยกัน นอกจากนี้ก็มี Anime อีก มี Side Story มีหลากหลายเวอร์ชัน หลายภาคมากมาย สาธยายไม่หมดเลยทีเดียว เรื่อง Dragon Ball นี้ถ้าจะให้อธิบายว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร คงอธิบายยากมาก เพราะเป็นยำใหญ่ใส่มั่วของ Popular Culture ทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งของตะวันออกหลาย ๆ วัฒนธรรมไปจนถึงของตะวันตกหลาย ๆ วัฒนธรรมด้วยกัน เป็นประมาณว่า anything goes (อะไรก็เกิดขึ้นได้หมด อย่าได้แปลกใจ) เพราะนิสัยของ Toriyama Akira (鳥山明) ผู้เขียนเรื่องนี้ก็มีนิสัยชอบวางโครงเรื่องหลวมมาก ๆ แล้วก็ด้นสดกันแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ไปเลย แถมยังชอบหยิบโน่นปะนี่ที่ไม่ได้น่าจะเกี่ยวอะไรกันเลยมายำใหญ่รวมกันได้อย่างกลมกล่อมอีกต่างหาก Weekly Jump เป็นนิตยสารการ์ตูนสำหรับ “วัยรุ่นผู้ชาย” หรือที่เรียกว่า Shōnen Manga (少年漫画) คือการ์ตูนสำหรับเด็กวัยรุ่นผู้ชายอายุประมาณ 12-20 โดยกฎเหล็กของนิตยสาร Weekly Jump ในการเลือกเรื่องมาตีพิมพ์เลยก็คือต้องมีหัวใจสำคัญ 3 ประการดังนี้ 1) Yūjō (友情): ต้องแสดงให้เห็น "มิตรภาพของตัวละคร" 2) Doryoku (努力): ต้องแสดงให้เห็น "ความวิริยะอุตสาหะของตัวละคร" 3) Shōri (勝利): ต้องแสดงให้เห็น "ชัยชนะ" ที่ได้มาจากความวิริยะอุตสาหะ ดังนั้นเรื่อง Dragon Ball แม้ว่าจะมีเนื้อเรื่องหลุดโลกสุดขีดอย่างไรก็ตาม แต่ว่าไม่หลุดไปจากกฎเหล็ก 3 ประการแห่ง Shōnen Manga เลยสักนิด ตลอดเรื่องนี้ทั้งเรื่องจึงเป็นเรื่องราวแห่งมิตรภาพ, ความวิริยะอุตสาหะ, และชัยชนะ ของตัวละครหลักคือ Son Gokū นั่นเอง เดิมที Toriyama Akira แค่อยากจะเขียนเรื่อง “ไซอิ๋ว” (Journey to the West) ในแบบฉบับพิสดารของตัวเอง จึงให้พระเอกชื่อเดียวกับ “ซุนหงอคง” (Sūn Wùkōng) แต่เนื่องจากญี่ปุ่นออกเสียงอักษรจีนคำว่าซุนหงอคงเป็นเสียงว่า “ซง โกคู (Son Gokū)” เวลาแปลไทยเราเลยเห็นว่ามีหลายเสียงเรียก บางคนแปลแบบอิงเสียงภาษาจีนเดิมว่า “ซุนหงอคง” บางคนแปลแบบอิงเสียงญี่ปุ่นเลยเป็น “ซง โกคู” บางคนก็แปลเป็น “ซง โงคู” (เสียงตัว G ในภาษาญี่ปุ่นจะออกเสียงก้ำกึ่งระหว่าง ก และ ง”) Son Gokū จึงต้องมีคาแร็คเตอร์เป็น “ลิง” เพราะว่าอิงจากซุนหงอคงในไซอิ๋วนี่นา และมีกระบองวิเศษ, เมฆสีทอง ตามแบบฉบับไซอิ๋วเป๊ะ ยังมีตัวละครคือ Bulma ที่เป็นตัวแทนพระถังซัมจั๋ง, Oolong แทนตือโป๊ยก่าย, Yamcha แทนซัวเจ๋ง และการตามหา Dragon Ball ให้ความรู้สึกของการตามหาพระไตรปิฎกนั่นเอง แต่ด้วยนิสัยชอบด้นสดและยำใหญ่ผสมแหลกของ Toriyama ทำให้เนื้อเรื่องเริ่มออกนอกเส้นเรื่อง ออกทะเล ไปจนกระทั่งออกจักรวาลกันเลย!! (แต่ไม่ว่าจะมั่วและรั่วยังไงก็ไม่เคยหลุดไปจากกฎเหล็ก 3 ประการแห่ง Shōnen Manga เลยนะ) Son Gokū ที่น่าจะเป็นซุนหงอคง จึงกลับกลายเป็นมนุษย์หมาป่าไปเสียได้….คือ Toriyama อยากจะเล่นมุกแบบหนัง Hollywood คือมีการหักมุมแบบที่พระเอกเห็นพระจันทร์เต็มดวงแล้วกลายเป็นหมาป่า แต่เนื่องจากตัวเองเป็นคนปั้นให้พระเอกเป็นลิงแต่ต้น จะให้เห็นพระจันทร์แล้วกลายเป็นหมาป่าก็หยามเกียรติตัวเองสิเอ้า อย่ากระนั้นเลย ให้มันเห็นพระจันทร์แล้วกลายเป็นลิงยักษ์ไปเลยก็แล้วกัน (วะ) ไหน ๆ ก็แถมาตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นลิงอยู่แล้ว คือแบบ พี่ Toriyama แกคิดได้ไงกันนะนี่ เท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างการเติบโตของ Gokū กลับกลายเป็นไปเน้นที่การฝึกวิชา ให้อารมณ์ของพระเอกหนังจีนกำลังภายในที่ตระเวนตามหาอาจารย์ ฝึกวิชาจนเก่งกว่าอาจารย์ ไปปราบศัตรู แล้วก็ตระเวนหาอาจารย์คนต่อไป ไปเรื่อย ๆ แบบเก่งขึ้นไม่มีขีดจำกัด เพราะ Toriyama เป็นแฟนหนังจีนกำลังภายใน คิวบู๊ในเรื่องเลยเน้นไปที่การฝึกฝนลมปราณ (気) จนมีพลังเหนือมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ จากเส้นเรื่องไซอิ๋วเลยกลายเป็นหนังจีนกำลังภายในผสมหนัง Hollywood ไปเฉยเลย ต่อมามีการพัฒนาคาแร็คเตอร์ของ Gokū กลายเป็น Superman คือมาเฉลยทีหลังว่าเจ้าเด็กคนนี้ที่มันมีหางและแปลงเป็นลิงยักษ์ได้ รวมทั้งมีพลังต่อสู้เหนือมนุษย์ส่วนใหญ่บนโลก ก็เพราะมันไม่ใช่มนุษย์ไงเล่า โดยจำลอง Plot ของ Superman เวอร์ชันของ Christopher Reeve เป็นฐานคิดในการพัฒนา Plot ให้ Gokū เป็นมนุษย์ต่างดาวที่หนีออกมาตอนดาวของตัวเองจะแตกสลาย แล้วตอนหลังจึงมีพี่น้องรวมเผ่าพันธุ์ของตัวเองบุกมาโลกเพื่อฆ่าล้างโลก Gokū จึงต้องหันไปสู้กับเผ่าพันธุ์ของตัวเอง (คือเนื้อเรื่องของ Superman ชัด ๆ) เริ่มมีพลังเวอร์ ๆ เช่น เหาะสู้กันแบบ Superman (ก่อนหน้าจะเข้าถึงภาคนี้ มีแค่วิชาเหยียบอากาศ ซึ่งไม่ได้เหาะแบบ Superman และมีตัวละครไม่กี่ตัวที่ใช้วิชาเหยียบอากาศได้ แต่หลังจากภาคนี้คือตัวละครทุกตัวเหาะได้แบบ Superman กันหมด) และใช้ Plot ของวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกมากขึ้น จากเดิมเป็นเรื่องลมปราณและเรื่องเหนือธรรมชาติเสียมาก แต่พอภาคนี้เริ่มมีเรื่องมนุษย์ต่างดาว ยานอวกาศ เทคโนโลยีวัดพลัง แม้แต่ตัวร้ายสุดเท่อย่าง Frieza ก็ยังมีร่างที่ดีไซน์ถอดแบบมาจาก Alien อสูรสยบจักรวาลของ Hollywood เพื่อให้เห็นความน่าสะพรึงกลัว จนไปถึงภาค Cell ก็มีเรื่องย้อนเวลามาป่วน Timeline แบบ Plot ตะวันตกสุดขีดมากประมาณเรื่อง Terminator ก่อนจะเข้าไปถึงภาคสุดท้ายคือภาคจอมมารบู ที่มีการตั้งชื่อฝ่ายตัวร้ายตาม Walt Disney เรียกว่าตัวเอก Gokū คือสาเหตุหลักเลยที่ทำให้เรื่อง Dragon Ball นี้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก ในเอเชียเองเราคุ้นเคยกับเรื่องไซอิ๋ว คุ้นเคยกับการ์ตูนญี่ปุ่น และคุ้นเคยกับ Plot หนังจีนกำลังภายในประเภทติดตามตัวละครตั้งแต่เด็กจนโต จนแต่งงาน จนรุ่นลูก อยู่แล้ว (เช่น แปดเทพอสูรมังกรฟ้า, มังกรหยกทั้ง 3 ภาค, นักชกผู้พิชิต) จึงทำให้กลายเป็นแฟนคลับการเติบโตและการผจญภัยครั้งต่อ ๆ ไปของ Gokū ได้ไม่ยากเลย อีกทั้ง Plot ของตะวันตกนั้นเราก็คุ้นเคยดีอยู่แล้ว จึงทำให้คนในเอเชียเปิดรับเรื่องนี้และตัวละครตัวนี้ได้ไม่ยาก อย่าลืมว่าเรื่องนี้ฮิตมากในยุคที่ยังไม่มี Internet เลย การที่การ์ตูนเรื่องหนึ่งจะฮิตถล่มทลายไปทั่วทวีปเอเชียนี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่ธรรมดาเลย ในตะวันตกก็ไม่แพ้กัน Dragon Ball ได้ไปฉายช่อง Cartoon Network’s ของอเมริกาในปี ค. ศ. 2000 ช่วงเวลาหลังเลิกเรียน และฮิตถล่มทลายในอเมริกา ส่วนเวอร์ชันหนังสือการ์ตูนก็มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ในประเทศอเมริกา และขายดิบขายดีไปทั่วอเมริกา และทั่วยุโรปด้วย   ทำไม Gokū ถึงเป็นตัวละครที่ฮิตระดับโลกขนาดนี้? 1. Gokū เป็นผู้มีพยายามที่ไม่เคยย่อท้อต่ออะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าศัตรูจะเก่งจนสุดจินตนาการยังไง Gokū จะหาทางพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นจนเอาชนะได้เสมอ เป็นสุดยอดแห่งวิวัฒนาการที่คนจำนวนมากเอาใจช่วย 2. Gokū เป็นคาแรคเตอร์ผสมระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก ทำให้ต้องมีหลาย ๆ ส่วนของตัวละครนี้ที่โดนใจแฟน ๆ นักอ่านไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 3. Gokū มีความบ้าพลัง ซึ่งความบ้าพลังนี้คือจุดที่วัยรุ่นชอบ (วัยรุ่นชายช่วง Teenage จำนวนมากจะชอบคาแรคเตอร์เข้มแข็งบ้าพลังในลักษณะนี้ การ์ตูนในยุคเดียวกันก็จะเนื้อเรื่องประมาณนี้เยอะ เช่น โรงเรียนนายร้อยเดนตาย, Saint Seiya, หมัดดาวเหนือ) 4. Gokū มีลักษณะร่วมกับการ์ตูนแนว Superheroes ในอเมริกา คือบ้าพลัง เก่งเทพ กล้ามบึ้ก ซึ่งเป็นแนวทางการ์ตูนที่คนอเมริกันชอบ (ตัวอย่างเช่น Marvel และ DC) ทำให้คนอเมริกันหลงใหลคาแรคเตอร์ของ Gokū ได้ไม่ยากเลย เพราะเป็นแนวบ้าพลังที่ชาวอเมริกันชอบอยู่แล้ว (ในอเมริกาไม่ฮิตการ์ตูนญี่ปุ่นแนวอื่น นอกจากแนวเด็กวัยรุ่นผู้ชายและเด็กวัยรุ่นผู้หญิงเท่านั้น พวก Doraemon หรือ Crayon-Shinchan นี่คือไม่มีใครรู้จักกันเท่าไร) 5. Gokū สามารถทำให้ศัตรูกลายเป็นมิตรได้หลายคนมาก ซึ่งในโลกแห่งความจริงนั้นทำได้ยาก แต่ไม่รู้ว่าทำไม Gokū ทำได้ดี คนดูก็จะลุ้นว่าศัตรูตัวใหม่จะเป็นใคร และจะมีจุดไหนของเรื่องที่ศัตรูจะกลายเป็นมิตร 6. เรื่อง Dragon Ball มีแต่ความมั่ว ยำเละ จับฉ่าย จนกลายเป็นแบบ เออคิดได้ไงนะ ดูต่อก็ได้วะ ต้องลุ้นไอ้เจ้า Gokū มันทุกตอน จนกระทั่งคนเขียนอยากเขียนให้ลูกชายคือ Gohan เป็นพระเอกแทนก็ยังทำได้ไม่สำเร็จ จน Gohan กลายเป็น Yamcha คนที่ 2 ไปเลย เพราะ Gokū ยังคงเป็นตัวเดินเรื่องเช่นเคย แม้ว่าเนื้อเรื่องหลักจะจบไปตั้งแต่ปี ค. ศ. 1995 แต่ Dragon Ball ก็ยังคงครองใจแฟน ๆ จนกระทั่งภาคใหม่คือ Dragon Ball Super ที่ก็ยังมี Gokū เป็นตัวดำเนินเรื่องหลักให้แฟน ๆ ได้ตามลุ้นกันต่อไปตราบเท่าที่ Toriyama ยังสามารถยำใหญ่จับฉ่ายออกมาให้แฟน ๆ อ่านกันเรื่อย ๆ