สัมภาษณ์ ส.พลายน้อย: เรื่องเล่าวัย 90 ของนักเขียนผู้ "เกิดในเรือ"

สัมภาษณ์ ส.พลายน้อย: เรื่องเล่าวัย 90 ของนักเขียนผู้ "เกิดในเรือ"
"ลำบากหน่อยนะ มาบ้านหลังนี้" เสียงเจ้าของบ้านทักกลับอย่างถ่อมตัวขณะที่ The People เดินทางไปเยี่ยมเยียนบ้านของเขา เป็นอาคารพาณิชย์เล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยแถวคลองสาน ธนบุรี ชั้นล่างของบ้านเต็มไปด้วยหนังสือ และไม่ใช่หนังสืออ่านทั่วไป เพราะร้อยกว่าเล่มที่โชว์อยู่บนชั้น คือหนังสือที่เขียนโดยเจ้าของบ้านนั่นเอง (บรรยากาศภายในบ้านของ ส.พลายน้อย คลิกชมได้ที่คลิปบทสัมภาษณ์นี้ ) เขาคือ สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย นักเขียนสารคดีผู้ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ เมื่อ พ.ศ. 2553 แม้วันนี้ ส.พลายน้อย จะอายุ 90 ปีแล้ว เดินเหินอาจจะไม่คล่องตัวเหมือนดังเดิม แต่ความคิดยังแจ่มใส จำได้ว่าเคยเขียนหนังสือครั้งแรกช่วง พ.ศ. 2486-2487 หรือเมื่อ 76-77  ปีที่แล้ว นับเนื่องจนถึงปัจจุบัน ส.พลายน้อย เขียนหนังสือไปทั้งหมด 140-150 เล่ม เช่น ขนมแม่เอ๊ย, สัตวนิยาย, เกิดในเรือ เป็นต้น จากชีวิตที่เกิดในเรือ กับโตริมคลองที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สู่ชีวิตรับราชการทำงานกับกระทรวงศึกษาธิการ จนมาถึงวันนี้กับการเป็นนักเขียนรุ่นลายคราม ที่แม้จะเขียนน้อยลง แต่ก็ยังทำงานเขียนอยู่ นี่คือบทสัมภาษณ์กับเรื่องเล่าวัย 90 ของนักเขียนผู้ "เกิดในเรือ" . The People: เขียนหนังสือมากี่ปีแล้ว ส.พลายน้อย: ถ้าพูดถึงว่าเริ่มเขียน ก็เขียนมาตั้งแต่เป็นนักเรียนแล้ว ตั้งแต่ชั้นมัธยมฯ ปีที่ 6 ราว ๆ พ.ศ. 2486-2487 ตอนนั้นนึกสนุกขึ้นมาก็ออกหนังสือในห้องเรียน หนังสือตัวเขียน ซื้อกระดาษฟุลสแก๊ปมาโหลหนึ่งแล้วก็เขียน แต่งจิปาถะ นิยายมั่ง เรื่องสั้นมั่ง เรื่องแปลสั้น ๆ อะไรนิด ๆ หน่อย ๆ  เขียนให้เพื่อน ๆ อ่านกันสนุกในห้องเรียน ต่อมาเห็นเพื่อนชอบใจว่าเขียนได้ดี เลยเขียนส่งหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในสมัยนั้นเขาเรียกว่าเป็นหนังสือรายสัปดาห์ ออกวันจันทร์ เขาเรียกหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ก็ส่งเรื่องแรกไป บรรณาธิการก็ลง เลยคิดว่า เอ๊ะ เราเขียนพอจะใช้ได้ ก็เขียนส่งไปเรื่อย ๆ ก็ลงให้ทุกเรื่อง สมัยนั้นเขียนฟรี ไม่ได้สตางค์หรอก เขียนไปแล้วถ้าเล่มไหนได้ลง เขาก็ส่งเล่มนั้นมาให้อ่าน เรียกว่าได้หนังสือเล่มหนึ่ง เรื่องหนึ่งก็ได้เล่มหนึ่ง ตอนหลัง ๆ มาก็เขียนให้หนังสือพิมพ์อื่น ๆ อีก มาได้สตางค์ใช้ตอนที่เขียนให้หนังสือพิมพ์โบว์แดง สันต์ เทวรักษ์ เป็น บ.ก. ก็ได้รับสตางค์ ค่าเรื่องสมัยนั้นไม่มาก 20 บาท แต่ 20 บาทสมัยนั้นซื้อข้าวผัดได้หลายจาน ได้มาก็เลี้ยงเพื่อนหมด ตอนหลัง ๆ ก็เขียนอะไรเบ็ดเตล็ดไปเรื่อย ๆ ได้สตางค์บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็เริ่มต้นมาอย่างนี้ มาเขียนเป็นหลักเป็นฐานได้สตางค์มากขึ้นตอนเขียนให้หนังสือพิมพ์กะดึงทอง เป็นนิตยสารรายเดือนของค่ายพิมพ์ไทยและสยามนิกรสมัยก่อนนู้น ราว ๆ พ.ศ. 2489-2490 ก็เขียนประจำมาเรื่อย พอคนเริ่มรู้จักมากขึ้น เขาก็เข้ามาขอไปพิมพ์เป็นเล่มบ้าง เลยกลายเป็นคนเขียนที่ได้ค่าเรื่องขึ้น คือผมเป็นคนประเภทที่ว่าไม่ได้เขียนเรื่องส่งขายโดยตรง แต่เขียนตามที่คนต้องการ เพราะกลัว คือถ้าเขียนไปแล้วเขาโยนทิ้งตะกร้า หมดกำลังใจ (หัวเราะ) เลยให้เขาขอมาแล้วแน่ใจว่าเขาต้องลงแน่ ถึงจะเขียนไปเจาะจงเล่มนั้น เล่มนี้ เผอิญเป็นเรื่องที่คนอ่านเขาถูกใจได้บ้าง ก็เลยเขียนมาเรื่อย ๆ The People: ชอบเล่มไหนมากที่สุด ส.พลายน้อย: แหม ถ้าพูดถึงที่ชอบสุดๆ นี่ (หัวเราะ) มันแทบจะทุกเล่ม เพราะแต่ละเล่มกว่าจะเขียนได้ต้องใช้ความอุตสาหะมาก ถ้าเป็นเรื่องประสบการณ์โดยตรงก็ไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่  แต่ถ้าเขียนเรื่องเป็นเชิงประวัติศาสตร์ เป็นเชิงวรรณคดีหรือสารคดีนี่ต้องค้นคว้ามาก อันนี้เหนื่อย แต่ที่ผมคิดว่าเป็นหนังสือที่ไม่เคยมีใครทำก็คือ เทวนิยาย, อมนุษยนิยาย, สัตวนิยาย ผมว่าคงไม่มีใครเขียนซ้ำ เพราะว่าเขียนยาก ต้องค้นมาก แล้วชุดนี้เป็นชุดที่พิมพ์ได้เรื่อย ๆ ไม่ตาย เดี๋ยวนี้ก็ยังพิมพ์อยู่ เป็นหนังสือชุดใหญ่ 4-5 เล่ม แล้วชุดประสบการณ์ตอนหลัง ๆ จะมีชุด เกิดในเรือ ผมเขียนจากประสบการณ์ เพราะผมเกิดในเรือ ชีวิตชาวเรือผมรู้หมด ส่วนต่าง ๆ ของเรือรู้หมด เพราะงั้นเวลาเขียนมันละเอียดลออ ไม่มีใครที่เคยอยู่เรือมา นักเขียนที่อยู่เรือไม่มี อาจจะพูดได้ว่ามีคนเดียว เพราะงั้นเรื่อง เกิดในเรือ, ชีวิตตามคลอง เป็นหนังสือชุดประสบการณ์ เพราะผมมีชีวิตอยู่ริมแม่น้ำ ก็เล่าเรื่องของชีวิตคนที่อยู่ในแม่น้ำลำคลองได้ อันนี้ก็เป็นประสบการณ์อันหนึ่ง ซึ่งอาจจะหายาก เพราะเดี๋ยวนี้ชีวิตคนมาเป็นชีวิตคนบก อยู่ถนนกันแล้ว ไอ้ชีวิตที่อยู่ในเรือ ในแพอะไรนี่มันไม่มีแล้ว คนก็ไม่เคยเห็น ก็เล่า ๆ ไว้ สัมภาษณ์ ส.พลายน้อย: เรื่องเล่าวัย 90 ของนักเขียนผู้ \"เกิดในเรือ\" The People: หนังสือที่ขายดีที่สุดคือเล่มไหน ส.พลายน้อย: ขายดีที่สุด รู้สึกจะเป็น ขนมแม่เอ๊ย นี่พิมพ์มาจะเป็นหมื่นเล่ม ก็พิมพ์มาเรื่อย ๆ ไอ้อย่างอื่นพิมพ์ 2 ครั้ง 3 ครั้ง 5 ครั้ง อย่างเรื่อง บางกอก พิมพ์ 5-6 ครั้ง บางเล่มก็หลายครั้ง The People: ตอนนี้ยังเขียนหนังสืออยู่ไหม ส.พลายน้อย: เขียนให้มติชน คุณขรรค์ชัย บุนปาน (หนึ่งในผู้ก่อตั้ง นสพ.มติชน) ให้คนมาชวนไปเขียน ทีแรกไม่รู้จะเขียนอะไรเพราะไม่เคยเขียนลงหนังสือพิมพ์มาก่อน ที่ลงติดต่อกัน ก็เขียนแล้วเผอิญคนชอบ เลยเขียนมาเรื่อย ๆ ยังไม่จบ (หัวเราะ) The People: เวลาเขียนหาข้อมูลอย่างไร ส.พลายน้อย: ผมอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ถ้าพูดก็ตั้งแต่ชั้นมัธยมฯ ปีที่ 1 ที่โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เป็นห้องสมุดใหญ่ เพราะว่าเคยเป็นสโมสรเสือป่าสมัยรัชกาลที่ 6 หนังสือพระราชนิพนธ์เยอะ ห้องสมุดใหญ่มาก ผมก็อ่านที่นั่น แล้วนิสัยชอบหนังสือมันก็มีมาตั้งแต่ชั้นมัธยมฯ อ่านหนังสือมาเรื่อย ๆ อ่านในห้องสมุดไม่พอ มาซื้ออ่านข้างนอกอีก สะสม ซื้อหนังสือมาตั้งแต่สมัยเด็กนักเรียน เพราะงั้นหนังสือจึงเยอะ The People: ส่วนใหญ่เขียนหนังสือเวลาไหน ส.พลายน้อย: สมัยก่อนเขียนกลางคืน เพราะกลางวันไปทำงาน เวลากลางคืนกลับมาเย็น อาบน้ำ กินข้าวเย็น เสร็จแล้วไม่ได้ทำอะไรก็เขียนหนังสือ บางคืนคนเร่งหน่อยก็เขียนทั้งคืน (หัวเราะ) สมัยนู้นพวกละครวิทยุเวลาเขาขาดเรื่องก็มาบอก บางทีบอกเย็น บอกปุ๊บพรุ่งนี้เช้าเอานะ เราก็ต้องเขียนตอนกลางคืน เพราะงั้นผมเขียนบทละครวิทยุด้วย มีบทโทรทัศน์บ้าง แต่นาน ๆ ที แต่หลายเรื่องเหมือนกัน สมัยนั้นเขาแอนตี้คอมมิวนิสต์กัน เขาก็จะเอามาให้เขียน รู้สึกจะเขียนไปเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องอื่น ๆ นึกไม่ออก The People: เหตุการณ์สำคัญที่เคยผ่าน มีอะไรบ้าง ส.พลายน้อย: เหตุการณ์มันคงเยอะ แต่คงไม่น่าสนใจเท่าไหร่ ชีวิตสมัยนั้น ชีวิตผมเริ่มขึ้นมาพอรู้ความก็เปลี่ยนการปกครอง เปลี่ยนการปกครองไม่รู้สึก ไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) ยังเด็กอยู่ เปลี่ยนการปกครองก็อายุ 5-6 ขวบ มารู้เรื่องก็เรื่องสงครามญี่ปุ่น อันนี้รู้มากเพราะว่าโตแล้ว เรียนชั้นมัธยมฯ 3-4 ก็รู้เรื่อง แล้วก็ได้รู้เห็นพฤติการณ์ต่าง ๆ เพราะญี่ปุ่นไปตั้งค่ายอยู่แถวบ้านที่อยุธยา ก็รู้เห็นเครื่องบินมา เป็นครั้งแรกที่เห็นเครื่องบินสมัยสงคราม แต่มันแปลกอยู่อย่าง ไอ้ความตื่นไม่เคยเห็นเครื่องบิน มันไม่กลัว เผอิญเครื่องบินที่มามันไม่ได้ทิ้งระเบิด มันมากลางวัน ยังเรียนหนังสืออยู่เลย อเมริกันมาโปรยใบปลิวแอนตี้ญี่ปุ่น ยังจำได้ใบปลิวมี...ไม่ต้องกลัว เรากำลังมาช่วยท่านอะไรอย่างนี้ เขาแอนตี้ เราก็วิ่งเก็บใบปลิวเสียมาก ไม่กลัวเครื่องบิน โชคดีเขาไม่ได้ทิ้งระเบิด (หัวเราะ)  ไอ้ที่ทิ้งระเบิดจริง ๆ มากลางคืน เป็นคืนเดือนหงายคืนหนึ่ง มาทิ้งลูกระเบิดที่สะพานปรีดี-ธำรง สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยุธยา เป็นระเบิดเวลา ทิ้งตอนกลางคืนไม่ระเบิด มาระเบิดเอาตอนเช้า ผมก็เกือบตายเหมือนกัน คือไอ้ตอนเช้ากลางวันที่ลูกระเบิดมันระเบิด ผมขึ้นไปยืน บ้านผมมีคานเรือ ก็ขึ้นไปยืนบนเรือ ที่สูงกว่าพื้นดินเราสัก 5-6 เมตร ตอนประมาณสัก 2 โมงครึ่ง เกิดระเบิดขึ้น มีเสียงฟิ้วผ่านไป ผมก็ไม่รู้ว่าอะไร จนกระทั่งคนงานที่บ้านไปแกะเอาเศษเหล็กมาให้ดูก้อนหนึ่ง เป็นเหล็กก้อนไม่โตแต่มีน้ำหนักมาก จับดูแล้วคม ผมก็นึกว่าไอ้เศษเหล็กนี่คือระเบิดนั่นเลย โชคดีมากที่ยังไม่ตาย (หัวเราะ)  สัมภาษณ์ ส.พลายน้อย: เรื่องเล่าวัย 90 ของนักเขียนผู้ \"เกิดในเรือ\" The People: ช่วงนั้นข้าวยากหมากแพงขนาดไหน ส.พลายน้อย: ไอ้เรื่องข้าวยากหมากแพงนี่มันเป็นที่ ๆ กรุงเทพฯ เดือดร้อนมากเรื่องอาหารการกิน เพราะว่ากรุงเทพฯ เขาไม่มีการปลูกผัก ไม่มีการเลี้ยงปลา ไม่มีอะไร อาหารต่าง ๆ มาจากต่างจังหวัดหมด เพราะงั้นพวกพืชผักอะไรต่าง ๆ ต้องส่งจากต่างจังหวัด คนกรุงเทพฯ ได้กินสายบัวตอนสงคราม ถามเขาแล้วบอกไม่เคยกิน สายบัวคือสายบัวสาย คือหน้าน้ำปี 2485 น้ำท่วมใหญ่เลย โอ้โห สายบัวนี่เต็มทุ่งเลยล่ะ คนแถวบ้านนอก คนอยุธยานี่เก็บสายบัวใส่เรือมาขาย ชาวกรุงเทพฯ ก็ได้กิน กินแต่สายบัวนั่นแหละ (หัวเราะ) สายบัวนี่ต้องต้มกับปลาทู ถูกกันมาก  ส่วนคนบ้านนอกไม่ค่อยเดือดร้อน ที่ไม่เดือดร้อนเพราะกินง่าย กินน้ำพริกปลาร้า กินผักก็เยอะอยู่ ผักบุ้ง สายบัวอะไรนี่กิน เขาก็อยู่กันได้ แต่เดือดร้อนเรื่องเสื้อผ้า ตอนนั้นผมเป็นยุวชนทหาร ไอ้ก่อนสงครามก็ตัดผ้าเมืองนอก ชุดหนึ่งไม่กี่สตางค์ 6 สลึง แต่ตอนหลังพอเกิดสงคราม ผ้าหายาก ต้องใช้ผ้าดิบแล้วมาย้อมเอา สมัยนั้นสีย้อมผ้าขายดิบขายดี ใคร ๆ ก็ต้องใช้ผ้าย้อม อยากสีสวยยังไงต้องซื้อย้อมเอาเอง เลยเกิดอาชีพย้อมผ้าขึ้น คนจีนป๋องแป๋งอะไรเนี่ยแหละ มันก็อย่างนั้น ขาดแคลนไปหมด เข็มก็หายาก เข็มเย็บผ้า ไม้ขีด น้ำมันก๊าด น้ำตาล น้ำตาลทรายราคาแพงมาก ไอติมเมื่อก่อนนี้เขาจะใช้น้ำตาลทราย ตอนหลังไม่มีน้ำตาลทรายก็ใช้น้ำตาลปี๊บ คนก็ไม่ชอบ ไม่อร่อยก็ไม่กิน มันก็มีลำบากนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่ถึงกับเดือดร้อน อดอยากอะไรไม่มี ข้าวก็ไม่ได้ขึ้นราคาอะไรเท่าไหร่ สมัยก่อนค่าแรงกรรมกรวันละ 50 สตางค์ ก็อยู่กันได้ ข้าวสารถังหนึ่งก็ราว ๆ 50 สตางค์ 2 สลึง ก็อยู่กันได้ ไม่เดือดร้อน ผมว่าต่อไปนี้ถ้าเกิดอย่างนั้นขึ้นมาอีกจะลำบาก เพราะว่าคนไทยเราเปลี่ยนนิสัยการกิน เคยกินแฮมเบอร์เกอร์ (หัวเราะ) กินอะไรต่ออะไรจะเดือดร้อน ผมเคยเตือนๆ นะ คนรุ่นใหม่ให้รู้จักกินน้ำพริกปลาร้า กินอาหารไทย ๆ อะไรง่าย ๆ ไว้บ้าง เวลาเกิดยากแค้นขึ้นมาจะได้ไม่ลำบาก The People: แสดงว่าเมื่อก่อนอาหารการกินหาง่าย? ส.พลายน้อย: หาง่าย แหม กุ้งเนี่ย เรียกว่าขนาดผมงมไม่เป็น ตอนหัวค่ำน้ำขึ้น เอามือไปตะปบที่ชายตลิ่งก็ยังได้เลย เอาไปกินตอนเช้า เอาไปโรงเรียนได้ ของกินสมัยก่อนเยอะ บางคนเขาบอกว่าบางครอบครัวไม่ได้ใช้สตางค์เลย แต่แกงนี่บอกว่าให้เก็บผักบุ้งไปเหอะ ผัวเขาก็คว้าแหไปทอดปลามา ได้แกงส้มกิน สะดวกชีวิตสมัยก่อน The People: เมื่อก่อนก๋วยเตี๋ยวชามละเท่าไหร่ ส.พลายน้อย: ก๋วยเตี๋ยวผมเริ่มกินตั้งแต่ชามละ 5 สตางค์ 10 สตางค์ เมื่อก่อนนี้ไปโรงเรียนก็ได้ 5 สตางค์ 10 สตางค์ ไม่มากหรอก สมัยต่อมาแพงขึ้นเป็น 50 สตางค์ ข้าวแกงบาทหนึ่ง สมัยบาทหนึ่งก็ราว ๆ พ.ศ. 2497-2498 หรือปี 2500  The People: ทันยุคโก๋หลังวังไหม  ส.พลายน้อย: อ๋อ วังบูรพาฯ รุ่นที่มีโรงหนังคิงส์ ควีนส์อะไรนี่ ทันสิ ผมมาทัน มาสักปีหนึ่งเขาก็เปิดตลาดที่วังบูรพาฯ มีอาหารหลายชนิด อาหารมุสลิมก็เยอะ แต่ส่วนมากผมอยู่กระทรวงศึกษาฯ ก็เดินมาหน่อยเดียว มากินข้าวที่วังบูรพาฯ จริง ๆ ร้านอาหารไทยหายากนะสมัยนู้น มีอยู่ที่แพร่งสรรพศาสตร์ แล้วก็มาดังอยู่ร้านกิจโภชนา เป็นร้านเล็ก ๆ อยู่ที่เทเวศร์ เผอิญผมอยู่ที่เทเวศร์ อาศัยอยู่แถวนั้น เขามีข้าวแกง มีแกงหลายชนิด ก็ร่ำรวยไปเลยร้านกิจโภชนา  The People: เคยเจอนักเลงอย่าง แดง ไบเล่ กับ จ๊อด ฮาวดี้ ไหม  ส.พลายน้อย: ผมไม่ค่อยรู้จักพวกนี้ เอาจริงนักเลงใหญ่ ๆ ก็มีหลายคน แต่นิสัยเขาไม่ค่อยส่อเป็นนักเลง อย่างพวก ถวัลย์ วงศ์เทเวศร์ พวกนักมวย เพราะพวกนี้เขาอยู่ในย่านเทเวศร์ บางลำพู ผมอยู่แถวนั้นก็เห็นเขาแล้วเฉย ๆ อันธพาลสมัยนู้นไม่เหมือนสมัยนี้ ไอ้เรื่องไปเกะกะระรานกันตามถนนหนทางไม่เคยมี ไม่เคยเจอ ไม่ค่อยมี อยู่อย่างสบาย The People: มีนักเขียนรุ่นเก่าในดวงใจหรือเปล่า  ส.พลายน้อย: สมัยก่อนก็มี ยาขอบ, ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) แม่อนงค์ (มาลัย ชูพินิจ) คือเป็นนักเขียนรุ่นชั้นครู เพราะพวกนี้ครูบาอาจารย์มักจะแนะนำว่าอ่านหนังสือของคนเหล่านี้แล้วภาษาหนังสือดีหน่อย ก็อ่านจากท่านเหล่านี้ ชอบสำนวนโวหารก็มีของยาขอบ ของศรีบูรพา เพราะใช้ภาษาชัดเจนดี ผมก็ยังอ่าน ยังเก็บหนังสืออยู่หลายเล่ม แล้วผมสนใจประวัติของนักเขียนด้วย ต้องสืบค้นหาหนังสืออะไรต่ออะไรพวกนี้ไว้เยอะ สัมภาษณ์ ส.พลายน้อย: เรื่องเล่าวัย 90 ของนักเขียนผู้ \"เกิดในเรือ\" The People: รู้สึกอย่างไรกับการได้เป็นศิลปินแห่งชาติ  ส.พลายน้อย: (หัวเราะ) อันนี้ไม่ได้นึกเลย ผมเป็นคนที่ไม่ได้คิดอะไรที่เป็นใหญ่เป็นโต ไปรับราชการผมก็อยู่อย่างนั้นเรื่อย ๆ ถึงกำหนด บางทีผู้ใหญ่ต้องมาเตือนบอก เฮ้ย สอบเลื่อนซะหน่อยสิจะได้เงินเดือนขึ้น คือมุ่งแต่งานอย่างเดียว เหมือนกับเขียนหนังสือ ถ้าไม่มีใครมาขอให้เขียนผมก็ไม่เขียนอะไร ก็เลยเป็นชีวิตเรื่อย ๆ นิสัยเลยเรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ อยู่สบาย ๆ ไม่ได้เดือดร้อนก็เอาแล้ว The People: ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ไหม  ส.พลายน้อย: แหม (หัวเราะ) เมื่อก่อนนี้สมัยหนุ่ม ๆ กินเหล้า สูบบุหรี่ นัดยานัตถุ์ 3 อย่าง คือคนไม่คิดว่าคนหนุ่ม ๆ ทำไมจะต้องนัดยานัตถุ์ สูบบุหรี่ กินเหล้าอะไร ผมกินอยู่ตั้งอายุ 18 จนถึงอายุ 30 ผมก็เลิกหมด ไม่กิน คือไม่ได้ดูแลอะไรเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าถ้าไม่สบายก็ปรึกษาหมอ หาหยูกหายาอะไรกินเท่านั้นเอง ผมเป็นโรคภูมิแพ้ ภูมิแพ้คือหายใจไม่ออก เป็นมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ เพิ่งมาหายตอนอายุ 80  The People: ในชีวิตของคนอายุ 90 ปี มองสังคมตอนนี้อย่างไรบ้าง ส.พลายน้อย: โอ้โห สังคมมันเปลี่ยนมาเป็นระดับ ๆ เปลี่ยนจากดีมาไม่ดี มันกลับตาลปัตร ไม่นึกว่าสังคมจะเป็นอย่างนี้ เปลี่ยนโฉมหน้าเหมือนเปลี่ยนฉากละครเลยล่ะ เดี๋ยวนี้เปิดโทรทัศน์ดูก็เจอรถชนกัน คนตายทุกวัน เมื่อก่อนนี้อาจจะมี แต่สื่อไม่มีนะ เราเลยไม่ค่อยได้ยินข่าวว่ามี สื่อก็จะอ่านหนังสือพิมพ์ หรือฟังชาวบ้านเล่าขานกัน ซึ่งก็น้อยมาก นาน ๆ จะได้ยินเสียที พูดกันถึงเรื่องการฆ่ากัน แต่เดี๋ยวนี้มันเกิดอยู่ทุกวัน ยังนึกอยู่ว่า เอ๊ะ เมืองไทยเราถ้าเป็นอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ตายวันละ 5 คน 10 คน คิดดูว่าปีละเท่าไหร่ หมดโลก อันนี้สำคัญ ไอ้เรื่องความรักของคนไทยเราน้อยลง ๆ ไปเรื่อย ๆ มันเกิดจากอะไร ผมว่าเท่าที่สังเกตดู คนไทยเราความจริงพื้นนิสัยมันก็ดี แต่ว่าไอ้สิ่งที่ทำให้ไม่ดีคือเศรษฐกิจ คนไม่มีอาชีพ บางคนก็ไม่คิดที่จะทำมาหากินอะไร ก็ไปคิดอะไรง่าย ๆ ที่จะได้เงินได้ทองขึ้นมา ทีนี้ถ้าคนเรามีอาชีพ ใจจะมุ่งไปที่อาชีพ จะทำยังไงให้ดี จะทำยังไงได้ คนปกครองบ้านเมือง ผมว่าลืมจุดนี้ไป