"กุมารทอง” เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ลึกลับและแฝงอยู่ในเกือบทุกประเทศฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย อินโดนีเซีย เมียนมาร์ กัมพูชา ซึ่งแต่ละประเทศก็มีรายละเอียดความลี้ลับที่แตกต่างกันไป นับเป็นความเชื่อที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมเอเชียมาอย่างยาวนาน
เวียดนาม ก็เป็นอีกประเทศที่มีความเชื่อเรื่องกุมารทอง พร้อมกับตำนานฆาตกรต่อเนื่องที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์ “กุมารทอง ราคะ-เฮี้ยน” (Kumanthong) ที่เข้าฉายในประเทศไทยในวันที่ 16 มกราคม 2563 ตัวหนังประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เปิดตัวสูงสุดในประวัติศาสตร์หนังเวียดนาม ด้วยยอดรายได้เข้าฉายวันแรกสูงถึง 6.8 พันล้านดอง หรือเกือบ 9 ล้านบาท
The People มีโอกาสพูดคุยกับสองนักแสดงนำ หว่าง เอี๊ยน จีบี (Hoang Yen Chibi) นักร้อง นักแสดง และนางแบบที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก เธอรับบท “ซอย” หญิงสาวหูนวกเป็นใบ้ผู้ล่วงรู้ความลับและเห็นทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น กับ กวาง ต๋วน (Quang Tuan) นักแสดงนำชายที่โด่งดังมากไม่แพ้กัน รับบท “ลลิว ฮวน” หมอผีผู้ใช้มนต์ดำที่ออกล่าเหยื่อมาสังเวยพิธีกรรมเรียกกุมารทอง
ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ วัฒนธรรมการดูหนังของชาวเวียดนาม และความเชื่อระหว่างไสยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ของพวกเขาเป็นอย่างไร นั่นคือประเด็นที่เราอยากฟังความคิดเห็นจากพวกเขา
[caption id="attachment_18150" align="alignnone" width="1200"]
หว่าง เอี๊ยน จีบี และ กวาง ต๋วน[/caption]
The People: คุณทั้งสองเคยมาเที่ยวประเทศไทยกันไหม
กวาง ต๋วน: ผมเคยเดินทางมาที่ประเทศไทยหลายครั้งแล้วครับ ทั้งที่มากับครอบครัว มากับทีมงาน หรือมาคนเดียว เคยไปเที่ยวสถานที่ที่เป็นวัดวาอาราม เช่น วัดพระแก้ว (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) หรือศูนย์การค้าอย่างสยามพารากอน และอื่น ๆ
หว่าง เอี๊ยน จีบี: ฉันเคยมาเที่ยวที่ไทยหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ ภูเก็ต และหัวหิน เพราะว่าทะเลไทยสวยมาก ๆ (ยิ้ม)
The People: ปกติเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ไหม
หว่าง เอี๊ยน จีบี: ฉันนับถือศาสนาพุทธ และค่อนข้างมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์นะ
กวาง ต๋วน: ผมก็นับถือศาสนาพุทธเช่นเดียวกัน เพราะตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าก็มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องไสยศาสตร์มาแล้ว ที่เวียดนาม ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นชาวกิงห์ (กลุ่มชนเผ่าที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศเวียดนาม) ผู้คนเหล่านี้ต่างมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ พอรุ่นปู่ย่าเชื่อ พ่อแม่ก็จะมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ตามกันมาเป็นระยะเวลานาน ชาวเวียดนามเชื่อเพราะความเชื่อทางไสยศาสตร์จะทำให้การดำเนินชีวิตของพวกเขาดีขึ้น (เพิ่มเติมจากผู้แปล* - ชาวเวียดนามมีความเชื่อเรื่องบรรพบุรุษค่อนข้างสูง)
The People: ในประเทศไทยจะมีความเชื่อแปลก ๆ อยู่ ของเวียดนามมีความเชื่อแบบไหนที่รู้สึกว่าแปลกใจไหม
หว่าง เอี๊ยน จีบี: มีค่ะ เช่น จานชามแตก จะทำให้เกิดเหตุร้ายหรือเรื่องไม่ดี
The People: ความเชื่อเรื่องกุมารทองแตกต่างจากไทยอย่างไร พอจะอธิบายได้ไหม
หว่าง เอี๊ยน จีบี: เรื่องนี้ฉันไม่ทราบค่ะ แต่เท่าที่ทราบ ที่เวียดนามมีคนจำนวนมากทำกุมารทองเช่นกัน ฉันไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไม่สามารถทราบได้
กวาง ต๋วน: ส่วนผมเคยได้ยินมาบ้าง แต่ก็ไม่รู้อะไรมากเลย พอได้มารับเล่นหนังเรื่องนี้จึงพอจะรู้จักมากขึ้น
[caption id="attachment_18146" align="alignnone" width="1200"]
กวาง ต๋วน[/caption]
The People: หนังสร้างจากเรื่องจริง คุณเคยได้ยินเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกันไหม
กวาง ต๋วน: เคยได้ยินมาบ้างแล้ว เหตุเกิดที่จังหวัด ด่งท้าป ตั้งอยู่ที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของประเทศเวียดนาม มีหมอผีตัดหัวของเด็กผู้หญิงแล้วเอามาทำพิธีเพื่อทำเป็นกุมารทอง
หว่าง เอี๊ยน จีบี: ก่อนหน้านี้ฉันไม่ค่อยรู้เรื่องมากเท่าไหร่ แต่หลังจากรับงานนี้ ฉันก็กลับไปค้นหาและทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ดู แต่โดยส่วนตัวแล้ว ฉันเป็นคนค่อนข้างกลัวผี แต่เพราะแม่ของฉันเป็นคนตอบรับและเซ็นสัญญาการแสดงเรื่องนี้ไปแล้ว ฉันจะไม่แสดงก็ไม่ได้ ส่วนฉันเองก็อยากลองแสดงบทบาทใหม่ ๆ ดูด้วย ก็เลยตอบตกลงไปค่ะ
The People: การรับบทหมอผีของ กวาง ต๋วน ต้องเรียนรู้ศาสตร์มนต์ดำไหม
กวาง ต๋วน: พอได้รับบทนี้ ผมเรียนรู้ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้เกี่ยวกับการสักลายและการทำเวทมนตร์ต่างๆ ครับ ช่วงแรกก็ง่าย พอค่อย ๆ เรียนไปมันก็เริ่มยากขึ้น
[caption id="attachment_18148" align="alignnone" width="1200"]
หว่าง เอี๊ยน จีบี[/caption]
The People: แล้ว หว่าง เอี๊ยน จีบี ล่ะ การรับบทเป็นคนหูหนวกเป็นใบ้ ต้องเรียนรู้การแสดงเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง
หว่าง เอี๊ยน จีบี: ส่วนที่ยากที่สุดคือภาษามือเท่านั้นค่ะ
The People: ตอนนี้ใช้ภาษามือเป็นไหม?
หว่าง เอี๊ยน จีบี: ถามว่าคุ้นชินกับภาษามือไหม? เมื่อก่อนจำได้หมดเลย และเชี่ยวชาญมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น มือ เท้า สิ่งต่าง ๆ ได้หมด เพราะว่าตอนถ่ายทำไม่ได้พูดเลย ใช้ภาษามืออย่างเดียว แต่ตอนนี้มีแต่ทำงานพูดปกติ ไม่ได้ใช้ภาษามือแล้ว ก็เลยลืมหมดแล้วค่ะ
The People: ถ้าคุณมีไสยศาสตร์เวทมนตร์ อยากมีเวทมนตร์แบบไหน
หว่าง เอี๊ยน จีบี: ถ้าฉันมีเวทมนตร์หรือมีพลัง ฉันอยากเป็นคนดี แต่ไม่ต้องเป็นถึงวีรสตรีหรอกค่ะ
กวาง ต๋วน: เหมือนกันครับ เป็นคนดีก็พอ
[caption id="attachment_18142" align="alignnone" width="683"]
กวาง ต๋วน[/caption]
The People: พอหนังเรื่องนี้ออกฉายที่เวียดนาม หนังสร้างปรากฏการณ์อะไรบ้าง
หว่าง เอี๊ยน จีบี: เนื่องจากหนังสร้างจากเรื่องจริง จึงทำให้ผู้ชมรู้สึกกลัวไปตลอดทั้งเรื่องเลยค่ะ
The People: ปกติคนเวียดนามชอบดูหนังประเภทไหน
กวาง ต๋วน: เมื่อก่อนชาวเวียดนามชอบหนังประเภทสร้างอารมณ์ขัน ผ่อนคลาย แต่ปัจจุบันหนังแอ็คชันจะได้รับความนิยมมากกว่าครับ
หว่าง เอี๊ยน จีบี: ส่วนใหญ่ชาวเวียดนามจะชอบหนังเกี่ยวกับการต่อสู้ สร้างแรงดึงดูดความสนใจให้แฟน ๆ ชาวเวียดนามค่อนข้างมาก เช่น ผลงานของมาร์เวล Avengers เป็นต้น
กวาง ต๋วน: ส่วนหนังสัญชาติเวียดนามเองก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างสูง ผู้สร้างหนังก็พยายามทำหนังของตัวเองให้ออกมาดีและมีการพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ
The People: มีหนังไทยที่มีชื่อเสียงในเวียดนามไหม
หว่าง เอี๊ยน จีบี: (หยิบมือถือหาภาพโปสเตอร์หนัง) พี่มาก..พระโขนง (2556) คนเวียดนามชื่นชอบมาก เกือบทั้งประเทศเลย หนังตลกด้วย แต่ในเรื่องก็สอดแทรกอารมณ์ความรู้สึกรักเข้าไปด้วย อีกทั้งพระเอกก็หล่อ นางเอกก็สวย
The People: ปัจจุบันมีความจริงทางวิทยาศาสตร์เข้ามาหักล้างความเชื่อทางไสยศาสตร์มากขึ้น ส่วนตัวคุณเชื่อวิทยาศาสตร์หรือไสยศาสตร์มากกว่ากัน
กวาง ต๋วน: ผมมีความเชื่อทั้งด้านวิทยาศาสตร์และไสยศาสตร์เลย แต่เชื่อด้านวิทยาศาสตร์มากกว่า ถึงอย่างนั้นก็มีบางเรื่องที่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถพิสูจน์หรือยืนยันได้ และมีบางเรื่องที่ไสยศาสตร์ก็ไม่สามารถพิสูจน์หรือยืนยันได้เช่นเดียวกัน เช่น มีคนบอกว่าสถานที่แห่งนี้มีผี ซึ่งคนที่เรียนวิทยาศาสตร์บอกว่าโลกนี้ไม่มีผี แต่พอนำเครื่องมาตรวจจับก็เจอบางสิ่งบางอย่างที่อธิบายไม่ได้เสมอ
หว่าง เอี๊ยน จีบี: สำหรับฉันคิดว่า 50:50 วิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง และไสยศาสตร์ส่วนหนึ่ง เพราะบางเรื่องก็ไม่สามารถหาเหตุผลหรือหาข้อพิสูจน์ได้ อย่างไรก็ตาม ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ชมชาวไทยจะไปดูหนังเรื่องนี้ เพราะสร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ณ ประเทศเวียดนามค่ะ
[caption id="attachment_18144" align="alignnone" width="683"]
หว่าง เอี๊ยน จีบี[/caption]
แปลโดย: ศิริลักษณ์ ก้านคำ (Le Thi Huong)