นที ศรีรัศมี TMRW อนาคตใหม่ของ GEN Y กับธุรกรรมทางธนาคารที่ต้องง่าย + สนุก

นที ศรีรัศมี TMRW อนาคตใหม่ของ GEN Y กับธุรกรรมทางธนาคารที่ต้องง่าย + สนุก
“ต่อให้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนแค่ไหน แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเงิน แล้วทำให้รู้สึก 'ยาก' มากกว่า 'ง่าย' พวกเขาก็จะยังไม่ใช้มัน” เพราะพฤติกรรมทางการเงินของกลุ่มมิลเลนเนียล หรือที่เรียกว่า GEN Y ซึ่งอยู่ในวัยตั้งแต่ 18–35 ปี ในเวลานี้ มีความต้องการลดขั้นตอนการทำธุรกรรมการเงินให้น้อยสุด โจทย์ใหญ่ตกมาถึง นที ศรีรัศมี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ยูโอบี จำกัด (มหาชน) มือกลยุทธ์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในสมรภูมิการเงินการธนาคารมากว่า 15 ปี เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจในโลกของการเงินยุคใหม่ เพราะได้ดูแลตำแหน่งสำคัญ ๆ ทั้งด้านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และการเพิ่มยอดขายผ่านสาขาธนาคาร จนทำให้ยอดขายส่วนงานที่เขาดูแลเติบโตสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อยูโอบีเห็นฟอร์มที่เข้าท่า จึงได้ดึงตัวเขามาร่วมงาน “เราทำความเข้าใจในความต้องการบริการธนาคารดิจิทัลผ่านผลสำรวจเชิงลึกกับชาวมิลเลนเนียลกลุ่มเป้าหมายกว่า 4,000 คน พบว่า GEN Y คาดหวังการทำธุรกรรมทางธนาคารที่ง่าย เช่น เมื่อเปิดบัญชีใหม่ ต้องการแค่อัพโหลดรูปถ่ายบัตรประชาชน และกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ให้น้อยที่สุด “50% ของกลุ่มตัวอย่างอยากให้ดิจิทัลแบงก์กิง ดูสนุก ไม่น่าเบื่อ และต้องการมีส่วนร่วมกับมันมากขึ้น 48% บอกว่ายินดีรับข่าวสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากธนาคาร เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถจัดการกับธุรกรรมทางการเงินได้ดีขึ้น เช่น แจ้งเตือนวงเงินการใช้จ่าย และวันครบกำหนดชำระเงิน “เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายและออมเงิน พบว่า 45% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มี ‘รายจ่าย’ มากกว่า ‘รายรับ’ ในแต่ละเดือน และเมื่อถามเจาะลึกลงไป พวกเขาอยากหาตัวช่วยควบคุมค่าใช้จ่าย และวิธีช่วยให้เกิดความอยากออมเงิน” ถ้ามองในเชิงภาพรวมของแบงก์แล้ว เราคงเห็นว่าการแข่งขันของธนาคารระดับภูมิภาค เช่น ยูโอบี ในตลาดที่มียักษ์ใหญ่ในประเทศล้อมรอบไปหมด จำเป็นต้องเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม ซึ่งเข้าสูตรกลยุทธ์การตลาดที่เจาะจง (focus strategy) มากกว่าจับตลาด mass market คล้ายกับคำเปรียบเปรยที่ว่า pick your own battle นั่นคือภาพในเชิงกลยุทธ์ “ตอนนี้จำนวนประชากรของคนไทยมากกว่า 1 ใน 3 เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล และยูโอบีเองก็ต้องการปรับทิศทางและมองคนกลุ่มนี้ให้เป็น 'อนาคต' ที่เติบโตไปพร้อม ๆ กันกับธนาคาร “นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ ยูโอบี พัฒนาดิจิทัลแบงก์ ภายใต้แบรนด์ลูกอย่าง ‘TMRW’ (ทูมอร์โรว์) เพื่อเน้นจับกลุ่มตลาดดิจิทัลเจเนอเรชันโดยเฉพาะ ซึ่งได้เปิดตัวในประเทศไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียน” นที ศรีรัศมี TMRW อนาคตใหม่ของ GEN Y กับธุรกรรมทางธนาคารที่ต้องง่าย + สนุก ก่อนจะไปถึงจุดที่ว่า TMRW จะเข้ามากระชากใจชาวมิลเลนเนียลได้ด้วยเหตุผลใด คงมีหลายคนตั้งคำถามว่า แล้ว ‘นที’ เป็นใคร เขามีบทบาทอะไรกับ TMRW “ตลอดช่วง 15 ปี ผมได้มีโอกาสเข้าไปดูแลส่วนงานต่าง ๆ ของธนาคารที่เคยได้ร่วมงานมาหลายด้านที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับผู้บริโภค ทั้งด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ มันเป็นการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา ซึ่งเข้ากับ DNA ส่วนตัวที่เป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และโชคดีที่องค์กรเปิดโอกาสให้เราได้ทำงานหลากรูปแบบ จนกระทั่งงานสุดท้ายก่อนที่ผมจะก้าวเข้ามาที่ยูโอบี ผมมีโอกาสได้ดูแลงานด้าน sale & distribution งานตรงนี้เป็นงานที่เกี่ยวกับเรื่องยอดขาย เราต้องทำอย่างไรให้ยอดขายเติบโตขึ้น ซึ่งผมว่ามันเป็นความท้าทายอย่างมากจากงานก่อน ๆ “ส่วนตัวแล้ว ประสบการณ์จากการได้เรียนรู้งานหลาย ๆ ส่วน คือ เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ขอแค่เข้าใจว่าอะไรคือโจทย์ อะไรคือปัญหา หรือข้อจำกัดที่ทีมงานอยากได้รับความช่วยเหลือ แล้วเราจะช่วยเขาแก้ปัญหาได้ด้วยวิธีการไหน แต่ไม่ใช่ว่าเราต้องเข้าไปแก้มันทั้งหมด แล้วมันจะทำให้เราสร้างผลลัพธ์ที่เป็นเส้นผมบังภูเขาได้ง่ายมาก ๆ “อย่างในส่วนการขายของสาขา ช่วงก่อนที่ผมจะย้ายมายูโอบี ผมสร้างยอดขายเติบโตได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กร ซึ่งบางคนคิดว่าผมต้องทำมาร์เก็ตติ้งเวอร์ ๆ จึงได้ผลลัพธ์ดี แต่จริง ๆ แล้ว ผมแค่เข้าไปทำความเข้าใจกับทีมงานเท่านั้น อย่างทีมขายเอง ผมเชื่อว่าทีมขายทุกคนเขามีเป้าที่จะขับเคลื่อนตัวเองอยู่แล้ว ไม่ต้องไปกระตุ้นอะไรนัก แต่การที่บางครั้งเขาขายไม่ได้ นั่นก็เพราะเจอข้อจำกัดหรือปัญหาอะไรมากกว่า” นที ศรีรัศมี TMRW อนาคตใหม่ของ GEN Y กับธุรกรรมทางธนาคารที่ต้องง่าย + สนุก สร้างความเชื่อใจให้ทีม ด้วยการทำงานแบบย้อนศร เมื่อลูกน้องตั้งโจทย์ให้เจ้านาย จาก “บนลงล่าง” สู่ “ล่างขึ้นบน” ความท้าทายคือต้องแก้ข้อจำกัด ต้องปลดล็อกศักยภาพของทีม แต่คนทำงานส่วนใหญ่จะไม่พูดหรือบอก หน้าที่ของนทีจึงต้องสร้าง TRUST เพื่อให้ทีมงานไว้ใจ กล้าพูดความจริง และนำความจริงเหล่านั้นมาเปลี่ยนเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการกลับมาช่วยทีมงาน “ปกติเราจะคุ้นเคยกับการที่เจ้านายมอบหมายงานหรือให้ไอเดียให้ทีมไปศึกษาหรือลองทำ แล้วทีมก็จะมีการกลับมาอัพเดทความคืบหน้า ว่าอันนี้ทำเสร็จแล้ว อันนี้ทำไม่ได้ หรืออันนี้กำลังทำอยู่ แต่เราอาจจะไม่ได้ทำอย่างเดียวกันกับไอเดียหรือความคิดเห็นที่ได้รับจากทีมงาน “แต่ยุคนี้ การที่คุณจะผลักดันให้องค์กรหรือธุรกิจไหนเติบโตในช่วงของการดิสรัปชันได้นั้น เราต้องดึงอินไซต์ของคนทุก ๆ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเราออกมาให้ได้ (ไม่ใช่แค่ลูกค้า) อย่างผมเอง แทนที่จะตั้งโจทย์ให้กับทีม ผมเลือกที่จะให้ทีมตั้งโจทย์ให้กับผม และต้องเป็นโจทย์จากน้อง ๆ คนทำงานจริงด้วย “ผมมักจะให้พวกเขาบอกถึงสิ่งที่คิดว่าควรมี รวมถึงปัญหามาสัก 10 เรื่อง ผมก็คอยติดตามผล ถ้าเรื่องนี้ทำได้ ‘ทำเลย’ ถ้าเรื่องไหนทำไม่ได้ เพราะเช็คแล้วผิดกฎหมาย เราก็ไม่ต้องตำหนิ แต่ตัวเราเองนี่แหละ ต้องกลับไปติดตามผลและหาความเป็นไปได้ว่ามันมีโอกาสปลดล็อกอะไรได้บ้างไหม ทำไมถึงทำไม่ได้ และทำไมถึงจะทำได้ “ทุกเรื่องที่พูดคุยกัน จึงเป็น ‘การสะท้อน’ ความคิด ไม่มีอคติ ไม่มีถูกผิด มีแต่การเปิดใจ และนั่นทำให้ทีมงานมีความเชื่อใจในผู้บริหาร เวลาเจอปัญหา หรือเจอมุมมองดี ๆ เขาก็อยากสะท้อน สิ่งเหล่านี้ล้ำค่ามากครับ เพราะเรานำไปสานต่อได้หมด” อาจจะดูเป็นเรื่องง่าย ๆ แต่นี่คือทริคที่เฉียบขาด ตามหลักคิดแบบ “down to top” ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบย้อนศรตามสไตล์ของนที เพราะเขาเองมีประสบการณ์ในการทำงานมามากมาย และส่วนใหญ่จะพบว่าเจ้านายมักจะทิ้งโจทย์และติดตามผลให้เกิดความกดดัน แต่ไม่มีทางออกหรือการแก้ไข ผลสุดท้าย พนักงานกลัว ไม่กล้าแสดงความสามารถ และผลร้ายจะย้อนกลับมาที่องค์กรเสมอ นที ศรีรัศมี TMRW อนาคตใหม่ของ GEN Y กับธุรกรรมทางธนาคารที่ต้องง่าย + สนุก TEST เพื่อ TRUST พอคนเริ่มกล้าและเปิดใจ ทริคที่เขาเลือกใช้ต่อมาในการเพิ่มผลลัพธ์และประสิทธิภาพในการทำงาน คือ การ test เพื่อสร้าง scale up ให้กับธุรกิจ “ผมมองว่ามนุษย์ทุกคนพอถูกกดดัน จะทำอะไรออกมาไม่ดี การทำงานยุคนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราไปบอกเขาว่า ‘ตอนนี้เราต้องเปลี่ยนแปลงนะ’ นี่คือการกดดัน แต่ผมไม่ทำเช่นนั้น ผมจะบอกกับทุกคนว่า ‘เรามาเทสต์กัน’ เราทดสอบกัน 3 เดือน ถ้าเซลส์ทีมนี้ลองทำแล้วมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ผมเชื่อว่าทีมอื่น ๆ ก็อยากจะทำตาม ตรงนี้เป็นทั้งจิตวิทยาและวิธีการไปในตัว เพราะพอเราบอกเป็นการทดลอง คนจะสนุกกับมัน ผลลัพธ์ชัดเจนจึงเกิดขึ้นผ่านตัวเลขหลาย ๆ ตัว เช่น ยอดลูกค้าใหม่ บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อ และการลงทุนเพิ่มขึ้นหมด ทำตัวเลขสูงที่สุดขององค์กรในช่วงนั้น ๆ ที่ผมดูแลอยู่ “ผมมองว่าการทำธุรกิจในยุคนี้ อย่าพยายามไปสร้างเรื่องใหม่ ๆ ที่เกินขีดจำกัดของทีมงาน แต่เราแค่เข้าใจว่า เขาติดขัดอะไร มันก็เหมือนท่อน้ำแหละครับ ถ้ามันมีอะไรอุดอยู่ น้ำก็ไหลไม่สะดวก ถ้าเราหาช่วงที่ตันแล้วเข้าไปทะลวงออก แค่นั้นธุรกิจก็จะเดินหน้าได้ในทางของมัน มากกว่าที่เราจะไปยัดเยียดให้ใครต้องมาเพิ่มฟังก์ชันใดในการทำงาน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของเขาลดลงไปด้วยซ้ำ” นทีพยายามเน้นย้ำว่าเขาไม่ได้ใช้คนเป็น แต่เขาเป็นคนเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละคน และพยายามที่จะดึงจุดแข็งออกมาใช้ให้มากที่สุด และคอยหาวิธีมาเสริมส่วนที่แต่ละคนยังขาดอยู่ เช่น เซลส์บางคนเก่งเรื่องการขายมาก พอเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมขาย เรากลับไปให้เขานั่งทำงานเรื่องงบประมาณ เรื่องการเงิน ทั้ง ๆ ที่เขาควรจะได้ใช้ประสบการณ์และความสามารถด้านการขายของเขาไปบริหารทีมให้มียอดขายเพิ่มขึ้น ฉะนั้นควรจะต้องหาคนถนัดงานนั้นมาสนับสนุนเขาน่าจะดีกว่า เพราะหาคนทำงบการเงิน หาไม่ยาก แต่หาคนมีประสบการณ์ขาย 20 ปี หายาก “อย่าบังคับปลาให้บิน” เมื่อเชื่อมโยงความเป็นคนที่มีความเข้าใจและเปิดรับกับทุกสิ่ง พร้อมแก้ปัญหา และเติมเต็มสิ่งใหม่ ๆ แล้ว นทีจึงมีคุณสมบัติที่ต้องตา ยูโอบี ซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการบุกเบิกวงการดิจิทัลแบงก์กิง ด้วยนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ และนั่นจึงเป็นจิ๊กซอว์ที่ลงล็อกกับ TMRW “ผมได้เข้ามาร่วมงานในโปรเจกต์ TMRW หลังจาก 1 เดือนที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทย (TMRW เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2562) และเมื่อโจทย์คือคนรุ่นใหม่ สิ่งที่ผมคิดก่อนเลย คือ อะไรคือสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ “เราทำวิจัยหนักมาก และฟังคอมเมนต์จากหลาย ๆ ส่วน สิ่งที่ได้คือการมีฟังก์ชันเดียวสนับสนุนได้ทุกคน แต่คนกลุ่มนี้เขาต้องการความต่าง” …ต่างอย่างไร…? “พวกเขาต้องการควบคุมอะไรได้ด้วยตัวเอง สะดวก รวดเร็ว และทำที่ไหนก็ได้ เดินทางอยู่ก็ต้องทำได้… “พวกเขาต้องการอะไรที่ปรับเปลี่ยนได้เพื่อตัวเอง (customized to me)” ฉะนั้น สิ่งที่นทีนึกถึง คือ TMRW จะต้องหาอินไซต์ เพื่อต่อยอดไลฟ์สไตล์ถัด ๆ ไปของลูกค้าที่มีความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้น ๆ ด้วย AI…!!! นที ศรีรัศมี TMRW อนาคตใหม่ของ GEN Y กับธุรกรรมทางธนาคารที่ต้องง่าย + สนุก “จุดเด่นของ TMRW คือการขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของโปรแกรม (machine learning) การวิเคราะห์ข้อมูล และการออกแบบอินเทอร์เฟซแก่ผู้ใช้ จะช่วยให้เกิดการเก็บข้อมูลเชิงลึกจากพฤติกรรมของผู้บริโภคล่าสุด ซึ่งจะส่งผลไปสู่การพัฒนาโซลูชัน ที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคอย่างตรงใจ “ฉะนั้นยิ่งผู้ใช้ TMRW ใช้งานมากเท่าไร ระบบ AI จะเรียนรู้พฤติกรรมการใช้งานมากเท่านั้น เพื่อนำข้อมูลไปวิเคราะห์ และนำเสนอสินค้า และบริการทางการเงินแบบเฉพาะบุคคล (personalization) ยิ่งขึ้น” ยกตัวอย่าง เช่น ตอนนี้เรามีฟังก์ชันหลัก ๆ ใน TMRW ได้แก่ ‘บัญชีเงินฝาก’ กับ ‘บัตรเครดิต’ เจ้า AI ก็จะ feed ในส่วนที่เป็นอินไซต์ของผู้ใช้เป็นการเฉพาะคอยอัพเดท เช่น คนนี้เน้นการใช้บัตรเครดิต ก็จะมี feed ขึ้นมาว่า ช่วงนี้ได้เวลาจ่ายบิลแล้ว หรือมีเงินฝากเข้ามาผิดปกติ ถ้าเราดูรายละเอียดแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นยอดปกติ ก็ปล่อยไป แต่ถ้าไม่ปกติ ก็เข้าไปทักท้วงกับร้านค้า หรือติดต่อธนาคารได้เลย การติดต่อธนาคารก็สามารถทำได้เลยโดยผ่าน chatbot ซึ่งตัว AI ที่จะทำงานให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ และถ้าบางส่วนที่ AI ช่วยไม่ได้ เราก็ยังมีเจ้าหน้าที่ live chat ที่คอยสแตนด์บายตลอด ถือว่า TMRW เป็นผู้เล่นแรก ๆ ที่ทำระบบเหล่านี้ (AI) มาใช้ AI ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มิลเลนเนียล
  • สรุปค่าใช้จ่ายรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ยอดใช้ไปเท่าใด หรือยอดเข้ามาเท่าไหร่ ช่วยให้บริหารการเงินส่วนบุคคลได้มาก
  • การใช้งานบัตรเครดิต หากมีการแจ้งเตือนรายการผิดปกติ ระบบจะขึ้นเตือนให้เช็คในจังหวะที่เพิ่งรูดเงินไปได้ทันที
  • สามารถเพิ่มวงเงินในบัตรเครดิตได้ทันที หรือจะอายัดบัตรกรณีหาย ก็สามารถทำได้ทั้งหมดผ่านแอปฯ TMRW
  • สมมติไปเที่ยวญี่ปุ่น พอกลับมา ตัวแอปฯ จะสรุปให้ว่า เราใช้เงินไปแล้วเท่าใด หรือจะได้แท็กซ์รีฟันด์คืนเท่าไหร่หลังการช้อปปิ้ง
  • Offer ลูกค้าด้วยพริวิเลจโปรแกรม โดยให้ลูกค้าได้สนุกกับการทำรายการบางอย่างแล้วจะได้พริวิเลจ อาจจะเป็นรูปแบบของการได้บัตรกำนัลไปแลกซื้อสตาร์บัคส์ เป็นต้น
“การนำ AI เข้ามาวิเคราะห์พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของคนในลักษณะนี้ จะช่วยนำเสนอฟังก์ชันที่ตรงใจของลูกค้าเฉพาะคน จาก 50 กว่ารายการของ TMRW ให้มาอยู่บนหน้าจอของลูกค้าแค่ไม่กี่รายการ โดยไม่ต้องดึงฟังก์ชันที่ไม่ได้สอดคล้องกับชีวิตของเขามารบกวนสายตา พูดง่าย ๆ คือ ‘แต่ละคนจะเห็นสิ่งที่ใช้ จากสิ่งที่ตัวเองเป็น’ นี่คือหลักการของ TMRW” นที ศรีรัศมี TMRW อนาคตใหม่ของ GEN Y กับธุรกรรมทางธนาคารที่ต้องง่าย + สนุก เกมสร้างวินัย จากแนวคิด “ฝากกระปุกด้วยแบงก์ 50” อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ TMRW ต่างจากแนวคิดดิจิทัลแบงก์กิงเจ้าอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการออมเงิน คือ การออมเงินผ่าน “เกมสร้างเมือง” ซึ่งผู้เล่นจะต้องผูก account กับบัญชีที่ชื่อว่า “City of Tomorrow” เป็นบัญชีออมทรัพย์ให้ดอกเบี้ยสูง 1.6% ตรงนี้ใครอยากมีก็โอนเงินเข้ามาออมในนี้ พอเราออมเก่ง เมืองเราจะใหญ่ขึ้น “การเอาเรื่องของเกมมาอยู่กับการเงิน เวิร์คหรือไม่ดูได้จากตอนเปิดตัว เรามีการตั้งเพดานไว้ที่ 8 เลเวล แต่ตอนนี้คนที่เล่นเกมนี้ เขาสามารถออมเงินจนตันเลเวล 8 ไปแล้ว ทำให้เราต้องขยับเพดานไปที่เลเวล 16 และปีหน้าจะปรับเป็น 24 เรียกว่าลูกค้าออมเก่งมาก เพราะเลเวลขึ้นจากการออม ตรงนี้ก็เป็นเป้าหมายของเราที่อยากให้ GEN Y รู้จักวินัยทางการเงิน เราไม่ได้อยากให้เขาเล่นเกม โดยโอนเงินเข้า 1 ล้านบาท เพราะเกมนี้ไม่ได้วัดที่จำนวนเงินในการขึ้นเลเวล แต่เราอยากให้เขาหมั่นออมอย่างสม่ำเสมอ ที่น่าอมยิ้มนิดหนึ่งคือเราได้อินไซต์จากน้องในทีม เวลาเขามีเงินเหลือ ถ้าเป็นแบงก์ 50 บาท เขาจะเก็บใส่โหลไว้ และกฎในเกมเราก็ให้โอนเงินเก็บเข้าบัญชีนี้แค่วันละครั้ง เพราะเราอยากให้ทำทุกวัน ทั้งสนุกทั้งได้วินัยไปด้วย “อย่างไรเสีย สิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ของการทำให้ใครสนใจโปรดักท์สักชิ้น ไม่ใช่การเร่งให้เกิดการเข้ามาใช้เข้ามาโหลดแบบฉาบฉวย ผมไม่ได้สนใจตรงนั้น ผมสนใจว่า TMRW จะสร้างการมีส่วนร่วม (engagement) ได้มากกว่าจำนวนลูกค้า (volume) อย่างไร ผมไม่ได้คิดว่า อยากให้มีคนดาวน์โหลดเก็บไว้ 1 ล้านคนใน 1 ปี แต่เราอยากให้มีคนโหลดเพราะอยากใช้และแฮปปี้กับเรามาก ๆ เราต้องการ 'ส่วนร่วม' ของผู้ใช้มากกว่ายอดดาวน์โหลด เพราะจะทำให้เราได้เรียนรู้ว่า ผู้บริโภคต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร เพื่อนำไปพัฒนา TMRW ให้มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ชาวมิลเลนเนียลได้โดนใจยิ่งขึ้น ๆ” นที ศรีรัศมี TMRW อนาคตใหม่ของ GEN Y กับธุรกรรมทางธนาคารที่ต้องง่าย + สนุก ปัจจุบัน TMRW มีให้ดาวน์โหลดทั้ง iOS และ Android ล่าสุดได้พัฒนามาถึงเวอร์ชัน 3.0 เรียกว่าพัฒนากันทุกเดือน เพราะนทีมองผลสะท้อนจากความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาปรับแต่งฟังก์ชันการใช้งานให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของคนที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน TMRW มีฟังก์ชันเริ่มต้นการใช้งานเกี่ยวกับ “บัญชีเงินฝาก” และ “บัตรเครดิต” เพราะอยู่ในไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตหลักของคนรุ่นใหม่ แต่พร้อมจะนำฟังก์ชันด้านธุรกรรมทางการเงินใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินเชื่อ การลงทุน เข้ามาทันที หากมีความต้องการจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ ผลลัพธ์จากช่วงเดือนเมษายน 2562 มาถึงเดือนธันวาคม 2562 ยอดความพึงพอใจของผู้ใช้งานมีมากเกินกว่า 80% และ 9 ใน 10 คนจากผู้ใช้งานมีการบอกต่อให้ผู้อื่นมาใช้ TMRW เป็นบริการธนาคารบนโทรศัพท์มือถือรายแรกในประเทศไทย ที่ผู้ใช้งานสามารถเปิดบัญชีและยืนยันตัวตนได้โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสาขา ด้วยการอัพโหลดรูปถ่าย และกรอกข้อมูลเพียงเล็กน้อย หลังจากนั้น ผู้ใช้งานสามารถไปยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน ผ่านตู้คีออสอัตโนมัติของธนาคารฯ ที่มีมากกว่า 350 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งบนสถานีรถไฟฟ้า BTS, MRT, ร้าน โอ บอง แปง, ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในจังหวัดหัวเมืองต่าง ๆ รวมถึงสาขาของธนาคารยูโอบี ใครที่สมัครใช้งาน TMRW จะได้ Everyday Account เป็นบัญชีกระแสรายวันไว้ถอนฝากแบบหมุนเวียน ส่วน City of Tomorrow เป็นบัญชีออมทรัพย์ 1.6% ที่ผูกพ่วงกับเกมออมเงิน City of Tomorrow ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tmrwbyuob.com/th/th/how-to-apply.html