โทมัส เฮนรี ฮักซ์ลีย์ บิดาแห่ง Agnosticism หมาดุพิทักษ์ดาร์วิน

โทมัส เฮนรี ฮักซ์ลีย์ บิดาแห่ง Agnosticism หมาดุพิทักษ์ดาร์วิน
“ที่ว่าบรรพบุรุษของคุณเป็นลิงเนี่ย มาจากทางสายย่าหรือสายปู่กันเหรอ?”  บิชอปแห่งออกซ์ฟอร์ด ซามูเอล วิลเบอร์ฟอร์ส (Samuel Wilberforce) ลุกขึ้นถามกลางงานอภิปรายที่ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติแห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1860 โทมัส เฮนรี ฮักซ์ลีย์ (Thomas Henry Huxley) ลุกขึ้นตอบผู้นำศาสนาว่า “ถ้าจะให้ผมเลือกใครเป็นปู่ ระหว่างลิงที่น่าสังเวช กับมนุษย์ผู้เกิดมาดีพร้อมโดยธรรมชาติ ทั้งยังครอบครองอิทธิพลหลายทางแต่กลับใช้มันเพื่อเย้ยหยันผู้อื่นในการอภิปรายทางวิทยาศาสตร์ที่จริงจังอย่างยิ่ง ผมย่อมไม่ลังเลที่จะขอเลือกลิงดีกว่า”  นั่นคือส่วนหนึ่งของการโต้เถียง (ซึ่งมีการบันทึกเอาไว้หลายสำนวน) ระหว่างนักศาสนาที่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งปวงรวมถึงมนุษย์ กับนักวิทยาศาสตร์ที่เห็นด้วย (แต่ไม่ทั้งหมด) กับทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาลส์ ดาร์วิน ทั้งยังเชื่อว่า มนุษย์ไม่อาจเข้าถึงความจริงสูงสุดได้ทุกเรื่อง และเป็นผู้ที่คิดคำว่า “Agnosticism” ขึ้นมาเพื่อใช้อธิบายภาวะดังกล่าว จากข้อมูลของ Britannica ฮักซ์ลีย์ เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1825 ที่เอลิงในมิดเดิลเซ็กซ์ ประเทศอังกฤษ มีพ่อเป็นครูใหญ่ แต่ฮักซ์ลีย์ได้เรียนตามระบบแค่สองปี อายุได้ 10 ปี จึงย้ายไปอยู่โคเวนทรีเมื่อพ่อหันไปทำงานด้านธนาคาร ส่วนตัวเขาได้ไปฝึกงานกับลุงที่เป็นศัลยแพทย์ในโรงพยาบาลท้องถิ่น ก่อนย้ายกลับมาลอนดอนเพื่อเรียนต่อด้านการแพทย์  พออายุได้ 21 ปี ก็สมัครไปเป็นผู้ช่วยศัลยแพทย์ประจำเรือ HMS Rattlesnake เรือรบหลวงซึ่งทำหน้าที่ลาดตระเวนท้องทะเลในแถบออสเตรเลียและนิวกินี ซึ่งเป็นโอกาสเดียวที่จะทำให้เขาสามารถศึกษาชีวิตของสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลังที่เขาสนใจได้ เนื่องจากสัตว์พวกนี้ตายแล้วย่อยสลายเร็ว ยากที่จะทำการศึกษาได้ในยุคนั้นที่ไม่มีเครื่องมือช่วยชะลอการย่อยสลายได้ดี เนื่องจากเรือออกไปแล้วนานกว่าจะได้เข้าฝั่ง เขาจึงต้องอยู่บนเรือเพื่อทำการศึกษาพวกมันได้ตามความตั้งใจ   หลังล่องเรืออยู่ 4 ปี ในปี 1850 ฮักซ์ลีย์ก็เดินทางกลับอังกฤษ ได้เข้าเป็นสมาชิกราชสมาคมแห่งลอนดอน และสร้างผลงานวิชาการที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง ตั้งแต่การยืนยันว่าแมงกะพรุนไฟที่มีสายระโยงระยางนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตตัวเดียว หาใช่ที่อยู่หรือการรวมกันอยู่ของสัตว์ทะเลรูปร่างประหลาด รวมไปถึงการโต้แย้งทฤษฎีทางธรณีวิทยาที่อยู่บนฐานความเชื่อของชาวคริสต์ที่ยืนยันคำบอกเล่าของคัมภีร์ไบเบิล บ้านของฮักซ์ลีย์นับถือนิกายคริสตจักรแห่งอังกฤษ แต่ตัวเขาเองเห็นใจผู้นับถือต่างนิกาย ทั้งยังสนใจเรื่องของศาสนาควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ เขาศึกษางานของนิกายยูนิทาเรียนที่เน้นเรื่องของหลักเหตุและผล ไม่ยอมรับเรื่องทวิภาวะของวิญญาณและสสาร ซึ่งเป็นการท้าทายความเชื่อสายอนุรักษนิยมที่ครอบงำองค์ความรู้ทั้งเทววิทยาและประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ตั้งแต่วัยรุ่น ฮักซ์ลีย์เชื่อเช่นเดียวกับผู้ปฏิเสธคริสตจักรแห่งอังกฤษว่า ศีลธรรมจรรยานั้น เป็นผลผลิตของวัฒนธรรม ที่มาของศีลธรรมจึงสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งกลายเป็นฐานที่มาของความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์ ความขัดแย้งทางความเชื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง และทฤษฎี agnosticism ที่มาของคำนี้นั้น เป็นผลมาจากการที่ฮักซ์ลีย์ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นสมาชิกสมาคมปัญญาชนหลายแห่ง เช่น Metaphysical Society และ X Club แต่บรรดาสมาชิกเหล่านี้ล้วนมีฐานความเชื่อทางศาสนาของตนในลักษณะใดลักษณะหนึ่งทั้งสิ้น แต่เขาเองไม่คิดว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มไหนเลย   “ผมเป็นคนที่ขาดฉลากระบุสรรพคุณ จึงอดรู้สึกอึดอัดไม่ได้ ซึ่งก็คงคล้ายกับจิ้งจอกในประวัติศาสตร์ (เรื่องจิ้งจอกหางด้วนของอีสป) ที่หางถูกกับดักตัดขาด แล้วต้องไปเผชิญหน้ากับเพื่อนฝูงที่มีหางติดก้นอยู่ ผมจึงใช้เวลาคิดและสร้างสิ่งที่ผมคิดว่าเหมาะสมกับชื่อที่ว่า ‘agnostic’ มันเป็นคำที่พุ่งเข้ามาในหัวเพื่อสื่อถึงความย้อนแย้งเรื่อง ‘gnostic’ (ภูมิปัญญา) ของศาสนจักรที่อ้างว่ารู้ไปหมดเสียทุกเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่ได้ให้ความสำคัญ ผมจึงอยากใช้โอกาสเร็วที่สุดในการประกาศมันต่อสมาคมของเรา เพื่อแสดงให้เห็นว่า ผมเองก็มีหางเหมือนกับจิ้งจอกตัวอื่น” ฮักซ์ลีย์กล่าว (OpenEdition)   agnostic ของฮักซ์ลีย์จึงเป็นคำคุณศัพท์เพื่อจะบรรยายความเชื่อของคนที่เชื่อว่า ความรู้บางอย่างคงเป็นเรื่องที่มนุษย์คงไม่อาจเข้าจึงได้ ต่างจากแทบทุกศาสนาที่อ้างว่าตนรู้ความจริงสูงสุด ขณะเดียวกันความจริงที่ว่านั้น เขาในฐานะนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้สนใจอยากจะรู้ด้วย นอกจากนี้ ฮักซ์ลีย์ซึ่งโดยตัวเองก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานโดดเด่นอยู่แล้ว ยังมีฉายาว่า “บูลด็อกของดาร์วิน” เปรียบเปรยว่าเขาเป็นคนที่คอยออกมาโต้แย้งคนที่ไม่เชื่อในทฤษฎีวิทยาการของ ชาลส์ ดาร์วิน อย่างดุดัน ฮักซ์ลีย์เจอกับดาร์วินตั้งแต่ตอนที่เขา (ฮักซ์ลีย์) ยังเป็นดาวรุ่งในวงการวิทยาศาสตร์ (1856) และดาร์วินเองก็เพิ่งจะเริ่มเขียน On the Origin of Species (1859) ก่อนกลายมาเป็นมิตรสหายที่คอยส่งเสริมซึ่งกันและกัน  แม้ฮักซ์ลีย์เองจะไม่ได้เห็นด้วยกับทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ เนื่องจากเขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากภายในอาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและนำไปสู่การกำเนิดสายพันธุ์ใหม่ได้เช่นกัน แต่เขาก็เห็นว่า ทฤษฎีที่อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ว่าเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ปาฏิหาริย์นั้นมีประโยชน์อย่างสูงต่อการรณรงค์เพื่อเสรีภาพทางวิทยาศาสตร์ไม่ให้ตกอยู่ใต้ความควบคุมของกลุ่มอำนาจเก่าที่เชื่อในพลังเหนือธรรมชาติ ฮักซ์ลีย์จึงพร้อมเข้าสู่วิวาทะต่าง ๆ โดยใช้ On the Origin of Species ของดาร์วินเป็นอาวุธสำคัญเพื่อปลดปล่อยให้คนแสวงหาความรู้ได้โดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยความเชื่อทางศาสนา แต่ฮักซ์ลีย์ก็มิได้รังเกียจหรือเห็นคนมีศาสนาเป็นศัตรู เขาเองได้รับการสนับสนุนจากนักบวชหัวก้าวหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับการตีความศาสนาของสายแข็ง บิชอปวิลเบอร์ฟอร์สที่เขาเคยโต้เถียงด้วยก็ยังเคยร่วมงานกันที่สมาคมสัตววิทยา ทั้งยังไม่ได้รู้สึกเป็นปัญหากับการใช้อำนาจทางศาสนาเพื่อประโยชน์บางอย่าง เช่น การจัดการให้ศพของดาร์วินได้ฝังที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ ศาสนสถานสำคัญในคริสตจักรแห่งอังกฤษ สำหรับงานเขียนที่สร้างชื่อที่สุดของฮักซ์ลีย์ก็คือ Evidence as to Man’s Place in Nature เผยแพร่เมื่อปี 1863 ซึ่งต่างจากงาน On the Origin of Species ของดาร์วินตรงที่งานของฮักซ์ลีย์เน้นที่รากเหง้าของมนุษย์ซึ่งนำเอาทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินมาอธิบาย ในขณะที่ดาร์วินเองเลี่ยงที่จะอธิบายในเรื่องนี้ ด้วยผลงานและบารมีที่สั่งสมมา ในบั้นปลาย ฮักซ์ลีย์ได้ดำรงตำแหน่งประธานราชสมาคมตั้งแต่ปี 1881-1885 และด้วยปัญหาฝุ่นควันอันรุนแรงของกรุงลอนดอน เขาล้มป่วยลงด้วยอาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบบวกกับอาการของโรคหัวใจ เขาจึงตัดสินใจย้ายออกจากเมืองหลวงไปอยู่อีสต์บอร์น ชายฝั่งซัสเซ็กซ์ ในปี 1890 สองปีจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ก่อนเสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวายในวันที่ 29 มิถุนายน 1895 และบิดาแห่ง agnosticism ก็ได้รับการฝังร่างในสุสานเซนต์แมรีลโบนในฟินช์ลีย์ ตอนเหนือของลอนดอน