พอซาเนียส ชู้รักผู้สังหาร ฟิลิป บิดาอเล็กซานเดอร์มหาราช
ฟิลิปที่ 2 แห่งมาเซโดเนีย (Philip II, มีชีวิตในช่วง 382-336 ปีก่อนคริสตกาล) มักเป็นที่รู้จักในฐานะพระบิดาของ อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์ผู้พิชิตเปอร์เซียและขยายดินแดนไปไกลถึงอินเดีย
เรื่องราวของฟิลิปมักถูกบดบังด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของพระโอรส แต่ฟิลิปเองก็นับว่าเป็นกษัตริย์ที่ปรีชา และนักการทหารที่ยอดเยี่ยม สามารถเปลี่ยนมาเซโดเนียที่อ่อนแอให้เป็นปึกแผ่น สร้างกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุด ทำให้นครรัฐกรีกทั้งหลายยอมสยบ
และพระองค์เองก็น่าจะเป็นผู้พิชิตเปอร์เซียได้ก่อนพระโอรสอยู่แล้ว หากไม่ถูก พอซาเนียสแห่งโอเรสทีส (Pausanias of Orestis) หนึ่งในองครักษ์ของพระองค์เองและยังเป็นชายผู้มีสัมพันธ์สวาทกับพระองค์มาก่อนลอบปลงพระชนม์ระหว่างพิธีสมรสของพระธิดาของพระองค์กับพันธมิตรทางการเมือง
ความสำเร็จของฟิลิปนอกจากเรื่องความสามารถในการรบแล้ว เรื่องการทูต และการสมรสเพื่อประโยชน์ทางการเมืองก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ขณะเดียวกัน สัมพันธ์สวาทก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่นำไปสู่จุดจบของพระองค์
เรื่องของเรื่องมาจาก เบื้องต้นพอซาเนียสแห่งโอเรสทีสเคยเป็นที่โปรดปรานของฟิลิปเป็นอย่างมาก (ในวัฒนธรรมกรีกโบราณความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายกับชายไม่ใช่สิ่งต้องห้าม) แต่ความเสน่หานั้นค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากมีชายอีกคนที่ชื่อ “พอซาเนียส” เหมือนกันเข้ามาแทนที่
ดิโอโดรุสแห่งซิซิลี (Diodorus of Sicily) นักประวัติศาสตร์จากซิซิลีผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษแรกก่อนคริสตกาล เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเขากว่าสองร้อยปีเอาไว้ว่า
"มีชาวมาเซโดเนียนรายหนึ่งนามว่า พอซาเนียส เป็นผู้มาจากตระกูลที่มีรากเหง้าในโอเรสทีส เขาเป็นองครักษ์ของกษัตริย์ (ฟิลิป) และเป็นที่รักของพระองค์ด้วยความงามของเขา เมื่อเขาเห็นว่าพระองค์ไปหลงใหลพอซาเนียสอีกราย (ชายที่มีชื่อเดียวกับเขา) เขาจึงเข้าไปต่อว่าชายผู้นี้ด้วยภาษาอันหยาบคาย กล่าวหาว่า เขาเป็นกะเทยแท้ (hermaphrodite) และพร้อมที่จะรับสนองใคร่ให้กับใครก็ได้ที่ปรารถนา
“หลังจากพยายามเก็บตัวอยู่ได้พักหนึ่ง แต่ด้วยไม่อาจทนรับต่อคำหยามเหยียดได้ พอซาเนียสคนหลังจึงไปบอกกับอัตตาลุส (Attalus) สหายคนหนึ่งของเขาในสิ่งที่เขาประสงค์ นั่นคือการแสวงหาความตายอย่างยิ่งใหญ่ด้วยความสมัครใจ จากนั้นไม่นาน ขณะฟิลิปกำลังต่อสู้กับพลูเรียส (Pleurias) กษัตริย์ของพวกอิลลีเรียนส์ (Illyrians) พอซาเนียส (รายหลัง) พุ่งเข้าตัดหน้าพระองค์และใช้ร่างของตนรับการโจมตีและเสียชีวิตต่อหน้าองค์กษัตริย์
"เหตุดังกล่าวได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก อัตตาลุสหนึ่งในชนชั้นนำในราชสำนักและเป็นผู้ที่มีอิทธิพลใกล้ชิดกับกษัตริย์ จึงได้เชิญพอซาเนียสรายแรกมาร่วมกินอาหารเย็นและมอมเขาให้เมามายด้วยไวน์บริสุทธิ์ จากนั้นจึงมอบร่างอันไร้สตินั้นให้กับเหล่าสารถีขี่ล่อที่กำลังเมามายด้วยราคะได้ย่ำยี เมื่อฟื้นคืนจากความมึนเมา ก็ให้โศกเศร้าต่อความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นกับตน (พอซาเนียส) จึงได้ร้องคดีของอัตตาลุสต่อองค์กษัตริย์ด้วยความโกรธแค้น
“ฟิลิปก็พิโรธในความป่าเถื่อนดังกล่าว แต่ไม่ต้องการลงโทษอัตตาลุสในขณะนั้น ประการหนึ่งด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว และพระองค์ยังมีเหตุด่วนที่ต้องใช้ประโยชน์จากอัตตาลุส ผู้เป็นทั้งลุงของคลีโอพัตรา ชายาองค์ใหม่ที่พระองค์เพิ่งสมรสด้วย และยังเป็นนายพลผู้กล้าหาญที่ถูกเลือกให้รับหน้าที่คุมทัพที่เดินทางไปเอเชีย ด้วยเหตุนี้ กษัตริย์พยายามคลายความแค้นของพอซาเนียสด้วยการมอบของกำนัลให้มากมาย และอวยยศเขาให้เหนือกว่าองครักษ์รายอื่น"
แต่ถึงอย่างนั้น พอซาเนียสก็มิได้คลายความแค้นลงแต่อย่างใด และเมื่อเห็นโอกาส เขาก็ลงมือสังหารกษัตริย์ฟิลิปในวันมงคลสมรสระหว่าง คลีโอพัตรา พระธิดาของพระองค์ (ชื่อเดียวกับชายาองค์ใหม่) กับ อเล็กซานเดอร์แห่งเอปิรุส (Alexander of Epirus - พี่ชายของ โอลิมเปียส [Olympias] ราชินีในกษัตริย์ฟิลิป มารดาของอเล็กซานเดอร์มหาราช)
ในบทความเรื่อง Philip and Pausanias: A Deadly Love in Macedonian Politics บี. แอนเทลา-เบอนาร์เดซ (B. Antela-Bernardez) จาก Universitat Autonoma de Barcelona อธิบายมูลเหตุของการที่พอซาเนียสต้องลงมือสังหารกษัตริย์ฟิลิป แต่กลับไม่ลงมือสังหารผู้ที่อยู่เบื้องหลังการหยามเกียรติของตนเอาไว้ว่า
ในสังคมปัจจุบัน เหยื่อของการข่มขืนย่อมถือว่าเป็น “เจ้าทุกข์” ต่ออาชญากรรมที่เกิดขึ้นเอง แต่ในสังคมกรีกโบราณนั้น โดยกฎหมาย ในคดีข่มขืน ผู้ที่เป็นเจ้าทุกข์คือ kyrios หรือผู้ปกครองของเหยื่อ
"ในประมวลกฎหมายหลายฉบับ เช่น ฉบับของเอเธนส์ ค่าสินไหมที่ปรับจากผู้ข่มขืนนั้น ผู้รับค่าสินไหมคือ kyrios ด้วยเหตุนี้ การข่มขืนจึงมิได้เป็นการล่วงละเมิดต่อหญิง หากเป็นการล่วงละเมิดต่อผู้ปกครองเพศชาย (พ่อ, สามี, ลูก, พี่ชาย ...)” แอนเทลา-เบอนาร์เดซ กล่าว ก่อนอธิบายต่อไปว่า
"ในฐานะสมาชิกในราชสำนักมาเซโดเนีย และราชองครักษ์ พอซาเนียสจึงอยู่ใต้อำนาจและการคุ้มครองของกษัตริย์ ส่งผลให้กษัตริย์มีฐานะเป็น kyrios ของเขา ด้วยเหตุนี้ทำให้เห็นอีกมุมว่า พฤติกรรมของอัตตาลุสโดยเฉพาะภายใต้บริบททางการเมืองของมาเซโดเนีย การหยามเกียรติต่อพอซาเนียส ก็เท่ากับเขาล่วงละเมิดกษัตริย์ฟิลิป"
การที่ฟิลิปไม่คิดจะเอาผิดกับอัตตาลุส ย่อมทำให้พอซาเนียสอดคิดไม่ได้ว่าตนมิได้มีความสำคัญมากพอในสายตาขององค์กษัตริย์
"เมื่อเขา (พอซาเนียส) ขอให้ลงโทษอัตตาลุส จึงเป็นการร้องขอในฐานะที่พระองค์คือ kyrios ผู้ปกครองเพศชายที่ต้องรับผิดชอบชีวิตของเขา ไม่ใช่ในฐานะที่พระองค์เป็นประมุข เมื่อพระองค์ปฏิเสธที่จะทำหน้าที่นั้น นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้พอซาเนียสรู้สึกว่าตนถูกหยามเกียรติอย่างแท้จริง และตัดสินใจที่จะสังหารพระองค์" แอนเทลา-เบอนาร์เดซ กล่าว
ความแค้นที่เกิดขึ้นภายใต้บริบทเช่นนั้น จึงน่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้พอซาเนียสลงมือฆ่าฟิลิป แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์ทางการเมืองต่อการตายของฟิลิปก็มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โอลิมเปียส ราชินีจากต่างแดนที่กำลังสูญเสียสถานะ เมื่อฟิลิปสมรสใหม่กับชนชั้นสูงของมาเซโดเนีย และอเล็กซานเดอร์มหาราช รัชทายาทที่อาจตกกระป๋อง หากฟิลิปมีรัชทายาทคนใหม่เป็นเลือดมาเซโดเนียแท้ จึงทำให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดว่า พอซาเนียสอาจมิได้ลงมือเพียงลำพัง หรืออย่างน้อยคนเหล่านี้ก็อาจจะเป็นผู้ปลุกปั่นให้พอซาเนียสคลั่งแค้นและก่อเหตุอย่างไม่ลังเลก็ได้
ขณะที่อริสโตเติล อาจารย์ของอเล็กซานเดอร์มหาราช กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างของการสังหารกษัตริย์เพียงเพื่อประโยชน์หรือแรงขับดันส่วนตัว และเห็นว่าข่าวลือเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเป็นเพียงเรื่องเหลวไหล (Britannica)