รีวิวคอนเสิร์ต บอน อีแวร์ ศิลปินโฟล์กทรอนิก้า กับวันที่ออกจากป่าพร้อมกับของแปลกอันร่วมสมัย

รีวิวคอนเสิร์ต บอน อีแวร์ ศิลปินโฟล์กทรอนิก้า กับวันที่ออกจากป่าพร้อมกับของแปลกอันร่วมสมัย

จบไปแล้วสำหรับคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบครั้งแรกในประเทศไทยของศิลปินเจ้าของรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส์ อย่าง จัสติน เวอร์นอน นักร้องนักแต่งเพลงมากความสามารถ หรือที่ทุกคนรู้จักเขาในชื่อโปรเจกต์บอน อีแวร์” (Bon Iver)

บอน อีแวร์ เพิ่งจะมีสตูดิโออัลบั้มชุดที่สี่ i,i ปล่อยออกมาเมื่อปลายปี 2019 แน่นอนงานนี้จัสตินกับผองเพื่อนก็ไม่รอช้าที่จะหอบเพลงจากอัลบั้มใหม่ชุดนี้มามอบให้แฟนเพลงชาวไทย

โชว์เริ่มเวลาประมาณสองทุ่มตรงและลากยาวไปถึงเกือบสี่ทุ่ม เรียกได้ว่ากว่าสองชั่วโมง บอน อีแวร์ โชว์เพลงจากอัลบั้มใหม่และเก่ากว่า 22 เพลง ซึ่งช่วงแรกจะเริ่มที่เพลง ‘Perth’ ผลงานจากอัลบั้มชุดที่สองก่อนจะมีการเปิดเทปของเพลง ‘iMi’ เพื่อส่งเข้าสองเพลงจากอัลบั้มใหม่ ‘We’ และ ‘Holyfields,’

บอน อีแวร์ ชวนทุกคนย้อนความหลังไปกับเพลงจากอัลบั้มชุดแรก ‘Lump Sum’ ก่อนจะส่งต่ออารมณ์ด้วยเสียงกีตาร์สนุก ๆ จากเพลง ‘666 ʇ’ และปิดท้ายช่วงนี้ด้วยโชว์การร้องทอล์กบ็อกซ์เท่ ๆ ในเพลง ‘715 - CREEKS’

รีวิวคอนเสิร์ต บอน อีแวร์ ศิลปินโฟล์กทรอนิก้า กับวันที่ออกจากป่าพร้อมกับของแปลกอันร่วมสมัย

       นอกจากนี้อัลบั้ม i,i ชุดล่าสุดของบอน อีแวร์ ก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิงอัลบั้มยอดเยี่ยมของแกรมมี่ อวอร์ดส ในปี 2020 ด้วย ไม่แปลกที่เขาจะภูมิใจนำเสนอเพลงเหล่านี้ให้แฟนเพลงชาวไทยได้ฟังกันแบบเต็มอิ่มชนิดที่เรียกว่ามายกชุด เริ่มที่ ‘U (Man Like)’, ‘Jelmore’, ‘Faith’, ‘Marion’, ‘Salem’ และ ‘Hey, Ma’

ซึ่งต่อมาในช่วงท้าย บอน อีแวร์ ก็ทยอยเล่นเพลงคุณภาพกระหน่ำใส่แฟน ๆ ต่อเนื่อง เริ่มที่สองเพลงดังจากอัลบั้ม For Emma, Forever Ago อย่าง 'Creature Fear’ และเพลงโคตรฮิตอย่าง ‘Skinny Love’

บอน อีแวร์ ปิดท้ายโชว์ในครั้งนี้ด้วยเพลง ‘____45_____’, ’33 “GOD”’, ‘Sh'Diah’ และ ‘Naeem’ ก่อนจะลาไปด้วยสามเพลงช่วง encore อย่าง ‘Blood Bank’, ‘Holocene’ และ ‘RABi’

set-up ในโชว์นี้ของพี่หมีจากวิสคอนซิน มาแบบแปลก ๆ สมคำร่ำลือ เขามาพร้อมกับนักดนตรีอีกห้าชีวิตที่มีความเป็น multi instrumentalists ในตัว คุณจะสังเกตได้ว่าทุกคนล้วนทำหน้าที่มากกว่าหนึ่งอย่างเสมอ จากมือคีย์บอร์ดสักพักโดดไปเล่นกีตาร์ มือแซกโซโฟน ก้าวไปหยิบเบสมาดีด หรือแม้กระทั่งตัวจัสตินที่ดีดกีตาร์อยู่ดี ๆ ก็ไปจิ้มคีย์บอร์ดเล่นซะอย่างงั้น นอกจากนี้ทุกคนสามารถร้องประสานได้ด้วย ซึ่งนี่น่าจะเป็นโชว์การแสดงสดที่มีไลน์มากที่สุดในช่วงหลายปีมานี้ หากไม่นับวงที่มี format แบบออร์เคสตราหรือบิ๊กแบนด์

ดนตรีของ บอน อีแวร์ มีไลน์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะเสียงสังเคราะห์และเสียงกลอง แม้รายละเอียดของเพลงจะดูอัดแน่นมาก ๆ จนฟังค่อนข้างยากมาก แต่ส่วนตัวผมว่ามันเป็นความแปลกที่แฝงคุณภาพครับ ฮาร์โมนีและเมโลดี้ในเพลงของเขาจับทางยากซะจนทำเราอดคิดไม่ได้ว่าคนเราคิดอะไรแปลก ๆ แบบนี้ได้ด้วยเหรอ?" อีกมุมหนึ่งมันคือความกล้าหาญชาญชัยที่อยากจะแตกต่างนั่นเอง สมกับที่พี่แกหนีไปทำเพลงในป่าตั้งนาน

รีวิวคอนเสิร์ต บอน อีแวร์ ศิลปินโฟล์กทรอนิก้า กับวันที่ออกจากป่าพร้อมกับของแปลกอันร่วมสมัย

อีกหนึ่งสิ่งที่ผมชอบสำหรับโชว์นี้คือการใช้กลองสองชุดตีในหนึ่งเพลง ซึ่งวงทำออกมาได้สร้างสรรค์และน่าสนใจมาก หากคุณมองลึกลงไปในรายละเอียดจะเห็นได้ว่าเหตุผลที่เขาเลือกใช้กลองสองชุด เพราะต้องการให้มือกลองอีกคนคอยเติมเสียงในจังหวะที่มือกลองหลักทำไม่ได้นั่นเอง สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ตอนที่มือกลองคนแรกใช้ไม้ Timpani stick คอยตีกลองทอมให้เสียงออกมานวล ๆ ส่วนอีกคนใช้ rute drum stick ตีที่สแนร์ตลอดเวลาเพื่อให้เสียงออกมามีความกระด้างไม่เป็นเม็ด ซึ่งเหมาะกับดนตรีโฟล์กแบบนี้ พูดง่าย ๆ คือมือกลองคนที่สองทำหน้าที่เหมือนเป็นมือเพอร์คัสชั่นโดยใช้เสียงกลองชุดใน set-up ที่ต่างออกไป ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่การแย่งกันตี แต่เป็นการช่วยกันเติมเต็มภาคริทึ่มเซ็คชั่นให้สมบูรณ์

ทิ้งท้ายคอนเสิร์ต บอน อีแวร์ ในครั้งนี้ ภาพรวมที่ออกมาดีงามแบบแปลกๆทั้งเรื่องวิชวลและซาวนด์ และโดยเฉพาะเรื่องของเสียง เพราะฮาร์โมนีในดนตรีที่ออกมาของพี่แกมันล้ำขึ้นเรื่อย ๆ และนี่คือโชว์ที่เต็มไปด้วยฮาร์โมนีที่แฝงริทึ่มมิกแปลกๆ มากมายให้ค้นหา ถ้าจะให้หาคำนิยามสั้น ๆ ของโชว์นี้ก็น่าจะเป็นสุ้มเสียงแบบอะคูสติกที่ลงตัวกับความร่วมสมัยในโลกปัจจุบัน

รีวิวคอนเสิร์ต บอน อีแวร์ ศิลปินโฟล์กทรอนิก้า กับวันที่ออกจากป่าพร้อมกับของแปลกอันร่วมสมัย