17 ม.ค. 2563 | 20:18 น.
แจ็คกี้-อดิสรณ์ พึ่งยา เจ้าของนามปากกาว่า “JACKIE” ถือเป็นนักข่าวกีฬา และคอลัมนิสต์ฟุตบอลชื่อดัง ที่หลงใหลในทีม “หงส์แดง” ลิเวอร์พูล มาทั้งชีวิต ใครที่ติดตามชมฟุตบอลคงจะรู้กันดีว่าจุดสูงสุดบนยอดเขาแห่งความสำเร็จในกีฬาชนิดนี้ คือ “การเป็นแชมป์” แม้ทีมหงส์แดงจะเป็นยอดทีมที่มีผู้ติดตามทั่วโลกและผ่านการคว้าแชมป์มากมาย แต่มีเพียงยอดเขาเดียวที่พวกเขายังไม่สามารถปีนขึ้นไปถึงได้ในช่วงสามทศวรรษหลัง ยอดเขานั่นมีชื่อว่า “พรีเมียร์ลีก”
ในขณะเดียวกันแจ็คกี้ เองก็เป็นหนึ่งในแฟนบอลทีมจากย่านเมอร์ซีไซด์ที่รอคอยความสำเร็จนี้มากว่า 29 ปี แม้มันจะเป็นการรอคอยที่ยาวนาน แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านการใช้ชีวิตในฐานะ “The Kop” ก็ทำให้เขาได้พบความหมายของชีวิตที่เรียกว่า “ความสุขจากการรอคอย” นอกจากนี้ลิเวอร์พูลยังเปรียบเป็นเหมือนเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจเติมเต็มชีวิตที่ขาดของเขาด้วยเช่นกัน
วันนี้ The People ได้มีโอกาสคุยกับชายคนนี้ในหลากหลายประเด็นเริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นในฐานะแฟนหงส์ จนมาวันที่การรอคอยใกล้จะสิ้นสุด...
The People: ฟุตบอลและลิเวอร์พูลเข้ามาอยู่ในชีวิตได้อย่างไร
อดิสรณ์: ตอนเด็ก ๆ ตั้งแต่เกิดผมจะอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะแม่ต้องมาทำงานที่กรุงเทพฯ แต่จริง ๆ พื้นเพปู่ย่าตายายเป็นคนสุพรรณบุรี เราก็โตที่กรุงเทพฯ จนจบอนุบาล ก่อนจะขึ้นป.1 ตอนนั้นแม่คิดว่าส่งผมไปอยู่สุพรรณฯ ดีกว่า เพราะเขาต้องทำงานเยอะ เดี๋ยวกลัวจะดูแลเราไม่ดี ก็เลยส่งผมไปอยู่กับป้าและญาติที่สุพรรณฯ ชีวิตหลังจากนั้นก็เป็นชีวิตของเด็กต่างจังหวัดที่เรียนหนังสือตามปกติ แล้ววันหนึ่งก็มีเรื่องฟุตบอลเข้ามา เด็กผู้ชายจะเป็นอะไรที่โตมาแล้วมันอยู่กับลูกฟุตบอล แต่ก่อนลูกฟุตบอลพลาสติกลูกละ 50 สตางค์ ความสุขของเด็กผู้ชายคือเตะบอลพลาสติก ปั่นไซด์ได้ ลูกมันจะเตะไปลอยไปไหนก็ได้อย่างที่เราจินตนาการ ก็เล่นกัน เด็ก 10-20 คนกับลูกบอลใบเดียว ผมว่าใครหลายคนก็มีจุดเริ่มคล้าย ๆ กัน แล้วก็จำได้ว่ามีโอกาสนั่งดูฟุตบอลอยู่กับคุณตา เพราะคุณตาจะมีความรู้เรื่องฟุตบอลนอก เวลาดูด้วยกันเขาก็จะพูดถึงเปเล่ เขาจะพูดถึงทอสเทา แต่เขาก็จะบอกว่าคนพูดถึงเปเล่เยอะ แต่สำหรับเขาทอสเทาเก่งกว่าเปเล่ เราก็งง ๆ เพราะเป็นเด็ก
ครั้งหนึ่งเราดูฟุตบอลโลกนัดชิง 1978 ด้วยกัน ผมไม่แน่ใจว่าเป็นสัญญาณสดหรือไฮไลท์ แต่นั่นคือฟุตบอลโลกครั้งแรกที่ผมได้ดู ตอนนั้นผมน่าจะอายุสัก 8 ขวบได้ จากนั้นช่วงประถมผมก็จะเข้าไปห้องสมุดบ่อย ก็จะมีหนังสือที่เขามาบริจาค พวกหนังสือกีฬาและการ์ตูน พวกสตาร์ซอคเก้อร์ เราก็นั่งอ่านแล้วก็ดูรูปแอ็คชั่น ส่วนหนังสือพิมพ์ผมเริ่มที่ไทยรัฐอยู่แล้ว เขาก็จะพาดข่าวกีฬาสั้น ๆ “หงส์แดงลิเวอร์พูลจ่าฝูง” มันจะมีชื่อนี้บ่อยมาก เหมือนกับชื่อนี้เข้ามาในหัวเรามากกว่าทีมอื่นตลอดเวลา เราก็เอ๊ะ ยังไง แล้วก็ไปค้นในสตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์ เพราะสงสัยว่าหงส์แดงลิเวอร์พูลคืออะไร จะบอกว่าเชียร์ก็ไม่เชิง เพราะว่าตอนนั้นเราแค่อยากจะรู้จักเรื่องราวทีมนี้ กับเพื่อนที่เตะบอลด้วยกันก็จะพูดกันถึงลิเวอร์พูลหงส์แดง แต่ข่าวก็จะมาช้ากว่า ไม่เหมือนยุคนี้ที่ข่าวสารมาเร็วมาก ยุคนั้นต้องรอ ลิเวอร์พูลเตะไปแล้วเอฟเอคัพ แล้วปรากฏว่าแพ้แมนฯ ยูฯ อ้าว ทำไมลิเวอร์พูลเก่งกว่านี่หว่า แล้วแพ้ได้ยังไง ตอนเด็ก ๆ ก็จะพูดคุยกันแบบนี้
พอโตขึ้นเราเริ่มตาม ยิ่งถี่มากขึ้น ยิ่งอ่านในสตาร์ซอคเก้อร์ยิ่งมีเรื่องลิเวอร์พูลเต็มเลย ยุค 80s ไม่ว่าจะเป็นคำว่า Red Machine, เครื่องจักรสีแดง, หงส์แดงตะแคงฟ้า, หงส์แดงตะแคงยุโรป, ลิเวอร์พูลได้แชมป์ เราก็ได้รับรู้ ได้ดูแล้วก็ตามผลการแข่งขัน เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ตอนนั้นสตาร์ซอคเก้อร์ต้องรออาทิตย์ละครั้งกว่าจะออกแต่ละฉบับ ถ้าอ่านจบก็คือจะไม่มีอะไรทำเลย เราก็จะค่อย ๆ อ่านทีละ 3-4 หน้า แล้วผมจะชอบอ่านเรื่องแปล, บทความ, เรื่องตอบจดหมาย หรือรูปแบบการทำทีมต่าง ๆ ของพี่ ย.โย่ง (เอกชัย นพจินดา) เราก็รู้สึกว่าเราโตมากับฟุตบอล ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่าวันหนึ่งจะมาทำเป็นอาชีพได้ เราไม่เคยคิดถึงว่าเรื่องการจะมาเป็นนักข่าวกีฬา มาเป็นผู้ประกาศข่าว หรือว่าผู้บรรยาย ทุกอย่างมันเกิดมาจากที่เราโตมากับกีฬา และเราชอบ
The People: เรียกได้ว่าลิเวอร์พูลไม่ใช่รักแรกพบของคุณเสียทีเดียว?
อดิสรณ์: ใช่ เพราะว่าเราไม่ได้ดูเขาเล่น เรารู้จักกันผ่านตัวหนังสือ รู้จักจากภาพนักเตะ รู้จักจากข้อมูลที่ได้อ่าน แล้วเราไปโฟกัสกับทีมนี้มากเป็นพิเศษ กว่าจะดูลิเวอร์พูลแบบเป็นเรื่องเป็นราวก็ขึ้นมัธยม เพราะตอนนั้นเริ่มมีไฮไลท์ให้เราได้เห็น เหมือนว่าทีมนี้เข้ามาอยู่ในชีวิตเราไปเลย โดยที่เราไม่รู้ตัวว่าลิเวอร์พูลคือทีมที่เราต้องเชียร์ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าชื่อคำว่าลิเวอร์พูลเป็นชื่อที่ดูคลาสสิก อย่างแมนฯยูฯ ก็แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อก่อน ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส เขาก็จะชื่อยาว ๆ หน่อย ลิเวอร์พูลเป็นชื่อเมืองด้วย ฟังดูแล้วรู้สึกชอบ แต่ถ้าบอกว่าเป็นความประทับใจแรกคงไม่มี น่าจะเป็นเรื่องชื่อมั้ง
The People: เกมแรกที่ประทับใจในลิเวอร์พูล?
อดิสรณ์: ถ้าเป็นเกม ผมว่าน่าจะเป็นปี 1981 ที่ลิเวอร์พูลเข้าชิงเจ้ายุโรปกับเรอัล มาดริด ในความรู้สึกของคนที่ตามอ่านฟุตบอลก็น่าจะรู้ว่า เรอัล มาดริด คือสุดยอด คือเจ้ายุโรป แล้วลิเวอร์พูล โอเค...ก็เก่งแหละ แต่ก็มีคำถามว่าจะไหวไหม สุดท้ายลิเวอร์พูลก็จัดการได้ เราแบบ โห เก่งจริงเว้ย ล้มเจ้ายุโรป คุณล้มราชันชุดขาวได้ สุดยอดมากเลย เก่งจริง ๆ เลยนะ คุณล้ม King of Europe ตัวจริง ถ้าพูดถึงเกมน่าจะเป็นแมตช์นั้น
The People: จากเด็กที่ชอบฟุตบอล ชีวิตตกตะกอนกลายเป็นเป็นนักข่าวได้อย่างไร
อดิสรณ์: ถ้าเป็นเด็ก ความฝันคืออยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ พูดตรง ๆ แต่เส้นทางหรือวิธีการจะไปสู่ตรงนั้นมันไม่มี มีแต่ความฝัน อยากเป็นเหมือน ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน แต่ตอนนั้นเราก็คิดว่าถ้าไม่ได้เป็นนักฟุตบอลทีมชาติก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวเรียนจบครุศาสตร์แล้วไปเป็นครูก็ได้ เป็นโค้ชก็ได้ แต่ตอนเรียนจบก็เป็นจังหวะชีวิตที่ระหว่างรอรับปริญญา รอสอบบรรจุ ปรากฏว่าทางสยามกีฬารับนักข่าวกีฬาต่างประเทศ เราก็ได้งานนั้น เราก็ลืมเรื่องเป็นครูเลย
พอเข้าไปทำงานแล้ว ตอนนั้นที่สยามกีฬาจะส่งคนไปประจำที่อังกฤษ ซึ่งรุ่นแรกที่บุกเบิกก็คือพี่น้องหนู-ธราวุธ นพจินดา, พี่จ๊ะ-สาธิต กรีกุล และ พี่กบ-กิตติกร อุดมผล ตอนนั้นพี่หนูกับพี่บิ๊กจ๊ะกลับมาเมืองไทยพอดี พอเรารู้ว่ามันมีโอกาสจะได้ไปทำข่าวที่อังกฤษ เราก็เริ่มทำงานตรงหน้าให้ดีเพื่อที่จะทำให้ผู้ใหญ่ไว้วางใจแล้วก็ส่งเราไปแบบพี่ ๆ เขา ตอนเริ่มก็คิดแค่นั้น
ตอนนั้นที่คนอื่นเขียนก็จะเป็นข่าวบอลอังกฤษเสียเยอะ มีของอิตาลีหรือเยอรมนีบ้าง แต่ว่าฟุตบอลสเปนไม่มีใครบุกเบิกหรือทำกันมาก แม้จะมีทีมหรือนักเตะดัง ๆ เยอะ ผมก็เลยไปเรียนภาษาสเปน ปรากฏว่าน่าจะปี 1995 ช่อง 3 ถ่ายทอดสดฟุตบอลถ้วยยุโรป ตอนนั้นอาร์เซนอลชิงกับ รีล ซาราโกซ่า พี่จ๊ะเขาพากย์คู่กับพี่หมู-นพนันท์ ศรีศร แล้วพี่หมูไม่สบาย พี่จ๊ะเห็นว่าทีมอังกฤษเจอกับทีมสเปน แล้วเราก็ทำพื้นที่บอลสเปนอยู่ เขาเลยโทรมาบอกว่า “หนุ่มแกช่วยพี่หน่อย พอดีพี่หนูไม่สบาย มาช่วยพากย์หน่อย” เราก็ว่า โห พี่ ผมจะทำได้เหรอ ผมไม่เคยพากย์ แกบอกไม่เป็นไรเดี๋ยวฟังพี่ ทำตามที่พี่บอก พี่จ๊ะก็จะสอนทุกอย่าง นั่นคือพากย์บอลสด ๆ ครั้งแรกกับบิ๊กจ๊ะ แล้วเป็นการที่เราแหย่เท้าเข้าไปในวงการทีวีโดยที่เราไม่คาดคิด ไม่ได้รู้ตัว
The People: การเป็นนักพากย์ให้อะไรกับเราบ้าง
อดิสรณ์: การเป็นผู้บรรยายก็เหมือนเป็นสื่อกลางในการบรรยายเกมกีฬาทั้งสองฝั่ง แน่นอนคนก็ต้องจับตามองดู แบบคนพากย์เชียร์ลิเวอร์พูลแล้วจะเอนเอียงไหม คือความรู้สึกคนจะปักธงไปแล้ว ในมุมผมถ้าเราทำหน้าที่ของเราอย่างครบถ้วนไม่ได้ใช้ความรู้สึก ตัดเรื่องความรู้สึกไป เอาหน้างานเลย บอลฟาวล์ก็คือฟาวล์ ผมว่าอันนั้นคือสิ่งแรกที่ทำให้รู้สึกว่าเราได้ทำงานตามหน้าที่แล้ว ตลอดการทำงานบรรยายมันเป็นการทำงานแบบสด ๆ หน้างาน ไม่ได้เขียนหนังสือแล้วเอาปากกาเอาอะไรลบได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีอะไรผิดพลาดไป ก็เป็นจุดที่จะทำให้คนดูขาดความน่าเชื่อถือในการพากย์ ยิ่งเวลาผ่านไปเราก็ต้องระวังในการทำงานมากขึ้น ต้องใส่ใจตลอดเวลา มีสมาธิตลอดเวลา ก็ช่วยพัฒนาตัวเราด้วย
การบรรยายกีฬาช่วยพัฒนาตัวเราได้เยอะเหมือนกัน เพราะเราจะรู้หน้างานเลยว่านัดไหนเรามีข้อผิดพลาด มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง เราจะได้รู้จากตรงนั้น ครั้งต่อไปเราต้องลดอะไรบางอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้น ก็ช่วยให้เราปรับปรุงตัวเองเพื่อไปใช้กับงานอื่นได้ ผมว่าการเขียนหนังสือมันยังได้ทวนหรือเอามาตัดคำอะไรได้ก่อนที่จะส่งต้นฉบับ หรือพอเป็นต้นฉบับก็มีคนตรวจทานให้เราอีกกว่าจะออกพิมพ์ แต่การบรรยายกีฬาสด ๆ หรือการอ่านข่าวกีฬามันผิดไม่ได้เลย ต้องใช้คำว่าผิดไม่ได้ คือผิดได้จริงแต่ว่าไม่ควรผิด สิ่งเหล่านี้มันสอนเรา ผมว่าผมเรียนรู้จากการบรรยายได้ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน
The People: รับมืออย่างไรกับการถูกแฟนบอลฝ่ายตรงข้ามถากถาง
อดิสรณ์: ถ้าเรื่องทำงาน อย่างเรื่องการบรรยาย การเขียนวิเคราะห์ เราก็มีจุดของเราอยู่แล้ว ผมว่ามันค่อนข้างชัดเจน อย่างถ้าเราดูเกมเหมือนกับทุกคน ผมก็อาจจะดูละเอียดหน่อย อาจจะดู 2-3 รอบ แล้วก็เอามาเขียนวิเคราะห์ให้คนเข้าใจ เพราะว่าเราเคยเป็นนักฟุตบอล เคยได้รับความรู้จากโค้ชฟุตบอลทีมชาติที่มาสอนเราหลาย ๆ คน เราก็อยากจะเอาความรู้นั้นมาถ่ายทอด เราก็ค่อนข้างละเอียดตรงนี้ เพราะฉะนั้นเวลาเขียนงานหรือบรรยาย เราก็จะมีจุดที่ว่าไม่จำเป็นต้องไปใช้ความรู้สึกในการบรรยายหรือการเขียน เราต้องเอาความรู้เข้าว่า ตัดคำว่าความรู้สึกออก
แต่ว่าในโลกยุคใหม่ โลกโซเชียลมันถึงตัวแล้ว ผมเล่นทวิตเตอร์เป็นหลัก ก็จะมีเข้ามาหยอก ๆ แต่เข้ามาหนัก ๆ ก็เยอะเหมือนกัน เราก็บล็อก อย่างทวิตเตอร์เขาคุยเรื่องฟุตบอลกันเป็นเรื่องเป็นราว ทำไมต้องลงตัวนี้ อย่างนี้อย่างนั้น คือเป็นความสนุกของเราด้วย แล้วก็ของแฟนบอลที่เป็นฟอลโลเวอร์ของเรา แต่เราก็จะมีบางอย่างที่อยากจะจำกัดไว้ เช่น พวกที่ล้อเป็ด ถ้าใครเข้ามาเล่นทวิตเตอร์แล้วมาพิมพ์คำว่าเป็ดผมบล็อกนะ โห มาเต็มเลย เป็ด เป็ด เป็ด เราก็แกล้งไล่บล็อก (หัวเราะ) ปรากฏว่าเขาพยายามหาทางติดต่อผม แล้วบอกว่า พี่ ทำไมต้องจริงจัง ผมแค่ล้อเล่นนู่นนี่นั่น พี่อย่าบล็อกผมได้ไหม ส่วนใหญ่แล้วก็จะประมาณนี้
The People: ทำไมต้อง “เป็ด”
อดิสรณ์: เป็ดก็เหมือนไม่เก่งไง เหมือนดูถูก เพราว่าเป็ดคือไม่เก่ง บินก็บินได้นิดหนึ่ง แต่ลิเวอร์พูลเป็นหงส์ไง เป็นสัตว์ปีก ผมก็ไม่รู้ใครเริ่มนะ ที่เขาเรียกกันว่าเป็ด แต่ก็โอเค ก็เป็นคำเยาะเย้ยที่ดูแล้วเจ็บปวดเหมือนกัน เพราะว่าลิเวอร์พูลก็ล้มเหลวมาตลอด เขาก็เรียกเป็นเป็ด
The People: สำหรับคุณ คู่แข่งตลอดกาลของลิเวอร์พูลคือทีมไหน
อดิสรณ์: อันนี้ค่อนข้างชัด คือตอนผมเด็ก ๆ ลิเวอร์พูลจะเก่งใช่ไหมครับ เจอใครก็ชนะทั้งหมด แต่เวลาเจอแมนฯ ยูฯ ก็จะค่อนข้างยาก แล้วแมนฯ ยูฯ สมัยก่อนคือเจอพวกท้ายตาราง พวกบ๊วย อยู่ ๆ ก็แพ้ดื้อ ๆ เลย แต่พอเจอลิเวอร์พูลก็จะมีพลังแฝงขึ้นมาเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเล่นที่โอลด์แทรฟฟอร์ด เขาจะมีพลังแฝงอย่างยิ่ง
ลิเวอร์พูลยุคเก่งกาจ พวกยุคจอห์น บาร์นส์, เอียน รัช นำ 3-1 ยังไม่ชนะเลยครับ ก็รู้สึกว่าทำไมแมนฯ ยูฯ มันแปลก ๆ วะ แต่พอเราเริ่มอ่าน อ๋อ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มีที่มาที่ไป มันเป็นทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องฟุตบอล เป็นเรื่องความสำเร็จที่เปรียบเทียบกัน ผมว่ามันก็เลี่ยงไม่ได้ เพราะวันหนึ่งช่วงเวลาที่ลิเวอร์พูลยิ่งใหญ่ แมนฯ ยูฯ ช่วงสมัยเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน มาทำใหม่ ๆ ก็ยังเป็นรอง แต่วันหนึ่งฟุตบอลเปลี่ยนจากดิวิชันหนึ่งเดิมเป็นพรีเมียร์ลีก แมนฯ ยูฯ ก็ก้าวเข้ามายึดบัลลังก์ตรงนี้ เพราะฉะนั้นลิเวอร์พูลก็ค่อย ๆ ล้มเหลว มีแต่แมนฯ ยูฯ ที่ประสบความสำเร็จ ก็ชัดเจนมันเป็นการเปรียบเทียบ ยิ่งเป็นยุคที่เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นผู้นำด้วย “เราจะน็อกลิเวอร์พูลให้ตกบัลลังก์” เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เขาก็มีเป้าหมายชัดเจน นอกจากทำให้แมนฯ ยูฯ เป็นแชมป์ แมนฯ ยูฯ ต้องกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งด้วยการแซงหน้าลิเวอร์พูล ผมว่ามันค่อนข้างชัดนะ ถึงทุกวันนี้ก็คงจะไม่มีทีมไหนที่จะเป็นคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อเท่ากับลิเวอร์พูล-แมนฯ ยูฯ อีกแล้วในทุกเรื่อง ทุกด้าน แต่อาจจะยกเว้นปีสองปีนี้ (หัวเราะ)
The People: ในฐานะเด็กหงส์ คุณคิดว่าคู่ปรับตลอดกาลทีมนี้จะได้แชมป์อีกเมื่อไหร่
อดิสรณ์: (หัวเราะ) ผมมองเรื่องเดียวเลย มันคือ balance of nature คือวัฏจักรของกีฬา ถึงจุดที่ตกก็ต้องเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็จะต้องไปหาจุดที่จะค่อย ๆ ไต่ขึ้นมา ซึ่งก็บอกไม่ได้เหมือนกัน แต่ผมไม่เชื่อนะว่าถ้าผู้บริหารแมนฯ ยูฯ ใช้แนวทางเดียวกับแมนฯ ซิตี้ ที่ทุ่มซื้อโค้ช ซื้ออะไรอย่างนี้ ซึ่ง ณ เวลานี้มันกลายเป็นเรื่องยากสำหรับยอดฝีมือที่จะมาทำแมนฯ ยูฯ แล้ว เพราะถ้าคุณดูทรัพยากรคนอะไรหลาย ๆ อย่าง คุณต้องใช้เงินเท่าไหร่ แมนฯ ซิตี้ เขาค่อย ๆ เติมมาเรื่อย ๆ ไง มันเติมพวกกุน (เซร์คิโอ อเกวโร่) เขาก็เล่นกันมาตั้ง 10 ปี จนกอมปานีเลิกเล่นไปแล้ว ดูอย่าง ดาบิด ซิลบา เขาอยู่แมนฯ ซิตี้ มาตั้ง 10 ปี ได้แค่ 4 แชมป์เอง มันก็ไม่ง่าย นี่แค่ 10 ปีของแมนฯ ซิตี้ ขนาดใช้เงินมาก ทีมเป็นพันล้านปอนด์ ผมมองว่าแมนฯ ยูฯ ก็ค่อนข้างยากตรงนี้ มันจะเป็นจุดที่อยู่แถวนี้ตำแหน่ง 4-6 หลายปีกว่าจะไต่ขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่ได้บอกว่าเพราะเป็นแมนฯ ยูฯ ผมมองว่าก็ต้องรอหน่อย รอหน่อยแป๊บเดียว 20 ปี อะไรอย่างนี้
The People: ถ้าลิเวอร์พูลได้แชมป์ สิ่งแรกจะทำอะไร
อดิสรณ์: ไม่มีครับ ไม่ได้มีเป็นเดิมพันว่าลิเวอร์พูลได้แชมป์จะโกนหัวโกนหนวด ผมเฉย ๆ มีพรรคพวกที่สนิท พวกรุ่นน้อง อย่างตอนที่ได้แชมป์ยุโรปก็มาชวนไปขึ้นรถกระบะ ผมเลยบอกว่าไม่เป็นไร เราก็เป็นคนแบบนี้ไง แบบง่าย ๆ ก็เดี๋ยวมากินกัน นัดกินข้าวกันแล้วก็นั่งคุยกัน ชนแก้วอะไรสนุกสนานกัน นี่ก็เป็นความสุขแล้ว มันเป็นความสุขของเรา เราชอบแบบนี้มากกว่า แต่จะไปวิ่งรอบสนาม 10 รอบ โกนหัวเลย คงไม่ใช่ ผมว่าผมไม่ทำ ก็ถ้าลิเวอร์พูลได้แชมป์พรีเมียร์ลีกก็...เชิญด้วยแล้วกันครับ มากินกัน สนุกดี (หัวเราะ)
The People: ช่วงชีวิตส่วนใหญ่ของการเป็นแฟนบอลลิเวอร์พูล ต้องอยู่กับการรอคอยมาตลอด?
อดิสรณ์:อย่างผมเริ่มเชียร์สมัยเด็ก ๆ เราก็โอเค ลิเวอร์พูลเคยยิ่งใหญ่ ประสบความสำเร็จทุกอย่าง ได้แชมป์หลายรายการ ชิงเอฟเอคัพก็ได้ หรือว่ามาชิงยูโรเปียนคัพก็ได้ แต่ทุกอย่างมันก็เบรคไว้ตั้งแต่ยุค 90s พอพรีเมียร์ลีกกำเนิดขึ้นมา ก็เป็นยุคของแมนฯ ยูฯ ใจจริงลึก ๆ ของทุกคนไม่ใช่แค่ผม ก็รอคอยเพื่อที่จะได้แชมป์ลีกอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่าโดนล้อด้วย โดนวิจารณ์ด้วย พอได้แชมป์ยุโรปก็มีมุมที่ทำให้รู้สึกดูดีขึ้นมานิดหนึ่ง เพราะในอังกฤษไม่มีทีมไหนที่ไปประสบความสำเร็จในยุโรปเท่าลิเวอร์พูลอีกแล้ว
การรอคอยแชมป์ลีก 30 ปีมันนาน แต่ผมเชื่อว่าคนที่เชียร์จริงจัง มันไม่เปลี่ยนไปเชียร์เพราะความสำเร็จ เพราะเขาก็รับรู้อยู่แล้วว่าเชียร์ทีมเพราะอะไร ชอบอะไร ชอบสไตล์ ชอบนักฟุตบอล ชอบประวัติศาสตร์ ชอบความเป็นสถาบัน ซึ่งของแบบนี้ก็กลายเป็นอุดมการณ์นะ ผมมองว่าเปลี่ยนกันยาก โอเค ทีมเรายังไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่เป็นไร เราก็เชียร์กันต่อไป วันหนึ่งต้องมีโอกาส ถ้าหากว่าคุณได้โค้ชที่ดี ได้การบริหารจัดการที่ดี
ต้องยอมรับว่าตั้งแต่ยุค 90s มาจนถึงยุคพรีเมียร์ลีก การบริหารจัดการของลิเวอร์พูลแย่มาก กลายเป็นทีมชั้นเกรดบีไปเลยในเรื่องการบริหารจัดการ ทั้ง ๆ ที่ลิเวอร์พูลก็มีความสามารถจะผลิตนักฟุตบอลเยาวชนขึ้นมา หรือนักเตะต่างชาติที่เข้ามาก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก แต่โค้ชอาจจะยังไม่ถึง ไม่เก่ง หรือการบริหารจัดการที่คุณไม่สามารถจะไปดึงโค้ชฝีมือดีมา ก็เลยทำให้ดูแย่ลงไป แต่ตอนนี้ลิเวอร์พูล 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่อเมริกันเข้ามา การเข้ามาของจอห์น เฮนรี่ ทุกอย่างมันเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ การบริหารจัดการดีขึ้น แนวทางการทำงานในสนามก็เริ่มชัดขึ้น แล้วก็ได้โค้ชที่ดี คือจริง ๆ ก็มีโค้ชที่ดีอย่างราฟาเอล เบนิเตซ เป็นโค้ชที่ดีและมีฝีมือ ซึ่งความรู้สึกของแฟนลิเวอร์พูลในตอนนั้นที่ได้ราฟามา โอ้โห เขาเป็นแชมป์ลีกสเปน เขาล้มบาร์เซโลนา ล้มเรอัล มาดริด ได้ เขาต้องทำให้ลิเวอร์พูลล้มแมนฯ ยูฯ ได้ มันก็เกือบแต่มันก็ไม่ได้ พอไม่ได้คราวนี้ก็ อ้าว พอการบริหารจัดการพัง ก็เกือบพังไปยาว ๆ
จนวันนี้มาได้เจอร์เกน คล็อปป์ ผมเชื่อว่าแฟนลิเวอร์พูลที่ดูมาตั้งแต่ 90s ที่รอคอยมา ความรู้สึกจะค่อย ๆ เพิ่มจนถึงยุคนี้ เอาแล้ว ชัดเจนแล้วว่ามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเรื่องการเป็นแชมป์ลีก เพราะฉะนั้นถ้าถามคนที่เชียร์ เขาก็จะรู้สึกว่า เราก็อดทนรอมา ก็ต้องใช้เวลาแบบนี้แหละ เพราะว่ากีฬาฟุตบอล กีฬาต่าง ๆ ก็ไม่ใช่ว่าสร้างความสำเร็จได้วันสองวัน ก็อาจจะคุ้มค่าแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าไม่ได้ อันนี้พูดในแง่ลบสุด ๆ ถ้าไม่ได้แชมป์ เขาก็ต้องเชียร์กันต่อไป เพราะว่าการได้ดูฟุตบอลแต่ละสัปดาห์ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง แม้ว่าทีมจะแพ้ก็ตาม เราก็มีความสุขที่อาจจะได้วิจารณ์ ได้พูดคุยกับเพื่อน ได้อ่าน ได้ชม ได้ดูคลิปในทุกวันนี้
เพราะฉะนั้นผมว่าเขามีความสุข เวลาผมเจอแฟนบอลลิเวอร์พูลหรือว่าแฟนแมนฯ ยูฯ ที่สนิทกัน คุยกันเรื่องฟุตบอลก็สนุกดี เพราะเขาก็จะได้วิจารณ์ว่าทำไมโค้ชโซลชาจับตัวแบบนี้ โซลชาถึงหรือเปล่า บางทีเขาเป็นแฟนแมนฯ ยูฯ เขาก็จะถามเรา ในฐานะที่เป็นแฟนหงส์คิดว่าโซลชามือถึงไหม เราก็แลกเปลี่ยนทัศนะกัน กลายเป็นตอนนี้แฟนแมนฯ ยูฯ ก็จะอิจฉาแฟนลิเวอร์พูลว่า โห ได้โค้ชโคตรดีเลย ได้คล็อปป์ซึ่งมีวี่แววว่าจะทำให้ลิเวอร์พูลประสบผลสำเร็จ
ผมว่าท้ายที่สุดแล้วต่อให้ไม่ได้แชมป์อย่างที่บอก คนที่เป็นแฟนบอลยังไงก็จะต้องเชียร์ต่อไป เพราะถ้าไม่เชียร์ต่อไป เลิกเชียร์เนี่ย ฟุตบอลมันก็ล้ม (หัวเราะ)
The People: ลิเวอร์พูลกับฟุตบอลมีความหมายกับคุณอย่างไร
อดิสรณ์: ถ้าย้อนวัยเด็ก ผมว่ากีฬาฟุตบอลหรือทีมลิเวอร์พูลน่าจะเป็นที่พึ่งทางใจมากกว่า เพราะว่าเราโตมาจากพ่อแม่เลิกกัน เราอยู่กับยาย เราก็จะได้อยู่ในสังคมที่ทุกคนมีพ่อแม่ เด็กในห้องใครคงจะสังเกตได้ถ้ามีประสบการณ์อย่างนี้ คือถ้าลูกไม่มีพ่อ มีแต่แม่ แล้วแม่ก็ไม่ค่อยเจอ ปีหนึ่งจะได้กลับสุพรรณฯ ไม่กี่ครั้ง แล้วเราอยู่กับยาย เราไปอยู่ในห้องเรียนก็จะโดนเพื่อนล้อว่าลูกไม่มีพ่อมีแม่อยู่กับยาย คือความเป็นเด็กก็รู้สึกว่าเราไม่มีความรักความอบอุ่นแบบพ่อแม่ มีแต่ยาย เหมือนกับเราขาด
ผมก็รู้สึกว่าฟุตบอลกับลิเวอร์พูลเป็นสิ่งที่เรายึดเหนี่ยวมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ไม่คิดว่าวันหนึ่งเราจะทำเป็นอาชีพ สมมติผมไม่ได้เป็นนักข่าว อาจจะเป็นครูพละหรือไปเป็นโค้ชบอล ผมก็เชื่อมั่นเลยว่ายังไงผมก็ต้องตามดูลิเวอร์พูลทุกนัด แล้วก็ดูทีมอื่นด้วย เหมือนที่ทำอยู่ทุกวันนี้
แต่เชื่อว่าลิเวอร์พูลก็จะอยู่กับเรา เป็นสิ่งที่เรายึดเหนี่ยวไปตลอดชีวิต