วอมแบท ฮีโร่ผู้แบ่งปันบ้านให้เพื่อนลี้ภัย (แบบงง ๆ)
ท่ามกลางความสูญเสียจากวิกฤตไฟป่าออสเตรเลียที่คร่าชีวิตสัตว์ป่าน้อยใหญ่ไปเป็นจำนวนมาก ดูเหมือนจะยังพอมีเรื่องราวดี ๆ เกิดขึ้นในพื้นที่ประสบภัยอย่างรัฐนิวเซาท์เวลส์และวิกตอเรียอยู่ เพราะนอกจากเราจะได้เห็นภาพมนุษย์ที่พยายามช่วยเหลือสัตว์อย่างแข็งขันแล้ว เรายังได้เห็นเรื่องราวน่ารัก ๆ ของ “สัตว์ที่พยายามช่วยสัตว์ด้วยกันเอง” รวมอยู่ด้วย
เรื่องราวของฮีโร่ตัวล่าสุดอย่าง เจ้าวอมแบท (Wombats) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนปุย ซึ่งเป็นสัตว์พื้นเมืองของออสเตรเลีย กลายเป็นกระแสพูดถึงอย่างแพร่หลายบนโลกอินเทอร์เน็ต เพราะมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ @RichardAOB เผยแพร่ภาพของเจ้าวอมแบท พร้อมแนบข้อความว่า “เจ้าวอมแบทพวกนี้มีน้ำใจมากกว่ารัฐบาลของเราเสียอีก พวกมันทั้งต้อนสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังหนีจากไฟป่าเข้ามาในโพรงของมัน ก่อนจะแบ่งปันพื้นที่บ้านของตัวเองให้สัตว์เหล่านั้นอาศัย”
เรื่องราวน่ารักอบอุ่นเหล่านี้ พอได้ยินก็พาให้รู้สึกดี แต่แน่นอนว่ามันถูกพูดถึงและแชร์ต่อไปอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอะไรต่อจากนั้น คำถามคือ มันจะเป็นไปได้จริงหรือ ที่สัตว์ป่าอย่างวอมแบท จะแสดงความเห็นอกเห็นใจสัตว์ตัวอื่น ๆ และเอื้อเฟื้อพื้นที่บ้านของตัวเองให้พวกมันเข้ามาอาศัยอยู่ด้วย
คำตอบคือ ไม่
ข้อมูลจากบทความของ ดาล นิมโม (Dale Nimmo) นักวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยชาร์ลส สจ๊วต (Charles Sturt University) เผยว่า ธรรมชาติของวอมแบทเป็นสัตว์รักสันโดษ พวกมันทั้งสายตาสั้น แถมยังขี้หงุดหงิดนิด ๆ การที่มันจะยอมแบ่งพื้นที่บ้านของตัวเองให้สัตว์อื่น ดูจะเป็นไปได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย
เพราะพื้นที่ในโพรงดินที่วอมแบทขุดไว้เพื่ออาศัย ไม่ใช่พื้นที่เล็ก ๆ แคบ ๆ เอาไว้นอนเท่านั้น แต่มีลักษณะเป็นอุโมงค์ขนาดยาว มีห้องหลายห้อง ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปหาโพรงของวอมแบทตัวอื่น ๆ
ก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาว่าโพรงของวอมแบทตัวหนึ่ง มีทางเข้ามากถึง 28 ทาง บางโพรงมีความยาวลึกลงไปใต้ดินถึง 90 เมตร และพื้นที่ส่วนที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินของโพรง มักจะมีอุณภูมิต่ำกว่าบนดินมาก และได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิบนผิวดินน้อย ธรรมชาติของวอมแบทตัวหนึ่ง จะขุดโพรงเพื่ออยู่อาศัยทีละหลายโพรง และย้ายที่นอนไปเรื่อย ๆ จึงไม่แปลกอะไรหากว่าโพรงร้างหลาย ๆ โพรงของมัน จะชอบมีสัตว์สายพันธุ์อื่นแอบดอดเข้าไปอาศัยอยู่ด้วย
จากการศึกษาโดยการตั้งกล้องสังเกตโพรงของวอมแบทจำนวน 34 โพรง ในปี 2015 พบว่า มีสัตว์ไม่ต่ำกว่า 10 สายพันธุ์ พยายามแอบเข้ามาอาศัยในโพรงของวอมแบท ทั้งตัววัลลาบี จิ้งเหลน และนก แม้พวกมันจะอาศัยอยู่เพียงชั่วคราว แต่บางสายพันธุ์ก็มักจะแวะกลับมาอาศัยในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ อย่างเจ้าตัววัลลาบีเท้าดำ ที่ในสถิติรายงานว่า สามารถเก็บภาพพวกมันวนกลับมาอาศัยในโพรงวอมแบทโพรงเดิมถึง 2,000 ครั้ง ภายในระยะเวลา 8 สัปดาห์
ดังนั้น แทนที่จะบอกว่าเจ้าวอมแบทคือ ‘ฮีโร่ผู้ใจดี’ ดูเหมือนเราจะควรเรียกพวกมันว่า ‘ฮีโร่แบบไม่ได้ตั้งใจ’ มากกว่า แต่ถึงแม้เหล่าวอมแบทจะไม่ได้เป็นมิตร และยินยอมพร้อมใจให้สัตว์ป่าตัวอื่น ๆ เข้ามาอาศัยขนาดนั้น แต่หากเจ้าสัตว์ตัวอื่น ๆ ไม่ก้าวก่ายพื้นที่ในโพรงมากจนเกินไป ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่ทิ้งข้อสันนิษฐานที่ว่า เมื่อถึงช่วงเวลาวิกฤต เหล่าวอมแบทก็อาจจะพยายาม ‘อดทน’ ไม่ทำร้าย หรือไล่สัตว์เหล่านั้นให้กลับขึ้นไปเผชิญกับวิกฤตไฟป่า ที่ผลลัพธ์คงมีแต่ตายกับตาย
ที่มา
https://junkee.com/wombat-burrow-debunk/237659
https://www.abc.net.au/news/2020-01-15/australian-bushfires-wombat-heroes-have-gone-viral/11868808
http://theconversation.com/tales-of-wombat-heroes-have-gone-viral-unfortunately-theyre-not-true-129891