22 ม.ค. 2563 | 17:21 น.
ท่ามกลางช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ดนตรีแจ๊สจากที่เคยเป็นดนตรีมหานิยมในทศวรรษ 1940s การเข้ามาของดนตรีร็อกแอนด์โรลได้สร้างผลกระทบจนทำให้วันนี้ “แจ๊ส” ได้กลายเป็นดนตรีเฉพาะกลุ่มที่นับวันจะเริ่มหนีออกจากผู้คนอีกครั้ง เหมือนกับที่ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ ยอดตำนานแซ็กโซโฟนเคยทำไว้สมัยที่เขาสร้างดนตรีบีบ็อพขึ้นมา
ทุกวันนี้แจ๊สได้กลายเป็นดนตรีที่จริงจังขึ้นและต้องใช้องค์ความรู้ขั้นสูงในการสร้างสรรค์ ด้วยความยากเหล่านั้นจึงทำให้ดนตรีแขนงนี้ถูกบรรจุเป็นวิชาที่ต้องศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศไทยก็มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดการเรียนการสอนวิชาดนตรีแจ๊ส ไม่ว่าจะเป็น ม. มหิดล, ม. ศิลปากร หรือ ม. รังสิต ซึ่งหนึ่งในสามมหาวิทยาลัยอย่างมหิดล ได้จัดกิจกรรมที่หวังจะขับเคลื่อนวงการแจ๊สอย่างต่อเนื่องในชื่อว่า TIJC ซึ่งเป็นเหมือนการยกสุ้มเสียงแจ๊สในแบบนิวยอร์กซีนมาไว้ที่ประเทศไทย
TIJC หรือเทศกาลดนตรีแจ๊สนานาชาติเพื่อการเรียนรู้ ถือเป็นงานสัมมนาบวกคอนเสิร์ต ภายใต้การสร้างสรรค์ของบุคลากรจากสาขาดนตรีแจ๊ส วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม. มหิดล นี่คือเทศกาลดนตรีแจ๊สที่มีเป้าหมายในการผสมผสานเรื่องการศึกษาและความบันเทิงเข้าด้วยกัน ตอนกลางวันตัวงานจะมีรูปแบบของการสัมมนาเชิงวิชาการว่าด้วยเรื่องดนตรีแจ๊ส โดยได้ศิลปินระดับโลกมาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ ส่วนตอนกลางคืนจะเป็นคอนเสิร์ตจากศิลปินระดับโลก ซึ่งรายชื่อของศิลปินที่เคยตบเท้าเข้าร่วมงานนี้มีมากมาย เช่น เอ็ดดี้ โกเมซ, เคิร์ท โรเซนวิงเคิล, เคนนี เวอเนอร์ รวมถึงศิลปินเจ้าของรางวัลแกรมมี่ อวอร์ดส อย่าง ดานิโล เปเรซ
ปีนี้ TIJC เดินทางมาถึงปีที่ 12 แล้ว The People ได้พูดคุยกับ “หลง” นพดล ถิรธราดล อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีแจ๊ส ชายผู้รับหน้าที่เป็น Project Manager ของงาน ว่าด้วยจุดเริ่มต้นของ TIJC จนไปถึงสถานการณ์ของวงการแจ๊สไทยในวันนี้ ที่พวกเขาอยากจะสร้างชุมชมแจ๊สที่ไม่ใช่การสร้าง “สลัม”
The People: กว่าจะมาถึงวันนี้ TIJC มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
นพดล: จริง ๆ ผมอยู่ที่มหาวิทยาลัยนี้มาก็พอกับอายุของคณะเลย คือ 26 ปี แล้วสาขาวิชาดนตรีแจ๊สที่มหิดลก็เป็นที่แรกที่เปิด ภายหลังก็มีอีกหลายมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ เปิดตาม อย่าง ศิลปากร รังสิต ณ ปัจจุบันผมเช็กแล้วมีมหาวิทยาลัยที่มีแจ๊สหรือมีแจ๊สแบบทางอ้อม เช่น ไปอยู่ในสหวิชา ตอนนี้น่าจะมี 20 กว่าแห่ง จากที่มีแค่ 1-2 ที่ใหญ่ ๆ ผมเป็นอาจารย์สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส ตอนเริ่มต้นตั้งก็จะล้มลุกคลุกคลาน เพราะว่ามันใหม่มากสำหรับสังคมไทยในการมีสาขาวิชาดนตรีแจ๊สในมหาวิทยาลัย ซึ่งจริง ๆ ในอเมริกาเองก็เริ่มช้าเหมือนกัน เผลอ ๆ ในยุโรปจะมีก่อนด้วยซ้ำไป มีโรงเรียน private สอนกลองของ จีน ครุป้า
หลังจากที่เราเปิดปุ๊บ สิ่งที่ต้องให้ความสนใจมาก ๆ คือจะทำอย่างไรให้หลักสูตรการเรียนการสอนแข็งแรง เราก็ค่อย ๆ พัฒนาวิธีการสอนขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็มีคนเข้ามาอยู่หลายรุ่นพอสมควร จากนั้นเราก็เริ่มค้นหาเพื่อเทียบว่าที่อื่นที่ดัง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยเท็กซัส หรือมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในอเมริกา เขาทำอะไรกันบ้าง ในที่สุดก็ค่อย ๆ เซ็ตอัพขึ้นมาอย่างแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนปฏิบัติที่ส่วนมากนักเรียนนักศึกษาจะเรียกติดปากว่าเรียน private แต่ถ้าเราเรียน private อย่างเดียว เรียนเล่นอย่างเดียวมันจะเป็น conservatoire (โรงเรียนสอนศิลปะ) มันค่อย ๆ ถูกพัฒนา จนในที่สุดออกมาเป็นชาร์ท 1 แผ่นที่บอกว่าตั้งแต่เริ่มต้นจนจบคุณต้องทำอะไรบ้างที่เป็นพื้นฐานที่ต้องทำได้ เพื่อที่จะมีพื้นฐานในการออกไปเป็นนักดนตรีที่ดีได้ ตรงนี้ก็ใช้เวลาพัฒนาเป็นสิบปี
เรามองว่าตอนนี้เราพัฒนาหลักสูตรถึงจุดที่ค่อนข้างแฮปปี้แล้ว ได้มาตรฐานแล้ว ที่จะต้องตามมาคือ output ของสิ่งที่เราทำการเรียนการสอนต่าง ๆ สิ่งที่จะเป็น output มันหน้าตาแบบไหน ดีแค่ไหน แย่แค่ไหน เลยคิดกันว่าน่าจะทำกิจกรรม ดนตรีต้องอาศัยกิจกรรมในการที่จะทำให้เสียงมันเดินทาง ถ้าเราอยู่ในโรงเรียน อยู่ในหลักสูตร เสียงก็ไม่เดินทาง แต่เมื่อเราทำกิจกรรมปุ๊บ เสียงจะเริ่มเดินทางไปสู่หูผู้ฟัง สู่สังคม สู่อะไรก็แล้วแต่ เลยคิดว่าต้องทำกิจกรรม จริง ๆ เราทำอยู่แล้วเช่นคอนเสิร์ตของนักเรียน แต่สิ่งที่อยากจะทำมากกว่านั้นคือ กิจกรรมที่ต้องเอฟเฟกต์ไปสู่โลก ไปสู่สังคม
เบื้องต้นผมอาจจะไม่ได้คิดถึงโลกอะไรสักเท่าไหร่ ผมอาจจะคิดถึงสังคมไทยมากกว่า เลยคุยกันว่า เฮ้ย จะทำอย่างไร จะทำกิจกรรมอะไรดี สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้คือพอเป็นอะไรที่อยู่ในมหาวิทยาลัยมันจะแห้งแล้ง โดยเฉพาะถ้าไปอ้างอิงเรื่องวิชาการมาก ๆ คนข้างนอกก็ไม่อยากร่วม คนข้างในก็อยู่ข้างในไม่ได้ออกไปข้างนอกเสียที สุดท้ายคณะก็เลยส่งอาจารย์สาขาวิชาดนตรีแจ๊ส 3-4 คน บอกว่าลองหาดูสิว่าที่อเมริกาเขาทำอะไรที่เป็นต้นตำรับ ลอง ๆ ไปดูว่าเขาทำอะไร จะได้มาปรับเปลี่ยนได้
ในที่สุดเราก็พบว่ามีงานเรียกว่า IAJE เป็นงาน Jazz education ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ปีที่พวกผมไปเขาจัดที่นิวยอร์ก เราก็ไม่เคยเห็นว่างานเป็นอย่างไร ใหญ่แค่ไหน ไปแล้วก็อยู่ในงานทั้งวัน เขาก็แจกนู่นแจกนี่ มีหนังสือมาเล่มหนึ่ง หนังสือนั้นก็จะเขียนว่าจะมีเวิร์กช็อปมาสเตอร์คลาสอะไรต่าง ๆ พอเราดูรายชื่อนี่ตกใจเลย เพราะว่าคือคนระดับโลกทั้งนั้นที่มาสอนมาสเตอร์คลาส
งานมี 4-5 วัน ผมค้นพบว่าผมจะอ้วกเลย เพราะว่านี่คืองานสัมมนาวิชาการดนตรีแจ๊สแบบซีเรียสมาก ๆ เราต้องมาติ๊กเลยว่าหัวข้อนี้อยากฟัง หัวข้อนี้ต้องข้ามไปก่อน คนเยอะมาก 2,000-3,000 คน พูดตรง ๆ ว่าวันแรกนี่ตื่นตาตื่นใจมาก ๆ พอวันที่ 3 ผมจะอ้วกเลย ทีมก็บอก โอ้โห มัน “too much information” มาก ๆ ผมเข้าใจว่าวัฒนธรรมแบบอเมริกันคือการให้ข้อมูล แล้วยูไปย่อยเอาเอง ยูจะไปจัดเรียงอะไรก็แล้วแต่ยู อะไรทำนองนั้น
พอกลับมาเสร็จปุ๊บ กลางคืนเราก็ไปดูคอนเสิร์ตตามบาร์ในตำนานทั้งหลายแหล่ ช่วงหัวค่ำเขาก็จะมีศิลปินระดับโลกมาแสดง เช่น ชิค คอเรีย, แจ็ก ดิจอห์เน็ต, เอ็ดดี้ โกเมซ พอกลับมาเมืองไทยก็มาคุยกันว่าถ้าทำแบบนี้ที่เมืองไทย งานน่าจะล้มตั้งแต่วันแรกที่จัดเลย เพราะว่าเราเองไปฟังยังจะตายเลย ถ้าเป็นคนอื่นนี่ยิ่งหนัก
ในที่สุดก็นั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้เหมาะกับสังคมไทย เหมาะกับโลกของเราที่เป็นอยู่ เราพบว่าตอนไปพิพิธภัณฑ์ที่อเมริกา มีคนเต็มไปหมดเหมือนไปเดินห้างสรรพสินค้า งานสัมมนาของเขามีคนมาร่วม 2,000-3,000 คน ผมไปนั่งฟัง คนที่นั่งข้าง ๆ ผมเป็นนักดนตรีในตำนานเต็มไปหมด ไอ้วัฒนธรรมแบบนี้บ้านเราไม่มีเลย เลยคิดว่าจะหลอมเอาเทศกาลดนตรีกับการศึกษามาอยู่ด้วยกัน
The People: TIJC เป็นเทศกาลดนตรีแจ๊สที่ไม่เหมือนใคร?
นพดล: คำขวัญของ TIJC คือ “เรียนรู้แจ๊สเพื่อสังคมแห่งความสุข” แต่ผมก็ไม่รู้มันจะสุขแค่ไหน เพราะว่าผมอยู่ในวงการแจ๊สมา ส่วนมาก 10-20 ปีที่ผ่านมา เวลาคนจัดเทศกาลดนตรีแจ๊ส บางทีจะเป็น line up ที่คนอยากฟัง บางทีก็จะซ้ำ ๆ อยู่ไม่กี่คน วนเวียนอยู่อย่างนี้ไม่กี่คน จนวันหนึ่งเหมือนพัฒนาไปอีกนิดหนึ่งตรงที่ว่าเขาเริ่มเอาสายฮาร์ดคอร์มา หลัง ๆ ก็เริ่มเห็นวง แมคคอย ไทเนอร์ มีวงบิ๊กแบนด์ดี ๆ มี รอย ฮาร์โกรฟ มา
20 ปีผ่านไป ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้อะไรเลย คือมันอาจจะได้ก็ได้ แต่เหมือนไม่คุ้มค่า เพราะเราจัดเทศกาลดนตรีแจ๊สครั้งหนึ่ง เราใช้เงิน 20-30 ล้าน งานไหนหนัก ๆ หน่อยก็ 50 ล้าน แต่เหมือนเราถมทะเล ยิ่งงานไหนสามารถมีแอลกอฮอล์ขายได้ จะมีเป็นสปอนเซอร์ เป็นอะไรก็แล้วแต่ ในที่สุดก็จะเกิดอาการเหมือนจะมั่ว ๆ หน่อย คนคุยกัน วันดีคืนดีเครื่องเสียงดีมาก ๆ แต่คนจัดการเครื่องเสียงจัดการได้ไม่ดีเท่าไหร่ เสียงออกมาก็ไม่ดี มุมมองของผมคือมันแทบจะไม่ได้อะไรเลย แล้วฝรั่งเขาได้เงินแล้วเขาก็กลับ
มันคือความบันเทิงอย่างเดียว แล้วบังเอิญเป็นความบันเทิงแบบ… บางทีผมรู้สึกว่าเป็น background music ด้วยซ้ำไป ทั้ง ๆ ที่ดนตรีมันจริงจังมาก ๆ ผมเชื่อว่าเราถามคนฟังจำนวนมาก คนฟังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าเขาเล่นอะไร เล่นเพลงนี้หรืออะไร อย่างใน Java Jazz ถ้าเป็นวงที่ดังหน่อย ป๊อปหน่อย เช่น Earth Wind & Fire เพลงของเขาในท่อนโซโล คนฟังแทบจะร้องตามได้เลย แต่บรรยากาศแบบนี้ในบ้านเราคือไม่มี ทุกคนกินเบียร์กันไป พอจบเพลงก็ปรบมือ ปรบมือเสร็จปุ๊บ ดนตรีเริ่มเพลงใหม่ ก็คุยกันต่อ กินเบียร์กันต่อ แล้วก็ไม่ได้ฟัง พอเพลงจบปุ๊บก็ปรบมือ
พออย่างนี้ สุดท้ายเราเลยหลอมไอเดียจนกลายเป็น TIJC มีภาคเช้ากับภาคค่ำ ช่วงเช้าเป็นเรื่องการสัมมนาวิชาการ เวิร์กช็อปอะไรต่าง ๆ ช่วงกลางวันก็อาจมีอย่างอื่นด้วย เช่น มีการแข่งขัน เป็นการ encourage ให้คนได้มีสนาม ได้พัฒนาตัวเอง ผมอยากให้คนไทยได้ประโยชน์มากกว่าใครทั้งสิ้น
พอจบกลางวันปุ๊บ กลางคืนก็จะเป็นภาคการแสดงเหมือนเทศกาลดนตรีแจ๊สทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่ผมจะ concentrate มากกว่านั้นคือกระบวนการจัดการบริหารที่ดี มีเวทีมาตรฐาน เครื่องเสียงมาตรฐาน วิธีการจัดการกับเครื่องเสียงที่มาตรฐาน พวกผมไม่ได้เก่ง ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ ถามว่าจะไปถาม technician ในเมืองไทย ผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าเขาจะเข้าใจจริง ๆ สุดท้ายผมก็เรียนรู้จากฝรั่งที่มานั่นแหละ เขาตั้งแอมป์อย่างนี้ จัดเวทีด้วยไซส์ขนาดนี้ ฟรอนต์แบ็กเท่าไหร่ วิธีการปรับการวางมอนิเตอร์ของแต่ละเครื่องไม่เหมือนกัน การเซ็ตอัพกลอง วิธีคิดเรื่องของเครื่องเสียง ผมเรียนจากเขาทั้งนั้น
The People: TIJC คืองานที่ยกโอกาสมาสู่เด็กไทย?
นพดล: งาน TIJC ก็จะเป็นนิวยอร์กซีนค่อนข้างจะเยอะหน่อย ถ้าเทียบกับยุโรปหรืออะไร ที่เป็นอย่างนั้นเพราะช่วงวัยหนุ่มของผม ผมอยากไปนิวยอร์กมาก อยากจะไปดูผับบาร์ในตำนานทั้งหลายแหล่ ทางที่เสือผ่านทั้งหลายแหล่ อยากไปดูว่าเป็นอย่างไร หลายคนเวลาไปก็จะไปขอเรียน private กับพวกศิลปินระดับโลก แต่เวลาเราไปทีใช้เงินเป็นแสนเลยถูกไหม เก็บเงินกันทั้งปีทั้งชาติกว่าจะได้ไป หรือมหาวิทยาลัยเองเห็นว่าใครเก่งก็เอาเงินส่งให้คนนี้ไปเรียน บางคนไปเรียน… ไม่ใช่บางคน จำนวนมากด้วย พอกลับมาแล้ว ผม… ไม่รู้ ผมเรียกว่าเขาองค์ลงมั้ง กลายเป็นเง็กเซียนฮ่องเต้อะไรสักอย่างหนึ่ง เห็นคนอื่นไม่รู้เรื่องไปหมด บางทีผมก็ตั้งคำถาม ตกลงเราส่งเขาไปเพื่อให้มารับใช้คนอื่น หรือตอนนี้เขากลับมาเพื่อให้คนอื่นมารับใช้เขากันแน่ ผมว่ามันกลับตาลปัตรมาก แล้วคนที่ได้โอกาสจะมีอยู่จำนวนเท่านี้ 1 คน 2 คน 3 คนต่อปี หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็วนเวียนอยู่แค่นี้
ในที่สุด TIJC บอกไม่เอา เราเอาเงินไปจ้างต้นตำรับมา เราจำลองห้องเรียนจากนิวยอร์กมาไว้ที่ศาลายาเลย แล้วทุกคนมารุมกินโต๊ะกัน ทุกคนมีโอกาสเท่ากันหมด ฟังเหมือนกันหมด มีคนแปลให้เหมือนกันหมด อยู่ที่ใครได้มากได้น้อย ผมคิดว่าการทำแบบนี้ได้กับคนส่วนมาก ดีกว่าเราไปสร้างพระเจ้าขึ้นมาคนหนึ่ง แทนที่เขาจะต้องมารับใช้เรากลับกลายเป็นว่าเราต้องไปกราบไหว้รับใช้เขา ซึ่งผมว่ามันผิดวัตถุประสงค์มาก ๆ
11 ปีผ่านไป ผมค้นพบว่าเงินทั้งหมดที่ผมใช้เท่ากับการจัดเทศกาลแจ๊สแค่ครั้งเดียว ผมทำมาแค่ 11 ปี ผมถามตัวเองเหมือนกันว่าเราได้อะไรบ้าง สังคมเราได้อะไรบ้าง ผมค้นพบว่าคนฟัง TIJC ถูกคัดกรองให้มาฟัง จากมีคนอยู่แค่หลัก 200-300 คน มาตอนนี้หลัก 1,000-2,000 คนแล้ว
The People: ฐานผู้ชมของ TIJC ดูเหมือนจะทรงตัวมาตลอด ผู้จัดวางแผนที่จะขยายฐานแฟนเพลงอย่างไร
นพดล: ตรงนั้นผมติดขัดเหมือนกัน เพราะคนที่สนใจจริง ๆ มันเหมือนหมดประเทศเลย อันนี้เป็นเรื่องน่าเศร้า โจทย์ใหญ่ที่สุดของ TIJC ของผม ณ วันนี้คือจะทำอย่างไรให้ไปสู่โลกของคนฟังมากกว่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังแกะไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมยังต้องแกะอยู่
The People: คิดจะขยับความนิยมของ TIJC ให้มากขึ้นโดยดึงศิลปินต่างชาติชื่อดังเข้ามาบ้างไหม
นพดล: จริง ๆ เราขาดทุนทุกปี ต้องยอมรับว่าเราใช้เงินไม่เยอะถ้าเทียบกับงานอื่น เหตุที่ใช้ไม่เยอะเพราะเราทำในนามของมหาวิทยาลัย แล้วคนที่ทำก็คือพระที่บวชไปครึ่งหัวแล้ว ไม่ได้ค่าตอบแทนอะไรเหมือนที่เอกชนเขาทำ เหมือนกับว่าเป็นหน้าที่ แล้วโดยเฉพาะอาชีพเราเป็นอาชีพที่ต้องอุทิศในการที่จะต้องสร้างชาติ จะสร้างได้มากได้น้อยแค่ไหนก็ไม่รู้ ก็แล้วแต่สติปัญญาของทุกคน แต่เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ
ผมว่าถ้าเราทำแบบนั้นมันเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ผมเคยศิลปินแจ๊สที่ดังมาก ๆ อย่าง ดู ไดอานา ครอลล์ คนดูเยอะพอสมควร ผมเองรู้สึกว่า ไดอานา ครอลล์ ก็อาจจะไม่ได้ดูสนุกกับคอนเสิร์ตเท่าไหร่ แล้วคอนเสิร์ตก็จบไป ก็ดูเรียบร้อยดี แต่พอถามตัวเอง ผมว่าจะไปต่างอะไรกับคอนเสิร์ตแจ๊สที่เราเห็นอยู่ ที่ไปเมากัน ผมเห็นว่าไม่ต่าง ถ้าถามว่า ไดอานา ครอลล์ ให้อะไรกับเรา ต้องยอมรับว่าให้ความสุขตอนที่ผมไปดู นอกเหนือจากนั้นให้อะไรอีก ผมก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไร โอกาสก็ไม่มี ความรู้ก็ยากมากที่จะดู ได้ยินเสียงนั้นแล้วแปลงมาเป็นความรู้เลย มันยากมาก แต่ TIJC คือให้โอกาสทุกคน ใครอยากมาเล่นบอก ถ้าคุณพร้อมผมให้เล่นเลย
อันที่สองคือคุณมีความสุขเหมือนที่คุณไปดูคอนเสิร์ตพวกนั้น ยิ่งคุณเล่นเองคุณยิ่งมีความสุขใหญ่เลย ความรู้อันนี้ชัดเจนมากเพราะคุณเรียนตรงเลย คุณนั่งกับเจ้าของภาษานั้นเลย แล้วคุณถามได้ด้วยว่าถ้าจะไล่สเกล C Major ต้องทำอย่างไร สมมติในขณะที่คุณไปดูคอนเสิร์ต ไดอานา ครอลล์ คุณจะถามเขาว่า ไดอานา ครอลล์ ช่วยไล่สเกลนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหม ก็คงจะงง ๆ กัน ผมไม่ได้เข้าข้างงานของผม แต่ TIJC คือโอกาส
เราขาดทุนทุกปีก็จริง แต่สำหรับผมไม่เคยรู้สึกขาดทุนเลยในอุดมคตินะ เพราะว่างานได้สร้างคน สร้างภาพรวมออกมาขนาดนี้ ผมว่ามันซื้อด้วยเงินที่เล็กน้อยมาก เมื่อเราเทียบกับเงินที่เราเอาไปผลาญกับการทำเรื่องบ้าบอคอแตกอะไรไม่รู้ในประเทศนี้ที่เห็นอยู่ ผมไม่อยากจะล่วงไปถึงคนอื่น แต่หมายถึงที่เราเห็นอยู่มันบ้าบอคอแตกไปหมด ถามว่าผมอยากเห็นคนดูเยอะกว่านี้ไหม ผมอยากได้ แต่ผมอยากได้คนดูที่ต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่ผมไปสร้างสลัมที่ใหม่ขึ้นมา บ้านเรามีสลัมพอแล้ว ผมว่าเราอย่าสร้างขึ้นมาเลย แต่ถามว่าผมอยากได้คนไหม ผมอยาก คุ้มทุนไหม ผมบอกเพื่อน ๆ ว่าตอนนี้สำหรับผมกำไรอยู่แล้ว แต่ทางด้านตัวเงินถ้ามันคุ้มทุนสำหรับผมนี่คือสุดยอดแห่งความสำเร็จเลย กำไรนิดหน่อยนี่ โอ้โห… ผมถือว่าอยู่บนสรวงสวรรค์เลย คิดดูว่าจัดมาปีที่ 12 ยังไม่ถึงจุดนั้นเลย แต่ผมคิดว่าก็ขาดทุนน้อยลงเรื่อย ๆ
ถามว่าผมอยากจะเอาศิลปินเบอร์ใหญ่มาไหม อยากเอามา แต่ถ้าคุณคุยกับผมว่าค่าตัวคุณคือ 2 แสนเหรียญสหรัฐ ผมจะเอาคุณมาทำไม มันมีค่าขนาดนั้นเลยหรือ เพราะสุดท้ายของที่อยู่กับโลกที่เป็นการศึกษา ผมว่าคุ้มค่ากว่าไอ้ส่วนที่เป็นเอนเตอร์เทนเสียอีก
The People: กว่าทศวรรษที่ผ่านมา TIJC เปลี่ยนสังคมในแง่ไหนบ้าง
นพดล: สมัยก่อนผมเล่นดนตรีในบาร์แจ๊ส มีบาร์แจ๊สอยู่ไม่กี่ที่ ที่ใหญ่ ๆ มีแค่ 2-3 ที่ ส่วนเล็ก ๆ มีอีกสัก 2-3 ที่ ตอนนี้บาร์แจ๊สผมว่าน่าจะมีแตะ 30 บาร์แล้ว ค่อย ๆ เพิ่มมา เพราะมีนักดนตรีแจ๊สเก่งขึ้นเยอะ มีตัวเลือกเยอะขึ้นเยอะ คนรุ่นผมหลายคนล้มหายตายจาก ไม่มีงานทำ แต่สมัยนี้มีคนเก่งเกิดขึ้นเยอะมาก แจ๊สถึงเริ่มเกิดเป็นดอกเห็ดขึ้นมาอย่างนี้
แล้วสิ่งที่ผมเห็นอย่างชัดเจนเลยว่า TIJC ทำอะไรบ้าง เช่น ตอนแรก ๆ คนที่มาเล่นเขาจะแกะเพลงกันมา อยู่ที่ว่าใครจะแกะเพลงได้ยากกว่ากัน ใครเล่นได้เหมือนกว่ากัน ยิ่งนักดนตรีรุ่นผมนี่ยิ่งหนัก ใครเล่นเหมือนกว่าคนนั้นชนะเลย (หัวเราะ) ยิ่งถ้าร้องแล้วมีเสียง น้ำลาย มีเสลดอยู่ในคอ หรืออะไร accent อะไรที่เหมือนเขา เอื้อนแบบนั้นแบบนี้ ใครยิ่งเหมือนคนนั้นยิ่งเป็นคนเก่ง จนวันหนึ่ง TIJC บอกว่าไม่ได้ ต้อง encourage คนให้เขียนเพลง เพราะว่านักดนตรีไม่ใช่จะเล่นอย่างเดียว ควรจะต้องเขียนเพลงด้วย ก็เริ่มบังคับในคลาสเรียน อย่างในมหิดลจะมีวิชาแต่งเพลง Jazz composition นำมาฟังกันแล้วคัดเลือกว่าชิ้นไหนดีก็ไปเล่นที่เวทีใหญ่เลย ซึ่งจริง ๆ ทุกมหาวิทยาลัยก็มีความตื่นตัวแบบนี้เหมือนกัน
สุดท้ายสิ่งที่ประสบความสำเร็จคือตอนนี้กลายเป็นใคร ๆ ก็มี composition ของตัวเอง หรือของวงตัวเองมาเล่น ซึ่งในอดีตไม่เคยมีเลย จัดเทศกาลดนตรีแจ๊สมา 20 ปี ก็ไม่เคยมี ตอนนี้ถ้าคุณแกะเพลงมาเล่น คนดูเขาจะเฉย ๆ แล้วจะรู้สึกว่าวงนี้แม่งโคตรเชยเลย แล้วเป็นเหมือน second class ใครไป cover แกะเพลงมาเขาก็จะรู้สึกอาย ตอนนี้ในงานจะเต็มไปด้วยเรื่องแบบนี้ ผมยังนึกเลยว่า แหม... ถ้ามีคนรวบรวมเพลงพวกนี้ เก็บโน้ตเป็นเล่ม ก็จะเกิด “real book” (หนังสือที่รวบรวมเพลงแจ๊ส) ของไทยที่เป็น composition ของคนแต่งชื่อนาย ก นาย ข นาย ค นาย ง ตอนนี้คือกระจัดกระจายต่างคนต่างแต่ง แต่ผมคิดว่ายังไม่สาย และผมว่ามันมาได้ดีแล้ว
สำหรับผมก็ไม่อยากจะมาเคลมว่ามันเป็นเครดิตงานนะ แต่ว่ามหาวิทยาลัย ทั้งระบบการศึกษา ทั้งมหาวิทยาลัยอื่น ทั้งงาน TIJC หรืองานอื่น ๆ ที่ไม่ได้ทำเพื่อกำไรที่เป็นตัวเงิน ผมว่ามันได้สร้างความสำเร็จนั้น ถึงจะไม่มีใครมองเห็นก็ตาม ก็เหมือนประเทศเรา เรามีปัญหาเรื่องการเมือง เราก็ด่านักการเมืองไม่ดีอย่างนู้น ไม่ดีอย่างนี้ เราก็ไม่เคยรู้สึกยกย่องนายกรัฐมนตรีคนไหนเลย ถามว่าทำไมประเทศเราถึงพัฒนาไปได้ขนาดนี้... เอกชน เอกชนคือคนขับเคลื่อนสังคมของเรา TIJC ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ต้องไปนั่งรอรัฐบาลมาเอื้อเฟื้อ รอไปเถอะ ก็เหมือนอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ บอก “ใครไม่ทำเราก็ต้องทำ” ถ้าเราทำได้เราต้องทำ ถูกไหม
The People: TIJC มีแนวคิดในการขยายฐานคนฟังดนตรีแจ๊สอย่างไร
นพดล: สุดท้ายยอดคนดูก็ไปถึงจุดหนึ่งที่เริ่มนิ่ง ปีนี้ผมเลยตั้งคอนเซ็ปต์งานว่า “Jazz for All” เพราะเป็นงานที่มีคนตั้งแต่อายุมากจนไปถึงเด็กเลย ผมเปิดแคมป์เด็กขึ้นเมื่อปี 2019 เป็น youth camp รับสมัครเด็กตั้งแต่ อายุ 7 ขวบจนถึง 15 ปี ผมให้เรียนฟรี เอาครูที่ผมมีทั้งหมดมาสอน จับทำเหมือน TIJC เลย มีเรื่องที่จะสอนเป็นลำดับขั้นทุกอย่าง ผมว่าเราต้องไปหาอนาคตตรงนี้ นี่คือ audience ใหม่ เราอาจจะต้องรอ แต่เราต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้
The People: 12 ปีที่ผ่านมา เห็นอะไรบ้างในวงการแจ๊สไทย
นพดล: ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือจากอะไรคือผมไม่หวังเลย แต่ว่าก็ไม่เชิงเสียทีเดียว เพราะผมก็อยู่ในมหาวิทยาลัยที่สนับสนุน ครั้งนี้ผมต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดล อย่างน้อยผู้บริหารเขายังอิน แล้วหลายคนเขาก็รู้สึกว่านี่เป็นงานใหญ่ของมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไป แต่จริง ๆ ผมอยากบอกเขาว่าไม่ใช่ใหญ่ธรรมดานะ นี่รู้ไปถึงนิวยอร์กนู่น เดี๋ยวนี้ศิลปินเขาขอมาเล่นเยอะแยะเลย ไม่ใช่สมัยก่อนที่เราแทบจะต้องไปอุ้มเขามา ขอร้องแล้วขอร้องอีก
ผมคิดว่ามันเติบโต อย่างน้อยนักดนตรีก็เยอะขึ้น นักดนตรีที่มีฝีมือก็มากขึ้น แม้กระทั่งงานที่รองรับก็มากขึ้น ผมไม่แน่ใจว่าจะมีความสมดุลแค่ไหน แต่ผมเห็นว่าทุกอย่างดีขึ้นหมด แล้วเด็กไทยฝีมือดีขึ้นเยอะมาก หลายคนที่ดีจนผมตกใจมาก มันเก่งได้ถึงขนาดนี้หรือ เลยทำให้เรามองเห็นอนาคตว่าต้องมีคนเก่งกว่ามึงแน่นอน (หัวเราะ) แล้วจะมีอีกไปเรื่อย ๆ แล้วอีกไม่ช้าไม่นาน จะต้องมีคนไทยไประดับอินเตอร์แน่นอน เพราะตอนนี้ก็เริ่ม ๆ แล้ว
ผมบอกน้อง ๆ ว่าสิ่งที่เราทำไม่สูญเปล่า อย่างน้อยมีคนไปเหยียบดวงจันทร์แล้วนะ ถึงจะไปเหยียบดวงจันทร์แล้วรู้ว่าดวงจันทร์ไม่มีอะไรเลย แล้วเราจะทำอย่างไรต่อ เราก็จะไปดาวอังคารไง เพราะเราเชื่อว่าดาวอังคารมีบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องการ
ผมคิดว่า 10 กว่าปีนี้ทุกอย่างเติบโตรวดเร็ว ผมมองว่าวงการดนตรีอื่นอาจจะโตช้ากว่าแจ๊สด้วยซ้ำไป ผมคิดว่าความดีของวงการดนตรีแจ๊สต้องยกให้ในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วย ท่านทรงเป็นนักดนตรีแจ๊ส และทรงเป็นกษัตริย์ที่คนรักทั้งประเทศ ดนตรีแจ๊สจึงไม่เคยถูกดูถูกในประเทศนี้ เพราะว่าบุคคลที่เรารักที่สุดทำเรื่องนี้ ผมคิดว่าที่วงการแจ๊สอยู่มาได้และไม่หายไปจากสังคม ต้องยกให้ท่านจริง ๆ เพราะท่านค้ำไว้
ในอเมริกาเองไม่ง่ายนักถูกไหม แล้วยิ่งความซับซ้อนทางด้านดนตรีสมัยนี้มันมากขึ้นไปจนถึงเริ่มตั้งคำถามว่าเล่นให้ใครฟัง ผมคุยกับนักดนตรีนิวยอร์กโอลด์สคูลท่านหนึ่งที่เคยไประดับโลกจริง ๆ ไม่ใช่เป็นแบบระดับอินเตอร์นะ ระดับโลกเลย เขาคุยกับผม บอกเขาเบื่อนิวยอร์ก ไปตามบาร์ไปฟัง ไปเล่นให้ใครก็ไม่รู้ ยังถามเลยว่ามึงเล่นเพลงอย่างนี้กันอยู่ อีกหน่อยไม่มีคนฟังพวกมึงจะไม่มีงานทำกันสักคน ดนตรีแจ๊สก็จะตายไปเพราะพวกมึงอะไรอย่างนี้ น่าสนใจมาก ๆ (หัวเราะ) แต่เราต้องอยู่กับการเปลี่ยนแปลง เพราะเราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงคืออะไร ผมคุยกันเสมอว่าโลกมันเปลี่ยนไปเยอะมากเลย
โลก AI ก็เพิ่มมากขึ้น อีกหน่อยไอ้นู่นก็ไม่สำคัญอีกต่อไป เอาหุ่นยนต์มาแทนได้ อะไร ๆ ก็เป็น AI พูดแต่เรื่องโลกใหม่ คนก็ก้มมองมือถือ ถามผมว่าเป็นเรื่องชั่วร้ายไหม ผมบอกไม่รู้ มันคือโลกใหม่ที่ผมไม่เข้าใจ ผมอยู่ในโลกเก่า ผมก็พยายามจะทำความเข้าใจอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นแน่ ๆ เลยคือไม่มี AI ไหนหรอกบอกว่าวันนี้เราไปแฮงก์ (เอ้าต์) กันที่งาน TIJC กันดีหรือเปล่าวะ ไปฟังเจ้านี่เล่นกันดีกว่า ไม่มี AI ไหนชวนกันมาหรอก มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่ทำเรื่องนี้ มนุษย์เท่านั้นที่จะชวนกันว่าเฮ้ย วันนี้เราไป TIJC ไปแฮงก์ ไปจุ๊ยแถวนั้นดีกว่า มันคือความรู้สึกของคน ซึ่ง AI มันไม่ทำ นี่คุยติดตลกกับเพื่อนว่า ถ้าวันหนึ่ง AI พัฒนาไปจนถึงจุดที่มันชวนกันมาฟังเพลงแจ๊สจะทำอย่างไร หลังจากนั้นเราก็เป็นขี้ข้ามันไง มันฉลาดกว่าเรา มีอารมณ์ดีกว่าเรา เสพสิ่งที่ดีกว่าเรา เราก็เป็นทาสมันไง นี่แหละคือสิ่งที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้
The People: วางแผนอนาคตของงาน TIJC ไว้แบบไหน
นพดล: ถ้าผมมีชีวิตอยู่ผมก็จะทำ เพราะว่าผมรักมันมาก แล้วผมก็ไม่อยากบอกคนอื่นว่าผมรักมันมากแค่ไหน ไม่ใช่ผมคนเดียวด้วยะ กับเพื่อนทั้งหมด...กว่าจะมาถึงตรงนี้ได้รากเลือดใช้ได้ ไม่มีค่าตอบแทนใด ๆ ถ้าถามว่าทำไปทำไม ผมบอกเพื่อนติดตลกว่าไม่มีอะไร กูทำแลกธูปดอกเดียว วันหนึ่ง TIJC ครั้งที่ 68 ตอนนั้นผมไม่อยู่แน่นอน ผมคงไม่อายุยืนขนาดนั้น มนุษย์คนหนึ่งที่จะขึ้นไปเล่นที่นั่นคือเด็กไทยที่ไปเล่นเป็นไฮไลต์ระดับโลกวันนี้ มันอาจจะจุดธูปปักข้างเวทีแล้วบอกว่าอาจารย์ผมมาแล้ว แค่นี้พอแล้ว ธูปดอกเดียวนี่แหละผมต้องการจริง ๆ
The People: ความทรงจำที่นับเป็น “ที่สุด” ใน 12 ปีของการจัด TIJC คืออะไร
นพดล: มีเยอะมากเลย ยกตัวอย่างเช่น มีศิลปินท่านหนึ่งเป็นนักเปียโนมาที่งาน ฝรั่งคนนี้จะนิ่ง ๆ ติดต่อแห้ง ๆ พอเขามาเห็นงาน วันหนึ่งเขาก็ถามผมว่าอยากได้ห้องสักห้องหนึ่ง มีเปียโนใหญ่อยู่ในห้อง พอจะหาให้ได้ไหม ผมก็หาให้เขา แล้วผมไปถามเด็กว่าเขาเป็นอย่างไรบ้าง เด็กบอก อาจารย์ เขามาตั้งแต่ 8 โมง ออกมาอีกทีตี 2 อยู่นี่แม่งทุกวันเลย ผมก็ไม่รู้เขาทำอะไรอยู่ในห้อง (หัวเราะ) สุดท้ายออกมาแม่งเขียนโน้ตมาหมดเลย แล้วเอาเพลงนั้นมาให้วงซ้อม แล้วบอกว่าเนี่ยทั้งโชว์คือเพลงที่แต่งที่งานผมหมดเลย มาใส่ในอัลบั้มใหม่ คนคนนั้นคือ เบนนี กรีน
อีกหนึ่งความประทับใจคือผมบอกน้องว่าเช็คที่จะจ่าย เบนนี กรีน จะต้องเป็นชื่อนี้ ๆ แบบนี้ ๆ บอกแล้วบอกอีก เบนนี กรีน เน้นแล้วเน้นอีกว่าเป็นอย่างนี้ สุดท้ายวันที่จะจ่ายเช็ค เปิดเช็คมาดู แม่เจ้า... ผิด! มันผิด (หัวเราะ) ฉิบหายแล้วทำยังไงเนี่ย กลางคืนแล้วจะไปเปลี่ยนเช็คยังไง มันเป็นคืนวันอาทิตย์ โอ้โห… โทรศัพท์หาเพื่อนคุย บอกมันไม่มีทางเลย ต้องรอวันจันทร์ สุดท้ายผมขอให้ เบนนี กรีน มานั่ง แล้วยื่นเช็คให้เขา ผมบอก เบนนี กรีน ผมขอโทษด้วย คุณบอกผมหลายครั้งแล้วเรื่องชื่อในเช็ค สุดท้ายก็ผิด เดี๋ยวผมจะจัดการ เบนนี กรีน บอกว่าหยุด ๆ ตอนแรกผมนึกว่าเขาโกรธผม ถึงได้บอกหยุด ๆ ผมเดินเข้าไปหาแล้วเขาก็ลุกมากอดผม แล้วซุบซิบที่หูบอกว่า “I trust you” เดี๋ยวไอจะกลับมา แล้วยูทำเช็คใบใหม่ให้ไอแค่นั้น คือที่ผมรู้สึกประทับใจ เพราะถ้าเป็นคนอื่นคงวีนระเบิดไปแล้ว
ครั้งล่าสุดที่ จูเลียน เลจ มาเล่นงาน TIJC ก่อนหน้างานเราประชุมเพราะเรามีปัญหาเรื่องเงิน ติดขัดต่าง ๆ นานา ต้องตัดเงินบางอย่างเพื่อเอาไปโปะบางอย่างให้งานสามารถไปได้ ถามกันว่าอะไรคือ priority ที่สำคัญที่สุด ไล่ไป เพื่อน ๆ ก็ไล่ไปเรื่องนู้นเรื่องนี้ ผมบอกตัดเครื่องปั่นไฟ เดี๋ยวผมไปไหว้เจ้าพ่อขุนทุ่งเอาให้ไฟติดตลอดเวลา (หัวเราะ) มีอาจารย์ท่านหนึ่งเขาบอกตัดเครื่องปั่นไฟไม่ได้นะ เกิดไฟดับขึ้นมา แล้วแถวนี้ดับบ่อยด้วย จะเป็นปัญหานู่นนี่นั่น ผมบอกเชื่อผม ตัดเครื่องปั่นไฟเถอะ (หัวเราะ)
ปรากฏว่าแม่งไฟดับจริง ๆ แล้วตอนแรกไฟไม่ดับเลยนะ วิ่งไปถึง จูเลียน เลจ เพลงสุดท้าย แล้วไฟแม่งดับ แล้วเป็นคืนเดือนมืด ทีนี้แม่งมืดฉิบหายเลย (หัวเราะ) มืดจนไม่เห็นอะไรเลย สิ่งที่ทุกคนได้ยินคือเสียงกีตาร์เปล่า ๆ กับเสียงเบสตึ่งตุ๊ง กลองชับ ๆ เสียงกีตาร์ก๊องแก๊ง ๆ คนเงียบทั้งสนามเลย แล้วมันยังเล่นอยู่ ผมในฐานะ manager เอาไงดีวะ กูเอาไงดีวะ สุดท้ายผมเดินขึ้นเวทีกดมือถือเปิดไฟฉายส่องไฟที่วงให้คนเห็น จูเลียน เลจ ที่กำลังเล่นอยู่ แล้วเขาก็เล่นจนจบเลย
ตอนที่เขายังเล่นไม่จบ ผมรู้สึกว่าหน้า จูเลียน เลจ สว่างขึ้น ผมก็งงว่าโทรศัพท์ผมสว่างขึ้นได้ไงวะ ผมหันไป แม่เจ้า! คนดูเป็นพันแม่งยกโทรศัพท์เปิดไฟฉายหมด ไม่มีใครเห็นภาพนั้น ผมเห็นภาพนั้น เป็นความประทับใจที่เหลือเชื่อมาก
The People: ไฮไลต์ของงาน TIJC ปีนี้มีอะไรบ้าง
นพดล: ปีนี้จะมีความหลากหลายมากขึ้น แล้วส่วนที่เป็นไฮไลต์มาก ๆ ที่ผมอยากจะแนะนำคือวงของ โอมาร์ ฮาคิม ซึ่งคนนี้เคยเล่นกับทั้ง ไมล์ส เดวิส แม้กระทั่งศิลปินป๊อปใหญ่ ๆ อย่าง มาดอนนา หรือไมเคิล แจ็กสัน
แล้วลูกวงคือ เคิร์ท โรเซนวิงเคิล ที่เคยมางาน TIJC เมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้นเคิร์ทดังมาก ๆ ตอนนี้เขาเหมือนกับผู้ใหญ่ในวงการแจ๊สไปแล้ว เป็นมือกีตาร์ที่ไม่ใช่เด็กอีกต่อไป ผมเลยถือโอกาสเชิญเขาให้มาเล่นกับ Thailand Philharmonic Orchestra ตอนแรกผมยังนึกว่าเขาจะปฏิเสธ เขาบอกเล่น แล้วผมก็กลัวว่าเขาจะรู้สึกงานหนักไป เพราะเราไม่ได้มีเงินอะไรให้เขามากมายก่ายกอง ผมบอกว่ายูซ้อมอย่างน้อย 1 ครั้ง 2 ครั้งก็แล้วแต่ยู ให้บอกมา เขาบอกว่าซ้อม 3 ครั้ง ผมก็รู้สึกว่านี่ไงมันคือสปิริต ผมบอกว่าเพลงยูส่งมาให้ไอเลยก็ได้ หรือจะเลือกเพลงสแตนดาร์ดที่ยูอยากจะเล่น เดี๋ยวไอจะให้คนเรียบเรียงออร์เคสตรา
สุดท้ายเขาส่ง composition ของตัวเองมาให้ขยายเป็นออร์เคสตรา แล้วบอกว่าเขาอยากฟังมาก ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร ผมตื่นเต้นมากที่จะได้ดูสิ่งนี้ งานวันแรกของ TIJC จะเริ่มวันที่ 31 มกราคม แล้วจบวันที่ 2 กุมภาพันธ์
The People: อยากฝากอะไรถึงคนที่จะมาร่วมงาน TIJC
นพดล: ผมก็พูดเหมือนกันทุกปี อยากให้คนมาลองดู มันก็เหมือนอาหาร มีอาหารมาเสิร์ฟ คุณอาจจะไม่ต้องไปสงสัยมากว่าอาหารนั้นมาเสิร์ฟด้วยอะไร คุณลองกินดู คุณกินแล้วรู้สึกไม่ชอบ คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมคุณไม่ชอบ คุณก็เลิกกิน แต่ถ้าคุณกินแล้วรู้สึกว่าอร่อย คุณลองค่อย ๆ กินไปทีละนิด ๆ ความอร่อยจะมากขึ้นเรื่อย ๆ ประสบการณ์ของการฟังก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ จะยกระดับคุณภาพชีวิตเราขึ้นไปอีก มันจะทำให้เลิกคิดถึง... PM 2.5 เต็มประเทศเลย ปัญหาเรื่องการเมือง สงครามอะไร มันจะทำให้โลกเราดีขึ้น
แล้วอย่างที่ผมบอกว่า นี่คือการรักษาความเป็นมนุษย์ของเรา ถ้าเราไม่ยึดถือสิ่งเหล่านี้ มนุษย์ก็ไม่มีค่าอีกต่อไป