บี.บี. คิง ราชันเพลงบลูส์ ผู้มี “ลูซิลล์” เคียงคู่กาย

บี.บี. คิง ราชันเพลงบลูส์ ผู้มี “ลูซิลล์” เคียงคู่กาย
ถ้ารู้จัก บี.บี. คิง (B.B. King ค.ศ. 1925-2015) คุณต้องรู้จัก “ลูซิลล์” (Lucille) เพราะทั้งสองผูกพันกันแน่นแฟ้นมาตั้งแต่ฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1949 โน่นแล้ว ตอนนั้น ไรลีย์ บี. คิง ยังอายุไม่ถึงวัยเบญจเพสด้วยซ้ำ แถมตอนนั้น ยังไม่มีเพลงฮิตติดอันดับ 1 อย่าง “3 O’Clock Blues” เพลงเก่าของ โลเวลล์ ฟุลสัน ที่หยิบมาร้องใหม่ จนโด่งดังอย่างมากในปี 1952 อีกทั้งช่วงนั้น ละอ่อน ไรลีย์ ได้หนีออกจากความแร้นแค้นในดินแดนไร่ฝ้ายของมิสซิสซิปปีมานานหลายปี หลังจากได้กีตาร์ตัวแรก ๆ มาฝึกปรือฝีมือ ทั้งที่อาศัยอยู่บ้านนอกคอกนา ในเมืองที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ การเกิดขึ้นของเครือข่ายวิทยุในช่วงทศวรรษ 1920s ซึ่งกระจายไปทั่วประเทศในทศวรรษถัดมา ทำให้ความฝันของ ไรลีย์ ยาวไกล เขาฟังเพลงสดของนักดนตรีที่บรรเลงผ่านคลื่นวิทยุ แล้วปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะเป็นคนบรรเลงเพลงออกอากาศทางวิทยุกับเขาบ้าง ชีวิตของ ไรลีย์ เปลี่ยนจากเด็กในไร่ฝ้ายไปขับรถแทร็คเตอร์เลี้ยงชีพอยู่พักหนึ่ง แต่ด้วยฝีมือกีตาร์ที่มุ่งมั่นจากการฝึกฝนด้วยตัวเอง กอปรกับประสบการณ์จากเพลงกอสเปลในโบสถ์ ทำให้เขาได้งานเล่นดนตรีในสถานีวิทยุท้องถิ่น วันดีคืนดี ชีวิตมีโอกาสไปเล่นแบ็คอัพให้ศิลปินฮาร์พ (ฮาร์โมนิกา) อย่าง ซันนี บอย วิลเลียมสัน ตามมาด้วยงานที่สถานีวิทยุ WDIA ที่เมืองเมมฟิส ทั้งเล่นกีตาร์ ทั้งร้อง บ้างก็เป็นดีเจ ไรลีย์ เลยได้รับฉายา Beale Street Blues Boy (Beale Street เป็นชื่อถนนสายหนึ่งในเมืองเมมฟิส) ซึ่งต่อมา Blues Boy นี้ก็ย่อลงเหลือ B.B. อันเป็นที่มาของชื่อ B.B. King ในที่สุด   0 0 0 0 0   ส่วนชื่อ “ลูซิลล์” นั้น ใคร ๆ ก็รู้ว่าเป็นชื่อกีตาร์ของ บี.บี. คิง นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์ตัวไหน รุ่น กิ๊บสัน ES-335 หรือไม่ก็ตาม แต่ บี.บี. คิง พึงใจจะเรียกกีตาร์ของเขาเหมือนหญิงสาวสักคนที่อยู่เคียงกายตลอดเวลา ทั้งนี้ เคยมีหลักฐานที่ บี.บี. คิง เล่าถึงที่มาของชื่อ “ลูซิลล์” ให้ฟัง โดยเจ้าตัวเปิดเผย แก่ โจ สมิธ นักดนตรีวิทยุและผู้บริหารค่ายเพลงว่า “ผมเคยเล่นดนตรีที่สถานที่แห่งหนึ่งในอาร์คันซอส์ ชื่อว่า ‘ทวิสต์’ เป็นไนท์คลับเล็ก ๆ ที่เราเล่นกันประจำ หากไม่มีงานเล่นที่ไหน เราก็จะแวะเวียนมาเล่นที่นี่ วันนั้นภายในทวิสต์ค่อนข้างหนาวทีเดียว (ฤดูหนาวปี 1949) เขามีคล้าย ๆ ถังขยะวางอยู่ตรงกลางฟลอร์ ข้างในใส่น้ำมันก๊าดราว ๆ ครึ่งหนึ่ง เป็นเชื้อเพลิงที่ให้ความอบอุ่น โดยทั่วไป ใคร ๆ ก็เต้นรำรอบถังที่ว่านี่ ไม่มีใครไปรบกวนมัน แต่ในคืนนั้น มีคนสองคนทะเลาะวิวาทชกต่อยกัน แล้วใครคนหนึ่งก็น็อกอีกคนลงใส่ถังที่ว่า จนถังมันล้ม แล้วน้ำมันก็ไหลลงบนพื้น มันลุกไหม้ราวกับทะเลเพลิง ตอนนั้น ใคร ๆ ก็วิ่งหนีเอาชีวิตรอดออกมาทางด้านหน้า แม้กระทั่งคุณก็เถอะ แต่พอผมออกมาข้างนอกแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่าลืมกีตาร์ไว้ข้างใน ผมเลยย้อนกลับเข้าไปอีกครั้ง ตัวอาคารร้านนี้ทำด้วยไม้ ไฟจึงไหม้ลุกลามเร็วมาก ตอนผมไปถึงกีตาร์ ทุกอย่างแทบจะถล่มทลายลงมาบนตัวผมแล้ว ถึงตอนนั้น ผมเกือบจะตายเพราะเข้าไปหยิบกีตาร์ด้วยซ้ำ “เช้าวันรุ่งขึ้น เราถึงได้รู้ว่าสาเหตุที่ไอ้สองคนชกต่อยกันก็เพราะเรื่องผู้หญิงคนนึง ผมไม่เคยเจอสาวคนที่ว่าหรอกนะ แต่รู้มาว่าเธอชื่อ ลูซิลล์ นับจากนั้น ผมเลยตั้งชื่อกีตาร์ของผมว่า ลูซิลล์ เพื่อเตือนใจไม่ให้ผมทำแบบนั้นอีกต่อไป”   0 0 0 0 0   นับจากมี “ลูซิลล์” อยู่เคียงข้าง ชีวิตของ บี.บี. คิง ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ เขามีโอกาสได้เซ็นสัญญาทำเพลงกับค่ายเพลงหลายแห่ง ถัดจากเพลง "3 O'Clock Blues" ชื่อเสียงของเขาปรากฏบนชาร์ทเพลงอาร์แอนด์บีอีกหลายเพลงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น "You Know I Love You", "Woke Up This Morning", "Please Love Me", "When My Heart Beats like a Hammer", "Whole Lotta Love", "You Upset Me Baby", "Every Day I Have the Blues", "Sneakin' Around", "Ten Long Years", "Bad Luck", "Sweet Little Angel", "On My Word of Honor" จนถึง "Please Accept My Love" ในทศวรรษถัดมา ดูเหมือน บี.บี. คิง จะแก่กล้าขึ้นตามลำดับ โดยหนังสือ 1001 Albums You Must Hear Befor You Die ได้ยกย่องให้อัลบั้มบันทึกการแสดง Live at the Regal ณ โรงหนังเรกัล ในชิคาโก ที่ออกวางขายเมื่อปี 1965 หรือเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว เป็นอัลบั้มสำคัญที่สุด เพราะถ่ายทอดทั้งความสดในอารมณ์เพลง น้ำเสียงการร้อง และการเปล่งสำเนียงบลูส์ผ่านกีตาร์ได้อย่างถึงแก่นแท้ เจ้าตัวยังมีอัลบั้มบันทึกการแสดงสดชั้นดีอีกนับไม่ถ้วน ไม่นับรวมอัลบั้มที่รวมงานกับศิลปินรุ่นหลังอีกมากมาย ผลงานเด่นในยุคหลัง อาทิ “Blues Summit” , “Deuces Wild” , “Let the Good Times Roll” รวมถึง Riding with the King ที่ประชันกีตาร์ร่วมกับ เอริค แคลปตัน   0 0 0 0 0   สมัยเป็นวัยรุ่นที่กำลังหมกมุ่นคลั่งไคล้กับเพลงบลูส์ เป็นที่รู้กันในหมู่ชาวเราว่า โลกนี้มี “คิง” อยู่ 3 คน (ไม่นับ คิง อีกมากมายหลายคนในวงการแจ๊ส) ตามที่ฝรั่งเรียกกันว่า Three Kings of the Blues Guitar คนหนึ่งคือ อัลเบิร์ต คิง (Albert King ค.ศ. 1923-1992) มาจากมิสซิสซิปปี แถมยังเคยทำงานในไร่ฝ้าย เหมือน บี.บี.คิง ความโดดเด่นของ อัลเบิร์ต คิง คือน้ำเสียงกีตาร์ที่ดุดันในสไตล์เท็กซัสบลูส์ เขาเป็นเจ้าของเพลง “Blues Power” กับกีตาร์ในทรง ฟลายอิง วี ที่ไม่เหมือนใคร อีกคนหนึ่ง คือ เฟรดดี คิง (Freddie King ค.ศ. 1934-1976) อดีตเด็กโรงเหล็กแห่งเท็กซัส แม้จะอายุสั้น ตายด้วยวัยเพียง 42 (ว่ากันว่าเขาตายเพราะจิบค็อกเทล “บลัดดี แมรีส์” จนกระเพาะทะลุ) แต่สุ้มเสียงของการผสมผสานสไตล์บลูส์ในแบบชิคาโกและเท็กซัสเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนนั้น ถือว่าไม่รองใคร ส่วนคนที่มีชีวิตยืนยาว แถมยังสร้างสรรค์งานเพลงบลูส์ได้หลากหลายกว่าใคร จนก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ก็ยังไม่ยอมแพ้แก่สภาพสังขาร ออกลุยแสดงสดบนรถเข็นอยู่นาน เห็นจะหนีไม่พ้น บี.บี. คิง ราชาเพลงบลูส์ เจ้าของเสียงร้องที่สุขุมนุ่มนวล ผู้ถ่ายทอดเสียงกีตาร์ผ่านปลายนิ้วได้อย่างลื่นไหล และเป็นธรรมชาติยิ่ง บี.บี. คิง ลาโลกไปเมื่อ 15 พฤษภาคม 2015 ณ บ้านพักในนครลาสเวกัส โดยมีสิริอายุรวม 89 ปี